ASEAN Roundup ประจำวันที่ 16-22 มีนาคม 2568
-
-อินโดนีเซียจ่อขึ้นค่าภาคหลวงนิกเกิล-ทองคำ 3%
-ฟิลิปปินส์ห้ามส่งออกแร่ดิบ
อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ปรับนโยบายคุมเข้มนิกเกิล
ตลาดนิกเกิลโลกกำลังเผชิญกับความปั่นป่วนครั้งใหม่ โดยผู้ผลิตสองรายใหญ่ของโลกกำลังพิจารณาการปรับเปลี่ยนนโยบายทั้งทางการเงินและการผลิตที่สำคัญ ซึ่งอินโดนีเซียปรับขึ้นค่าภาคหลวงที่บริษัทขุดแร่ต้องชำระและพิจารณาที่จะลดโควตาการขุดนิกเกิลครั้งใหญ่ ขณะที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่มีการผลิตนิกเกิลสูงเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซียห้ามส่งออกแร่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ นายบาห์ลิล ลาฮาดาเลียกล่าวว่า การแก้ไขครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการปรับอัตราค่าภาคหลวงสำหรับสินค้าหลักหลายรายการ รวมถึงทองคำ นิกเกิล และถ่านหิน
“ขณะนี้การแก้ไขเกือบจะเสร็จแล้ว เพียงแต่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย” นายบาห์ลิลกล่าวหลังจากการประชุมกับประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ที่ทำเนียบประธานาธิบดี จาการ์ตา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2568
ในการประชุมครั้งนี้ มีศรี มุลยานี อินทราวาตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานเศรษฐกิจ เข้าร่วมด้วย โดยทั้งสองหารือถึงกลยุทธ์ในการเพิ่มรายได้ของรัฐจากภาคส่วนแร่และถ่านหิน
นายบาห์ลิลกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะใช้บังคับค่าภาคหลวงกับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแร่ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในโครงการรายได้ของรัฐด้วย แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดของประเภทผลิตภัณฑ์ที่จะต้องเสียค่าภาคหลวง
ส่วนอัตราค่าภาคหลวงที่จะเพิ่มขึ้นนั้น บาห์ลิลกล่าวว่า จะอยู่ระหว่าง 1.5% ถึง 3% ขึ้นอยู่กับราคาสินค้าในตลาดโลก
“ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และราคาก็ผันผวน หากราคาสูงขึ้น เราจะปรับขึ้นให้สูงสุด หากราคาลดลง เราก็ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจำนวนมากจากผู้ประกอบการได้ เพราะเราต้องการให้ผู้ประกอบการพัฒนาเช่นกัน” นายบาห์ลิลกล่าว
นายบาห์ลิลกล่าวว่า มาตรการนี้มุ่งรักษาสมดุลของตลาด โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ราคาทองคำและนิกเกิลค่อนข้างสูง
“ราคานิกเกิลยังดีอยู่ในขณะนี้ ราคาทองคำก็ดีเช่นกัน มันจะไม่ยุติธรรมหากราคาสูงขึ้น แต่ประเทศไม่ได้มีรายได้เพิ่มเติม ดังนั้นจึงเป็นเพียงการรักษาสมดุลเท่านั้น” นายบาห์ลิลกล่าว
สมาคมเหมืองแร่นิกเกิลแห่งอินโดนีเซีย (Indonesian Nickel Miners Association:APNI) คัดค้านแผนของรัฐบาลที่จะปรับขึ้นอัตราค่าภาคหลวงการทำเหมือง โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับภาระทางการเงินของอุตสาหกรรม
นายไมดี กาตริน เลงคีย์ (Meidy Katrin Lengkey) เลขาธิการ APNI กล่าวว่า บริษัทเหมืองนิกเกิล โรงถลุงแร่ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่นๆ ได้ส่งความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎระเบียบที่เสนอ
APNI แย้งว่าอัตราค่าภาคหลวงแบบก้าวหน้าที่เสนอนั้นไม่ได้คำนึงถึงราคานิกเกิลในตลาดโลกที่ลดลงในปัจจุบัน นอกจากนี้ ต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาไบโอดีเซล B40 ค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น 6.5% ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 12% และการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ 100% ตามข้อบังคับเป็นเวลา 12 เดือน ล้วนกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการเหมืองให้ลดลงอีก
ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าภาคหลวงจะขยายไปถึงผู้ประกอบการโรงถลุงแร่ด้วย ซึ่งโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากนั้นมีต้นทุนระหว่าง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อโรง โดยไม่รวมการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ รายได้ที่ไม่ใช่ภาษีของรัฐ กองทุนพัฒนาชุมชน (PPM) และภาษีขั้นต่ำทั่วโลก 15%
เพื่อบรรเทาผลกระทบ APNI จึงขอให้รัฐบาลดำเนินการตามนโยบายค่าภาคหลวงที่เป็นธรรมและยืดหยุ่นมากขึ้น นายไมดีเสนอให้ปรับอัตราค่าภาคหลวงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยค่าภาคหลวงที่สูงขึ้นจะมีผลใช้เฉพาะเมื่อราคานิกเกิลปรับขึ้นเกินเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น
สมาคมยังเรียกร้องให้จัดสิทธิประโยชน์ทางการเงินสำหรับโรงถลุง เช่น อัตราค่าภาคหลวงที่ต่ำกว่าสำหรับบริษัทที่ลงทุนในกระบวนการปลายน้ำ

แต่เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานวุฒิสภานายฟรานซิส โจเซฟ กูวารา เอสคูเดโร(Francis Joseph Guevara Escudero) ได้อนุมัติมาตรการห้ามส่งออกแร่ดิบ หรือแร่ที่ยังไม่ผ่านการถลุง
เว็บไซต์วุฒิสภาเผยแพร่ข่าวแจกว่าวุฒิสภาให้ความเห็นชอบห้ามส่งออกแร่ดิบเพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตสินค้ามูลค่าสูง
ในข่าวระบุว่า ฟิลิปปินส์เตรียมห้ามส่งออกแร่ธาตุดิบเพื่อปูทางไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในท้องถิ่น การผลิตสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูง และการสร้างงานให้กับชาวฟิลิปปินส์มากขึ้น หลังร่างกฎหมายผ่านการอนุมัติของวุฒิสภาในวาระที่สามและวาระสุดท้ายเมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568
ฟรานซิส โจเซฟ กูวารา เอสคูเดโร ประธานวุฒิสภา ที่รู้จักในชื่อ ชิซ Chiz ได้เสนอร่างแก้ไขร่างกฎหมายวุฒิสภาหมายเลข 2826 ซึ่งห้ามการส่งออกแร่ดิบและหากได้รับการลงนามเป็นกฎหมาย ร่างกฎหมายจะมีผลบังคับใช้หลังจาก 5 ปี
ภายใต้ข้อเสนอนี้ ฟิลิปปินส์จะห้ามการส่งออกแร่ดิบที่สกัดได้ภายในประเทศ ซึ่งคล้ายกับที่อินโดนีเซียประกาศใช้ในปี 2563 ที่ระงับการส่งออกแร่นิกเกิลและบ็อกไซต์ในปี 2565
“สิ่งที่เรามองคือ การปรับเปลี่ยนนโยบายของเราจากการส่งออกแร่ดิบเพียงอย่างเดียวที่ประเทศอื่นจะนำไปใช้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง ไปสู่การพัฒนาศักยภาพการแปรรูปของเราเอง ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกแร่ของเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเราและสร้างงานให้กับประชาชนของเรา” นายเอสคูเดโรกล่าว พร้อมอธิบายว่า การกำหนดระยะเวลา 5 ปีในบังคับใช้มาตรการเพื่อให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่มีเวลาในการสร้างโรงงานแปรรูปและพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำ
ความต้องการแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น นิกเกิลและทองแดง เพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องมาจากการพัฒนาโครงการสีเขียว เช่น การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
“นิกเกิลและทองแดงเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมของรถยนต์ไฟฟ้า และหากเราสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของแร่ธาตุเหล่านี้ในประเทศได้ เราก็จะรักษาตำแหน่งของเราในห่วงโซ่อุปทานโลกได้ โดยเฉพาะในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และบางทีอาจรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าของเราเองในอนาคต” นายเอสคูเดโรกล่าว
การห้ามส่งออกแร่ธาตุที่สำคัญไม่ได้มีเฉพาะในอินโดนีเซียเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วเป็นแนวโน้มทั่วโลก แต่ในระดับที่แตกต่างกัน
ตามข้อมูลขององค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ระหว่างปี 2552 ถึง 2563 มีประมาณ 53 ประเทศที่ออกกฎห้ามการส่งออกแร่ธาตุที่สำคัญ ประเทศที่ออกกฎห้ามการส่งออกที่น่าจับตา ได้แก่ นามิเบีย ซึ่งมีข้อห้ามสำหรับลิเธียมที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปและแร่ธาตุที่สำคัญอื่นๆ และซิมบับเว ที่ห้ามส่งออกโครเมียม
นายเอสคูเดโรกล่าวว่า แรงจูงใจที่แต่ละประเทศนำมาใช้ในนโยบายนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้นสามารถวัดเป็นตัวเลขได้
ในกรณีของอินโดนีเซีย ข้อมูลที่อ้างโดยหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซียแสดงให้เห็นว่ามูลค่าการส่งออกนิกเกิลของประเทศอยู่ที่ 20.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 จากเพียง 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 ก่อนที่จะมีการห้ามส่งออกแร่นิกเกิล
เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ นายเอสคูเดโรกล่าวว่า รัฐบาลจะต้องมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมในการจัดตั้งโรงงานแปรรูปแร่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
แต่กลุ่มเหมืองแร่คัดค้านข้อเสนอห้ามส่งออกแร่ โดยระบุว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมแร่ของประเทศ สภาเหมืองแร่แห่งฟิลิปปินส์ (Chamber of Mines of the Philippines :COMP) และสมาคมอุตสาหกรรมนิกเกิลแห่งฟิลิปปินส์ (Philippine Nickel Industry Association:PNIA) สนับสนุนร่างกฎหมายวุฒิสภา (SB) 2826 แต่ไม่เห็นด้วยกับการห้าม ร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอระบบภาษีใหม่ที่อิงตามกำไร แต่กลุ่มเชื่อว่าการหยุดส่งออกแร่จะทำให้เกิดปัญหา
โดยแย้งว่าบริษัทเหมืองแร่ไม่สามารถสร้างโรงงานแปรรูปได้ภายใน 5 ปี เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่สูง ระบบขนส่งที่แย่ และกฎระเบียบในท้องถิ่นที่ขัดแย้งกัน นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีราคาไฟฟ้าที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ทำให้การแปรรูปในประเทศมีราคาแพงเกินไป “หากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข การแปรรูปแร่ในประเทศก็จะยังคงเป็นแค่ความฝัน ไม่มีทางลัด”
ถ้าจะให้แผนเดินหน้าได้ รัฐบาลต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ลดต้นทุนพลังงาน และช่วยเหลือบริษัทเหมืองแร่ในการสร้างโรงงานแปรรูป หากไม่มีขั้นตอนเหล่านี้ การห้ามส่งออกอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่รัฐบาลตั้งเป้าที่จะสนับสนุน
แม้ฟิลิปปินส์ต้องการกระตุ้นอุตสาหกรรมนิกเกิล แต่ตลาดโลกมีอุปทานมากเกินไปแล้ว บริษัทใหญ่ๆ ได้จัดหาแหล่งนิกเกิลเป็นของตนเอง และผู้เชี่ยวชาญจากตลาดโลหะเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Metals Market:SMM) คาดการณ์ว่า อุปทานส่วนเกินนี้จะเพิ่มมากขึ้นอีกในปี 2568 และปีต่อๆ ไป
ขณะที่การตัดสินใจครั้งนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น ฟิลิปปินส์อาจเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปในท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง เนื่องจากมีนิกเกิลมากเกินไปอยู่แล้ว ความต้องการอาจไม่สูงพอที่จะทำให้การแปรรูปมีกำไร ซึ่งอาจทำให้การดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ทำได้ยาก ส่งผลให้แผนการของประเทศในการเปลี่ยนจากการส่งออกแร่ดิบมาเป็นผลิตภัณฑ์นิกเกิลที่ผ่านการแปรรูปต้องล่าช้าออกไป
อินโดนีเซียตั้งคณะทำงานกระตุ้นการลงทุนหนุนเป้าการเติบโต 8%

คณะทำงานนี้ก่อตั้งขึ้นหลังประเมินว่าสภาพเศรษฐกิจโลกยังคงเอื้อ โดยมีหน้าที่ในการผลักดันเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 8% ตามที่ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโตตั้งเป้าไว้
“ผมเชื่อว่าหากมีการประสานงานอย่างแข็งแกร่งระหว่างสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ กระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจ และกระทรวง/สถาบันที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เราก็จะสามารถนำเสนอนโยบายที่มีประสิทธิผลมากขึ้นสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างผลประโยชน์ในวงกว้างเป็นหลักสำหรับสวัสดิการของประชาชนอินโดนีเซีย” นายลูฮุตกล่าวเมื่อวันอังคารที่ 18 มีนาคม 2568
ลูฮุตย้ำว่าการบรรลุเป้าหมายการเติบโต 8% ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องได้รับการสนับสนุนจากการดำเนินการในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เร่งการลงทุน และเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสาธารณะ เพื่อให้การสร้างงานเพิ่มขึ้นด้วย
“นี่ไม่ใช่เป้าหมายที่ง่าย แต่ผมมั่นใจว่าด้วยยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องผ่านการฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เร่งการลงทุน และเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสาธารณะ เราจะบรรลุภารกิจอันยิ่งใหญ่ของประธานาธิบดีปราโบโวได้” ประธานสภาเศรษฐกิจกล่าว
ด้านนายแอร์ลังกากล่าวว่า กระทรวงประสานงานเศรษฐกิจและกระทรวงการคลังจะสนับสนุนการทบทวนนโยบายการยกเว้นภาษี เพื่อรองรับภาษีขั้นต่ำระดับโลก(global minimum tax)ที่ 15% และจะประสานงานต่อเนื่องกับกระทรวงการคลังเพื่อส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ที่มีอยู่ และเร่งการตัดสินใจเกี่ยวกับข้อเสนอเขตเศรษฐกิจพิเศษ
นายแอร์ลังกากล่าวว่า รัฐบาลจะยังคงผลักดันให้เร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ Kura-Kura Bali ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในบาหลี
อินโดนีเซียเปิดตัวเขตเศรษฐกิจพิเศษบาตัง

“ด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ รัฐบาลจะเสนอสิทธิประโยชน์จูงใจทางการเงินและไม่ใช่ทางการเงินต่างๆ ให้กับธุรกิจ รวมถึงการยกเว้นภาษีเฉพาะและกระบวนการออกใบอนุญาตที่กระชับขึ้น เพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ Batang Industropolis ในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญ” นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการเศรษฐกิจ กล่าวในการเปิดตัวเขตเศรษฐกิจพิเศษ
การลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้มีมูลค่าสูงถึง 17.95 ล้านล้านรูเปียะฮ์ (กว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
นายแอร์ลังกาย้ำว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ Batang Industropolis คาดว่าจะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนเชิงกลยุทธ์จากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และสร้างงานให้กับ 7,008 คน
เขตเศรษฐกิจพิเศษมีพื้นที่ 2,887 เฮกตาร์ ได้รับการออกแบบให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีระบบนิเวศแบบบูรณาการซึ่งรวมถึงเขตการผลิต โลจิสติกส์ การค้า และที่อยู่อาศัย
นายแอร์ลังกากล่าวว่า ภูมิภาคนี้ยังมีโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการ เช่น ถนนในภูมิภาค ทางเชื่อมเข้าทางด่วนที่เก็บค่าผ่านทาง แหล่งน้ำดิบ โรงบำบัดน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการบำบัดน้ำเสีย
โครงสร้างพื้นฐานที่พัฒาเพิ่มเติม ได้แก่ อ่างเก็บน้ำดิบ โรงบำบัดขยะแบบบูรณาการ โรงก๊าซ แหล่งจ่ายไฟฟ้า ท่าเทียบเรือ อาคารอพาร์ตเมนต์ 10 ตึก และอาคารโรงงานพร้อมใช้งาน 64 หลัง
นายแอร์ลังกาชี้ให้เห็นว่าประเทศอาเซียนอื่นๆ กำลังพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างแข็งขันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดการลงทุน
ตัวอย่างเช่น เวียดนามมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 1.6 ล้านเฮกตาร์ มาเลเซียมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 6 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 2.15 ล้านเฮกตาร์ และไทยมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 622,000 เฮกตาร์ ฟิลิปปินส์มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 419 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 70,000 เฮกตาร์ ขณะที่อินโดนีเซียมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 24 แห่งรวมพื้นที่ 21,000 เฮกตาร์
ในบรรดาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 24 แห่งของอินโดนีเซียมี 12 แห่งเน้นที่อุตสาหกรรมการผลิต 8 แห่งเน้นที่การท่องเที่ยว 3 แห่งเน้นที่ภาคดิจิทัล และ 1 แห่งเน้นที่บริการอื่นๆ
นายแอร์ลังกากล่าวว่า มูลค่าการลงทุนทั้งหมดในเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซียอยู่ที่ 263 ล้านล้านรูเปียะฮ์ สร้างการจ้างงานให้กับผู้คน 160,874 คน
ในงานเดียวกันนี้ ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโตยืนยันการสนับสนุนของรัฐบาลและได้สรุปโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในและต่างประเทศ โดยกล่าวว่าอินโดนีเซียยังคงเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วม การลงทุน และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
เขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมบาตังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศและช่วยให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ 8%
อินโดนีเซีย-จีนจับมือลงทุนผ่านโครงการ Two Countries Twin Parks

การลงนามครั้งนี้มีนายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจ เป็นสักขีพยาน บันทึกความเข้าใจดังกล่าวจัดทำขึ้นระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษบาตังและ China State Construction Engineering Corporation ของจีน
นายแอร์ลังกาหวังว่ากรอบความร่วมมือ TCTP จะนำไปปฏิบัติในเขตอุตสาหกรรมบูรณาการบาตัง (Integrated Industrial Zone Batang :IIZB) โดยเฉพาะหลังจากเปิดตัวเขตเศรษฐกิจพิเศษบาตังอย่างเป็นทางการโดยประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต
“เราหวังว่าจะสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ด้วยการลงทุนจากประเทศที่เป็นมิตรของเราอย่างจีน ซึ่งแสดงให้เห็นผลของการประชุมระหว่างประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโตและประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา” เขากล่าวในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2025
บริษัทส่วนหนึ่งที่คาดว่าจะเข้าร่วมโครงการ TCTP ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ธนาคารและการเงิน โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ พลังงาน ยานยนต์ แบตเตอรี่การเกษตร โทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์ และการบำรุงรักษา-ซ่อมแซม-ยกเครื่องอากาศยาน
นายแอร์ลังกาหวังว่าการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศและความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมาก “การลงทุนในความร่วมมือ TCTP คาดว่าจะสูงถึง 60 ล้านล้านรูเปียะฮ์สำหรับการจัดซื้อที่ดินใน IIZB ซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศ”
นายแอร์ลังกาให้ข้อมูลว่า IIZB ได้เตรียมพื้นที่ 500 เฮกตาร์เพื่อใช้ในกรอบ TCTP อินโดนีเซีย-จีน ซึ่งถือเป็นขั้นตอนเริ่มต้นในยุทธศาสตร์ความร่วมมือทวิภาคีเพื่อเร่งการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยีขั้นสูง “พื้นที่ 500 เฮกตาร์ที่เตรียมไว้จะได้รับการพัฒนาด้วยโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสนับสนุนต่างๆ เพื่อให้บรรลุมาตรฐานความเป็นไปได้สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอุตสาหกรรม” นายแอร์ลังกากล่าว
นายแอร์ลังกาเปิดเผยว่ารัฐบาลจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมในเดือนเมษายน 2568 เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายความร่วมมือระหว่างอินโดนีเซีย-จีน ซึ่ง “โครงการ Two Countries Twin Parks จะมีขึ้นใน 3 ที่ได้แก่ บาตัง เซมารัง ซิตี้ และ บินตัน”
โครงการ Two Countries Twin Parks เป็นความพยายามร่วมกันในการปรับวิสัยทัศน์การพัฒนาของอินโดนีเซียและจีนให้สอดคล้องกัน หรือ โครงการ Global Maritime Axis ยุทธศาสตร์แกนหลักทางทะเลระดับโลก และ Belt and Road Initiative โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
แผนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างการลงทุนและความสัมพันธ์ทางอุตสาหกรรมในภาคส่วนทางทะเล การผลิตอาหาร วัสดุก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์
นับตั้งแต่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจในปี 2564 ความร่วมมือดังกล่าวได้ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งในอินโดนีเซียและจีน
นายแอร์ลังกาอธิบายว่า คาดว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มการลงทุนของจีนในอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันก็เร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมของประเทศ นอกจากบาตังแล้ว นายแอร์ลังกายังได้บรรยายสรุปให้กับประธานาธิบดีปราโบโวเกี่ยวกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนงซาในบาตัม หมู่เกาะรีเยา ในระหว่างการประชุม
สภาแห่งชาติสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษมีแผนที่จะขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษนงซาอีก 22.43 เฮกตาร์ เพื่อตอบสนองความต้องการบริการดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และความต้องการศูนย์ข้อมูล(data center)ที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายการลงทุน 20.07 ล้านล้านรูเปียะฮ์
รัฐบาลยังวางแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและการท่องเที่ยวที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสิงหสารีในมาลัง ชวาตะวันออก เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์กลางดิจิทัลแห่งแรกของอินโดนีเซีย โดยเป็นที่ตั้งที่เหมาะสำหรับการพัฒนาธุรกิจและการลงทุน
เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์นี้ ฝ่ายบริหารมุ่งมั่นที่จะเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรด้านดิจิทัลเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม และกำหนดให้เขตเศรษฐกิจพิเศษสิงหสารีเป็นโครงการนำร่องสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการศึกษาแห่งแรกของอินโดนีเซีย
“King’s College London ได้เริ่มดำเนินการที่นั่นแล้ว และในอนาคต Queen Mary University London ซึ่งเป็นสมาชิกของ Russell Group ก็จะเข้ามาตั้งสำนักงานเช่นกัน” นายแอร์ลังกา กล่าว
นครโฮจิมินห์ไต่ขึ้นอันดับที่ 98 ศูนย์กลางการเงินโลก

นครโฮจิมินห์มีคะแนนเพิ่มขึ้น 25 คะแนนเมื่อเทียบกับอันดับก่อนหน้า โดยได้คะแนนรวม 654 คะแนน ตามหลังสิงคโปร์ซึ่งติดอันดับ 4 กรุงเทพมหานครที่อยู่ในอันดับ 96 และจาการ์ตาที่ติดอันดับ 97 (อินโดนีเซีย) แต่สูงกว่ามะนิลาอันดับ 103 (ฟิลิปปินส์) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อสิ้นปี 2567 คณะกรรมการกรมการเมืองได้อนุมัติอย่างเป็นทางการให้จัดตั้งศูนย์การเงินระหว่างประเทศ (IFC) ในนครโฮจิมินห์ ควบคู่กับศูนย์การเงินระดับภูมิภาคในดานัง
โฮจิมินห์ ซึ่งเป็นมหานครทางตอนใต้ของเวียดนามมีแผนจะสร้าง IFC บนพื้นที่ 9.2 เฮกตาร์ในเขตเมืองใหม่ทู เทียม(Thu Thiem) ของเขตนวัตกรรมเมืองอัฉริยะรูปแบบใหม่ในพื้นที่ด้านตะวันออกของนครหรือ ทู ดึ๊ก ซิตี้(Thu Duc City)
IFC จะเป็นรากฐานสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตของเมือง โดยมุ่งหวังที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ กระตุ้นการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และเสริมสร้างตำแหน่งศูนย์กลางเศรษฐกิจของเวียดนาม
GFCI 37 จัดทำการประเมินความสามารถในการแข่งขันในอนาคตและการจัดอันดับของศูนย์กลางการเงิน 119 แห่งทั่วโลก GFCI เป็นข้อมูลอ้างอิงที่มีคุณค่าสำหรับผู้กำหนดนโยบายและการตัดสินใจด้านการลงทุน
GFCI รวบรวมโดยใช้ปัจจัยเชิงเครื่องมือ 140 ปัจจัย การวัดเชิงปริมาณเหล่านี้จัดทำโดยบุคคลที่สาม รวมถึงธนาคารโลก OECD และสหประชาชาติ
ปัจจัยเชิงเครื่องมือจะรวมกับการประเมินศูนย์กลางการเงินที่จัดทำโดยผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ของ GFCI ซึ่ง GFCI 37 ใช้การประเมิน 31,314 รายการจากผู้ตอบแบบสอบถาม 4,946 ราย
เวียดนามขยายเพดานต่างชาติถือหุ้นในสถาบันสินเชื่อเป็น 49%
เวียดนามได้เปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในสถาบันสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารของเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุด 49% ของทุนจดทะเบียน ผ่านกฎหมายฉบับใหม่ จากเดิมที่การถือหุ้นทั้งหมดของนักลงทุนต่างชาติในสถาบันสินเชื่อของเวียดนามที่เข้าซื้อสถาบันสินเชื่อที่อ่อนแอจะได้รับอนุญาตกำหนดไว้ที่ 30% โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคมปีนี้
สถาบันสินเชื่อตามกฎหมายนี้ไม่รวมถึงสถาบันสินเชื่อที่รัฐบาลถือหุ้นเกิน 50% ของทุนจดทะเบียน
ขณะเดียวกัน การถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเชิงกลยุทธ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องของนักลงทุนต่างชาติดังกล่าวในสถาบันสินเชื่อจะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือเกิน 20% ของทุนจดทะเบียนของสถาบันสินเชื่อ
กฎหมายฉบับใหม่ยังกำหนดด้วยว่าการถือหุ้นทั้งหมดของนักลงทุนต่างชาติในสถาบันสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารของเวียดนามจะต้องไม่เกิน 50% ของทุนจดทะเบียนของสถาบัน หากนักลงทุนต่างชาติถือเกินเกณฑ์ จะต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นลงภายใน 6 เดือนเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์
ในกรณีที่การถือครองของชาวต่างชาติทั้งหมดในสถาบันสินเชื่อเกินเกณฑ์ที่กำหนด นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถซื้อหุ้นเพิ่มได้จนกว่าการถือครองของชาวต่างชาติทั้งหมดจะต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้
ปัจจุบันธนาคารกลางเวียดนาม ได้ดำเนินการโอนธนาคารที่เปราะบาง 4 แห่ง ได้แก่ CB, Oceanbank, DongA Bank และ GPBank ไปยัง Vietcombank, MB, HDBank และ VPBank ตามลำดับ
นอกจากการเพิ่มเพดานการถือครองของชาวต่างชาติแล้ว สถาบันสินเชื่อที่เข้าซื้อธนาคารที่อ่อนแอยังจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การรีไฟแนนซ์สินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ การลดอัตราส่วนสำรอง และการขยายสินเชื่อตามกฎหมายสถาบันสินเชื่อที่แก้ไข
นักวิเคราะห์ของบริษัท Viet Dragon Securities ระบุว่า การได้รับสินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์จาก SBV ที่มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษจะช่วยให้ผู้ซื้อธนาคารที่อ่อนแอสามารถรักษาสภาพคล่องได้โดยไม่ต้องแบกรับต้นทุนเงินทุนที่สูงขึ้น
สำหรับสิทธิประโยชน์ในด้านการลดอัตราส่วนสำรองลง 50% นักวิเคราะห์เชื่อว่า จะช่วยให้ผู้ซื้อมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการบริหารเงินทุน โดยทำให้เงินทุนที่มีอยู่ปล่อยกู้และลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะเร่งอัตราการเติบโตของสินทรัพย์รวมและเพิ่มความสามารถในการทำกำไรหากสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งเงินทุนใหม่เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูง
ในขณะเดียวกัน ผู้ซื้อจะสามารถจำกัดผลกระทบเชิงลบต่องบการเงิน อัตราส่วนความปลอดภัย และข้อจำกัดด้านกฎระเบียบอื่นๆ เพราะไม่จำเป็นต้องรวมงบการเงินกับธนาคารที่รับโอนมา