
Equities Market Review Group ที่จัดตั้งขึ้นในสิงคโปร์เพื่อศึกษาแนวทางเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดหุ้นในประเทศ ได้ประกาศโครงการริเริ่มใหม่ที่มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน ยกระดับสภาพคล่องในการซื้อขายด้วย การเปิดตัวโครงการมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ โดยธนาคารกลางสิงคโปร์จะร่วมมือกับผู้จัดการกองทุนเพื่อลงทุนในหุ้นสิงคโปร์ รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้ดีขึ้นและทำให้กระบวนการจดทะเบียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 คณะทำงานศึกษาด้านตลาดทุน(Equities Market Review Group) ที่จัดตั้งขึ้นโดยธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) ได้ประกาศมาตรการชุดแรกเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นสิงคโปร์ ซึ่งรวมถึงมาตรการจูงใจทางภาษี 3 ข้อที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศในงบประมาณปี 2568 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568
เว็บไซต์ธนาคารกลางสิงคโปร์ เผยแพร่แถลงการณ์ ว่า Review Group ได้หารือและรับฟังกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมนวงกว้าง รวมทั้งจะเสนอมาตรการเพื่อเสริมสร้างการทำงานของตลาดหุ้นสิงคโปร์ และความน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนและบริษัทที่ต้องการจดทะเบียนและเข้าถึงเงินทุนเพื่อการเติบโต นอกจากนี้คณะทำงานยังมีแนวคิดที่จะเพิ่มความสนใจของนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันในตลาดของสิงคโปร์
ในการแถลงข่าววันเดียวกัน นายชี ฮง ทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมการ MAS กล่าวถึงความท้าทายของตลาดทุนสิงคโปร์และเป้าหมายที่คาดหวัง
นายชี ฮง ทัต กล่าวว่า ตามที่รับรู้กันแล้วเงินทุนและสภาพคล่องของโลกกระจุกตัวอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ระดับโลกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหุ้นที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณสองในสามของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั่วโลก บริษัทที่กำลังเติบโตจากทั่วโลกต้องการที่จะจดทะเบียนในสหรัฐฯ เนื่องจากจะได้ทั้งมูลค่าและสภาพคล่อง และยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้เห็นนักลงทุนจากทั่วโลกถูกดึงดูดให้ลงทุนในตลาดสหรัฐฯ จากการที่ทำผลงานเหนือกว่าดัชนีทั่วโลกมาหลายปีแล้ว ความท้าทายที่ตลาดตราสารทุนในสิงคโปร์ต้องเผชิญในการดึงดูดการจดทะเบียนใหม่ๆ และการเพิ่มสภาพคล่องนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสิงคโปร์เท่านั้น ตลาดหลักทรัพย์จำนวนมากในโลกก็กำลังเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายกัน
สำหรับเป้าหมายที่คณะทำงานวางไว้ ข้อแรก จากที่ได้รับข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมตลาดจำนวนมากว่า ในสิงคโปร์หรือภูมิภาคมีบริษัทที่มีสถานะแข็งแกร่ง แต่หากบริษํทเหล่านี้ไปที่สหรัฐอเมริกา ก็อาจไม่ใหญ่พอที่จะดึงความสนใจของนักลงทุนไว้ได้หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น สำหรับกลุ่มบริษัทที่มีการดำเนินงานอย่างแข็งแกร่งในสิงคโปร์และภูมิภาคนี้ เป็นกลุ่มหนึ่งที่คณะทำงานสามารถประสานได้
ข้อสองคณะทำงานตระหนักว่าบริษัทที่แบรนด์ได้รับการยอมรับอย่างสูง ซึ่งหากจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ก็สามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนได้มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ข้อสาม Review Group จึงมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างองค์ประกอบของระบบนิเวศ ความน่าดึงดูดใจของตลาดหุ้นของสิงคโปร์ต่อบริษัทเหล่านี้ทั้งจากสิงคโปร์และจากภูมิภาค เพื่อที่จะได้มองตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดที่สามารถระดมทุนเพื่อการเติบโตได้อย่างยั่งยืน และยังสามารถดึงความสนใจจากฐานนักลงทุนของพวกเขาในระยะเวลานานขึ้น
ข้อสี่อีกแนวทางหนึ่งคือพิจารณาข้อเสนอแนะและแนวคิดที่ได้รับ และดำเนินการเพื่อเสริมสร้างรากฐานและองค์ประกอบของตลาดตราสารทุนอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ได้มองถึงการดำเนินการที่ง่ายและเร็ว ข้อห้า คณะทำงานต้องการให้แนวทางเป็นแบบองค์รวมที่ครอบคลุม โดยคำนึงถึงทุกแง่มุมของตลาดที่อาจส่งผลเชิงบวกต่อความน่าดึงดูดใจและความสามารถในการแข่งขันโดยรวม เพื่อให้สามารถดึงดูดการเข้าจดทะเบียน และเพื่อให้สามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนได้

การเพิ่มความน่าสนใจให้กับนักลงทุนซึ่งเป็นการจัดการด้านอุปสงค์(Demand)
มาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายให้ลึกขึ้น และเสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดการกองทุนในประเทศและระบบนิเวศการวิจัยตราสารทุน
มาตรการชุดแรกประกอบด้วย:
1) ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) และกองทุนเพื่อการพัฒนาภาคการเงิน (Financial Sector Development Fund :FSDF) จะเปิดตัวโครงการพัฒนาตลาดตราสารทุน (Equity Market Development Programme:EQDP) มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ภายใต้โครงการนี้ MAS จะลงทุนกับผู้จัดการกองทุนที่ได้รับการคัดเลือกซึ่งมีความสามารถในการปฏิบัติตามข้อกำหนดการลงทุนโดยเน้นที่หุ้นสิงคโปร์เป็นหลัก กลยุทธ์เหล่านี้ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ลงทุนในบริษัทต่างๆ ไม่ใช่แค่ดัชนีที่มีหุ้นเหล่านี้อยู่ และค่อยๆดึงการลงทุนจากนักลงทุนรายอื่น MAS จะเริ่มกระบวนการประเมินผู้จัดการกองทุนและกลยุทธ์ที่มีสิทธิ์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
2) ยกเว้นภาษีให้กับผู้จัดการกองทุน สำหรับกองทุนสำหรับรายได้ที่ได้มาจากลงทุนจำนวนมากในหุ้นที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ และต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดซึ่งจะช่วยเสริม EQDP และทำหน้าที่สนับสนุนผู้จัดการกองทุนในการเปิดตัวและกระจายกองทุนที่ลงทุนอย่างมากในตลาดหุ้นของสิงคโปร์
นายชี ฮง ทัตกล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศในงบประมาณปี 2568 แล้วว่าจะยกเว้นภาษีสำหรับรายได้ที่เป็นไกปตามเกณฑ์ที่กำหนดของผู้จัดการกองทุนจากกองทุนที่มีการจัดสรรการลงทุนอย่างน้อย 30% ให้กับหุ้นสิงคโปร์
3)EDB จะปรับโครงการ Global Investor Program (GIP) เพื่อรองรับเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นของสิงคโปร์มากขึ้น ผู้ที่ยื่นขอ GIP รายใหม่ที่จัดตั้งสำนักงานธุรกิจครอบครัวที่ให้บริการครอบครัวเดียว (Single Family Office :SFO) จะต้องลงทุนอย่างน้อย 50 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในหุ้นที่จดทะเบียนในสิงคโปร์หรือในตลาดหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุมัติเท่านั้น ปัจจุบัน SFO เดิมต้องมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารอย่างน้อย 200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยในจำนวนนี้อย่างน้อย 50 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จะต้องนำไปใช้ในประเภทการลงทุนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ซึ่งประกอบด้วยหุ้นจดทะเบียน/REITS/ทรัสต์ธุรกิจ ตราสารหนี้ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด กองทุนที่กระจายอยู่ในสิงคโปร์ และบริษัทที่ดำเนินงานในสิงคโปร์แต่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาด
4) จะขยายเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาการวิจัย(Research Development Grant Scheme)ภายใต้โครงการ Grant for Equity Market Singapore (GEMS) ของ MAS ให้ครอบคลุมบริษัทก่อนการเสนอขายหุ้น IPO มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และขยายการเผยแพร่งานวิจัย รวมถึงผ่านช่องทางสื่อใหม่ๆ โดย MAS และตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์(SGX) จะเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมประมาณกลางปีนี้

ยกระดับความน่าสนใจด้วยการเข้าตลาดอย่างมีคุณภาพซึ่งเป็นการจัดการด้านอุปทาน(Supply)
มาตรการเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดบริษัทที่ดำเนินงานในสิงคโปร์และผู้จัดการกองทุนให้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นของสิงคโปร์เพื่อระดมทุน
1) คืนภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% สำหรับ Primary listing(การเสนอขายหุ้นของบริษัทต่างประเทศที่ไม่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ) และส่วนลดภาษี 10% สำหรับ Secondary listing (การเสนอขายหุ้นที่ออกโดยบริษัทต่างประเทศที่มีหรือจะมีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ) ซึ่งจะช่วยเสริมโครงการ GEMS ที่มีอยู่เดิมในการชดเชยต้นทุนการจดทะเบียนส่วนหนึ่งขององค์กร
2) จะยกเว้นภาษีให้อีก 5% จากรายได้ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดสำหรับการผู้จัดการกองทุนใหม่ที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ แต่ผู้จัดการกองทุนที่มีสิทธิ์จะต้องจัดสรรผลกำไรส่วนหนึ่งเป็นเงินปันผล เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์คุณสมบัติ
3) รัฐบาลจะยังคงสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจในประเทศต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้มีบริษัทที่มีศักยภาพในการจดทะเบียน และยังรวมถึงแผนการลงทุนใหม่ที่ประกาศในงบประมาณปี 2568 ที่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และ Enterprise Singapore รับผิดชอบ
นโยบายส่งเสริมธุรกิจและมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน
นอกจากนี้ Review Group ยังเสนอแนะให้ใช้นโยบายด้านกฎระเบียบที่สนับสนุนกิจการมากขึ้น ควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน มาตรการกำกับดูแลจะขับเคลื่อนสิงคโปร์ไปสู่ระบบที่เน้นการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ในขณะที่ยังคงมาตรฐานสากลอย่างแข็งแกร่ง กระบวนการเข้าจดทะเบียนในสิงคโปร์จะมีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากกว่าปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด และจะได้เปรียบเมื่อเทียบกับศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำของโลก กฎระเบียบจะชัดเจนและอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนมากขึ้น และจะคงมาตรฐานสูงในการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการบังคับใช้ที่เข้มงวด เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุน นอกจากนี้ ผู้เล่นในระบบนิเวศที่สำคัญ เช่น ผู้จัดการในฝั่งผู้ออกหลักทรัพย์ที่ดำเนินการตรวจสอบสถานะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบัญชีที่ดำเนินการตรวจสอบทางการเงิน รวมถึงนักวิเคราะห์การวิจัยที่กลั่นกรองการเปิดเผยข้อมูล จะต้องมีส่วนร่วมเพื่อให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอและเชื่อถือได้
มาตรการกำกับดูแลชุดแรกประกอบด้วย
1) รวมการทำงานด้านการตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลหนังสือชี้ชวนและความเหมาะสมในการเข้าจดทะเบียนไว้ใน Singapore Exchange Regulation (SGX RegCo) ซึ่งจะช่วยให้ผู้มีแนวโน้มออกหลักทรัพย์มีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับกระบวนการจดทะเบียนและลำดับเวลา จากการที่มีส่วนร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลเพียงแห่งเดียวนับจากนี้เป็นต้นไป
2) ลดการพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม(merit-based judgment) เมื่อรับการเข้าจดทะเบียนรายใหม่ โดยการปรับปรุงเกณฑ์การรับเข้าเชิงคุณภาพของ SGX RegCo แทนที่จะใช้แนวทางที่กำหนดไว้ให้ผู้ออกลดความเสี่ยง ก่อนที่จะจดทะเบียน RegCo จะมุ่งเน้นไปที่การดูแลให้แน่ใจว่าการเปิดเผยประเด็นสำคัญนั้นเพียงพอสำหรับการตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลของนักลงทุน
3) ปรับปรุงข้อกำหนดหนังสือชี้ชวนและกระบวนการจดทะเบียน ข้อกำหนดหลักทั้งหมดของหนังสือชี้ชวน ซึ่งรวมถึงข้อมูลทางการเงิน ธุรกรรมของผู้มีส่วนได้เสีย และความขัดแย้งทางผลประโยชน์ จะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ขณะที่ยังคงปฏิบัติตามมาตรฐานสากลต่อไป ข้อกำหนดการเปิดเผยข้อมูลหลักจะยังคงอยู่ โดยเน้นการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องและเป็นสาระสำคัญให้กับนักลงทุนอย่างชัดเจน จากการปรับปรุงครั้งนี้ ผู้ออกสามารถคาดหวังได้ว่ากระบวนการตรวจสอบการเข้าจดทะเบียนโดยทั่วไปจะใช้เวลา 6 ถึง 8 สัปดาห์ นอกจากนี้ MAS ยังจะลดความซับซ้อนของข้อกำหนดเพื่อให้ผู้ออกหลักทรัพย์ที่กำลังพิจารณา secondary listing ในสิงคโปร์สามารถทำได้โดยใช้หนังสือชี้ชวนจาก primary listing โดยปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย
4) ใช้แนวทางที่ตรงเป้าหมายมากขึ้นในการสอบถามหลังเข้าจดทะเบียน การแจ้งเตือน และการระงับการซื้อขาย เนื่องจากการสอบถามและการแจ้งเตือนสาธารณะอาจมีผลกระทบโดยไม่ตั้งใจแลกระทบต่อการซื้อขายหุ้นของผู้ออก แนวทางที่ตรงเป้าหมายมากขึ้นในการจัดการจะช่วยให้ SGX RegCo สร้างสมดุลที่ดีขึ้นในการอำนวยความสะดวกด้านระเบียบวินัยของตลาดและบรรลุการคุ้มครองนักลงทุน SGX RegCo จะรับฟังความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอเพื่อยกเลิก “Watch-List” ทางการเงิน (Watch List หมายถึง รายชื่อหลักทรัพย์ที่ต้องติดตามตรวจสอบการทำธุรกรรม)
MAS และ SGX RegCo จะเปิดเผยละเอียดการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอเหล่านี้ภายในกลางปี 2568
ในระยะต่อไปของการทำงาน ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2568 คณะทำงานจะพิจารณาข้อเสนออื่นๆ นอกเหนือจากมาตรการที่ประกาศในวันนี้ ซึ่งรวมถึง
1) เปิดตัวโครงการเพื่อยกระดับความสามารถในการมีส่วนร่วมของผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน และมุ่งเน้นที่มูลค่าของผู้ถือหุ้นให้ชัดยิ่งขึ้น
2) การดึงดูดสภาพคล่องจากรายย่อยผ่านการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตลาด เช่น การลดขนาดหน่วยการซื้อขาย (Board Lot)
3) การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้ลงทุนโดยการเพิ่มช่องทางการขอความช่วยเหลือของนักลงทุน
4) การปรับปรุงประสิทธิภาพการดูแลหลังการเข้าซื้อขาย และ
5) การพัฒนาความร่วมมือข้ามพรมแดน