1721955
“ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ต่างอะไรกับสื่อลามก! เพราะส่งเสริมและยกย่องพฤติกรรมทางเพศของพวกรักร่วมเพศ! สนับสนุนการเสพกามทางทวารหนัก สนับสนุนการแพร่เชื้อเอดส์ เป็นสื่อที่ทำให้จำนวนประชากรเกย์จะเพิ่มสูงขึ้น” คือส่วนหนึ่งของคำจวกจากกลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มศาสนาที่ชาวเน็ตต่างลามไปด่านัมยุนซู นักแสดงนำในบทโกยอง หนำซ้ำบรรดาพ่อแม่และบาทหลวงต่างตบเท้ากันออกมาประท้วงให้ระงับการฉายซีรีส์เรื่องนี้ทันทีด้วยเหตุผลว่า “นี่คือซีรีส์ที่เป็นอันตรายต่อเด็กๆ ของเรา เพราะมันทำให้ภาพของการรักร่วมเพศดูเป็นปกติ ซึ่งไม่สมควรเกิดขึ้นในสังคมเกาหลี”
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์เกย์ในเกาหลีใต้ https://thaipublica.org/2020/08/series-society03/
ทีเซอร์แรกของ Love in the Big City (2024) เปิดตัวเมื่อวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม ก่อนจะถูกถอดในเช้าวันเสาร์นั้น หลังจากถูกกลุ่มต่อต้าน LGBTQ+ รวมตัวกันร้องเรียนไปยังบริษัทผู้สร้าง Tving แต่ยิ่งกลายเป็นกระแสต่อต้าน ฝ่ายสนับสนุนก็ยิ่งดาหน้าเข้ามา ในที่สุดตัวอย่างแรกก็ถูกอัปกลับขึ้นมาในวันที่ 20 เพียงวันเดียวก่อนที่ซีรีส์จะให้บริการสตรีมมิ่งในวันที่ 21
ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ร่วมกับสำนักงานเนื้อหาสร้างสรรค์แห่งเกาหลี เพื่อสนับสนุนการผลิตเนื้อหาเฉพาะทางของบริการสตรีมมิง นั่นแปลว่า แม้จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ซีรีส์นี้ถูกจำกัดการฉายเฉพาะบนสตรีมมิง ไม่ใช่ออกอากาศตามช่องทีวีทั่วไป แถมยังจำกัดเรตที่ 19+ (แปลว่าอายุต่ำกว่า 19 ห้ามดูเด็ดขาด)
Love in the Big City ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของพัคซังยอง (เขาเขียนบทซีรีส์นี้เองด้วย) ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2019 ได้รับการแปลมากถึง 15 ภาษา (ฉบับภาษาไทยมีชื่อยาวมากว่า “เราไม่อาจกักเก็บใครไว้ได้ตลอดกาล ในจักรวาลสีแอเมทิสต์” สำนักพิมพ์ Page Publishing แปลโดย พิชยาภา ดีทองหลาง) และได้รับการคัดเลือกให้เข้าชิงรางวัลอันทรงเกียรติมากมาย เช่น รางวัล International Booker Prize ในปี 2022 และรางวัล Dublin Literary Award ในปี 2023 นิยายเรื่องนี้มียอดขายมากกว่า 100,000 เล่มในเกาหลี
ไม่เท่านั้น ในเดือนเดียวกันกับที่ซีรีส์เรื่องนี้ออกฉาย จริงๆ แล้วฉบับภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันก็เพิ่งจะออกฉายไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมเดือนเดียวกันนั้นด้วย และได้เรตติ้งเพียงแค่ 15+ แต่สิ่งที่ทำให้ฉบับภาพยนตร์ไม่ได้ถูกจวกหนักเท่าฉบับซีรีส์ก็เพราะว่า เนื้อหาในฉบับภาพยนตร์เป็นเพียงช่วงบทแรกของนิยายเล่มนี้ อันเป็นมิตรภาพระหว่างเพื่อนเกย์กับเพื่อนสาว และไม่ได้มีฉากเซ็กซ์หรือฉากจูบมากเท่ากับฉบับซีรีส์ ตัวหนังเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต และโกยคำชมอย่างล้นหลาม รวมถึงเคยเข้าฉายในไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากตัวอย่างทั้งฉบับซีรีส์และหนัง หลายคนอาจเข้าใจผิดว่านี่คือซีรีส์วายหรือบอยเลิฟทั่วไป แต่อันที่จริง Love in the Big City น่าจะเป็นซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกที่เล่าชีวิตเกย์เกาหลีได้อย่างสมจริงที่สุดเท่าที่เกาหลีใต้เคยสร้างมา และเนื้อหามันโวก (woke) มาก คือมันมีดาร์กที่พาให้เราตื่นรู้หรือตระหนักได้ถึงสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
“เราได้เรียนรู้ความจริงมากมายเกี่ยวกับชีวิตผ่านกันและกัน มีแอได้เรียนรู้จากผมว่า เป็นเกย์มันห่วยแตก ส่วนผมก็ได้เรียนรู้จากเธอว่า เป็นหญิงก็ห่วยแตกไม่ต่างกัน” -โกยอง
ฉบับนิยายแบ่งเป็น 4 ตอน คือ 1. Jaehee (เพื่อนสาวคนสนิทของโกยอง แต่ฉบับซีรีส์เธอถูกเปลี่ยนชื่อเป็นมีแอ) 2. Sea Bass, One Spot, the Taste of the Universe (เรื่องนี้ชนะรางวัลนักเขียนหน้าใหม่เมื่อปี 2019) 3. Big City Love 4 .Late Rainy Season Vacation ส่วนฉบับซีรีส์ 8 ตอนจบ ผนึกกำลังโดย 4 ผู้กำกับ คือ 1-2 กำกับโดย ซอนแตกึม, 3-4 โดย เฮอจินโฮ, 5-6 โดย ฮองจียอง และ 7-8 โดย เซอินคิม
เซอินคิม เป็นผู้กำกับหญิงและเธอไม่เคยกำกับซีรีส์มาก่อนเลย แต่หนังของเธอเพียงเรื่องเดียว The Apartment with Two Women (2021) อันเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างแม่กับลูกสาว เคยกวาด 4 รางวัลรวดรวมถึงหนังยอดเยี่ยมด้วยในเทศกาลหนังเมืองปูซาน และได้รับการฉายในเทศกาลหนังเบอร์ลิน ฮองจียอง เป็นอีกหนึ่งผู้กำกับหญิงที่เคยมีผลงานกำกับหนังซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชีวิตรักของผู้คนหลากหลายคู่ เช่น Modern Family (2012), Marriage Blue (2013), New Year Blues (2021)
ส่วนซอนแตกึม สมัยยังเป็นนักเรียนหนัง หนังสั้นชายรักชายของเขา Fly by Night (2011) เคยได้รับคัดเลือกให้ฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ และคอซีรีส์น่าจะเคยดู Misaeng: Incomplete Life (2014) ซึ่งดัดแปลงมาจากเว็บตูนชื่อดัง แม้ว่าเขาจะไม่ได้กำกับซีรีส์เรื่องนั้น แต่อันที่จริงเว็บตูนเรื่องนี้เคยถูกสร้างเป็นหนังมาก่อนแล้ว ทว่ามันจะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเรื่องราวในซีรีส์ ในชื่อ Misaeng: Prequel (2013) ที่กำกับโดยซอนแตกึม
แต่ในบรรดานี้คงไม่มีใครรุ่นใหญ่เท่าเฮอจินโฮ เขาคือหัวหอกสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักรสชาติของหนังเกาหลีในนามโคเรียนเวฟระลอกแรก ด้วยหนังรัก 4 ฤดูสุดละมุนแสนลึกซึ้งที่มักจะลงเอยด้วยการจากลา ไม่จากเป็นก็จากตาย ใน Christmas in August (1999), One Fine Spring Day (2001), April Snow (2005) และ Season of Good Rain (2009) เขาเพิ่งโดดลงมากำกับซีรีส์เพียงเรื่องเดียวก่อนหน้านี้คือ Lost (2021) อันเป็นซีรีส์ที่ถูกสร้างเป็นพิเศษในวาระฉลองครบ 10 ปีช่อง JTBC แล้วลองนึกดูว่า อะไรที่ทำให้ผู้กำกับระดับนี้เลือกจะมากำกับซีรีส์เกย์ที่ถูกพวกหัวโบราณถล่มยับขนาดนี้
เฮอจินโฮให้สัมภาษณ์ในงานแถลงข่าว Love in the Big City ว่า “เหตุผลที่ผมตัดสินใจมากำกับเรื่องนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าความรักของพวกเขาไม่ได้แตกต่างจากของเราเลย เราเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกัน และผมเชื่อว่าคนแบบแม่ของตัวละครในเรื่องนี้ที่เคยมองว่าโกยองผิดปกติ จะต้องเข้าใจและยอมรับได้ว่าพวกเขาปกติเช่นเดียวกับเรา เป็นมนุษย์เหมือนที่เราเป็น”
โกยอง
ตัวละครนี้ในนิยายถูกเรียกด้วยชื่อเล่นว่า “ยอง” และไม่ต้องสืบเลยว่าจริงๆ แล้วมันก็คือชื่อเล่นของผู้แต่งนิยาย พัคซังยอง ซึ่งอันที่จริงตัวละครนี้ในนิยายจะถูกเรียกว่า “เจ้าแมวอ้วน” เนื่องจากเขาเป็นเกย์หุ่นหมี ทว่าทั้งฉบับหนังและซีรีส์กลับเลือกนักแสดงหล่อผอมสูงด้วยเหตุผลด้านการตลาด ในฉบับซีรีส์เขาจึงถูกเปลี่ยนไปเรียกว่า “เจ้าแมวขี้หงุดหงิด” เพราะหนึ่งในผู้ชายของโกยองเคยบอกเขาว่า “นายเหมือนแมวลายขี้หงุดหงิดและใจร้าย”
โกยองไม่เหมือนนายเอกในซีรีส์วายทั่วไป เขาใจร้าย ปากร้าย บทจะเงียบก็เงียบจนใจหาย บางทีก็ขี้อ้อนจนเกินเบอร์ บทจะหายไปก็ตัดสัมพันธ์อย่างไม่เหลือเยื่อใย แต่สิ่งที่เราจะเห็นบ่อยมากในซีรีส์นี้คือ เขายิ้มสวย ยิ้มกว้าง แล้วยิ่งเขายิ้มได้มากเท่าไหร่ ทันทีที่เรารู้ความลับของเรื่องนี้ เราจะยิ่งทึ่งที่เขายิ้มได้กับทุกปัญหาจริงๆ แล้วมันยิ่งสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เมื่อความลับนั้นทำให้รู้ว่าทำไมเขาถึงเห็นแก่ตัว ขี้หงุดหงิด ใจร้าย และต้องยิ้มกว้างให้ได้กับ…ชีวิต
เพราะเกาหลีเป็นสังคมปิตาธิปไตย (แบบเดียวกับไทยเราและส่วนใหญ่ทั่วเอเชีย) เกย์เป็นเพศที่ถูกเหยียด ถูกดูถูก แม้แต่คนในครอบครัวยังรังเกียจ เป็นเหมือนเชื้อโรค เป็นอาการป่วยไข้ที่ต้องรักษา แต่ความพีกในพีกคือ บางทีความเหยียดนั้นก็เกิดขึ้นในหมู่เกย์ด้วยกันเองก็มี
โกยองเป็นบทที่ท้าทายมากสำหรับชีวิตการแสดงของนัมยุนซู ในเกาหลี นัมโด่งดังจากการเป็นนายแบบมาตั้งแต่อายุ 16 ก่อนจะกลายเป็นพระเอก MV แล้วเป็นนักแสดงที่ค่อยๆ ไต่เต้าจากบทตัวประกอบ จนได้รับบทเด่นๆ เช่น หนุ่มหัวรุนแรงจอมบูลลี่ที่ทำให้เขาถูกเสนอชื่อชิงรางวัลนักแสดงชายหน้าใหม่จากเวทียิ่งใหญ่อย่าง Beaksang Art Awards ใน Extracurricular (2020), บทพนักงานส่งของขวัญใจสาวๆ ใน Birthcare Center (2020), บทตำรวจหนุ่มที่มาพร้อมกับรอยยิ้มสดใส ใน Beyond Evil (2021) และขึ้นแท่นบทนำเป็นพนักงานออฟฟิศชีวิตเพอร์เฟ็กต์ใน Today’s Webtoon (2022) เขายิ่งเป็นที่รักมากขึ้นเมื่อมีข่าวหลุดมาว่าเขาบริจาคไตข้างหนึ่งให้พ่อตัวเอง
แต่แล้วความรักจากบรรดาสาวๆ แม่บ้านทั้งหลายก็กลายเป็นคำเหยียด ใน Love in the Big City ที่นอกจากเขาต้องมาแสดงเป็นเกย์รับ แต๋วแตกในบางที แถมมีฉากนุ่งกางเกงในด้วย แล้วยังต้องจูบกับผู้ชาย 8 คนในซีรีส์นี้ที่มีคนนับว่าตลอดการถ่ายทำเขาต้องจูบกับเพศเดียวกันไม่ต่ำกว่า 300 เทกอย่างแน่นอน
นัมเล่าให้สื่อฟังว่า “ตอนอ่านคอมเมนต์ลบๆ พวกนั้นผมก็แค่หัวเราะ เพราะมีแค่ข้อความเดียว เพราะข้อความอื่นๆ อีกร้อยข้อความมากมายที่ส่งเข้ามานั้นล้วนแต่ให้กำลังใจผม… ผมว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วนะ เหมือนตัวผมกำลังก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวนึงแล้ว และประเทศของเราก็เปิดกว้างขึ้นแล้วด้วยจริงๆ” เขาตอบด้วยรอยยิ้มกว้างอันเป็นเอกลักษณ์
ผู้ชายชุงชอง
“คุณตากล้องผมขอเปลี่ยนเพลงได้ไหม”
“เพลงคลาสสิกแบบนี้ปิดกลางคันไม่ได้นะครับ”
“คุณเป็นคนขับรถที่หัวโบราณสุดๆ เลย”
“ผมขับตามความเร็วสูงสุดที่กฎหมายกำหนดสำหรับถนนสายนี้ครับ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วกว่านี้จะอันตรายได้”
“คุณมาจากชุงชองหรือครับ”
“เหมารวมว่าคนทั้งภูมิภาคเหมือนกันหมดมันไม่ดีนะ”
“ผมไม่ได้หมายความแบบนั้น ขอโทษครับ… ว่าแต่คุณมาจากไหนครับ”
“ชุงชองครับ”
นี่เป็นตัวอย่างมุกตลกในซีรีส์นี้ ที่เราคนไทยอาจจะงงว่ามันตลกยังไง ผู้ชายจากชุงชองคนนี้เป็นตากล้อง เขาเป็นหนึ่งในอดีตรักของโกยอง ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่โกยองบอกลาผู้ชายคนนี้ อาจเพราะนิสัยแบบคนชุงชอง แล้วด้วยเหตุนี้เองท้ายที่สุดชายคนนี้จึงพยายามจะเปลี่ยนนิสัยชุงชองของตนเองด้วยการทำสิ่งที่ตรงกันข้าม…
นิสัยแบบคนชุงชองจะว่าไปก็คล้ายกับคนกรุงมองคนเหนือว่าเป็นพวกต่อนยอน ชิลช้าจนเกินไป เพียงแต่ของคนเกาหลีใต้นั้น ชุงชองตั้งอยู่ทางภาคกลางของประเทศ ชาวชุงชองขึ้นชื่อว่าใจเย็นต่อนยอน จึงมักมีมุขตลกกันว่า ถ้ามีเพื่อนเป็นชาวชุงชอง คุณต้องพูดช้าๆ ทำอะไรช้าๆ ไม่งั้นพวกเขาจะตามไม่ทัน
อีกประการคือ คนชุงชองเป็นพวกไม่ค่อยเข้าใจความรู้สึกตัวเอง ว่ากันว่าถ้าจะถามอะไรให้แน่ใจจากคนชุงชอง คุณต้องถามพวกเขา 3 ครั้ง เช่น ถ้าถามว่า “อยากได้อันนี้มั้ย” พวกเขาจะไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ แล้วถ้าเราเลิกถามไปดื้อๆ คนชุงชองก็จะน้อยใจอีกเพราะคิดว่าคนถามไม่ใส่ใจ ดังนั้น ชาวเกาหลีใต้จึงเชื่อกันว่าถ้าต้องการรู้ความรู้สึกจริงๆ จากคนชุงชอง คุณต้องถามอย่างน้อย 3 ครั้งถึงจะได้คำตอบ
และคำติดปากของชาวชุงชองคือคำว่า “อะไร” ไม่ว่าจะโกรธ ตกใจ รำคาญ หวาดกลัว สับสน เศร้า ดีใจ หงุดหงิด พวกเขาก็จะใช้แต่คำว่า “อะไร” สื่อความรู้สึกเหล่านั้นทั้งหมด ดังนั้น คบกับคนชุงชองคุณต้องสังเกตจากน้ำเสียงหรือสีหน้าให้ดี เพราะบางทีคำว่า “อะไร” ก็ตีความไปได้หลายทาง
ผู้ชายย้อนแย้ง
ผู้ชายอีกคนที่โกยองแทบจะไม่รู้จักอะไรเขาเลย เพราะคำตอบของเขากำกวมเสมอมา “ผมสงสัยเรื่องกฎจักรวาลมาตลอด มันน่าสนใจมากๆ ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้… ทำไมถึงขี้แพ้เหมือนเดิม ในจักรวาลที่กว้างไกลมีดาวมากมายกี่ดวง และตัวตนของผมเล็กน้อยขนาดไหน พอผมคิดเรื่องนี้ซ้ำๆ ผมก็รู้สึกโดดเดี่ยวไม่สิ้นสุด” คำพูดของเขาเป็นปรัชญา เขาสนใจในปรัชญา แล้วมันก็มีเสน่ห์เอามากๆ สำหรับโกยอง เขาบอกโกยองในขณะกึ่มๆ มึนสุรา “ผมชอบนะ… ผมชอบจักรวาลของคุณ”
“ได้อยู่ในที่มืดๆ กับคุณ… ผมรู้สึกเหมือนมีแค่เราสองในจักรวาลเลย” ไม่ใช่แค่ดูจะเป็นคนมีความคิดลึกซึ้ง แต่รูปลักษณ์ของเขาก็ชวนหลงไหล ทั้งรอยสัก ทั้งกล้ามแกร่ง รักแร้ที่ไร้ขน มาดแมนสุดๆ แล้วโกยองก็คิดในใจว่า “เหมือนร่างกายของผมพอดีกับร่างกายเขา… ในอ้อมแขนของผม ร่างเขาเหมือนกว้างใหญ่เท่าทั้งจักรวาล”
ในระหว่างห้วงรัก ชายคนนี้หยิบแผ่นเสียงเพลงของอีอึนฮา ราชินีเพลงฮิตแห่งยุค 70-80s ขึ้นมาเปิด อีอึนฮาเป็นนักร้องที่เดบิวต์ในปี 1973 ด้วยวัยเพียง 12 ปี ข้อกฎเหล็กทางทหารของเกาหลีในเวลานั้นทำให้ผู้เยาว์ไม่สามารถออกอากาศทางทีวีได้ แต่เพลงของเธอกลับโด่งดังแบบปากต่อปากตามคลับบาร์ต่างๆ กว่าผู้คนจะได้เห็นหน้าเธอก็เมื่อเธออายุครบ 15 ปี ในที่สุดปี 1976 เพลงของเธอถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องผ่านช่องวิทยุโทรทัศน์เอกชน TBC (Tongyang Broadcasting Company 1964-1980 เจ้าของคืออีบยองชอล ผู้ก่อตั้งเครือธุรกิจ Samsung ในปัจจุบัน)
กระทั่งกันยายน 1980 หลังเหตุโศกนาฎกรรมสังหารหมู่นักศึกษาที่กวางจู นายทหารชอนดูฮวันก็ถือโอกาสทำรัฐประหารยึดอำนาจและมีกฎบ้าๆ บอๆ มากมาย ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน TBC และช่องเอกชนอื่นๆ ถูกคำสั่งทหารให้ควบรวมสื่อ แล้วธุรกิจทั้งหมดของ TBC ก็จำต้องถูกถ่ายโอนไปเป็นของช่องสถานีแห่งชาติ KBS เวลานั้น อีอึนฮาก่อตั้งบริษัทของตัวเองแล้วและผูกขาดขึ้นตรงกับช่อง TBC แปลว่าทันทีที่สถานีถูกควบรวม ทั้งบริษัทของเธอและช่อง TBC ก็จะหายวับไปภายในชั่วข้ามคืน
คืนก่อนควบรวมในวันที่ 30 พฤศจิกายน 1980 ช่อง TBC ได้จัดงานอำลาแล้วมีนักร้องดังๆ มากันอย่างคับคั่ง ที่ถ้าสังเกตจะพบว่าคนดังในเวลานั้นต่างมีสีหน้าหดหู่ เคร่งเครียด แล้วนักร้องดังแห่งยุค 3 สาวก็ถูกเชิญขึ้นร้องเพลงสุดท้าย หนึ่งในนั้นคืออีอึนฮาที่มาในชุดดำ ทว่าระหว่างที่เธอร้องเธอเกิดหลั่งน้ำตาแล้วพานให้นักร้องคนอื่นๆ ต่างน้ำตารื้นไปตามๆ กัน
ความบ้าบอทางทหารจึงเกิดขึ้น เมื่อในวันที่ 1 ธันวาคม ช่อง KBS ที่เข้ามาเสียบแทนจะมีพิธีฉลองเปิดตัวการควบรวมครั้งนี้ ซึ่งหนึ่งในลิสต์นักร้องดังที่ต้องขึ้นบนเวทีนั้นก็คืออีอึนฮาอีกเช่นกัน แต่เพราะเธอเกิดร้องไห้ในรายการสด คราวนี้ทหารจึงสั่งระงับกลางอากาศไม่ให้เธอขึ้นแสดงในโชว์พิเศษนั้น แล้วกว่าผู้คนจะได้เห็นเธออีกทีก็เมื่อปี 1982 ทางช่อง KBS หลังจากนั้น เพลงของเธอก็โด่งดังมาตลอดในช่วงยุค 80s
ดังนั้น อีอึนฮาจึงเป็นเสมือนผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากอำนาจทางทหารแบบชายเป็นใหญ่ที่คอยบังคับบงการชีวิตผู้คนทั้งประเทศ ทว่า หากคนดูจะสังเกตอีกสิ่งหนึ่งที่ดูลักลั่นย้อนแย้งภายในบ้านของผู้ชายคนรักของโกยองครั้งนี้ ที่ซีรีส์จงใจให้เราเห็นมันแขวนโด่เด่นอยู่หน้าทางเข้าบ้านของเขาตลอดเวลา ก็คือใบหน้าอันเป็นเอกลักษณ์ของเออร์เนสโต “เช” เกวารา ไอคอนฝ่ายซ้ายแห่งอเมริกาใต้ในยุค 60s
แม้จนถึงปัจจุบันจะมีผู้สมาทานแนวคิดฝ่ายซ้ายมากมายยกย่องให้เชเป็นฮีโร่ แต่เขาคนนี้เคยกราดยิงสังหารหมู่ ซ้อมทรมานชาวคิวบาหลายพันคนด้วยน้ำมือตนเอง แล้วสิ่งที่หยุดเขาได้ก็คือกระสุนปืนที่ทำให้เขาถูกฆ่าเมื่อปี 1967 ด้วยวัยเพียง 39 ปี ในระหว่างความพยายามจัดการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในโบลิเวีย
เชเป็นนักปฏิวัติ หนุ่มแน่น หล่อเหลา เซ็กซี่ และฉลาดหลักแหลม แสวงหาเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน เป็นเสมือนโรบินฮู้ดในแบบชาวฮิสแปนิกผู้พลีชีพเพื่อผู้อื่น และจินตภาพของเขาถูกประกอบสร้างด้วยองค์ประกอบแบบผู้ชายแบดๆ ผู้ก่อกบฏอย่างชอบธรรมและจบชีวิตลงด้วยโศกนาฏกรรม สมเป็นฮีโร่มาดแมนแสนเซ็กซี่ โดยผู้คนลืมไปสิ้นว่าจริงๆ แล้วเชเป็นฆาตกรสังหารหมู่ ไม่แค่นั้น เขาเป็นพวกเหยียดผิวและเหยียดเกย์อย่างหนัก
ความย้อนแย้นอย่างหนักคือ แทบจะทุกครั้งของการประท้วงใดๆ ก็ตาม อย่างในอเมริกาไม่ว่าจะประท้วงทุนนิยมแบบทรัมป์ หรือประท้วงเพื่อคนดำ Black Lives Matter ทุกสนามล้วนเห็นคนชูธง หรือแปะป้ายบูชา “เช”
บนเว็บ PragerU เว็บให้ความรู้ทางการศึกษาในบทความของกลอเรีย อัลวาเรซ ระบุว่า ‘นี่คือคำพูดของเชเกี่ยวกับเชื้อชาติ: “คนผิวสีเป็นคนขี้เกียจและเป็นนักฝัน ใช้เงินเดือนอันน้อยนิดของพวกเขาหมดไปกับความเหลวไหลหรือการดื่มเหล้า (วาทกรรมจนเครียดกินเหล้า คล้ายประเทศใดหนอ-ผู้เขียน)” เชระบุอย่างชัดเจนว่าวิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับสังคมนิยมยูโทเปียนั้น เขาไม่ได้นับรวมพวกคนผิวสี “เราจะทำเพื่อคนผิวสีเหมือนกับที่คนผิวสีทำเพื่อการปฏิวัติ” เขากล่าว “ซึ่งผมหมายถึงว่า ไม่มีอะไรเลย” หรืออีกประโยค “คนผิวสีเป็นตัวอย่างอันงดงามของเผ่าพันธุ์แอฟริกันที่รักษาความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติเอาไว้ได้ด้วยการไม่คุ้นเคยกับการอาบน้ำ”
ความสับสนที่คล้ายคลึงกันนี้ยังเกิดขึ้นในกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยใบหน้าของเชปรากฏบนโปสเตอร์ไพรด์สีรุ้งมากมาย แต่จริงๆ แล้วเชเป็นพวกเกลียดกลัวเกย์อย่างสุดโต่งและไม่เคยสำนึกผิด หลายครั้งเขาเคยเรียกชายเกย์ว่า “พวกโรคจิต” เขาขังผู้ต้องสงสัยว่าเป็นเกย์ไว้ในค่าย และบังคับให้พวกเขาทำงานภายใต้การแปะป้ายที่เขียนว่า “การทำงานจะทำให้คุณสมเป็นชายชาตรี”’
ความย้อนแย้งเหล่านี้เป็นเสมือนลางบอกเหตุที่โผล่มาให้เห็นตั้งแต่คืนแรกที่โกยองเข้าไปมีสัมพันธ์กับชายคนนี้ในบ้านแล้ว ทว่าโกยองไม่เคยสังเกตเห็น และนี่คืออีกหนึ่งในร่องรอยความโวกของซีรีส์เรื่องนี้
คำเตือน ต่อจากนี้จะมีการสปอยปมสำคัญของเรื่อง
ผู้ชายชาวเกาะและ ยสตน.
ชายคนต่อมาที่เราเชื่อว่าผู้ชมคงภาวนาอย่างหนักให้โกยองได้ลงเอยอย่างมีความสุขดั่งนิยายวายทั่วไป ทว่า “จู๋ของเขาหดทุกครั้งที่ใส่ถุงยาง… ส่วนผมมีเซ็กซ์แบบสดไม่ได้เพราะไคลีย์” ในซีรีส์ โกยองเรียก HIV ว่า “ไคลีย์” อันมาจาก ไคลีย์ ไวลด์ (จริงๆ แล้วในนิยายก็คือไคลี มิโนก นักร้องหญิงชาวออสเตรเลียคนดังผู้ทุ่มเงินและอุทิศตัวอย่างหนักให้กับมูลนิธิเพื่อเอดส์และสิทธิชาว LGBTQ+) เพราะวันที่เขาติดเชื้อนั้น เขาฟังเพลงของไคลีย์
รักครั้งนี้เป็นชายหนุ่มผู้มาจากเกาะเล็กๆ ทางตอนใต้สุดของเกาหลี… “เกาะเชจู” เขาเข้ามาตามฝันบนแผ่นดินใหญ่ในโซล ก่อนจะตัดสินใจไปแผ่นดินที่ใหญ่กว่า ซึ่งก็คือ “จีน” แต่ระหว่างนั้นพวกเขาแวะไปเที่ยวยังประเทศที่มีเสรีภาพในด้าน LGBTQ+ นั่นก็คือ “กรุงเทพฯ” นี่เป็นซีรีส์เกาหลีเรื่องที่สองแล้วในช่วงนี้ ที่พูดถึงกรุงเทพฯ ในแง่สวรรค์ของชาวเกย์ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันยังมี Squid Game 2 อีกเรื่อง ที่ตัวละครทหารหญิงข้ามเพศ 120 เคยบอกว่า “ฉันจะไปแปลงเพศ และซื้อบ้านเล็กๆ อยู่ที่เมืองไทย”
อาจเพราะไทยเป็นเหมือนขั้วตรงข้ามอันย้อนแย้งอย่างสุดโต่งของเกาหลีใต้ ในขณะที่มีความเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วทั้งในแง่การเมืองและเศรษฐกิจของเกาหลีหลังจากเอาทหารออกไปจากการปกครอง ทว่านับตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ไทยก็ไม่เคยพักจากการรัฐประหารและมีทหารบงการเลย แล้วหลังจากนั้นทั้งการเมืองและเศรษฐกิจก็พังพินาศยับ จะมีก็แต่ประเด็น LGBTQ+ เท่านั้นที่ก้าวหน้าไปไกลกว่าเกาหลีใต้ เพราะตอนนี้เราเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียแล้วที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม (ต่อจากไต้หวันและเนปาล) และยังคงเป็นเพียงชาติเดียวในกลุ่มอุษาคเนย์ (S.E.A.)
ทว่าความย้อนแย้งคือ ตัวละครดังกล่าวเลือกจะไปทำงานเพื่อเงินในประเทศจีน ที่ได้ชื่อว่าไร้เสรีภาพทั้งในด้านการเมือง สิทธิมนุษยชนทุกด้าน รวมถึง LGBTQ+ ด้วย ตัวนิยายตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2019 แต่สถานการณ์ล่าสุดในจีนนับตั้งแต่หลังโควิดที่จีนจัดการฮ่องกงได้อย่างอยู่หมัดแล้ว จีนก็ตามไปเช็dบิลชาว LGBTQ+ ในจีนเองอย่างหนักด้วยเช่นกัน
สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานเมื่อต้นมกราคม 2024 ว่า “ผู้สนับสนุน LGBTQ+ ของจีนเผชิญกับการจำคุกและถูกบังคับให้สารภาพ” ขณะที่ข้อมูลล่าสุดเมื่อมิถุนายนปีที่แล้ว NBC รายงานว่า “ศูนย์ LGBT ในปักกิ่งที่ก่อตั้งเมื่อปี 2008 ล่าสุดได้ถูกปิดตัวลงไปแล้ว ท่ามกลางการปราบปรามกลุ่มรณรงค์ โดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิง”
NBC รายงานว่า การปิดศูนย์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะจีนพยายามเพิ่มอัตราการเกิดเพื่อแก้ไขปัญหาประชากรในจีน ซึ่งรายงานว่าจำนวนประชากรลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษในปี 2024 ในรัฐบาลจีนมองว่า LGBTQ เป็น “อิทธิพลชั่วร้ายจากต่างชาติที่ขัดขวางไม่ให้เยาวชนแต่งงานและมีบุตร”
แม้ว่าการคนรักเพศเดียวกันจะเป็นสิ่งถูกกฎหมายในจีน และเมืองใหญ่ๆ สามารถมีสังคม LGBTQ ได้ แต่การแต่งงานและการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมของเพศเดียวกันไม่ได้รับอนุญาต และผู้คนในกลุ่ม LGBTQ ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายจากการถูกเลือกปฏิบัติ
ชาว LGBTQ ในจีนกล่าวว่า พื้นที่ปลอดภัยของพวกเขาถูกบีบคั้นภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลการปราบปรามกลุ่มรณรงค์ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 10 ปีก่อน แรงกดดันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นภายใต้กฎหมายปี 2017 ที่เพิ่มการควบคุมองค์กรนอกภาครัฐระหว่างประเทศ
ในปี 2019 ศูนย์บริการ LGBT ของ Chengdu Milk ถูกปิด ในปี 2020 ศูนย์บริการ Shanghai Pride ที่จัดงานเฉลิมฉลอง LGBTQ ประจำปีครั้งสำคัญเพียงแห่งเดียวในจีนและจัดมาแล้ว 11 ปีก็ถูกสั่งปิด ศูนย์บริการ LGBT Rights Advocacy China ซึ่งช่วยเหลือด้านสิทธิทางกฎหมายก็ถูกปิดในปีถัดมา แล้วกลุ่มบัญชี WeChat ด้าน LGBTQ มากมายที่จัดทำขึ้นโดยนักศึกษาก็ถูกลบออกหมด
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังเพิ่มการเซนเซอร์เนื้อหามากขึ้น รวมถึงการห้ามผู้ชายที่มีลักษณะ “อ่อนแอ” ปรากฎในรายการโทรทัศน์ รวมถึงซีรีส์วายและเนื้อหาต่างๆ ด้าน LGBTQ ก็ถูกตัดออกทั้งหมดในทุกสื่อบันเทิงที่ออกอากาศในจีน’
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผู้เขียนแล้ว สิ่งที่น่าเป็นกังวลอย่างมากในเนื้อหาของซีรีส์ช่วงนี้ คือ 1. โกยองไปซื้อยาต้านไวรัสในร้านขายยาจีนเก่าๆ ย่านเยาวราช อันนี้ต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ผู้เขียนไม่มีความรู้จริงๆ ว่ายาต้านไวรัสเขาซื้อหากันในร้านขายยาจีนทั่วไปได้จริงหรือ คือ แม้เยาวราชจะเป็นโลเคชันที่สวย แต่เราว่าการให้ข้อมูลนี้ออกจะเสี่ยงไปสักหน่อย
2. แล้วหากสังเกตจริงๆ จะพบว่า แม้เรื่องจะเล่าว่าเขาไปซื้อยาต้าน และถูกกำชับให้กินสองเม็ดทั้งก่อนและหลังมีเซ็กซ์ ทว่าในช็อตหนึ่งเรากลับเห็นกระปุกยาปิดอยู่และขวดน้ำที่ดูเหมือนจะไม่พร่องลงเลย ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าจริงๆ แล้วไม่มีใครได้กินยาดังกล่าวเลย
แน่นอนว่าในปัจจุบันเรามีทั้งยา PrEP และยา PEP ที่สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HIV ได้สูงถึง 90% รวมถึงล่าสุดเมื่อกันยายนปีที่แล้วก็มียาฉีดตัวใหม่ออกมาชื่อว่า Lenacapavir ที่สามารถลดความเสี่ยงได้ถึง 96% และป้องกัน HIV ได้ยาวนานถึง 6 เดือน ทว่าเพศสัมพันธ์แบบ ยสตน. ก็ยังคงสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นๆ อยู่ดี เช่น หนองใน งูสวัด ไวรัสตับอักเสบ ไวรัส HPV ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติม https://lovefoundation.or.th/lenacapavir/
https://th.trcarc.org/cotrcarc241123/
สิ่งที่น่ากังวลอีกประการจากบทความเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ไม่กี่วันก่อนนี้เอง เว็บ gayety ได้ระบุว่า “กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กำลังใช้แผนฉุกเฉินของโดนัลด์ ทรัมป์ สำหรับการบรรเทาทุกข์โรคเอดส์ (PEPFAR) ว่าจะจ่ายยาป้องกันเอชไอวี (PrEP) ให้เฉพาะกลุ่มสตรีมีครรภ์และกำลังให้นมบุตรเท่านั้น โดยไม่รวมกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น กลุ่ม LGBTQ+ กลุ่มค้าบริการทางเพศ” อันเป็นที่มาของความกังวลว่าการตัดสินใจนี้จะส่งผลต่ออัตราการติดเชื้อที่จะเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนคำถามที่ว่า เราสามารถมีเซ็กซ์กับผู้ติดเชื้อ HIV โดยไม่ใส่ถุงได้จริงหรือไม่ ตรงนี้ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่จากข้อมูลที่เสิร์ชหามาได้ เราพบบทความน่าสนใจจากเว็บ aidsmap ระบุไว้ในบทความเมื่อธันวาคม 2023 โดยมาเรียห์ วิลเบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารสุขในสหรัฐฯ ว่า
เมื่อปริมาณไวรัสของคุณตรวจไม่พบเป็นเวลา 6 เดือน คุณจะไม่สามารถแพร่เชื้อ HIV ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ ตราบใดที่คุณยังคงรับประทานยาต้านไวรัสและตรวจไม่พบเชื้อ ซึ่งหมายความว่า คุณสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องใช้ถุงยางอนามัย และไม่ต้องกังวลว่าจะแพร่เชื้อ HIV ให้กับคู่ของคุณ ‘undetectable equals untransmittable’ (‘U=U’ ตรวจจับเชื้อไม่พบเท่ากับไม่ส่งผ่านเชื้อ)’
[หากปริมาณไวรัสน้อยกว่า 200 สำเนาต่อมิลลิลิตร แสดงว่าไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีระหว่างมีเพศสัมพันธ์ การใช้ยาต้านอย่างต่อเนื่องบางรายอาจมีปริมาณไวรัสในเลือดต่ำได้ถึง 50-150 ต่อเลือด 1 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ตัวเลขนี้ชี้ว่าต่ำกว่า 200 แสดงว่าตรวจไม่พบไวรัส และไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้]การตรวจไม่พบไวรัสจำเป็นต้องใช้เวลาในการกินยาต้านอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าสังเกตจะพบว่าในซีรีส์นี้ โกยองไม่น่าจะเคยเข้ารับการรักษาหรือรับยาต้านไวรัส รวมถึงหากย้อนกลับไปในฉากระหว่างเขากับแม่ การที่ซีรีส์บอกเป็นนัยเรื่องการปล่อยวางยอมรับได้แล้วนั้น บางทีอาจไม่ใช่แค่เพราะแม่ชัวร์แล้วว่าลูกเป็นเกย์เท่านั้น แต่ยังรู้อีกด้วยว่า ลูกของตนเองมี “ไคลีย์” อยู่ในตัว (รึเปล่า ถ้าอนุมานจากฉากโรงพยาบาลหลังกินยาเกินขนาด)
ผู้ชายนักธุรกิจรวยล้นและรอนแรม
ผู้ชายคนสุดท้ายในซีรีส์นี้ โกยองตกมาได้จากการปัดแมตช์ในแอปหาคู่ เขาเป็นนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่ภายหลังหิ้วโกยองไปกรุงเทพฯ ด้วย ก่อนจะพบความจริงเบื้องหลังหนุ่มหล่อรวยล้นรายนี้ ที่รอนแรมเทียวไปประเทศนั้นประเทศนี้เรื่อยๆ โดยไม่คิดจะแวะพักกลับบ้าน
อย่างที่เราบอกว่าตัวนิยายเขียนเอาไว้นานแล้ว เพราะสถานการณ์ล่าสุดทั้งในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จัดได้ว่าคืบหน้า ในญี่ปุ่นนอกจากจะยังคงจัดโตเกียวไพรด์ในสวนโยโยงิอย่างต่อเนื่องเป็นประจำแล้ว ในปีนี้ช่วงงานโอซากา เวิลด์ เอ็กซ์โป 2025 ยังกำหนดเป้าหมายว่าต้องเป็นมิตรต่อชุมชนชาว LGBTQ+ ด้วย รวมถึงจะมีการประชุมระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจัดไปแล้วครั้งแรกเมื่อตุลาคมปีที่แล้วในงาน IGLTA อันเป็นงานประชุมด้านธุรกิจ LGBTQ+ ครั้งแรกและยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย
แล้วแม้ว่าการสมรสเพศเดียวกันจะยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่บางเขตในโตเกียวได้เปิดให้สามารถทำได้แล้วอย่างถูกกฎหมาย (มีผลในด้านสิทธิการรักษา แต่ไม่มีผลต่อมรดกคู่สมรส) รวมถึงบุคคลข้ามเพศก็สามารถเปลี่ยนคำระบุเพศในเอกสารทางกฎหมายได้แล้ว
กรณีล่าสุดเกิดขึ้นที่เมืองฮิโรชิมา เมื่อคาซูยูกิ มินามิ หญิงข้ามเพศได้รับคำตัดสินจากศาลสูงเมื่อ 10 กรกฎาคม อนุญาติให้เธอเปลี่ยนคำระบุเพศได้โดยไม่ต้องผ่าตัด (แต่ยังคงมีอุปสรรคอยู่บางประการ)
ก่อนหน้านี้ศาลสูงฮิโรชิมาและศาลครอบครัวเคยปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงเพศ แต่ศาลฎีกาได้ส่งคดีนี้คืนกลับไปยังศาลสูงเพื่อพิจารณาใหม่อีกครั้ง ทำให้ล่าสุดศาลสูงยอมให้หญิงข้ามเพศรายนี้ชนะคดี
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2004 ญี่ปุ่นได้กำหนดกฎหมายว่าด้วยภาวะสับสนทางเพศ โดยมีเงื่อนไข 5 ประการสำหรับผู้ที่ต้องการจะเปลี่ยนเพศ อันรวมถึง 1. ต้องเป็นหมัน 2. ต้องผ่าตัดแปลงเพศแล้วเท่านั้น
ซึ่งการผ่าตัดแปลงเพศและการทำหมันถูกตีความในกรณีนี้ว่า รัฐกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่หรือไม่ ถึงได้ออกข้อบังคับเช่นนี้ออกมา เพราะการเลือกได้ว่าอยากมีจู๋หรือจิ๋มควรเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถตัดสินใจเองได้โดยไม่ต้องให้รัฐบังคับ เช่นเดียวกับการทำหมัน หากว่าหญิงข้ามเพศรายนั้นอยู่ๆ เกิดอยากจะมีลูกก็เป็นไปได้ใช่หรือไม่ รวมถึงในปัจจุบันการผ่าตัดดแปลงเพศมีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าหนึ่งล้านเยน แล้วไหนจะภาระทางร่างกายอื่นๆ ที่ต้องแบกรับอีก เมื่อพิจารณาในด้านเหล่านี้แล้ว ทำให้การเปลี่ยนคำนำหน้าเพศ หรือการระบุเพศ จึงไม่ต้องอิงกับการผ่าตัดแปลงเพศหรือการทำหมัน ทว่านี่เป็นกรณีพิเศษ เพราะสำหรับกรณีอื่นๆ ยังคงต้องต่อสู้ในชั้นศาลเป็นรายๆ ไป อย่างไรก็ตาม บัดนี้ค่านิยมเรื่องการแสดงออกทางเพศ การไม่ระบุสถานะทางเพศกลายเป็นที่ยอมรับได้ในระดับปกติทั่วไปภายในสังคมญี่ปุ่นแล้ว
หันกลับมาในฝั่งเกาหลีใต้ เราควรต้องย้อนไปปี 2013 เมื่อผู้กำกับคนดัง ปีเตอร์ คิมโจกวางซู กับ เดวิด คิมซึงฮวาน ออกมาประกอบพิธีแต่งงานในเดือนกันยายน อันถือเป็นงานสมรสคู่รักเพศเดียวกันครั้งแรกของเกาหลีใต้ ทว่ากฎหมายยังคงไม่ยอมรับ
อย่างไรก็ตาม ความฮือฮานี้เป็นเพราะปีเตอร์คิมเป็นผู้กำกับและโปรดิวเซอร์คนดัง ผลงานที่ฮือฮาในบ้านเรา เช่น เขาเคยโปรดิวซ์หนังฮิตสุดๆ เรื่อง Wanee & Junah (2001), Jealousy Is My Middle Name (2002), หนังเกย์สุดฮือฮา No Regret (2006) ผลงานโปรดิวซ์ล่าสุดของเขาคือ Jo Pil-ho: The Dawning Rage (2019) ส่วนงานกำกับก็เช่นหนังสั้น Boy Meets Boy (2008), Just Friends? (2009) และหนังยาว Two Weddings and a Funeral (2012), One Night Only (2014) ฯลฯ
แล้วแม้ผลสำรวจล่าสุดจะยืนยันว่าปัจจุบันมีผู้ยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ ในเกาหลีใต้ได้แล้ว 40% (หญิงยอมรับได้มากกว่าชายในทุกช่วงกลุ่มอายุ) ซึ่งนับว่าเปลี่ยนไปมากเมื่อเทียบกับการสำรวจในปี 2001 ที่มีเพียง 17% เท่านั้น แต่ก็ยังไม่สูงมากพอเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม หมุดหมายใหม่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อกุมภาพันธ์ 2023 หลังจากศาลฎีกาของเกาหลียืนยันว่า คู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการคู่สมรสจากประกันสุขภาพของรัฐได้ อันนับเป็นชัยชนะครั้งใหม่ในสังคมเกาหลีใต้
ตามรายงานจากบีบีซีระบุว่า ศาลเกาหลีใต้ได้ให้การยอมรับสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันเป็นครั้งแรก ศาลชั้นสูงกรุงโซลพบว่าบริษัทประกันสุขภาพของรัฐมีหนี้ต่อความคุ้มครองแก่คู่สมรสรายนี้ หลังจากบริษัทได้ถอนคำตัดสินเมื่อพบว่าทั้งคู่เป็นเกย์
คู่สมรสรายนี้ โซซองอุกกับคิมยงมิน ได้จัดพิธีแต่งงานกันในปี 2019 ต่อมาในปี 2021 เขาได้ฟ้องสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (NHIS) หลังจากถูกปฏิเสธความคุ้มครองด้านประกันสุขภาพต่อคิมยงมิน ผู้เป็นหุ้นส่วนชีวิตของเขา ทั้งที่ตอนแรกพวกเขาได้รับความคุ้มครอง แต่ต่อมากลับถูกเพิกถอน หลังจาก NHIS ตรวจพบว่าพวกเขาเป็นชายด้วยกันทั้งคู่ จึงกล่าวหาว่าพวกเขากระทำความผิด ยังผลให้เกิดการฟ้องร้องจนเกย์คู่นี้ชนะไปในปี 2023
ในคำตัดสินนั้น ศาลระบุว่า “พวกเขาเป็นชุมชนทางเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกับหุ้นส่วนในชีวิตสมรส ดังนั้น การปฏิเสธไม่ให้พวกเขาได้รับสิทธิ์ NHIS จึงถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเป็นการเลือกปฏิบัติ”
อีกเคสหนึ่งเกิดขึ้นในปี 2019 หลังจากคิมกยูจินและคิมแซยอน จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายในสหรัฐฯ นับเป็นหญิงรักหญิงคู่แรกที่มีลูกในเกาหลีใต้ ซึ่งตั้งครรภ์ด้วยอสุจิที่ได้รับบริจาคจากคลินิกแห่งหนึ่งในเบลเยียม
พวกเธอแสดงความรู้สึกต่อคำตัดสินของศาลกรณีของคู่โซซองอุกกับคิมยงมินที่เพิ่งชนะคดีมาว่า “ตอนที่ผู้พิพากษาพูดว่าความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันไม่ต่างอะไรกับคู่รักต่างเพศ ฉันงี้ร้องว้าวเลยค่ะ ไม่อยากจะเชื่อว่าจะได้ยินคำนี้ออกมาเป็นครั้งแรก ประเทศเกาหลีขึ้นชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าถึงเวลาที่เหมาะสม เราสามารถปรับตัวอย่างก้าวกระโดดได้ทุกเมื่อ แล้วคุณคิดดูสิ ศาลพูดมาขนาดนี้ นี่มันคือความหวังชัดๆ เหมือนเราจะไปไกลกว่าที่คิดอีกก้าวหนึ่งแล้ว”
พวกเธอคือหนึ่งในคู่รักที่เคยปรากฏตัวในรายการสารคดี 5 ตอนจบ Just Family ที่ออกอากาศทางช่อง JTBC เมื่อกลางปีที่แล้ว อิมจีซู โปรดิวเซอร์สาวรายการนี้จากค่าย WAVVE ให้ความเห็นว่า “ในเกาหลีคำว่าเกย์หรือเลสเบียนเคยเป็นคำน่าอึดอัดที่ไม่ควรพูดออกอากาศ แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เรามีเนื้อหามากมายที่พูดถึงความหลากหลายและลื่นไหลทางเพศ เรามีแม้แต่รายการหาคู่รักเพศเดียวกันด้วยซ้ำไป ซึ่งแน่นอนว่ายังคงต้องเผชิญกับความเกลียดชังและการถูกต่อต้าน
จำได้ว่าร้านทำผมแห่งหนึ่งที่เคยอนุญาตให้เราใช้สถานที่ แต่พอรู้ว่ารายการเราเกี่ยวกับคู่รักเพศเดียวกัน ร้านนั้นถึงกับขู่ถอนตัวออก แต่เชื่อไหมว่าความอยุติธรรมเหล่านี้ยิ่งสร้างความชอบธรรม ยิ่งส่งเสียงของ LGBTQ+ ให้ได้ยินชัดขึ้น แล้วบรรดาร้านค้าทั้งหลายคะ คุณรู้หรือไม่ว่ากลุ่มนี้คือลูกค้ารายใหญ่และมีอำนาจในการซื้อมาก หากคุณจะปฏิเสธให้บริการคนกลุ่มนี้ก็ระวังทัวร์จะลงเอานะคะ แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว เป้าหมายของเราคือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม”
วิเวียนคัง แอร์โฮสเตสผู้ที่ลูกชายเธอเมื่อ 8 ปีก่อนออกมาบอกเธอว่าเขาเป็นเกย์ “ฉันร้องไห้อยู่เกือบปีเต็มๆ แต่ตอนนี้ฉันเป็นอาสาสมัครให้กับกลุ่มเพื่อผู้ปกครอง ครอบครัว และเพื่อน LGBTQ และฉันดีใจที่รู้ข่าวว่าลูกของฉันจะไม่ถูกกีดกันด้านสิทธิ์ทางการแพทย์…ทัศนคติของฉันเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงแปดปีนี้ โลกจะดีขึ้นกว่านี้ค่ะ ความเปลี่ยนแปลงจะมาถึงเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน”
ไม่เพียงเท่านั้น วันที่ 1 มิถุนายน 2022 เกาหลีใต้เพิ่งมีสมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นหญิงรักหญิงอย่างเปิดเผยเป็นคนแรก ชาแฮยอง ดำรงตำแหน่งสภาเขตมาโปในกรุงโซล เธอเล่าว่า “สส. คนอื่นก็ประหลาดใจอยู่บ้าง แต่ตอนนี้พวกเขาคงคุ้นกันแล้ว หลังจากฉันประดับธงรุ้งไปทั่วสำนักงาน”
สุดท้ายนี้ เราขอรวบเอาบทสัมภาษณ์ตามที่ต่างๆ ของ เจ้าแมวอ้วนขี้หงุดหงิด พัคซังยอง หรือ “โกยอง” ตัวจริงในซีรีส์นี้ ผู้ประพันธ์นิยายและเขียนบทซีรีส์นี้ว่า “เพราะผมเชื่อว่าสภาพแวดล้อมของแต่ละคนเป็นตัวกำหนดลักษณะนิสัย Love in The Big City จึงอธิบายสิ่งนี้ออกมา โซล กรุงเทพฯ เมืองเหล่านี้จะสะท้อนตัวตนของเรา ผมเกิดในเมืองแทกู ซึ่งเป็นเมืองอนุรักษนิยมที่สุดแห่งหนึ่งในเกาหลี สมัยวัยรุ่นผมฝันว่าโซลจะเป็นแบบเมืองในอุดมคติ ผมมาอยู่โซลตอนอายุยี่สิบกว่าก็พบว่าตัวเองมีความเป็นคนโซลมากขึ้น เมืองนี้มีความหลากหลาย น่าหลงใหล ขณะเดียวกันก็โดดเดี่ยวและหดหู่อย่างมาก โซลเป็นเมืองซับซ้อนและพลุกพล่านแต่มันก็เปล่าเปลี่ยวและเศร้าสร้อย ขณะที่กรุงเทพฯ เป็นเหมือนมักกะฮ์สำหรับชาวเกย์ สถานการณ์ของตัวละครเปลี่ยนไปตามสถานที่ที่พวกเขาอยู่ แต่ผมไม่อยากนำเสนอแต่ด้านสวยงามของความรัก เพราะด้านน่ารังเกียจของมันก็เป็นความจริงพอๆ กับแง่งามของมัน”
“แล้วแม้ซีรีส์ของผมจะถูกต่อต้านจากคนบางกลุ่ม แต่ก็เป็นเรื่องปกติไม่ใช่หรือ เพราะเรากำลังเล่นกับประเด็นละเอียดอ่อน แล้วเรื่องละเอียดอ่อนก็มักจะมีผู้คนเห็นไม่ตรงกัน ให้กลายเป็นที่ถกเถียง เราควรต้องมีเรื่องถกเถียงกันบ้าง เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการเข้าอกเข้าใจกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างพอดี”