ThaiPublica > เกาะกระแส > 10 ปีวิกฤติอุตสาหกรรมประมงปัตตานี กว่า 50 ห่วงโซ่อาชีพหดหาย เรียกร้องรัฐฟื้นเรือประมง ให้ค่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

10 ปีวิกฤติอุตสาหกรรมประมงปัตตานี กว่า 50 ห่วงโซ่อาชีพหดหาย เรียกร้องรัฐฟื้นเรือประมง ให้ค่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

10 กุมภาพันธ์ 2025


ตลาดปลาปัตตานี

10 ปีวิกฤติประมงปัตตานีจากตลาดปลาที่ใหญ่อันดับสองของประเทศ เลี้ยงปากท้อง 3 จังหวัดชายแดนใต้มูลค่าหลายแสนล้านต่อปี เหลือหลักหมื่น เรือประมงพาณิชย์จาก 2,000 ลำ ยังคงทำประมงแค่ 300 ลำ ทำให้ห่วงโซ่กว่า 50 อาชีพในทุกช่วงวัยหดหาย ฐานรากไม่มีรายได้ ชี้รัฐทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรียกร้องขอความยั่งยืนในอาชีพ

อุตสาหกรรมประมงจังหวัดปัตตานี เป็นตลาดปลาใหญ่สองของประเทศไทย เป็นแหล่งอาหารทะเลขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศ และเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสามจังหวัดชายแดนใต้มาช้านาน มีการจ้างงานในห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมงจำนวนมาก ทั้งแรงงานบนเรือและแรงงานที่เกี่ยวข้อง นำมาซึ่งการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีกระแสเงินหมุนเวียนนับแสนล้านบาทต่อปี

แต่วันนี้หลายอย่างเปลี่ยนไปมาก หลังจากมีการเข้ามาแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU (illegal, unregulated and unreported fishing) เมื่อปี 2557 คนในแวดวงประมงปัตตานีพูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤติใหญ่ของอุตสาหกรรมประมงปัตตานี

ที่เห็นได้ชัดคือตลาดปลาปัตตานีที่เคยคึกคักด้วยเรือประมงพาณิชย์กว่า 2,000 ลำ ลดลงเหลือไม่ถึง 1,000 ลำ เนื่องจากการแก้ปัญหา IUU ในปี 2557 มีการเรียกเรือทุกลำเข้ามาตรวจสอบภายใน 15 วัน เรือประมงไทยที่เข้าออกในตลาดปลาปัตตานีซึ่งบางส่วนได้สัมปทานไปทำประมงที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย ส่วนใหญ่เมื่อออกไปทำประมงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน เพราะระยะทางวิ่งจากไทยไปอินโดนีเซียก็ประมาณ 7 วัน เมื่อไม่สามารถกลับมาตรวจสอบภายใน 15 วัน ทำให้เรือบางลำผิดกฏหมายตามม.44 จาก 2,000 ลำ เหลือประมาณ 1,000 ลำ ในจำนวน 1,000 ลำ คนที่พยายามมีใบอนุญาตประกอบประมงพาณิชย์มีประมาณ 900 ลำ ทั้งนี้เพื่อรักษาใบอนุญาตไว้ หากเขายกเลิกไปเขาก็หมดอาชีพไปเลย แต่เรือกที่ออกไปทำการประมงจริงๆ ไม่เกิน 300 ลำ ทำให้คนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมงปัตตานีค่อยๆ หายไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

วิกฤติประมงปัตตานี ห่วงโซ่ 50 อาชีพไม่มีงานทำ

นางอันน์เกตุ ลีลาไพบูลย์ นายกสมาคมการประมง จ.ปัตตานี เล่าถึงสถานการณ์วิกฤติประมงปัตตานีในปัจจุบันว่า จังหวัดปัตตานีเคยเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ทำรายได้ดีที่สุด มีกระแสเงินหมุนเวียนเกือบจะเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจากการทำประมง มีเรือเข้ามาในปัตตานีกว่า 2,000 ลำ ผลพลอยได้คือ ทุกคนในพื้นที่และ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีงานทำ มีรายได้สองทาง สามทาง ทุกวันในทุกช่วงวัย

แต่พอมีมาตรการ IUU เข้ามาตรวจสอบในปี 2557 ทำให้เรือครึ่งหนึ่งกลายเป็นเรือผิดกฎหมาย เหลือเรือที่มีใบประกอบประมงพาณิชย์ถูกต้องประมาณ 900 ลำ แต่ออกทำการประมงได้จริงแค่ 300 ลำ ทำให้ตลาดปลาปัตตานีที่เคยคึกคัก ซบเซาอาหารทะเลที่เข้ามาในปัตตานีลดลงอย่างมาก กลายเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ทำเศรษฐกิจปัตตานีซบเซาลง

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบไปถึง 50 กว่าอาชีพที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่แพปลา คนคัดปลา ร้านค้า แม่ค้าพ่อค้าที่ขายอาหารสด ข้าวสาร ห้องเย็น โรงงานปลากระป๋อง คนขับรถตู้ เสมียนออฟฟิศ ช่างซ่อมอวน ช่างไฟ ไปจนถึงช่างซ่อมเรือ รวมถึงวัยรุ่นในปัตตานีจะเป็นคนตีราคาปลา เขาทำงาน 20.00 น.-02.00น.จากนั้นจะมีรถจากนราธิวาสมารับปลาไป เขาก็เสร็จงานแล้ว ฯลฯ เมื่อถูกตัดตอนต้นน้ำออกไป ทุกอย่างก็หายไปเกือบหมด

“เรือ 1 ลำมีคนเกี่ยวข้องเฉพาะบนเรือประมาณ 30 คน นอกเรืออีกอย่างน้อย 200 คน กว่า 50 อาชีพ ช่วยเลี้ยงปากท้องคนในพื้นที่ได้เท่าไหร่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันมันลดหายลงไปเรื่อยๆ ผลก็คือทำให้รากหญ้าไม่มีรายได้ คนยากจนลงไปอีก” นางอันน์เกตุกล่าว

“ที่เห็นชัดๆ คือช่างซ่อม เมื่อก่อนมีเป็นสิบๆ ร้าน อู้ฟู่มาก เดี๋ยวเรือลำนั้นเรียก เรือลำนี้เรียก แต่ตอนนี้แทบไม่มีแล้ว เหลืออยู่แค่ 3-4 ร้าน เพราะเขาขาดทุน เมื่อไม่มีเรือ เขาก็ไม่มีงานทำ ช่างซ่อมอะไหล่ ซ่อมใบจักรเรือ หายหมด พวกช่างเจ๊งระเนระนาด แล้วทุกอาชีพโดนหมด แต่เขาไม่สามารถจะไปเรียกร้องอะไรได้ ไม่มีงานทำเขาก็ไปหาอาชีพอื่น”

“หรือแม้แต่พี่น้องมุสลิม เมื่อก่อนแทบจะไม่มีบ้านไหนที่ไม่เกี่ยวข้องกับตลาดปลาปัตตานี ชุมชนบ้านของเราอยู่ได้ด้วยเรื่องปลา อยู่ได้ด้วยการค้าขาย เมื่อก่อนเราแข็งแรงมาก ผู้หญิง คนแก่ จะเป็นคนคัดปลา แยกปลา เขาภูมิใจ เขามีรายได้ และได้ปลากลับไปเป็นอาหารฟรี แต่วันนี้เรือน้อลง การจ้างงานก็น้อยลงมากๆ”

การคัดแยกขนาดปลา

นางอันน์เกตุกล่าวว่า ประมงปัตตานีไม่ได้หล่อเลี้ยงเพียงชุมชนใดชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แต่เรายังสร้างรายได้ให้คนฐานรากทั้งจังหวัดปัตตานี รวมถึงพี่น้องในจังหวัดยะลาและนราธิวาสอีกจำนวนมาก อย่างเช่น อาชีพรถรับส่ง รับคนส่งคนมาจากนราธิวาส มาคัดปลา มาซื้อปลา ทำให้ทุกคนมีรายได้ ทางเข้าตลาดปลาก็มีตลาดย่อย คนซื้อคนขายมากันเยอะ แผงทุกแผงมีเจ้าของหมด มีคนมาซื้อของจำนวนมาก ฉะนั้นการจัดการปัญหาโดยที่เขาไม่อยู่ในพื้นที่ จึงมองไม่เห็นว่าอุตสาหกรรมประมงมีมูลค่าในห่วงโซ่เยอะมากๆ

“แต่ปัญหาของเราวันนี้คือ ชาวประมงจะทำยังไงให้ตัวเองอยู่รอดในอาชีพนี้ อย่างดิฉันอายุ 61 ปีแล้ว จะทำยังไงให้แพปลาตัวเองอยู่รอด ก็ต้องพยายามดิ้นรนกันต่อไป เพราะทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย ค่าเลี้ยงดูคนงาน หรือคนอายุ 40 ที่ไม่สามารถไปเริ่มต้นอาชีพใหม่ได้แล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้ยังไง ก็เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของพวกเราที่ต้องดำเนินต่อไป” นายกสมาคมการประมงปัตตานีกล่าว

แก้กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมกับชาวประมง

นางอันน์เกตุเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้สมาคมประมงปัตตานีเคยทำเรื่องเสนอรัฐบาลให้ปัตตานีเป็นแซนด์บ็อกซ์ ในการเป็นจังหวัดนำร่องที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางข้อที่ไม่ขัดต่อ IUU เพื่อช่วยเหลือให้อาชีพประมงเดินหน้าได้ โดยเชื่อว่าหากช่วยปัตตานีหนึ่งจังหวัดได้ ก็จะช่วยได้ทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายประมง ที่กำหนดบทลงโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ เช่น หากเจ้าของเรือแสดงเอกสารรายชื่อแรงงานลงเรือไม่ครบหรือลืมแจ้งเพียงคนเดียว ก็จะถูกปรับตั้งแต่ 5-6 แสนบาท ถึงนับล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดเรือ

หรือกรณีเจ้าของเรือคนไหนมีเรืออยู่ 10 ลำ ทำผิด 1 ลำ อีก 9 ลำก็ผิดเหมือนกันหมด อย่างนี้ต้องแก้ไข เพราะไม่มีความยุติธรรรม แม้กระทั่งเรื่อ 1 ลำ หากเข้าไปในเขตห้ามเข้า จากความไม่ตั้งใจ หรือ human error ของไต๋เรือ ก็จะถูกปรับนับสิบล้านบาท อย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแก้ไข

ชาวประมงปัตตานีรายหนึ่งกล่าวเสริมว่า “ภายใต้อาชีพประมงที่เราทำ เราไม่ใช่โจร แต่เป็นคนที่สร้างเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน ใครที่ค้ามนุษย์หรือทำผิดกฎหมาย ก็ต้องพิสูจน์และจับให้ได้เป็นรายๆ ไป หากชาวประมงคนไหนทำผิด ก็ตรวจสอบและลงโทษ แต่วันนี้ใครทำผิดเพียงหนึ่งคน ถูกตราหน้าไปทั้งหมด อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง ไม่มีความยุติธรรม”

นางอันน์เกตุกล่าวต่อว่า อีกเรื่องหนึ่งที่ได้เจรจาให้รัฐบาลมาช่วยเหลือคือ การจ่ายเงินเยียวยาให้กับชาวประมงใน 22 จังหวัดชายทะเลทั่วประเทศ จำนวน 923 ลำ วงเงินกว่า 1,600 ล้านบาท เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งจังหวัดปัตตานีได้มาจำนวน 45 ลำ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ยังไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งที่ผ่านนโยบายประมงมาแล้ว

“ขั้นตอนการจ่ายเงินคือ ต้องผ่านกรมประมง ผ่านคณะกรรมการ ผ่านนโยบายประมง ผ่าน ครม. มันมีหลายขั้นตอน ผ่านไปแล้วรอบหนึ่งก็ต้องเอากลับมาทบทวนใหม่ สั่งจ่ายอีกรอบหนึ่ง เพราะฉะนั้นเงินชดเชยเยียวยา ก็ยังไม่ถึงไหน ข่าวคราวก็ยังไม่มี เราก็ยังไม่ได้รับเงินชดเชยเหมือนเดิม ทำให้ชาวประมงมีหนี้สินเต็มตัว เพราะเรือจอดอยู่ออกหาปลาไม่ได้ก็มีค่าใช้จ่ายต้องดูแลเรือ จนเรือบางส่วนก็จมไปแล้ว ยังไม่ได้เงินเยียวยา”

“อย่าลืมว่าประมง 22 จังหวัด มีผลกับชาวบ้านรากหญ้าขนาดไหนที่เขาต้องทำมาหากิน แต่ละคนไม่ได้มีรายได้มาก แค่คนคัดเลือกปลา เขามาเลือกปลาวันหนึ่งเขาอาจจะได้ 400-500 บาท อาทิตย์นึงเขาอาจจะได้ทำสองครั้ง สามครั้ง แต่อยู่ๆ มาเหลือแค่ครั้งเดียว รายได้เขาหายไปเยอะ ต้องเลี้ยงดูคนในครอบครัวหลายคน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องหาว่าต้นเหตุมาจากไหน ที่ทำให้ประชากรเราไม่มีคุณภาพ เนื่องมาจากเขาไม่มีรายได้ แล้วการไม่มีรายได้มันส่งผลต่อสถาบันครอบครัวเป็นอย่างมาก มันเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้รากหญ้าอ่อนแอ ดังนั้น ภาคความมั่นคง ภาคสังคม จริงๆ แล้วมันเกี่ยวพันกันหมด”

นางอันน์เกตุกล่าวต่อว่า “เราหวังว่ารัฐบาลจะช่วยให้ชาวบ้านเดินได้ อยู่ได้ อย่าลืมว่าถ้ารากหญ้าตายหมด มันจะไม่เหลืออะไรกับประเทศ เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับรากหญ้าของเราทุกคน อาชีพประมงก็เป็นส่วนหนึ่งในรากหญ้าเหมือนกัน สามารถทำรายได้ให้กับประเทศ สามารถหล่อเลี้ยงชุมชนได้ ถ้าฟื้นฟูประมงพาณิชย์ได้เร็วเท่าไหร่ ปัญหาที่ชาวบ้านจะไม่มีรายได้ก็จะแก้ไขได้เร็วเท่านั้น เพราะรากหญ้าได้เงินรายวัน มีงานทำทุกวัน เขาสามารถที่จะมาเลือกปลา สามารถไปเย็บอวน คนแก่ก็สามารถทำงานได้ ก็จะทำให้เรามีเงินมาใช้จ่ายในครัวเรือน โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาล”

รัฐต้องฟื้นอาชีพประมง ให้ค่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

ชาวประมงปัตตานีอีกรายแสดงความคิดเห็นว่า ประมงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ ช่วยเหลือให้คนตัวเล็กตัวน้อยในชุมชนสร้างความเข้มแข็งด้วยตัวเอง แต่ความเข้มแข็งต้องเกิดขึ้นจากภายในชุมชน ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาวพุทธหรือมุสลิม เราอยู่กันด้วยความเข้าใจ อยู่กันแบบพี่น้อง เอื้อประโยชน์ให้กันอย่างเหมาะสม เพราะฉะนั้น เราอยากให้ทุกคนมีรายได้ ไม่ว่าลูกเด็กเล็กแดง หรือผู้สูงอายุ ไม่อยากให้รัฐมาช่วยสงเคราะห์ เพราะคำว่าสงเคราะห์ เหมือนเป็นการหมิ่นคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ตลาดปลาปัตตานีเราพยายามช่วยให้คนมีอาชีพ มีรายได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้สูงวัย ทุกวันนี้เขารับเบี้ยสงเคราะห์เดือนละ 600, 700 บาทจากรัฐบาล แต่ตลาดปลาปัตตานี เขามาทำงานสองวันเขาก็ได้เงินแล้ว ศักดิ์ศรีเขามี คุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวเขายังคงอยู่ แต่อย่ามาบั่นทอนด้วยการสงเคราะห์ใดๆ มันไม่ยั่งยืน เราต้องมองถึงความยั่งยืน”

ชาวประมงปัตตานียังกล่าวว่า “เรื่องความยั่งยืน เราต้องมองที่ตัวคน เพราะคนคือทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า เพราะฉะนั้น ศักดิ์ศรีเขาก็มี ไม่ว่าจะอายุ 70, 80 หรือ 90 เขาทำแล้วภูมิใจ เขาสามารถหารายได้ด้วยตัวเอง โดยที่รัฐไม่ต้องมาหยิบยื่นให้”

เช่นเดียวกันอาชีพประมง ที่ผ่านมาเราไม่เคยขอรัฐ อย่างปี 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจล้มละลาย แต่ปัตตานีภายใต้อาชีพประมงเราอยู่ได้ ไม่ได้พึ่งพิงรัฐ ไม่เคยร้องขอ เพราะร้องขอทีไรก็จะมีปัญหา ดังนั้น อยากให้มองว่าเราต้องอยู่ด้วยความเป็นมนุษย์ ให้เห็นคุณค่าของตัวเราเอง โดยเฉพาะปัตตานีหรือพี่น้องสามจังหวัด เราต้องเห็นคุณค่าของตัวเราเอง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เรามี เราอยากได้อาชีพ อยากสร้างรายได้ที่มันก่อเกิดในพื้นที่ ไม่อยากพึ่งพิงรัฐ

“แต่เราอยู่ในประเทศ แน่นอนว่ามันก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและนโยบายของรัฐ แต่ภายใต้อาชีพของเรา เราอยากทำให้เกิดความยั่งยืนจากตัวเอง” ชาวประมงปัตตานีกล่าว