บุหรี่เถื่อน ทำ “ภาษียาสูบ” แหล่งรายได้สำคัญของอบจ.กว่า 60 แห่งมีแนวโน้มลดลง ร้านโชห่วย 5แสนร้านกระทบมาก
นางสาวธัญญศรัณ แสงทอง ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่าสมาคมฯ กังวลต่อแนวโน้มการจัดเก็บภาษียาสูบที่ลดลงว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังคงไม่ฟื้นตัว ร้านค้าโชห่วยขนาดเล็กซึ่งรวมถึงร้านค้าที่มีใบอนุญาตขายบุหรี่ประมาณ 5 แสนร้านทั่วประเทศได้รับผลกระทบอย่างมาก ในจำนวนนั้นก็มีสมาชิกของสมาคมฯ ที่ร้องขอให้สมาคมฯ หาทางช่วยเหลือโดยเฉพาะการแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อน สมาคมฯ เห็นว่าควรมีการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามบุหรี่เถื่อนในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีความชุกของบุหรี่เถื่อนสูง และส่งผลกระทบโดยตรงกับการจัดเก็บรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) โดยอยากให้ผู้บริหารท้องถิ่นชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ใส่ใจกับการจัดเก็บรายได้ให้มากเท่ากับการใช้งบประมาณ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
“หากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว เราจะเดินหน้าให้ข้อมูลและชี้แจงความเดือดร้อนของร้านค้าในพื้นที่ให้กับ นายก อบจ. และ สจ. ใหม่ต่อไป”
สำหรับรายได้ที่จัดเก็บเองของอบจ. กว่า 60 แห่งในประเทศไทยมากที่สุดมาจากการจัดเก็บภาษียาสูบ รองลงมาคือ ภาษีน้ำมัน ซึ่งการบริโภคทั้งยาสูบและน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของ อบจ. ในอนาคต รวมถึงการพัฒนาท้องถิ่นด้วย
ปัจจุบันผู้สูบบุหรี่เข้าถึงบุหรี่เถื่อน และบุหรี่ไฟฟ้าที่ผิดกฎหมายอย่างไร้การควบคุม ต่างจากการใช้น้ำมันที่ลดลงจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าตามเทรนด์แห่งอนาคตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ผลสำรวจบุหรี่ซองเปล่าปี 2567 โดยอุตสาหกรรมบุหรี่พบว่าอัตราการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายในไทยสูงถึง 25.5% ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จังหวัดที่มีการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายสูงกว่า 60% ในจังหวัดนั้นๆ ได้แก่ จังหวัดสงขลา สตูล พัทลุง ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และระนอง ซึ่งอยู่ในภาคใต้ทั้งหมด
นอกจากนี้ เรายังเห็นการเติบโตของบุหรี่ผิดกฎหมายในหัวเมืองใหญ่ ๆ จากที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และยังพบเห็นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มเมืองชายแดนฝั่งตะวันตก เช่น จังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว แม้ว่าการจับกุมของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เช่น กรมสรรพสามิตจะเพิ่มขึ้นกว่า 60% จากปีก่อนหน้า ก็ไม่ทำให้บุหรี่ผิดกฎหมายลดลงได้มาก เพราะปัจจัยด้านเทคโนโลยี และการขนส่งที่สะดวกสบาย ต่างส่งผลให้ธุรกิจใต้ดินเหล่านี้เติบโตเร็วขึ้น
เปิด 3 แหล่งที่มางบประมาณของ อบจ.
สำหรับรายได้ของ อบจ.มีที่มาได้ 3 ทาง ดังนี้
1.รัฐจัดสรร ซึ่งมีการจัดเก็บจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน รวมถึงค่าภาคหลวงแร่และปิโตรเลียม
2.เงินอุดหนุนจากภาครัฐ เป็นแหล่งรายได้เสริมที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.อบจ. จัดเก็บเองจากภาษี เช่น ภาษียาสูบ น้ำมัน อากรรังนกอีแอ่น ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และใบอนุญาต เป็นต้น
จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พบว่า ในปี 2566 งบประมาณที่มาจากรัฐจัดสรรให้นั้น ถือเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ที่สุดของ อบจ. จำนวน 49,393,944,491.59 บาท หรือคิดเป็น 62.639% รองลงมาคือ เงินอุดหนุนจากรัฐ จำนวน 24,673,736,314.09 บาท คิดเป็น 31.17% และจากการจัดเก็บเองของ อบจ. 5,099,462,737.91 บาท คิดเป็น 6.44%
ภาษี “ยาสูบ-น้ำมัน” ขึ้นแท่นจัดเก็บรายได้สูงสุด
แม้ว่ารายได้จากการจัดเก็บเองของ อบจ. จะเป็นเงินก้อนเล็กที่สุดเพียง 6.44% ของงบประมาณทั้งหมด แต่ก็เป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะส่วนนี้จะกลายเป็นเงินสะสม หรือทุนสำรองของ อบจ. ซึ่งจะถูกนำมาใช้ในโครงการฉุกเฉิน หรือโครงการที่ต้องใช้เงินโดยที่ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือตั้งไว้แต่ไม่พอ เช่น การนำเงินสะสมไปซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในช่วงการระบาดที่ผ่านมา
ข้อมูลรายได้จากการจัดเก็บเองของ อบจ. ทั่วประเทศ ในปี 2566 พบว่า รายรับจริงจากการจัดเก็บเองในหมวดภาษีอากร ซึ่งได้แก่ ภาษีจากยาสูบ น้ำมัน อากรรังนกอีแอ่น เป็นรายได้ที่มีสัดส่วนสูงสุดเมื่อเทียบกับหมวดอื่น ๆ คิดเป็น 55.28% ของรายได้ที่จัดเก็บเองของ อบจ. รองลงมาคือหมวดค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และใบอนุญาต เช่น ค่าธรรมเนียมบำรุงท้องถิ่นจากโรงแรม ค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะมูลฝอย คิดเป็น 22.52% และอันดับสามคือ หมวดรายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่าบริการ หรือดอกเบี้ย คิดเป็น 15.33%
60 อบจ. มีรายได้จัดเองสูงสุดจากภาษียาสูบ
ทั้งนี้ จากข้อมูลการจัดเก็บรายได้เองของ อบจ.ทั่วประเทศ พบว่ามีจำนวนมากถึง 60 อบจ. มีรายรับจริงที่จัดเก็บได้เองมากที่สุดจากภาษียาสูบ โดย 5 อันดับ อบจ. ที่จัดเก็บรายได้จากภาษียาสูบได้สูงสุด ได้แก่ 1. ชลบุรี 146,547,959.32 บาท 2. สมุทรปราการ 95,647,282.4 บาท 3. ปทุมธานี 89,581,922.06 บาท 4. นครราชสีมา 84,620,921.36 บาท และ 5. นนทบุรี 76,448,427.30 บาท
เป้าหมายหนึ่งของการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะในเรื่องการจัดเก็บรายได้ของตนเอง เพื่อให้มีอิสระทางการเงินการคลังสามารถรับผิดชอบดูแลให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนของตนเองได้ รวมทั้งมีความสามารถในการพึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง นอกเหนือจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรรจากรัฐ รวมทั้งยังเป็นการช่วยเสริมสร้างความรับผิดรับชอบระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชน และสร้างความสมดุลระหว่างรายได้และอำนาจหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกด้วย
ที่มาข้อมูล: https://www.tcijthai.com/news/2025/1/scoop/14094