
กกพ.ยันไม่ได้ยกเลิกสัญญารับซื้อไฟฟ้า เสนอ ‘พีระพันธ์’ ชง กพช.ทบทวนนโยบายรัฐ – กำหนดราคารับซื้อไฟสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง – ตัดค่า “ADDER – FiT – รื้อสัญญาทาส” ช่วยประชาชนประหยัดเงิน 33,000 ล้านบาท/ปี ลดค่าไฟลงทันที 17 สตางค์/หน่วย หากถูกฟ้องพร้อมต่อสู้คดี
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 มีมติให้สำนักงาน กกพ. ทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล โดยขอให้ทบทวน และปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าทั้งในรูปแบบการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed in Tariff (FiT) ในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุนค่า Adder และ Feed in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้ค่าไฟที่เรียกเก็บจากปประชาชนปรับลดลงได้ทันที 17 สตางค์/หน่วยนั้น ปรากฎนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวต้องยกเลิกสัญญารับซื้อไฟฟ้ากับเอกชน ซึ่งอาจถูกฟ้องได้
นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชี้แจงว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังขอความกรุณาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โปรดอย่ามองข้ามแนวทางที่ กกพ.นำเสนอ ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้จะช่วยลดค่าไฟไฟฟ้าให้กับประชาชนได้จริงอีกทางหนึ่ง ขอเรียนว่า กกพ.ไม่ได้เสนอให้รัฐบาลยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชน แต่เสนอให้ทบทวน หรือ ปรับปรุงนโยบายรัฐในอดีต หรือ “Policy Expense : PE” ที่ต้องการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งตอนนั้นมีต้นทุนการผลิตสูงมาก จึงจำเป็นต้องจ่ายค่า ADDER หรือ Feed in Tarriff : FiT เพิ่มจากการรับซื้อไฟฟ้าปกติ และเมื่อสัญญารับซื้อไฟฟ้าระบบนี้สิ้นสุดลง ในสัญญายังกำหนดให้ต่อสัญญาอัตโนมัติ โดยที่ไม่มีวันสิ้นสุด หรือ ที่เรียกว่า “สัญญาทาส” ยกตัวอย่าง ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การไฟฟ้าจะรับซื้อในราคาขายส่ง 3.1617 บาท/หน่วย บวกค่า ADDER อีก 8 บาทต่อหน่วย รวมเป็น 11.1617 บาทต่อหน่วย เปรียบเทียบกับการรับซื้อไฟฟ้าประเภทเดียวกันในปัจจุบันราคารับซื้อ 2.1679 บาท/หน่วย ราคาแตกต่างกันหลายเท่าตัว และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงสามารถต่อสัญญาไปได้เรื่อย ๆ โดยการไฟฟ้าจะต้องจ่ายค่ารับซื้อไฟในราคาขายส่งคือ 3.1617 บาท/หน่วย ขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าประเภทเดียวกันในปัจจุบันรับซื้อกันอยู่ที่ราคา 2.1679 บาท/หน่วย หากนำส่วนต่างนี้ออกไปจะทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนลดลงทันที 17 สตางค์/หน่วย
“ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2565 เกิดสงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่ประชุมบอร์ด กพพ.เคยทำเรื่องเสนอ กพช. ขอให้ทบทวน หรือ ปรับปรุงค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense) อันประกอบด้วย โครงการ Adder และ Feed in Tariff (FiT) ซึ่งมีต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าราคาต้นทุนจริงในภาวะปัจจุบัน และโครงการผลิตไฟฟ้าแบบ Adder เหล่านี้ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา เป็นเหตุให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็นปีละประมาณ 33,000 ล้านบาท หาก กพช.เห็นชอบ ทาง กกพ.ดำเนินการกำกับดูแลให้เป็นไปตามนโยบาย โดยไม่ต้องไปยกเลิกสัญญาฯ ประเด็นที่อยากจะชี้ให้เห็น คือ สัญญารับซื้อไฟฟ้าแบบ ADDER เมื่อสิ้นสุดสัญญาแล้ว ทำไมมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้การไฟฟ้าไปรับซื้อไฟฟ้าในราคาขายส่ง 3.1617 บาท/หน่วยได้ ทำไมไม่บวก ADDER ไปเรื่อย ๆหล่ะ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของนโยบายรัฐ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ก็ต้องมีการทบทวนเรื่องนโยบายรัฐกันใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง” นายวรวิทย์ กล่าว
นายวรวิทย์ กล่าวต่อว่า เมื่อ กกพ.เล็งเห็นปัญหาที่มีสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพง คณะกรรมการ กกพ.ก็มีหน้าที่เสนอความเห็น หรือ คำแนะนำต่อรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 11 (12) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2560 โดยเสนอนโยบายและแนวทางให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบ ตามมาตรา 65 (1) เพื่อให้ กกพ.กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภท โดยให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนในกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ
“กกพ.ไม่ได้เสนอให้ยกเลิกสัญญารับซื้อไฟฟ้า แต่เสนอให้ กพช.กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ตามมาตรา 65 (1) ซึ่งอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กพช. ตามกฎหมายมี 4 เรื่อง คือ 1. กำหนดปริมาณไฟฟ้า 2. กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้า 3. ประเภทเชื้อเพลิง และ 4. กำหนดวิธีการจัดหาไฟฟ้า หาก กพช.ไม่มีนโยบายกำหนดราคารับซื้อไฟให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง กกพ.ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะการกำหนดราคาเป็นหน้าที่ กพช. ส่วน กกพ.มีหน้าที่กำกับให้เป็นไปตามนโยบาย ขอฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาด้วย อย่าตัดแนวทางนี้” นายวรวิทย์ กล่าว
ถามว่า ถ้า กพช.กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ตามกฎหมายแล้วจะถูกเอกชนคู่สัญญาฟ้องร้องดำเนินคดีหรือไม่
นายวรวิทย์ กล่าวว่า ตามหลักการของกฎหมายทางปกครองนั้น เข้าใจว่าการพิจารณาของศาลปกครองน่าจะชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ของมหาชน กับผลประโยชน์ของเอกชน ซึ่งเอกชนก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากนัก เพราะการลงทุนที่ผ่านมาผ่านจุดคุ้มทุนไปนานมากแล้ว เพียงแต่อาจถูกตัดลาภที่มิควรได้ออกไป เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามันเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์ INVERTER ปัจจุบันราคาถูกลงมากแล้ว ทำไมไม่คำนวณต้นทุนกันใหม่
“ก่อนอื่นผมไม่ได้จบกฎหมาย แต่ผมไม่เชื่อว่าสัญญาจะอยู่เหนือกฎหมายกำกับกิจการพลังงาน ถามว่าสัญญารับซื้อไฟฟ้าที่ไปทำกันไว้นั้นเขียนกันเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นนี้ก็ต้องไปไล่เบี้ยกัน กฎหมาย กกพ.เขียนว่า ราคารับซื้อไฟฟ้าต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่คุณไปบวกต้นทุนกันจนโอเวอร์เอาเปรียบประชาชน อย่าลืมประชาชนไม่ได้เป็นคนไปทำสัญญาน่ะ แต่รัฐเป็นคนทำสัญญากับเอกชนแล้วมาบังคับเรียกเก็บจากประชาชน แต่ถ้าทำไปแล้ว ถูกนายทุนฟ้องร้อง ผมก็พร้อมที่จะต่อสู้ ไม่ได้อยากเป็นพระเอก แต่ผมมองว่าไม่เป็นธรรมกับประชาชน อยู่ดีๆต้องจ่ายค่าอะไร ก็ไม่รู้ 17 สตางค์ต่อหน่วย” นายวรวิทย์
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการปรับลดค่าไฟฟ้าว่า ตนได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาแนวทางปรับลดค่าไฟมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อหาทางปรับลดค่าไฟให้ได้ต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย และมีแนวโน้มว่าจะทำได้ แต่ต้องปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างและหลักเกณฑ์หลายอย่าง โดยเฉพาะการปรับระบบ Pool Gas แต่เผอิญว่าต้นปี 2568 มีประเด็นเพิ่มเติมเรื่องจะให้ลดค่าไฟลงมาเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย รวมทั้งกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ “กกพ.” ซึ่งกำกับดูแลเรื่องค่าไฟ ก็ออกมาบอกว่าสามารถลดได้ ซึ่งสำหรับตนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา ตนในฐานะรัฐมนตรีพลังงานต้องพยายามบริหารจัดการอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้มีการขึ้นค่าไฟทุก 4 เดือน จนสามารถตรึงค่าไฟไว้ได้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยไว้ได้ตลอดปี แต่อย่างไรก็ดี ข้อเสนอล่าสุดของ กกพ. ก็มีประเด็นที่อาจทำไม่ได้

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
“ทุก 4 เดือน ผมต้องพยายามบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้มีการขึ้นค่าไฟ เพราะถ้าลดยังไม่ได้ ก็อย่าขึ้น เพราะฉะนั้นปี 2567 ทั้งปี เราได้ที่ 4 บาท 18 สตางค์มาตลอด ส่วนงวดปัจจุบันนี้ คือตั้งแต่มกราคม-เมษายน 2568 ผมก็ดำเนินการปรับลงมาที่ 4 บาท 15 สตางค์ แต่ก็ยังมีดราม่าบอกลดอะไร 3 สตางค์ ความจริงถ้าผมไม่ดำเนินการวันนั้น เขาบอกเขาจะขึ้นไป 5 บาทกว่า หรือ ไม่ก็ 4 บาทปลาย ๆ แต่อีกไม่กี่เดือน ก็ต้องเหนื่อยต่อแล้ว เพราะค่าไฟงวดที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2568) จะมาแล้ว ทุกทีผมต้องเป็นคนไปขอให้ลด แต่อย่างน้อยคราวนี้ ทาง กกพ. บอกว่าลดได้ ผมก็ใจชื้น แต่ประเด็นคือ เขาบอกว่าไปลดในส่วนที่เป็นนโยบายรัฐบาล โดยให้ไปเลิกสัญญา Adder กับสัญญาที่เป็นปัญหาที่เราเรียกว่า สัญญาชั่วนิรันดร์ คือสัญญาไม่มีวันหมด ผมในฐานะรัฐมนตรีพลังงานก็ได้พยายามศึกษาแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะไปเซ็นสัญญากันไว้ตั้งแต่ยุคไหนว่า สัญญานี้ต่ออายุไปเรื่อย ๆ ทุก 5 ปี ไม่มีวันจบ แล้วก็ราคาก็สูงเกินปกติ เพราะฉะนั้นมันทำไม่ได้ ที่บอกให้ไปลด 17 สตางค์ได้โดยวิธีเลิกสัญญา ถ้าเลิกก็โดนฟ้องนะครับ ตอนนี้เรากําลังศึกษาว่ามีวิธีการอะไรที่จะแก้ไขสัญญาทั้งสองแบบนี้อยู่ เพราะประเด็นที่เสนอโดย กกพ.นั้น มันทำไม่ได้” นายพีระพันธุ์กล่าว
อย่างไรก็ดี นายพีระพันธุ์ มองเห็นทางออกในอีกมุมว่า การปรับลดค่าไฟสามารถทำได้จากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบันประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟอยู่ 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ อ่าวไทย , เมียนมาร์ และนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่นำเข้ามาเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ “LNG” ซึ่งมีราคาแพง และอิงราคาตลาดโลกที่ผันผวนตลอดเวลา แต่ถ้าหากสามารถปรับพอร์ต “Pool Gas” ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า และการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ก็น่าจะทำให้ค่าไฟลดลงได้อีกถึงเกือบ 40 สตางค์ โดยตนจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันค่าไฟงวดต่อไป
“ปัญหาเรื่องค่าไฟต่างกับปัญหาเรื่องน้ำมันเยอะมากและมีประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องเข้ามาแก้ไขเยอะมาก น้ำมันคือน้ำมัน แต่ค่าไฟ มันไม่ใช่แค่ค่าไฟ มันคือค่าแก๊ส ค่าถ่านหิน ค่าขนส่ง ค่าอะไรต่าง ๆ ที่บวกไว้ในสัญญา ค่าบริหารจัดการเงินกู้ของผู้ประกอบการ และที่สำคัญ ผมคิดว่าทำอย่างไรจะให้ กฟผ.กลับมาแข็งแรง และก็เป็นหลักให้กับประชาชนในเรื่องของการผลิตไฟฟ้า แล้วกําหนดค่าไฟที่ถูกต้องเป็นธรรมมากขึ้น” นายพีระพันธุ์กล่าว
สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างกฎหมายกำกับการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ นายพีระพันธ์ กล่าวว่า ภาพรวมเป็นไปด้วยดี แต่ก็มีข้อท้วงติงจากผู้เชี่ยวชาญว่าอาจมีช่องโหว่ในเรื่องของการกำหนดราคาก๊าซ เพราะกฎหมายฉบับนี้จะดูแลประชาชนไปถึงเรื่องของก๊าซด้วย นั่นคือ กรณีของก๊าซหุงต้ม LPG และก๊าซที่ใช้สำหรับรถยนต์ ตนจึงได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รวมทั้งผู้ชำนาญการช่วยกันทบทวนเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายในส่วนของก๊าซ เพื่อดูแลการกำหนดราคาให้ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ส่วนร่างกฎหมายเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า พรรครวมไทยสร้างชาติได้ยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวนี้เข้าสภาฯไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็จะเสนอร่างกฎหมายส่งเสริมการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เข้าสู่สภา ฯ ในเร็ว ๆ นี้ โดยขณะนี้กำลังรอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจทานร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงาน และจะเร่งนำเข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน ก่อนนำส่งเข้าสภาฯ เพื่อพิจารณาประกอบกับร่างกฎหมายที่เสนอจากพรรคการเมือง
นายพีระพันธุ์ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสว่าการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปขัดผลประโยชน์ และสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มทุนนั้น ว่า “ผมทำในสิ่งที่ต้องทำ ไม่ได้ทำเพื่อจะไปเป็นศัตรูกับใคร แต่ต้องทำในสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด”
“เราไม่ได้เจตนาไปทำอะไรใคร คนเขาพูดไปเอง สื่อก็พูดไปเรื่อยนะครับ จริงๆ ผมก็ทำงานในสิ่งที่ต้องทำ เมื่อมาเห็นอะไรต้องปรับปรุงก็ต้องทำ และที่สำคัญก็คือว่า มันไม่ใช่เราคนเดียว มันเป็นนโยบายรัฐบาล และถ้าหากจำได้นะครับ นายกรัฐมนตรีได้ไปประกาศที่ NBT เรื่องของการปรับลดค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน และท่านมอบหมายให้ผมเป็นคนทำ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นหน้าที่ที่ผมต้องทำ ทั้งนโยบายส่วนตัว ทั้งนโยบายของพรรคของผม รวมถึงนโยบายรัฐบาลมันตรงกันในเรื่องตรงนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาทำ เราก็ต้องทำนะครับ เราไม่ได้ทำ เพราะว่า มันจะกระทบใคร หรือ จะเกิดอะไร แต่ต้องทำในสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด และผมพูดเสมอว่านายทุนหลักคือประชาชน” นายพีระพันธุ์กล่าว
นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการพัฒนาเครื่อง Inverter สำหรับติดตั้งกับระบบโซลาร์เซลล์สิทธิบัตรของคนไทย ซึ่งกระทรวงพลังงานมีแผนจะนำออกจำหน่ายในราคาถูกให้กับประชาชนในปีนี้ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในขั้นตอนที่ 2 และ 3 หลังจากผ่านการทดสอบขั้นตอนแรกของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) โดยทางผู้ออกแบบกำลังนำอุปกรณ์ต้นแบบไปทดสอบที่ห้อง LAB ในประเทศจีนภายใต้การรับรองของ สวทช. ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็วและความสะดวกในการปรับปรุงอุปกรณ์ และเมื่อผ่านการทดสอบแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งทางกระทรวงพลังงานจะร่วมกับบริษัทในเครือของ กฟผ. และ ปตท. ในการผลิตและจําหน่ายให้ประชาชนในราคาถูก โดยจะเตรียมการผลิตเบื้องต้นประมาณ 10,000 เครื่อง และคาดว่าจะทำให้ประชาชนสามารถติดตั้งระบบโซลาร์ได้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 60% อีกทั้งยังมีการจัดหาเงินทุนสนับสนุนในเรื่องของการติดตั้งและการลดหย่อนภาษีด้วย
“ผมได้คุยกับท่านรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ท่านดูแลเอสเอ็มอีแบงก์ ก็จะให้ทางเอสเอ็มอีแบงก์มาช่วย สำหรับคนที่ไม่มีเงินทุนพอ ก็จะสามารถไปกู้ยืมเงินจากเอสเอ็มอีแบงก์ได้แล้วผมก็จะสนับสนุนอีกบางส่วนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ย และส่วนที่กระทรวงพลังงานเดินหน้าไปแล้วก็คือ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะให้กระทรวงการคลังช่วยหักลดหย่อนภาษีด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว