AOT ส่ง จม.ถึง ‘คิง เพาเวอร์ – สายการบิน’ อ้างโควิดฯ ยืดจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน – ค่าบริการสนามบิน ได้ไม่เกิน 2 ปี คิดค่าปรับ 18% ต่อปี ช่วยผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ 6 สนามบิน ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “AOT” ได้ออกหนังสือเลขที่ ทอท. 1485/2568 แจ้งผู้ประกอบการและสายการบิน เรื่อง โครงการขยายระยะเวลาชำระเงินของผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และสายการบิน ณ ท่าอากาศยานของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง ที่ขาดสภาพคล่อง มีรายละเอียดดังนี้
เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังคงประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง ภายหลังสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 รวมถึงสถานการณ์สงครามในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก ซึ่งส่งส่งผลให้ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ และสายการบินที่ประกอบกิจการ ณ ท่าอากาศยานของบริษัท ท่าอากาศ (มหาชน) (ทอท.) ทั้ง 6 แห่ง ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากการดำเนินธุรกิจ
ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐต่างๆ ทอท.จึงได้มีโครงการขยายระยะเวลาชำระเงินของผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และสายการบิน ณ ณ ท่าอากาศยานของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง ที่ชาดสภาพคล่อง เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. โครงการขยายระยะเวลาชำระเงินของผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และสายการบิน ณ ณ ท่าอากาศยานของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง ที่ขาดสภาพคล่อง โดยมีหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการและเงื่อนไขของโครงการ ดังนี้
-
1.1 ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และสายการบิน ต้องมีหนังสือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการล่วงหน้า ก่อนวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญา พร้อมทั้งต้องแสดงเหตุผลของการขาดสภาพคล่อง ให้ ทอท.พิจารณา ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ และสายการบิน ต้องส่งหนังสือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯให้ ทอท. ภายในวันที่ 30 กันยายน 2568
1.2 ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และสายการบินที่ขอเข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีหลักประกันสัญญา และวงเงินของหลักประกันสัญญา ต้องครอบคลุมเงินต้นรวมกับค่าปรับจากการผิดนัดชำระในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี
1.3 ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ และสายการบินจะสามารถเลื่อน และ/หรือแบ่งจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน หรือ ค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) โดยระยะยะเวลาที่ขอเลื่อน และ/หรือแบ่งชำระฯ งวดสุดท้าย จะต้องสิ้นสุดไม่เกินอายุสัญญา และไม่เกิน 24 เดือน นับถัดจากเดือนที่ ทอท.มีมติอนุมัติโครงการฯ (มกราคม 2570)
1.4 ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ และสายการบิน ต้องชำระดอกเบี้ยของยอดเงินที่ขอเลื่อน และ/หรือ แบ่งชำระฯทุกเดือน ตามอัตราที่ ทอท.กำหนด โดยอัตราดอกเบี้ย (ร้อยละต่อปี) คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง (ธนาคารกรุงเทพ , ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา) และบวกเพิ่มอีกร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะต้องไม่น้อยกว่าต้นทุนทางการเงิน (Weighted Average Cost of Capital : WACC) ของ ทอท. โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย MLR และ WACC ณ วันที่ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ และสายการบินแต่ละรายได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ทอท.อนุมัติเป็นต้นไป โดยไม่มีผลย้อนหลัง
1.5 ในกรณีที่ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ และสายการบินผิดนัดชำระเงินของโครงการฯงวดใดงวดหนึ่ง หรือ มีหนี้เกิดขึ้นใหม่ ให้ถือว่าสิทธิ์ตามโครงการนี้สิ้นสุดลงทันที และ ทอท.จะดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญาต่อไป
1.6 ทอท.ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาตามความเหมาะสม และยกเลิกโครงการฯได้ และให้ผลการพิจารณาของ ทอท.ถือเป็นที่สุด ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยประการใด กรุณาติดต่อฝ่าย หรือ ส่วนงานพาณิชย์ของท่าอากาศยานที่ท่านประกอบกิจการ ณ ปัจจุบัน

ตามที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือเวียนแจ้งผู้ประกอบการ และสายการบินในสนามบินทั้ง 6 แห่ง ที่ขาดสภาพคล่อง ตามที่กล่าวข้างต้น นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า ก่อนหน้านี้ ทอท.เคยมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้กับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ซึ่งได้รับสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ สัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง รวมทั้งสายการบินมาตั้งแต่ปี 2563 ต่อมาในช่วงปลายปีที่แล้ว ที่ประชุมบอร์ด ทอท.ได้มีมติยกเลิกมาตรการดังกล่าวไปแล้ว เนื่องจากครบกำหนดเวลาในการเยียวยา แต่เหตุใด ทอท.จึงมาออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ และสายการบินที่ขาดสภาพคล่องกันอีก โดยให้ทำเรื่องเข้ามาขอเลื่อน หรือ แบ่งจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนไม่เกิน 2 ปี หรือ ไม่เกินปี 2570 ซึ่งเหตุผลที่ ทอท.นำมาอ้างเพื่อออกมาตรการดังกล่าวนี้ ขัดแย้งกับคำสัมภาษณ์ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในประเด็นข้อเรียกร้องให้ยกเลิก “ฟรีวีซ่า” เนื่องจากมีพวกกลุ่มทุนจีนสีเทาอาศัยช่องทางนี้เดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งนายกฯ ตอบว่าโครงการนี้ทำให้การท่องเที่ยวดีขึ้น ปีก่อนหน้านี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทย 27 ล้านคน และปีที่แล้ว 35 ล้านคน ขณะที่ธุรกิจสายการบินก็มีกำไร และมีบางสายการบินเตรียมสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มเติม ถามว่าตกลงแล้ว ทอท.ออกมาตรการดังกล่าวมาช่วยผู้ประกอบการกลุ่มไหนกันแน่
นายชาญชัย กล่าวต่อว่าตนจึงมีคำถามที่อยากจะฝากไปถึงคณะกรรมการ และผู้บริหาร ทอท. ประการแรก การดำเนินการออกมาตรการกล่าวนี้ ต้องขออนุญาตคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ทอท. ซึ่งการเลื่อน หรือ แบ่งจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวนี้ อาจส่งผลกระทบทำให้รายได้ที่ต้องนำส่งคลัง ถูกเลื่อนออกไปด้วย ขณะที่รัฐบาลก็มีความจำเป็นต้องเร่งหาเงิน เพื่อนำไปใช้ในโครงการตามนโยบายของรัฐบาล อาทิ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ประการที่ 2 ทอท.ได้ทำหนังสือไปแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือยัง เพราะเรื่องดังกล่าวนี้กระทบต่อรายได้ของผู้ถือหุ้น และ ประการที่ 3 การขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวนี้ได้มีการสอบถามอัยการสูงสุดแล้วหรือยัง เนื่องจากในสัญญาสัมปทานฯทั้ง 3 ฉบับ กำหนดให้ผู้รับสัมปทานต้องชำระเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนกันทุกเดือน โดยหลักของกฎหมายแล้ว การดำเนินการดังกล่าวควรต้องมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ให้ถูกต้องด้วยหรือไม่

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (AOT) กล่าวถึงผลประกอบการงวด 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 ระหว่างเดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2567 ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.)ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) AOT มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 5,344.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 781.27 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.12 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ AOT มีรายได้รวม 17,906.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.41 ซึ่งรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 1,956.27 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.45 แบ่งเป็น
สำหรับปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT งวด 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (เดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2567) มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวม 33.62 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.41 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 20.85 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 12.77 ล้านคน ในขณะที่มีจำนวนเที่ยวบินรวม 204,549 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.78 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 117,333 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 87,216 เที่ยวบิน
ดร.กีรติ ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นว่า เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจของภาครัฐ และวันหยุดยาว (Golden Week) ของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากทั้งตลาดระยะไกล (Long Haul) และตลาดระยะใกล้ (Short Haul) อีกทั้ง AOT ยังสนับสนุนนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่งเสริมเส้นทางการบินใหม่โดยลดค่าธรรมเนียมสำหรับสายการบินที่เปิดเส้นทางใหม่ โครงการลดค่าเช่าสำหรับสายการบินที่ย้ายไปใช้อาคาร SAT-1 และโครงการสนับสนุนการตลาดสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่และเชียงราย โดยการให้เงินสนับสนุน 300 บาทต่อผู้โดยสารหนึ่งคนสำหรับเที่ยวบินที่เข้าเงื่อนไข เป็นต้น
AOT ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาท่าอากาศยานให้เป็นศูนย์กลางการบินระดับโลก โดยมีการยกระดับมาตรฐานการให้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ให้มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย พร้อมสนับสนุนการท่องเที่ยว และการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (SAT-1) ที่สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคน เป็น 65 ล้านคนต่อปี การสร้างระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติและทางวิ่งเส้นที่ 3 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ที่สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านคน เป็น 50 ล้านคนต่อปี รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ , ท่าอากาศยานภูเก็ต , ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่ นอกจากนี้ AOT ยังได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาให้บริการเพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางแบบใหม่และความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้โดยสาร เช่น การนำระบบเช็กอินอัตโนมัติ ระบบตรวจจับและรับรู้ใบหน้าบุคคล (Biometric Identification) ระบบตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (ABC) ที่รองรับ E-passport กว่า 90 ประเทศ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารและเวลาในการตรวจหนังสือเดินทาง ระบบการจัดการข้อมูลแบบ A-CDM และระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ (SBG) เป็นต้น
ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน AOT ได้ดำเนินงานโดยคำนึงถึง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้มาตรฐานสากล เช่น DJSI, GRI และ PDPA ทั้งยังได้รับการจัดอันดับเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ติดต่อกัน 6 ปี และท่าอากาศยานภายใต้การดำเนินงานของ AOT ยังได้รับการรับรอง Airport Carbon Accreditation ครบทั้ง 6 แห่ง ทั้งนี้ AOT มุ่งเป้าให้ท่าอากาศยานเป็น Green Airport และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ Net Zero ภายในปี 2587 ในระดับนานาชาติ อาคาร SAT-1 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังได้รับรางวัล “ท่าอากาศยานสวยที่สุดในโลกปี 2567” จาก Prix Versailles ของ UNESCO ซึ่งเป็นการยืนยันความสำเร็จในการผสานเอกลักษณ์ไทยเข้ากับสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน
จากความมุ่งมั่นเหล่านี้ AOT ตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคและเชื่อมโยงการเดินทางทางอากาศแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับท่าอากาศยานของไทยให้เป็น 1 ใน 20 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็น 1 ใน 10 ของโลก และสามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างยั่งยืน