รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อ June Rosen พบกับ Aneurin Bevan ครั้งแรก เธอมีอายุ 8 ปี ยังไม่เข้าใจความหมายถึงสิ่งที่เป็นความเชื่อของพ่อแม่เธอว่า บุคคลผู้นี้จะเปลี่ยนชีวิตคนอังกฤษ 45 ล้านคน ในเวลานั้น Bevan เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ มาเป็นแขกพักที่บ้านของเธอ ต่อมาในวันเดียวกัน พ่อเธอที่เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นของพรรคแรงงาน ขับรถพา Bevan ไปยังโรงพยาบาลปาร์ค ชานเมืองแมนเชสเตอร์ เพราะวันที่ 5 กรกฎาคม 1948 Bevan จะทำพิธีเปิดสถาบันแห่งใหม่ เรียกว่า “บริการสาธารณสุขแห่งชาติ” หรือ National Health Service (NHS)
ในปี 2012 การแสดงชุด NHS เป็นหัวใจสำคัญของงานพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก กรุงลอนดอน เป็นการแสดงของนักเต้นอาชีพ ที่แต่งตัวเป็นพยาบาลและเด็กกระโดดบนเตียงนอน อังกฤษต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า ระบบบริการสาธารณสุขคือสิ่งที่เป็นหัวใจของอัตลักษณ์ของอังกฤษ การสำรวจความเห็นของคนอังกฤษเองก็ระบุว่า บริการ NHS ทำให้พวกเขาภูมิใจมากที่สุดของการเป็นชาวอังกฤษ
แต่ปัจจุบัน เว็บไซด์ของ NHS ให้ข้อมูลว่า คนอังกฤษมีสิทธิทางกฎหมาย ที่จะเริ่มต้นกระบวนการได้รับรักษาโรคที่ไม่เร่งด่วน หรือเข้าพบแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยมีระยะเวลาการรอคิวนานที่สุด 18 สัปดาห์ นับจากที่ลงทะเบียนกับ NHS หรือเมื่อโรงพยายบาลได้รับจดหมายแนะนำตัว
บริการสาธารณสุขจาก “เกิดจนถึงตาย”
NHS ของอังกฤษเป็นบริการสาธารณสุข ตั้งขึ้นมาในปี 1948 การดำเนินงานใช้งบประมาณรัฐ ในปี 2016 เป็นเงิน 136.7 พันล้านปอนด์ หรือ 6.8 ล้านล้านบาท ตลอดระยะเวลา 75 ปีที่ผ่านมา ชีวิตคนอังกฤษเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกจากบริการสาธารณสุขของ NHS ในแต่ละวันคนอังกฤษหลายล้านคน เข้ารับบริการสาธารณสุขในเครือข่ายของ NHS ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. จากพนักงานการแพทย์ 1.4 ล้านคน
นับจากก่อตั้งเป็นต้นมา บริการสาธารณสุขจาก “เกิดจนถึงตาย” ของ NHS พัฒนาสมบูรณ์มากขึ้น ปี 1948 คนอังกฤษที่เกิดในโรงพยาบาลมีแค่ 33% ปัจจุบัน 97% คนที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ค่านิยมทางสังคมต่อบริการของ NHS ก็ฝังลึกและยั่งยืน คนอังกฤษมอง NHS ว่ามีความหมายมากกว่าเรื่องบริการสาธารณสุข แต่เป็นเรื่องความเห็นอกเห็นใจต่อความทุกข์ของคนเรา ที่มาจากการเจ็บป่วย และการได้รับปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น แม้จะต้องรอคิวนานในการเข้ารับการรักษา แต่คนอังกฤษมองว่า NHS คือตัวอย่างดีที่สุดของความมีมนุษยธรรม

“ระบบสาธารณสุขของเรา”
หนังสือ Our NHS ที่พิมพ์โดย Yale University Press (2023) เขียนเรื่องราวที่ว่า ทำไม NHS ของอังกฤษจึงดำรงอยู่มาได้อย่างยาวนาน ในขณะที่ระบบรัฐสวัสดิการในประเทศตะวันตกอื่นๆ ได้รับการสนับสนุนน้อยลง NHS ตั้งขึ้นมาในปี 1948 สมัยรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษ โดยเป็นระบบบริการสาธารณสุข ที่อาศัยเงินงบประมาณสนับสนุนจากภาษีอากร ให้บริการที่ครอบคลุมทุกคน ที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในอังกฤษ และไม่มีค่าใช่จ่าย ณ จุดให้บริการ โดยรัฐบาลกลางทำหน้าที่ผู้ประสานงาน
เมื่อเปรียบเทียบกับบริการสาธารณสุขในประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ คนอังกฤษไม่ได้อาศัยบริการของ “บุคคลที่ 3” หรือ “ผู้ป่วยจ่ายเงินเอง” ในการรักษาพยาบาล แต่รัฐบาลดูแลเรื่องสาธารณสุขทั้งหมด ดังนั้น การทำประกันสุขภาพของคนอังกฤษ จึงไม่มีความจำเป็น แม้ว่าในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา 10% ของประชากรอังกฤษจะมีการทำประกันสุขภาพส่วนตัว เพื่อไม่ต้องรอคิวนานในการรับบริการ แต่มีคนอังกฤษไม่กี่คนที่ต้องการยกเลิกระบบบริการสาธารณสุขโดยรัฐ
ระบบ NHS มีการปฏิรูปปรับปรุงตัวเองมาตลอด แต่การปรับปรุงใดๆก็ตาม ก็ยังคงรักษาหลักบริการสาธารณสุขที่ “รัฐเป็นศูนย์กลาง” และ “การครอบคลุมอย่างทั่วถึง” เช่นเดียวกับบริการสาธารณสุขในประเทศที่เจริญแล้ว NHS มีการพัฒนาด้านเภสัชกรรม และวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาลเน้นที่ความชำนาญทางการแพทย์ จึงได้รับส่วนแบ่งงบประมาณมากที่สุด ส่วนบริการสาธารณสุข ที่ใช้ยารักษาเป็นหลัก จะอยู่ที่ “ศูนย์สาธารณสุข” สะท้อนทิศทางการแพทย์สากล ที่เน้น “การดูแลสุขภาพพื้นฐาน”
หนังสือ Our NHS บอกว่า เมื่อตั้ง NHS ขึ้นมาครั้งแรก พวกที่สนับสนุนแนวคิดนี้ ต้องพยายามอย่างมาก ที่จะเปลี่ยนความคิดของคนอังกฤษ ที่ในตอนแรกมอง NHS ว่าเป็น “การแพทย์โดยรัฐ” (state medicine) ให้มาเป็นความคิดแบบมนุษยธรรมของ “บริการสาธารณสุขแห่งชาติ” นักประวัติศาสตร์บางคนยอมรับว่า ความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนต่อ NHS มาจากเหตุผลทางวัฒนธรรม เช่น การได้รับบริการสาธารณสุขที่เท่าเทียมกัน ต่างจากบริการโดยภาคเอกชน ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
ความสัมพันธ์อังกฤษกับต่างประเทศ มีส่วนสร้างความหมายให้กับ NHS ที่เรียกว่า “ชาตินิยมสวัสดิการ” (welfare nationalism) ความหมายก็คือว่า บริการสวัสดิการของรัฐแสดงออกถึงลักษณะสำคัญบางอย่างของชาติ ในระยะแรก ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯมาอังกฤษ เพื่อศึกษา NHS ในฐานะระบบสวัสดิการของรัฐ ที่ครอบคลุมอย่างทั่วถึงแห่งแรกในประเทศประชาธิปไตย ต่อมา เมื่ออิทธิพลอังกฤษในโลกลดน้อยลง NHS จึงกลายมาเป็นเพียงความสำเร็จเฉพาะตัวของอังกฤษ

โลกไม่มีระบบสาธารณสุขที่สมบูรณ์
หนังสือที่มีชื่อเสียง In Search of the Perfect Health System ของ Mark Britnell ที่เคยเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารของ NHS บอกว่า โลกเราไม่มีประเทศไหนที่มีระบบบริการสาธารณสุขที่สมบูรณ์ หากว่าจะมีขึ้นมา จะต้องมีองค์ประกอบที่โดดเด่นบางอย่างเช่น ระบบสาธารณสุขที่ “ครอบคลุมทุกคน” แบบอังกฤษ สาธารณสุขแบบเน้น “บริการชุมชน” ของบราซิล “การวิจัยและพัฒนา” ด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ “การส่งเสริมสุขภาพ” แบบประเทศนอร์ดิก และสาธารณสุขที่ “ดูแลคนสูงอายุ” แบบญี่ปุ่น เป็นต้น
กรณีของอังกฤษ NHS เป็นบริการสุขภาพแห่งแรกของโลก ที่ครอบคลุมทุกคน การสำรวจความเห็นคนอังกฤษบอกว่า NHS เป็นสถาบันที่ทำให้คนอังกฤษภูมิใจในความเป็นอังกฤษ เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่เป็นความยิ่งใหญ่ของอังกฤษ ที่คนอังกฤษจะทำทุกอย่างเพื่อรักษาสิ่งนี้ไว้
ในปี 2008 ธรรมนูญฉบับแรกของ NHS เขียนไว้ว่า “NHS เป็นของประชาชน และดำรงอยู่เพื่อปรับปรุงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเรา สนับสนุนเราให้ดูแลรักษาจิตใจและร่างกายที่ดี ให้เรามีสภาพดีขึ้นเมื่อเจ็บป่วย นำสิ่งที่พัฒนาสูงสุดด้านความรู้และทักษะของมนุษย์เรา มาช่วยชีวิตและปรับปรุงสุขภาพ NHS เข้ามาสัมผัสกับชีวิตของเรา ในยามที่ความต้องการพื้นฐานของคนเราที่สำคัญที่สุด คือการได้รับการดูแลรักษา และการเข้าใจในความเจ็บปวดของคนเรา”
In Search of the Perfect Health System สรุปว่า คนอังกฤษรักและชื่นชม NHS เพราะคุณสมบัติความเที่ยงธรรมของ NHS ซึ่งก็คือการบริการที่ให้กับคนทุกคน โดยไม่มีขึ้นกับความสามารถในการออกค่าใช้จ่ายของตัวเอง
เอกสารประกอบ
Our NHS: A History of Britain’s Best-Loved Institution, Andrew Seaton, Yale University Press, 2023.
In Search of the Perfect Health System, Mark Britnell, Palgrave, 2015.