“พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์” ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกแบบกรุงเทพฯ รับ 4 ความท้าทาย “โลกร้อน-โลกรวน” ปรับพฤติกรรมสร้าง sustainable lifestyle ให้คนเมือง ลุยปลูกต้นไม้ 2 ล้านต้นลดอุณหภูมิ เตรียมแผน urban heat รับวันที่กรุงเทพฯระอุ พร้อมคู่มือดัชนีความร้อนสำหรับประชาชน

“โลกร้อน-โลกรวน-โลกเดือด” ส่งผลกระทบถ้วนหน้ากับทุกคนและเมืองต่างๆ ด้วยภัยพิบัติที่หลากหลาย น้ำท่วม โคลนถล่ม แผ่นดินทรุด heat wave เป็นต้น จะออกแบบเมืองอย่างไรให้รับกับวิกฤติของสภาพอากาศ จึงถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดูแลความยั่งยืน กล่าวว่าวิกฤติโลกร้อนส่งผลกระทบต่อความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ในหลายมิติ โดยเฉพาะปัญหาที่มีอยู่แล้ว เช่น 1.ปัญหาน้ำท่วมจะหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากลักษณะการตกของฝนแบบ rain bomb หรือตกหนักต่อเนื่อง จากเดิมที่ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เป็นเกินกว่า 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ทำให้กรุงเทพฯ ที่มีปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้วต้องเจอปัญหานี้มากขึ้น
2.ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่าบริเวณรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีจุด hot spot และการเผาในพื้นที่ภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น ขณะที่กรุงเทพฯมีปัญหาฝุ่นควันจากการจราจร ทำให้ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น
3.ปัญหากัดเซาะชายฝั่งและน้ำทะเลหนุนสูง โดยกรุงเทพฯ มีหลายพื้นที่ที่มีปัญหา เช่น บางขุนเทียน โดยนักวิชาการคาดการณ์ว่าน้ำทะเลจะหนุนสูงอีก 40 เซนติเมตรใน 30 ปี และขยับเพิ่มเป็น 80 เซนติเมตรในอีก 60 ปี และกรุงเทพฯ เสี่ยงที่จะจมน้ำ
4.ปัญหาอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น โดยศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า ในอนาคต จำนวนวันที่ร้อนสูงสุดเกิน 35 องศาเซลเซียสของกรุงเทพฯ จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 15 วันเป็นประมาณ 80 วัน เกือบ 3 เท่าตัว ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม และอุณหภูมิอาจจะสูงแตะ 44 องศาเซลเซียส
ออกแบบเมือง-คู่มือดัชนีความร้อนสำหรับประชาชน
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนทั้ง 4 ประเด็น เป็นความท้าทายที่กรุงเทพฯ ต้องออกแบบเมืองเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยในเรื่องปัญหาน้ำท่วม มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่มีทั้งอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำและคลอง ซึ่งถือเป็นการระบายน้ำแบบเส้นเลือดฝอย โดยเน้นการขุดลอกคูคลองให้มากที่สุด
“ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือในเดือนตุลาคมปีนี้ (2567) กทม. เจอฝนตกเฉลี่ยเกิน 80 มิลิเมตร และตกต่อเนื่อง เรียกว่าปริมาณฝนตกหนักที่สุดในรอบหลาย 10 ปี หรือปริมาณในเดือนกันยายนปี 2565 ก็ตกหนักที่สุดในรอบ 30 ปี ซึ่งคาดเดาไม่ได้มากๆ โดยเฉพาะล่าสุดลักษณะการตกของฝนเป็นแบบ rain bomb ทำให้ต้องออกแบบรับมือเป็นอย่างดี ซึ่งหน้าฝนที่ผ่านมาเราบริหารจัดการได้ดี มีน้ำท่วมบ้างแต่ก็สามารถระบายได้เร็ว”
ส่วนเรื่องอุณหภูมิที่ร้อน เป็นความท้าทายที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ทำให้กรุงเทพฯ วางแผนรับมือทั้งแผนระยะสั้นและแผนทำให้เมืองเย็นลงในระยะยาว โดยปี 2567 ถือเป็นปีแรกที่มีแผน urban heat ซึ่งออกแบบการแจ้งเตือนความร้อน, ฝุ่น PM2.5 และสร้างจุด cooling center เพื่อให้กลุ่มคนเปราะบางได้เข้าไปอาศัยในวันที่อากาศร้อนมากๆ
“ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องนี้ อากาศร้อน เราไม่เคยมีแผนรับมือเกี่ยวกับ urban heat เลย แต่ปี 2567 เป็นปีแรกที่ผู้ว่า กทม. สั่งให้ไปทำแผน ซึ่งแผนแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ เรื่องการแจ้งเตือน การมอนิเตอร์อุณหภูมิ พร้อมแนะนำการปฏิบัติตัวของประชาชน”
นายพรพรหมกล่าวว่า การแจ้งเตือนประชาชนจะเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่นเดียวกับการแจ้งเตือนฝุ่น PM 2.5 โดย กทม. ได้จัดทำข้อมูลดัชนีความร้อนว่าระดับอุณหภูมิขนาดนี้ประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไร คนทำงานกลางแจ้งอาจจะต้องหลบเข้ามาทำงานในร่ม หรือเปลี่ยนเวลาทำงานในช่วงอุณหภูมิเท่าไหรเพื่อไม่ให้กระทบกับสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้สูงอายุ กรุงเทพฯ มีข้อมูลกลุ่มเปราะบางเหล่านี้เอาไว้ทุกเขตแล้ว
“การแจ้งเตือนทุกช่องทาง ทั้ง Facebook กทม./ Facebook เขต และผ่านระบบ Line Alert และป้ายมอนิเตอร์ฝุ่น PM2.5 ซึ่งนำมาปรับใช้แจ้งเตือนวันที่อุณหภูมิสูงด้วย นอกจากนี้ เราจะใช้กลไกเขตทั้ง 50 เขต และเครือข่ายชุมชนเข้ามาร่วมในการแจ้งเตือนวันที่อุณหภูมิสูงและมีผลกระทบสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตัวในการลดภาวะฮีตสโตรก”
ส่วนการแจ้งเตือนกลุ่มคนทำงานกลางแจ้ง ขณะนี้กรุงเทพฯ ได้ปรับเวลาทำงานของพนักงานสวน และพนักงานที่ทำงานกลางแจ้ง จากเดิมที่ต้องทำงาน 4 ชั่วโมง ปรับลดลงมาเหลือ 2 ชั่วโมงต่อกะ เพื่อลดเวลาทำงานในช่วงที่มีอุณหภูมิสูง
นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่มีไซต์งานก่อสร้าง ให้ปรับเวลาทำงานในตอนกลางวัน พร้อมทั้งจัดทำป้ายคำเตือนและคู่มือเป็นภาษาพม่า เพื่อให้คนงานปฏิบัติตัวในช่วงหน้าร้อน
เตรียมศึกษาตั้งจุด Cooling Center
นายพรพรหมกล่าวว่า กรุงเทพฯได้วางแผนเชิงรุกสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยทุกเขตมีการวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงกลุ่มเป็น risk map เพื่อรายงานว่าในพื้นที่มีกลุ่มเสี่ยงต่ออากาศร้อน มีไซต์ก่อสร้าง มีบ้านที่เป็นสังกะสี เพื่อที่เราจะเข้าไปสนับสนุนการทาสีหลังคาเป็นสีขาว เรียกว่า cool roof เพื่อลดอุณหภูมิลง
“เรากำลังคุยกับผู้ประกอบการสีเพื่อทำ CSR ว่าเขาสนใจจะมาสนับสนุนสีเพื่อ cool roof หรือไม่ คือไปทาสีหลังคาเป็นสีขาว ซึ่งมันจะช่วยสะท้อนแสงและลดอุณหภูมิลงมาได้ ที่ผ่านมาเราได้ทดลองที่โรงเรียนเขตราชเทวีเพื่อดูประสิทธิภาพ และพบว่าทำให้เย็นลงได้จริง จึงเห็นว่าควรจะขยายไปยังบ้านประชาชนจะช่วยลดความร้อนได้”
ส่วนในระยะยาวอยู่ระหว่างศึกษา policy recommendation เพื่อจัดทำ cooling center ไว้เป็นจุดหลบร้อนให้กับประชาชนและกลุ่มเปราะบาง โดยจุดที่สามารถพัฒนาจะเป็นศูนย์สาธารณสุขที่อยู่ตามชุมชนกว่า 70 แห่งทั่วเมือง นำมาปรับปรุง บางแห่งยังไม่มีแอร์ อาจจะต้องลงทุนติดแอร์เพิ่ม นอกจากนี้ กำลังพิจารณาโรงเรียนที่มีห้องปลอดฝุ่น ติดตั้งแอร์ใน 1,700 ห้อง ว่าสามารถนำมาปรับเป็น cooling center ได้หรือไม่
“สมมติหน้าร้อน โรงเรียนเขาปิดเทอมแอร์ก็ไม่ได้ใช้อะไร เราก็สามารถเอาห้องพวกเรียนเหล่านี้มาเปิดแอร์ให้ประชาชนใช้บริการได้หรือไม่ อันนี้กำลังศึกษา เพราะว่าโรงเรียนเขาก็จะกังวลว่าให้คนแปลกหน้าเข้ามา แล้วค่าไฟใครจะจ่าย กำลังหาทางเลือกที่ดีที่สุดว่าจะทำอย่างไร หรือเลือกแนวทางไหน”
เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดความร้อนของเมือง
ส่วนการลดอุณหภูมิในระยะยาว ซึ่งถือเป็นนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร คือการปลูกต้นไม้ล้านต้น โดยขณะนี้สามารถปลูกต้นไม้ให้บรรลุเป้าหมายได้ภายใน 2 ปี ปรับเป้าหมายเพิ่มเป็น 2 ล้านต้น โดยจะเน้นไม้ยืนต้นมากขึ้น
“ตอนนี้ไม้ใหญ่ประมาณ 5 แสนต้น เป้าหมายต่อไปในการปลูกต้นไม้ก็คือการปลูกไม้ใหญ่ เพราะงานวิจัย World Bank ที่เข้ามาศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในพื้นที่ต่างๆ พบว่าตั้งแต่แถวสนามหลวง แถวเมืองเก่า เขตเมืองมีอุณหภูมิสูง แต่พอถึงสวนลุมพินีอุณหภูมิลดลง มันแสดงให้เห็นว่าพื้นที่สีเขียวสามารถลดความร้อนของเมืองได้จริงๆ”
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเพิ่มสวน 15 นาทีให้ได้มากที่สุด โดยขณะนี้สร้างไปแล้ว 180 แห่ง เท่ากับพื้นที่ 400 ไร่ และกำลังจะพัฒนาเพิ่มให้ได้ 500 แห่งภายในปี 2569
“ผมคิดว่าสวนที่ดีที่สุดคือสวนใกล้บ้าน ผมไม่ต้องการให้มีสวนดีๆ กลางเมืองแล้วคนต้องขับรถเป็นชั่วโมงเพื่อไปออกกำลังกาย แต่เราต้องการสวนใกล้บ้าน เช่น การพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนมาเป็นสวน หรือใช้พื้นที่วัดบางส่วนมาพัฒนา ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว และช่วยให้ประชาชนมีที่พักผ่อนออกกำลังกาย”

ปรับ Sustainable Lifestyle คนกรุงเทพ
อย่างไรก็ตาม การออกแบบเมืองเพื่อรับมือกับวิกฤติสภาพอากาศที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ยั่งยืน หากไม่มีการปรับพฤติกรรมคนกรุงเทพฯ ให้รักษาสิ่งแวดล้อม โดยการปรับวิถีชีวิต อาจต้องเริ่มจากการลดและแยกขยะ
“ทุกคนต้องตระหนักเรื่องของความยั่งยืน ต้องมีไลฟ์สไตล์ที่ยั่งยืน sustainable lifestyle คือเริ่มจากตัวเราเอง โดยการแยกขยะง่ายที่สุด ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้สภากรุงทพมหานครเพิ่งผ่านร่างข้อบัญญัติใหม่ ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมเก็บขยะสำหรับบ้านที่ไม่คัดแยกขยะเพิ่มเป็นเดือนละ 60 บาท แต่คนที่แยกขยะจะเก็บอัตราเดิม 20 บาท เพื่อปรับพฤติกรรมให้คนแยกขยะมากขึ้น”
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครต้องรับภาระจัดการขยะในปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยหลายพันตันต่อวัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดอยู่ที่ 2,300 บาทต่อตัน เมื่อปริมาณขยะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่กรุงเทพฯ สามารถเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดขยะได้ 500 ล้านบาทต่อปี แต่ต้องจ่ายค่าจัดการขยะ 7,000 ล้านบาทต่อปี
“การปรับอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าว ก็เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดและคัดแยกขยะอย่างจริงจัง อีกทั้งข้อบัญญัติใหม่ยังมุ่งหวังให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความสะอาด และการจัดการสิ่งแวดล้อม”
สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนคัดแยกขยะ จะสามารถลดหย่อนค่าเก็บขยะได้ด้วยการเก็บค่าธรรมเนียม 20 บาทเท่าเดิม โดยเมื่อลงทะเบียนแยกขยะแล้วเจ้าหน้าที่ กทม. จะเก็บขยะที่แยกไว้ตามจุดลงทะเบียนที่แจ้งกับเขต
“เราจะมีรถเก็บขยะเปียกที่เป็นเศษอาหาร เข้าไปเก็บขยะที่แยกไว้ตามจุดที่ประชาชนลงทะเบียน เพื่อป้องกันการนำขยะมาเทรวมกัน แต่ผู้ที่ประสงค์แยกขยะต้องมาลงทะเบียนเพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดเส้นทางการเก็บขยะ ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนจะจ่ายค่าธรรมเนียม 20 บาทเท่าเดิม”
อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมการจัดเก็บค่าขยะใหม่จะมีผลหลังพระราชกฤษฎีกาประกาศบังคับใช้ ประชาชนที่สนใจแยกขยะสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้ โดยสำนักงานเขตจะประชาสัมพันธ์เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านสมาร์ทโฟนในแอปพลิเคชัน BKK ของ กทม. หรือวอล์กอินมาที่ฝ่ายรักษาความสะอาดทั้ง 50 เขต
นายพรพรหมบอกว่า การออกแบบเพื่อรับมือกับอากาศเปลี่ยนแปลง ต้องรวมไปถึงการปรับพฤติกรรมของคนที่อาศัย ให้มีวิถีชีวิตที่รักษ์โลกด้วย จึงจะสามารถสร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง