ThaiPublica > สู่อาเซียน > เป้าหมายของจีน ในฐานะ “ตัวกลาง” สันติภาพรัฐฉาน

เป้าหมายของจีน ในฐานะ “ตัวกลาง” สันติภาพรัฐฉาน

26 ธันวาคม 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เวทีพบปะสื่อมวลชนที่จัดโดยสถานทูตจีนในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ที่มาภาพ : สถานทูตจีน ประจำเมียนมา

วันที่ 2 ธันวาคม 2567 สถานทูตจีนประจำเมียนมาจัดเวทีพบปะสื่อมวลชนขึ้นที่โรงแรมวินด์แฮม แกรนด์ ในกรุงย่างกุ้ง มีตัวแทนจากกระทรวงสารสนเทศเมียนมา ตัวแทนจากสำนักข่าว 20 กว่าแห่ง ทั้งนักข่าวชาวเมียนมาและนักข่าวจีนที่ประจำอยู่ในเมียนมา เข้าร่วม

บนเวที ดร.เจิ้ง จื้อหง อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตจีนประจำเมียนมา กล่าวยืนยันกับตัวแทนสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจีนยังคงเตรียมความพร้อมสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟจีน-เมียนมา เชื่อมระหว่างนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน กับเมืองเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ เพียงแต่ต้องรอให้สถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาสงบลงเสียก่อน

ดร.เจิ้งกล่าวว่า ทางรถไฟ “เจ้าก์ผิ่ว-คุนหมิง” เป็นกลไกสำคัญของ “ระเบียงเศรษฐกิจ จีน-เมียนมา” และเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่ม “1 แถบ 1 เส้นทาง” (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักของจีน หากทางรถไฟสายนี้สร้างเสร็จ จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตของชาวเมียนมาขึ้นอย่างมาก

เขายังอ้างอิงถึงการพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงของจีน กับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนว่า ผู้นำของ 2 ประเทศต่างเห็นพ้องกัน ในการผลักดันระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและมีคุณภาพ

ดร.เจิ้งกล่าวว่า จีนหวังให้สถานการณ์ในเมียนมากลับมาสงบสุขได้ในเร็ววัน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อโครงการพัฒนาต่างๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง

เขาเน้นย้ำว่า จุดยืนของจีนต่อความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในภาคเหนือของรัฐฉานนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยจีนต้องการให้กองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่เป็นคู่ขัดแย้ง ได้แก่ กองทัพโกก้าง (MNDAA) กองทัพตะอั้ง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) เดินหน้าเจรจากันต่อ หลังจากก่อนหน้านี้ ตัวแทนของ 2 ฝ่ายเคยเจรจากันที่นครคุนหมิงมาแล้ว 5 ครั้ง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมิถุนายน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดสันติภาพและการลงนามในสัญญาหยุดยิง

แต่การเจรจากลับต้องยุติลง เพราะมีปฏิบัติการ 1027 รอบที่ 2 เกิดขึ้นเสียก่อน ในปลายเดือนมิถุนายน

เวทีพบปะสื่อมวลชนที่จัดโดยสถานทูตจีนในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ที่มาภาพ : สถานทูตจีน ประจำเมียนมา

ปฏิบัติการ 1027 รอบ 2 แตกต่างจากปฏิบัติการ 1027 รอบแรก เพราะในรอบที่ 2 กองกำลังติดอาวุธที่เข้าร่วม ได้แก่ กองทัพโกก้างกับกองทัพตะอั้งนั้น ได้มีความร่วมมือกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงาที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า

พื้นที่ซึ่งกองกำลังเหล่านี้บุกโจมตีและยึดครองเอาไว้ในปฏิบัติการ 1027 รอบ 2 ล้วนเป็นเมืองที่อยู่บนแนวทางหลวงหมายเลข 3 ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ไล่มาตั้งแต่เมืองก๊ตขาย ที่ถูกควบคุมไว้โดยกองทัพตะอั้ง เมืองแสนหวี เมืองล่าเสี้ยว ที่กองทัพโกก้างเข้ายึดครองไว้ ต่อลงไปถึงเมืองสีป้อ จ๊อกแม หนองเขียว และยาวจนข้ามเข้าไปยังพื้นที่ปินอูลวิน ในภาคมัณฑะเลย์ ที่กองทัพตะอั้งปฏิบัติการร่วมกับ PDF จนได้ชัยชนะต่อกองทัพพม่า

ประเด็นที่จีนไม่สบายใจ คือการที่กองทัพโกก้างได้บุกยึดเมืองล่าเสี้ยวเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม เพราะล่าเสี้ยวเป็นเมืองหลวงของรัฐฉานเหนือ และเป็นศูนย์กลางการศึกษา การคมนาคมในภาคเหนือของรัฐฉาน แต่ล่าเสี้ยวไม่เคยเป็นเมืองที่อยู่ในพื้นที่ปกครองตนเองของกองทัพโกก้างมาก่อน

จีนเชื่อว่าทั้ง PDF และรัฐบาลเงาต่างได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกากับประเทศตะวันตก ดังนั้น ปฏิบัติการ 1027 รอบ 2 จึงเป็นความตั้งใจก่อกวนหรือสร้างอุปสรรคให้กับระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ซึ่งจีนให้ความสำคัญ เพราะเป็นเส้นทางหลักของจีน เพื่อออกสู่ทะเลทางมหาสมุทรอินเดียโดยเฉพาะ

ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา จีนจึงดำเนินทุกวิถีทาง ทั้งการเจรจา และกดดัน เพื่อให้กองทัพโกก้างและกองทัพตะอั้ง ยุติการสู้รบกับกองทัพพม่าในภาคเหนือของรัฐฉาน พยายามผลักดันให้เกิดการเจรจากันระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังชาติพันธุ์ทั้งสองกลุ่ม และที่สำคัญ คือต้องการให้กองทัพโกก้างคืนเมืองล่าเสี้ยวที่ยึดเอาไว้แก่รัฐบาลเมียนมา

เมืองตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ซึ่งกลายเป็นพื้นที่สู้รบของกองทัพโกก้าง-ตะอั้ง กับกองทัพพม่า

วันที่ 22 ตุลาคม ทางการมณฑลยูนนานได้สั่งให้ปิดประตูเมืองและด่านชายแดนที่เชื่อมระหว่างมณฑลยูนนานกับหลายเมืองในภาคเหนือของรัฐฉาน รวมถึงห้ามการส่งน้ำมัน อุปกรณ์การเกษตร สินค้าจำเป็น สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงอาหาร จากฝั่งจีนข้ามมาขายในรัฐฉาน เพื่อเพิ่มแรงกดดันกองทัพโกก้างกับกองทัพตะอั้งอีกทางหนึ่ง

เพราะประชาชนฝั่งรัฐฉานที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดชายแดนของจีนครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นประชาชนในเขตปกครองของกองทัพโกก้างและตะอั้ง

การปิดประตูเมือง ห้ามส่งสินค้าเข้ามาขาย ทำให้เกิดสถานการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งน้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงอาหารทุกชนิดที่ซื้อขายกันตามเมืองตามแนวชายแดนรัฐฉาน-จีน ต่างมีราคาพุ่งสูงขึ้นจากเดิมเป็นเท่าตัว!

  • “บทบาทจีน” ที่เพิ่มขึ้นอย่างมี “นัยสำคัญ” ในเมียนมา
  • วันที่ 3 ธันวาคม หรือ 1 วัน หลังจากสถานทูตจีนจัดเวทีพบปะสื่อมวลชนในกรุงย่างกุ้ง กองทัพโกก้างออกแถลงการณ์ ระบุว่ากองทัพของตน พร้อมแล้วที่จะเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ

    เนื้อหาในแถลงการณ์บอกว่า กองทัพโกก้างจะหยุดยิงและหยุดการโจมตีทหารพม่า พร้อมจะส่งตัวแทนระดับสูงเข้าร่วมเจรจากับกองทัพพม่า โดยมีจีนเป็นตัวกลาง และจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยวิถีทางการเมือง

    ก่อนหน้านั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน กองทัพตะอั้งก็ได้ออกแถลงการณ์ลักษณะเดียวกัน ระบุว่า กองทัพตะอั้งพร้อมร่วมเจรจากับกองทัพพม่าเพื่อยุติความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในภาคเหนือของรัฐฉาน

    ……

    เผิง ต้าซุน (ซ้ายสุด) ผู้บัญชาการกองทัพโกก้าง ที่มาภาพ : Tai TV Online

    วันที่ 15-16 ธันวาคม ตัวแทนจากกองทัพโกก้างและกองทัพพม่า ได้นั่งโต๊ะเจรจากันในนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน โดยมีตัวแทนจากรัฐบาลจีนเป็นตัวกลางจัดการเจรจา

    ตามรายงานข่าวของสื่อในเมียนมาระบุว่า เผิง ต้าซุน ผู้บัญชาการกองทัพโกก้าง ได้เป็นตัวแทนจากฝ่ายโกก้างที่มานั่งเจรจากับตัวแทนของกองทัพพม่าด้วยตัวเอง

    เผิง ต้าซุน เดินทางเข้าจีนตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม เพื่อรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนาน หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ได้เกิดกระแสข่าวแพร่สะพัดไปทั่วเมียนมา โดยเฉพาะตามหน้าสื่อที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลทหารว่า เผิง ต้าซุน ได้ถูกทางการจีนควบคุมตัวเอาไว้ ไม่ยอมให้เดินทางกลับเข้ามาในรัฐฉาน เพราะจีนต้องการบีบให้กองทัพโกก้างยุติการสู้รบกับกองทัพพม่าในภาคเหนือของรัฐฉาน และคืนเมืองล่าเสี้ยวให้กับรัฐบาลเมียนมา

    แต่รุ่งขึ้น วันที่ 19 พฤศจิกายน หลิน เจี้ยน (Lin Jian) โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ออกมาปฏิเสธทันทีว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยเขาบอกกับนักข่าวว่า ในช่วงนั้น เผิง ต้าซุน กำลังพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจีน

    วันที่ 18 ธันวาคม เพจข่าว Tai TV Online มีรายงานว่า การเจรจาระหว่างตัวแทนกองทัพพม่ากับกองทัพโกก้าง ที่เมืองคุนหมิง โดยมีตัวแทนจากรัฐบาลจีนเป็นตัวกลาง ระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยยังไม่มีบทสรุปหรือมีข้อตกลงใดๆ เกิดขึ้น

    Tai TV Online อ้างแหล่งข่าวที่รู้เนื้อหาในการเจรจาของทั้งสองฝ่าย ระบุว่า ประเด็นหลักที่มีการพูดคุยกัน เป็นข้อเรียกร้องของกองทัพพม่าที่ต้องการให้กองทัพโกก้างถอนทหารออกจากเมืองล่าเสี้ยว แต่ตัวแทนของกองทัพโกก้างยังไม่ตอบตกลง การเจรจาจึงต้องยุติลง โดยที่ทั้งฝ่ายกองทัพพม่าและกองทัพโกก้าง ยังไม่มีฝ่ายใดที่ออกมาแถลงผลการเจรจาครั้งนี้อย่างเป็นทางการ

    ในข่าวของ Tai TV Online ไม่มีรายงานว่ากองทัพพม่ากับกองทัพโกก้าง ได้มีการนัดเจรจากันอีกครั้งเมื่อใด

    Tai TV Online ยังได้ให้ข้อมูลการสู้รบในภาคเหนือของรัฐฉานขณะนั้นว่า หลายพื้นที่สถานการณ์เริ่มสงบลงแล้ว โดยเฉพาะในเมืองล่าเสี้ยว ยังคงเหลือเพียงที่บ้านตองคำ เมืองหนองเขียว จังหวัดจ๊อกแม ซึ่งยังมีการปะทะกันอยู่ระหว่างทหารพม่ากับทหารตะอั้ง

    ขณะที่กองทัพพม่ายังคงเสริมกำลังทหารเข้าไปเตรียมพร้อมไว้ในเมืองไหยกับเมืองต้างย่าน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองล่าเสี้ยวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 80 กิโลเมตร อย่างต่อเนื่อง

    วันที่ 19 ธันวาคม สำนักข่าว Shan News รายงานว่า ฝ่ายบริหารท้องถิ่นในมณฑลยูนนาน ได้เปิดประตูเมืองหลายจุดที่เชื่อมกับรัฐฉาน โดยเฉพาะจุดซึ่งอยู่ติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติโกก้าง เพื่อให้พ่อค้าชาวจีนสามารถข้ามชายแดนมาสั่งซื้อผลิตผลการเกษตรในฝั่งรัฐฉาน และให้รถบรรทุกพืชผลการเกษตรจากฝั่งรัฐฉาน สามารถขนสินค้าข้ามเข้าไปส่งยังฝั่งจีนได้แล้ว

    ตามรายงานของ Shan News ประตูเมืองที่เปิดแล้ว เช่น ประตูจินซานจ่อ ประตูเมืองป่างซาย เมืองโก ในพื้นที่จังหวัดหมู่เจ้ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง โดยเมืองโก เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพโกก้าง

    รถบรรทุกอ้อยส่งเข้าในจีนทางประตูเมืองโก ที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพโกก้าง ในจังหวัดหมู่เจ้ ที่มาภาพ : Shan News

    นอกจากนี้ ยังให้เปิดประตูเมืองที่เชื่อมกับเมืองน้ำฟ้า หรือชิงส่วยเหอ ในเมืองกุ๋นโหลง เขตปกครองตนเองโกก้างที่อยู่ตรงข้ามกับกับเขตปกครองตนเองชนชาติไตและว้า กึ่งม้า จังหวัดหลินชาง

    ชาวเมืองน้ำฟ้าบอกกับ Shan News ว่า ผลผลิตการเกษตรที่พ่อค้าจีนข้ามชายแดนมารับซื้อส่วนใหญ่เป็นอ้อยและข้าวโพด โดยราคาอ้อยที่พ่อค้าจีนรับซื้ออยู่ที่ตันละ 370-390 หยวน

    อย่างไรก็ตาม การเปิดประตูเมืองของฝั่งจีนที่เกิดขึ้น เป็นการเปิดเพียงเพื่อให้พ่อค้าจีนสามารถข้ามมาสั่งซื้อผลิตผลการเกษตรในฝั่งรัฐฉาน และขนส่งสินค้าเหล่านั้นกลับเข้าไปในจีนได้เท่านั้น แต่ยังไม่อนุญาตให้รถขนส่งน้ำมัน สินค้าจำเป็น สินค้าอุปโภคบริโภค และอาหารจากฝั่งจีน ข้ามเข้ามาขายให้กับประชาชนในฝั่งรัฐฉาน

    ทำให้ประชาชนในเมืองชายแดนของรัฐฉาน ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำมัน และยังต้องซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น ในราคาที่สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ

    ……

    ทุกวันนี้ สถานการณ์หลายพื้นที่ในภาคเหนือของรัฐฉานเริ่มมีสัญญานเชิงบวกปรากฏขึ้น

    แน่นอนว่า สัญญานบวกเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้ามาแทรกแซงอย่างเต็มตัวของจีน ในบทบาทของตัวกลางเจรจาสันติภาพ

    แต่จากสัญญาณบวกที่เกิดขึ้น จะพัฒนาไปสู่เป้าหมายใหญ่ที่จีนต้องการ คือมีสันติภาพเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ตลอดแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ตั้งแต่ชายแดนรัฐฉานลงไปถึงชายทะเลรัฐยะไข่ได้หรือไม่ คงยังต้องใช้เวลา

    เพราะคำว่า “สันติภาพ” เป็นเรื่องที่ทั้งจีน กองทัพพม่า และกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ควบคุมพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเส้นนี้ทุกกลุ่ม ต้องหันหน้ามาเจรจา ตกลงผลประโยชน์กันให้ลงตัว…