รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

บทความของ The New York Times (NYT) เรื่องแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่น เขียนไว้ว่า จำนวนปัญหาประชากรลดลงและคนสูงอายุมากขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นมีความต้องการแรงงานต่างชาติอย่างมาก นับจากปี 2007 เป็นต้นมา แรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว ปัจจุบันมีมากกว่า 2 ล้านคน ในประเทศที่มีประชากร 125 ล้านคน แรงงานต่างชาติเหล่านี้หลบหนีภัยจากการกดขี่ทางการเมือง การสู้รบในประเทศ และค่าแรงในประเทศที่ต่ำ
แม้แรงงานต่างชาติจะเริ่มปรากฏตัวให้เห็นมากขึ้นจากการทำงานทั่วไปในญี่ปุ่น เช่น พนักงานร้านสะดวกซื้อ พนักงานโรงแรม และร้านอาหารต่างๆ แต่การปฏิบัติของญี่ปุ่นต่อแรงงานต่างชาติยังคลุมเครือ นักการเมืองยังลังเลที่จะวางแนวทางให้แรงงานต่างชาติสามารถอยู่ญี่ปุ่นไปได้ตลอด โดยเฉพาะแรงงานฝีมือต่ำ แต่จุดนี้อาจทำให้ญี่ปุ่นเสียเปรียบประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือออสเตรเลีย ที่ล้วนต้องการแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานเช่นเดียวกัน
ญี่ปุ่นต้องการให้มาทำงาน “ระยะสั้น”
การต่อต้านทางการเมืองต่อแรงงานอพยพ และท่าทีสังคมที่กังวลต่อการดูดซับคนต่างชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น ทำให้กฎระเบียบและการสนับสนุนต่างๆ มีลักษณะคลุมเครือ คนต่างชาติใช้ชีวิตตั้งรกรากในญี่ปุ่นด้วยความยากลำบาก แรงงานต่างชาติได้ค่าแรงน้อยกว่าคนญี่ปุ่น 30% ความกลัวที่จะเสียสิทธิ์อยู่ในญี่ปุ่นทำให้มีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับนายจ้าง ส่วนความก้าวหน้าในอาชีพการงานก็เป็นเรื่องที่ยากลำบาก
Yang Liu เจ้าหน้าที่วิจัยของ Research Institute of Economy, Trade and Industry ในโตเกียวกล่าวกับ NYT ว่า นโยบายแรงงานต่างด้าวญี่ปุ่นออกแบบมาสำหรับคนที่จะทำงานระยะสั้นในญี่ปุ่น หากระบบยังเป็นแบบนี้ เป็นไปได้สูงมากที่แรงงานต่างชาติจะไม่มาญี่ปุ่น หนังสือพิมพ์ Asahi Shimbun ก็รายงานข่าวว่า คนงานต่างชาติหันไปทำงานในเกาหลีใต้แทนญี่ปุ่น เพราะค่าแรงโรงงานต่อเรือในญี่ปุ่นอยู่ที่ 1,200 เยนต่อ ชม. (US$8) แต่ที่เกาหลีใต้ 1,700 เยน (US$11)
ปี 2018 ญี่ปุ่นผ่านกฎหมายอนุญาตให้แรงงานต่างชาติที่ฝีมือต่ำมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ต้นปี 2024 รัฐบาลประกาศว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเพิ่มแรงงานต่างชาติอีก 820,000 คน แต่นักการเมืองญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมเปิดพรมแดนเหมือนกับประเทศตะวันตก คนที่มีถิ่นอาศัยถาวรในญี่ปุ่น แต่เกิดในต่างประเทศมีจำนวน 3.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 3% ของประชากร ส่วนในเยอรมันและสหรัฐฯ สัดส่วนเกือบ 5 เท่าของญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นอาจผ่อนปรนให้แรงงานต่างชาติมากขึ้น แต่ในบางเรื่องก็เข้มงวดมากขึ้น พรรครัฐบาลแก้กฎหมายคนเข้าเมืองให้สามารถเพิกถอนฐานะการเป็นคนมีถิ่นอาศัยถาวรหากคนคนนั้นไม่เสียภาษี นอกจากนื้ คนต่างด้าวยังต้องผ่านหลักเกณฑ์การได้วีซ่าถาวร คือการทดสอบด้านภาษา และทักษะแรงงาน แตกต่างจากเยอรมัน เมื่อมีคนอพยพมาใหม่ที่ได้ถิ่นที่พักถาวรในเยอรมัน รัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนการเรียนภาษาเป็นเวลา 400 ชม. แต่ญี่ปุ่นไม่มีระบบการเรียนภาษาให้แก่แรงงานต่างชาติแบบเดียวกันนี้
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องการตัดสินใจของแต่ละหน่วยปกครองท้องถิ่นและนายจ้างว่า จะให้การอบรมเรื่องภาษาแก่แรงงานต่างชาติหรือไม่ เช่น นายจ้างบางคนให้การอบรมภาษาญี่ปุ่นเดือนละครั้ง ส่วนบางคนเสนอแรงจูงใจให้คนงานต่างชาติเรียนภาษาด้วยตัวเอง หากผ่านการทดสอบตามที่สถาบันภาษาของรัฐกำหนดไว้ จะได้รับการปฎิบัติแบบเดียวกับพนักงานคนญี่ปุ่น ได้เงินเดือนและโบนัสเท่ากัน

15 ปี คนวัยทำงานหายไป 9 ล้านคน
ส่วนรายงานล่าสุดของกลุ่ม OECD เรื่อง Japan 2024: Recruiting Immigrant Workers กล่าวว่า ในหมู่ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ในปี 2021 ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรเกิดในต่างประเทศน้อยที่สุด คือ 2.2% สัดส่วนใน OECD คือ 10.4% ครึ่งหนึ่งของคนต่างด้าวในญี่ปุ่น เข้ามาเพื่อทำงานและศึกษาต่อ ในจำนวนนี้เป็นแรงงานมีฝีมือ 50% แรงงานเข้ามาฝึกงานตามโครงการรัฐบาล 25% และอีก 25% เป็นนักศึกษา ที่ผ่านมา แรงงานจากจีนลดลง แต่จากเวียดนามและเนปาลเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน ตลาดแรงงานญี่ปุ่นเอื้ออำนวยต่อการเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างชาติ จากปี 2007–2021 ประชากรวัยทำงานอายุ 15–65 ปีของญี่ปุ่นลดลง 9 ล้านคน ช่วง 15 ปีที่ผ่านมาอัตราการว่างงานต่ำมาตลอด ทำให้ตำแหน่งงานที่ว่างมีจำนวนมากเมื่อเทียบใบสมัครงาน สำหรับการรับมือกับปัญหาประชากรที่สูงอายุอย่างรวดเร็วนั้น แรงงานอพยพถือเป็นทางเลือกหนึ่งของนโยบายในการแก้ปัญหานี้ นอกเหนือจากวิธีการเพิ่มผลิตภาพ และเพิ่มแรงงานจากในประเทศมากขึ้น
แต่แรงงานอพยพจากต่างประเทศของญี่ปุ่น ยังคงเกิดจากการผลักดันของนายจ้างมากกว่าเป็นเรื่องรัฐบาล แรงงานอพยพทั้งหมดต้องมาจากการเสนอการจ้างงานโดยนายจ้าง ไม่มีระบบการทดสอบแรงงานหรือขั้นเงินเดือนที่มากไปกว่าค่าแรงที่เป็นอยู่ แต่กระบวนการรับแรงงานอพยพมีความรวดเร็ว เสียค่าธรรมเนียมต่ำ และกระบวนการแบบดิจิทัลกำลังได้รับการปรับปรุง
เทียบกับสมาชิก OECD แล้ว เงื่อนไขการอยู่อาศัยถาวรในญี่ปุ่นมีความเข้มงวดมาก แรงงานอพยพต้องอยู่มานาน 10 ปีจึงมีสิทธิ ปี 2012 ญี่ปุ่นออกมาตรการเรียกว่า Point-Based System เสนอเงื่อนไขให้แรงงานทักษะสูงมีสิทธิ์พำนักถาวรได้สะดวกรวดเร็วขึ้น แต่มียังมีข้อจำกัดเรื่องสมาชิกครอบครัว ที่คู่สมรสของแรงงานมีทักษะไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันที
แต่นักศึกษาต่างชาติคือทรัพยากรสำคัญ ที่ญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายจะดึงและรักษาคนที่มีความสามารถระดับโลกเอาไว้ ส่วนใหญ่แรงงานต่างชาติที่มีทักษะ ในช่วงแรกจะเข้ามาญี่ปุ่นในฐานะนักศึกษาต่างชาติ เริ่มจากเข้ามาเรียนในสถาบันภาษา แล้วสมัครเข้าเรียนในสถาบันสูงขึ้น ต่างชาติที่เข้าศึกษาในระดับอาชีวศึกษามีมากกว่าระดับมหาวิทยาลัย เทียบกับนานาประเทศแล้ว ญี่ปุ่นมีอัตราการดึงนักศึกษาต่างชาติ ให้อยู่ต่อมากกว่าประเทศอื่น
สำหรับงานของแรงงานฝีมือต่ำ ญี่ปุ่นไม่มีช่องทางโดยตรงสำหรับแรงงานต่างชาติ ในทศวรรษ 1960 ญี่ปุ่นมีโครงการชื่อ Technical Intern Training Program (TITP) ช่วยประเทศกำลังพัฒนาเรื่อง การพัฒนาฝีมือแรงงาน ต่อมากลายเป็นช่องทางที่นายจ้างจะใช้จ้างงานแรงงานต่างชาติที่มีทักษะต่ำและระดับกลาง ให้มาทำงานด้านอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และการเกษตร แรงงานกลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้อยู่ได้ไม่เกิน 5 ปี ปัญหาของโครงการ TITP คือการเก็บค่าธรรมเนียมสูงของนายหน้าจัดหางาน จากประเทศส่งออกแรงงาน ทำให้แรงงานมีหนี้สินมาก

มุ่งสู่การฝึกแรงงานที่ประเทศต้นทาง
ปี 2019 ญี่ปุ่นมีโครงการใหม่ชื่อ Specific Skilled Worker Program (SSWP) โดยให้โอกาสระยะยาวแก่แรงงานต่างชาติ ที่มีคุณสมบัติในงาน 16 สาขา เช่น ดูแลคนสูงอายุ การทำความสะอาดอาคาร ก่อสร้าง ซ่อมรถยนต์ การเกษตร ฯลฯ โครงการ SSWP มี 2 ระดับ ระดับที่ 2 อนุญาตให้แรงงานมีทักษะสูงสามารถนำครอบครัวมาญี่ปุ่น และมีโอกาสในการอยู่ถาวร แรงงานที่ผ่านโครงการ TITP มาแล้วสามารถสมัครเข้าโครงการ SSWP ได้
รายงานของ OECD เสนอว่า ในส่วนการฝึกอบรมและทดสอบแรงงานของโครงการ TITP และ SSWP ทำให้มีโอกาสใช้วิธีการที่เรียกว่า Skill Mobility Partnership โดยนายจ้างเป็นฝ่ายลงทุนการฝึกอบรมที่ประเทศซึ่งเป็นต้นทางแรงงาน วิธีการนี้จะทำให้แรงงานต่างประเทศสามารถเข้าถึงโครงการ TITP และ SSWP ได้มากขึ้น
บริษัทญี่ปุ่นบางบริษัทได้ใช้วิธีการแบบนี้มาแล้ว เช่น บริษัทร้านกาแฟ Komeda ขาดแรงงาน Komeda จึงร่วมมือกับโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นในเมียนมา ทำการฝึกอบรมแรงงานเมียนมาให้สอบผ่านใบรังรอง “พนักงานร้านอาหาร” ก่อนที่จะมาทำงานในญี่ปุ่น
เอกสารประกอบ
Japan Needs Foreign Workers. It’s Just Not Sure It wants Them to Stay, August 5, 2024 nytimes.com
Japan 2024: Recruiting Immigrant Workers, OECD Publishing, 2024.