ThaiPublica > Native Ad > กว่าจะเป็น ‘ไทยเด็ด’ ความสำเร็จสินค้าชุมชน-วิสาหกิจชุมชน โดย “โออาร์”

กว่าจะเป็น ‘ไทยเด็ด’ ความสำเร็จสินค้าชุมชน-วิสาหกิจชุมชน โดย “โออาร์”

13 ธันวาคม 2024


ภารกิจ ‘ช่วยคนตัวเล็ก’ โดยคนตัวใหญ่ เริ่มเป็นกระแสมากขึ้น ท่ามกลางแนวทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ไม่ใช่แค่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่พร้อมที่จะก้าวไปด้วยกัน

กรณีของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ ‘โออาร์’ ได้ช่วยเหลือคนตัวเล็กมาอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำการ “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” หรือ “Empowering All toward Inclusive Growth” สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ โออาร์ ที่มุ่งมั่นให้คนตัวเล็กอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างจริงจัง

หนึ่งในโครงการสำคัญคือ ‘ไทยเด็ด’ เป็นโครงการสนับสนุน “สินค้าดี สินค้าเด็ด ทั่วไทย” โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการท้องถิ่นในนามสินค้า ‘ไทยเด็ด’ มาจัดจำหน่ายในช่องทางของ โออาร์ ทั่วประเทศ

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า พาไปดูจุดเริ่มต้น เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการ และความสำเร็จของชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนที่พัฒนาสินค้า ตลอดจนแนวคิดและเรื่องราว ‘ไทยเด็ด’ ที่มีเรื่องเด็ดๆ ของสินค้าที่ทำให้เป็นสินค้าไทยเด็ด

กว่าจะเป็น ‘ไทยเด็ด’

จากจุดอ่อนเรื่องช่องทางจัดจำหน่าย ทำให้ โออาร์ จับมือกับพันธมิตรหน่วยงานภาครัฐ 8 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงพลังงาน, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันพัฒนาโครงการไทยเด็ด ภายใต้เจตนารมณ์ร่วมกันสนับสนุนและผลักดันเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

โออาร์ ในฐานะเจ้าภาพ รับหน้าที่ในการสนับสนุนช่องทางการขายให้กับสินค้าชุมชน อาศัยจุดแข็งองค์กรคือ จำนวนสถานีบริการพีทีที สเตชั่น ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ให้สินค้าชุมชนมีพื้นที่หน้าร้าน มีโอกาสโชว์สินค้า เป็นที่รู้จักมากขึ้น สร้างยอดขาย สร้างรายได้ ซึ่งแก้จุดอ่อนจากสินค้า OTOP (One Tambon One Product) ที่ไม่มีช่องทางการจำหน่ายมากนัก

สินค้าที่ผ่านการคัดสรรจะกลายเป็น “สินค้าดีสินค้าเด็ด” แล้วนำมาให้ผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น คัดเลือกไปวางจำหน่าย ณ “ร้านค้าไทยเด็ด,คีออสไทยเด็ด หรือมุมสินค้าไทยเด็ด ที่อยู่ในสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น

  • 2561 ก่อตั้งไทยเด็ด และร่วมมือกับพันธมิตร
  • 2562 พัฒนาตลาดไทยเด็ด และสินค้าไทยเด็ด Select
  • 2563 เพิ่มมุมไทยเด็ด
  • 2564 ช่องทางจำหน่าย ร้านไทยเด็ด 7 แห่ง มุมไทยเด็ด 76 แห่ง
  • 2565 ช่องทางจำหน่าย ร้านไทยเด็ด 17 แห่ง มุมไทยเด็ด 80 แห่ง
  • 2566 ช่องทางจำหน่าย 300 แห่ง และเพิ่มตู้คีออสไทยเด็ด
  • 2567 พัฒนาระบบ Thaidet e-order และจัดทำคูปองส่วนลดสินค้าไทยเด็ดใน Application xplORe เพื่อใช้ในร้าน Jiffy
  • ที่สำคัญ สินค้าไทยเด็ดไม่ใช่แค่ทั่วไป แต่ต้องเป็นสินค้าที่ดี หรือเป็นอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น ตลอดจนเป็นสินค้าที่มีเรื่องราวน่าสนใจ

    นอกจากรายได้ของชุมชนที่เพิ่มขึ้นแล้ว โครงกาารนี้ยังส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนได้มีโอกาสต่อยอด ‘ทุนชุมชน’ ทั้งองค์ความรู้พื้นบ้าน ทุนทางวัฒนธรรม พัฒนาสินค้าเพื่อเข้าสู่ระบบการผลิตที่มีมาตรฐาน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดการจ้างงาน ช่วยธุรกิจฐานรากให้เติบโตไปด้วยกัน ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนก้าวไกลสู่ระดับสากล

    Story สินค้าไทยเด็ด

    ปัจจุบันโครงการไทยเด็ดมีจำนวนผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าชุมชนจำหน่ายในโครงการฯ ประมาณ 440 ราย จำนวนสินค้ากว่า 1,000 รายการ และในปี 2567 สร้างรายได้รวมกันมากกว่า 130 ล้านบาท(ตุลาคม 2567)หลายชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้วมีรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มักจะมี story สินค้าที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น

    ผ้าทอย้อมคราม บ้านคำประมง จังหวัดสกลนคร

    ผ้าทอย้อมคราม บ้านคำประมง จังหวัดสกลนคร: จากกลุ่มทอผ้าบ้านคำประมงที่มีสมาชิกเริ่มต้น 11 คน และมีทุนตั้งต้น 1,100 บาท จากการระดมทุนคนละ 100 บาท โดยช่วงเริ่มต้นกลุ่มทอผ้าบ้านคำประมงนำเงินไปซื้อฝ้ายซีกวงให้สมาชิกย้อมและทอผ้า ต่อมามีการพัฒนาและนำไปทอเป็นลวดลายต่างๆ จนได้รับพระราชทานลายผ้า 2 ลาย คือลายกลีบมะเฟืองและลายโค้งภูพาน
    จุดเปลี่ยนสำคัญคือการเข้าร่วมโครงการไทยเด็ดในปี 2565 ทำให้ผ้าทอย้อมครามกระจายไปทั่วประเทศ สร้างรายได้เพิ่มจาก 300 บาท เป็น 18,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน เพิ่มการจ้างงานจาก 11 คน เป็น 21 คน และมียอดขาย 4.5 ล้านบาทในปี 2566

    ผัดไทภูเขาไฟ : จ.บุรีรัมย์จุดเริ่มต้นร้านผัดไทยริมทาง โดยครูกานต์ มีไอเดียนำเมนูหมี่กรอบส้มซ่ามาผสมผสานกับผัดไทยสูตรลับ จนเป็นเมนูใหม่ที่คนรู้จักในนามผัดไทภูเขาไฟ และด้วยเอกลักษณ์ของวัตถุดิบ เช่น เส้นผัดไทยจากข้าวออร์แกนิคที่ปลูกบนดินภูเขาไฟ พืชผักที่ปลูกบนดินภูเขาไฟ กระทั่งวิธีทำซอสผัดไทแบบพิธีกรรมโบราณ ทำให้ผัดไทภูเขาไฟมีรสชาติมีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์แบบโบราณแท้

    ความสำเร็จของผัดไทภูเขาไฟเริ่มตั้งแต่เข้าโครงการในปี 2561 มีตัวเลขยอดขายที่เพิ่มขึ้นจาก 25,000 บาทต่อเดือน เป็น 810,000 บาทต่อเดือน รวมถึงการรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรและชาวบ้านเพิ่มขึ้นจาก 55,000 บาทต่อเดือน เป็น 540,000 บาทต่อเดือน เพิ่มการจ้างแรงงานจาก 12 คนเป็น 160 คน และมียอดขาย 9.8 ล้านบาทในปี 2566

    ไทยเด็ด select 2567

    อย่างไรก็ตาม โครงการไทยเด็ด ยังแบ่งสินค้าที่ได้รับการคัดสรรเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) สินค้าไทยเด็ด และ (2) ไทยเด็ด Select ซึ่งการจะได้รับตราสัญลักษณ์ว่าเป็น ‘ไทยเด็ด Select’ ต้องมีความโดดเด่นด้านเรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับชุมชน และมีการคัดเลือกทุกปี โดยไทยเด็ด select 2024 มีเรื่องราวดังนี้

    เม็ดมะม่วงหิมพานต์ทอดอบเกลือและรสต้มยำ จ.อุตรดิตถ์

    เม็ดมะม่วงหิมพานต์ทอดอบเกลือรสดั้งเดิมและรสต้มยำ จ.อุตรดิตถ์: จากภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมมีการอพยพจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ และมีการส่งเสริมให้ปลูกมะม่วงหิมพานต์ ผู้เฒ่าผู้แก่จึงนำไปทอดในน้ำมันแล้วนำมาคลุกกับเกลือป่น และในยุคหลังก็ต่อยอดมาอบไล่น้ำมันออกให้แห้ง จึงกลายเป็นเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทอดอบเกลือ ซึ่งมีรสชาติ กรอบ หอม มัน และพัฒนาต่อยอดมาเป็นแบบอบปรุงรสชาติ คือ รสต้มยำ เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นตลอดมา วิสาหกิจชุมชนหาดไก่ต้อย จ.อุตรดิตถ์ คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ ไทยเด็ด select 2024 ซึ่งพัฒนาและคิดค้นสูตร ต่อยอดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นจนเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัด

    กระเป๋าพู่ประดิษฐ์ Montmaxx จ.สมุทรปราการ

    กระเป๋าพู่ประดิษฐ์ Montmaxx จ.สมุทรปราการ: เป็นการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านและผู้สูงวัยที่มีฝีมือด้านการตัดเย็บในพื้นที่ มาใช้เวลาว่างในการหารายได้เสริม โดยไปช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ตกแต่งจากชุมชนอื่น แล้วนำมา matching กับสินค้าหลักเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น พู่ปลาจากชาวเขาอำเภอแม่แตง หรือตัวถักดอกไม้ และต่อยอดเป็นกระเป๋าที่มีลวดลายสวยงาม หลังจากกลุ่มแม่บ้าน-ผู้สูงวัยเข้าร่วมโครงการไทยเด็ดในปี 2565 ทำให้ยอดขายเพิ่มจาก 50,000 บาทต่อเดือน เป็น 210,000 บาทต่อเดือน เกิดการจ้างงานในชุมชนเพิ่มขึ้นจาก 18 คน เป็น 45 คน และมียอดขาย 2.5 ล้านบาทในปี 2566

    ใบบัวบกทอดกรอบ จ.นนทบุรี

    ใบบัวบกทอดกรอบ จ.นนทบุรี: วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรบ้านคลองหม่อมแช่ม นำพืชผักริมทางอย่างใบบัวบกมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านการทอดกรอบและนำมาปรุงรสให้เกิดรสชาติที่อร่อยมากขึ้น ทานง่าย ไม่เหม็นเขียว อีกทั้งยังคงคุณค่าทางโภชนาการ และไม่ใส่วัตถุเจือปน โดยใบบัวบกทอดมี 4 รสชาติ คือ ดั้งเดิม, ต้มยำ, บาบิคิว และสาหร่าย ปัจจุบัน ชุมชนมีการปลูกใบบัวบกที่ได้รับมาตรฐาน GAP และต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้กลายเป็นของฝากที่ระลึกประจำชุมชน และมีการใช้เทคโนโลยีในการผลิต ใส่ใจด้านสุขภาพ และใช้ BCG Model ในการขับเคลื่อน

    โครงการ “ไทยเด็ด” โดย โออาร์ เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนในมุมที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างคุณค่าให้กับชุมชน แต่เป็นการตอกย้ำความร่วมมือของคนตัวใหญ่และคนตัวเล็ก ที่ร่วมเดินไปด้วยกันและเป็นโอกาสของการเติบโตที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

    …เดินคนเดียวแม้จะเดินได้ไว แต่ไปด้วยกันไปได้ไกลกว่า

    หากสนใจข้อมูลโครงการไทยเด็ด เข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่เวปไซต์ไทยเด็ด [https://thaidet.pttor.com/]