ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > “เนสท์เล่” มุ่งเกษตรเชิงฟื้นฟู สร้างฟาร์มโคนมยั่งยืน เพิ่มผลผลิตน้ำนมดิบ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“เนสท์เล่” มุ่งเกษตรเชิงฟื้นฟู สร้างฟาร์มโคนมยั่งยืน เพิ่มผลผลิตน้ำนมดิบ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

5 ธันวาคม 2024


เนสท์เล่ เปลี่ยนผ่านฟาร์มแบบดั้งเดิม สู่ “ฟาร์มโคนมยั่งยืน” ด้วยหลัก “การเกษตรเชิงฟื้นฟู” (Regenerative Agriculture) ผ่านา 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ (1) อาหารและคุณค่าทางโภชนะ เพื่อให้วัวมีผลผลิตที่ดี (2) การจัดการของเสียและต่อยอด และ (3) ใช้พลังงานทดแทน

กว่า 130 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2436 ที่ “เนสท์เล่” เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย และได้ก่อตั้งบริษัท โปรเน สยาม ในปี พ.ศ.2477 เพื่อนำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนสท์เล่ทั้งหมดในประเทศไทย จนปัจจุบันกลุ่มเนสท์เล่ ประเทศไทย มีโรงงานผลิต 7 แห่ง มีพนักงาน 2,800 คน โดยผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ภายใต้แบรนด์ต่างๆ เช่น เนสท์เล่ตราหมี เนสกาแฟ เนสท์เล่คอฟฟีเมต เนสท์เล่ไมโล เนสท์เล่เพียวไลฟ์ เนสวิต้า เนสท์เล่ไอศกรีม เนสท์เล่เพียวริน่า ฯลฯ

สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นกลุ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับต้นๆ เพราะเชื่อมโยงกับภาคการเกษตรซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของเนสท์เล่ โดยเฉพาะ ‘น้ำนมดิบ’ จากอุตสาหกรรมโคนม ซึ่งเป็นแหล่งของการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งส่งผลต่อโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 26 เท่า ดังนั้นเนสท์เล่ จึงนำหลักการการเกษตรเชิงฟื้นฟู หรือ Regenerative Agriculture มาใช้เพื่อเป็นบันไดไปสู่เป้าหมายใหญ่อย่าง Net Zero

นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายอื่นๆ เช่น

  • การหาผลผลิตเมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม 100% ภายในปี 2025
  • ออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เหมาะกับการนำไปรีไซเคิลได้ 95% ภายในปี 2025
  • ลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2025
  • ปัจจุบันเนสท์เล่สามารถใช้มาตรฐานด้านการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนได้ครบ 100%

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ลงพื้นที่ฟาร์มโคนม จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเนสท์เล่ยกให้เป็นฟาร์มต้นแบบด้านความยั่งยืน ตามหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู ปกป้องสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบจากสภาวะโลกเดือด และทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้นจากปริมาณและคุณภาพผลผลิตที่ดีขึ้น ทั้งยังตอบโจทย์เรื่องการจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย)

เปิดโมเดลฟาร์มโคนมต้นแบบ Regenerative Agriculture

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า เนสท์เล่เล็งเห็นถึงปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้น จึงร่วมมือกับเกษตรกรในการส่งเสริมการทำฟาร์มโคนมตามแนวทางความยั่งยืน ด้วยการเกษตรเชิงฟื้นฟู หรือ Regenerative Agriculture เพื่อบริหารจัดการฟาร์มโคนมอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพและปริมาณน้ำนมดิบ ลดต้นทุนให้เกษตรกร ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฟาร์มโคนม

“น้ำนมดิบถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของเนสท์เล่ในการผลิตผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่างๆ เราจึงให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำนมดิบที่ต้องมีคุณภาพดี และมีแหล่งผลิตที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Sourcing เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” นางสาวสลิลลา กล่าว

นางสาวสลิลลา อธิบายว่า เนสท์เล่จึงได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยมานานกว่า 40 ปี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมนมในประเทศไทย โดยส่งเสริมหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู ที่มุ่งเน้นการปกป้อง ทดแทน และฟื้นฟู คือการปกป้องและฟื้นฟูดินที่เป็นแหล่งปลูกอาหารวัวให้มีความสมบูรณ์ การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดขึ้น ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีด้วยการใช้มูลวัวตากแห้งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในแปลงปลูกและทรัพยากรธรรมชาติ

ทั้งนี้เนสท์เล่ได้ให้ความรู้และเทคนิคการเกษตรเชิงฟื้นฟูแก่เกษตรกรไปแล้วกว่า 160 ฟาร์มจาก 3 สหกรณ์ และมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ได้เริ่มทำการเกษตรเชิงฟื้นฟูครบวงจรแล้วกว่า 40 ฟาร์ม

นอกจากนี้ได้นำหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูไปปรับใช้กับการปลูกกาแฟ ผ่านโครงการ “ปลูกด้วยใจ กาแฟไทยยั่งยืนกับเนสกาแฟ” (Grown Respectfully) ผลักดันให้เกิดการเกษตรแบบยั่งยืนควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเพาะปลูกและผลิตกาแฟ ในพื้นที่ 5 จังหวัดที่ปลูกกาแฟเป็นหลักของไทย คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และจันทบุรี ตั้งแต่คิดค้นพัฒนาและกระจายพันธุ์ต้นกล้ากาแฟให้กับเกษตรกรชาวสวนกาแฟ และให้ความรู้เพื่อใช้ทรัพยากรในการเพาะปลูกอย่างคุ้มค่า เช่น การดูแลรักษาน้ำและจัดการของเสีย การรักษาความสมบูรณ์และฟื้นฟูคุณภาพดิน ฯลฯ เพื่อสร้างกระบวนการผลิตวัตถุดิบที่ยั่งยืน

นายศิรวัจน์ ปิณฑะดิษ นักวิชาการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด

3 องค์ประกอบ ฟาร์มโคนมต้นแบบ

นายศิรวัจน์ ปิณฑะดิษ นักวิชาการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า เนสท์เล่เป็นภาคธุรกิจรายแรกที่นำการเกษตรเชิงฟื้นฟูเข้ามาปรับใช้กับฟาร์มโคนม โดยการเกษตรเชิงฟื้นฟูมุ่งเน้น 3 ด้านสำคัญในการบริหารจัดการฟาร์มโคนมอย่างครบวงจร คือ

  • การพัฒนาการจัดการอาหารและโภชนะเพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำนมดิบทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในแปลงพืชอาหารสัตว์ พร้อมกับปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ลดต้นทุนให้กับเกษตรกร โดยมีวิธีการ ดังนี้
    • -เพิ่มพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ พัฒนาเป็นแปลงหญ้าผสมถั่วหลากหลายชนิด เพื่อให้วัวได้รับสารอาหารที่หลากหลายขึ้นและดีขึ้น
      -ตรวจวิเคราะห์ดินเพื่อติดตามความอุดมสมบูรณ์และกำหนดแนวทางการจัดการปุ๋ยให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่
      -ฝึกอบรมเกษตรกรและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ในการคำนวนสูตรอาหารให้โภชนะตรงกับความต้องการของแม่โค เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตน้ำนม
  • การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร และลดรายจ่ายด้านพลังงานในครัวเรือน
    • -ส่งเสริมให้จัดการมูลโคอย่างเป็นระบบ ทำพื้นที่สำหรับตากแห้งมูลโค เพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับแปลงหญ้า ลดการใช้ปุ๋ยเคมีในแปลงพืช ส่วนที่เหลือสามารถนำไปจำหน่าย
      -ติดตั้งบ่อไบโอแก๊สเพื่อนำมูลโคมาหมักในบ่อและนำก๊าซมีเทนไปใช้ประโยชน์เป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือน
    มูลไส้เดือน
  • สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ทำให้เกษตรกรมีไฟฟ้าใช้ โดยเฉพาะในฟื้นที่ที่ระบบไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงหรือไม่เสถียร
    • -ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับระบบน้ำในแปลงหญ้าเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสำหรับแปลงหญ้าได้ตลอดปี

    “เราแนะนำให้เกษตรกรทำแปลงหญ้าผสมถั่วหลากหลายชนิดเพื่อเป็นแปลงหญ้าอาหาร และเป็นการเสริมสารอาหารประเภทโปรตีนให้กับแม่โค ส่งผลให้ปัจจุบันเราได้ปริมาณน้ำนมดิบโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 13.5 กก. ต่อตัวต่อวัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 11.7 กก. ต่อตัวต่อวัน” นายศิรวัจน์ กล่าว

    นายศิรวัจน์ เสริมว่า คุณค่าโภชนาการในน้ำนมดิบก็ดีขึ้น วัดได้จากระดับโปรตีนในนมที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.02% จากระดับ 2.94% ในปี 2566 ซึ่งการที่ระดับโปรตีนในนมมีสูงกว่า 3% บ่งบอกถึงสุขภาพของแม่โคที่สมบูรณ์ และยังเป็นการเพิ่มโภชนาการที่มีประโยชน์ให้กับผู้บริโภคอีกด้วย

    ที่สำคัญคือ การส่งเสริมให้ปลูกพืชหลายชนิดเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในแปลง (Biodiversity) พร้อมกับปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรดิน และสิ่งแวดล้อมในฟาร์ม

    นายศิรวัจน์ กล่าวต่อว่า เนสท์เล่ยังส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการมูลโคอย่างมีประสิทธิภาพโดยการนำไปตากแห้ง เมื่อแห้งแล้วสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงหญ้าอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและบางส่วนสามารถแบ่งไปจำหน่ายในรูปของปุ๋ยคอก สร้างแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกร เปลี่ยนจาก “มูลโค สู่มูลค่า” สร้างรายได้อีกกว่า 40,000 บาทต่อปี 

    มูลวัวตากแห้ง

    นอกจากนี้ เนสท์เล่ยังสนับสนุนการติดตั้งบ่อไบโอแก๊สเพื่อนำมูลโคมาหมักในบ่อและนำก๊าซมีเทนไปใช้ประโยชน์เป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือน นับเป็นวิธีการจัดการของเสียในฟาร์มให้เกิดประโยชน์ และที่สำคัญยังช่วยลดคาร์บอนจากมูลสัตว์ เนื่องจากการนำมูลโคมาตากแห้งจะทำให้ไม่เกิดการหมักหมมจนเกิดเป็นก๊าซมีเทน

    “แต่ฟาร์มโคนมในบางพื้นที่ยังมีความท้าทายด้านสาธารณูปโภคระบบไฟฟ้าที่ยังเข้าไม่ถึงหรือไม่เสถียร เนสท์เล่จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์สำหรับสูบน้ำบาดาลมาใช้ในแปลงหญ้า เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ตลอดปี และลดต้นทุนด้านพลังงาน ช่วยให้เกษตรกรโคนมมีไฟใช้ในครัวเรือน”

    การทำฟาร์มโคนมตามหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู ช่วยลดคาร์บอนได้รวมประมาณ 2,000 ตันในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2561

    นายวรวัฒน์ เวียงแก้ว ตัวแทนเกษตรกรโคนม อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

    ตัวอย่างฟาร์มโคนม อ.พิมาย

    นายวรวัฒน์ เวียงแก้ว ตัวแทนเกษตรกรโคนม อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำฟาร์มโคนมว่ามีทั้งด้านสาธารณูปโภคระบบไฟฟ้าที่ยังเข้าไม่ถึงในพื้นที่ หรือการที่วัวมีผลผลิตน้ำนมลดลงอย่างต่อเนื่อง น้ำนมดิบมีคุณภาพต่ำลง รวมถึงต้นทุนอาหารสัตว์ชนิดข้นที่แพงขึ้น ทำให้จำนวนเกษตรกรฟาร์มโคนมมีจำนวนลดน้อยลง

    นายวรวัฒน์ กล่าวต่อว่า “ผมเริ่มทำฟาร์มโคนมในปี 2561 และได้ร่วมงานกับเนสท์เล่ ในช่วงปี 2564 จากการเป็นสมาชิกเกษตรกรโคนมพิมาย ทางเนสท์เล่ได้ลงพื้นที่มาพูดคุยถึงปัญหาในการทำฟาร์ม ช่วยหาวิธีในการเพิ่มผลผลิต รวมทั้งแนะนำหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูเข้ามาประยุกต์ใช้ จึงได้เริ่มเป็นฟาร์มโคนมนำร่อง มีการทำแปลงหญ้ารูซี่ หญ้าไนล์และปลูกพืชถั่วร่วมด้วย ทำบ่อไบโอแก๊ส ตากมูลวัว ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพราะไฟฟ้าเข้ามาไม่ถึง ตอนนี้จึงเป็นฟาร์มที่ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 100% และสามารถสูบน้ำบาดาลมาใช้กับแปลงหญ้าได้ตลอดปี รวมทั้งนำมูลโคตากแห้งไปขายเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกด้วย”

    อย่างไรก็ตาม นายวรวัฒน์กล่าวว่า เกษตรกรที่ร่วมงานกับเนสท์เล่ จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเดิมๆ ภายในฟาร์ม โดยในช่วงแรกอาจมีความเสี่ยงหรือการปรับตัว แต่หากผ่านไปได้ก็จะมีความรู้ด้านการทำปศุสัตว์ที่เหมาะสม สามารถส่งน้ำนมดิบที่มีคุณภาพได้