ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ความฝันของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ สร้างสังคมไทยแห่งโอกาส > ความฝัน 4 นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ทำอย่างไรให้ ‘เศรษฐกิจไทย’ เท่าทันโลก

ความฝัน 4 นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ทำอย่างไรให้ ‘เศรษฐกิจไทย’ เท่าทันโลก

16 ธันวาคม 2024


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ชวน 4 นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ที่ร่วมเขียนบทความในซีรีส์ ‘ความฝันของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ สร้างสังคมไทยแห่งโอกาส’ แชร์มุมมอง “ความฝันของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่” โดยมีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก๋าอย่าง ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ดร.ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร ร่วมพูดคุยและเฟ้นหาทางออกของระบบเศรษฐกิจไทย ให้ประเทศไทยปรับเปลี่ยนให้เท่าทันต่อโลกและบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้กับทุกคนในสังคมอย่างเสมอภาค ให้สามารถก้าวไปสู่อนาคตที่แต่ละคนใฝ่ฝัน

(ซ้ายไปขวา) ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ, ดร.ณชา อนันต์โชติกุล, ลัทธกิตต์ ลาภอุดมการ, คณิน พีระวัฒนชาติ, นนท์ พฤกษ์ศิริ และสพล ตัณฑ์ประพันธ์

การศึกษา: กุญแจพัฒนาเศรษฐกิจไทย

“สพล ตัณฑ์ประพันธ์” นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผู้เขียนบทความ “เยาว์ เขลา ทึ่ง : หนทางปฏิรูปการศึกษาไทยในห้วงเศรษฐกิจใหม่” บอกเล่าถึงปัญหาการศึกษาของไทย และแนวทางในการดำเนินนโยบายหรือกระบวนการจัดทำนโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ขาดการตรวจสอบ ประเมินผลทั้งในเรื่องของคุณภาพและประสิทธิภาพ จนสะท้อนออกมาผ่านคะแนน PISA และคะแนน O-NET (Ordinary National Educational Test คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน เพื่อทดสอบ ความรู้และความคิดรวบยอดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามมาตรฐาน การเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551)

“ปัญหาระบบการศึกษาไม่ได้อยู่ที่หลักคิด แต่อยู่ที่กระบวนการในการจัดทำนโยบายซึ่งเดิมกระบวนการทำนโยบายการศึกษาไทย จะมีฝ่ายราชการและฝ่ายการเมืองมีส่วนร่วม แต่ขาดภาคประชาชน จึงอาจต้องเพิ่มภาคประชาชนเข้ามาร่วมในการตรวจสอบ ประเมินประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายมากขึ้นด้วย” สพลกล่าว

สพล มองว่า การศึกษาที่มีคุณภาพมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ โดยพิจารณาจากฟังก์ชั่นการผลิตของระบบเศรษฐกิจไทยพบว่ามีเรื่อง แรงงาน ทุน และผลิตภาพ ซึ่งคำว่าผลิตภาพ คือ กุญแจที่สามารถไขปัญหาทุกอย่างได้ เนื่องจากการพัฒนาผลิตภาพทำได้ผ่านระบบการศึกษาที่ดี เมื่อสร้างผลิตภาพที่ดีจะนำมาสู่การสร้างแรงงานที่มีคุณภาพ ดึงดูดการลงทุน ทำให้การพัฒนาประเทศเติบโตขึ้นได้

“ผมมองเรื่องการสร้างผลิตภาพทางการศึกษาจะเป็นกุญแจที่สำคัญที่สามารถทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ ถ้าเราลงทุนสร้างระบบการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ กระจายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทั่วประเทศ สามารถสร้างแรงงานที่มีคุณภาพก็ทำให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาอย่างมีศักยภาพได้”

…สพลกล่าว

ส่วนความฝันในฐานะนักวิจัย อยากเห็นการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยการทำงานนโยบายการศึกษาของภาครัฐสามารถตอบโจทย์ความต้องการแรงงานของภาคเอกชนได้ เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีช่องว่างและยังมีช่องทางในการพัฒนาให้เติบโตได้ โดยเฉพาะการพัฒนาในเรื่องของการศึกษาเพื่อสร้างผลิตภาพที่ดี

“ผมอยากเห็นคนในสังคมร่วมกันออกแบบ ความหวังและความฝันเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม เพราะที่ผ่านมาเราเห็นว่าภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่งสามารถทำได้ดีมากในยุคหนึ่ง แต่ปัจจุบันถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามโครงสร้างเศรฐกิจรูปแบบไหนที่เราอยากให้เป็น โดยอาจจะมีเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้นหรือไม่ หรือมีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นหรือไม่ คือสิ่งที่สังคมต้องร่วมกันตั้งคำถามและออกแบบร่วมกัน” สพลกล่าว

สพล ตัณฑ์ประพันธ์ นักวิจัยสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

โมเดลเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ

“นนท์ พฤกษ์ศิริ” นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) และผู้เขียนบทความ “เศรษฐกิจใหม่ : ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ ที่ขับเคลื่อนประเทศไทย” กล่าวถึง ความฝันที่อยากเห็นเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนจากทุกส่วนในประเทศและทุกพื้นที่ในประเทศไม่ใช่เพียงแค่การเติบโตจากกรุงเทพฯเพียงอย่างเดียว โดยจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไปเติบโตที่อื่น เราจะต้องทำยังไงบ้าง

“สิ่งที่เห็นในอดีตย้อนกลับไปคือโมเดลการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างกระจุกตัว โดยจะเห็นว่าบริเวณที่เศรษฐกิจเติบโตก็จะเป็นกรุงเทพ หรือปริมณฑล ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก แต่กรุงเทพฯมีทรัพยากรจำกัด โดยจะเห็นว่าคนรุ่นพ่อแม่ผมเรียนจบแล้วสามารถซื้อบ้านอยู่ในเมืองได้ แต่พอเป็นรุ่นผมการซื้อบ้านอาจจะต้องอยู่นอกเมือง เพราะกรุงเทพมันมีขีดจำกัดเรื่องของพื้นที่จริงๆ” นนท์กล่าว

การสร้างการเติบโตเศรษฐกิจในหัวเมืองที่สำคัญ ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยการพัฒนาสามารถเริ่มจากการเลือกพื้นที่ ซึ่งมีความพร้อมอยู่แล้ว มีทรัพยากรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ แต่ระบบอาจจะยังไม่ดีพอ โดยไปลงพัฒนาเศรษฐกิจจากทรัพยากรในพื้นที่เหล่านั้นให้เพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจประเทศ

การกระจายการพัฒนาเศรฐกิจไปยังพื้นที่อื่น ต้องให้ความสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมองโมเดลการเติบโตที่ไม่ใช่แค่เรื่องกรุงเทพเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจเท่านั้นแต่ยังมีพื้นที่อื่นๆที่ต้องไปสนับสนุนให้เกิดการเติบโตขึ้นมามีศักยภาพขึ้นมาได้

นนท์ พฤกษ์ศิริ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส SCB EIC

“ผมอยากเห็นภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นแบบอื่น เช่น การเติบโตในพื้นที่ต่างๆที่ไม่ใช่กรุงเทพมหานคร อยากให้มีคนที่มีจินตนาการว่ามันยังมีความหวังที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นได้ ภายใต้ทรัพยากรที่เรายังไม่ได้เอาออกมาใช้ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ และอยากเห็นการพัฒนากฎเกณฑ์และระเบียบให้มันเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นๆให้มีศักยภาพได้เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ”

…นนท์กล่าว

ส่วนสิ่งที่ท้าทายและต้องเดินไปในอนาคต “นนท์” บอกว่าประโยชน์สำคัญของการลงทุน คือ การมองระยะยาว ทำให้วันนี้เราอาจะต้องทำอะไรที่มองว่ามันยาก เพราะที่ผ่านมาเวลาเราแก้ไขและปรับปรุงนโยบาย เรายังจะเสนอนโยบายแบบรีรัน หรือ ทำซ้ำนโยบายเดิมที่เคยทำและได้ผล เช่น การลงทุนในกรุงเทพฯ หรือ ลงทุนในอุตสาหกรรมที่เคยทำกันมานานแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องคิดเรื่องที่ยากและทำเรื่องที่ยากได้แล้ว

“ที่ผ่านมามันก็ดีในระดับหนึ่งการที่เราพยายามรีรันนโยบาย เหมือนทำละคร แต่วันนี้รุ่นผมทำงาน ผมเห็นว่าของง่ายๆแบบนั้นมันไม่มีแล้ว ไม่มีอะไรง่ายๆให้ทำแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการลองเริ่มทำอะไรที่มันยาก เช่น การพัฒนาพื้นที่อื่นๆ มันทำยากมาก เพราะไม่มีดีมานด์ ไม่มีความต้องการ เราจะพัฒนาพื้นที่เหล่านั้นให้มีศักยภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพากรุงเทพ คือความยากคือความท้าทายที่เราต้องเผชิญ” นนท์กล่าว

Data Driven ออกแบบนโยบายบนฐานข้อมูล

“ลัทธกิตต์ ลาภอุดมการ” นักเศรษฐศาสตร์จาก KKP Research และผู้เขียนบทความ “โอกาสของเด็กไทย” ที่หายไปจาก “การขาดการลงทุน” ซึ่งสื่อถึงโอกาสในการทำงานที่หลากหลายของเด็กไทย แต่ถูกจำกัดจากการลงทุนที่ต่ำเกินไปในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถสร้างบริษัทชั้นนำของโลกขึ้นมาได้

ลัทธกิตต์ ฉายภาพให้เห็นว่า ทุกคนเห็นภาพปัญหาเศรษฐกิจคล้ายกันคือ เศรษฐกิจไทยค่อยๆ เติบโตชะลอตัว ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องเช่น ระบบการศึกษา สังคมสูงวัย ฯลฯ แต่จุดที่มองแตกต่างกันคือ ระดับความรุนแรงของปัญหา แม้สัญญาณเศรษฐกิจไทยจะโตได้ไม่่ค่อย แต่บางคนมองว่าไม่วิกฤติ เห็นได้จากการเติบโตของจีดีพี (GDP Growth) ที่ชะลอลงเรื่อยๆ แต่ยังเติบโตไปได้ 

“ภาครัฐอาจรู้สึกว่า ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจไทย เพราะลักษณะเฉพาะมันซึมยาว ไม่ใช่วิกฤติ ทำให้เราไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน” 

ยิ่งกว่านั้นคือ ความเปราะบางต่อ shock ต่างประเทศ ซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้น จากทั้งในประเทศที่สะสมความเปราะบาง หรือโลกที่เปลี่ยนไป ทั้งเทคโนโลยีกระทบอุตสาหกรรมเดิมของไทย หรือการส่งออกที่ประเทศไทยพึ่งพาต่างประเทศ ปัจจัยเหล่านี้คือความเปราะบางที่เศรษฐกิจไทยไม่ค่อยได้เตรียมรับมือเท่าไรนัก

“ถ้าเรายังไม่คิดอะไรเลยว่าโลกเขาเปลี่ยนไปเยอะขนาดนี้ แล้วเรายังไม่ปรับตัวอะไรเลย อนาคตจะเป็นอย่างไร”

ลัทธกิตต์ ลาภอุดมการ นักเศรษฐศาสตร์ KKP Research

ลัทธกิตต์ กล่าวถึงปัจจัยด้านการศึกษาว่า สมัยเรียนมัธยม เห็นเพื่อนหลายคนที่มีศักยภาพและมีความสนใจสายวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ซึ่งคนกลุ่มนี้สามารถเติบโตเป็นนักวิจัยคุณภาพและสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ให้ประเทศ ทว่าเมื่อต้องตัดสินใจเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยกลับต้องไปเรียนหมอ วิศวะ บัญชี ฯลฯ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องความมั่นคงที่อยากเรียนจบแล้วมีงานทำ

จากประสบการณ์ของลัทธกิตต์ ยังพบว่า คนที่เรียนจบสายวิศวะหรือสายสังคมไม่ได้ทำงานตรงสาย โดยส่วนใหญ่ไปทำงานด้านการตลาดหรือภาคบริการเป็นหลัก 

ลัทธกิตต์ มองว่า ปัจจัยข้างต้นส่วนหนึ่งมาจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่การลงทุนในประเทศอยู่ระดับต่ำมาก อีกทั้งการลงทุนระหว่างประเทศ (FDI) ก็ต่ำเช่นกัน ทำให้หลังจากนั้นประเทศไทยถูกจำกัดด้วยปัจจัยต่างๆ จึงไม่ค่อยเห็นการพัฒนาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยี

“เราใช้ศักยภาพและความสามารถของคนได้ไม่เต็มที่ ไม่ใช่การจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด…ผมอยากให้คนไทยมีโอกาสมากขึ้น ใช้ความสามารถของเขาได้มากขึ้น และเป็นการทำงานเพื่ออนาคตของประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม ลัทธกิตต์ ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจไทยและผู้กำหนดนโยบาย (policy maker) คือ การไม่ค่อยยอมรับความจริง เมื่อเศรษฐกิจแย่ก็บอกว่ามันยังโตดีอยู่ ส่งออกไทยแย่ก็บอกว่ามันยังพอไปได้ เมื่อทุกคนไม่เห็นว่าเป็นปัญหา การแก้ปัญหาก็จะไม่เกิด

ดังนั้น ในฐานะนักวิจัย ได้มองว่า หน้าที่ของนักวิจัยคือการวิเคราะห์และแชร์ข้อค้นพบไปให้ผู้กำหนดนโยบายและสังคมเห็นภาพของปัญหา และเป็นภาพความฝันที่อยากให้การทำนโยบายของไทยเป็น ‘Data Driven Policy’ ซึ่งผ่านการศึกษามาแล้วทุกมิติ ตลอดจนศึกษาผลกระทบของนโยบายอย่างรอบด้าน

“อยากให้ภาครัฐมองนโยบายแบบ long term ไม่อยากให้คิด short term และเชิญชวนให้ภาครัฐและสังคมทำนโยบายบนพื้นฐานการใช้ข้อมูลและวิเคราะห์ที่ถูกต้อง เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้นโยบายถูกต้องและเหมาะสมกับประเทศไทย” ลัทธกิตต์ กล่าว

“สิ่งที่ผมเสนอคือ เราต้องสร้างกลไกเชิงสถาบันบางอย่างที่จะดึงดูดให้ลงทุนเพิ่มขึ้นในไทย พอดู growth engine เศรษฐกิจไทย ประชากรก็น้อยลงเรื่อยๆ การลงทุนน้อย เทคโนโลยีใหม่ก็ไม่มี แถมโดน disrupt อีก เหมือนการเติบโตจะแย่ลงเรื่อยๆ ทางออกคือสร้างกลไกอย่างงไรให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ”  ลัทธกิตต์ กล่าว

ดันผู้ประกอบการไทย แข่งขันเวทีโลก

สุดท้ายกับ “คณิน พีระวัฒนชาติ” ผู้ก่อตั้ง Skydeck Partners บริษัทโฮลดิ้งที่มีเป้าหมายเพื่อซื้อและพัฒนากิจการขนาดกลางและขนาดย่อมท้องถิ่นให้เป็นบริษัทระดับโลก และผู้เขียนบทความ “แบรนด์ไทยไปแบรนด์โลก” ที่ฝันถึงการสร้างแบรนด์ไทยเป็นแบรนด์ระดับโลกที่สามารถจะช่วยสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรม และยกระดับเศรษฐกิจในประเทศ

คณิน ชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในจุดอ่อนของเศรษฐกิจไทยคือ การเติบโตของผู้ประกอบการในประเทศ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ โดยเฉพาะต้นทุนทางสังคมและต้นทุนทางการเงิน ทั้งๆ ที่เด็กไทยส่วนใหญ่ฝันอยากจะเป็นผู้ประกอบการ แต่เมื่อไม่มีต้นทุนทำให้ต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนที่มีต้นทุนเหล่านี้

คณิน พีระวัฒนชาติ ผู้ก่อตั้ง Skydeck Partners

คณิน อธิบายว่า จากประสบการณ์ที่ได้ทำ Skydeck Partners ทำให้เห็นว่า สตาร์ทอัพ-ผู้ประกอบการไทยหลายรายพัฒนาเทคโนโลยีหรือสินค้า รวมถึง มีศักยภาพเทียบกับกับบริษัทในสหรัฐอเมริกา แต่จุดที่ไปต่อไม่ได้มี 2 ปัจจัย

หนึ่ง ค่านิยม เพราะต่อให้คนไทยพัฒนาสตาร์ทอัพที่เทียบเท่าประเทศฝั่งตะวันตก แต่เชื่อว่าหากไปถามนักลงทุนไทยว่าจะเลือกลงทุนสตาร์ทอัพไทยหรืออเมริกา คำตอบส่วนใหญ่คงเลือกอเมริกา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดไทยเล็กกว่า การเติบโตไม่หวือหวา และการขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศก็ค่อนข้างจำกัด ทั้งหมดทำให้สตาร์ทอัพไทยไม่สามารถเติบโตเทียบเท่าระดับโลกได้

สอง ประเทศไทยไม่ค่อยมีหน่วยลงทุนแบบ accelerator หรือ VC (Venture Capital) ที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพระยะแรก จึงไม่มีคนช่วยจับมือให้ผ่าน early stage และไม่มีสตาร์ทอัพหน้าใหม่มากนัก เพราะไม่มีใครกล้ารับความเสี่ยง

“ประเทศที่สตาร์ทอัพเยอะอย่างสวีเดน ระบบค่อนข้างเข้มแข็ง ถ้า worst case สตาร์ทอัพไม่สำเร็จ-ล้มเหลว รัฐบาลก็พร้อมจะสนับสนุน หรือมั่นใจได้ว่ากลับไปหางานธุรกิจปกติได้ แต่ประเทศเราถ้าคุณเกิดไม่สำเร็จ การจะกลับสู่โลกการทำงานอาจมีความท้าทายมากกว่า ทั้งเงินและการสนับสนุนต่างๆ” คณินกล่าว

คณิน กล่าวต่อว่า ค่านิยมในประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน มักจะให้ค่ากับการประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง หรือเริ่มจากศูนย์ แต่สร้างตัวเองเป็นนักธุรกิจร้อยล้านพันล้าน และจีนก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเมื่อผู้ประกอบการประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง รัฐบาลจีนก็จะผลักให้ไปแข่งต่างประเทศ โดยมีทั้งมาตรการสนับสนุนและกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้บุกตลาดมากขึ้น

“ประเทศไทย…เป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนว่า ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเห็นบริษัทเล็กๆ ก้าวไปเล็ก leaque ใหญ่ๆ ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ก็โตเอาๆ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำของธุรกิจเอง พลวัตการพัฒนาของธุรกิจส่วนใหญ่ยังกระจุกในประเทศเป็นหลัก บ้านเราปฏิเสธไม่ได้ว่า บริษัทใหญ่ๆ ก็ใหญ่ขึ้นจากการขยายในประเทศหรือเปล่า เช่น จากการขายน้ำมันไปกาแฟ”

…คณินกล่าว

ดังนั้น โจทย์คือ ทำอย่างไรให้ค่อยๆ พัฒนาผู้เล่นของไทยให้สามารถแข่งขันและมีจุดยืนบนเวทีโลก

“คนเก่งในประเทศไทยเยอะมาก แต่โอกาสมันจำกัด อยากฝากคนที่เกิดในบ้านที่ฐานะดี มีศักยภาพ ให้ใช้ศักยภาพตรงนั้นให้เต็มที่แทนคนอื่นที่ไม่มีเหมือนคุณ และฝากถึงคนรุ่นก่อน อยากให้ take a chance ในคนรุ่นใหม่ สิ่งเล็กๆ จะเป็นตัวจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยยังไปได้อีกไกล”  คณินกล่าว

อ่านบทความเพิ่มเติม ในซีรีส์ ‘ความฝันของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ สร้างสังคมไทยแห่งโอกาส’

ชม VDO การพูดคุยกับ 4 นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่