ASEAN Roundup ประจำวันที่ 8-14 ธันวาคม 2567
เวียดนามตั้งกองทุนช่วยบริษัทต่างชาติรับ Global Minimum Tax

คณะกรรมการถาวรเห็นว่า มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการก่อตั้ง การจัดการ และการใช้กองทุนสนับสนุนการลงทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุนเชิงยุทธศาสตร์และบริษัทข้ามชาติมายังเวียดนามภายใต้การใช้ภาษีขั้นต่ำทั่วโลก
ในการประชุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน เหวียน ถิ บิ๊ก ง็อก กล่าวว่า กองทุนสนับสนุนการลงทุนมีเป้าหมาย เพื่อให้นโยบายการลงทุนมีความชัดเจน เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามในบริบทระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายจูงใจในการลงทุน
เนื่องจากเวียดนามต้องบังคับใช้ภาษีขั้นต่ำทั่วโลกในอัตรา 15% ตั้งแต่ต้นปี สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและค่าธรรมเนียมโดยทั่วไป จึงไม่มีผลในการดึงดูดการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์อีกต่อไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่
ภาษีขั้นต่ำทั่วโลกจะใช้กับบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้ 750 ล้านยูโร (800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขึ้นไปในช่วงสองปีจากสี่ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติประมาณ 122 รายต้องเสียภาษีขั้นต่ำทั่วโลกในเวียดนาม ตามการระบุของหน่วยงานจัดการภาษี
ภายใต้ข้อเสนอของรัฐบาล กองทุนจะอยู่ในภายใต้การจัดการของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน และมาจากงบประมาณของรัฐหรือแหล่งอื่นๆ
กองทุนฯจะให้การสนับสนุนกิจการไฮเทค บริษัทที่มีโครงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตและการดำเนินงาน และศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D)
สำหรับองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตและการดำเนินงาน โครงการจะต้องมีทุนขั้นต่ำ 12 ล้านล้านด่อง หรือมีรายได้อย่างน้อย 20 ล้านล้านด่องต่อปีจึงจะมีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน
สำหรับโครงการเซมิคอนดักเตอร์และศูนย์ข้อมูล AI เงินลงทุนขั้นต่ำคือ 6 ล้านล้านด่อง หรือมีรายได้อย่างน้อย 10 ล้านล้านด่องต่อปี
“กองทุนนี้คาดว่าจะมีส่วนช่วยยกระดับตำแหน่งของเวียดนามในห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไฮเทคที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนส่งเสริมการย้ายศูนย์วิจัยและพัฒนาไปที่เวียดนาม นอกจากนี้ เงินจะมุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนที่มีความสำคัญอันดับต้นๆเพื่อสร้างการพัฒนาที่ก้าวล้ำ” เหวียน ถิ บิ๊ก ง็อกกล่าว
เล กว่าง มานห์ ประธานคณะกรรมาธิการการเงินและงบประมาณของสมัชชาแห่งชาติ กล่าวว่า รากฐานของกองทุนสนับสนุนการลงทุนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคงความน่าดึงดูดใจของสภาพแวดล้อมการลงทุนของเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ร่างข้อบังคับมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมไฮเทคเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่าผู้รับประโยชน์ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนต่างชาติและบริษัทข้ามชาติ ขณะที่การให้ความช่วยเหลือกิจการในประเทศยังไม่ชัดเจน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาสนับสนุนบริษัทในประเทศด้วย
เล กว่าง มานห์ กล่าวว่า ควรจะต้องมีการชี้แจงอัตราการสนับสนุนสำหรับแต่ละโครงการ ในขณะที่ต้องขยายเพดานการสนับสนุนสำหรับธุรกิจบางประเภทเพื่อให้กองทุนมีความสมดุล สิ่งสำคัญคือต้องให้มั่นใจในความโปร่งใสในการดำเนินงานของกองทุน
เหงียน ดึ๊ก ไฮ รองประธานสมชัชชาแห่งชาติกล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้วคณะกรรมการถาวรเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการทบทวนเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่มี และการประสานผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลกับบริษัทระหว่างนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ และระหว่างนักลงทุนต่างชาติด้วยกัน
สิงคโปร์นักลงทุน FDI อันดับหนึ่งในเวียดนามมูลค่าลงทุนสูงเป็นประวัติการณ์

สิงคโปร์ครองอันดับหนึ่งด้วยการลงทุนที่สูงเป็นประวัติการณ์
สิงคโปร์มีความโดดเด่นในฐานะนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในช่วง 11 เดือน ด้วยทุนจดทะเบียนสูงถึง 9.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 29.1% ของ FDI ทั้งหมดของเวียดนาม และเพิ่มขึ้น 53.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี การไหลเข้าของเงินทุนมาจากการลงทุนใหม่ ( 63.3%) และเงินเพิ่มทุนในโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้ว ( 27.3%) สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของสิงคโปร์ต่อศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของเวียดนาม
การลงทุนของสิงคโปร์ครอบคลุมอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน และการผลิตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การลงทุนที่เพิ่มขึ้นของสิงคโปร์ยังเน้นย้ำถึงประสิทธิผลของข้อตกลงการค้าทวิภาคีของเวียดนามและกรอบการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งยังคงดึงดูดเงินทุนจากประเทศที่ร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เกาหลีใต้และจีน: ผู้เล่นหลักในภูมิภาค
เกาหลีใต้ติดอันดับนักลงทุนรายใหญ่อันดับสองของเวียดนาม โดยมีมูลค่า 3.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 12.4% ของ FDI ทั้งหมด แม้ว่าลดลง 9% เมื่อเทียบเป็นรายปีก็ตาม แต่บริษัทเกาหลีใต้ยังคงรักษาสถานะที่แข็งแกร่งในเวียดนาม โดยเฉพาะในภาคอิเล็กทรอนิกส์และการผลิต
จีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอยู่ในอันดับที่สามในแง่ของทุนจดทะเบียน เป็นผู้นำในโครงการที่ได้รับใบอนุญาตใหม่ คิดเป็น 28.3% ของทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ของจีนในการใช้ประโยชน์จากความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ของเวียดนาม ต้นทุนค่าแรงที่ดี และการบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่อุปทานระดับโลกการเข้ากับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
ฮ่องกงและญี่ปุ่นติดอยู่ในห้าอันดับแรก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการยังมีบทบาทของประเทศในเอเชีย ซึ่งรวมกันคิดเป็น 77% ของ FDI ที่จดทะเบียนทั้งหมด และ 73% ของโครงการใหม่ในช่วง 11 เดือน
องค์ประกอบโดยรวมและแนวโน้ม FDI
FDI ที่จดทะเบียนทั้งหมดของเวียดนามในช่วง 11 เดือนมีมูลค่า 31.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบเป็นรายปี รายละเอียดของการลงทุนเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์ที่หลากหลายของนักลงทุนต่างชาติ:
ทุนจดทะเบียนใหม่ 17.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (+0.7%) ใน 3,035 โครงการ (+1.6%)
เงินเพิ่มทุน 9.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับโครงการที่ดำเนินงานอยู่ 1,350 โครงการ (+40.7%)
เงินวมทบทุนหรือการซื้อหุ้น 4.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจาก 3,029 รายการ ซึ่งลดลง 39.7%
ภาคการลงทุนที่สำคัญ
ภาคการผลิตและการแปรรูปของเวียดนามยังคงครองการไหลเข้าของ FDI โดยมีมูลค่า 20.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 64.4% ของ FDI ทั้งหมด แม้ลดลง 8.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ภาคส่วนนี้ยังคงเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม โดยดึงดูดการลงทุนในการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
อสังหาริมทรัพย์กลายเป็นภาคส่วนที่มีการเติบโตสูง โดยสามารถดึงดูดมูลค่า 5.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 89.1% เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติลงทุนในศูนย์กลางเมืองที่กำลังขยายตัวของเวียดนามและความต้องการเขตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ภาคส่วนอื่น ๆ ที่โดดเด่น ได้แก่ การขายส่งและการขายปลีก (1.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า (1.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
จังหวัดที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระดับภูมิภาค
หลายจังหวัดมีความโดดเด่นในฐานะผู้รับ FDI รายใหญ่ในช่วง 11 เดือน ได้แก่
จังหวัดบั๊กนิญขึ้นนำด้วยเงิน 5.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้แรงหนุนจากโครงการเทคโนโลยีขั้นสูงขนาดใหญ่ เช่น โครงการของ Amkor Technology Inc.
จังหวัดกว๋างนิญอยู่ในอันดับที่สองด้วยมูลค่าลงทุน 2.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 7.3% ของ FDI ทั้งหมด แม้ว่าลดลง 26.3% ก็ตาม
โฮ จิมินห์ซิตี้ตามมาติด ๆ ด้วยมูลค่า 2.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไฮฟอง ฮานอย และบิ่ญเซืองก็ดึงดูดการไหลเข้าที่สำคัญเช่นกัน
โครงการที่โดดเด่น
ในช่วง 11 เดือนมีการอนุมัติและขยายโครงการสำคัญหลายโครงการ:
Amkor Technology Inc. ในเมืองบั๊กนิญ ได้รับเงินลงทุนเพิ่ม 1.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เพิ่มการลงทุนรวมเป็น 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง
LG Display ในไฮฟองได้รับเงินเพิ่มอีก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีการลงทุนสะสมเป็น 5.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เสริมสร้างบทบาทของเวียดนามในห่วงโซ่อุปทานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก
การเบิกจ่าย FDI และตัวชี้วัดระยะยาว
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เบิกจ่ายอยู่ที่ประมาณ 21.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เวียดนามมีโครงการ FDI ที่ยังดำเนินงานจำนวน 41,720 โครงการ โดยมีทุนจดทะเบียนรวม 496.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้ มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 318.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (64.2%) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการแปลงข้อผูกพันให้เป็นผลงานทางเศรษฐกิจที่จับต้องได้
นัยเชิงกลยุทธ์และแนวโน้ม
ผลการดำเนินงาน FDI ของเวียดนามตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2567 ตอกย้ำสถานะเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่แข่งขันได้ ด้วยการไหลเข้าที่สำคัญสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน ประเทศจึงพร้อมที่จะมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับนักลงทุนชั้นนำ โดยเฉพาะจากสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และจีน ตอกย้ำถึงความสำคัญของเวียดนามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เมื่อมองไปข้างหน้า การให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูปกฎระเบียบ และการบูรณาการระดับภูมิภาคผ่านข้อตกลงทางการค้าของเวียดนาม คาดว่าจะสามารถรักษาแนวโน้มขาขึ้นได้ เนื่องจากบริษัทระดับโลกให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น เวียดนามจึงมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นแม่เหล็กดึงดูด FDI ในอุตสาหกรรมหลักๆ
อินโดนีเซียเปิดตัวเขตการค้า-ที่พักอาศัยใหม่ในบาตังให้นักลงทุน

“เขตการค้าและที่พักอาศัยเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ลงทุนในภาคส่วนต่างๆ เช่น โรงแรม โซนการศึกษา เอาท์เล็ตระดับพรีเมียม ปั๊มน้ำมัน สนามกอล์ฟ และพื้นที่อยู่อาศัยระดับพรีเมียม” นูราห์ วีราวัน ผู้อำนวยการทั่วไปของ PT Kawasan Industri Terpadu Batang (KITB) หน่วยงานที่ดูแลการเปิดเขตการค้าและที่อยู่อาศัยใหม่กล่าวในแถลงการณ์
KITB มีเป้าหมายที่จะพัฒนาศูนย์กลางการค้าที่ทันสมัยและยั่งยืนผสมผสานกับพื้นที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานใหม่ให้กับชุมชนท้องถิ่น
“เราต้องการทำให้ KITB กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน ซึ่งเป็นสถานที่ที่โอกาสมาบรรจบกับศักยภาพ” วีราวันกล่าว
ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา KITB ขายพื้นที่สวนอุตสาหกรรมทั้งหมดได้ 339 เฮกตาร์ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 18.7 ล้านล้านรูเปียะฮ์(ประมาณ 1.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผู้ซื้อมาจากหลายประเทศ เช่น จีน ชิลี และญี่ปุ่น นอกเหนือจากนักลงทุนในประเทศจากอินโดนีเซีย
“เรามุ่งมั่นที่จะจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีที่สุดและรับประกันความสะดวกในการลงทุน เราต้องการให้ KITB กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” วีราวันกล่าว
มาเลเซียเปิดสำนักงาน AI แห่งชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

วันที่ 12 ธันวาคม 2567 มาเลเซียได้เปิดสำนักงานปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (National Artificial Intelligence Office:NAIO) ตอกย้ำความมุ่งมั่นของมาเลเซียในการเร่งการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของประเทศ
NAIO มีหน้าที่ขับเคลื่อนการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในประเทศ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ความสำคัญหลัก ๆ 5 ประการ ได้แก่ การลงทุน นวัตกรรม การทำงานร่วมกัน นโยบาย และการกำกับดูแลและความปลอดภัย
นายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิมเป็นประธานในพิธีเปิดตัว NAIO ที่ศูนย์นิทรรศการและการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซียในเช้าวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันครบรอบปีแรกของกระทรวงดิจิทัลอีกด้วย
อันวาร์กล่าวสุนทรพจน์ว่า ความรู้ด้านดิจิทัลกลายเป็นสิ่งจำเป็นตั้งแต่โรงเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย “NAIO สามารถเป็นหัวหอกในการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของรัฐบาล”
“เราต้องเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงคือการปฏิวัติ และเราต้องการความเป็นผู้นำจากทั้งภาครัฐและเอกชน”
อันวาร์ กล่าวอีกว่าเศรษฐกิจดิจิทัลอาจมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของมาเลเซียถึง 23% ภายในปีหน้า และ 1.20 แสนล้านริงกิตภายในปี 2573
“หากเรามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีตามนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลอาจมีส่วนร่วมถึง 25% ของ GDP ของประเทศ
“การก่อตั้ง NAIO มาจากความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความรู้ด้านดิจิทัล ไม่เพียงแต่ในหมู่เจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองเท่านั้น แต่ยังนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่การศึกษาสำหรับเด็กหลายล้านคนด้วย สำนักงาน AI จะมีการประสานงานในการวิจัยและการดำเนินการ”
รัฐมนตรีดิจิทัลโกบินด์ สิงห์ ดิโอ กล่าวว่า มาเลเซียกำลังดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านดิจิทัล ขณะเดียวกันก็ต้องการที่จะมีบทบาทเป็นผู้นำในภูมิภาคด้วยการจัดตั้ง NAIO “ทุกคนในห้องนี้ (ห้องโถง) เข้าใจดีว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเปลี่ยนทุกสิ่ง ในขณะที่เราก้าวไปข้างหน้า เราต้องการหน่วยงานที่คอยมองว่า ‘อะไรต่อไป’ นั่นคือแนวคิดเบื้องหลังสำนักงาน AI แห่งชาติ เราจำเป็นต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมองไปข้างหน้าต่อไป”
NAIO ได้รับการจัดสรรเงิน 10 ล้านริงกิตภายใต้ปีงบประมาณ 2568 เริ่มในเดือนตุลาคม และมี ชัมซุล อิซฮาน อับดุล มาจิด เป็นผู้อำนวยการสำนักงาน
NAIO มีเป้าหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถด้าน AI ของประเทศโดยการส่งเสริมนวัตกรรม ทำให้เกิดความร่วมมือข้ามภาคส่วน และสนับสนุนการบูรณาการ AI เข้ากับกรอบงานของรัฐบาล อุตสาหกรรม และสังคม โดยจะเป็นผู้นำในการริเริ่มที่ใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลและยกระดับบริการสาธารณะ นอกจากนี้ยังจะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย
จีนระงับการอนุมัติเงินกู้แก่กัมพูชาในปี 2567

การระงับเงินทุนอาจส่งสัญญาณถึงแนวทางการลงทุนในกัมพูชาอย่างระมัดระวังมากขึ้นของจีน หลังจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานในกัมพูชา ไม่ประสบผลสำเร็จหลายครั้งจนถึงขณะนี้
ข้อมูลรัฐบาลกัมพูชาเผยว่า จีนมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของหนี้คงค้างมูลค่า 11.6 พันล้านดอลลาร์ของประเทศ แต่ไม่มีการลงนามเงินกู้ใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนปีนี้ ลดลงจากเกือบ 212 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการให้กู้ยืมโดยรวมแก่กัมพูชา เนื่องจากเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ได้เข้ามาให้กู้ยืมเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบเท่ากับการให้กู้ยืมแก่กัมพูชาในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้ว
จนถึงขณะนี้ธนาคารโลกได้ลงนามเงินกู้มูลค่า 564 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ทำให้กลายเป็นผู้ให้กู้อันดับต้นๆ ของกัมพูชาในปี 2567 ตามมาด้วยญี่ปุ่น 262 ล้านดอลลาร์
การระงับเงินทุนของจีนเกิดขึ้นภายหลังการลงทุนจำนวนมากในกัมพูชาเป็นเวลาหลายปี
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับการกู้ยืม แต่กล่าวเมื่อวันพุธ (11 ธ.ค.) ว่า “จีนและกัมพูชาเป็นเพื่อนกันอย่างเหนียวแน่น เราจะกระชับความร่วมมือกับกัมพูชาต่อไป และสนับสนุนกัมพูชาในการส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน”
รายงานใน China Global South Project อ้างว่าโครงการของจีนส่วนใหญ่ที่ดำเนินการในกัมพูชาเป็นแบบ build-operate-transfer ซึ่งบริษัทระบุว่า “ปลอดหนี้”
โฆษกกระทรวงการคลังกัมพูชาไม่ได้ตอบกลับต่อการขอความคิดเห็นในทันที
จีนเป็นผู้ให้กู้อันดับต้นๆ ของกัมพูชาในกลุ่มประเทศหุ้นส่วนเมื่อปีที่แล้ว โดยมีเงินกู้มากกว่า 300 ล้านดอลลาร์ตลอดทั้งปี มีเพียงธนาคารโลกเท่านั้นที่ให้กู้มากกว่าในปีที่แล้ว ด้วยการลงนามเงินกู้มูลค่าครึ่งพันล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของทางการ
ในปี 2565 จีนยังติดอันดับรายชื่อผู้ให้กู้โดยรวมด้วยเงินกู้ที่ลงนามแล้วมูลค่า 567 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยญี่ปุ่นและธนาคารพัฒนาเอเชีย
ตลาดผู้บริโภคของกัมพูชาจะแตะ 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568

ที่มาภาพ:
https://www.khmertimeskh.com/501523859/survey-uncovers-changing-habits-of-cambodian-consumers/
สุธี รามี สมบัต ประธานคณะกรรมการหอการค้ายุโรป (EuroCham) ของกัมพูชา กลุ่ม FMCG (Fast-Moving Consumer Goods สินค้าที่ผู้บริโภคซื้อบ่อยครั้ง และใช้หมดไปอย่างรวดเร็ว) กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากภูมิทัศน์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
จากอัตราการถือครองสมาร์ทโฟนถึง 80% ยอดขายอีคอมเมิร์ซของผลิตภัณฑ์ FMCG จึงเติบโตในอัตรา 20% ต่อปี
“ภาคส่วน FMCG ไม่เพียงแต่มีความสำคัญเท่านั้น แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมนี้ประกอบด้วยสินค้าที่เข้าถึงเกือบทุกครัวเรือนในกัมพูชา ตั้งแต่อาหารและเครื่องดื่มไปจนถึงของใช้ส่วนตัวและของใช้ในครัวเรือน”
“ซึ่งมีส่วนถึงประมาณ 25% ของ GDP(ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ของกัมพูชา โดยมีพนักงาน 500,000 คนทั่วประเทศกัมพูชา และยังมีอีกหลายแสนคนด้านสนับสนุนทางอ้อม” สมบัต กล่าวในวงเสวนา FMCG ของ EuroCham หัวข้อ “การจัดการสินค้าลอกเลียนแบบและการค้าที่ผิดกฎหมาย” เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2567
อุตสาหกรรมนี้ไม่ได้ดำเนินกิจการแบบโดดๆ แต่ขับเคลื่อนภาคส่วนเสริม เช่น โลจิสติกส์ การโฆษณา และการผลิต ซึ่งขยายผลต่อทางเศรษฐกิจ
แบรนด์ต่างประเทศรายใหญ่มองว่ากัมพูชาเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสินค้าอุปโภคบริโภคคิดเป็น 18% ของการไหลเข้าในปี 2566 ซึ่งสะท้อนถึงความน่าดึงดูดใจของภาคส่วนนี้ทั่วโลก
“นวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญของ FMCG ในกัมพูชา เราเห็นแบรนด์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยและอาหารออร์แกนิก” สมบัต ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Auskhmer Import Export Co. จำกัดกล่าว
แม้จะมีแนวโน้มสดใส แต่ภาคส่วนนี้ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจกัมพูชา ยังเต็มไปด้วยความอ่อนแอที่อาจเป็ฯอุปสรรคต่อความก้าวหน้า
สมบัตกล่าวว่า เวลาในการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ใหม่จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งนานกว่าคู่แข่งในระดับภูมิภาคมาก แม้ว่าภาษีนิติบุคคลในอัตรา 15% ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง แต่ความคลุมเครือในกฎระเบียบด้านภาษีทำให้ธุรกิจต่างๆ เสี่ยงต่อการถูกลงโทษตามดุลยพินิจ
ในด้านการโฆษณา กัมพูชาถูกจำกัดด้วยการขาดกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่ชัดเจน
นอกจากนี้ การปลอมแปลงผลิตภัณฑ์ FMCG ซึ่งประเมินว่ามีอัตราการแทรกซึมเข้าตลาด 3-5% ถือว่ามีผลต่อภาคส่วนนี้อีก และประมาณ 20%ของผลิตภัณฑ์ FMCG ไม่ได้จดทะเบียนในกัมพูชา
“ภาคสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นมากกว่าตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่เป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าและความมุ่งมาดของประเทศของเรา มันเป็นช่องทางสำหรับการเติบโต โอกาส และความก้าวหน้าของชาติ ความท้าทายนั้นมีอยู่จริง แต่ก็มีศักยภาพเช่นกัน
“ด้วยความร่วมมือระหว่างผู้นำในอุตสาหกรรม ผู้กำหนดนโยบาย และผู้บริโภค ภาคสินค้าอุปโภคบริโภคของกัมพูชาสามารถเติบโตต่อไปได้ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับผู้คนนับล้าน และทำให้เราเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ธนาคารโลกเตือนวิกฤติเศรษฐกิจเมียนมาเลวร้ายลง

ในรายงานติดตามเศรษฐกิจเมียนมา (Myanmar Economic Monitor report) ฉบับล่าสุด ธนาคารโลกเรียกร้องให้เร่งรัดและประสานการดำเนินการในทันทีเพื่อตอบสนองความต้องการด้านมนุษยธรรม และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว ท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ การขาดแคลนในวงกว้าง และภัยพิบัติทางธรรมชาติ
การคาดการณ์ของธนาคารโลกสำหรับปีงบประมาณก่อนหน้า (2566-2567) เศรษฐกิจเติบโต 1%
การคาดการณ์ในปีนี้ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (10 ธ.ค.2567) แสดงถึงการหดตัวในภาคส่วนสำคัญ ๆ รวมถึงการเกษตร การผลิต และบริการ โดยมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ไฟฟ้าดับ และอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ
นอกจากนี้ ยังตั้งชี้ว่าเมืองมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศกำลังเผชิญกับความขัดแย้งที่ต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการค้าชายแดน
กลุ่มต่อต้านระบอบการปกครองและองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO) ได้เข้าควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ติดกับบังคลาเทศ อินเดีย จีน และไทย
ขณะเดียวกัน จีนได้ปิดประตูชายแดนสู่คะฉิ่นและรัฐฉานทางตอนเหนือ เพื่อกดดันกลุ่มต่อต้านให้หยุดต่อสู้กับรัฐบาล การปิดพรมแดนได้ตัดเสบียงอาหารที่ไปยังทางตอนเหนือของรัฐฉานและคะฉิ่น ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนและความยากลำบากสำหรับผู้อยู่อาศัย
ธนาคารโลกกล่าวว่า น้ำท่วมรุนแรงจากไต้ฝุ่นยางิและฝนที่ตกหนักได้ก่อให้เกิดวิกฤติเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อผู้คน 2.4 ล้านคนทั่ว 192 เมือง โครงสร้างพื้นฐานได้รับความเสียหาย และทำให้การผลิตในภาคเกษตรกรรมมากกว่าครึ่งหนึ่งหยุดชะงัก ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารและราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ภัยพิบัติทางธรรมชาติและความขัดแย้งที่ยังมีอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของเมียนมา ส่งผลให้ภาคครัวเรือนต้องแบกรับภาระราคาที่สูงขึ้นและตลาดแรงงานที่อ่อนแอลง เมลินดา กู๊ด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำเมียนมาและไทย กล่าว
“เป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องสนับสนุนความพยายามในการฟื้นฟู เพื่อช่วยให้ประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดสามารถกลับมามีชีวิตและความเป็นอยู่ขึ้นมาใหม่ได้”
ธนาคารโลกยังรายงานด้วยว่าการย้ายถิ่นจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ
นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหารในเดือนกุมภาพันธ์ คนหลายพันคนได้หลบหนีออกนอกประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการรับราชการทหารภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร
รายงานระบุว่าแรงงานเมียนมาสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าในประเทศไทยหรือมาเลเซีย และมากกว่า 10 เท่าในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยเงินที่พวกเขาส่งกลับบ้านถือเป็นกลไกการรับมือที่สำคัญ
เงินที่ส่งกลับเป็นแหล่งรายได้หลักของ 7.5% ของครัวเรือนเมียนมา ธนาคารรายงาน
“กระแสการย้ายถิ่นล่าสุดเน้นย้ำถึงสถานะที่ไม่มั่นคงของเศรษฐกิจเมียนมา เช่นเดียวกับแรงกดดันจากความขัดแย้งและการเกณฑ์ทหาร” คิม เอ็ดเวิร์ดส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและผู้นำโครงการสำหรับเมียนมาและไทย กล่าว
อย่างไรก็ตาม การโยกย้ายส่วนใหญ่เกิดขึ้นผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นและได้รับประโยชน์น้อยลง
เอ็ดเวิร์ดส์เรียกร้องให้มีความพยายามในการขยายการย้ายถิ่นฐานผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทั้งประเทศผู้รับ คนงานเมียนมา และครอบครัวของพวกเขา