องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่าปี 2567 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกจะสูงกว่าปี 2566 เสียด้วยซ้ำ
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization – WMO) ได้ทำการวิเคราะห์อุณหภูมิทั่วโลกครอบคลุมตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน 2567 และอิงตามชุดข้อมูลระหว่างประเทศ 6 ชุดเพื่อประเมินอุณหภูมิแบบรวม และได้นำส่งข้อมูลแก่เลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส ก่อนการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ COP29 ในเมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน
“วันนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกและพันธมิตรบอกเราว่าปี 25567 กำลังเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ เกือบสองเดือนก่อนที่จะสิ้นปี” นายกูเตอร์เรสกล่าว “มนุษยชาติกำลังจุดไฟเผาโลกและได้รับผลนั้น”
รายละเอียดเพิ่มเติมจะระบุไว้ในรายงานสถานการณ์สภาพภูมิอากาศปี 2024(State of the Climate 2024 Update) ของ WMO ซึ่งจะเผยแพร่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ในงานการประชุม COP29 โดยจะกล่าวถึงตัวบ่งชี้สภาพภูมิอากาศที่สำคัญ รวมถึงอุณหภูมิพื้นผิวดินโดยเฉลี่ยทั่วโลก ความร้อนในมหาสมุทร ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น น้ำแข็งในทะเล และธารน้ำแข็ง นอกจากนี้ยังจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์สภาพอากาศและสภาพอากาศที่รุนแรงและผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นางเซเลสต์ เซาโล เลขาธิการ WMO จะนำเสนอไฮไลท์ของสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในงานแถลงข่าว เวลา 14.00 น. ตามเวลาบากู (10.00 GMT) จะมีการถ่ายทอดทางเว็บโดย UNFCCC และข้อมูลอัปเดตนี้จะนำเสนอต่อ COP29 ในวันเดียวกันซึ่งเป็นวันEarth Information Day
ก่อนการเปิดตัวรายงาน State of the Climate 2024 Update นี้ WMO ได้เผยแพร่รายงานบริการข้อมูลภูมิอากาศ (State of Global Climate Services) ถึงความคืบหน้าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในการจัดหาข้อมูลและบริการด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อสนับสนุนการปรับตัวและรับมือกับสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น
“เมื่อเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การพัฒนา การส่งมอบ และการใช้ข้อมูลสภาพภูมิอากาศเพื่อส่งเสริมการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศไม่เคยมีความสำคัญเท่านี้มาก่อน” นางเซเลสต์ เซาโล เลขาธิการ WMO กล่าวย้ำ
รายงาน State of Climate Services เน้นย้ำทั้งความก้าวหน้าและความท้าทายที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในการส่งข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ แม้ว่า 1 ใน 3 ของบริการอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาแห่งชาติ (National Meteorological and Hydrological Services-NMHS) ได้ให้บริการด้านสภาพอากาศที่จำเป็นแล้ว แต่ยังคงมีช่องว่างสำคัญด้านเงินทุนอยู่
จากเงินจำนวน 63 พันล้านดอลลาร์ที่จัดสรรให้กับการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ มีเพียงประมาณ 4 ถึง 5 พันล้านดอลลาร์เท่านั้นที่สนับสนุนบริการด้านสภาพอากาศและกิจกรรมเตือนภัยล่วงหน้าอย่างชัดเจน
“เราต้องลงทุนที่จำเป็นสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน ต้นทุนของการไม่ดำเนินการสูงกว่าต้นทุนการดำเนินการหลายเท่า” นางเซาโลย้ำ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างมากในการสนับสนุน NMHS ในการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการให้บริการด้านสภาพอากาศ
WMO ใช้ชุดข้อมูลบนพื้นฐานของข้อมูลภูมิอากาศจากการเฝ้าสังเกตในพื้นที่ จากเรือ และทุ่นในเครือข่ายทางทะเลทั่วโลก ซึ่งมีการพัฒนาและดูแลโดยองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา(nited States National Oceanic and Atmospheric Administration) สถาบัน Goddard เพื่อการศึกษาอวกาศ(Goddard Institute for Space Studies)ของ NASA,หน่วยงานพยากรณ์อากาศของอังกฤษที่ Hadley( UK Met Office Hadley Center) และ หน่วยวิจัยภูมิอากาศ(Climatic Research Unit)มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย(University of East Anglia)และ Berkeley Earth group
WMO ยังใช้ชุดข้อมูลการวิเคราะห์ซ้ำจาก European Center for Medium-Range Weather Forecasts และ Copernicus Climate Change Service(C3S) และ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น(Japan Meteorological Agency) การวิเคราะห์ใหม่ผสมผสานกับการสังเกตการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาและทางทะเลนับล้านรายการ รวมถึงจากดาวเทียม โดยใช้แบบจำลองสภาพอากาศเพื่อสร้างการวิเคราะห์สถานะของบรรยากาศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น การรวมกันการสังเกตกับค่าแบบจำลองทำให้สามารถประมาณอุณหภูมิได้ตลอดเวลาและในสถานที่ใดก็ได้ทั่วโลก แม้ในพื้นที่สังเกตการณ์ที่กระจัดกระจาย เช่น บริเวณขั้วโลกและมหาสมุทร
การวิเคราะห์ของ WMO ซึ่งอิงจาก ชุดข้อมูลระหว่างประเทศ 6 ชุดเผยให้เห็นถึงแนวโน้มอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นที่น่ากังวล แม้ว่ารายงานจะเน้นย้ำความสำเร็จจากประเทศต่างๆ เช่น เซเชลส์ มอริเชียส ลาว และไอร์แลนด์ ในการพัฒนาบริการด้านสภาพอากาศที่มีประสิทธิผล และมีหลักฐานชัดเจนแสดงให้เห็นว่าวิกฤติสภาพภูมิอากาศกำลังทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก
จากชุดข้อมูล ERA5 จาก Copernicus Climate Change Service เดือนตุลาคม 2567 ถือเป็นเดือนตุลาคมที่มีอากาศร้อนที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเดือนตุลาคม 2566 ส่วนข้อมูลจากชุดข้อมูลระหว่างประเทศอื่นๆ จะพร้อมใช้งานในเวลาอันสมควร
แนวโน้มที่น่าตกใจนี้มาพร้อมกับการเพิ่มมากขึ้นของภัยพิบัติที่เกี่ยวข้อง ระหว่างปี 2563 ถึงกลางปี 2567 อันตรายที่เกี่ยวข้องกับความร้อนกลายเป็นภัยคุกคามทางสภาพอากาศที่อันตรายที่สุด โดยคิดเป็น 57% ของรายงานสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศ และการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำทั่วโลก