วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นวันสากลเพื่อการต่อต้านการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานยูเนสโกระดับภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานคร และกรมศิลปากร ได้จัดพิธีส่งคืนโบราณวัตถุจากแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง ซึ่งเป็นที่ตั้งรกรากยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยนายโรเบิร์ต แฟรงก์ โกเด็ค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และนาย ราฟีค แมนซัวร์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เป็นผู้แทนส่งมอบโบราณวัตถุให้ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยมี ซูฮย็อน คิม ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ เป็นสักขีพยาน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
รัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มก้าวสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมที่หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลในประเทศได้รับมาอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย คืนแก่เจ้าของที่ชอบธรรมในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ กรณีศึกษาที่โด่งดัง อาทิ การส่งคืนประติมากรรมสำริดอายุ 900 ปี ที่ได้รับขนานนามว่า Golden Boy จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เดินทางมาชมถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และการส่งคืนศิลปกรรมในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาจากยุคพระนครของอาณาจักรขอมจำนวนมากกลับสู่ประเทศกัมพูชา
เพื่อสานต่อจุดยืนการแก้ปัญหาเชิงรุกของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างสอดคล้อง สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยมีความประสงค์สนับสนุนความตระหนักในความสำคัญของกลไกด้านกฎหมายที่ถาวรและเป็นสากล เพื่อยุติอาชญากรรมต่อสมบัติทางวัฒนธรรมของเอเชียอาคเนย์ จึงร่วมมือกับสำนักงานยูเนสโกระดับภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานคร ประสานกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย เพื่อส่งคืนโบราณวัตถุสมัยบ้านเชียง
สหรัฐฯช่วยนำโบราณวัตถุกลับคืนแผ่นดินแม่
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวรายงาน ว่า คนไทยและประเทศไทยมองสหรัฐอเมริกาว่าเป็นมิตรที่ดีมาตลอด ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยแน่นแฟ้นยืนยาวมากกว่า 190 ปี และได้มีความร่วมมือระหว่างกันในหลากหลายด้าน แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มความร่วมมือไปยังด้านวัฒนธรรม โดยไม่นานมานี้สหรัฐฯได้ส่งคืน โกลเด้นบอย (Golden Boy) ให้กับไทย ซึ่งนับตั้งแต่การจัดแสดงมีผู้คนเข้าชื่นชมกว่า 100,000 รายภายในเวลาไม่กี่เดือน
ในความร่วมมือด้านวัฒนธรรมนั้นได้มีลงนามในบันทึกความเข้าใจที่จะร่วมมือกันกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน เพื่อแลกเปลี่ยนและยืมโบราณวัตถุ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ศึกษาค้นคว้าและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ต้องยอมรับว่า โบราณวัตถุต่างๆ นั้น เป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่จะดีที่สุดที่โบราณวัตถุนั้นได้กลับคืนแผ่นดินแม่ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาสหรัฐฯช่วยให้เกิดขึ้น และยังคงมีโบราณวัตถุอีกหลายรายการถูกนำออกไปจากประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา แต่สถานการณ์เหล่านั้นในปัจจุบันแทบจะไม่มี ยิ่งโบราณวัตถุอยู่นอกประเทศเท่าไร ก็ยิ่งนำกลับคืนได้ยากเท่านั้น และประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวได้
สำหรับการส่งคืนโบราณวัตถุบ้านเชียงในวันนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้รับการประสานจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ
อเมริกาประจำประเทศไทย ว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้พบภาชนะบ้านเชียงถูกเก็บรักษาไว้ในสำนักงานซึ่งคาดว่า มีผู้นำไปมอบให้แก่บุตรชายของอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2509 จึงขอความร่วมมือกรมศิลปากรตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุดังกล่าว เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 กรมศิลปากรโดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ไปตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุ พบว่าเป็นภาชนะสมัยบ้านเชียงที่มีอายุ 2,000 ปี ขึ้นไปจริง โบราณวัตถุดังกล่าวมีลวดลายเขียนสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผา จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนว่าเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก
สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอส่งคืนให้กรมศิลปากรกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย รวมทั้งสถานเอกอัครรราชทูตฯมีความประสงค์ที่จะสนับสนุนความสำคัญของกลไกด้านกฎหมายที่ถาวรและเป็นสากลเกี่ยวกับการยุติอาชญากรรมสมบัติทางวัฒนธรรมของเอเชียอาคเนย์ จึงร่วมมือกับสำนักงานยูเนสโกฯ และกรมศิลปากรจัดกิจกรรมในวันนี้
ส่งคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรมยังเจ้าของที่แท้จริง
เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค กล่าวสุนทรพจน์ว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานกับทุกท่าน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอันวิจิตรงดงาม ผมไม่คิดว่าจะมีสถานที่ใดเหมาะสมไปกว่าสถานที่แห่งนี้ในการเฉลิมฉลองวันสากลเพื่อการต่อต้านการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรม”
เมื่อปี 2509 สตีเฟน ยัง (Stephen Young) นักศึกษาอเมริกันได้เดินทางไปทำการวิจัยภาคสนามสำหรับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีของเขาว่าด้วยการเมืองในหมู่บ้านท้องถิ่นทางภาคเหนือของไทย ที่จังหวัดอุดรธานี โดยอยู่มาวันหนึ่ง ที่บ้านเชียง เขาบังเอิญเดินไปสะดุดกับรากไม้และล้มลงไปตรงบริเวณที่มีชิ้นส่วนหม้อดินเผาโบราณฝังอยู่ สตีเฟนได้นำหม้อดินเผานี้ไปให้หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ซึ่งเป็นเจ้าภาพฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งก็ทราบโดยทันทีว่าโบราณวัตถุดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ท่านผู้หญิงจึงได้แจ้งกับทางกรมศิลปากรถึงการค้นพบดังกล่าว หนึ่งปีต่อมา การขุดค้นทางโบราณคดีจึงได้เริ่มต้นขึ้น มีการค้นพบกลุ่มเครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับ เครื่องไม้ใช้สอย และโบราณวัตถุอื่น ๆ ตามมา ซึ่งช่วยทำให้หน้าประวัติศาสตร์ของอารยธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการเขียนขึ้นใหม่
ชาวไทยและชาวอเมริกันหลายคนต่างมีความเชื่อร่วมกันในสิ่งที่เรียกว่าโชคชะตาหรือคำอื่น ๆ ตามที่ท่านจะนึกถึง ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญอย่างแทบไม่น่าเชื่อที่สตีเฟนได้ค้นพบสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นการพลิกโฉมทางประวัติศาสตร์ไปตลอดกาล
เราไม่มีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับผู้คนแห่งบ้านเชียง ผู้ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานอันน่าทึ่งเหล่านั้นไว้ แต่พวกเขายังคงสื่อสารกับเราตลอดหลายศตวรรษผ่านความคิดสร้างสรรค์และศิลปะในการออกแบบที่ไร้กาลเวลา เครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียงเป็นวัตถุโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ลวดลายที่มีเส้นโค้งอ่อนช้อยและรูปทรงเรขาคณิตที่คุ้นตาเหล่านี้ให้ความรู้สึกที่ทันสมัยและร่วมสมัยอย่างน่ามหัศจรรย์
“ในวันนี้ ในนามของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผมมีความยินดีที่จะประกาศการส่งคืนโบราณวัตถุจำนวนสี่ชิ้นจากแหล่งบ้านเชียงและแหล่งอื่น ๆ ทางภาคกลางของไทย ซึ่งประกอบด้วยภาชนะดินเผา กำไลข้อมือ และลูกกลิ้งทรงกระบอกสองชิ้นที่ยังไม่ทราบการใช้งานที่แน่ชัด ที่มาของโบราณวัตถุเหล่านี้มีประวัติย้อนหลังถึงช่วงปลายทศวรรษ 1960 เมื่อทหารอเมริกันได้รับโบราณวัตถุเหล่านี้เป็นของขวัญจากรัฐบาลไทย ซึ่งนำมาเก็บรักษาไว้ที่สถานทูตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบิดาของสตีเฟน ยัง คือ เคนเนธ ทอดด์ ยัง จูเนียร์ (Kenneth Todd Young, Jr.) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยระหว่างปี 2504–2506”
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โบราณวัตถุเหล่านี้ได้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในสภาพแวดล้อมที่ดูแลอย่างใส่ใจ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะส่งคืนสิ่งของล้ำค่าดังกล่าวกลับสู่บ้านเกิดที่แท้จริง โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในการส่งคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรมจากทั่วโลกกลับไปยังเจ้าของที่แท้จริง
เราได้ร่วมมือกับสำนักงานยูเนสโกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในกรุงเทพฯ เพื่อติดต่อกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในการส่งคืนโบราณวัตถุจากแหล่งบ้านเชียงเหล่านี้ เราหวังว่าสิ่งของเหล่านี้จะมีส่วนช่วยการศึกษาวิจัยและทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับหนึ่งในสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย จะยังคงสนับสนุนการส่งคืนโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่สำคัญซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมรดกอันรุ่มรวยของไทย ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราได้ส่งคืนประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ โกลเด้นบอย และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) อันสุดพิเศษจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันในนิวยอร์ก ซึ่งตอนนี้ได้คืนสู่ประเทศไทยอย่างปลอดภัยที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
และในวันพรุ่งนี้ เราจะมีงานที่แสดงถึงความมุ่งมั่นอย่างลึกซึ้งของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ต่อวัฒนธรรมไทย นั่นคือพิธีปิดโครงการอนุรักษ์ที่สำคัญที่วัดไชยวัฒนารามอันวิจิตรงดงามซึ่งสร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 17 อันเป็นมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโก ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมของสหรัฐฯ โดยจะมีการแสดงโขนและการแสดงที่น่าตื่นตาตื่นใจในพิธีปิดครั้งนี้ด้วย
นายเออร์เนสโต โอตโทเน รามิเรซ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโกกล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลสหรัฐฯ และไทยในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ที่วางฐานข้อตกลงรูปแบบใหม่สำหรับการคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรม และจะรอความร่วมมือทวิภาคีที่แข็งแกร่งนี้ต่อไปตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาปี 1970 ความร่วมมือนี้ยังสอดคล้องกับปฏิญญา MONDIACULT ปี 2022 ซึ่งเรียกร้องให้มี “การเจรจาระหว่างประเทศที่เปิดกว้างและครอบคลุมสำหรับการส่งคืนและคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรมให้แก่ประเทศต้นทางภายใต้การอุปถัมภ์ของ UNESCO
การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาเพื่ออนุรักษ์มรดกและนำคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรม
รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำสำนักกิจการการศึกษาและวัฒนธรรม นายราฟิก มันซูร์กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา และความร่วมมือกับประเทศในอนุภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เพื่ออนุรักษ์มรดกและนำคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ว่า ขอแสดงความชื่นชมรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพที่เป็นผู้นำในการจัดงานครั้งนี้ ขอชื่นชมการดำเนินงานอย่างยอดเยี่ยมในการปกป้องและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และการเป็นหุ้นส่วนที่มั่นคงของสหรัฐฯ ในด้านดังกล่าว และขอขอบคุณ ยูเนสโก ภาคีของเรา สำหรับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องและความเป็นหุ้นส่วนในการช่วยอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมทั่วโลก
เป็นเวลากว่า 50 ปีมาแล้วที่รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินงานเพื่อสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรโดยสันติระหว่างประชาชนสหรัฐฯ กับประชาชนชาติอื่น ๆ และส่วนหนึ่งของงานดังกล่าวนั้นคือ เราได้สนับสนุนความพยายามของวัฒนธรรมมากมายนับร้อย ๆ วัฒนธรรมทั่วโลก ในการปกป้องและอนุรักษ์มรดกของตน ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์โบราณ ภาษา หรือประเพณีต่าง ๆ
สหรัฐฯ ปกป้องสิทธิมนุษยชนที่กล่าวไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะเข้าร่วมในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชน เราเชิดชูวิถีที่หลากหลายซึ่งวัฒนธรรมแสดงออกถึงประสบการณ์ร่วมกันของมนุษย์ และเราเชื่ออย่างยิ่งว่าความหลากหลายของการแสดงออกนี้ต้องได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ ความหลากหลายดังกล่าวเป็นแหล่งของความเข้มแข็งและแข็งแกร่ง ตลอดจนช่วยสร้างความหมายและความงามในโลกรอบ ๆ เรา ท่านสามารถเห็นสิ่งนี้ได้จากสถาปัตยกรรมและอนุสาวรีย์อันงดงามยิ่งทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐฯ เองได้รับสิทธิพิเศษในการช่วยอนุรักษ์และปกป้องสถาปัตยกรรมและอนุสาวรีย์เหล่านี้บางแห่ง
สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนอนุสัญญายูเนสโกว่าด้วยวิธีการในการห้ามและป้องกันการนำเข้า การส่งออก และการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ. 1970 และอนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลก ค.ศ. 1972
ทุกวันนี้ ด้วยความพยายามของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เราสนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์และผู้ดูแลมรดกทางวัฒนธรรม เราส่งเสริมการส่งคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรมให้แก่ประเทศต้นทาง และเราทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับหลาย ๆ ประเทศในเวทีโลก เพื่อเรียกให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนโครงการภายใต้กองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม มากกว่า 1,270 โครงการ ใน 134 ประเทศ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 128 ล้านเหรียญ นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ ในด้านความร่วมมือของเรากับประเทศอาเซียน ด้วยกองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม เราให้การสนับสนุนโครงการ 128 โครงการในประเทศอาเซียน นับตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูบูรณะผลงานจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่เสียหายหลังเกิดอัคคีภัยในอินโดนีเซีย การอนุรักษ์วัดและวัตถุทางศาสนาในลาว ตลอดจนการอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์หลายแห่งในเวียดนาม และตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา เราได้สนับสนุนโครงการที่ยอดเยี่ยม 20 โครงการ เพื่อช่วยอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย
สหรัฐฯ เคารพมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศอาเซียนอย่างแท้จริง เราทำงานในหลากหลายด้านเพื่อหยุดยั้งการค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในสหรัฐฯ และส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมเหล่านั้นแก่ประเทศต้นทาง เป็นเวลาเกือบ 25 ปีที่เราดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของกัมพูชาไม่ให้ถูกลักขโมยและขายโดยผิดกฎหมายในปี 2542 เราได้ทำงานร่วมกับประเทศอาเซียนในการปกป้องและส่งคืนมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเขา
สหรัฐฯ ได้ส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกลักขโมยอย่างน้อย 250 รายการ แก่ประเทศอาเซียน เช่น กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว ไทย เวียดนาม เป็นต้น ผมได้เป็นประจักษ์พยานการส่งคืนที่ส่งผลอย่างมากต่อชุมชนทั่วโลก การส่งคืนเหล่านั้นยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่ใช้เวลาหลายปีหรือบางครั้งหลายสิบปีในการติดตามและดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อที่สหรัฐฯ จะดำเนินการตามความตั้งใจที่มีในการปกป้องทรัพย์สินทางวัฒนธรรม
วัตถุทั้งหมดที่เราได้คืนให้กับประเทศเจ้าของเหล่านั้น เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของวัตถุทางวัฒนธรรมที่รุ่มรวยของภูมิภาคอาเซียน วัตถุทางวัฒนธรรมเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งต่อชุมชนทั่วเครือข่ายอาเซียนและผู้มาเยือนจากทั่วโลก
อีกเครื่องมือที่เราใช้คือ ความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นข้อตกลงทวิภาคีซึ่งป้องกันการลักขโมยและค้าวัตถุทางวัฒนธรรมโดยผิดกฎหมายไปยังสหรัฐฯ ข้อตกลงเหล่านี้ช่วยให้สหรัฐฯ ตั้งเป้า ระบุ และส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกลักขโมยให้กับประเทศต้นทางได้ในที่สุด สหรัฐฯ มีข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางวัฒนธรรมกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 30 ข้อตกลง และยินดีที่จะรับคำขอร่วมข้อตกลงจากรัฐสมาชิกในอนุสัญญายูเนสโก ค.ศ. 1970
ผมขอขอบคุณรัฐบาลไทยและยูเนสโกสำหรับความมุ่งมั่นในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่รุ่มรวยและเป็นเอกลักษณ์ของไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เราขอบคุณสำหรับความเป็นหุ้นส่วนนี้และยินดีร่วมมือกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ ด้วย
คุณค่าของการร่วมมือกันและความรับผิดชอบร่วมกัน
นางสาวซูฮย็อน คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกระดับภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ในนามของยูเนสโก ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติยิ่งที่ได้มาร่วมกับทุกท่านในการเฉลิมฉลองนาทีแห่งประวัติศาสตร์นี้ วันนี้เราได้เป็นประจักษ์พยานการกลับมาของโบราณวัตถุที่เป็นมรดกของอารยธรรมโบราณ”
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของโบราณวัตถุเหล่านี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2535
สิ่งที่ทำให้บ้านเชียงมีความพิเศษก็คือบ้านเชียงช่วยทำให้เราเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์แปรเปลี่ยนจากกลุ่มคนเร่ร่อนย้ายถิ่นมาเป็นอารยธรรมตั้งรกรากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ได้
เรื่องราวของบ้านเชียงได้รับการบอกเล่าผ่านห้วงนาทีสำคัญในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสำริดในช่วงแรก ๆ กำเนิดของการเกษตรทำนาทดน้ำและการเลี้ยงปศุสัตว์ ตลอดจนการพัฒนาวิธีการฝังศพที่ซับซ้อนมากขึ้น
โบราณวัตถุทุกชิ้น ไม่ว่าเล็กแค่ไหน ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนี้
“ด้วยเหตุนี้ การคืนโบราณวัตถุในวันนี้จึงสำคัญยิ่ง ด้วยเป็นการเน้นย้ำถึงคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง ดิฉันขอกล่าวชื่นชมความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐและกรมศิลปากรของไทยที่ร่วมกันพิสูจน์ว่าโบราณวัตถุเหล่านี้เป็นของแท้ นับว่าหาได้ยากยิ่งที่ได้เห็นเครื่องดินเผาแสนเปราะบางที่มีอายุเก่าแก่เช่นนี้ยังคงสภาพสมบูรณ์” นางสาวซูฮย็อนกล่าว
แต่ทำไมคนเราในปัจจุบันต้องใส่ใจการคืนโบราณวัตถุโบราณ? โบราณวัตถุเหล่านี้เกี่ยวพันอะไรกับเราในตอนนี้? โบราณวัตถุเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่หลงเหลือมาจากอดีต แต่ยังเป็นสะพานถึงมรดกที่เรามีร่วมกัน
ในห้วงเวลาที่คนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการแตกแยกที่เพิ่มมากขึ้นทุกที โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเรื่องราวที่มนุษย์เรามีร่วมกันข้ามพรมแดนและชั่วอายุคน โบราณวัตถุเหล่านี้ย้ำเตือนเราถึงคุณค่าของการร่วมมือกันและความรับผิดชอบร่วมกัน
ความเข้าใจที่เรามีต่อประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ในทุกวันนี้มักได้รับการกลั่นกรองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โอกาสที่จะได้ศึกษาโบราณวัตถุเหล่านี้ในบริบทดั้งเดิมทำให้เราได้เข้าใจมุมมองอีกแบบที่ลึกซึ้งกว่าเดิม มุมมองที่ช่วยให้เราได้เข้าใจสังคมที่มีมาก่อนหน้าเราและเน้นย้ำถึงพันธะที่เชื่อมโยงเราเข้าด้วยกันข้ามผ่านกาลเวลา
ยูเนสโกรู้สึกยินดียิ่งที่ได้สนับสนุนความร่วมมือสำคัญนี้ระหว่างสหรัฐและไทย และเราหวังว่าการคืนโบราณวัตถุในวันนี้จะปูทางไปสู่การคืนโบราณวัตถุอื่นอีกมากมายในอนาคต
ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมสหรัฐฯ-ไทยแน่นแฟ้น
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “ในนามของรัฐบาลและประชาชนไทย ดิฉันมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้รับมอบโบราณวัตถุบ้านเชียง จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย”
โบราณวัตถุเหล่านี้ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของประเทศไทย มาจาก แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญยิ่งในระดับนานาชาติ ด้วยเป็นหลักฐานการเริ่มตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อประมาณ 3,000 ปีที่แล้ว
ด้วยความสำคัญของการค้นพบแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้เสด็จไปทอดพระเนตรการขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากรบริเวณวัดโพธิ์ศรีใน ตำบลบ้านเชียง เมื่อปี พ.ศ. 2515 การเสด็จประพาสครั้งนั้นได้ปลุกจิตสำนึกและตระหนักถึงความสำคัญ ของอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งขณะนั้นกำลังประสบปัญหาการลักลอบขุดค้นและค้าโบราณวัตถุ โดยผิดกฎหมาย
ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างยาวนาน จวบจนปัจจุบัน เป็นเวลา 191 ปี สหรัฐอเมริกามีส่วนช่วยผลักดันและสนับสนุนโครงการศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงหลายด้าน โดยเฉพาะความร่วมมือในการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี ระหว่างกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เมื่อ พ.ศ. 2517 ผลการศึกษาวิเคราะห์อายุสมัยโบราณวัตถุจากการขุดค้นครั้งนี้ ทำให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และด้วยคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value) ที่แสดงถึงเอกลักษณ์และวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยีของมนุษย์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโก เมื่อ พ.ศ. 2535
การส่งคืนโบราณวัตถุบ้านเชียงให้กรมศิลปากรในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงออก ถึงการให้ความสำคัญต่อแหล่งที่มาของโบราณวัตถุแล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือ ทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
“ในโอกาสนี้ ดิฉันขอขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และสำนักงานยูเนสโกระดับภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานคร รวมถึงหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กับกระบวนการส่งคืนโบราณวัตถุบ้านเชียงในครั้งนี้”
เตรียมรับคืนสองประติมากรรม
หลังเสร็จสิ้นพิธีส่งคืนโบราณวัตถุจากแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง นายโรเบิร์ต แฟรงก์ โกเด็ค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นาย ราฟีค แมนซัวร์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทย และนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้ร่วมแถลงข่าว
นายโรเบิร์ต แฟรงก์ โกเด็ค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกล่าวว่า เมื่อไรก็ตามที่สหรัฐฯรับทราบว่ามีโบราณวัตถุถูกนำออกจากประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศไทย ที่มีการนำออกไปอย่างผิดกฎหมายหรือในบางรูปแบบ สหรัฐฯจะพยายามส่งคืน เหมือนกับที่ได้ส่งคืน Golden Boy ก่อนหน้านี้
สำหรับการส่งคืนในวันนี้ ก็ชัดเจนว่าตั้งแต่ต้นต้องการให้นำกลับมาประเทศเจ้าของ และก็เป็นเหตุผลที่สถานทูตติดต่อมายังกระทรวงวัฒนธรรม และน่ายินดีที่กรมศิลปากร และยูเนสโกยืนยันว่ามาจากประเทศไทย นอกจากนี้หากรับทราบข้อมูลว่ายังมีโบราณวัตถุที่ถูกนำออกไป สหรัฐฯก็มุ่งมั่นที่จะส่งคืน
“ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศมีความสำคัญอย่างมาก และรัฐบาลสหรัฐฯ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะทำทุกอย่างเพื่อรักษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งและกระชับความสัมพันธ์นี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น” นายโรเบิร์ตกล่าว
ในวันพรุ่งนี้ จะมีพิธีปิดโครงการอนุรักษ์ที่สำคัญที่วัดไชยวัฒนารามงาน อันเป็นมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโก ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นอย่างลึกซึ้งของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ต่อวัฒนธรรมไทย โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯให้การสนับสนุนทางการเงิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อการบูรณะ
นอกจากนี้สหรัฐฯและไทยมีกิจกรรมด้านวัฒนธรรมที่ร่วมกัน และเชื่อว่าความสัมพันธ์ด้านนี้จะมีความต่อเนื่อง จากที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาร่วม 190 ปี และมีความเชื่อมโยง “เรามุ่งมั่นที่จะสานต่อความสัมพันธ์ของเราที่มีความสำคัญให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทย รัฐบาลมีกลไกในการติดตามโบราณวัตถุ คือ คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุ ซึ่งมีภารกิจในสำรวจ รวบรวมข้อมูล และประสานความร่วมมือกับประเทศที่ครอบครองโบราณวัตถุ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศิลปากร ที่จะตรวจสอบข้อมูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ และเอกชนเพื่อนำกลับคืนประเทศ
สำหรับโบราณวัตถุบ้านเชียงที่มีการส่งคืนในวันนี้ กรมศิลปากรได้รับการติดต่อจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้ตรวจสอบ ภาชนะบ้านเชียงที่ถูกเก็บรักษาไว้ในสำนักงาน และได้หารือร่วมกันในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากตรวจสอบและยืนยันว่าเป็นโบราณวัตถุบ้านเชียง จากแหล่งโบราณวัตถุบ้านเชียง ขณะเดียวกันก็ได้หารือร่วมกับยูเนสโก จึงนำมาสู่การจัดงานส่งคืนในวันนี้ ซึ่งเป็นวันสากลเพื่อการต่อต้านการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรม
“การได้รับคืนโบราณวัตถุมากขึ้น มาจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ไม่ใช่เพียงการติดตามโบราณวัตถุอย่างเดียว และสหรัฐฯกับไทยยังมีงานด้านวัฒนธรรมร่วมกับอีกมาก ไม่ว่าการบูรณะโบราณสถาน แต่มีการบูรณาการร่วมกันมากขึ้น ทำให้มีการติดตามได้รับโบราณวัตถุมากขึ้น” นางสาวสุดาวรรณกล่าว
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า โบราณวัตถุบ้านเชียงที่ได้รับคืนในวันนี้จะนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจะพิจารณาว่าจะส่งไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงหรือเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
สำหรับโบราณวัตถุอื่นๆนั้นอาจจะได้รับคืนเพิ่มเติม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ที่ประสานงานกับหลายประเทศ และหากการตรวจสอบว่ามาจากประเทศไทย ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนและประเมินกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ของทั้งไทยและประเทศที่ครอบครอง
คณะกรรมการฯจะติดตามสม่ำเสมอทุก 3 เดือนซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีการติดตามอย่างใกล้ชิดมาก่อน และในการประชุมครั้งต่อไปของคณะกรรมการจะพิจารณาการส่งคืนโบราณวัตถุอีก 2 ชิ้นจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งการติดตามโบราณวัตถุนั้นไทยไม่ได้ดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว แต่ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศ และกลไกที่มีทำให้ผู้ที่ครอบครองประสงค์จะส่งคืน พันธมิตรทั้งจาก
“โบราณวัตถุอีก 2 ชิ้นที่ได้มีการส่งคืน คือประติมากรรมรูปเคารพของศาสนาฮินดู ในเบื้องต้นได้รับแจ้งว่าประสงค์ที่จะคืนให้ เนื่องจากว่ามีหลักฐานว่าน่าจะถูกนำออกไปจากประเทศไทย ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์ศิลป และนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณา” นายพนมบุตรกล่าว