ThaiPublica > เกาะกระแส > “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร” นิทรรศการเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาบุรีรัมย์ที่ดีที่สุดในโลก

“พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร” นิทรรศการเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาบุรีรัมย์ที่ดีที่สุดในโลก

5 เมษายน 2022


นายโยธินและนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ผู้บริจาค

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร โชว์นิทรรศการเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาบุรีรัมย์ที่ดีที่สุดในโลก ได้รับบริจาคจาก “โยธิน ธาราหิรัญโชติ” มอบไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน เปิดให้เข้าชมแล้ววันนี้

เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี หรือเครื่องปั้นดินเผาในวัฒนธรรมเขมร ที่มีศูนย์กลางการผลิต เมื่อพุทธศตวรรษที่สิบสองถึงสิบเก้า หรือ 700-1400 ปีมาแล้ว มีความผูกพันกับผู้คนในอดีตที่พบในแหล่งที่อยู่อาศัยและศาสนสถาน โดยแบ่งประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น หม้อ คนโท เต้าปูน และใช้ในพิธีกรรม ศาสนา เช่น โกศ เครื่องประดับสถาปัตยกรรม

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้รับมอบเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากคอลเลกชันส่วนตัวของนายโยธินและนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ จำนวน 164 รายการ ที่ได้รับการยอมรับจากนักสะสมชั้นนำว่าเป็นคอลเลกชันที่ใหญ่และดีที่สุดในโลก เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ ให้คนไทยภาคภูมิใจที่ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพสูงมาตั้งแต่ครั้งโบราณ จากแหล่งผลิตที่เตาบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ผลิตสินค้าเครื่องปั้นดินเผาส่งออกไปยังราชสำนักเมืองพระนคร และเมืองอื่นๆ ในราชอาณาจักรเขมรโบราณ และการจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาบุรีรัมย์ที่ดีที่สุดในโลกจะดึงดูดนักท่องเที่ยว ผู้สนใจทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนครมากขึ้น

นายโยธิน ธาราหิรัญโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท บีเอสวายกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ศึกษารวบรวมเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาบุรีรัมย์ ผู้บริจาค เปิดเผยถึงความหลงใหลและจุดเริ่มต้นว่า “เมื่อปี 2528 ตนไปเดินตลาดของเก่าที่วัดมหาธาตุ เห็นคุณลุงแก่ๆ มีของ 5-6 ชิ้นเป็นกระปุกนกเล็กๆ ขุดจากหนองเจดีย์ สุพรรณบุรี เห็นแล้วชอบจึงซื้อมาในราคา 300 บาท เอากลับมานั่งดูแล้วชอบมาก จึงไปตลาดของเก่าตลอด ได้เจอของเก่าและเครื่องกระเบื้องจำนวนมากจากสุโขทัย เวียงกาหลง อุ้มผาง ซึ่งตอนนั้นเรียกเครื่องถ้วยเขมร จึงซื้อเก็บสะสมปีละ 1-2 ชิ้นเท่านั้น และได้ชิ้นพิเศษมาคือ “กระปุกคน” ขณะที่บางชิ้นชอบมากแต่ราคาสูงเท่ากับเงินเดือนทั้งปีจึงซื้อไม่ได้

“ปี 2535 ผมก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างของตัวเองแล้ว เริ่มมีสตางค์บ้าง จึงเก็บสะสมของคุณภาพดีจำนวนมากขึ้น และในช่วงนั้นนักสะสมของเก่าที่มีชื่อเสียงคือคุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ได้ซื้อหมดแล้ว เมื่อประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ผมได้ศึกษาจนมีองค์ความรู้แล้ว และรวบรวมของเก่ามาระยะหนึ่ง จึงได้ปรึกษากับอาจารย์ปริวรรต ธรรมปรีชากร ผู้เชี่ยวชาญเครื่องปั้นดินเผาจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าผมตั้งใจจะซื้อของที่มีความสำคัญและดีที่สุดเท่านั้น”

นายโยธินกล่าวต่อว่า “โชคดีก่อนหน้าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 2 ปี ผมไหวตัวทันได้หยุดงานก่อสร้างตึกสูง และหันไปรับจ้างก่อสร้างให้กับบริษัทต่างประเทศแทน ความเสียหายจากเศรษฐกิจ เงินบาทอ่อน ปิดไฟแนนซ์ คนรวยจากตลาดหุ้นหายไป เมื่อเศรษฐกิจพัง ส่งผลให้การค้าขายของเก่าเปลี่ยนไป ปกติจะต้องซื้อขายผ่านเทรดเดอร์ที่ขายเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ และลูกค้าที่อยู่ในลิสต์เท่านั้น ประกอบกับช่วงนั้นของเก่าจากชายแดนประเทศไทยเริ่มเข้ามาขายในกรุงเทพมากขึ้น ทำให้มีนักสะสมจากต่างประเทศ ญี่ปุ่น ยุโรป เข้ามาซื้อของเก่าจำนวนมาก ทำให้บางชิ้นผมมีเวลาตัดสินใจเพียง 2 ชั่วโมงที่จะซื้อหรือไม่ซื้อ”

“ผมไม่ใช่นักสะสมรายใหญ่ ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจทุกเช้าวันเสาร์ผมต้องตื่นตี 5หรือ 6 โมงเช้าผมจะอยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักรแล้ว ผมทำแบบนี้ 7-8 ปี ต่อเนื่องจนผมสนิทกับผู้ค้าของเก่า ผมเลือกซื้อจากคนที่เชื่อว่ากล้าได้กล้าเสีย ซื่อสัตย์ นิสัยดี พัฒนาองค์ความรู้ได้ 2-3 ราย”

“หลังวิกฤติเศรษฐกิจเริ่มมีทุนมากขึ้น ในปี 2542 เริ่มพบของคุณภาพดีและไม่เคยปรากฏในประเทศไทยมาก่อน “ผมตั้งใจว่า ผมต้องได้ข่าว และเห็นของเป็นคนแรกเท่านั้น” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของการสะสม รวบรวม ผมทำโดยไม่มีใครรู้ ไม่เคยให้สัมภาษณ์ ไม่เคยออกรายการ จนปี 2548 ไม่มีของเก่าในตลาดอีกแล้ว ผมมีของสะสมกว่า 100 ชิ้นที่มีคุณภาพ มีความสำคัญต่อการค้นพบ จากการสะสมอาทิตย์ละชิ้น เดือนละชิ้น ปีละชิ้น จนผมคิดว่าเพียงพอแล้วและน่าจะนำสิ่งที่มีอยู่มาต่อยอดเพื่อทำประโยชน์”

นายโยธินกล่าวต่อว่า “ผมจึงตั้งใจจะทำหนังสือโดยคิดชื่อหนังสือไว้ก่อนว่า “Khmer Ceramics: Beauty and Meaning เซรามิกเขมร ความงามและความหมาย” ซึ่ง “ความงาม” ได้คุณ Robert McLeod ที่เป็นทั้งช่างภาพชื่อดังฝีมือดีระดับนานาชาติและนักสะสม ถ่ายรูปความงามแต่ละชิ้น ส่วน “ความหมาย” ต้องเป็นเรื่องที่จับต้องได้มีความเป็นวิทยาศาสตร์ เช่น ผลิตจากเตาไหน ผมให้ทุนอาจารย์ปริวรรตเพื่อทำวิจัยและเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ นอกจากนั้นยังมีความหมายจากการตีความของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กฤษฎา พิณศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และคุณดอว์น (Dawn F. Rooney) ผู้เชี่ยวชาญชื่อดัง มาค้นคว้าและถ่ายทอดสุนทรียภาพความงดงามของคอลเลกชันนี้”

ทุกอย่างเสร็จในปี 2552 ผมไปพบ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ เพื่อให้สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์จัดพิมพ์และจำหน่าย ซึ่งคุณหญิงตอบตกลงและยังกรุณาช่วยแก้ไขหนังสือให้อีกด้วย ทำให้ปี 2553 ผมมีความสุขที่ได้ชื่นชมสิ่งที่ทำมาทั้งหมด ปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ผมต้องขนของทั้งหมดไปเก็บไว้บนชั้นสองของบ้านและย้ายไปอยู่คอนโด ระหว่างนั้นต้องกลับมาดูว่าน้ำท่วมชั้นสองหรือยัง

“ผมไม่มีความคิดจะทำพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว และไม่อยากให้ของสะสมทั้งชุดกระจัดกระจายหายไปแม้จะมีคนเสนอซื้อในราคาสูงถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 350 ล้านบาท) ผมมีดำริที่จะมอบคอลเลกชันนี้ให้กับพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเพื่อนบอกว่าให้ไปเขาก็เอาไปเก็บ จึงหยุดความคิดนี้ไป”

เมื่อ 3 ปีที่แล้วผมเชิญอาจารย์ปริวรรตมาที่บ้านเพื่อให้ทุนทำวิจัยเรื่อง อิทธิพลจีนกับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ และอาจารย์ได้บอกว่าคอลเลกชันที่ผมมีอยู่นั้นยังไม่มีใครเจอจากเตาเผานี้อีกเลย ผมคิดว่าของที่สะสมอยู่มีความสำคัญสูงมาก ควรจะเป็นสมบัติของชาติ

“ผมใช้เวลาตัดสินใจ 2 วัน 2 คืน จึงติดต่อ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ได้แนะนำให้คุณวีระ โรจน์พจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครติดต่อมา ผมได้แจ้งว่าถ้าบริจาคคอลเลกชันนี้แล้วขอให้จัดแสดง ไม่ให้เก็บในคลัง ถ้าไม่มีเงินจัดสถานที่ ผมพร้อมที่จะบริจาค ขณะนั้นพิพิธภัณฑ์กำลังปรับปรุงสถานที่ให้อยู่ในมาตรฐานสากล จึงได้เชิญผมกับภรรยามาดูสถานที่พิพิธภัณฑ์มีห้องจัดแสดงยุคต่างๆ ครบแล้วทั้ง ทวารวดี เจนละ ศรีวิชัย หริภุญชัย จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ยังขาดสมัยลพบุรีพอดี ซึ่งของสะสมสมบัติส่วนตัวของผมที่จะมาเติมเต็มให้สมบูรณ์ กลับบ้านไปผมบอกภรรยาว่า ผมเบาใจและอิ่มเอมใจที่คอลเลกชันของเราได้อยู่ในที่ควรอยู่ ได้เป็นสมบัติของชาติของแผ่นดิน ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดการศึกษาให้กับผู้ที่สนใจและเยาวชน เราทำงานกันต่อเนื่องจนธันวาคม ปี 2564 เจ้าหน้าที่ได้ไปรับคอลเลกชันนี้จากบ้าน ผมมีความปีติ สิ่งนี้มีความหมายกับผมมาก และคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่ง ที่ผมได้มุ่งมั่นเอาชนะทุกสิ่งเพื่อสะสมรวบรวมจนเป็นสมบัติของชาติในที่สุด”

“ต้นไม้มีราก รากที่ดีทำให้ต้นไม้เจริญเติบโต สู้แดดสู้ฝน ประเทศก็เช่นกัน รากคือสิ่งที่บรรพบุรุษทำไว้ รากที่ดีคือพิพิธภัณฑ์ คอลเลกชันนี้ผมใช้ความพยายามมาทั้งชีวิต ผมหวังว่าผู้ที่สนใจ เยาวชน คนรุ่นใหม่ จะมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เพื่อเรียนรู้ ให้เห็นรากเหง้าของเรา สิ่งที่บรรพบุรุษทำ และจะได้นำสิ่งนี้ไปเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศต่อไป” นายโยธินกล่าวสรุป

กรมศิลปากรได้จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาถพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร