อัยการสูงสุดฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตฯ ดำเนินคดีอาญา ‘บิ๊กกรมศุลฯ – เกรย์มาร์เก็ต’ รวม 16 ราย ปมนำเงินภาษีที่เก็บเข้าคลังมาแล้วคืนให้ผู้นำเข้ารถหรูกว่า 19 ล้านบาท โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้านผู้ถูกกล่าวหาเตรียมจ้างทนายต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อ
ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าวไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตั้งทีมเข้าไปตรวจสอบผู้บริหารระดับสูงของกรมศุลกากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้นำเงินภาษีที่เก็บเข้าคลังมาแล้วเกือบ 20 ล้านบาท คืนให้กับผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ หรือ “เกรย์มาร์เก็ต” 2 ราย อันได้แก่ บริษัท จูบิลี่ ไลน์ จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์ยี่ห้อ “Lamborghini” และบริษัท นิชคาร์ จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์ยี่ห้อ “Lotus” โดยที่ไม่มีกฎหมายรองรับ หรือ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรดำเนินการดังกล่าวได้ ซึ่งต่อมา สตง.ได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงส่งให้คณะกรรมการ ปปช.ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง รวมทั้งได้ส่งผลสอบให้กรมศุลกากร ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง
ล่าสุด สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต อัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ อส 0040/626 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ส่งถึงประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะเจ้าของคดี ขอให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหา 16 คน มารายงานตัวต่อพนักงานอัยการที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 9.30 น. เพื่อดำเนินการฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ต่อไป
ในหนังสือด่วนที่สุดที่อัยการสูงสุดทำถึงประธานกรรมการ ป.ป.ช.ฉบับนี้ ได้อ้างถึงหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช.ลับที่ ปช.0021/4319 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ที่ ป.ป.ช.ได้ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมด้วยเอกสารประกอบ โดยขอให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีกับนางฉวีวรรณ คงเจริญกิจกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมศุลกากร กับพวกผู้ถูกกล่าวหา กรณีดำเนินการคืนภาษีอากรให้กับบริษัท จูบิลี่ ไลน์ จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป ยี่ห้อ Lamborghini และบริษัท นิชคาร์ จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป ยี่ห้อ Lotus โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อศาลที่มีเขตอำนาจในความผิดตามประมวลกฎหมายออาญา มาตรา 154 , 157 และมาตรา 154,157 ประกอบมาตรา 86 นั้น
อัยการสูงสุดได้ทำหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ อส 0001 (6) / 6775 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ส่งถึง ป.ป.ช. เพื่อแจ้งประเด็นข้อกล่าวหาที่ไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ และตั้งคณะกรรมการผู้แทนอัยการสูงสุดไปยังประธานกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้การไต่สวนข้อเท็จจริงครบถ้วนสมบูรณ์
และหลังจากอัยการสูงสุดได้พิจารณารายงานผลการไต่สวน สำนวนการไต่สวน เอกสารพยานหลักฐาน รวมทั้งความเห็น และมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในสำนวนการไต่สวนเรื่องดังกล่าวแล้ว จึงมีคำสั่งรับดำเนินคดีอาญาฟ้องผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งหมด 16 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก นางฉวีวรรณ คงเจริญกิจกุล ผู้ถถูกกล่าวหาที่ 1 , นายธีระ สุวรรณพงษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 , นางศุภวรรณ พลาดิสัย หรือ เจริญวราวุฒิ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 , นายพินิจ นิ่มตระกูล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 , นายพร้อมชาย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 , นางรำพินธ์ กำแพงทิพย์ หรือ พงษ์ดา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 , นายบัญชา หรือ บรรณชา กอสนาน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 , นางดาริศรา บุญยะนันท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 13 อาจมีความผิดฐานะเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ หรือ แสดงว่าตนมีหน้าที่เรียกเก็บ หรือ ตรวจสอบภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือ เงินอื่นใด โดนทุจริตรียกเก็บ หรือ ละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือ เงินนั้น หรือ กระทำการ หรือ ไม่กระทำการอย่างใด เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร หรือ ค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสีย หรือ เสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความสียหานแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ ปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 91 154 และ 157
กลุ่มที่ 2 นายศิริศักดิ์ ตั้งสุภากิจ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 , นายประพันธ์ พิลมยรมย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 , นายบุญสืบ บุญญกนก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 , นายชูชาติ อัศวโรจน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 อาจมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ ปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 91 , 157
และกลุ่มที่ 3 บริษัท จูบิลี่ ไลน์ จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 14 , บริษัท นิชคาร์ จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 15 , นายผ่องศรี สุทธิรัตน์เสรีกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 16 , นายวิทวัส ชินบารมี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 17 อาจมีความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ หรือ แสดงว่าตนมีหน้าที่เรียกเก็บ หรือ ตรวจสอบภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือ เงินอื่นใด โดยทุจริตเรียกเก็บ หรือ ละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือ เงินนั้น หรือ กระทำการ หรือ ไม่กระทำการอย่างใด เพื่อให้ผู้เสียที่ภาษีอากร หรือ ค่าธรรมเนียมนั้นไม่ต้องเสีย หรือ เสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 ประกอบมาตรา 86 , 91
อัยการสูงสุดจึงทำหนังสือแจ้งให้ ป.ป.ช.รับทราบ เพื่อดำเนินการให้ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหา และส่งไปยังสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 2 โดยให้ผู้ถูกกล่าวหามารายงานตัวต่อพนักงานอัยการ ณ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เลขที่ 88/2 ถนนเลียบทาวงรถไฟ 1 แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 9.30 น. เพื่อดำเนินการฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 , 92 ต่อไป
แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร กล่าวว่า หลังจากผู้ถูกกล่าวหาไปรายงานตัวต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯแล้ว ก็เตรียมจ้างทนายความต้องสู้คดีในชั้นศาลต่อไป ซึ่งในชั้นนี้ต้องถือว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุด
อนึ่ง ความเป็นมาของ คดีนี้เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2552 โดยบริษัท จูบิลี่ ไลน์ จำกัด ได้นำเข้ารถยนต์ ยี่ห้อ Lamboghini รุ่น Gallardo ตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 6 ฉบับ และบริษัท นิชคาร์ จำกัด ได้นำเข้ารถยนต์ ยี่ห้อ Lotus รุ่น Elise S และ Exige S ตามใบขนสินค้าขาเข้า จำนวน 10 ฉบับ เข้าไปในเขตปลอดอากรบางกอกฟรีโซน
ต่อมา ผู้นำเข้าทั้ง 2 ราย ได้นำรถออกจากเขตปลอดอากรเพื่อนำมาใช้ หรือ ขายในราชอาณาจักร ขณะนำรถยนต์ผ่านพิธีการศุลกากร ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่แผนกประเมินอากร ประจำสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ มีความเห็นว่า ราคาที่ผู้นำเข้าทั้ง 2 รายสำแดงต่อกรมศุลกากรเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาทดสอบตามที่กำหนดในคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 ข้อ 2.1.1 และข้อ 2.2 วรรค 2 โดยเอกสารหลักฐานที่ผู้นำเข้านำมาชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ไม่ใช่เอกสารต้นฉบับ ส่วนหลักฐานการชำระเงินไม่ได้ผ่านการรับรองจากธนาคาร เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงสั่งให้ผู้นำเข้าทั้ง 2 รายวางเงินประกันเพิ่มเติมจนครบจำนวนเงินค่าภาษีสูงสุดที่ต้องชำระ ตามมาตรา 112 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ในกรณีบริษัท จูบิลี่ไลน์ จำกัด มีการวางเงินประกันค่าภาษีต่อกรมศุลกากรเป็นเงินทั้งสิ้น 16.86 ล้านบาท ส่วนกรณีบริษัท นิชคาร์ จำกัด วางเงินประกัน 3.43 ล้านบาท
จากนั้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 ฝ่ายบริการคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรที่ 3 กรมศุลกากรได้ทำหนังสือเลขที่ กค 0504 (3.3)/345-346 แจ้งผู้นำเข้าทั้ง 2 รายให้นำเอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อ-ขายรถฉบับจริงมาส่งให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรพิจารณาภายใน 7 วัน ปรากฎว่าผู้นำเข้าทั้ง 2 ราย ไม่ยื่นเอกสารภายในกำหนดเวลา
วันที่ 21 เมษายน 2552 เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงส่งแบบแจ้งประเมินอากร (แบบ กศก.114) ถึงผู้นำเข้าว่า ราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงต่ำกว่าราคาตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 ข้อ 2.1.1 จึงผลักเงินประกันของผู้นำเข้าทั้ง 2 รายวางไว้ต่อกรมศุลกากร ประมาณ 20.29 ล้านบาท เข้าเป็นรายได้ของแผ่นดิน ตามระเบียบกรมศุลกากร
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 ผู้นำเข้าทั้ง 2 รายได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์การประเมินอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 112 (ฉ) แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 ปรากฏว่ามีผู้บริหารระดับสูงของกรมศุลกากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนี้ ได้ร่วมกันทำเรื่องเสนอรองอธิบดีกรมศุลกากรลงนามอนุมัติ เพิกถอนหนังสือแจ้งผู้นำเข้ารถยนต์อิสระให้ส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม ยกเลิกการกำหนดราคาศุลกากรและยกเลิกการประเมินภาษี พร้อมกำหนดราคาศุลกากรที่จะใช้เป็นฐานคำนวณภาษีนำเข้าใหม่ ส่งผลทำให้กรมศุลกากรต้องนำเงินภาษีที่เก็บเข้าคลังไปแล้ว เอาออกมาคืนให้บริษัท จูบิลี่ไลน์ จำกัด และบริษัท นิชคาร์ จำกัด รวมเป็นเงินประมาณ 19.88 ล้านบาท สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทราบเรื่องเข้าจึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้จนได้ข้อสรุปส่ง ป.ป.ช. และกรมศุลกากร หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป (คลิ๊กอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่าง)