
AMRO แนะไทยต้องปฏิรูปโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อฟื้นการพลิกโฉมเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพการเติบโต
สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ระบุในข่าว ที่เผยแพร่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังแข็งแกร่งขึ้นจากอุปสงค์ภาคเอกชนที่ฟื้นตัว การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และการเร่งเบิกจ่ายของรัฐบาล การเติบโตคาดว่าจะแข็งแกร่งขึ้นเป็นร้อยละ 2.8 ในปี 2567 และร้อยละ 3.3 ในปี 2568 อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเติบโตต่ำอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่จะมีการลงมือทำและดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างและพัฒนาตามแผน
ในระยะยาว ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในการพลิกฟื้นศักยภาพการเติบโตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนและการปฏิรูปโครงสร้างที่ส่งเสริมการเติบโตในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็จัดการนโยบายการคลังและการเงินอย่างระมัดระวังภายใต้ข้อจำกัดที่เข้มข้น
ข้อสรุปนี้ได้รับการเน้นย้ำในรายงาน 2024 Annual Consultation Report on Thailand ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 จากการเยือนประเทศไทยเพื่อหารือประจำปีของ AMRO ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม ถึง 9 สิงหาคม 2567 และใช้ข้อมูลที่มีจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
พัฒนาการและแนวโน้มเศรษฐกิจ
การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลงต่ำกว่าคาดในปี 2566 โดย GDP เติบโตร้อยละ 1.9 เนื่องจากการส่งออกที่อ่อนแอและการอนุมัติงบประมาณล่าช้า การเติบโตคาดว่าจะแข็งแกร่งขึ้นเป็นร้อยละ 2.8 ในปี 2567 และร้อยละ 3.3 ในปี 2568 จากการเร่งเบิกจ่ายของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการเปิดตัวโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล การส่งเสริมการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
การเติบโตในไตรมาสที่สองของปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออกที่ดีขึ้น การเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 และ 2568 คาดว่าจะแข็งแกร่งขึ้น โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะเกินระดับก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2568 การใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะเร่งตัวขึ้น โดยโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ปรับใหม่จะช่วยหนุนการเติบโตในระยะสั้น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำและลดลงเหลือร้อยละ 0.7 ในปี 2567 จากร้อยละ 1.3 ในปี 2566 เนื่องจากการลดการอุดหนุนด้านพลังงานและราคาอาหารและปัจจัยจำเป็นอื่น ๆ ที่ลดลง คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.5 ในปี 2568 เนื่องจากการอุดหนุนจะค่อย ๆ หมดลง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะแข็งแกร่งขึ้น
ความเสี่ยงและความเปราะบาง
ความเสี่ยงระยะสั้น ได้แก่ การส่งออกที่อ่อนแอ ความล่าช้าในการเบิกจ่ายภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่อ่อนตัวลง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและการฟื้นตัวของรายได้ที่ช้าของกลุ่มที่มีความเปราะบางอาจก่อให้เกิดความท้าทายต่อการบริโภคและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร
ในระยะยาว ประเทศไทยเผชิญกับความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของหนี้สาธารณะและศักยภาพในการเติบโตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มดิจิทัลและการลดคาร์บอนอาจทำให้ภาคการส่งออกหลักไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกส่วนใหญ่ในปีต่อๆ ไป
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
นโยบายควรให้ความสำคัญกับการดูแลความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินต่อเศรษฐกิจจริง ในขณะที่สร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือ policy space ในระยะปานกลาง และการฟื้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อศักยภาพในการเติบโตที่สูงขึ้นในระยะยาว
จุดยืนของนโยบายการเงินในปัจจุบันยังคงสอดคล้องกับแนวโน้มกรณีฐานในการเสริมสร้างการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อ และการลดหนี้ภาคครัวเรือนอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้ หากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงต่ำกว่าการคาดการณ์ในกรณีฐาน AMRO ชื่นชมความพยายามของทางการในการพยายามลดหนี้ครัวเรือนและเพิ่มกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ
ในด้านนโยบายการคลัง AMRO ชื่นชมกับการลดขนาดโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลและการปรับการแจกชุดแรกใหม่ให้มีเป้าหมายไปที่กลุ่มเปราะบางได้ดีขึ้น และเห็นว่าภาครัฐควรฟื้นฟูขีดความสามารถทางการคลังด้วยการรัดเข็มขัดทางการคลัง(consolidation)และมีธรรมาภิบาลทางการคลังที่เข้มงวดยิ่งขึ้น AMRO ชื่นชมการแก้ไขกรอบการคลังระยะปานกลาง (Medium-Term Fiscal Framework -MTFF) ที่ทันเวลา โดยมีเป้าหมายการรัดเข็มขัดทางการคลังที่ชัดเจน และเมื่อพิจารณาถึงความต้องการรายจ่ายระยะยาวที่เพิ่มขึ้น การปฏิรูปรายได้อย่างครอบคลุมจึงมีความจำเป็น
การที่จะทำให้ศักยภาพการเติบโตในระยะยาวสูงขึ้น การพลิกฟื้นการปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร เร่งการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคที่มีประสิทธิผลมากขึ้น การยกระดับการผลิตไปสู่กลไกการเติบโตใหม่ การยกระดับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม และปลดปล่อยศักยภาพของภาคบริการผ่านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมการให้บริการระดับไฮเอนด์
จากการประเมินสถานการณ์ในรายงาน ประเทศไทยจะเข้าสู่สถานะผู้มีรายได้สูงในปี 2593 ภายใต้แนวโน้มปัจจุบัน แต่การกล้าปฏิรูปและการดำเนินการตามแผนพัฒนาอย่างมีประสิทธิผลเพื่อยกระดับการเติบโตที่มีศักยภาพ ประเทศไทยจะสามารถบรรลุสถานะรายได้ที่สูงได้ภายในต้นปี 2583
เพื่อขับเคลื่อนการพลิกโฉมทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่มุ่งเน้นมากขึ้นและการดำเนินงานที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในการส่งเสริมนวัตกรรม การพัฒนาทุนมนุษย์ และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการดำเนินการตามแผนพัฒนา ผ่านความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการผลักดันโครงการลงทุนให้เกิดขึ้น จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการแปลงความพยายามในการปฏิรูปให้เป็นประโยชน์ต่อการเติบโต
สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) เป็นองค์กรระหว่างประเทศ มีภารกิจในการติดตามการติดตาม ประเมิน และรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงิน ของสมาชิกในภูมิภาค ASEAN+3 ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้