ThaiPublica > ประเด็นร้อน > วิกฤติโครงสร้างประเทศไทย > “พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ชี้เศรษฐกิจไทยเผชิญ “headwind” ปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าทำเหมือนเดิม จีดีพีต่ำ-หมดเสน่ห์ดึงดูดการลงทุนใหม่

“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ชี้เศรษฐกิจไทยเผชิญ “headwind” ปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าทำเหมือนเดิม จีดีพีต่ำ-หมดเสน่ห์ดึงดูดการลงทุนใหม่

15 กรกฎาคม 2024


“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ชี้เศรษฐกิจไทยเผชิญ “headwind” จากปัญหาเชิงโครงสร้าง หวั่นเป็นสโลโมชันสึนามิที่กำลังจะมาถึงในเร็ววัน ย้ำวันนี้ไม่ใช่ว่าเราโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่ศักยภาพเราโตน้อยลงไปเรื่อยๆ บุญเก่าทยอยหมดไป สร้างบุญใหม่ไม่ทัน ถ้าทำเหมือนเดิม หมดเสน่ห์ดึงดูดการลงทุนใหม่ จีดีพีต่ำ แนะรัฐอย่าทำตัวขวางภาคเอกชนด้วยกฎระเบียบและคอร์รัปชัน

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามีแนวโน้มเติบโตช้าลงเรื่อยๆ จากที่เคยเติบโตระดับ 7-10% ในทศวรรษที่ 90 เป็นมหัศจรรย์แห่งเอเชีย กลับทยอยลดลงเหลือ 5% หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง และเหลือ 3% หลังวิกฤติการเงินโลกในปี 2008

จนกระทั่งหลังวิกฤติโควิด-19 เป็นต้นมา ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับไปโตเหมือนเดิมหากการท่องเที่ยวกลับมา แต่ปรากฎว่าประเทศไทยฟื้นตัวช้ามาก โดยเติบโตเฉลี่ยไม่ถึง 2% เมื่อช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลดลง

“ถ้าเราดูการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไทยแทบจะเป็นประเทศที่โตช้าที่สุดในอาเซียน 3 ปีติดกันตั้งแต่หลังวิกฤติโควิด จีดีพีปี 2023 ยังต่ำกว่าปี 2019 แสดงว่าเราเจอผลกระทบจากโควิด แล้วเราฟื้นกลับมาช้ามากๆ”

“วันนี้จึงมีดีเบตที่คนตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าศักยภาพ เราต้องกระตุ้นให้มันกลับไปที่ศักยภาพ แต่จริงๆ แล้วผมกำลังตั้งคำถามว่า หรือมันเป็นเพราะศักยภาพของเศรษฐกิจไทยด้อยลงเรื่อยๆ ต่างหาก คือไม่ใช่ว่าเราโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่ศักยภาพเราโตน้อยลงไปเรื่อยๆ”

เศรษฐกิจไทยเผชิญ “headwind” จากปัญหาเชิงโครงสร้าง

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า สาเหตุหลักสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง เกิดจากปัญหาแนวโน้มโครงสร้างประชากร อัตราการเกิดลดลงอย่างรวดเร็ว จำนวนประชากรวัยทำงานตั้งแต่อายุ 15-60 ปี ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และกำลังค่อยๆ ทยอยลดลง ขณะที่จำนวนประชากรผู้สูงอายุก็เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ

ปัญหาก็คือ ถ้าเศรษฐกิจไทยเป็นเครื่องจักร คงเป็นเหมือนเครื่องจักรที่ใส่วัตถุดิบคือ “แรงงาน” น้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่เพียงแต่เติบโตช้า แต่จะโตติดลบ ในขณะที่คุณภาพของแรงงานก็มีปัญหา สังเกตจากคะแนนสอบ PISA ที่ตกต่ำลง

“ผมคิดว่าโครงสร้างประชากร คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย และมันเป็น headwind หรือลมปะทะที่ค่อนข้างหนักมาก ที่เราจะต้องเผชิญไปข้างหน้า”

ประเด็นที่สองก็คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมไทย จากที่เคยเปลี่ยนผ่านแรงงานภาคการเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรม แล้วทำให้ผลิตภาพดีขึ้น จนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขึ้นมาได้อย่างน่าประทับใจในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

แต่ต่อมาเมื่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมขึ้นถึงจุดสูงสุด คนก็เริ่มทยอยออกจากภาคอุตสาหกรรมไปอยู่ภาคบริการที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาของเมืองไทยที่น่ากังวลก็คือ ภาคอุตสาหกรรมเหมือนกำลังจะไม่ได้ไปต่อในหลายด้าน โดยเริ่มเห็นสัญญาณจากจำนวนโรงงานที่ปิดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศ และเรื่องความสามารถในการแข่งขัน อย่างเช่น การประกาศปิดตัวของโรงงานผลิตรถยนต์พร้อมๆ กันสองยี่ห้อ มันเป็นสัญญาณเตือนที่ค่อนข้างน่ากังวล

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรม อาจมีสาเหตุแตกต่างกันไป แต่ ดร.พิพัฒน์มองว่า มี 3 เรื่องใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่

เรื่องที่หนึ่งคือ เรากำลังเจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่อาจจะตามไม่ทัน เราเคยเก่งมากในด้านหนึ่ง แต่พออุตสาหกรรมเปลี่ยนไปทั้งในแง่ของอุปสงค์และเทคโนโลยี เราปรับตัวไม่ทัน ก็ทำให้เรายังเก่งอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม ในขณะที่โลกเปลี่ยนไปทางอื่นแล้ว

เรื่องที่สองคือ แรงงานของประเทศพัฒนามีราคาแพงขึ้น เราจึงต้องไปแข่งขันกับอุตสาหกรรมใหม่ที่แพงขึ้น สมัยก่อนเราอาจจะแข่งกับอุตสาหกรรมทอผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ แต่วันนี้มันอยู่เมืองไทยไม่ได้แล้ว เพราะเขาควรจะต้องไปอยู่ประเทศอื่นๆ เช่น บังกลาเทศ เวียดนาม

ดังนั้น บุญเก่าที่เราเคยมีเริ่มทยอยหมดไป ในขณะที่สร้างบุญใหม่กลับขึ้นมาไม่ทัน แล้วเราหาเซกเตอร์ที่มีผลิตภาพพอๆ กับภาคอุตสาหกรรมลำบาก

ซ้ำร้ายเรื่องที่สามก็คือ เราเริ่มเห็นการแข่งขันจากจีนหนักขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่เขามีสเกลการผลิตมหาศาล บวกกับเศรษฐกิจภายในประเทศเขาไม่ดี ฉะนั้น วันนี้เขาจึงเริ่มลดราคาสินค้า กล่าวคือ สินค้าจีนมีกำลังการผลิตส่วนเกิน เพราะเศรษฐกิจในประเทศเขาเริ่มชะลอตัวลง ดังนั้น ยิ่งต้องเร่งการผลิตออกมา ซึ่งสินค้าหลายชนิดมันมาแข่งกับสินค้าไทยด้วย

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

ภาคการผลิตกำลังเจอศึกหนัก บุญเก่าทยอยหมดไป สร้างบุญใหม่ไม่ทัน

ดร.พิพัฒ์กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากความสามารถในการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และภาพตลาดที่เปลี่ยนไปคืออุตสาหกรรม “รถยนต์” กับ “ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่อันดับหนึ่งและสองของประเทศไทย

แต่พอสองอุตสาหกรรมนี้หดตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยติดลบต่อเนื่องกันมามากกว่า 1 ปี

โดยในส่วนรถยนต์ เจอปัญหาเรื่องของเทคโนโลยี เพราะไทยเป็นประเทศผลิตรถยนต์สันดาปภายในที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และมีการส่งออกไปหลายประเทศ แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าอุปสงค์หายไปเพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ยอดขายก็ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ยังเจอการแข่งขันจากรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ก็ยิ่งทำให้ตลาดที่เล็กลงอยู่แล้วกลับเล็กลงไปอีก หากเป็นแบรนด์ใหญ่อย่างโตโยต้า ฮอนด้า อาจยังพอแข่งขันได้ แต่พอเป็นแบรนด์เล็กลงมา ก็โดนแบรนด์ใหม่ๆ ของรถยนต์ไฟฟ้ากินส่วนแบ่งไปเยอะมาก ทำให้การใช้กำลังการผลิตของเขาลดลง

เพราะฉะนั้น เมื่อยอดขายเขาหายไป คือผลิตแล้วขาดทุน ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมเขาจึงต้องหยุดการผลิต และอาจจะต้องไปพึ่งพาการผลิตจากที่อื่นแทน เพราะตลาดในประเทศไทยและการแข่งขันต่างๆ ไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาสามารถอยู่ได้

ในส่วนของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ก็เช่นกัน ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปริมาณการผลิตใหญ่ที่สุดในโลก เราเห็นการรวบรวมการผลิตฮาร์ดดิสก์จากประเทศมาเลเซียหรือปิดจากเมืองจีนมารวมอยู่ที่เมืองไทย ทำให้เรามีส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่มาก ซึ่งเราค่อนข้างรู้สึกภาคภูมิใจ

แต่ปัญหาวันนี้คือ โลกทั้งโลกใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์น้อยลง หรือแทบจะไม่มีใครใช้แล้ว เขาขยับไปใช้โซลิดสเตตแทน ฉะนั้น การผลิตของเราจึงลดลง

“ไม่ได้บอกว่าฮาร์ดดิสก์จะหายไปจากโลกหรือเลิกใช้ไปในทันที แต่ว่าการขยายตัวของตลาดน้อยลงแน่นอน สมัยก่อนขายแลปทอปต้องมีฮาร์ดดิสก์ แต่วันนี้ไม่มีแล้ว กลายเป็นใช้โซลิดสเตตต่างๆ”

“บวกกับประเทศไทยยังไม่ได้เป็นศูนย์การผลิตโซลิดสเตตที่ใหญ่ขนาดนั้น เพราะเจ้าของเทคโนโลยีอย่างสหรัฐฯ เกาหลี ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน ยังยึดการผลิตเอาไว้อยู่ ไม่ได้นำมาฝากเมืองไทยผลิต”

“ดังนั้น การผลิตฮาร์ดดิสก์ในเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา มีการชะลอตัวของการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดหวังว่าในอนาคตจะขยายตัวกลับขึ้นมาได้ แต่ในแนวโน้มระยะยาวเห็นได้ค่อนข้างชัดว่าเมื่อโซลิดสเตตราคาใกล้เคียงกับฮาร์ดดิสก์ คนก็เริ่มกระโดดข้ามไปใช้โซลิดสเตตมากขึ้น แล้วอุปสงค์ของฮาร์ดดิสก์ก็จะลดลงมาเรื่อยๆ”

“ฉะนั้น ประเด็นแรกก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตัวอุตสาหกรรม แล้วเราไปตามอุตสาหกรรมใหม่ไม่ทัน ก็เป็นปัญหา” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ประเด็นที่สองคือ พอค่าแรงเราแพงขึ้น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องสูญเสียการผลิตไปในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเยอะๆ อย่างเช่น รองเท้า

และประเด็นที่สามอย่างที่กล่าวคือ การแข่งขันจากจีน ซึ่งเราเห็นการย้ายฐานการผลิต และการนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้เมืองไทยขาดดุลการค้าเป็นทวิภาคีกับจีนสูงขึ้นมาก เพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่า

ในขณะเดียวกัน เราก็กำลังเจอการแข่งขันในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จีนผลิตได้ถูกกว่าเรา แล้วก็เริ่มมาแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศ บางอุตสาหกรรมอาจมีการมาตั้งการผลิตในเมืองไทยด้วยซ้ำ การผลิตในเมืองไทยก็เริ่มเจอปัญหา

“ประเด็นพวกนี้ ทำให้ภาคการผลิตของเมืองไทยกำลังเจอศึกหนัก พูดง่ายๆ ก็คือ บุญเก่าที่เราเคยมีจากภาคอุตสาหกรรมที่เคยเป็นเครื่องจักรที่แข็งแกร่งของประเทศไทย และส่งเสริมการส่งออกของประเทศ วันนี้กำลังเจอลมปะทะ บุญเก่าที่เราเคยสะสมไว้มันค่อยๆ ทยอยลดน้อยลง”

“ในขณะที่บุญใหม่คือ เรายังไม่สามารถดึงดูดการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงๆ เข้ามาในประเทศไทยได้ทันกับการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมเก่า”

“เราได้ส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมที่โลกทยอยเลิกทำกันแล้ว อย่างฮาร์ดดิสก์ รถยนต์ ICE ส่วนอุตสาหกรรมที่กำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สมาร์ทดี หรืออิเล็กทรอนิกส์เซมิคอนดักเตอร์ เรามีส่วนในการไปร่วมกับเขาค่อนข้างน้อย” ดร.พิพัฒน์กล่าว

พูดง่ายๆ ว่า ตอนนี้เรายังเก่งในอุตสาหกรรมเก่า ในขณะที่อุตสาหกรรมใหม่ เรายังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันไม่ทัน

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

ถ้ายังทำเหมือนเดิมต่อไป ไทยจะหมดเสน่ห์ดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ

ดร.พิพัฒน์กล่าวต่อว่า หากดูประสบการณ์ของหลายประเทศ เช่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ สมัยก่อนเขาก็เคยอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายกับประเทศไทย คือเป็นฐานการผลิตให้การลงทุนจากต่างประเทศ

แต่วันนี้หลายประเทศหาจุดแข็งของตัวเองเจอ อย่างเกาหลี ไต้หวัน เขามีพัฒนาเทคโนโลยี ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ขณะที่สิงคโปร์ก็เป็นศูนย์กลางทางการค้า แล้วก็พัฒนาด้านอื่นๆ ตามขึ้นมา

แต่ปัญหาของไทยก็คือว่า เราไม่สามารถก้าวข้ามตรงนี้ได้ ตัวผลิตภาพของไทยเพิ่มขึ้นไม่ทัน เพราะเราไม่ได้พัฒนาเรื่องเทคโนโลยี

ในขณะที่เราพยายามจะไปภาคบริการ แต่พบว่าเป็นภาคบริการที่อาจจะยังไม่ได้มีผลิตภาพสูง เพราะยังไปเน้นเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเซกเตอร์ที่มีการจ้างงานที่ดี แต่อาจเป็นการจ้างงานที่ไม่ได้ไปเพิ่มผลิตภาพ ไม่ได้โอนเทคโนโลยีเป็นของเราเอง

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกประเทศสามารถทำได้ เพียงแต่ว่าไทยใช้โมเดลดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แล้วก็ไปดึงการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากนักลงทุนจากต่างประเทศ แต่พอมาในช่วงหลัง ด้วยโครงสร้างประชากรวัยทำงานลดลง ความน่าดึงดูดของเราก็น้อยลง เพราะไม่ได้ดึงดูดเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เพื่อจะไปทดแทนของเก่าที่ลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ

ดังนั้น โจทย์ของไทยก็คือ หากยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเองได้ จะทำอย่างไรให้ประเทศยังเป็นที่น่าดึงดูดของเทคโนโลยีใหม่เข้ามาในประเทศ เพราะวันนี้โลกแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการผลิต หรือเทคโนโลยีภาคบริการ

“วันนี้เราเห็นเลยว่าภาคบริการหลายประเทศมีขนาดใหญ่ขึ้น และเป็นภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง แต่ว่าไทยช่วงหลังๆ เรามีข้อจำกัดที่นักลงทุนอาจจะบ่นเยอะ เช่น การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ปัญหาข้อกำหนดกฎระเบียบต่างๆ เรื่องปัญหาการคอร์รัปชัน หรือแม้แต่การเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะเข้ามา ก็เจอปัญหา”

“ปัญหาพวกนี้ผมคิดว่า อาจเป็นประเด็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างกันอย่างจริงจัง เพราะถ้ายังทำเหมือนเดิมต่อไป ไทยก็จะเป็นประเทศที่หมดเสน่ห์ในแง่ของการดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ขณะที่ภายในประเทศเองก็ไม่มีแหล่งที่มาของการเจริญเติบโตใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทน”

ดร.พิพัฒน์ขยายความเพิ่มเติมว่า จำนวนแรงงานที่ลดลง ภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และขนาดของตลาดที่โตช้า ทำให้ความน่าดึงดูดการลงทุนของประเทศไทยลดลง นอกจากนั้น การขาดแคลนแรงงานทำให้ค่าแรงแพงขึ้น ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่อาจยังมีทักษะในระดับค่อนข้างต่ำ ก็ทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นไปอีก

“ผมว่าเรื่องของโครงสร้างประชากรเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะว่าพอมีแรงงานไม่เพียงพอ และขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะอีก แรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้มีทักษะที่ต่างประเทศเขาอยากจะมาลงทุนเพื่อใช้เทคโนโลยี มันก็ทำให้ความน่าดึงดูดของประเทศทยอยปรับลดลง”

แล้วในฐานะที่เป็นตลาด เราก็ไม่ได้โตเหมือนเดิมแล้ว จำนวนคนวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ ถ้าเกิดใครจะทำตลาดขายคนทำงาน ตลาดนี้ก็จะเป็นตลาดที่โตช้า เพราะฉะนั้น มันก็ดึงดูดคนอื่นเข้ามาลำบาก”

นอกจากนี้ค่าแรงก็จะต้องแพงขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะว่าแรงงานที่จะไปทำงานต่างๆ ก็จะมีน้อยลง วันนี้หลายคนบอกว่าเราได้แรงงานจากต่างประเทศเข้ามา ก็เป็นความจริง แต่ว่าส่วนใหญ่ที่เข้ามา เป็นแรงงานที่อาจจะมีทักษะในระดับที่ค่อนข้างต่ำ

“แล้วมันก็ทำให้มีปัญหาเพิ่มขึ้นอีก เพราะว่าพอเราเอาแรงงานต่างด้าวเข้ามาเยอะ ก็ช่วยทำให้การผลิตต่างๆ ยังสามารถมีแรงงานเพียงพอได้อยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็ดึงให้ค่าจ้างแรงงานของตลาดที่ไม่มีทักษะอยู่ระดับต่ำต่อไป ขณะที่แรงงานระดับบนที่มีทักษะขาดแคลนมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น ค่าแรงมันจะถ่างกันมาก ก็เป็นต้นเหตุหนึ่งของความเหลื่อมล้ำ”

“เพราะฉะนั้น ค่าแรงข้างล่างก็ยังถูกกด ในขณะที่ค่าแรงข้างบนก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ความเหลื่อมล้ำมันก็จะมากขึ้นไปอีก แล้วผลิตภาพโดยรวมของประเทศก็จะเจอปัญหา อันนี้ผมคิดว่ามันจะไปเป็นเหมือนปัญหาโครงสร้างของประเทศที่เรากำลังเผชิญอยู่”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

อะไรเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ดร.พิพัฒ์ตั้งข้อสังเกตว่า จุดสูงสุดของภาคอุตสาหกรรมไทยดูเหมือนจะเกิดขึ้นในช่วงปีค.ศ. 2014-2015 หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็เริ่มมีการกระจายการลงทุนไปที่อื่น

ประกอบกับช่วงเวลานั้น เราไม่ได้มีการลงทุนขนาดใหญ่เลย ขณะที่เวียดนามได้อินเทลไป หรือหลายประเทศมีการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเขาพูดถึงกันได้ แต่ของไทยอาจมีค่อนข้างจำกัด หรือมีแต่การขยายเพิ่มของการลงทุนเก่า

อย่างไรก็ดี บังเอิญในช่วงนั้นไม่แน่ใจว่าเราโชคร้ายในโชคดี หรือโชคดีในโชคร้าย คือเรามีเซกเตอร์การท่องเที่ยวที่บูม ก็ยิ่งทำให้เราไม่รู้สึกถึงความน่ากังวล ถ้าช่วงนั้นเราไม่มีการท่องเที่ยวขึ้นมา เศรษฐกิจไทยอาจจะเริ่มชะลอตัวไปแล้ว

แต่เนื่องจากว่าเรามีการท่องเที่ยวที่บูม การท่องเที่ยวโตขึ้นมากกว่าสองเท่าในช่วงไม่กี่ปี มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาจำนวนมาก ก็เลยทำให้ทุกคนไม่เห็นถึงการถดถอยของภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ ยิ่งช่วงหลังตั้งแต่เริ่มมีปัญหาสงครามการค้า ก็เริ่มเห็นว่าภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ

“วันนี้สิ่งที่เราตั้งคำถามกันเยอะก็คือ อะไรเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตของเมืองไทย ที่จะมาดันให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังโตขึ้นได้ เพราะภาคเกษตรก็ดูเหมือนว่าเจอปัญหา สู้กับเขาในเรื่องของผลิตภาพเรื่องของผลผลิตไม่ทัน เราก็อยู่ใกล้ๆ ที่เดิม ภาคการผลิตก็ดูเหมือนว่าจะมีปัญหา เราหดตัวมาหลายเดือนติดต่อกัน”

ดังนั้น เมื่อดูภาพใหญ่ ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่าเราจะมีภาคการผลิตใหญ่ๆ เข้ามาอยู่ในเมืองไทยยังไง แม้จะยังมีภาคบริการที่ยังขยายตัวได้ แต่ก็เป็นการขยายตัวจากฐานที่ค่อนข้างต่ำ เพราะก่อนโควิดเราเคยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 40 ล้านคน ปีนี้เราคาดการณ์ไว้สัก 35 ล้านคน แต่คำถามคือ พอมันเข้าไปใกล้ 40 แล้ว การขยายตัวเพิ่มขึ้นจากนั้นจะยากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่

“วันนี้เครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตยังมีการท่องเที่ยวอยู่ แต่อีกสัก 1 ถึง 2 ปีข้างหน้า แรงส่งจากการท่องเที่ยวก็จะเบาลงๆ เพราะเราก็จะได้ใกล้ๆ 40 ล้าน หรือเพิ่มขึ้นจาก 40 ล้าน ก็ไม่เหมือนพิ่มขึ้นจาก 28 ล้าน มาเป็น 35 ล้าน หรือปีนี้จาก 35 ล้าน ปีหน้าอาจจะได้เพิ่มสัก 37 ล้าน อัตราการเพิ่มก็จะลดลง เครื่องจักรหลักวันนี้ของไทยคือการท่องเที่ยว ก็อาจจะเบาเครื่องลง”

“ไม่ได้แปลว่านักท่องเที่ยวจะหายไป แต่ถึงมาเท่าเดิม มันก็ไม่ดันเศรษฐกิจเท่ากับที่มันเคยดันในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ในขณะที่เครื่องจักรอีกสองเครื่องคือภาคเกษตรและภาคการผลิตก็ดูอ่อนแรง นี่คือความท้าทายว่า แล้วอะไรเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

ปัญหาโครงสร้างการศึกษาไทย-คอร์รัปชัน ต้นเหตุปัญหาใหญ่อีกหลายเรื่อง

ดร.พิพัฒน์ยังกล่าวว่า ปัญหาโครงสร้างการศึกษาไทย เป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาหลายๆ เรื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากอัตราการเกิดที่ลดลง แต่อีกส่วนหนึ่งคนจำนวนมากรู้สึกว่าต้นทุนของการมีลูกในปัจจุบันแพงขึ้น ขณะที่คุณภาพการศึกษาร่วงต่ำลง ทำให้คิดตัดสินใจที่จะไม่มีลูก

“ผมว่านี่คือเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง กลับมาตั้งคำถามว่า ทำไมประชากรวัยทำงานเราถึงลดลง ก็คือมาจากอัตราการเกิดที่ลดลง แต่ส่วนหนึ่งมันก็เป็นเรื่องธรรมดาของสังคม เพราะว่าเมื่อก่อนสังคมไทยเป็นสังคมเกษตร ลูกเป็นปัจจัยการผลิต ยิ่งมีลูกมากก็มาช่วยทำงานทำไร่ เดี๋ยวนี้ลูกเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เพราะว่าต้นทุนของการมีลูกมันแพงขึ้นเรื่อยๆ

“แล้วการศึกษาก็เป็นปัญหา วันนี้เราเห็นคะแนน PISA ร่วงทุกปี แล้วคนก็บอกว่าถ้าเอาลูกเข้าโรงเรียนรัฐเรียนฟรี 12 ปีก็จริง แต่ได้คุณภาพที่ต่ำลง ไม่มีลูกดีกว่า แต่ถ้าเกิดการศึกษาดี แล้วทำให้คนรู้สึกว่าต้นทุนของการมีลูกมันไม่ได้แพง อาจจะทำให้ความอยากมีลูกเพิ่มมากขึ้น”

“ยิ่งการศึกษาดี ก็ไปโฟกัสเรื่องทักษะที่จำเป็นในการทำงาน มันเพิ่มทักษะของแรงงานได้จริงๆ ลองนึกภาพว่าเราสามารถผลิตนักเรียนที่จบมา แล้วมีทักษะที่ดี เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน แน่นอนว่าผลิตภาพของแรงงานไทยก็จะสูงขึ้น”

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าการศึกษาเป็นต้นเหตุของปัญหาหลายๆ เรื่องเลย แต่แน่นอนว่ามันแก้ในระยะสั้นแก้ไม่ได้

ดร.พิพัฒน์กล่าวด้วยว่า “ปัญหาอีกอันหนึ่งของการศึกษาที่จะเจอแน่นอนก็คือ จำนวนของนักเรียนลดลงมาเกือบครึ่งหนึ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และกำลังจะลดลงอีก ดังนั้น แต่โรงเรียนจะมีนักเรียนน้อยลงไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายอาจจะต้องรวมโรงเรียน

“ในทางการเมืองอาจเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าไม่ทำ เราก็จะมีโรงเรียนที่มีจำนวนครูไม่พอสอนนักเรียนทุกวิชา เพราะจำนวนครูต้องเป็นสัดส่วนของนักเรียน ถ้านักเรียนลดลง จำนวนครูในโรงเรียนนั้นก็จะต้องลดลง”

“ฉะนั้น เด็กนักเรียนจะเรียนยังไง ถ้าเกิดจำนวนครูลดลงไปเรื่อยๆ อันนี้คือปัญหาที่เราจะเจอแน่ๆ แล้วจะยิ่งทำให้ทั้งต้นทุนและคุณภาพของการศึกษาแย่ลงไปเรื่อยๆ” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชันซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่มาก สำคัญที่สุดคือดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ Corruption Perceptions Index เพราะเวลาที่นักลงทุนต่างประเทศจะตัดสินใจมาลงทุนที่ไทยแล้วเห็นดัชนีการรับรู้การทุจริตใหญ่ขนาดนี้ เขาก็มองว่าไม่มาดีกว่า ดังนั้น ถ้าไม่แก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะทำให้การตัดสินใจในการลงทุนได้รับผลกระทบ

“เรื่องการการศึกษา ปัญหาคอร์รัปชัน แก้ยากทุกเรื่อง เลยบอกว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่เรื่องของการกระตุ้นระยะสั้น แต่ละเรื่องต้องใช้เวลา” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

ลูกศร 3 ดอกจากญี่ปุ่นถึงไทย

ดร.พิพัฒน์ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นว่า เคยเป็นประเทศที่เจอภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นเวลาหลายสิบปี และมีปัญหาคล้ายกับประเทศไทยในเรื่องผู้สูงอายุและความสามารถในการแข่งขัน จนกระทั่งในช่วงในปี 2012 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงออกนโยบาย “ลูกศร 3 ดอก” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมา ได้แก่ นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายปฎิรูปโครงสร้าง

โดยเฉพาะนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มีการทำหลายเรื่อง ตั้งแต่การปฏิรูปภาคเกษตร เช่น ลดข้อจำกัดในการรวบรวมพื้นที่การเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่, การเข้าร่วม Trans-Pacific Partnership (TPP), การปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน และทำให้การลงทุนทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งแต่ละเรื่องมีปัญหาทางการเมืองแทบทั้งสิ้น

“แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ง่าย เพราะกระทบกับคนทั้งบวกและลบ มีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ แต่ถ้าเราไม่เริ่มยอมรับว่ามีปัญหา แล้วต้องการแก้ไข ไม่เอาเรื่องพวกนี้มาวางบนโต๊ะแล้วมาหาทางแก้ด้วยกัน เราก็จะเจอปัญหาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ”

“ฉะนั้นวันนี้ เราเริ่มเห็นญี่ปุ่นว่าเขาเริ่มจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง ตลาดหุ้นซึ่งเคยเป็นตลาดหุ้นที่แย่ที่สุด วันนี้เริ่มกลับมาดีขึ้น ไม่ได้บอกว่ามันแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยการปรับเปลี่ยนต่างๆ มันก็เริ่มทำให้เศรษฐกิจของเขามีความหวังเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นกำลังจะเกิดขึ้นกับไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งนั้น เราจะแก้ไขกันยังไง มันถึงจุดที่เราต้องเริ่มคุยประเด็นพวกนี้แล้วหรือเปล่า ถ้าเราไม่คุย แล้วเราจะหาทางออกกันอย่างไร

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

สโลโมชันสึนามิ ความเหลื่อมล้ำและปัญหาหนี้

ดร.พิพัฒน์มองว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวเป็นเหมือน “สโลโมชันสึนามิ” ที่ทุกคนเห็นว่ากำลังมา แต่ยังมาไม่ถึง จึงไม่ได้เดือดร้อนหรือรีบแก้ไข แต่วันนี้มันมาถึงขั้นบันไดแล้ว ขาเริ่มเปียกแล้ว เพราะคลื่นเริ่มมาถึงตัว เหมือนกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ทุกคนก็รู้ว่ามีปัญหาแน่นอน แต่ยังไม่เริ่มแก้ไข เพราะยังไม่เดือดร้อน

“แต่วันนี้ปัญหาเศรษฐกิจเริ่มเดือดร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ สมัยก่อนตอนที่ pie มันโต ไม่ว่าจะสาเหตุอะไรก็ตาม แต่เศรษฐกิจมันโต คนที่ได้รับส่วนแบ่งจาก pie ก็ยังแฮปปี้ ส่วนแบ่งตัวเองเท่าเดิมก็ยังโอเค เพราะ pie มันโต ตัวเองก็จะใหญ่ขึ้น”

“วันนี้พอpieมันไม่โต คนที่ได้ส่วนแบ่งเท่าเดิมก็เริ่มเดือดร้อน เพราะส่วนแบ่งชิ้นอื่นๆ คนอื่นเริ่มจะมากิน เพราะคนที่มีโอกาสมากกว่าก็จะคว้ามากกว่า ส่วนแบ่งที่ไปถึงคนข้างล่างก็จะเล็กลงๆ ปัญหาเรื่องของสังคม เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องความขัดแย้งทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

“อีกปัญหาหนึ่งคือปัญหาหนี้ สมัยก่อนรายได้มันโต รายจ่ายยังโอเค ทุกคนก็โอเค แต่วันนี้โดยไม่รู้ตัว รายได้มันโตช้าลง แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น เงินที่เหลือเก็บก็ลดลง อยากใช้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น หนี้ก็ยังมาจากเศรษฐกิจที่โตช้า ทำให้ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ได้รับผลกระทบ ผมคิดว่าประเด็นพวกนี้มันก็จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

“หลายคนบอกว่าเมืองไทยต้องการ hour zero คือต้องมีปัญหาก่อน เราถึงจะช่วยกันแก้ คือถ้ายังในน้ำมีปลา ในนามีข้าวอยู่ ทุกคนก็บอกว่าจะแก้ทำไม มันก็เลยกลับมาเป็นปัญหาว่ายังไม่มี sense of agency ซึ่งผมคิดว่ามันจะเริ่มส่งสัญญาณหนักขึ้นเรื่อยๆ ว่าเราต้องการปฏิรูปเชิงโครงสร้างจริงๆ” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ดร.พิพัฒน์ประเมินว่า การที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปเติบโต 3-5% อย่างสม่ำเสมอในทุกๆ ปีแทบจะไม่มีทางเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเรายังไม่มีการลงทุนเพิ่ม บวกกับปัจจัยแรงงานที่ลดลง ดังนั้น โจทย์คือการลงทุนจากทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุนสร้างอุตสาหกรรม สร้างซัพพลายเชน ขณะเดียวกันแรงงานก็ต้องมีทักษะ ปรับตัวให้ทันตามเทคโนโลยีใหม่

“ไม่ต้องฝันเลยว่าจะกลับไป 3-5% ด้วยสิ่งที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ ผมคิดว่าศักยภาพของเราอาจจะ 2-3% แต่จะเก่งมากถ้าจะกลับไปแตะที่ 3% แต่ 3-5% ผมว่าไม่ต้องพูดถึง อาจจะไปแตะได้แป๊บนึง แล้วเดี๋ยวก็กลับลงมา เพราะฝั่งซัพพลายไซต์เรามีปัญหา”

“แต่จะได้ผลิตภาพมาเราต้องลงทุนเพิ่ม ฉะนั้น โจทย์คือการลงทุน ทั้งคนไทยลงทุนและต่างประเทศเข้ามาลงทุน จะให้ดีคือ ต่างประเทศเข้ามาลงทุนแล้วสร้างซัพพลายเชน สร้างอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันแรงงานก็ต้องรับเทคโนโลยีใหม่”

“เพราะข้อดีอันหนึ่งวันนี้คือ การเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ มีค่อนข้างเยอะ อย่างเช่น เทคโนโลยี AI แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถเข้าถึงแล้วนำไปใช้ให้เกิดผลิตภาพได้ เรื่องนี้อาจจะยังมีค่อนข้างจำกัด ซึ่งภาคธุรกิจก็ต้องช่วยกัน”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

รัฐอย่าทำตัวขวางเอกชน

ดร.พิพัฒน์กล่าวถึงประเด็นการลงทุนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยว่า ควรนำโดยภาคเอกชน ไม่ควรไปพึ่งภาครัฐ เพราะประเทศไทยมีภาคเอกชนเก่งจำนวนมากและมีโอกาส ส่วนภาครัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพหมาะสมเพียงพอไว้รองรับการลงทุนของภาคเอกชน เช่น การศึกษา ไฟฟ้า โลจิสติกส์

“รัฐอย่าทำตัวขวางภาคเอกชนด้วยกฎระเบียบหรือคอร์รัปชัน ส่วนที่เหลือ ผมคิดว่ารัฐไม่มีบทบาทเลย เพราะรัฐเป็นส่วนเล็กมากของระบบเศรษฐกิจ”

สิ่งที่จะทำได้คือภาคเอกชนทั้งนั้น เนื่องจากภาคเอกชนไทยเก่งและมีโอกาสอยู่แล้ว เพียงแต่ตรงไหนที่ขาด รัฐก็ไปเติม แต่รัฐไม่ใช่เป็นผู้นำแน่นอน เอกชนต้องเป็นคนนำ

ดร.พิพัฒน์กล่าวทิ้งท้ายว่า “โจทย์วันนี้คือ เราจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการลงทุนยังไง โดยที่เรามีลมปะทะเต็มไปหมด ทั้งโครงสร้างประชากร วัยทำงานลดลง ตลาดที่เล็กลง เราจะยังหาโอกาสให้กับประเทศยังไง นี่เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างสำคัญมาก”

“เพราะฉะนั้นโจทย์ของภาคเอกชนทุกคนก็คือผลิตภาพ ทำยังไงให้ใช้แรงงานเท่าเดิม แต่ผลิตของได้มากขึ้น ทำกำไรให้มันเยอะขึ้น แข่งขันกับคนอื่นให้ได้เยอะขึ้น”

“แต่ก็อย่าลืมว่า วันนี้มีการแข่งขันมาจากต่างประเทศเข้ามาเยอะมาก โดยเฉพาะการแข่งขันจากจีน พูดกันตรงๆ ก็คือ แรงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือจีน วันนี้รัฐกล้าไปขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมั้ย ผมว่าก็ลำบาก เพราะว่านักท่องเที่ยวจีนก็ยังเป็นตลาดที่สำคัญของการท่องเที่ยวไทย เกิดเราไปขึ้นภาษี แล้วเขาตอบโต้ขึ้นมา เราก็จะเหนื่อย” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

ดังนั้นผมมองว่า รัฐก็จะต้องมีส่วนไปช่วยเหมือนกันว่า เราจะปกป้องภาคเอกชนยังไง แต่ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ไปแข่งกับต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไปแข่งกับต่างประเทศ แทนที่จะแข่งกับคนไทยในประเทศ