
หลังการประชุมทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ของไทย และนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต แห่งกัมพูชา ระหว่างการร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนที่นครหลวงเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสข่าวว่าจะมีการหารือเกี่ยวกับข้อพิพาททางทะเลกันอีกครั้ง ทำให้หลายฝ่ายยกประเด็นคำถามเกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในทะเลอ่าวไทยขึ้นมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง และหลายประเด็นยังมีความคลุมเครือชวนให้สงสัยที่จำเป็นจะต้องมีการชี้แจงแถลงไข ดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก จริงหรือไม่ที่ว่าไม่มีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะเหตุที่กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปฝ่ายเดียวในปี 2515 โดยที่ไทยไม่ให้การยอมรับเพราะไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
คำตอบคือ โดยหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว รัฐชายฝั่งทุกรัฐมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะประกาศเขตไหล่ทวีป 200 ไมล์ทะเลนับจากเส้นฐาน และอ่าวไทยนั้นแม้จะได้ชื่อว่า “อ่าวไทย” แต่ไม่ได้เป็นของไทยทั้งหมด ส่วนที่กว้างที่สุดของมันเป็นระยะทางเพียง 206 ไมล์ทะเล ดังนั้นหากทุกประเทศชายฝั่งอ่าวไทยใช้สิทธิกันเต็มที่ย่อมเกิดพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กัมพูชาประกาศเส้นฐานซึ่งใช้เป็นเกณฑ์ในการประกาศทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 3 ครั้งในปี 2500 (ค.ศ. 1957) 2515 (ค.ศ. 1972) และ 2525 (ค.ศ. 1982) โดยอาศัยหลักการที่ระบุเอาไว้ อนุสัญญาเจนีวา 1958 และ UNCLOS 1982 เช่นกัน แต่การประกาศเส้นฐานแต่ละครั้งของกัมพูชาใช้พื้นฐานที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ในปี 2500 และ 2515 นั้นดูเหมือนอาศัยเกาะที่อยู่ใกล้ชายฝั่งเป็นเกณฑ์ แต่ครั้งหลังสุด กำหนดจุดจากบรรดาเกาะต่างๆที่อยู่ห่างชายฝั่งออกไปเป็นเกณฑ์
แม้ว่ากัมพูชาจะไม่ได้จัดว่าเป็นประเทศที่มีลักษณะเป็นหมู่เกาะ แต่ได้อ้างอิงหลักเกณฑ์ของอนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่องปี ค.ศ. 1958 ในทำนองว่ากัมพูชามีสิทธิในการกำหนดเส้นฐานตรงโดยการกำหนดจุดเชื่อมเกาะต่างๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าบรรดาเกาะเหล่านั้นไม่ได้อยู่ห่างจากฝั่งมากนัก อีกทั้งเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจของกัมพูชา และเกาะเหล่านั้นอยู่ห่างกันไม่เกิน 24 ไมล์ทะเลจึงสามารถลากจุดเชื่อมต่อกันได้
ส่วนการประกาศทะเลอาณาเขตและไหล่ทวีปของไทยนั้น ก็อาศัยเส้นฐานเช่นเดียวกัน แต่วิธีกำหนดเส้นฐานจะแตกต่างจากกัมพูชา ตรงที่ไทยกำหนดเส้นฐานตรงจากชายฝั่งเป็นสำคัญ แต่ก็โดยที่ขีดเส้นอ้อมเกาะต่างๆ ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้อนุสัญญาเจนีวา ปี ค.ศ. 1958 และ UNCLOS 1982 ให้สิทธิในการกำหนดทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน เขตต่อเนื่อง 24 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน และ เขตเศรษฐกิจจำเพาะอีก 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน ส่วนการกำหนดไหล่ทวีปซึ่งหมายถึงพื้นดินใต้น้ำนั้นประเทศไทยก็อ้างกฎหมายที่ให้สิทธิประเทศชายฝั่งประกาศได้ 200 ไมล์ทะเล
แน่นอนว่านักกฎหมายไทยจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกัมพูชา เพราะเห็นว่าไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่ากัมพูชาไม่มีสิทธิที่จะอ้างเช่นนั้น ตามกฎหมายทะเล พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลต้องได้รับการแบ่งปันโดยใช้หลักการของความเท่าเทียม (equitable principles) ซึ่งต้องอาศัยการเจรจาระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งไทยและกัมพูชาต้องร่วมกันกำหนดขอบเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone: EEZ) โดยอาศัยหลักการที่เป็นธรรม
ในเมื่อต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมรับเขตไหล่ทวีปของกันและกัน ก็เป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผลที่ทั้งสองประเทศจะเปิดการเจรจาใช้สิทธิของตนในการโต้แย้งอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเท่าเทียม โดยอาศัยมูลฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับปี 2544 เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขข้อพิพาทที่เกิดจากการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันโดยสันติวิธี
คำตอบ ที่ปรากฏอยู่ในบันทึกความเข้าใจ ปี 2544 ข้อ 5 ที่ว่า การดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ “จะไม่กระทบการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา” หมายความว่า หากเจรจากันแล้วไม่ประสบความสำเร็จ การอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ในทะเลและไหล่ทวีปก็จะยังอยู่เช่นนั้น การอ้างสิทธิเหนือไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศเอาไว้ เมื่อปี 2515 และส่วนที่ไทยประกาศเอาไว้ในปี 2516 ก็จะอยู่คงเดิม
แต่หากเจรจากันประสบความสำเร็จมีการแบ่งพื้นที่กันใหม่ก็จะมีกระบวนการภายในของแต่ละประเทศ โดยในส่วนของไทยนั้นจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจึงจะมีผลใช้บังคับได้ ไม่มีนักเจรจาคนใดหรือรัฐบาลใดสามารถนำพื้นที่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศไปยกให้ผู้อื่นหรือประเทศอื่นตามอำเภอใจได้
คำตอบ ในทางกายภาพนั้น เกาะกูด อยู่ในความครอบครองของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แบบ ภายใต้การปกครองของอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ตามประกาศกฤษฎีกาตั้งอำเภอในเดือนสิงหาคม 2550 ให้ยกระดับจากกิ่งอำเภอเกาะกูด ในอำเภอแหลมงอบเป็นอำเภอเกาะกูด นั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีเอกสารประท้วงหรือคำคัดค้านใดๆ จากรัฐบาลกัมพูชา อีกทั้งมีประชาชนไทยอาศัยอยู่ กองทัพเรือได้กำหนดให้หน่วยปฏิบัติการเกาะกูด ซึ่งเป็นหน่วยเฉพาะกิจของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง มีที่ตั้งอยู่บนเกาะกูดทำหน้าที่ปกป้องและรักษาอำนาจอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูด
ในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศนั้น สนธิสัญญาสยามฝรั่งเศสฉบับปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) ข้อ 2 ได้เขียนเอาไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของกัมพูชาในเวลานั้นได้ตกลงยอมยกดินแดนส่วนที่เป็น “เกาะทั้งหลายที่อยู่ภายใต้แหลมสิงลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยามตามกำหนดเขตแดนดังว่าไว้ในข้อ 2 ของสัญญาว่าด้วยการปักปันเขตแดนดังกล่าวมาแล้ว” เมื่อกัมพูชาสืบสิทธิต่อจากฝรั่งเศสภายหลังได้รับเอกราชย่อมจะต้องถือเอาตามนั้นเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ในแผนผังประกอบบันทึกความเข้าใจฉบับปี 2544 ปรากฏชัดเจนว่า กัมพูชาขีดเส้นแสดงอาณาเขตทางทะเลจากหลักเขตที่ 73 โดยอ้อมเกาะกูดเป็นรูปอักษรตัว U แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการอ้างสิทธิหรืออำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูดแต่อย่างใด
อาจจะเคยปรากฏว่ามีผู้พบเห็นแผนที่ประกอบการประกาศเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาบางฉบับขีดเส้นผ่ากลางเกาะกูด อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของฝ่ายกัมพูชาก็มักจะพูดทีเล่นทีจริงเสมอว่า เกาะกูดนั้นเป็นของกัมพูชาครึ่งหนึ่ง แต่หากพิจารณาถึงเอกสารจำนวนมาก รวมทั้งบางฉบับของกัมพูชาเอง เช่น กฤษฎีกาฉบับที่ 439/72/PRK ที่มีแผนที่มาตรฐานประกอบที่มาจากแผนที่เดินเรือของกรมอุทกศาสตร์ ฝรั่งเศส ซึ่งแสดงเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาทั้งหมด ปรากฏว่าไม่ได้มีการลากเส้นผ่านเกาะกูดแต่อย่างใด เช่นนั้นย่อมทำให้ข้อโต้แย้งของไทยมีน้ำหนักมากกว่าและมากพอที่จะช่วยผ่อนคลายความกังวลของผู้ที่เป็นห่วงอธิปไตยของไทยได้
คำตอบคือ บันทึกความเข้าใจปี 2544 ข้อ 2 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมและการตกลงแบ่งเขตสำหรับอาณาเขตทางทะเลนั้นให้ทำไปพร้อมกันในลักษณะที่ไม่อาจจะแบ่งแยกกันได้ ก็คงจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของเอกสารดังกล่าวตามที่ได้ตกลงกันเอาไว้เมื่อปี 2544 โดยเจตนารมณ์สำคัญที่ได้มีการผูกเรื่องทั้งสองเอาไว้ด้วยกันอย่างแน่นหนานั้นก็เพื่อให้ผู้เจรจาสามารถใช้ผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียมเพื่อแลกเปลี่ยนกับความประนีประนอมในเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลเป็นสำคัญ อีกทั้งเพื่อป้องกันมิให้การตกลงแบ่งปันผลประโยชน์เกิดขึ้นโดยง่ายอันอาจจะนำมาซึ่งปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลที่เกี่ยวข้องในการเจรจาได้
แต่ทั้งนี้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว ก็ไม่ได้จำกัดว่าการเจรจาเพื่อแบ่งเขตทางทะเลจะต้องทำให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด พร้อมกับการจัดทำระบอบพัฒนาร่วมแต่อย่างใด รัฐบาลทั้งสองประเทศมีสิทธิที่จะกำหนดลำดับความสำคัญเอาไว้แต่เฉพาะในส่วนที่จะส่งผลกระทบต่อการจัดทำพื้นที่พัฒนาร่วม หรืออาจจะร่วมกันแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำในบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดทำพื้นที่พัฒนาร่วม เพื่อเอื้ออำนวยให้สามารถบรรลุความตกลงในการขุดเจาะทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้เพื่อความจำเป็นทางด้านความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาประเทศก็ย่อมทำได้
โดยสรุปแล้วปัญหาข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชาเป็นประเด็นปัญหาที่มีความซับซ้อนมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เกี่ยวข้องกับความตกลงและสนธิสัญญาหลายฉบับ และกฎหมายระหว่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก การแก้ไขปัญหานี้ย่อมไม่สามารถจะทำได้โดยง่าย และต้องใช้เวลานาน
ในทำนองเดียวกัน หากพิจารณาเรื่องนี้โดยอาศัยข้อมูลเพียงเล็กน้อยและความเข้าใจโดยผิวเผิน อาจจะก่อให้เกิดความสับสน และหากเผยแพร่ความเข้าใจแบบผิดๆ นั้นต่อไปโดยไม่ยั้งคิดอาจจะก่อปัญหาระหว่างประเทศได้โดยง่าย