ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม และเราคาดหวังจะเป็นศูนย์กลางอาหารโลก แต่จากข้อเท็จจริงในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคเกษตรกรรมไทยยังมีปัญหาอยู่มากและเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นคนยากจนของประเทศ จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในปี 2565 มีแรงงานในภาคเกษตรกว่า 30% ขณะที่มูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็น 8.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เท่านั้น
ยิ่งในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงได้หยิบยกประเด็นความยุติธรรมทางภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมไทย รวมถึงโอกาสและความท้าทายในการเป็นศูนย์กลางอาหารโลก มาพูดคุยกันในวงเสวนาหัวข้อ “Climate Justice and Thai Agriculture: Challenges and Opportunities to Becoming Global Food Hub” ผ่านแพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate เครือข่ายผู้นําเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567
ปัญหาความยุติธรรมของภาคเกษตรกรรมไทย
‘อัญชลี ชาลีจันทร์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิรินดรา จำกัด ผู้ก่อตั้ง ข้าวหอมบุญ ฉายภาพวงจรปัญหาเกษตรกรไทย จากกรณีศึกษาโครงการ “ข้าวหอมบุญ” โดยชี้ให้เห็นว่า ชาวนามักเริ่มต้นอาชีพโดยใช้ภูมิปัญญาตั้งแต่คนรุ่นพ่อแม่ เน้นพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศ และใช้ปัจจัยการผลิตประเภทปุ๋ยเคมีและยาฆ่าหญ้าเพราะคิดว่าจะนำมาซึ่งผลผลิตที่สูงขึ้น เครื่องมือทางการเกษตรและเงินทุนก็ไม่มี ต้องกู้หนี้ยืมสิน ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน ต้องใช้ที่ดินหรือบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ พอได้ผลผลิตไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ก็ถูกยึดที่นาและเป็นหนี้สินพอกพูน ผลที่ตามมาคือ การสอนลูกหลานไม่ให้เป็นชาวนา มีคนจำนวนไม่น้อยต้องเข้ากรุงเทพฯ มาทำงานก่อสร้าง พอมีลูกก็ส่งกลับไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง เกิดปัญหาการศึกษาและปัญหายาเสพติดตามมา ชาวไร่อ้อยหรือชาวไร่มันสำปะหลังอาจจะดีกว่าตรงที่มีระบบเกษตรพันธสัญญา หรือ “Contract Farming” แต่สุดท้าย “เกษตรกร” ไม่ว่าจะเป็นชาวนาหรือชาวไร่ก็ตกอยู่ในวงจรเดียวกันนี้
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสัดส่วนของเกษตรกรซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ จะเห็นว่าวงจรปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราทุกคนและไม่ได้วนเวียนอยู่เฉพาะในกลุ่มเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง ที่เห็นได้ชัดคือ ปัญหาสุขภาพจากการบริโภคสินค้าเกษตรที่ใช้สารเคมี นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งเป็นปัญหาในภาพรวมของประเทศที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงคนในสังคมต้องหันมาให้ความสำคัญ
ตัวอย่างโครงการข้าวหอมบุญ เป็นการรวมกลุ่มชาวบ้านหนองสระ จังหวัดบุรีรัมย์ ปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ โดยมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยกันสนับสนุน เช่น สร้างน้ำดื่มชุมชน สร้างโรงเก็บข้าว อบรมใบรับรองคุณภาพ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต เน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น นำไปทำเป็นไอศกรีม นำไปเสิร์ฟในร้านอาหารหรือโรงแรมชื่อดัง และเป็นของดีจาก 77 จังหวัดของไทยที่ได้รับคัดเลือกไปทำซูชิของญี่ปุ่น รวมทั้งได้ต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ “Rice is Life” เช่น นำไปผสมกับสมุนไพรทำเป็นผ้าประคบ เป็นต้น
‘อัญชลี’ ตั้งข้อสังเกตชวนคิดว่า หากมองในเชิงเปรียบเทียบกับภาคอุตสาหกรรม จะมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนแล้ว หากติดปัญหาใด ๆ ก็สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมไทย เมื่อมีปัญหากลับไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งพาหน่วยงานใด ยกตัวอย่างเฉพาะเรื่องน้ำก็มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีศูนย์กลางให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว
แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของภาคเกษตรกรรมไทยคือ การเปลี่ยนโฉมจากเกษตรกรรมเป็นเกษตรอุตสาหกรรม โดยจะต้องมีการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนกันด้วยรายได้ที่เป็นธรรม มีหน่วยงานที่ดูแลครบวงจรตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ครอบคลุมทั้งด้านการให้บริการ แหล่งเงินทุน และสุขอนามัยอาหาร
“ต้องเปลี่ยนจากวิธีคิดแบบเดิม ๆ การใช้งบประมาณแบบเดิม ๆ เป็นการปฏิรูปทั้งระบบ ปรับดิน ปรับสภาพแวดล้อม ต่อยอดด้วยเทคโนโลยีการแปรรูป มีการจัดโซนนิ่งออร์แกนิค จะขอ Certified ก็ทำครั้งเดียวได้ทั้งโซน จะปลูกข้าว อัญชัญ ลำไย ฯลฯ ก็เป็นออร์แกนิค แปรรูปก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นออร์แกนิค”
เห็นโอกาสต้องรีบทำ ก่อนถูกกดดันให้ต้องปรับตัว
นายอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุล รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้ป่าแอมะซอนถูกรุกล้ำไปแล้ว 17% และมีการคาดการณ์ว่า หากถูกรุกถึง 25% ป่าแอมะซอนจะกลายเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา และอุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก นี่คือความน่ากลัวของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นแล้วไม่มีการจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ปัจจุบันจึงมีแรงกดดันให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว “ทำธุรกิจที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นแนวทางการทำธุรกิจให้ได้กำไรควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายอิทธิพลได้ขยายความถึงแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ โดยยกทฤษฎีของนักเศรษฐศาสตร์ 2 คนมาอธิบาย ทฤษฎีแรกของ “Milton Friedman” ในปี 1970 ระบุว่า “The Social Responsibility of Business is to Increase its Profits” ซึ่งหมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเป็นไปเพื่อการเพิ่มขึ้นของผลกำไรแก่ธุรกิจ ซึ่งแนวคิดนี้ใช้ไม่ได้จริง แต่ก็ยังมีการเรียนการสอนกันอยู่
อีกทฤษฎีเป็นของ “John Elkington” นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ในปี 1994 เป็นหลักการบริหารธุรกิจที่ยั่งยืนด้วยหลัก “Triple Bottom Line” คือ ธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้นจะต้องคำนึงถึงความสมดุล 3 ด้าน ได้แก่ 1) การทำให้ธุรกิจเติบโตโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึง “ประโยชน์” และ “ต้นทุน” ที่มีผลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย 2) การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด และ 3) การเกื้อกูลผู้คนรอบข้าง ให้ความเป็นธรรมกับแรงงานและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนท้องถิ่น
ตัวอย่างการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของ “ลิปตัน” เกิดจากแรงกดดันด้านซัพพลาย โดยเล็งเห็นปัญหาว่าใบชาเกือบ 100% มาจากประเทศที่มีรายได้น้อย ซัพพลายเออร์ไม่ได้ดูแลสวัสดิการพื้นฐานให้แก่แรงงานของตนเอง มีการใช้ยาฆ่าแมลงซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพแก่เกษตรกรและลูกค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและการจัดหาวัตถุดิบในระยะยาว สุดท้ายผลผลิตในอนาคตก็จะลดลง กลยุทธ์ที่ลิปตันนำมาใช้คือ การจ่ายเงินเพิ่มให้เจ้าของไร่ชาเพื่อนำไปยกระดับคุณภาพแรงงาน โดยต้องมีการการันตีว่าชีวิตแรงงานจะดีขึ้นด้วยการรับรองจาก Rainforest Alliance การดำเนินการดังกล่าว ทำให้กำไรของลิปตันลดลงในช่วงปีแรก แต่หลังจากได้อธิบายให้ลูกค้าเห็นว่าชาที่ซื้อนั้นมีคุณค่าเพิ่ม ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดในปีต่อมาของลิปตันเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และทำให้กำไรโดยรวมเพิ่มมากขึ้น
กรณีของ “ยูนิลีเวอร์” และ “เนสท์เล่” ซึ่งเป็นผู้ที่รับซื้อน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก เริ่มมีปัญหาขายของไม่ได้ เพราะถูกมองว่าคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นและเป็นต้นเหตุให้ลิงอุรังอุตังสูญพันธุ์ เนื่องจากซัพพลายเออร์น้ำมันปาล์ม 1 ใน 3 อยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อมีความต้องการน้ำมันปาล์มมากขึ้นทำให้เกิดการเผาป่าซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีลิงอุรังอุตังมากที่สุดในโลก นี่เป็นตัวอย่างแรงกดดันด้านดีมานด์ที่ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสองแห่งต้องตกลงกันว่า จะไม่ซื้อน้ำมันปาล์มจากแหล่งผลิตแบบนี้อีก
นอกจากบริษัทขนาดใหญ่แล้ว ยังมีตัวอย่างของธุรกิจสตาร์ทอัพที่มองเห็นโอกาสจาก “ขยะอาหาร” ซึ่งทุกวันนี้ทั่วโลกมีขยะอาหารเฉลี่ยประมาณ 30% และก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 8% เช่น “Toast Ale” ผู้ผลิตเบียร์ในประเทศอังกฤษที่นำขนมปังเหลือทิ้งมาทำเบียร์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะแล้ว ด้วยกระบวนการผลิตที่สั้นลงยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนได้ด้วย อีกตัวอย่างคือ “Rubies in the Rubble” อีกบริษัทจากอังกฤษที่นำผักผลไม้จากฟาร์มที่ไม่ผ่านการคัดเลือกด้านรูปร่างหน้าตามาทำเป็นซอส ซึ่งช่วยลดขยะอาหารได้เช่นเดียวกัน
นายอิทธิพลย้ำว่า แรงกดดันจะเกิดขึ้นกับธุรกิจของเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง ซี่งการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการลงทุนที่หวังผลตอบแทนได้ และหากมองเห็นโอกาสแล้วต้องรีบทำให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีโอกาสพัฒนาธุรกิจอาหารได้อีกมาก หากเห็นโอกาสแล้วไม่ทำ ก็จะกลายเป็นโอกาสของคนอื่นที่ลงมือทำก่อน
“Smart Farming” โอกาสดันไทยเป็นศูนย์กลางอาหารโลก
‘วราภรณ์ โอสถาพันธุ์’ กรรมการ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ชี้ให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนมีผลกระทบอย่างมากต่อภาคการเกษตร ขณะเดียวกันก็มองว่ายังเป็นโอกาสของไทยในการเป็นศูนย์กลางอาหารโลก เพราะความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรโลกที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณหนึ่งพันล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะช่วยตอบโจทย์ดังกล่าวได้คือ “Smart Farming” หรือเกษตรสมัยใหม่ที่มีข้อมูล องค์ความรู้ มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการทั้งด้านการผลิตและการตลาด รวมถึงการดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคการเกษตร ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลลูกค้าของโคบูต้าเอง พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนลูกค้าที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปเพิ่มจาก 25% เป็น 45% ซึ่งเป็นความท้าทายมาก ๆ สำหรับภาคเกษตรไทย
“เราเคยตั้งโจทย์ว่า เกษตรกรรมจะเซ็กซี่ในสายตาคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร แน่นอนว่าก็เหมือนกับอาชีพอื่น ๆ คือ รายได้เท่าไหร่ มั่นคงไหม ปัจจุบันเราเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่ที่เป็น Smart Farmer มากขึ้น แต่ถ้าลองไปอ่านประวัติเขา จะพบว่าแต่ละคนผ่านความยากลำบากมาเยอะมาก กว่าจะเรียนรู้ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะประสบความสำเร็จ ยิ่งมีพ่อแม่เป็นเกษตรกรด้วยแล้ว การผ่านด่านพ่อแม่เป็นเรื่องที่ลำบากมาก”
‘วราภรณ์’ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงสิบกว่าปีมานี้ บริษัทฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามอุปสรรคปัญหาที่เกิดจากการนำเครื่องจักรไปใช้ เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงเครื่องจักรให้ตอบโจทย์การทำงานได้มากขึ้น แต่ได้กลายเป็นโอกาสให้บริษัทฯ ได้เรียนรู้และพบว่าเกษตรกรยังมีปัญหาอื่น ๆ อีกมาก แม้จะใช้เครื่องจักรแล้ว ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
-
1) เกษตรกรเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการความเสี่ยง การเปลี่ยนแปลงความเชื่อเป็นสิ่งที่ยากมาก ๆ
2) พ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่อยากให้ลูกหลานทำอาชีพเกษตร เพราะในชีวิตตัวเองทำแล้วเป็นหนี้ โอกาสที่ลูกหลานจะกลับมาทำการเกษตรก็ลดลงเรื่อย ๆ
3) เรื่องของการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เกษตรกรต้องมีความรู้และเครื่องจักร แต่โอกาสที่จะได้เงินทุนก็เป็นไปได้ยากมาก
ในการขับเคลื่อนภาคการเกษตร ต่อยอดสู่การเป็น “Smart Farming” นั้น ทางบริษัทฯ ได้เริ่มนำองค์ความรู้เข้าไปช่วยการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติที่สามารถควบคุมได้อย่างภัยแล้ง โดยเริ่มจากการขุดบ่อเก็บน้ำและคลองต่าง ๆ รวมถึงการปรับพื้นที่เพื่อควบคุมน้ำเข้า-น้ำออก ซึ่งในช่วงแรก ๆ เกษตรกรต้องเช่าเครื่องจักรใช้เอง แต่ด้วยการมีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ทำให้ได้ผลผลิตที่คุ้มค่า และสามารถซื้อเครื่องจักรไปใช้
ในการบริหารจัดการในกลุ่มของตัวเองได้ ต่อมาติดปัญหาเรื่องการแปรรูป ทางบริษัทฯ ก็ได้เข้าไปช่วยเชื่อมโยงองค์กรต่าง ๆ จากจุดเริ่มต้นนั้น ปัจจุบันได้มีการขยายกลุ่มต่าง ๆ รวมประมาณ 1,500 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 20,000 กว่าไร่
ขณะที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีโครงการของ BOI ทำให้บริษัทฯ สามารถเข้าไปสนับสนุนเครื่องมือทางการเกษตรได้โดยให้ผลตอบแทน 20% ซึ่งนับว่าเป็นมาตรการที่ดีมาก เพราะไม่ใช่แค่เป็นการนำเครื่องจักรไปให้อย่างเดียว แต่ต้องมีการให้องค์ความรู้และติดตามผล เช่น ดูว่าเกษตรกรมีการบริหารการใช้เครื่องจักรไหม มีการทำรายรับรายจ่ายหรือไม่ เป็นต้น ทำให้บริษัทฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปร่วมพัฒนากับเกษตรกร
นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังได้เชิญชวนคนรุ่นใหม่เข้ามาทำการเกษตร โดยให้เพาะปลูกข้าวตามวิธีการที่แนะนำ เช่น การออกแบบแปลงพื้นที่ การปรับระดับนาให้เท่ากัน การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การเก็บฟางไว้เป็นอาหารสัตว์ การทำประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งพบว่า สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 30-40% รายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว หลายคนกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้สนใจมากขึ้น
“อีกกลุ่มคือ เกษตรกรรายย่อย เราอยากลองดูว่า ถ้าจะช่วยเหลือคนคนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงแม้กระทั่งโอกาสในการรวมกลุ่ม โดยเราเป็นพี่เลี้ยงให้ตลอดจะเป็นอย่างไร จากการลงไปทำประมาณ 2 ปี ปรากฏว่า เขามีรายได้เพิ่มขึ้นจริง ๆ เราจึงเชื่อว่า ถ้ามีการช่วยกันคนละไม้คนละมือ เราก็สามารถช่วยเหลือเขาได้”
คุณวราภรณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า การขยายผลให้เกิดแรงขับเคลื่อนในภาพใหญ่ ต้องมีความช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และตัวเกษตรกรเอง จากการที่ได้ศึกษาดูงานต่างประเทศเช่นในยุโรปที่ส่งเสริมภาคการเกษตรมากว่า 60 ปี จะมีการรวมกลุ่มตั้งเป็นนโยบายระดับประเทศ มีการพัฒนาเป็นระดับ ช่วงแรก ๆ จะส่งเสริมให้ปลูกพืช เพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น ระยะหลังจะทำเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะมากขึ้น มีการอบรม ให้เงินลงทุนสำหรับคนรุ่นใหม่ และมีการวัดผล บางประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เกษตรกรเป็นคนรวย พบว่ามีผลผลิตส่งออกต่อพื้นที่ประมาณ 100 เท่า เมื่อเทียบกับของไทย
แปรรูปอาหาร สร้างมูลค่าเพิ่ม สานฝันแบรนด์แห่งชาติ
ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ หัวหน้าศูนย์พัฒนานวัตกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร สามารถพลิกเศรษฐกิจได้ภายในชั่วอายุคน สามารถสร้างเศรษฐีได้ในเวลารวดเร็ว เพราะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารได้หลายเท่าตัว ด้วยความตั้งใจที่จะยกระดับมูลค่าสินค้าเกษตรของไทย ผนวกกับความตั้งใจที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ในด้านนี้
ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ จึงเลือกเส้นทางสร้างต้นแบบการแปรรูปอาหารที่มีคุณภาพระดับมาตรฐานสากล (Best Phototype) เสมือนทำเอกสารฉบับหนึ่งที่มีรายละเอียดมากที่สุด สามารถนำไปทำซ้ำได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จากจุดเริ่มต้นนั้น ได้นำมาสู่การก่อตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรมอาหาร “FACTory Classroom” โรงเรียนต้นแบบแห่งการเรียนรู้ โดยเชิญคนที่มีเครื่องจักรนำเครื่องจักรมารวมตัวกันที่นี่ นับเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนเพื่อแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การวิจัย และปฏิบัติการทดลองเพื่อพัฒนาการผลิตอาหาร
ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญกล่าวว่า สมัยก่อนการแปรรูปอาหารจะถูกขับเคลื่อนด้วยกำไร เน้นตลาดที่มีกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก (Mass Market) จึงต้องผลิตให้ได้ปริมาณมาก เพราะยิ่งทำมาก ก็ยิ่งได้กำไรมาก แต่ปัจจุบันจะเน้นตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับคนที่เป็นโรคไต เบาหวาน ความดัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการอาหารเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ การแปรรูปอาหารต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการควบคุมคุณภาพมาตรฐานอาหาร ไม่สามารถผลิตแล้วนำไปขายได้เลยโดยไม่ผ่านการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และที่สำคัญคือ หากจะผลักดันครัวไทยไปสู่ครัวโลก ต้องรู้ว่าสินค้าที่จะส่งไปขายยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น หรือในประเทศใด ๆ ถูกควบคุมด้วยกฎหมายระเบียบข้อบังคับฉบับใดบ้าง ต่อไปภายใน 3 ปี หากไม่มีระบบ
การตรวจสอบย้อนหลังไปถึงแหล่งที่มาได้ สินค้าเกษตรอาจจะขายไม่ได้
ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญกล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีสินค้าเกษตรที่สามารถนำมาแปรรูปได้มากมาย ยกตัวอย่าง “อัญชัญ” พืชที่ปลูกได้เกือบทุกบ้านและมีประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะการมีสาร “แอนโทไซยานิน” ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทตา ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถสกัดเป็นอัญชัญเข้มข้นได้โดยไม่สูญเสียแอนโทไซยานิน การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรต้องมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ข้อดีของการแปรรูปเกษตรคือ ไม่ต้องนำเข้าทุกอย่างเหมือนอุตสาหกรรมยานยนต์แล้วเราได้เฉพาะมูลค่าจากแรงงานเท่านั้น แต่นำเข้าเฉพาะเทคโนโลยีและการถ่ายทอดทักษะความรู้ โดยที่เรามีวัตถุดิบเป็นของเราเอง
ดร.พิมพ์เพ็ญกล่าวอีกว่า อยากทำผลไม้แปรรูปให้เป็นแบรนด์แห่งชาติ นึกถึงประเทศไทย นึกถึงผลไม้ไทย โดยนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านมาจึงได้โครงการแปรรูปผลไม้ 5 ชนิดของไทย ได้แก่ มะม่วง มังคุด ทุเรียน มะพร้าว และสับปะรด และตั้งแบรนด์ของโครงการชื่อว่า “Penta Golden Fruits” หรือในชื่อภาษาไทยว่า “ปัญจสุวรรณผล” เพิ่มมูลค่า 5 ผลไม้ไทยให้มีค่าดั่งทองคำ
“เราเชื่อว่าแต่ละภูมิภาคมีของดี มีศิลปวัฒนธรรม อย่างชุมพรมีมังคุดร้อยปี คู่กับประเพณีแข่งเรือ เราจะนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแบบนี้มาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร และต้องรู้จักใช้โอกาสในการขาย เช่น ตอนโอลิมปิก เขาใช้เป็นเวทีขายของ ขายเปียโน ขายกีต้าร์ ขายมอเตอร์ไซค์ฮาร์เล่ย์ น่าคิดว่าซีเกมส์ 2025 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เราจะสามารถใช้โอกาสนี้ ขายผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารอะไรได้บ้าง”