ttb analytics คาดปี 2566 รายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจ อยู่ที่ 8.33 แสนล้านบาท ลดลง 4.7% สาเหตุจากความต้องการพืชที่นำไปใช้อุตสาหกรรมลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ในขณะที่พืชอาหารยังขยายตัวได้ดี ตามการเปิดประเทศทั่วโลก ชี้ต้นทุนปุ๋ย ค่าเงินบาทผันผวนและมีแนวโน้มแข็งค่า กดรายได้สุทธิเกษตรกร
ปี 2565 รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ รวมกันอยู่ที่ 8.75 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 12.7% จากปี 2564 เมื่อแยกเป็นพืชแต่ละประเภท พบว่า อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าว และยางพารา เพิ่มขึ้น 54.1%, 24.1%, 18.2%, 8.3% และ 0.3% ตามลำดับ โดยรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับปริมาณนํ้าฝนเพิ่มขึ้น ทำให้นํ้าในอ่างเก็บนํ้าที่สำคัญและแหล่งนํ้าตามธรรมชาติมีปริมาณเพียงพอ ทำให้ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้น
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดว่า ปี 2566 รายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจหลักของไทย จะลดลง 4.7% อยู่ที่ 8.33 แสนล้านบาท เนื่องจากรายได้เกษตรกรจากพืชที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ปรับตัวลดลง 32.6% และ 15.8% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้สินค้าคงทนชะลอตัวลง และราคาพืชที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั้งสองชนิดก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ในขณะที่รายได้เกษตรกรจากพืชที่นำไปประกอบอาหาร ได้แก่ อ้อย ข้าว และมันสำปะหลัง คาดว่าจะยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัว 18.4%, 7.7% และ 5.4% ตามลำดับ ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการเปิดประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับปกติ ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ปิดประเทศไปนานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
แนวโน้มรายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจปี 2566
นอกจากนี้ จะพบว่าแนวโน้มปี 2566 พืชเกษตรที่นำไปใช้ประกอบอาหาร ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากความต้องการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปิดประเทศที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกกลับเข้าสู่ระดับปกติอีกครั้ง ในขณะที่พืชที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ทำให้ราคามีแนวโน้มลดลง สาเหตุจากทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัวลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง ได้แก่ ราคาปุ๋ยเคมี ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวน จะเป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิของเกษตรกรได้
ttb analytics แนะเกษตรกรลดต้นทุนด้วยการปรับสัดส่วนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกมากขึ้น นอกจากนี้ ควรจัดทำบัญชีรายการต้นทุนการเพาะปลูก เช่น ค่าปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าแรงงาน ค่าสูบน้ำ ค่าหว่าน ค่าไถพรวนดิน ฯลฯ เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนการเพาะปลูก ซึ่งสามารถนำไปประกอบการพิจารณาลดต้นทุนการผลิตลง
ในขณะที่ ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดินและความต้องการของพืช ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์แบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีลงได้ นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาดได้ และในกรณีที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงมากเกินไป ภาครัฐควรพิจารณาใช้งบประมาณช่วยเหลือตามความเหมาะสม
ด้านแนวโน้มค่าเงินบาทปี 2566 ที่คาดว่าจะแข็งค่าและมีความผันผวนสูง ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรควรพิจารณาบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อล็อกผลกำไรจากการขาย ซึ่งจะช่วยรักษารายได้สุทธิของเกษตรกรได้ต่อไป