ThaiPublica > เกาะกระแส > Harvard Business Review วิเคราะห์ จุดแข็ง 4 ด้านของระบบเศรษฐกิจจีน

Harvard Business Review วิเคราะห์ จุดแข็ง 4 ด้านของระบบเศรษฐกิจจีน

6 ตุลาคม 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

หลังจากกลับมาจากการไปเยือนจีนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Jim Farley CEO ของบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ ให้สัมภาษณ์กับ The Wall Street Journal ว่า จากการได้ไปเห็น ทำให้ตัวเองวิตกกังวล ผู้ผลิตรถยนต์จีนกำลังวิ่งนำห่างออกไปในการแข่งขันด้านรถยนต์ EV ผู้ผลิตของจีนวิ่งด้วยความเร็วของแสง ใช้ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอื่นๆในรถยนต์ ชนิดที่ไม่มีอยู่ในสหรัฐฯ

Jim Farley บอกกับสมาชิกคณะกรรมการบริษัทของ FORD คนหนึ่ง ที่เคยทำงานให้ Goldman Sachs ในจีนว่า ผู้ผลิตรถยนต์ EV ของจีน ใช้ฐานการผลิตชิ้นส่วนต้นทุนต่ำ เพื่อตัดราคาในการแข่งขัน เสนออุปกรณ์ระบบดิจิทัลที่ปราณีต และขยายตลาดต่างประเทศอย่างเป็นฝ่ายรุก สิ่งนี้คืออันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อการอยู่รอดของผู้ผลิตรถยนต์ประเทศอื่น

หลายปีที่ผ่านมา มีเพียง Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ที่พยายามพัฒนารถยนต์ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ EV แต่ทุกวันนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ EV ของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว จนสั่นคลอนบริษัทรถยนต์ดั้งเดิมในสหรัฐฯ เยอรมัน และญี่ปุ่น

แม้แต่ Elon Musk CEO ของ Tesla ก็กล่าวว่า “จีนเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มีความสามารถในการแข่งขันมากที่สุดในโลก”

ที่มาภาพ : https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3281178/win-china-ev-tariffs-vote-leaves-eu-relieved-yet-wary-over-beijings-likely-retaliation

ระบบ “ทุนนิยมรัฐ” แบบไฮบริด

บทความ Harvard Business Review เรื่อง The 4 Key Strengths of China Economy กล่าวว่า ปี 1978 เติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มใช้นโยบาย “ปฏิรูปและเปิดกว้าง” เพื่อเอาประโยชน์จากเทคโนโลยีตะวันตก มาเป็นพลังพัฒนาประเทศจีน นโยบายดังกล่าวมีความเสี่ยงทางการเมือง พวกหัวเก่าในพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่พอใจ เพราะเท่ากับยอมรับว่า ในยุคสังคมนิยม จีนมีความล้าหลังทางเศรษฐกิจ และทุนนิยมตะวันตกมีความล้ำเลิศมากกว่า แต่ เติ้ง เสี่ยงผิง รู้ดีว่า การสร้างความทันสมัยให้กับจีน ต้องอาศัยแนวคิดที่แก้ปัญหาด้วยวิธีการปฏิบัติ (pragmatism) ไม่ใช่ทางอุดมการณ์ แมวดำแมวขาวไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้ก็แล้วกัน

แต่ในทุกวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปในทางกลับกัน แม้จะยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่า ระบบ “ทุนนิยมรัฐ” แบบไฮบริดของจีน จะเหนือกว่าโมเดลตะวันตกหรือไม่ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า ระบบของจีนมีจุดแข่งหลายอย่าง สถาบัน Strategic Policy Institute ของออสเตรเลีย บอกว่า เทคโนโลยีสำคัญ 64 ด้าน จีนนำอยู่ 53 ด้าน

ความสำเร็จของจีนสร้างขึ้นมาจากระบบการวางแผนและควบคุมโดยส่วนกลาง และยังประกอบด้วยการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้เกิดผู้ชนะในระดับโลก ที่สามารถแข่งขันในด้านราคาและคุณภาพ ทั้งในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว และเศรษฐกิจเกิดใหม่ ไม่มีประเทศไหนจะมาเทียบได้กับจีนในเรื่องขนาดของตลาด หรือเรื่องความต้องการของผู้บริโภค ที่จะมีความช่ำชองในเทคโนโลยีใหม่ๆ

บทความของ Harvard Business Review กล่าวว่า จุดแข็ง 4 ประการของเศรษฐกิจจีน ประกอบด้วย

  • 1.ระบบนิเวศด้านนวัตกรรม
  • ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมของจีนมีลักษณะเฉพาะตัวของจีน ที่เป็นการผสมผสานกัน ระหว่างรัฐกับอุตสาหกรรม ในแบบจากบนสู่ล่าง ประสานด้วยการขับเคลื่อนของผู้ประการของจีน จากระดับล่างขึ้นมา “สตาร์ทอัพ” หรือบริษัทเริ่มต้นใหม่ ที่ดำเนินงานตามอุตสาหกรรม ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมในอนาคต จะเติบโตขี้นมาผ่านการสนับสนุนจากนโยบายรัฐ และการลงทุนของส่วนกลางในด้านการวิจัยพัฒนาจากปี 1995-2021 งบประมาณด้านการวิจัยพัฒนาของจีนเพิ่ม 3,299% จาก 18.2 พันล้านดอลลาร์ เป็น 620 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 277% ตัวอย่างความสำเร็จที่โดดเด่นของจีนคือ เทคโนโลยีสะอาด จีนมีความสามารถในการผลิตเทคโนโลยีสะอาดที่สำคัญ 11 อย่างได้ถึง 80% ของโลก เช่นแผงโซล่าเซลล์ และแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน

    Harvard Business Review เสนอแนะว่า ในระยะที่ผ่านมา บริษัทจีนเคยได้ประโยชน์มานานหลายสิบปี จากการลงทุนของชาติตะวันตกในอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น รถยนต์และเคมีภัณธ์ ปัจจุบัน บริษัทสหรัฐฯและยุโรปก็ควรจะเอาประโยชน์ จากการลงทุนมหาศาลของจีน ในด้านเทคโนโลยีสะอาด

    ตัวอย่างจากพลังงานแสงแดด ไม่มีประโยชน์อะไรที่บริษัทตะวันตก จะพยายามแข่งขันกับจีนในเรื่องนี้ การลงทุนของจีนในระยะหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ในการประกอบผลิตแผงโซลาเซลล์ขนาดใหญ่ ทำให้ช่วงปี 2010-2020 ราคาแผลโซลาเซลล์ลดลงถึง 85% ทำให้การเติบโตของตลาดเป็นแบบก้าวกระโดด และเป็นประโยชน์มากต่อปัญหาโลกร้อน

    บริษัทฟอร์ดมอเตอร์คือตัวอย่างบริษัทสหรัฐฯ ที่ยอมรับเทคโนโลยีของจีน ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในการบรรลุเป้าหมายพลังงานสะอาดของฟอร์ด ในการเปลี่ยนผ่านของรถยนต์แบบ SUV และรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ EV ฟอร์ดได้ร่วมมือกับ CATL ผู้ผลิตแบตเตอร์รี่รายใหญ่ของจีน โดยฟอร์ดจะลงทุน 3.5 พันล้านดอลลาร์ ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอร์รี่ในสหรัฐฯ โดยใช้ใบอนุญาตการอาศัยเทคโนโลยีของ CATL โรงงานฟอร์ดจะผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกปิคอัพ F-150 และรถยนต์ EV อื่นๆ

    BYD งานมอร์เตอ์โชว์ ประเทศไทย ปี 2023 https://en.wikipedia.org/wiki/BYD_Auto#/media/File:BYD_booth_at_the_2023_Bangkok_International_Motor_Show.png
  • 2.การลงทุนจีนในโลกใต้ (Global South)
  • บทความ Harvard Business Review กล่าวว่า จุดแข็งของจีนในการลงทุนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging economy) มีอิทธิพลในการกำหนดพลวัตธุรกิจโลก ที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติของตะวันตกเน้นไปที่ตลาดอิ่มตัวแล้ว ด้วยสินค้าที่มีวิศวกรรมการผลิตซับซ้อน ขายในราคาสูง ขณะที่จีนเอาชนะตลาดที่กำลังมีการเติบโต

    จีนมีความสามารถในการผลิตสินค้า ที่ตรงความต้องการของตลาดท้องถิ่น และในราคาที่ซื้อได้ ปี 2021 บริษัทสมาร์ทโฟน์เช่น Xiaomi และ Huawei ครองตลาดสมารทโฟนในอินเดีย 76% และ 60% ในตลาดแอฟริกา ส่วนรถยนต์ EV จีนครองตลาด 86% ในลาตินอเมริกา และ Huawei เป็นซัพพลายเออร์เครือข่ายโทรคมนาคม 4G ในแอฟริกา

    ฐานะนำของจีนในประเทศโลกทางใต้ ได้รับการหนุนช่วยจาก โครงการ “ริเริ่มแถบและเส้นทาง” (BRI) ที่มีการลงทุนนับล้านล้านดอลลาร์ 150 ประเทศและ 30 องค์การเข้าร่วมใน BRI อุปสงค์ที่เกิดจากโครงกร BRI ทำให้บริษัทจีนได้เปรียบมหาศาล และก็เป็นโอกาสมากมายเช่นกันกับบริษัทตะวันตก ที่ยินดีจะเป็นหุ้นส่วนบริษัทจีน

  • 3.จีนมีตลาดภายในที่แข่งขันกันรุนแรง

  • ตลาดการแข่งขันภายในจีน มักเรียกกันว่า “สนามนักสู้กลาเดียเตอร์” (Gladiator Arena) บริษัทที่เป็นผู้ชนะ มักจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำธุรกิจโลก อย่างเช่น CATL ด้านแบตเตอรี่ BYD ด้านรถยนต์ EV Tongwei ด้านโซลาเซลล์ และ Huawei ด้านเทคโนโลยีคมนาคม

    เมื่อรัฐบาลกลางตัดสินใจที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมา มณฑลต่างๆจะรีบเสนอการสนับสนุนทางการเงิน และด้านอื่นๆในอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว บริษัทจีนนับร้อยรายจะรีบเสนอตัวมาดำเนินการ จุดนี้ทำให้เกิดทัศนะคติแบบ Lean Startup คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเวลาสั้นที่สุด อาศัยข้อมูลจากการทดลองที่เป็นจริง เพื่อก้าวล้ำหน้าคู่แข็ง

    กรณีของ Tesla คือตัวอย่าง เมื่อ Elon Musk ขายรถยนต์ Tesla ในตลาดจีน หมายความว่า เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของสนามนักสู้กลาเดียเตอร์ จีนส่งเสริมให้ Tesla เข้ามาจีน เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน เมื่อ Tesla ยกระดับการผลิตสูงขึ้น ผู้ผลิตของจีน เช่น NIO, Xpeng และ BYD ก็เริ่มผลิตรถยนต์ EV คุณภาพสูงออกสู่ตลาด ในราคาที่แข่งขันได้ ภายใน 6 ปี จีนมีบริษัทรถยนต์ EV 500 แห่ง หลังจากแข่งขันรุนแรง ปี 2023 เหลือ 100 แห่ง

    ที่มาภาพ : China Daily
  • 4.ตลาดผู้บริโภค 1.4 พันล้านคน

  • แม้จะมีการพูดกันเรื่องบริษัทธุรกิจ “ลดความเสี่ยง” (de-risking) และ “แยกตัว” (decoupling) กับจีน แต่จีนก็เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ ที่ไม่มีประเทศไหนเทียบเคียงได้ ตลาดที่ผู้บริโภคมีรสนิยม เป็นเหตุผลักดันให้ธุรกิจต้องพัฒนาแบบไม่หยุดนิ่ง

    เศรษฐกิจจีนมีสัดส่วน 17% ของ GDP โลก เท่ากับผลผลิตรวมกันทั้งหมดของกลุ่ม EU อุตสาหกรรมสำคัญของโลก เช่น รถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย และอุปกรณ์อุตสาหกรรม มีรายได้จากจีนในสัดส่วน 25-40%

    พื้นฐานผู้บริโภคจีนที่ถนัดด้านเทคโนโลยี เป็นตลาดขนาดใหญ่ เนื่องจากการขยายตัวของคนชั้นกลางและการมีรายได้เหลือใช้ของคนจีน ทำให้เกิดความต้องสินค้าด้านรถยนต์ EV และสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ บริษัทวิจัย Brain กล่าวว่า ปี 2030 คนจีนจะใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย มีสัดส่วน 40% ของการใช้จ่ายของโลกทั้งหมด ในปี 2019 นักท่องเที่ยวจีนใช้เงินซื้อสินค้าฟุมเฟือย 40% ของตลาดในยุโรป ที่มีมูลค่า 89 พันล้านยูโร

    บทความ Harvard Business Review สรุปว่า บริษัทตะวันตกจะต้องปรับทัศนะตัวเอง ที่เคยยึดติดกับความคิดที่ว่า ตะวันตกเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี และหันมาเข้าใจว่า จีนมีจุดแข็งสำคัญ ที่จะต้องหาทางเอาประโยชน์ บริษัทข้ามชาติที่มองข้ามสิ่งนี้ เสี่ยงที่จะสูญเสียโอกาสทางยุทธศาสตร์ให้กับบริษัทคู่แข่งจีน

    เอกสารประกอบ
    What Scared Ford’s CEO in China, 14 September 2024. The Wall Street Journal.
    The 4 Key Strengths of China’s Economy – and What They Mean for Multinational Companies, 26 August 2024, Harvard Business Review.