ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเคาะ กม.นิรโทษกรรม 12 ธ.ค.นี้ ยันไม่แตะ ม.112 – ตั้งรองนายกฯนั่ง คกก. 6 ชุด กรองเรื่องก่อนเสนอ ครม.

นายกฯเคาะ กม.นิรโทษกรรม 12 ธ.ค.นี้ ยันไม่แตะ ม.112 – ตั้งรองนายกฯนั่ง คกก. 6 ชุด กรองเรื่องก่อนเสนอ ครม.

29 ตุลาคม 2024


เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี ณ โถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯเคาะ กม.นิรโทษกรรม 12 ธ.ค.นี้ ยันไม่แตะ ม.112
  • สั่ง ‘อนุทิน’ สอบปลัดอำเภอท่าอุเทนฯ หนี ‘คดีตากใบ’
  • ขีดเส้นตาย ‘พาณิชย์ – ดีอี’ แก้นำเข้าของเถื่อน 1 เดือน
  • ชี้สัมปทานซื้อไฟ 3,600 MW ยังไม่เสนอ กพช. ย้ำโปร่งใสแน่นอน
  • มติ ครม.ตั้งรองนายกฯนั่ง คกก. 6 ชุด กรองเรื่องก่อนเสนอ ครม.
  • ตั้ง ‘ณอคุณ’ ประธานคัดเลือกบอร์ด กกพ.
  • รับทราบความคืบหน้าโครงการสายไฟฟ้าลงดิน
  • ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพ
  • ไฟเขียวอีอีซีเซ็น MOU กับมณฑลกวางตุ้ง หนุนอุตฯเป้าหมาย
  • เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล

    มอบ ทส.เจ้าภาพ เตรียมรับมือ PM 2.5

    นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระดมกำลัง และเร่งแก้ไขปัญหา PM2.5 และมาตรการแก้ไขปัญหาจากภาคการเกษตร

    “อยากให้เตรียมไว้แต่เนิ่น ๆ ว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพราะเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว รวมถึงปัญหาภาคการเกษตรว่าจะมีมาตรการอย่างไร ที่เคยกล่าวไว้เรื่องการไม่รับซื้อข้าวโพด หรือ อ้อยจากการเผาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงฝุ่นควันที่เกิดขึ้นจากรถยนต์และภาคอุตสาหกรรม” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ตนได้ขอความร่วมมือกับรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงคมนาคม ที่จะต้องจับรถยนต์เข้มงวดมากยิ่งขึ้น และกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความรัดกุมมากขึ้นต่อไป

    เร่งกระบวนการพิจารณาสัญชาติชนกลุ่มน้อยเหลือ 5 วัน

    นางสาวแพทองธาร รายงานว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติในหลักการตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอเรื่องหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติ และสถานะบุคคลที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มที่เกิดในราชอาณาจักร ปัจจุบันมีชนกลุ่มน้อยกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยจำนวนทั้งสิ้น 825,635 ราย โดยคงเหลือบุคคลที่รอการพิจารณากำหนดสถานะจำนวน 483,626 ราย

    โดย สมช. ขออนุมัติหลักเกณฑ์ โดยยึดกรอบตามหลักเดิมคือกลุ่มเป้าหมายเดิม แต่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหลักเกณฑ์เพื่อให้ปฏิบัติเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เช่น การปรับระยะเวลาในการดำเนินงานในภาพรวม จากเดิมใช้ถึง 270 วัน เปลี่ยนเป็น 5 วัน สอดคล้องกับกระบวนการที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาและหามาตรการป้องกันในทุกประเด็นตามกฎหมาย

    กำชับตำรวจ – ฝ่ายปกครอง ดูแลนักท่องเที่ยว

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า “เมื่อเช้าได้มีโครงการ Thailand Winter Festival ซึ่งมีการดึงดูดไทยเที่ยวไทย และต่างชาติเที่ยวไทย รัฐบาลอยากสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศ หรือ นอกเหนือจากสถานที่ที่มีความสวยงาม และมีเสน่ห์”

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า รัฐบาลยังย้ำเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการรักษาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว และถูกเน้นย้ำให้ดูแลทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยว โดยได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจท่องเที่ยว หน่วยงานปกครอง รวมถึงหามาตรการป้องกันปัญหาการหลอกลวงนักท่องเที่ยวจากไกด์เถื่อน และมาตรการดูแลความสะอาดและระบบขนส่งต่างๆ ที่จะให้บริการที่ดีและยุติธรรมกับคนไทยและชาวต่างชาติ

    นอกจากนี้ นางสาวแพทองธาร ยังกล่าวถึงจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยว่า จังหวัดเหล่านี้พร้อมแล้วที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ

    สั่ง ‘อนุทิน’ สอบปลัดอำเภอท่าอุเทนฯ หนี ‘คดีตากใบ’

    นางสาวแพทองธาร ตอบคำถามเรื่องข้อเสนอให้ตัดเงินบำนาญ-บำเหน็จข้าราชการที่หนีคดีตากใบ ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่ โดยตนได้สั่งการ และคุยกันเรียบร้อยแล้ว และตอนนี้อยู่ระหว่างการทำระเบียบ

    เมื่อถามว่ามีระเบียบที่สามารถริบเงินดังกล่าวได้หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ต้องดูในข้อรายละเอียดก่อน ขอเวลานิดนึง แต่ทราบเรื่องหมดแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น”

    ถามต่อว่า นายกฯ มีแผนจะลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้กำลังใจกับผู้เสียหายหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “จริงๆ มีแพลนในการลงพื้นที่ภาคใต้อยู่แล้ว ขอเรียนอีกทีว่าจะไปจังหวัดไหน อย่างไร ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องได้ไปอยู่แล้ว…วันนี้ก็ใส่เสื้อลายของภาคใต้มานะคะ”

    ผู้สื่อข่าวยังถามถึง ปลัดอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับคดีตากใบ ซึ่งกลับมาทำงานแบบทองไม่รู้ร้อน แต่ยังไม่ทันพูดจบ นางสาวแพทองธาร แทรกทันทีว่า “เดี๋ยวเรื่องนี้จะให้รองนายกฯ (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ตอบเรื่องนี้ละกัน เพราะเมื่อกี้ได้มีการคุยกันแล้ว ก็ให้ท่านตอบรายละเอียดเรื่องนี้”

    ถามต่อว่า กรณีนี้จะกระทบกับความเชื่อมั่นต่อระบบราชการไทยหรือไม่ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย เรามีหลักนี้เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เมื่อท่าน (นายอนุทิน) ไปจัดการเรื่องนี้ก็ต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายที่เป็นหลักสำคัญ”

    ถามต่อว่า กรณีนี้จะกระทบความเชื่อมั่นต่อฝ่ายความมั่นคงของหน่วยงานของรัฐหรือไม่ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ค่ะ ก็ต้องตรวจสอบกันต่อไป แต่เราก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศต่อ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้เราก็เข้าใจได้”

    เมื่อถามว่าจะกระทบต่อการเติบโตต่อหน้าที่ในราชการหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “แน่นอนค่ะ”

    ชี้สัมปทานซื้อไฟ 3,600 MW ยังไม่เสนอ กพช. ย้ำโปร่งใสแน่นอน

    นางสาวแพทองธาร ตอบคำถามกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ เรียกร้องให้ทบทวนการออกสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 MW ว่า “ในรายละเอียดเรื่องนี้ทั้งหมด ตัวดิฉันเองที่นั่งเป็นประธาน กพช. (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) เรื่องนี้ยังมาไม่ถึง แต่ก็มีการสอบถาม และได้คุยกับท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)”

    “ก่อนที่คุณธนาธรจะออกมาพูด มีการตอบคำถามเรื่องนี้ในสภาเรียบร้อยแล้ว จากกระทู้ คิดว่าทางประชาชนและสื่อมวลชนสามารถหาข้อมูลได้อย่างละเอียดเลย อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างต้องมีกระบวนการของมันอยู่แล้ว” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    ถามต่อว่า เรื่องนี้จะมีความโปร่งใสและไม่มีการเอื้อประโยชน์นายทุนใช่หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “แน่นอน เรื่องนี้ต้องโปร่งใส”

    ถามต่อว่า รัฐบาลยินดีให้ตรวจสอบหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ยินดีนะคะ ได้ยินจากรองนายกฯ ว่าเรื่องนี้ต้องเป็นไปตามกระบวนการ และต้องโปร่งใส ให้ประชาชนสามารถรับรู้และเข้าใจได้อย่างแน่นอน…นั่นคือความมั่นคงของรัฐบาลด้วย”

    เคาะร่าง กม.นิรโทษกรรม 12 ธ.ค.นี้ ยันไม่แตะ ม.112

    ผู้สื่อข่าวถามถึงร่างกฎหมายนิรโทษกรรม 4 ฉบับ ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในสมัยประชุมหน้า พรรคเพื่อไทยจะมีร่างของพรรคเข้าไปด้วยหรือไม่ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อันนี้ต้องคุยกันก่อน แต่ขอให้ความมั่นใจว่า เดี๋ยวเปิดประชุม 12 ธันวาคมนี้ จะมีข้อสรุปเรื่องนี้”

    ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า จะมีร่างของพรรคเพื่อไทยด้วยหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ต้องคุยกันกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้วย ว่าจะอย่างไรบ้าง”

    ถามต่อว่า นโยบายต้องไม่แตะมาตรา 112 ใช่หรือไม่ นางงสาวแพทองธาร ตอบทันทีว่า “แน่นอนค่ะ” และกล่าวต่อว่า “ต้องไม่แตะเรื่อง 112 แน่นอน เป็นสิ่งที่เราย้ำอยู่แล้ว การร่วมรัฐบาล เราก็ย้ำเรื่องนี้ พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคก็ตกลงว่าจะไม่แตะหมวด 1 และ 2 อันนี้ชัดเจน”

    เร่งแจกเงินเยียวยาน้ำท่วม – ผ่านเกณฑ์จ่ายทันที

    ถามถึงเงินเยียวยาหลังสถานการณ์อุทกภัย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อันนี้ในทีม ศปช. รับทราบหมดแล้ว แต่เรื่องค่าเยียวยาต้องได้ในเร็วๆ นี้แน่นอน เพราะภาคเหนือที่เกิดขึ้น เราก็เร่งจ่ายค่าเยียวยา ฉะนั้นทุกจังหวัดก็เช่นกัน”

    เมื่อถามว่า เงินเยียวยาจะได้เมื่อไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “รอให้มันผ่านเกณฑ์ทุกอย่างแล้ว แจกได้เลย”

    ถามต่อว่า ปีหน้าหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ไม่ถึง เพราะเราได้ประกาศเป็นเขตประสบภัย ถ้าเกิดว่าประกาศเป็นเขตประสบภัย ก็คือเข้าเกณฑ์ในการได้รับการเยียวยา เพราะฉะนั้น เร็วๆ นี้แน่นอน”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า ที่ผ่านมาการจ่ายเงินเยียวยาจะข้ามปี ทำให้ นางสาวแพทองธาร สวนกลับว่า “ที่ผ่านมาคือ…ที่ผ่านมา ปีไหนเอ่ย มันไม่เหมือนเดิม”

    เร่งทุกหน่วยส่งข้อมูลเงินเยียวยาให้ ศปช.

    ด้านนายจิรายุ รายงานข้อสั่งการว่า นายกฯ มีข้อสั่งการในที่ประชุม ครม. เรื่องมาตรการเยียวยา และฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยในหลากหลายพื้นที่ ไม่ใช่แต่เฉพาะจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่เท่านั้น แต่หมายความถึง 50 จังหวัดในประเทศไทยที่จะต้องได้รับมาตรการเยียวยาต่างๆ

    “นายกฯ ระบุในที่ประชุมว่า ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 ให้ทุกหน่วยงานเร่งพิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชน และส่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมไปที่ ศปช. เพื่อพิจารณากลั่นกรองไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและครอบคลุมทุกมิติด้วย” นายจิรายุ รายงาน

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และกำลังเข้าสู่ช่วงของการเยียวยาฟื้นฟู นายกฯ จึงขอกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเสนอมาตรการเยียวยาฟื้นฟูไปที่ ศปช. โดยเร็ว และรวบรวมกลั่นกรองก็เข้าสู่ ครม. ทั้งนี้ ศปช. ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้แล้ว

    “นายกฯ มีข้อห่วงใยว่าแม้จะจบไปแล้ว ศปช. ส่วนหน้าส่งมอบคืนพื้นที่แล้ว แต่นายกฯ ย้ำว่าให้ส่วนราชการในพื้นที่ ในอำเภอ ในจังหวัด ยังคงต้องให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะฝุ่นละอองต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นช่วงหน้าหนาวขณะนี้” นายจิรายุ กล่าว

    มอบ รมว.คลังประสาร กกร.แก้ ศก.โตต่ำกว่าศักยภาพ

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ แจ้งในที่ประชุม ครม. หลังจากที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย หารือกับนายกฯ ในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 เพื่อให้ข้อเสนอของภาคเอกชนมีการตอบสนองที่เป็นรูปธรรม ผ่านกรอบสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่

      1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
      2. มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
      3. การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งไม่ควรจะมีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นอีกในอนาคตถ้าบริหารจัดการน้ำได้
      4. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางรัฐบาล

    นายจิรายุ รายงานว่า นายกฯ มอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร นำคณะจากฝ่ายราชการประสานให้ได้ข้อยุติที่จะร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด และแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำกว่าศักยภาพตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยไม่ค่อยดีนักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

    “จุดมุ่งหมายสำคัญในการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ต้องอาศัยการเพิ่มรายได้ของประชาชน และเฉพาะหน้าก็ต้องแก้ไขผ่อนปรนภาระของประชาชนทั้งหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะหนี้ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์และบ้านเรือน นอกจากนี้ หนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตามแนวทางของท่านอดีตนายกฯ เศรษฐาที่มอบหมายภายใต้การทำงานในแผนของ สทนช. และสภาพัฒน์ฯ มาดำเนินการต่อ เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน และเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในอนาคต รวมถึงน้ำในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศไทย” นายจิรายุ รายงาน

    ขีดเส้นตาย ‘พาณิชย์ – ดีอี’ แก้นำเข้าของเถื่อน 1 เดือน

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ มีข้อสั่งการเรื่องการแก้ไขปัญหาสินค้าออนไลน์รุกตลาดประเทศไทย ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยเสียเปรียบอย่างมาก โดยที่ประชุม ครม. ขอให้มีการหยิบยกมาตั้งเป็นเรื่องเพื่อพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยนายกฯ เศรษฐา

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานและกรรมการบริหารจัดการปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศ หารือร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เร่งนำมาตรการที่เตรียมไว้ 3 ประการมาใช้ โดยขอให้เสร็จภายใน 1 เดือน

    “พูดง่ายๆ คือแก้ไขปัญหาสินค้าต่างๆ พี่น้องประชาชนอาจไม่ได้ซื้อสินค้าจากประเทศไทย ยี่ห้อดังๆ จากต่างประเทศเข้ามา ทำให้ธุรกิจไทยประสบปัญหา” นายจิรายุ กล่าว

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ กำชับในที่ประชุม ครม. ให้การค้าขายสินค้าออนไลน์จากต่างชาติต้องมีการจดทะเบียนเป็นบริษัทในไทย เพื่อการควบคุมสินค้าและคุณภาพของผู้บริโภคและเข้าระบบภาษี อีกทั้งสินค้าที่ขายในออนไลน์ ไม่ว่าจะสั่งซื้อมาจากที่ใด ก็ตามควรจะมีมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)

    เตรียมมาตรการรับมือ PM 2.5

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพในการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ต้น

    “ไม่ได้หมายความว่าช่วงธันวาคมถึงมกราคม ค่อยไปแก้ไขปัญหาเมื่อค่า PM สูงขึ้น ขอให้เร่งดำเนินการทำเสียแต่ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่มาที่ไปจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือเกิดจากกลุ่มเกษตรกรของประเทศไทย เป็นต้น” นายจิรายุ กล่าว

    นอกจากนี้ นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ กำชับมาตรการไม่รับซื้อข้าวโพดและอ้อยที่เกิดจากการเผาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงปัญหาฝุ่นควันที่อาจจะเกิดขึ้นจากรถยนต์และภาคอุตสาหกรรม ขอความร่วมมือให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการตรวจจับรถยนต์ที่มีค่าไอเสียมากขึ้น และมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรการควบคุมที่รัดกุมต่อไป

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    รับทราบความคืบหน้าโครงการสายไฟฟ้าลงดิน

    นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง ปี 2566 (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2566) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ รายละเอียดมีดังนี้

    1. สาระสำคัญของแผนงานฯ และผลการดำเนินการที่ผ่านมา

    การไฟฟ้านครหลวง มีแผนดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ที่การไฟฟ้านครหลวงดูแลและรับผิดชอบระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ รวม 8 แผน ระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เห็นชอบให้ดำเนินการเพิ่มอีก 2 แผน ระยะทางรวม 77.4 กิโลเมตร รวมเป็นแผนงานที่การไฟฟ้านครหลวงดำเนินการทั้งสิ้น 10 แผน ระยะทางรวม 313.5 กิโลเมตร ทำให้กรอบระยะเวลาดำเนินการเปลี่ยนจากเดิมมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน ปี 2568 เป็นมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน ปี 2572 ระยะทางที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 73.4 กิโลเมตร ประกอบด้วย

      1) แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 5 (ระยะที่ 2) ฉบับที่ 7 (ฉบับปรับปรุง) และฉบับที่ 8 (ฉบับปรับปรุง) (โครงการถนนสีลม ปทุมวัน และจิตรลดา) ระยะทางรวม 16.2 กิโลเมตร
      2) แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายไฟฟ้า ฉบับที่ 4 (ระยะที่ 2) (พ.ศ. 2547 – 2550) (โครงการถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท และถนนสุขุมวิท) ระยะทางรวม 24.4 กิโลเมตร
      3) แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินปี 2551 – 2556 (ฉบับปรับปรุง) (โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) และโครงการนนทรี) ระยะทางรวม 14.3 กิโลเมตร และ
      4) แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน (โครงการรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวถนนพหลโยธิน (ช่วงห้าแยกลาดพร้าว ถึง ถนนงามวงศ์วาน) ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร และโครงการถนนสารสิน ระยะทาง 0.8 กิโลเมตร) ระยะทางรวม 18.5 กิโลเมตร

    สำหรับแผนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ มี 6 แผน ระยะทางรวม 240.1 กิโลเมตร ดังนี้

    2. ผลการดำเนินการตามแผนงานฯ (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2566) ดังนี้

    2.1 แผนงาน/โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ระยะทาง 240.1 กิโลเมตร

    1) แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551 – 2556 (ฉบับปรับปรุง) ระยะทางรวม 25.2 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 10.9 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ85.28 (จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ 84.97) (เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.31) มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน ปี 2570 ประกอบด้วย

    2) แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน รัชดาภิเษก ระยะทางรวม 22.5 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 38.09 (จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ 38.54) (ช้ากว่าแผนร้อยละ 0.45) มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2571 ประกอบด้วย

    3) แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะทางรวม 127.3 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 108.8 กิโลเมตร อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง และการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 50.80 (จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ 49.06) (เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.74) มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2572 ประกอบด้วย

    4) แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด ระยะทางรวม 20.5 กิโลเมตรอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 30.95 (จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ 29.97) (เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.98) มีกำหนดการแล้วเสร็จภายใน ปี 2572 ประกอบด้วย

    5) แผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้า ตามแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า ระยะที่ 1 ระยะทางรวม 34.6 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 20.0 (จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ 20.0) (ปฏิบัติงานได้ตามแผน) มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน ปี 2572 ประกอบด้วย

    6) แผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้า ตามแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า ระยะที่ 2 ระยะทางรวม 42.8 กิโลเมตร อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้างและออกแบบ คิดเป็นร้อยละ 5.52 (จากแผนงานที่กำหนดร้อยละ4.62) (เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.9) มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน ปี 2572 ประกอบด้วย

    2.2 การเบิกจ่ายงบประมาณ การไฟฟ้านครหลวงได้วางแผนการเบิกจ่ายเงินในปี 2566 จำนวนเงิน 6,351.070 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2566 ได้มีการเบิกจ่ายเงินรวม 2,980.830 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.93 ของแผนการเบิกจ่ายฯ และจะเร่งดำเนินการเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือโดยเร็วที่สุด

    ประโยชน์ของการดำเนินโครงการ

    การดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง มีประโยชน์ ดังนี้

      1. เพื่อพัฒนาคุณภาพการจ่ายไฟฟ้า และความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า
      2. เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
      3. เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

    ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพ

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดังนี้

    1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 (ร่างแผนปฏิบัติการฯ) และเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) (เป้าหมายระดับชาติฯ) และมอบหมายให้ ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นำส่งแผนปฏิบัติการฯ และเป้าหมายระดับชาติฯ ดังกล่าว ให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

    2. การขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณากลั่นกรองแผนระดับที่ 3 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 เรื่อง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติ วันที่ 15 ธันวาคม 2563 เรื่อง แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน… เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และวันที่ 27 เมษายน 2564 เรื่อง คู่มือแนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 และการเสนอแผนระดับที่ 3 ในส่วนของแผนปฏิบัติการด้าน… ต่อคณะรัฐมนตรี สาระสำคัญมีดังนี้

    1) ร่างแผนปฏิบัติการฯ ที่ ทส. เสนอ เป็นแผนหลักของประเทศด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่มีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ 12 เป้าหมาย ดังนี้

      ยุทธศาสตร์ที่ 1 การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และขจัดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อคงไว้ซึ่งบริการจากระบบนิเวศ ประกอบด้วย 4 เป้าหมาย ดังนี้

      เป้าหมายที่ 1 ลดการสูญเสียพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสำคัญทั้งบนบกและในทะเล โดยการวางแผนเชิงพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ

      เป้าหมายที่ 2 อนุรักษ์ ฟื้นฟู ขยายพื้นที่คุ้มครอง เพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์และการเชื่อมต่อของระบบนิเวศ

      เป้าหมายที่ 3 อนุรักษ์และคุ้มครองชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามและชนิดพันธุ์ธรรมชาติ ลดปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกราน

      เป้าหมายที่ 4 ลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษ รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เพื่อฟื้นฟูและคงไว้ซึ่งบริการจากระบบนิเวศ

    ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 เป้าหมาย ดังนี้

      เป้าหมายที่ 5 ส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพบนพื้นฐานของบริการจากระบบนิเวศ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และรายได้ของประชาชน

      เป้าหมายที่ 6 ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมง การปศุสัตว์ การป่าไม้ และการท่องเที่ยว

      เป้าหมายที่ 7 จัดให้มีกลไกและมาตรการการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ รวมถึงความปลอดภัยทางชีวภาพจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม

    ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเสริมสร้างขีดความสามารถและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย 5 เป้าหมาย ดังนี้

      เป้าหมายที่ 8 บูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพในนโยบาย แผน และการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในทุกระดับ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ

      เป้าหมายที่ 9 เพิ่มช่องทางและเงินทุนสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีกลไกทางการเงิน กลไกทางเศรษฐศาสตร์ และมาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

      เป้าหมายที่ 10 พัฒนาระบบข้อมูลและองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่มีการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน เพื่อใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจและการดำเนินงานในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ

      เป้าหมายที่ 11 เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ และความร่วมมือ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ

      เป้าหมายที่ 12 พัฒนาและปรับปรุงเครื่องมือด้านกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

    2) เป้าหมายระดับชาติฯ จะต้องดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 โดยกำหนด
    เป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ จำนวน 4 เป้าหมาย ดังนี้

      2.1 มีพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) ของประเทศ ทั้งบนบกและในทะเล อย่างน้อยร้อยละ 30

      2.2 ดัชนีสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (Red List index) ไม่น้อยลง จากข้อมูลปีฐาน พ.ศ. 2568

      2.3 มีมาตรการในการจัดการสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกรานที่มีลำดับความสำคัญสูงอย่างน้อยร้อยละ 35

      2.4 สัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET50 ที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพโดยสมัครใจ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

    เห็นชอบแถลงการณ์ร่วม รมว.คลัง ASEAN + 3

    นายจิรายุ กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการต่อแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน + 3 (Joint Statement of the 27th ASEAN + 3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting) (การประชุม AFMGM + 3) ครั้งที่ 27 (แถลงการณ์ร่วมฯ) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว กค. จะได้ส่งหนังสือถึงประธานร่วม ในการประชุม AFMGM + 3 ครั้งที่ 27 เพื่อแจ้งรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง มีดังนี้

    แถลงการณ์ร่วมฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน + 3 ในการเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงิน ผ่านโครงสร้างความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงินสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ในฐานะประธานร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเศรษฐกิจสาธารณรัฐเกาหลีในการประชุม AFMGM + 3 ครั้งที่ 27 ได้มีหนังสือเชิญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ณ เมืองทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย โดยที่ประชุมได้พิจารณาให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมด้วยแล้ว โดยมีสาระสำคัญ เช่น
    1) การพัฒนาและแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค

      (1) เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน + 3 ในปี 2566 เติบโตขึ้น ร้อยละ 4.3 (ในปี 2565 เติบโตขึ้นร้อยละ 3.2) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศ และเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.5 ก่อนที่จะชะลอตัวลง เป็นร้อยละ 4.2 ในปี 2568
      (2) ในส่วนของแนวโน้มระยะสั้นสำหรับอาเซียน + 3 อาจได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่สูงขึ้น และการชะลอตัว ของการเติบโตของคู่ค้ารายใหญ่
      (3) นโยบายการเงินของอาเซียน + 3 ควรคงความเข้มงวดไว้โดยคำนึงถึงความเสี่ยงด้านบวกของอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงมีอยู่ รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างการลงทุนด้านการเพิ่มผลผลิตและความยืดหยุ่นจะมีความสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพการเติบโตและตอบสนองต่อความท้าทายเชิงโครงสร้างที่รออยู่ข้างหน้า

    2) การเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาค อาทิ

      (1) ทิศทางการดำเนินการในอนาคตของโครงสร้างความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาค
      (2) มาตรการ CMIM : เป็นความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียน +3 ในการพัฒนากลไกความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาคเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการป้องกัน และบรรเทาผลกระทบจากปัญหาดุลการชำระเงินและการขาดสภาพคล่องของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund (IMF)
      (3) สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน + 3 พัฒนากลยุทธ์ความช่วยเหลือทางวิชาการและกลยุทธ์การสื่อสาร เพื่อให้การดำเนินงานและการจัดการเชิงสถาบันสอดคล้องกับการดำเนินการตามทิศทางเชิงยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 ได้ดียิ่งขึ้น
      (4) มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย
      (5) การจัดหาเงินทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

    3) ข้อริเริ่มภายใต้กรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน +3 อาทิ เสริมสร้างและขยายความร่วมมือทางการเงินของอาเซียน+3 รวมถึงความก้าวหน้าของการดำเนินการโดยคณะทำงาน เช่น รายงานร่วมระหว่างประธานธนาคารพัฒนาเอเชียและอาเซียน +3 เรื่องการฟื้นฟูวิธีการทางการเงินสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและทนทานในอาเซียน + 3 และการจัดคลินิกการเงินนวัตกรรมของอาเซียนเพื่อสิ่งแวดล้อมในหัวข้อ อาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทนทานในอาเซียน รวมถึงกรอบการกำกับดูแลเทคโนโลยีทางด้านการเงิน [Financial Technology (Fintech)] ระดับภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างการรวมการเงินผ่านการกระจายเทคโนโลยีทางด้านการเงินในภูมิภาค

    ไฟเขียวอีอีซีเซ็น MOU กับมณฑลกวางตุ้ง หนุนอุตฯเป้าหมาย

    นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติมติเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ ดังนี้

      1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง สกพอ. กับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ฉบับใหม่ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคําของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ สกพอ. สามารถพิจารณาดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนําเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

      2. อนุมัติให้เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่

    สาระสำคัญ

    ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ฉบับใหม่ จัดทำขึ้นเพื่อใช้แทนบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับเดิม ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (15 ตุลาคม 2562 และ 14 กุมภาพันธ์ 2566) ให้ความเห็นชอบและให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวไว้ ซึ่งร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ ยังคงขอบเขตความร่วมมือในลักษณะเดียวกันกับบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับเดิม

    แต่ได้มีการขยายขอบเขตความร่วมมือด้านต่าง ๆ ในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น เช่น ด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล ด้านอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการดูแลสุขภาพองค์รวม นอกจากนี้ยังเพิ่มกลไกให้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ สามารถต่ออายุอัตโนมัติทุก ๆ 3 ปี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดําเนินงานระหว่างกัน ซึ่งการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ ในครั้งนี้จะช่วยสานต่อความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

    ตั้งรองนายกฯนั่ง คกก. 6 ชุด กรองเรื่องก่อนเสนอ ครม.

    นายจิรายุ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1.เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี รวม 6 คณะ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ การแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี รวม 6 คณะ ดังนี้

    โดยให้จัดทำเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรง ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้ง นายคณาวุฒิ สิติธีรพันธุ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรง ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายสมศักดิ์ ภู่สกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง (นักวิชาการคลังทรงคุณวุฒิ) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2567

      2. นายชุมพล สุวรรณกิจบริหาร รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2567

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    4. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (Thai National Committee for International Humanitarian Law)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (Thai National Committee for International Humanitarian Law) โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้

    คณะกรรมการ ฯ มีองค์ประกอบ รวม 42 ตำแหน่ง โดยมี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หรือ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ กรรมการ จำนวน 39 ตำแหน่ง เช่น ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และมีผู้อำนวยการกองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ และผู้อำนวยการกองสนธิสัญญา กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม มีหน้าที่และอำนาจ เช่น ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะด้านนโยบายกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศแก่รัฐบาล เสนอแนะปรับปรุงกฎหมายภายในการบังคับใช้ การอนุวัติการ การปฏิบัติตาม และการวางนโยบายให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ตรวจสอบพันธกรณีของไทยภายใต้สนธิสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเพื่อพิจารณาการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นควรเหมาะสม และปฏิบัติงานด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือตามความจำเป็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    5. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      2. นางสาววรากรณ์ รุ่งตระการ ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    6. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน และทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

      2. นายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      3. นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      4. นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    7. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 7 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นายณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นายอภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      3. นายสามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      4. นายสุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      5. นายวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      6. นายปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      7. นายเอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    8. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      2. นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      3. นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    9. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 6 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างและตำแหน่งที่จะว่าง ดังนี้

      1. นางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง ตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย

      2. นายตุลย์ ไตรโสรัส ตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครรราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

      3. นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง ตำแหน่ง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก

      4. นายจุลวัจน์ นรินทรางกูร ณ อยุธยา ตำแหน่ง อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ รัฐอิสราเอล ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ

      5. นายไกร มหาสันทนะ ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมพิธีการทูต ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      6. นายพงศ์ปราชญ์ มากแจ้ง ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    10. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

    ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    11. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นางสาวสุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

    ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    12. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ แต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นาวาตรี สุธรรมระหงษ์ ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

      2. นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    13. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอ แต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 4 ราย ดังนี้

      1. นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

      2. นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์)

      3. นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

      4. นายวิเชียร จงชูวณิชย์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายทรงศักดิ์ ทองศรี)]

    ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

      14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นายสราวุธ อ่อนละมัย ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายเดชอิศม์ ขาวทอง)

      2. นายมนตรี ปาน้อยนนท์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายเดชอิศม์ ขาวทอง)]

    ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

      15. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพิพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้

      1. นายสำราญ สาราบรรณ์ เป็นประธานกรรมการ
      2. นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ (ด้านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์) เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      3. นางสาวศิริพร บุญชู (ด้านการเกษตร) เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      4. นายรัตนะ สวามีชัย (ด้านการบริหารจัดการ) เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวี วัชระเกียรติศักดิ์ (ด้านการวิจัยและกระบวนการเรียนรู้) เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
      6. รองศาสตราจารย์ร่วมจิตร นกเขา (ด้านเศรษฐกิจพอเพียงและเทคโนโลยีสารสนเทศ) เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

      16. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการจากผู้แทนสถาบัน หรือ บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมืองในคณะกรรมการผังเมือง (กระทรวงมหาดไทย)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการจากผู้แทนสถาบันหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมืองในคณะกรรมการผังเมือง จำนวน 13 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการจากผู้แทนสถาบันหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมืองเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้

      1. นายปรีชา รณรงค์ ด้านการผังเมือง
      2. นายสมศักดิ์ ตั้งทรงศิริศักดิ์ ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์
      3. นายสมเกียรติ สิริพิทักษ์เดช ด้านวิศวกรรมศาสตร์
      4. นายวีระพงษ์ บุญญานุสนธิ์ ด้านนิติศาสตร์
      5. นายพิชัย อุทัยเชฏฐ์ ด้านเศรษฐศาสตร์
      6. นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ด้านสังคมศาสตร์
      7. นายสุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร ด้านสิ่งแวดล้อม
      8. นายสด แดงเอียด ด้านประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี
      9. นายคณิต ธนูธรรมเจริญ ด้านเกษตรกรรม
      10. นายอนวัช สุวรรณเดช ผู้แทนสถาบันหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมือง
      11. นายวัฒนา เชาวสกู ผู้แทนสถาบันหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมือง
      12. นายสมศักดิ์ จุฑานันท์ ผู้แทนสถาบันหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมือง
      13. นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ผู้แทนสถาบันหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมือง (ภาคประชาสังคม)

    ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    17. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพลังงาน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอ แต่งตั้งนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

    ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการ (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นายปัญญา ชวนบุญ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์)
      2. นายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์)]

    ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง จ่าเอก ยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุชาติ ชมกลิ่น)

    ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    ตั้ง ‘ณอคุณ’ ประธานคัดเลือกบอร์ด กกพ.

    20. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอ แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน จำนวน 8 ราย ดังนี้

      1. นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน
      2. นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง
      3. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง
      4. นายพสุ โลหารชุน ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
      5. นายคมสัน เหล่าศิลปเจริญ ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นผู้ประกอบกิจการพลังงาน
      6. นายขวัญชัย ลีเผ่าพันธุ์ ผู้แทนสภาวิศวกร
      7. นายพงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ผู้แทนของอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
      8. นายสมศักดิ์ สันธินาค ผู้แทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ

    ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 5 ราย ดังนี้

      1) นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
      2) นายสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว ให้ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
      3) นายธนสาร ธรรมสอน ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอัครา พรหมเผ่า))
      4) นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอิทธิ ศิริลัทธยากร))
      5) นายภูผา ลิกค์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอิทธิ ศิริลัทธยากร)

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2567 เพิ่มเติม