
“วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เดินหน้าขยายบทบาทธนาคารเพื่อสังคม social bank ของธนาคารออมสินด้วย creating shared valure ซึ่งเป็นจุดยืนทางด้านยุทธศาสตร์ขององค์กร ที่จะบูรณาการภารกิจด้านสังคมในทุกกระบวนการ เพื่อขยายผล social impact หลังจากที่ขับเคลื่อนธนาคารออมสินด้วยบทบาท social bank ใน 3 ด้านมาแล้วขณะดำรงตำแหน่ง 4 ปีของวาระแรก ด้วยหลักการสร้างความยั่งยืนทั้ง ESG, sustainability และ responsible banking
วิทัยเริ่มทำงานในสัญญาที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม หลังจากที่เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร และประธานกรรมการธนาคารออมสิน ได้ลงนามต่อสัญญาจ้างให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินอีก 1 วาระเป็นระยะเวลา 4 ปี จนถึงเดือนมิถุนายน 2571 หลังได้ดำเนินการตามขั้นตอน ทั้งการประเมินผลงาน การเจรจาสัญญา และได้รับการอนุมัติ
สี่ปีแรกที่ธนาคารออมสิน วิทัยได้ประกาศบทบาท social bank ธนาคารเพื่อสังคม ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างดี ในการเป็นธนาคารที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม ทั้งการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจน
เริ่มต้นสี่ปีที่สอง วิทัยประกาศว่า…
“จะปรับกำไรให้มีกำไรอย่างสมเหตุสมผล เพื่อช่วยสังคม ขยายผล social impact”
วิทัยเล่าย้อนกลับไปว่า เมื่อ 4 ปีก่อนได้สร้าง position ของธนาคารออมสินให้ชัดเจนว่าเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” social bank และบทบาท social bank ของออมสินก็ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากประเมินด้านการทำงานที่คำนึงถึงสังคมที่เป็นองค์ประกอบหลักของ ESG แล้ว ออมสินก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่อยู่ในด้านนี้แน่นอน ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม ออมสินก็ให้ความสำคัญกับการเดินหน้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ไม่ต่างจากหน่วยงานอื่น
“แต่ออมสินให้น้ำหนักกับสังคม การลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ เป็นลําดับแรก ส่วนธรรมาภิบาล ของเราชัดเจนเรื่องการใช้เงิน ชัดเจนเรื่องธรรมาภิบาลมากๆ” วิทัยกล่าวกับสื่อมวลชนในงานขอบคุณสื่อที่มีขึ้นในสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม
วิทัยขยายความว่า การดำเนินงานธนาคารเพื่อสังคมก็คือ “การทำธุรกิจสองส่วนไปพร้อมกัน ทําธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เอากำไรจากธุรกิจเชิงพาณิชย์มาอุดหนุนภารกิจเพื่อสังคม” เอาธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ ที่กำไรเยอะ มาช่วยเชิงสังคมที่ขาดทุนหรือกําไรน้อยและช่วยคนได้หลายล้านคน เพราะแต่ละคนกู้เงินจํานวนไม่มากนัก
วิทัยให้ข้อมูลว่า ในช่วงโควิด ออมสินมีบทบาทสําคัญที่ได้ช่วยคนหลายล้านคน แล้วก็เดินหน้าไปต่อเนื่อง จนถึงจุดหนึ่งในเมื่อปีที่แล้ว ได้ประกาศแนวทาง CSV (creating shared value) ที่ต่อเนื่องมาจากการทำงานเพื่อสังคมก่อนหน้าภายใต้แนวคิด social mission integration การเอาปัจจัยทางสังคมผนวกเข้าไปในผลิตภัณฑ์ (product) ที่สําคัญทั้งหมด โครงการ (project) ที่สําคัญทั้งหมด และกระบวนการ (process) ที่สำคัญทั้งหมด เช่น การจัดซื้อ การบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์เก่าที่ยังใช้งานได้ให้โรงเรียนต่างๆ
“ทั้งหมดเราเรียกว่า social mission integration แล้วก็แปลงมาเป็น CSV ก็คือ การนำปัจจัยเรื่องสังคมใส่เข้ามาในธุรกิจ เราก็ทําเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น creating shared value แล้วมาแบ่งปันกันระหว่างองค์กรให้มีกำไร และกับสังคมให้ได้ผล ให้ได้ social impact นี่คือแนวคิด CSV ที่เริ่มขึ้นจาก social mission integration ประมาณปีครึ่งแล้ว”
CSV คือ เอาปัจจัยสังคมมาทําธุรกิจให้ส่วนของกําไร ให้ส่วนของรายได้ใหญ่ แล้วก็แบ่งปัน ซึ่งก็จะเกิดความยั่งยืน ไม่ใช่เป็น CSR

Responsible Profit กำไรที่พอเหมาะพอสม
การทำธุรกิจด้วย CSV ของออมสินจะต่อเนื่อง และแข็งแกร่งมากขึ้นจากการที่รัฐบาลให้การสนับสนุน โดยเมื่อกลางปีที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติให้ปรับตัวชี้วัดการทำงานของธนาคารที่ไม่มุ่งเน้นเรื่องกำไรเป็นสําคัญที่สุด ออมสินเป็นส่วนหนึ่งในรัฐวิสาหกิจหลักในการส่งมอบกําไรให้กับรัฐบาล โดยติดอยู่ในสามอันดับแรกของรัฐวิสาหกิจมาตลอดภายใต้ภาวะแวดล้อมที่ธนาคารมีกําไรมาก
วิทัยกล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมารับตำแหน่งผู้อำนวยการ ธนาคารออมมีกำไรประมาณ 20,000-25,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นระดับกลาง แต่บางปีที่ไม่มีการตั้งสำรองหนี้เสียเลยกำไรอาจจะสูงถึง 30,000 ล้านบาท และบางปีก็สูงกว่านั้นจากการที่ไม่ได้ตั้งสำรองหนี้เสีย แม้จะลดลงบ้างไปที่ระดับ 18,000 ล้านบาทในช่วงโควิด ด้วยการลดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพื่อช่วยสังคม แต่หลังช่วงโควิดกำไรของออมสินกลับมาสูงถึง 33,000 ล้านบาทในปี 2566 สำหรับปี 2567 ในช่วงครึ่งแรกออมสินมีกำไร 18,000 ล้านบาท
“ปีที่ผ่านมาออมสินมีกำไร 33,000 ล้านบาท ผมก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ แต่เราถูกวัดผลจากกำไร ผมคิดว่าเรากำไรพอเหมาะพอสม แล้วเอาส่วนที่เหลือไปช่วยคนไปช่วยสังคม น่าจะเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง” วิทัยกล่าวและว่า ไม่ใช่ว่าออมสินจะไม่มีกำไร แต่เอากําไรที่พอเหมาะพอสม
“เราไม่ต้องกำไรขนาด 33,000 ล้านบาท ครึ่งแรกของปีนี้ออมสินกำไร 18,000 ล้านบาท และตั้งสำรองหนี้แล้วด้วย ผมรู้สึกว่าโดยหลักของแบงก์รัฐไม่ควรกำไรขนาดนี้”
วิทัยกล่าวว่า หากไม่ปรับ KPI ตัวชี้วัดให้ ออมสินก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ถึงจะช่วยคน ใช้เงินแค่ไหนก็มีกําไร ต้องขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุนให้เอากำไรที่เหมาะสม จากเดิมที่กำไร 20,000 กว่าล้าน แต่ยุคนี้ “ผมเอากําไรกลับมาในส่วนที่เรียกว่า responsible profit”
“responsible profit กําไรที่เหมาะสม ถ้าดูจาก ROA สมัยก่อนอยู่ที่ 1.1-1.2% ผมว่าตอนนี้อยู่ประมาณ 0.75% ก็น่าจะพอ ส่วนที่เหลือนำไปทําภารกิจช่วยสังคม ทําให้เกิด social impact สิ่งที่เราต้องการคือ social impact”
“social impact คือสิ่งที่จะสร้างผลกระทบทางบวกให้กับสังคมคนจน เวลาทําต้องวัดได้จริง ไม่ใช่เรื่อง CSR หรือการลงนามใน MoU เป็นเรื่องของผลที่ได้ หลักตอนนี้ไม่ใช่เรื่องของการลดกําไร แต่เป็นการขยาย social impact แต่ social impact เราจะทําได้ดีมาก เพราะว่าเราไม่ถูกวัดกําไร”
วิทัยกล่าวว่า social impact จะขยายได้ก็ต่อเมื่อไม่กําหนดให้ออมสินกําไรสูงสุด ให้กําไรเหมาะสม ออมสินจึงได้ทำภารกิจสองด้านควบคู่กัน เป็น CSV ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็น social impact ที่เน้นผลกระทบทางบวกแก่สังคม (social positive impact)
ธนาคารออมสินเป็นองค์กรแรกที่เน้น social impact ผ่านการทํา CSV และทําได้เพราะรัฐบาลสนับสนุนว่าไม่ต้องทำกําไรสูงสุด แต่ต้องมีกำไรที่เหมาะสม เพราะยังมีหน้าที่นําส่งเงินเข้ารัฐ เพื่อกระทรวงคลังใช้เป็นงบประมาณ
“เดิมเรากำไรประมาณ 25,000 ล้านบาท วันนี้ก็วางไว้ประมาณนั้น แต่ไม่ต้องกำไร 30,000 ล้านบาท หรือ 35,000 ล้านบาท ไม่จำเป็น เมื่อวัดจาก triple bottom line (พื้นฐานสามประการ) ที่คำนึงถึง people, planet, profit แต่เดิมเราวางน้ำหนักที่ profit เพราะแบงก์รัฐต้องกำไรสูง ส่วน people เดิมที่ทำมากก็เป็นต้นทุน การช่วยสังคมทั้งหมดต้องใช้เงิน ถ้าจะทำให้ได้ผลกระทบต้องใช้เงิน ใช้ทรัพยากร ส่วนด้าน climate การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออมสินทำอยู่แล้ว แผนก้าวสู่ net zero การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ก็อยู่ในอันดับต้นๆ ของกลุ่มธนาคาร

“อย่างไรก็ตาม ออมสินมุ่งเน้นการทำเพื่อสังคม วันนี้อยู่ในจุดที่เราเอากำไร profit ให้เล็กลง แล้วเอา people ให้ใหญ่ขึ้น และสุดท้ายก็ยังยึดโยงอยู่กับ triple bottom line”
วิทัยกล่าวว่า การที่แสดงตัวเลขกำไรที่สูง เพื่อทำให้เห็นว่าออมสินต้องการ social impact และรัฐบาลได้สนับสนุน ด้วยการไม่วัดกำไรสูงสุด “ดังนั้น ปีนี้ทั้งปีวางเป้าไว้ที่ 27,000 ล้านบาท หลังการตั้งสำรองหนี้ที่สร้างความเข้มแข็งให้องค์กร”
วิทัยบอกว่า ช่วงที่มารับตำแหน่งในสี่ปีแรก ออมสินมีสำรองส่วนเกิน (general provision) 4,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีสำรองส่วนเกิน 73,000 ล้านบาท เป็นผลจากการลดต้นทุน และการบริหารจัดการ ซึ่งสามารถรองรับ NPL ได้ประมาณ 100,000 ล้านบาท แต่ก็ต้องสำรองเพิ่ม ส่วน total provision สำรองโดยรวมมีจำนวน 137,000 ล้านบาท ณ ขณะนี้และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 145,000 ล้านบาทภายในสิ้นปี
“หัวใจสำคัญคือ การลดต้นทุนที่ไม่จําเป็น สอง ต้นทุนใหญ่ที่สุดคือการบริหาร บริหารเงินเป็น กําไรก็ขึ้น ต้นทุนเงินคือต้นทุนใหญ่ของธนาคาร สามคือคุณภาพสินทรัพย์ ถ้าสามารถคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้ดี ไม่ปล่อยสินเชื่อขนาดใหญ่แล้วมีปัญหาซึ่งต้องสํารองจำนวนมาก ออมสินมีสินเชื่อหนึ่งที่ต้องดูแลคือสินเชื่อครู ที่เป็นปัญหามาก่อนหน้านี้และต้องแก้ ซึ่งไม่ยาก”
สำหรับรายได้ในระยะต่อต่อไป วิทัยกล่าวว่า หากสามารถทํา position ด้วย CSV ให้ทุกคนเห็นภาพว่า การใช้บริการออมสินจะได้ช่วยเหลือคน ทั้งในด้านการฝากเงินแม้ได้ดอกเบี้ยไม่มาก โดยออมสินกำหนดดอกเบี้ยเงินฝากในระดับเดียวกับธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 5 แห่ง หรือในด้านการกู้เงิน หากมากู้ออมสิน ออมสินจะเอากำไรที่ได้ทั้งหมดจากการปล่อยกู้ไปช่วยคน ส่วนที่เหลือส่งรัฐบาลก็ไปช่วยคนต่อ “ไม่มีกำไรส่วนไหนที่ไปอยู่กับใครเลย” ก็จะมีส่วนต่อรายได้

ขยายผล Social Impact ที่วัดได้
วิทัยกล่าวว่า เดิมภารกิจหลักของออมสินมี 3 เรื่อง หนึ่งคือดึงคนเข้าสู่ระบบที่เรียกว่า financial inclusion ซึ่ง financial inclusion ของออมสินที่ชัดเจนคือ การให้สินเชื่อช่วงการระบาดของโควิด 10,000-30,000 บาทที่ให้แก่คนที่มีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์หรือไม่มีเครดิตหรือไม่เคยกู้ได้เลย ซึ่งคนที่ไม่เคยกู้ได้เลยมีจำนวนเยอะมาก ทั้งคนที่ไม่เคยมีบัตรเครดิต ไม่เคยกู้ซื้อบ้าน จึงไม่มีสถานะเครดิตหรือเครดิตเป็นศูนย์
“สิ่งที่เราทําคือ ให้สินเชื่อเล็กๆ คนละหมื่นบาทหรือสามหมื่นบาท และมีรัฐบาลช่วยดูแลสิ่งที่เราให้ โดยปล่อยไปหลายล้านคน สุดท้ายผ่อนหมดใน 3 ปี หมายความว่ากลุ่มนี้จากนี้ไป ไปขอกู้ที่ไหนก็ได้ เพราะมีเครดิตแล้ว นี่คือ financial inclusion ของเรา”
ภารกิจที่สองคือ การแก้ปัญหาหนี้สิน ทั้งปัญหาหนี้สินครู แก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการ และปัญหาหนี้สินของคนทั่วไป โดยมีการยกหนี้ให้กับลูกค้าที่เป็นผู้กู้รายย่อยที่มีหนี้ก้อนเล็ก เป็นรายเล็ก เล็กมาก เป็นหนี้โครงการรัฐในวงเงิน 3-5 พัน ซึ่งมีทั้งหมด 800,000 ราย เพื่อไม่ให้เสียประวัติทางเครดิต และกลับเข้าสู่ระบบการเงิน โดยยกหนี้ให้แล้ว 700,000 ราย ในอีก 1-2 เดือนที่เหลือจะดำเนินการยกหนี้ให้อีก 100,000 รายที่เหลือ
ภารกิจที่สาม คือ บทบาทการพัฒนา ที่มีการพัฒนาสร้างอาชีพ ร่วมกับสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะ เช่น โครงการยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โครงการ hollisticd-based ที่จังหวัดน่าน ที่เกาะลิบง สตูล และการพัฒนาการตลาดแบบองค์รวม 18 ภาค เป็นการช่วยแบบเจาะจงพื้นที่ (area-based) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นอกเหนือจากการช่วยเหลือในวงกว้าง

วิทัยกล่าวว่า เมื่อออมสินเคลื่อนที่ไป เพื่อสู่ปลายทางผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ก็ขยายภารกิจด้านที่สี่ คือ สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) IGNITE THAILAND สำหรับวิสาหกิจชุมชน และธุรกิจรายย่อย ดอกเบี้ย 2.5% หรือ สินเชื่อซอฟต์โลน GSB Boost Up สำหรับ ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา ดอกเบี้ยต่ำ 0.01% วงเงินรวมปีละ 1 แสนล้านในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีช่วงเวลาการเบิกใช้วงเงินนานถึง 31 ธันวาคมปี 2569 โดยสามารถยื่นขอได้ก่อน 31 ธันวาคม 2568 และสามารถเบิกใช้เงินภายในปี 2569
วิทัยกล่าวว่า ต้นทุนการให้ซอฟต์โลนของออมสินอยู่ที่ 2.5% เมื่อคำนวณจากวงเงินรวมสองปี ปีละแสนล้านบาท คิดเป็นต้นทุน 2,500 ล้านบาทต่อปี รวมสองปี 5,000 ล้านบาท ซึ่งออมสินไม่ได้ขอชดเชยจากรัฐบาล
นอกจากนี้ ออมสินได้ช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม ด้วยการพักหนี้และลดดอกเบี้ยเป็น 0% นาน 6 เดือน การช่วยเหลือเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมตอนนี้มีผลต่อกำไร 2,000 ล้านบาท แล้วพื้นที่ที่จะช่วยเหลือจะขยายเพิ่มขึ้น นับว่าเป็นผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เพราะคนต้องใช้เงินไปฟื้นตัวและต้องใช้เวลาฟื้นตัว
“ดังนั้น 4 เรื่องนี้ เราขยายจาก 3 เรื่องแรกมาเป็นเรื่องสุดท้าย เข้ามาสนับสนุนรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย แต่การที่มุ่งเน้นผลกระทบทางบวกต่อสังคมต้องวัดผลให้ได้ จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่าแต่ละปี ต้องช่วยคนช่วยสังคมได้ในมูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท และเป็นการวัดผลในทอดเดียวยังไม่รวมผลที่ต่อเนื่องเป็นทอดๆ แต่สิ่งที่ออกจากเราต้องการสร้างผลกระทบปีละไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท”
วิทัยยกตัวอย่างสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การแก้หนี้ ยกหนี้ ลดดอกเบี้ย กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือภัยพิบัติ พัฒนาอาชีพชุมชน ส่งเสริมการออม ทั้งหมด ต้องวัดจำนวนเงินให้ได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปีทุกปีที่จะช่วยสังคม ชุมชน คนฐานราก SME สำหรับปี 2567 นี้ทำได้ 20,000 ล้านบาท
วิทัยขยายความสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำว่า คือสินเชื่อที่ออมสินผ่อนคลายเกณฑ์ เพื่อให้คนที่ไม่เคยกู้ได้สามารถกู้ได้ แต่ออมสินให้กู้ ทำให้คนที่เข้าถึงแหล่งเงินไม่ได้ ก็เข้าถึงแหล่งเงินได้ โดยในการพิจารณาได้ใช้เกณฑ์ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของธนาคารทั่วไปเครดิตสกอร์ (credit score) ที่ต่ำ NPL ยิ่งสูง แต่เนื่องจากออมสินต้องการสร้างผลกระทบทางบวก จึงผ่อนเกณฑ์ลงมาที่ระดับต่ำ แม้ต้องรับผลขาดทุน และลดกำไรลงเพื่อช่วยคนกลุ่มนี้ เพราะเชื่อว่าจะมีคนบางคนรอด แล้วก็กลับมาได้ด้วย ส่วน NPL ก็ใช้กำไรที่มากเกินไปจากธุรกิจหลักมารับ
วิทัยกล่าวเพิ่มเติมถึงการยกหนี้ให้ลูกค้า 800,000 รายว่า ได้ใช้การปรับเกณฑ์เรื่องการล้มละลาย การฟ้องแพ่งที่เป็นเกณฑ์ภายในของออมสิน การฟ้องล้มละลายจะฟ้องได้ยากขึ้น โดยเฉพาะผู้ค้ำประกัน และหากเป็นครูหรือข้าราชการจะถูกฟ้องยากมาก ส่วนฟ้องแพ่งรายเล็กนั้นเห็นว่าฟ้องไปก็ไม่ได้หนี้คืนมามาก จึงไม่ได้ดำเนินการ แต่ก็มีความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิด moral hazard แต่จากนี้ไปจำนวนกรณีที่ฟ้องจะลดลงมาก โดยเฉพาะกรณีของผู้ค้ำประกัน
ส่วนการลดดอกเบี้ย วิทัยกล่าวว่า ออมสินได้ลดดอกเบี้ยลง 0.4% ตั้งแต่ต้นปี แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ปรับลง และลดดอกเบี้ยให้กับครูที่ชำระหนี้ดีลงให้ 1% นอกจากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำตามนโยบายรัฐบาลแล้ว ออมสินยังได้ลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้รายใหญ่ ที่มีคะแนน ESG ในระดับดี “ใครทําดีเราลดดอกเบี้ย ผมคิดว่ายังไม่มีแบงก์ไหนมาถึงขั้นนี้ไม่ว่าจะเป็นแบงก์พาณิชย์หรือแบงก์รัฐก็ตาม”

ธนาคารรัฐรายเดียวบริหารแบบกลุ่มธุรกิจ
วิทัยกล่าวว่า ออมสินขยายขีดความสามารถในการช่วยคนได้ แต่ไม่ได้มาจากการทํางานของออมสินเพียงอย่างเดียว เพราะแบงก์รัฐมีขอบเขต การทํางานจํากัด แบงก์รัฐทําภารกิจจำกัดมากกว่าที่อื่นๆ แต่ออมสินโดย พ.ร.บ. จัดตั้ง เป็น universal bank ทําได้ทุกอย่าง ออมสินเป็นแบงก์ที่เทียบเคียงกับแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ทุกมิติ ไม่ว่าจะเรื่องสินทรัพย์ สินเชื่อ เงินฝาก กําไร คุณภาพทั้งหมด ที่เทียบเคียง 1 ใน 5 ทั้งหมด บางมิติก็อยู่ในอันดับสองอันดับสาม บางมิติอันดับห้า
อย่างไรก็ตาม ความเป็นสถาบันการเงินของรัฐก็มีขอบเขตจํากัด ภายใต้ พ.ร.บ. บางอย่างไม่สามารถทําได้ ออมสินจึงเป็นธนาคารรัฐรายเดียวที่ตอนนี้บริหารงานเป็นกลุ่มธุรกิจ โดยเริ่มต้นจากการที่ไปร่วมลงทุนกับ บมจ.ศรีสวัสดิ์ ทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์เพื่อดึงดอกเบี้ยลงจาก 28% ด้วยการลดดอกเบี้ยลง 10% ซึ่งประสบผลสำเร็จ ส่งผลให้ดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ทรงตัวที่ระดับ 18% เป็นมาตรฐานของตลาดและไม่กลับขึ้นไปที่ระดับเดิม
ปัจจุบันออมสินได้ขายคืนหุ้นตาม put option สัดส่วน 40% ที่ถือในกิจการร่วมทุนกับ บมจ.ศรีสวัสดิ์ออกไปหมดแล้วได้กำไร 3% จากภารกิจนี้ และประสบความสำเร็จในการดึงดอกเบี้ยลง 10% ให้กับคน 2 ล้านคนจากทั้งตลาด 5 ล้านคน “แต่ออมสินก็พร้อมจะบอกว่า ถ้าใครเอากลับขึ้นมาใหม่ เราจะกลับลงไปตลาดใหม่”

หลังจากนั้น ออมสินได้ตั้งบริษัทมีที่มีเงิน ถือหุ้น 49% เพื่อให้สินเชื่อแก่ประชาชนที่ต้องการเงินทุนไปเสริมสภาพคล่องหรือต้องการต่อยอดธุรกิจ รวมถึงรีไฟแนนซ์เงินกู้เดิมเพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ย สามารถนำที่ดินมาจดจำนองขายฝากและรีไฟแนนซ์ โดยปล่อยสินเชื่อไปกว่า 20,000 ล้านบาท และได้กําไร แม้คิดดอกเบี้ยต่ำที่สุด 7-9% เทียบกับตลาดจำนำที่ 13-15% เทียบกับตลาดขายฝากอยู่ที่ 35-50%
นอกจากนี้ ออมสินยังได้ตั้งบริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ โดยถือหุ้น 49% ผ่านบริษัทมีที่มีเงิน ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิง เพราะข้อจํากัดด้านขีดความสามารถด้านไอที ดิจิทัล บริษัทนี้จะทําหน้าที่เป็นเป็นที่ปรึกษาให้ออมสินในเรื่อง AI, ดิจิทัล, โมบายแอปเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของออมสินพัฒนาขึ้นมาก ปีหน้าจะเริ่มเห็นผลชัดขึ้น
วิทัยกล่าวต่อว่า ออมสินได้ร่วมทุนกับ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท มีสัดส่วนการร่วมทุนเท่ากันที่ 50% เพื่อแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาล ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์จากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา และได้มีการโอนขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ให้ บบส.อารีย์ บริหารครั้งแรกจำนวน 133,687 บัญชี ภาระหนี้เงินต้น 10,711.93 ล้านบาท วันที่ 10 ตุลาคม
“การโอนขายสินเชื่อด้อยคุณภาพให้บริษัทบริหารสินทรัพย์จะช่วยแก้ไขหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ได้ดีกว่า เพราะมีที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเป็นผู้ประเมินราคา ที่ราคาต่ำมาก แล้วเราก็ไม่เสียหาย เพราะสำรองเต็ม 100% ไว้แล้ว ขายได้เท่าไรก็คือกําไร ก็เป็นต้นทุนใหม่ ที่ AMC ก็สามารถลดให้ลูกหนี้มาชำระได้ง่ายขึ้น เกิดความคล่องตัว ก็หวังว่าจะมีการโอนลอตที่สองที่สามได้ภายในประมาณต้นปีหน้า โดยตั้งเป้าไว้ทั้งหมด 400,000 บัญชี รวมเงิน 35,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ออมสินก็จะแก้ไขไปด้วย เพราะฉะนั้น จํานวนเงินที่จะโอนขายอาจจะต่ำกว่าเป้าที่วางไว้”
ล่าสุดคือการจัดตั้งบริษัทเงินดีดีหรือ Good Money ที่ได้ใบอนุญาต non bank เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ซึ่งจะทำให้ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นที่ 25% ได้ แต่ก็อาจจะปล่อยในระดับที่ต่างกันตามเซกเมนต์ นอกจากนี้ ยังได้ใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์ที่ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยเพดานสูงสุดได้ถึง 33% แต่อาจจะปล่อยไม่ถึงเพดาน
“การปล่อยสินเชื่อของออมสินซึ่งมีเพดานดอกเบี้ยที่ 15% แล้วก็รับ NPL ได้ระดับหนึ่ง หากสูงกว่านี้เป็นความเสี่ยงมาก แต่ต่อไปนี้ความเสี่ยงที่มากกว่านี้จะเข้าไปดูอยู่ที่บริษัทเงินดีดี ซึ่งขณะนี้พัฒนาแอปพลิเคชัน Good Money เสร็จแล้ว และเปิดดําเนินการแล้ว แต่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการต้นเดือนหน้า” วิทัยกล่าวและว่า การปล่อยสินเชื่อผ่านบริษัทเงินดีดี แม้ดอกเบี้ยสูงกว่า 15 ของออมสิน แต่ก็ดีกว่าให้คนกู้นอกระบบ
“ทั้งหมดนี้ทําให้เรามีทรัพยากรพรั่งพร้อม ทําให้เรามีความแข็งแรงดูแลสังคม ดูแลกลุ่มลูกค้าได้ถูก SME เข้าไม่ถึงแหล่งทุนก็ทำได้ ฐานรากก็ทำได้ ถ้ามีหนี้เสียเราก็แก้ได้ แล้วเราก็มีไอที ดิจิทัล ที่ทำให้ดีขึ้นต่อไป ผมพูดถึงความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ผมไม่ได้คิดถึงออมสินในฐานะออมสิน ความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของออมสินประกอบด้วยออมสินที่มีดิจิทัลที่ใหญ่ขึ้นที่ดีขึ้นจากไอทีแมเนจเมนต์ และบริการได้ทุกเซกเมนต์จากบริษัทลูก 4 แห่งซึ่งเพียงพอสำหรับการทำธุรกิจในปัจจุบัน”
วิทัยปิดท้ายว่า การมาเป็นลูกค้า มาใช้บริการออมสินคือการนำกำไรมาช่วยคน ช่วยสังคม