สุนิสา กาญจนกุล
ภาพหมีขั้วโลกผอมโซยืนเดียวดายอยู่บนแผ่นน้ำแข็งที่ละลายเพราะโลกร้อนหรือภาพเมืองเวนิซแสนสวยที่ถูกน้ำท่วมขัง ต่างก็เป็นภาพที่ถูกนำมาประชาสัมพันธ์แสดงให้เห็นหายนะของสิ่งแวดล้อมอยู่บ่อยครั้งด้วยความหวังที่จะกระตุ้นผู้คนให้เกิดสำนึกรักธรรมชาติ
แต่ใครจะไปคิดว่าในเวลาเดียวกัน ภาพเหล่านั้นกลับกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดนักท่องเที่ยวสายพันธุ์ใหม่ที่เร่งรีบแข่งกันไปเยือนทำเลต่างๆ ที่ถูกกล่าวขานด้วยความกังวลว่ามันอาจจะใกล้ถึงวาระล่มสลายเพราะความผันผวนของสิ่งแวดล้อม
ผู้คนพากันหลั่งไหลไปยังจุดหมายปลายทางที่ถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อเยี่ยมชมสภาพแวดล้อมที่เปราะบางหรือตกอยู่ในอันตราย จนกระทั่งกลายเป็นกระแสที่เรียกขานกันว่า…
การท่องเที่ยวโอกาสสุดท้าย (Last Chance Tourism) หรือบางครั้งก็เรียกอย่างเสียดสีประชดประชันว่า การท่องเที่ยววันสิ้นโลก (Doomsday Tourism) ขณะที่บางคนตั้งชื่อให้อย่างประนีประนอมว่าการท่องเที่ยวอิงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Tourism)
ปรากฏการณ์นี้ก่อให้เกิดความคิดเห็นที่แตกแยกเป็นสองฝ่ายว่าการท่องเที่ยวลักษณะนี้จะให้โทษหรือเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมกันแน่

ต้องรีบไปก่อนไร้โอกาสชื่นชม
การท่องเที่ยวเพื่อเปิดหูเปิดตาและเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ในอดีต ผู้คนมักแข่งขันกันเสาะหาสถานที่แปลกใหม่ สวยงาม น่าตื่นตะลึง เพื่อแวะไปเยี่ยมเยือน แต่เมื่อวิกฤติสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก กระแสการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ กลับกลายเป็นสิ่งที่เรียกกันว่าการท่องเที่ยวโอกาสสุดท้าย
การท่องเที่ยวโอกาสสุดท้ายคือการที่ผู้คนพากันเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ หรือไปเยี่ยมชมฝูงสัตว์บางชนิดที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำลายสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยอื่นๆ อย่างรุนแรง เป็นการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากความต้องการยลโฉมสถานที่เหล่านี้ก่อนที่มันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหรือหายสาบสูญไปตลอดกาล และอาจกลายเป็นโอกาสเพียงครั้งเดียวในชีวิตที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสสรรพสิ่งที่ใกล้สูญสลายเหล่านี้
การเยี่ยมชมสถานที่และสายพันธุ์ที่เสี่ยงสาบสูญจึงถูกบรรจุเข้าไปในรายการสิ่งที่ต้องทำก่อนตายของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เมื่อประกอบกับการที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวรีบคว้าโอกาสทางการตลาดอย่างรวดเร็วโดยแห่โฆษณาประชาสัมพันธ์การเดินทางในรูปแบบนี้ กระแสการท่องเที่ยวโอกาสสุดท้ายจึงเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
ปลายทางที่ใกล้สาบสูญ
ลองมาดูตัวอย่างกันว่าที่ใดบ้างที่ตกอยู่ในอันตรายจนกลายเป็นจุดหมายปลายทางในฝันของกลุ่มนักท่องเที่ยวโอกาสสุดท้าย
ทำเลยอดนิยมอันดับต้นๆ น่าจะเป็นดินแดนที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งตลอดปีตลอดชาติอย่างทะเลอาร์กติกและแอนตาร์กติก ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียงนักวิทยาศาสตร์และนักสำรวจทุนหนาเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ แต่ปัจจุบันมันถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเพราะเมื่อจำนวนผู้ไปเยือนเพิ่มขึ้นมาก ค่าใช้จ่ายในการล่องเรือจึงราคาถูกลงกว่าเดิมอย่างมาก
แม้แต่เมืองที่ผู้คนเคยใฝ่ฝันจะไปเยือนเพราะความมีเอกลักษ์อย่างเวนิส ประเทศอิตาลี และเมืองที่งดงามราวเมืองในเทพนิยายอย่างชาโมนิกซ์ ประเทศฝรั่งเศส ก็ยังกลายเป็นจุดสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวโอกาสสุดท้ายเนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้เวนิสค่อยๆ ทรุดตัวลงจนจมน้ำในบางฤดูกาล ขณะที่ชาโมนิกซ์เป็นจุดเหมาะสมในการเยี่ยมชมแมร์เดอกลาซ (Mer de Glace) ธารน้ำแข็งใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศสซึ่งกำลังลดขนาดลง
ไม่ใช่แต่ในเขตเมืองหนาวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะโลกร้อน กระทั่งพิระมิดกลางทะเลทรายแห้งแล้งในอียิปต์ก็ไม่รอดพ้น พิระมิดแห่งกิซ่าและสฟิงซ์กำลังถูกกัดเซาะจนผุพังเพราะมลพิษต่างๆ ทั้งจากธรรมชาติ ทั้งจากชุมชนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว
จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวโอกาสสุดท้ายที่ได้รับความนิยมอื่นๆ ยังได้แก่ แนวปะการังเกรตแบริเออร์รีฟของออสเตรเลียที่ถูกคุกคามเพราะการฟอกขาวของปะการัง ป่าฝนอเมซอนที่หดหายไปเรื่อยๆ ธารน้ำแข็งที่กำลังละลายของเทือกเขาหิมาลัย หมู่เกาะมัลดีฟส์ที่อาจจมหายไปเพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทะเลสาบเดดซีที่ขนาดเล็กลงทุกวัน และอีกมากมายหลายแห่งที่อาการน่าเป็นห่วง
ดาบสองคม
ถึงแม้ในเบื้องต้น เจตนาของการประชาสัมพันธ์เรื่องความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับสถานที่และแหล่งอาศัยของสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์คือเพื่อหาทางปกป้องด้วยการทำให้เป็นข่าว แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับเป็นดาบสองคม ในแง่หนึ่งเป็นการเตือนและรณรงค์ให้มนุษย์ทนุถนอมสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกันก็ยิ่งเป็นการดึงดูดผู้คนให้สนใจไปเที่ยวแหล่งเปราะบางเหล่านั้น ซึ่งยิ่งเป็นการเร่งให้มันเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็วกว่าเดิม
กระแสการท่องเที่ยวโอกาสสุดท้ายนั้นมีเรื่องจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างชัดเจน เพราะโดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักให้คุณค่ากับสิ่งที่หายาก เมื่อสถานที่ใดตกอยู่ในอันตรายรุนแรงจนอาจถึงขั้นสูญสลาย มันกลับยิ่งดึงดูดให้ผู้คนอยากไปเยี่ยมชม
การรายงานข่าวเรื่องปัญหาด้านสภาพอากาศในบางภูมิภาคอาจส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวมุ่งหน้าไปยังสถานที่นั้นมากขึ้น พาดหัวข่าวที่เร้าอารมณ์มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้ผู้คนเร่งจองการเดินทาง ภาพสถานการณ์น้ำท่วมหรือรายงานการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์บางชนิดอาจทำให้มีนักท่องเที่ยวบางรายเลือกสถานที่เหล่านั้นเป็นจุดหมายปลายทางต่อไป
อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญของกระแสการท่องเที่ยวโอกาสสุดท้ายคือความหวั่นไหวว่าจะตกกระแส (Fear Of Missing Out หรือ FOMO) ความกลัวว่าจะพลาดโอกาสหรือประสบการณ์ดี ๆ ที่คนอื่นกำลังได้รับ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากการรับรู้เรื่องที่ผู้อื่นกำลังทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การเห็นเพื่อนๆ แชร์ภาพการไปท่องเที่ยวสถานที่เปราะบาง ทำให้เกิดความรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งตนเองจะพลาดไม่ได้เช่นกัน
เมื่อปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มารวมกัน การไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังจะหายไปจึงกระตุ้นความต้องการของคนบางกลุ่มอย่างรุนแรง ความคิดทำนองว่าเราสามารถไปชมหอไอเฟลได้ทุกเมื่อ แต่อาจมีโอกาสเพียงอีกไม่นานที่จะได้เห็นธารน้ำแข็งงดงามตระการตาในแอนตาร์กติกา คือพลังที่แสนจะทรงอำนาจในการผลักดันกระแสการท่องเที่ยวโอกาสสุดท้าย
อคติทางจิตวิทยาของเราร่วมกับแรงเร่งเร้าทางการตลาดจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มจำนวนผู้ไปเยือนสถานที่เปราะบางได้อย่างไม่คาดฝัน
เมื่อมีคนไปเยี่ยมชมสถานที่นั้นมากขึ้น ก็ทำให้ระบบนิเวศตกอยู่ในอันตรายมากขึ้น ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มแรงดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวมากขึ้นไปอีก เมื่อจำนวนผู้มุ่งหน้าไปยังสถานที่เสี่ยงสูญสลายเหล่านี้มีจำนวนมากขึ้น ก็ยิ่งช่วยลดความวิตกกังวลและความรู้สึกผิดของนักท่องเที่ยว ด้วยการคิดปลอบใจตัวเองแบบง่ายๆ ว่า “ในเมื่อแต่ละปี มีคนไปเที่ยวหลายพันคนอยู่แล้ว แค่เพิ่มเราอีกสักคนคงจะไม่เป็นไร ไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายเพิ่มจากเดิมมากมายนัก”
สถานการณ์จึงวนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์ที่ซ้ำเติมให้สิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายอยู่แล้วย่ำแย่หนักขึ้นไปอีก
ผลกระทบมีทั้งร้ายและดี
ขณะที่หลายคนมองว่ากระแสท่องเที่ยวแบบนี้เป็นภัยคุกคาม แต่ก็มีบางคนมองต่างออกไป ทำให้เกิดคำถามว่าการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ส่งผลดีหรือผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมกันแน่
ในแง่หนึ่ง การท่องเที่ยวแบบนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบนิเวศที่เปราะบางอยู่แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงและคุกคามทรัพยากรท้องถิ่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอาจทำลายสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องบินและรถยนต์ที่นำพวกเขาไปยังสถานที่เหล่านี้ก็เพิ่มความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม
แต่ในอีกแง่หนึ่ง การท่องเที่ยวแบบนี้อาจมีประโยชน์เนื่องจากช่วยสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้าง นักท่องเที่ยวที่มากขึ้นก็หมายถึงเงินรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและสามารถนำไปใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ
นอกจากนั้น กระแสที่เกิดขึ้นก็ทำให้สังคมเกิดการรับรู้และใส่ใจสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเช่นกันขณะที่การได้มีประสบการณ์ตรงในแหล่งที่เปราะบางอาจกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มากกว่าเดิม
ในเมื่อไม่สามารถจะฝืนกระแสได้ ผู้เชี่ยวชาญจึงเสนอทางออกด้วยการแนะนำว่าควรหาทางทำให้ประสบการณ์ท่องเที่ยวโอกาสสุดท้ายมีความหมายมากขึ้น
มีการสำรวจพบว่าการไปเยี่ยมชมธารน้ำแข็งที่เปราะบางสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักท่องเที่ยวได้ หลายคนกล่าวว่า ในอนาคต พวกเขาตั้งใจที่จะใช้ชีวิตประจำวันแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ผู้อยู่ในแวดวงท่องเที่ยวจึงควรมีหน้าที่รับผิดชอบในการออกแบบประสบการณ์ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้เพิ่มเติมและก่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางอารมณ์ความรู้สึกของบรรดานักท่องเที่ยวให้ต้องการปกป้องพื้นที่เปราะบางเหล่านี้ ไม่ใช่แค่มาเดินเล่น ถ่ายรูป แล้วเดินทางกลับ
ท้ายที่สุดแล้ว กระแสการท่องเที่ยวโอกาสสุดท้ายก็ยังเป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนและยากจะประเมินผลกระทบที่แท้จริง เพราะไม่ใช่เรื่องที่แบ่งแยกได้ชัดเจนแบบสีขาวสีดำ แต่เป็นสีเทาที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและใช้วิธีบริหารจัดการอย่างยั่งยืน
แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร คงไม่มีใครภาวนาให้ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวโอกาสสุดท้ายเป็นแน่ เพราะการมีชื่อเสียงในรูปแบบนี้ช่างไม่คุ้มค่ากับความเสียหายของสิ่งแวดล้อมแม้แต่น้อย
—————-
แหล่งข้อมูล: https://www.bbc.com/travel/article/20240702-why-its-time-to-rethink-what-it-means-to-be-a-tourist
https://www.greenmatters.com/travel/last-chance-tourism
https://www.neuroscienceof.com/branding-blog/consumer-psychology-doom-tourism
https://theweek.com/environment/last-chance-tourism-controversial-travel-trend
https://www.workingabroad.com/blog/what-is-last-chance-to-see-tourism/
https://www.nytimes.com/2024/03/03/travel/chamonix-france-glaciers-climate-change.html