ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “นพดล สุทธิธนกูล”ต่อสู้จนมีอำนาจปลูก ‘ปะการัง’ ที่เกาะหมาก มุ่งสู่ ‘Low Carbon Desination’

“นพดล สุทธิธนกูล”ต่อสู้จนมีอำนาจปลูก ‘ปะการัง’ ที่เกาะหมาก มุ่งสู่ ‘Low Carbon Desination’

15 กรกฎาคม 2022


เบื้องหลังการชุบชีวิตเกาะหมาก จังหวัดตราด จากปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวคือฝีมือของชายที่ชื่อ “นพดล สุทธิธนกูล” หรือที่คนในเกาะหมากเรียกว่า “พี่อึ่ง” ปัจจุบันเขาเป็นประธานกลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก จังหวัดตราด

โลกร้อนคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง โดยนพดล เล่าย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนว่า เกาะหมากเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีระบบนิเวศทางทะเลที่ดี ชาวบ้านทำมาหากินด้วยการทำประมงขนาดเล็ก สร้างรายได้ให้คนจำนวนมาก ต่อมาเมื่อ ‘โลกร้อน’ ทำให้ธรรมชาติค่อยๆ แย่ลง เห็นได้ชัดที่สุดคือ ‘อากาศแปรปรวน’ ขนาดที่ชาวบ้านที่อายุเกือบศตวรรษยังคาดเดาฟ้าฝนไม่ได้อีกต่อไป

ช่วงก่อนโควิด-19 เกาะหมากมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 40,000 คนต่อปี มากกว่าครึ่งเป็นชาวต่างชาติ และเกือบทั้งหมดเป็นชาวยุโรปส่วนใหญ่ มีจุดประสงค์เพื่อมาท่องเที่ยวรักษาธรรมชาติ ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวคือมาอยู่เป็นเวลานาน 5-6 เดือน บางคนใช้ชีวิตที่เกาะหมากหลายเดือนสลับกับการไปทำงานที่ยุโรป บางคนเริ่มสร้างบ้านบนเกาะ

ทั้งนี้ เกาะหมากถูกเลือกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนในรูปแบบ Low Carbon Desination ซึ่งมาจากการคัดเลือกโดยอพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน))

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังได้วิเคราะห์การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนโดยใช้เกาะหมากเป็นตัวอย่างพบว่า เกาะหมากเป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ที่ไม่จำเป็นต้องมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่มีรายได้เพิ่มขึ้นสูง จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงปี พ.ศ. 2562 มีเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2556 แต่มีรายได้เพิ่มมากขึ้นเกือบร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน

ตัดมาที่ปี 2565 ท่ามกลางโลกหลังวิกฤติไวรัสครั้งใหญ่ กับสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก ประจวบกับปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน เกาะหมากแทบจะไร้นักท่องเที่ยว เพราะโลกร้อนทำให้ระบบนิเวศทางทะเลแย่ลง เท่ากับทำลายจุดขายของเกาะหมาก

นพดล พยายามจะอาสาปลูกปะการังเพื่อคืนสมดุลให้ธรรมชาติ แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะหากเป็นชาวบ้าน ต้องเปลี่ยนสถานะเป็น ‘ชุมชนชายฝั่ง’ ตามมาตรา 16 ของพ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558

“ผมเพิ่งมาปลูกปะการังเมื่อปลายปีที่แล้ว (2564) กฎหมายมันครอบคลุมอยู่ ผมไม่สามารถแตะต้องได้ ฟื้นฟูไม่ได้ อนุรักษ์ไม่ได้ ผมอยากทำมานาน แต่ทำไม่ได้ กลัวโดนจับ ปรับห้าแสน ติดคุก เรารู้มันแรง กฎหมายบอกห้ามชุมชนทำ ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐหรือมหา’ลัยเท่านั้น แต่ที่ผ่านมารัฐเคยมาซ่อมปะการัง เคยมาปลูก แต่งบประมาณเขาไม่พอ ปลูกเสร็จก็ทิ้งไปเลย อีก 5 ปีถึงมาใหม่ มันสร้างความเสียหายยิ่งกว่าเดิม”

นพดลจึงติดต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ช่วยหาแนวทางที่ชุมชนจะสามารถดูแลปะการังได้เอง จนสุดท้ายเขาชวนคนในพื้นที่ประมาณ 20 คนมาจัดตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก จังหวัดตราด และได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564

“ผมแนะนำว่านี่เป็นหม้อข้าวของชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมดีกว่าไหม ผมไม่ทำร้ายหรอก ถ้าทำลายก็ไม่มีนักท่องเที่ยว ถ้าดูแลก็สามารถพาไปดูปะการัง ตกปลา มีรายได้ เขาก็เข้าใจว่าให้ชุมชนดีกว่าหน่วยงานรัฐมาทำเอง”

แต่อุปสรรคใหญ่ของนักอนุรักษ์คือ ‘เงิน’ เขาถึงกับบอกว่านักอนุรักษ์ห้ามไส้แห้ง เพราะถ้าไม่มีเงินเมื่อไรก็ล้มหมด กลายเป็นไม่มีใครมาสานต่อ นพดลต้องควักเงินตัวเองหลักแสนในการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลทั้งปะการังและหญ้าทะเล ซึ่งงบประมาณทั้งหมดใช้ไปกับค่าชุดดำน้ำ อุปกรณ์ต่างๆ ค่าเดินเรือ รวมไปถึงสวัสดิการให้คนภายในกลุ่ม

“ปลูกปะการังไม่เหมือนปลูกป่า มันใช้อุปกรณ์เยอะ แต่ละชุดเป็นแสน มันใช้ความสามารถสูง ดำน้ำไม่เป็นก็จบ ไม่ใช่ใจรักอย่างเดียว ต้องมีทักษะด้วย ผมออกทริปขั้นต่ำหกพัน แค่เรือกับอุปกรณ์ เช่น ท่อพีวีซี มันมีหลายปัจจัยเยอะมาก ถ้าไม่รักจริงทำไม่ได้ แล้วงานปะการังหยุดไม่ได้ ถ้าหยุดก็กลับไปศูนย์ เหมือนปลูกต้นไม้ที่ไม่มีใครรดน้ำมันก็ตาย แต่บางคนไม่เห็นค่า เขาคิดว่าปลูกป่าง่ายกว่า”

ความแตกต่างระหว่างการปลูกป่าบนบก (Green Carbon) และป่าทางทะเล (Blue Carbon) แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะถึงแม้ว่าป่าบนบกจะกักเก็บคาร์บอนได้ แต่ลำพังเพียงป่าบนบกไม่อาจชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้แตะจุดวิกฤติได้ ดังนั้นจึงควรปลูกป่าทะเลควบคู่กันไปด้วย อีกทั้งสถาบัน Smithsonian สหรัฐอเมริกา รายงานว่าหนึ่งใน Blue Carbon อย่าง ‘หญ้าทะเล’ สามารถกักเก็บได้เป็นอันดับ 2 รองจากระบบนิเวศทุนดรา

ในประเทศไทยได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเล เพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบ Blue Carbon โดยคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำทีมโดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากโครงการดังกล่าวต่อยอดมาสู่การลงนามความร่วมมือพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่ Low Carbon Destination ณ บริเวณหมู่เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมากและวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด

แม้โครงการศึกษาหญ้าทะเลจะไม่เกี่ยวกับงานของกลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมากโดยตรง แต่นพดล บอกว่าการเข้ามาของภาคเอกชนและภาควิชาการทำให้กลุ่มอนุรักษ์มีงบประมาณและการช่วยเหลือด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น

นพดล บอกว่ากลุ่มอนุรักษ์ซึ่งไม่สามารถหารายได้จากการดูปะการัง-หญ้าทะเลได้ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ไม่มีงบประมาณช่วยเหลือ บอกว่าไม่ได้ตั้งงบช่วยเหลือเกาะหมาก ทั้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการลดโลกร้อน

“หลายคนคิดว่าช่างมัน ไม่ใช่เรื่องของกู คุณคิดผิด สักวันคุณจะเดือดร้อน ยกตัวอย่าง ทำไมกรุงเทพฯ แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้สักที เพราะโลกร้อน น้ำขึ้น-ลง สูงผิดปกติ ช่วงน้ำหนุนน้ำก็ท่วมตลอด ธรรมชาติแก้ไขยาก พวกกั้นเขื่อนก็ทำลายสิ่งแวดล้อม อาจจะไม่ได้เดือดร้อนใน 100 เมตร แต่มันทำลายพื้นที่ข้างหน้าอีก 400 ถึง 500 เมตร สุดท้ายไปสร้างเขื่อนดักมันอีก แต่คนเซ็นได้เงิน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลกับบางหน่วยงานคิดผิด”

ตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 1 ปี 4 เดือน กลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมากได้ปลูกต้นอ่อนปะการังไปทั้งสิ้น 150 แปลง ขนาดต่อแปลง 60×120 เซนติเมตร แต่ละแปลงมีประมาณ 12 กิ่งพันธุ์ ทั้งหมดปลูกได้ประมาณ 1,800 กิ่ง โดยปะการังที่เติบโตจากแปลงอนุบาลแล้วจะถูกย้ายแบบ ‘ปักชำ’ ในรูหินตามธรรมชาติ และย้ายไปใส่ในพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เวลากว่า 4-5 ปีจะทำให้เกาะหมากอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปะการังเหมือนในอดีต

นอกจากนี้ กลุ่มอนุรักษ์ยังมีหน้าที่เป็น ‘ตำรวจทางน้ำ’ คอยตรวจตราความเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการห้ามปรามไม่ให้ทิ้งขยะ การทำประมง การลักลอบตัดปะการัง หรือจับสัตว์ทะเล รวมถึงการทิ้งสมอเรือ

นพดล กล่าวต่อว่า ในอนาคตตั้งใจจะให้ความรู้เด็กรุ่นหลังให้มีความรู้สึกอนุรักษ์และหวงแหนระบบนิเวศทางทะเล และขยายขอบเขตของกลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมากให้กว้างขึ้น เพื่อให้คนรุ่นหลังสามารถดำน้ำปลูกปะการังได้ตามกฎหมาย

“โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ น้ำ ฝน อากาศไม่เหมือนเดิม สมัยก่อนรู้ว่าเดือนนี้เป็นอย่างนี้ๆ ตอนนี้ดูไม่ออกว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ประกอบกับปีที่แล้วรัฐบาลพยายามดันเรื่องโลกร้อน แล้วเกาะหมากเป็นเกาะเดียวในไทยที่สามารถทำเรื่อง low carbon ได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แก้โลกร้อน ไม่ได้ทำวันสองวัน แล้วซีโร่ มันต้องต้องช่วยกันทำทุกหน่วยงาน”

พร้อมกล่าวว่า “จังหวัดตราด ถ้าไม่เที่ยวทะเลคุณจะไปไหน นี่เป็นเรื่องหลักที่หลายหน่วยงานต้องมองภาพให้ชัดว่าเขาทำเพื่ออะไร เพื่อใคร สำหรับอยากเห็นเกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ทุกคนมีรายได้ เรือประมงที่ไม่เคยมีอะไรเลย ก็ตกปลาได้ มีปลาเล็กปลาใหญ่ ดำน้ำเที่ยว ดูปะการัง สร้างรายได้เป็นลูกโซ่”