จุดเริ่มต้นของ “ทอนทีน (tontine)” คือเจตนาสร้างสรรค์ที่จะระดมเงินทุนจากคนหมู่มาก แต่ใครจะไปรู้ว่าหลังจากที่ทอนทีนเฟื่องฟูจะมีคนหัวใสแต่ใจโหดจัดการเปลี่ยนแผนการลงทุนให้กลายเป็นแผนฆาตกรรม แถมยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนในที่สุดรัฐบาลในหลายประเทศต้องสั่งห้าม และทอนทีนก็กลายเป็นพล็อตฆาตกรรมยอดนิยมในแวดวงวรรณกรรมและภาพยนตร์
แต่แผนการลงทุนที่มีเงื่อนไขคล้ายล็อตเตอรี่อายุขัยรูปแบบนี้ ก็ยังมีผู้มองเห็นประโยชน์และเชื่อว่าอาจนำมาประยุกต์ใช้กับแวดวงประกันภัยและบำนาญได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนื่องจากสังคมผู้สูงวัยเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แนวคิดตายช้าได้เยอะ ตายไวได้น้อย คนสุดท้ายกินรวบ จึงอาจเป็นทางออกที่เข้าท่า แม้ว่าหลักการจะน่าขนลุกไปสักหน่อยก็ตาม

หลักการชวนสยอง
แนวคิดพื้นฐานการลงทุนแบบทอนทีนอาจจะดูน่ารังเกียจอยู่สักหน่อย นั่นก็คือ ยิ่งคนอื่นล้มตายจากไปมากเท่าใด ผลกำไรของเราก็จะยิ่งเพิ่มพูน พูดง่ายๆ ว่าเราทำกำไรจากการตายของผู้อื่นนั่นเอง
ทอนทีนเป็นการรวบรวมกลุ่มคนที่สนใจลงทุนเข้าด้วยกัน แต่ละคนจ่ายเงินก้อนแรกเพื่อก่อตั้งเป็นกองทุนรวม ผู้ลงทุนจะได้รับผลกำไรจากการลงทุนเป็นงวดๆ ตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้าจนกว่าจะเสียชีวิต ทำให้ทอนทีนมีลักษณะคล้ายกองทุนเงินบำนาญ
แต่จุดพลิกผันสำคัญคือ เมื่อมีนักลงทุนรายใดเสียชีวิต ส่วนแบ่งผลกำไรของพวกเขาจะถูกนำมาเฉลี่ยให้กับผู้ลงทุนรายอื่นๆ ที่ยังอยู่ ดังนั้น นอกจากจะได้รับผลตอบแทนที่แน่นอนตามสัดส่วนจำนวนเงินลงทุนไปตลอดชีวิต นักลงทุนยังมีโอกาสได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเพื่อนร่วมลงทุนเสียชีวิตอีกด้วย และผู้รอดชีวิตรายสุดท้ายก็จะได้รับเงินลงทุนทั้งหมดไปครอบครอง ทำให้ในแง่หนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าทอนทีนมีลักษณะเป็นสลากกินแบ่งที่เดิมพันด้วยอายุขัย
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงอาจจะสรุปสั้นๆ ได้ว่าทอนทีนคือลูกผสมของบำนาญกลุ่ม ประกันชีวิตกลุ่ม และสลากกินแบ่ง
กำเนิดทอนทีน
คำว่าทอนทีนมีที่มาจากชื่อของลอเรนโซ ดี ต็อนตี (Lorenzo de Tonti) นักการเงินและนักการเมืองชาวอิตาลี โดยในช่วงศตวรรษที่สิบเจ็ด รัฐบาลของหลายประเทศในยุโรปประสบปัญหาทางการเงิน และขาดเงินทุนในการทำโครงการขนาดใหญ่ ต็อนตีจึงนำแนวคิดดั้งเดิมของชาวอิตาลีมาปรับปรุง จนกลายเป็นรูปแบบการลงทุนที่ภายหลังเรียกกันว่าทอนทีน
ต็อนตีเสนอแนวคิดนี้ต่อราชสำนักฝรั่งเศสในปี 1653 เพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถระดมทุนก้อนใหญ่โดยไม่ต้องพึ่งพาภาษีมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ราชสำนักฝรั่งเศสไม่เห็นชอบและปฏิเสธแผนการของต็อนตี และภายหลังต็อนตีก็พบจุดจบน่าเศร้าด้วยการถูกจำขังเนื่องจากเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ต็อนตีเสียชีวิตเมื่อปี 1684 โดยไม่รู้เลยว่าภายหลังแผนการลงทุนที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมา จะได้รับการเรียกขานด้วยชื่อของเขาเอง
เริ่มจากโครงการใหญ่ของภาครัฐ
การลงทุนแบบทอนทีนโครงการแรกเริ่มต้นขึ้นที่เมืองแคมเปน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในเดือนตุลาคม 1670 เนื่องจากรัฐบาลต้องการหาเงินทุนเพื่อใช้ในการทำสงครามโดยเสนอให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุน รัฐบาลได้เงินก้อนใหญ่ไปทำสงคราม ประชาชนได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้
หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยโครงการอื่นๆ ของเนเธอร์แลนด์อีกสามโครงการ ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศสก็นำแนวคิดแบบทอนทีนไปใช้ประโยชน์ในปี 1689 ต่อจากนั้นรัฐบาลอังกฤษริเริ่มโครงการแบบทอนทีนขึ้นในปี 1693 และทอนทีนแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ โดยที่รัฐบาลมักจะใช้ทอนทีนเพื่อระดมทุนสำหรับโครงการขนาดใหญ่ เช่น การสร้างสะพานหรือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
ช่วงแรกๆ โครงการแบบทอนทีนได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชน เพราะเป็นทั้งการลงทุนและเป็นเกมเสี่ยงโชคที่ได้ลุ้นระทึกเหมือนกับซื้อสลากกินแบ่ง คนที่ตายก็คือไม่ถูกรางวัลและเสียเงินทั้งหมดที่จ่ายให้โครงการแบบทอนทีน แต่ถ้ามีผู้ร่วมลงทุนเสียชีวิต เงินก็จะไหลไปเข้ากระเป๋าของคนที่ยังอยู่ เปรียบเสมือนการถูกรางวัลโดยไม่คาดฝันนั่นเอง
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงใช้ทอนทีนเพื่อระดมทุนสำหรับปฏิบัติการทางทหารในปี 1689 ผู้ลงทุนแต่ละคนจ่ายเงิน 300 ลีฟร์เพื่อเข้าร่วม ผู้อยู่รอดคนสุดท้ายเป็นหญิงม่ายชื่อชาร์ลอตต์ บาร์บิเยร์ ซึ่งได้รับเงินปันผลทุกปีและยังได้รับเงินงวดสุดท้ายเป็นจำนวนถึง 73,000 ลีฟร์ ในอีก 73 ปีให้หลัง
ไม่นานนัก ทอนทีนก็ก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินแก่รัฐบาลที่นำมันมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากมักมีการประเมินอายุขัยของประชากรต่ำเกินไป นอกจากนั้น รัฐบาลยังคาดไม่ถึงความเจ้าเล่ห์ของนักลงทุนอีกด้วย
ในช่วงแรก ผู้เข้าร่วมกองทุนทอนทีนมีทั้งชายและหญิงทุกช่วงวัย แต่พอถึงช่วงกลางศตวรรษที่สิบแปด นักลงทุนก็เริ่มเข้าใจหลักการและหาวิธีเอาเปรียบระบบด้วยการซื้อกองทุนทอนทีนโดยใช้ชื่อเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กหญิงอายุประมาณ 5 ขวบ เนื่องจากผู้หญิงมีอายุยืนกว่าผู้ชาย และเด็กวัยนี้มีโอกาสรอดมากกว่าเด็กทารก วิธีนี้สร้างโอกาสให้ผู้ถือกองทุนได้รับผลตอบแทนสูง แต่สร้างความสูญเสียอย่างมากให้กับผู้บริหารจัดการกองทุน
แพร่หลายสู่ประชาชน
เมื่อถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ทอนทีนค่อยๆ เสื่อมความนิยมจากการเป็นเครื่องมือหารายได้ให้กับรัฐบาล แต่โครงการลงทุนแบบทอนทีนขนาดเล็กยังคงแพร่ในฐานะเครื่องมือระดมทุนสำหรับโครงการเฉพาะทาง และเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดช่วงศตวรรษที่สิบเก้า
สะพานริชมอนด์ซึ่งเป็นสะพานเก่าแก่ที่สุดของอังกฤษคือตัวอย่างของโครงการระดมเงินลงทุนแบบทอนทีนซึ่งยังยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน สะพานนี้เป็นข้ามแม่น้ำเทมส์ทางตะวันตกของลอนดอน ได้รับการสนับสนุนทางการเงินผ่านการระดมทุนแบบทอนทีนเมื่อปี 1773
เมื่อสะพานสร้างเสร็จในปี 1777 นักลงทุนก็เริ่มได้รับส่วนแบ่งจากค่าเดินทางข้ามสะพาน เมื่อมีนักลงทุนเสียชีวิตลง คนที่เหลือก็ได้ส่วนแบ่งมากขึ้น ผู้ร่วมโครงการคนสุดท้ายได้รับรายได้จากค่าผ่านทางทั้งหมดจนกระทั่งถึงวันที่เขาเสียชีวิต หลังจากนั้นตู้เก็บค่าผ่านทางจึงถูกทำลายและเปิดให้ข้ามสะพานโดยไม่คิดเงิน
โครงการแบบทอนทีนหลายแห่งยังมีคำว่าทอนทีนปรากฏอยู่ในชื่อสิ่งก่อสร้างด้วย อย่างเช่น โรงแรมทอนทีนที่ไอรอนบริดจ์ ชร็อปเชียร์ ในสหราชอาณาจักร ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 1780 โรงแรมนี้ตั้งอยู่ใกล้กับสะพานเหล็กที่มีชื่อเสียงและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานโบราณ
เข้าสู่แวดวงประกัน
ทอนทีนแทรกซึมเข้าสู่วงการประกันชีวิตของสหรัฐฯ เมื่อปี 1868 โดยการนำเสนอเฮนรี บอลวิน ไฮด์ แห่งบริษัทอิควิเทเบิล ไลฟ์ แอสชัวรันส์ โซไซตี้
ในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด ทอนทีนมีสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของตลาดประกันภัยสหรัฐฯ มีการประเมินว่าในปี 1905 มีกรมธรรม์แบบทอนทีนที่ยังมีผลบังคับใช้ถึง 9 ล้านฉบับ ในประเทศที่มีประชากรเพียง 18 ล้านครัวเรือน ทอนทีนได้รับความนิยมมากจนนักประวัติศาสตร์ยกให้เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมประกันภัยสหรัฐฯ
แต่การล่มสลายของทอนทีนก็รวดเร็วและรุนแรงพอๆ กัน ไม่นานหลังจากทศวรรษ 1900 มีเรื่องอื้อฉาวมากมายเกี่ยวกับการประกันภัยแบบทอนทีน เช่น การฉ้อโกงและการวางแผนฆาตกรรมเพื่อลดจำนวนผู้ร่วมลงทุนในกองทุน เพื่อให้คนที่เหลืออยู่ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น
ผลก็คือทอนทีนถูกสั่งระงับให้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และชื่อของมันกลายเป็นคำที่เชื่อมโยงกับความโลภและการทุจริต มีนักเขียนหลายคนนำด้านมืดของทอนทีนไปรังสรรค์เป็นเรื่องระทึกใจ เช่น อกาธา คริสตี เจ้าแม่แห่งนวนิยายสืบสวน เขียนเกี่ยวกับทอนทีนไว้ในเรื่อง 4.50 from Paddington และแม้แต่การ์ตูนเสียดสีเรื่องดังอย่าง “The Simpsons” ก็ยังมีตอนที่เกี่ยวกับทอนทีน
อาจเหมาะกับสังคมผู้สูงวัย
แต่ปัจจุบัน นักวางแผนการเงิน นักวิชาการ และบริษัทฟินเทคหลายแห่งเริ่มมีความเห็นว่า เราอาจจะรีบร้อนเกินไปในการตัดขาดกับทอนทีน และถึงเวลาที่ควรจะทบทวนเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงินชนิดนี้อีกครั้ง หลายคนกล่าวว่าวิธีจัดการทางการเงินวิธีนี้ถือว่ามีเหตุผลมากในบางแง่มุม บางคนเสนอว่าหากมีการปรับปรุงบางอย่าง ทอนทีนอาจเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งในการบรรเทาปัญหาของการเกษียณอายุในศตวรรษที่ 21
โมเช ไมล์เลฟสกี ศาสตราจารย์ด้านการเงินแห่งมหาวิทยาลัยยอร์กในโตรอนโต ประเทศแคนาดา เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ต้องการให้ทอนทีนกลับมา เขาเชื่อว่าทอนทีนน่าสนใจเพราะให้ผลตอบแทนเป็นรายปีเหมือนประกันแบบบำนาญ และยังให้ผลตอบแทนสูงกว่าประกันบำนาญแบบผลตอบแทนคงที่ เนื่องจากจะมีการนําผลประโยชน์ของสมาชิกที่เสียชีวิตไปแล้ว มาแบ่งเฉลี่ยให้สมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ลงทุนที่มีอายุยืนยาวกว่าก็จะได้รับผลประโยชน์สูงกว่า และด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทอนทีนยุคปัจจุบันจะโปร่งใสและเสี่ยงต่อการถูกโกงน้อยกว่าในอดีต
ว่ากันว่าตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทอนทีนอาจมีขนาดใหญ่เท่ากับตลาดประกันชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สูงวัยกลุ่มเบบีบูมเมอร์ที่กำลังมองหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากวิธีบริหารการเงินในรูปแบบเดิม ช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทการเงินหลายแห่งทั่วโลกจึงเริ่มนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่ได้รับแรงบันดาลใจจากทอนทีน ในฐานะอีกหนึ่งทางเลือกในการจัดการเงินเกษียณที่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะรู้ว่า ผลิตภัณฑ์การเงินที่เคยเผชิญปัญหาความท้าทายเรื่องจริยธรรมและความปลอดภัย จนในที่สุดก็กลายเป็นอดีตอย่างทอนทีน จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งได้หรือไม่ในช่วงเวลาที่โลกค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นสังคมอุดมคนชราอย่างเช่นทุกวันนี้ หรือจะหลงเหลือไว้แค่ความน่าสนใจในแง่ของประวัติศาสตร์การเงินและการประกันภัยเท่านั้นเอง
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.investopedia.com/terms/t/tontine.asp
https://www.nber.org/system/files/working_papers/w10958/w10958.pdf
https://www.moneysense.ca/columns/retired-money/tontines-in-canada/
https://www.morningstar.com/retirement/why-tontines-should-be-piece-retirement-solution
https://www.theglobeandmail.com/investing/globe-advisor/advisor-funds/article-how-tontines-can-reduce-longevity-risk-in-retirement-portfolios/
https://www.thinkadvisor.com/2022/08/31/moshe-milevsky-to-debut-a-tontine-for-21st-century-retirement-portfolios/