รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อวันอังคาร 17 กันยายน ที่เลบานอน เวลา 15.30 น. เครื่องติดตามตัว หรือ “เพจเจอร์” (pager) มีเสียงดังขึ้น ตามปกติเสียงนี้เป็นสัญาณแจ้งเตือนผู้ปฏิบัติของ “กลุ่มเฮซโบลเลาะห์” ว่า กำลังจะมีข้อความเป็นสารจากผู้นำ แต่ปรากฎว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ข้อความจากผู้นำ แต่เป็นข้อความจากศัตรูใหญ่ของกลุ่มนี้แทน ภายในไม่กี่วินาทีต่อมา เสียงเตือนก็ตามมาด้วยเสียงระเบิด และเสียงร้องความเจ็บปวดบนท้องถนน ตลาดสด ร้านค้า และบ้านเรือนทั่วไปในเลบานอน
อำนาจของแรงระเบิดจากวัตถุระเบิดที่หนักไม่กี่กรัม ซ่อนในอุปกรณ์เพจเจอร์ ทำให้คนขับมอเตอร์ไซด์กระเดนออกจากรถ ภาพจากวีดีโอของคนที่กำลังซื้อของในตลาด ล้มลงกับพื้น หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีคนเสียชีวิตสิบกว่าคน บาดเจ็บกว่า 2,700 ราย หลายคนต้องพิการสูญเสียอวัยวะ ในวันพุธที่ 18 ต่อมา คนอีกกว่า 20 คนเสียชีวิตและหลายร้อยคนบาดเจ็บ เมื่อวิทยุสื่อสาร (walkie-talkie) ในเลบานอน เกิดระเบิดที่ลึกลับขึ้นมาอีก
ยุคใหม่การก่อวินาศกรรม
บทรายงานของ The New York Times (NYT) เรื่อง A New Era in Sabotage กล่าวว่า เมื่อครั้งที่รัฐบาลสหรัฐฯ สมัยโอบาม่า อนุมัติการโจมตีทางไซเบอร์ต่อโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียงของอิหร่าน ปฏิบัติการนี้ได้มีการตรวจสอบจากนักกฎหมาย เพื่อลดความเสี่ยงต่อพลเรือนให้น้อยที่สุด
แต่การก่อวินาศกรรมที่คาดว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล ต่ออุปกรณ์เพจเจอร์ วิทยุสื่อสาร และอุปกรณ์ไร้สายของผู้ปฎิบัติงานกลุ่มเฮซโบลเลาะห์ ทำให้ศิลปะการก่อวินาศกรรมถูกยกระดับสูงขึ้นอีกขั้นหนึ่ง และเป็นที่น่าหวาดกลัว ในครั้งนี้ อุปกรณ์ที่เป็นเป้าหมายวินาศกรรมคือ สิ่งที่อยู่ในกระเป๋ากางเกง บนโต๊ะต่างๆ และอุปกรณ์สื่อสารธรรมดา ที่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นระเบิดมือถือขนาดเล็ก
สิ่งที่น่าหวาดหลัวก็คือว่า อะไรคือก้าวต่อไปของการวินาศกรรม แบบที่ทำกับกลุ่มเฮซโบลเลาะห์ ประวัติการก่อวินาศกรรมมมีอยู่ว่า เมื่อมีการก้าวข้ามจุดที่เป็นสิ่งเริ่มต้นใหม่แล้ว สิ่งนี้ก็กลายเป็นวิธีการที่ทุกคนสามารถเลียนแบบเอามาใช้ได้
แม้ว่าการวางระเบิดในอุปกรณ์สื่อสาร จะไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งผู้ก่อการร้ายและหน่วยงานสายลับ ใช้วิธีการนี้มานานหลายปีแล้ว แต่สิ่งที่แตกต่างกับเหตุการณ์ครั้งนี้ในเลบานอน คือขอบเขตการปฏิบัติการ โดยการวางวัตถุระเบิดจำนวนมากในเวลาพร้อมกัน
การวินาศกรรมแบบนี้ยากลำบากที่จะป้องกัน เพราะต้องใช้การเจาะลึกลงไปในห่วงโซ่อุปทานการผลิต
ความกังวลต่อห่วงโซ่อุปทาน
การโจมตีโดยอาศัยเพจเจอร์ถือเป็นฉากทัศน์ที่เลวร้ายสุด ต่อความกังวลของหน่วยงานรัฐบาลต่อการก่อวินาศกรรมโดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และห่วงโซ่การผลิตโลกก็มีความสลับซับซ้อน เหตุนี้ยิ่งทำให้มีน้ำหนักทางการเมืองมากขึ้น ที่สหรัฐฯและประเทศอื่น จะนำการผลิตส่วนที่เป็นเทคโนโลยีสำคัญกลับมาสหรัฐฯ หรือไปผลิตในประเทศพันธมิตรที่ไว้ใจได้
เครื่องเพจเจอรที่ระเบิด มีชื่อเป็นยี่ห้อบริษัทไต้หวัน Gold Apollo แต่บริษัทไต้หวันบอกว่า บริษัทในฮังการี BAC Consulting เป็นฝ่ายจัดการทั้งหมด รัฐบาลฮังการีก็แถลงว่า BAC ไม่มีฐานการผลิตในฮังการี แต่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ ห่วงโซ่อุปทานอิเล็กทรอนิกส์ต้องเกี่ยวข้องกับไต้หวัน การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก็จะเกี่ยวข้องกับหลายสิบประเทศ รวมทั้งซับพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ จะประกอบด้วยผู้ผลิต และผู้รับช่วงการผลิตเป็นทอดๆ
พวกเฮซโบลเลาะห์หันมาใช้เพจเจอร์ อุปกรณ์เทคโนโลยีล้าสมัยที่ถูกทิ้งไปแล้ว สะท้อนความเข้าใจอย่างดีพวกนี้ว่า ยิ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก้าวหน้ามาเท่าไหร่ เช่น สมาร์ทโฟน ก็ยิ่งง่ายที่จะถูกเจาะข้อมูลสำคัญ Nigel Inkster อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองอังกฤษ MI6 กล่าวกับ The Washington Post ว่า
“พวกเขาไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่สามารถใช้เพจเจอร์ และมาถึงตอนนี้ ไม่สามารถใช้วิทยุสื่อสาร ในระยะสั้น จึงเป็นสิ่งที่ยาก ที่พวกนี้จะมีระบบควบคุมและสั่งการ ได้อย่างมีประสิทธิผล”

อิสราเอลใช้วิธีการดัดแปลงอย่างไร
เครื่องเพจเจอร์ถูกบรรจุวัตถุระเบิดเกิดภายในขึ้นได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน เพราะปฏิบัติการดังกล่าวถือเป็นความลับ ที่มีการปกปิดมากที่สุดของรัฐบาล Washington Post หยิบเอาตัวอย่างที่เปิดเผยขึ้นในปี 2014 ผ่านเอกสารลับ Wikileaks ว่า ณ คลังสินค้าลับแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้สะกัดจับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นหนึ่ง ส่งถึงลูกค้าโดยบริษัท Cisco Systems เจ้าหน้าที่สหรัฐฯได้เปิดกล่องและติดตั้งอุปกรณ์สอดแนมในสินค้า แล้วส่งต่อไปยังลูกค้า ที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ
เจ้าหน้าที่อิสราเอลอาจใช้วิธีการแบบเดียวกันนี้ โดยการดักยึดเพจเจอร์ หลังจากขนส่งออกจากโรงงานผลิต แต่ก็เป็นไปได้ที่เพจเจอร์จะถูกดัดแปลงภายในโรงงานการผลิต ในกรณีนี้ จะต้องใช้คนและการรักษาความลับจากคนจำนวนมาก รวมทั้งมีห่วงโซ่อุปทานส่วนหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับการประกอบการผลิต Edward Snowden ที่เป็นคนเปิดเผย Wikileaks ปัจจุบันลี้ภัยในรัสเซีย กล่าวกับ Washington Post ว่า “สิบปีต่อมา ความปลอดภัยในการขนส่งไม่เคยดีขึ้น ปฏิบัติการระเบิดโดยเพจเจอร์ เป็นสิ่งเกิดขึ้นที่น่ากลัว ทุกคนในโลกปลอดภัยน้อยลง”
การจะตรวจสอบสิ้นค้าอิเล็ทรอนิกส์เข้าออกจากท่าเรือทั้งหมด จะเป็นการสร้างปัญหาคอขวดแก่ห่วงโซ่อุปทาน ในช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐจึงหันมาสนใจมากขึ้นกับการสร้างความปลอดภัยแก่ระบบคนาคมสื่อสารของสหรัฐฯ จากปฏิบัติการข่าวกรองและการโจมตีของจีน เช่น สนับสนุนการเงินแก่ผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ และชิปคอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ หรือห้ามเจ้าหน้าที่สหรัฐฯในการใช้สมาร์ทโฟนจากจีน

ปัญหาท้าทายต่อกม.ระหว่างประเทศ
สำนักข่าว dw.de สัมภาษณ์ Janina Dill ผู้อำนวยการ Oxford Institute for Ethics, Law and Armed Conflict ที่กล่าวว่า ในปัจจุบัน มีความขัดแย้งโดยการใช้กำลังอาวุธ ระหว่างกลุ่มเฮซโบลเลาะห์กับอิสราเอล ดังนั้น กฎหมายระหว่างประเทศจึงมีผลบังคับใช้ กฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งแนวคิด “สงครามที่เป็นธรรม” (just war) มีการจำแนกชัดเจนระหว่างนักรบกับพลเรือน
แต่สงครามในยุคปัจจุบัน คน 2 กลุ่มนี้ มักจะอยู่ปะปนกัน หรือจงใจที่จะอยู่อย่างผสมผสานกัน เพราะการสังหารประชาชนจะถูกประนามด้านศีลธรรมจากทั่วโลก สงครามที่กลุ่มฮามาสวางแผนในฉนวนกาซ่า มีลักษณะเอาประชาชนมาเสี่ยง เพื่อเป้าหมายการเมือง วิธีการทางทหารที่ตอบโต้จึงต้องทำทุกอย่าง เพื่อหลีกเลี่ยง หรือลดความเสียหายของพลเรือนให้น้อยที่สุด แต่อิสราเอลถูกวิจารญ์จากทั่วโลกในเรื่องนี้
แต่กรณีการระเบิดจากเพจเจอร์ ไม่สามารถอ้างได้ว่า ได้พยายามให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดแก่พลเรือน กลุ่มเฮซโบลเลาะห์ไม่ได้แจกจ่ายอุปกรณ์เพจเจอร์หรือวิทยุสื่อสาร เพื่อทำให้ประชาชนตัวเองมีความเสี่ยง ไม่ใช่แผนการที่จะบีบบังคับอิสราเอลให้โจมตีหรือทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย
การโจมตีทั้งหมดเป็นแผนการของอิสราเอลฝ่ายเดียว ที่ควรจะทราบว่า การระเบิดด้วยเพจเจอร์จะเกิดขึ้นในพื้นที่การใช้ชีวิตของพลเรือน ประชาชนที่บาดเจ็บล้มตาย ส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กที่บริสุทธิ์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะการคาดการความเสียหายเกิดขึ้นกับพลเรือนแบบได้สัดส่วน จากปฏิบัติการทางทหาร ปัจจุบันเรียกสิ่งนี้ว่า collateral damage จุดนี้คือประเด็นสำคัญที่ท้าทายต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

ความขัดแย้งทางทหารในเลบานอน ที่จะบานปลายเป็นสงครามที่อันตรายใหญ่หลวงมากขึ้น สะท้อนจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันที่ 7 ตุลาคม 2023 เมื่อกลุ่มติดอาวุธพวกฮามาสโจมตีอิสราเอล ตามมาด้วยสงครามของอิสราเอลในกาซ่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไป วิธีการวินาศกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้น และความกังวลในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งหมดนี้ช่วยพิสูจน์ถึงความจำเป็นของการต้องรีบแก้ปัญหาต่างๆด้วยการเมือง
เอกสารประกอบ
A New Era in Sabotage, September 19, 2024, nytimes.com
Pagers attack brings to life long-feared supply chain threat, September 19. 2024. Washingtonpost.com
Pager attack poses challenges under international law, September 20, 2024, dw.de
Israel’s Pager Bombs Have No Place in a Just War, September 21, 2024, nytimes.com