ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > นักนิติศาสตร์ ระบุ มติรัฐสภาขัดแย้งรัฐธรรมนูญ ‘ข้อบังคับจะมีศักดิ์ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ’ ไม่ได้-ชี้โหวตนนายกฯซ้ำได้

นักนิติศาสตร์ ระบุ มติรัฐสภาขัดแย้งรัฐธรรมนูญ ‘ข้อบังคับจะมีศักดิ์ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ’ ไม่ได้-ชี้โหวตนนายกฯซ้ำได้

20 กรกฎาคม 2023


นักนิติศาสตร์ พร้อมใจกันให้ความเห็น กรณีรัฐสภามีมติเสียงส่วนใหญ่โหวตเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำไม่ได้ พร้อมตั้งสังเกตถึงมติรัฐสภา เป็น “ข้อบังคับ” จะมีศักดิ์ใหญ่กว่า “รัฐธรรมนูญ” ไม่ได้

จากกรณีที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ได้ลงมติเสียงมาก 395 เสียงเห็นว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่30 ไม่สามารถทำได้ในรอบที่สอง เนื่องจากถือเป็นญัตติที่รัฐสภาเคยตีตกไปแล้ว ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 บัญญัติว่า ญัตติใดที่รัฐสภา ตีตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอได้ใหม่ ในสมัยประชุมเดิม จนกว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปที่จะทำให้รัฐสภากลับมาพิจารณาซ้ำ

ที่ประชุมรัฐสภาใช้เวลานานกว่า 8 ชั่วโมงในการอภิปรายในประเด็นดังกล่าว จนนำมาสู่การลงมติ ลงมติเสียงข้างมาก 395 เสียง ไม่เห็นด้วย 317 เสียง งดออกเสียง 8 เสียงไม่ลงคะแนน 1 เสียง ทำให้การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่30 โหวตครั้งที่สองไม่สามารถทำได้ ต่อประเด็นดังกล่าวได้มีนักกฎหมายได้วิพากษ์วิจารณ์ดังนี้

ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

“บวรศักดิ์” ชี้ข้อบังคับประชุม ทำให้ รธน.เป็นง่อย

ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “เอาข้อบังคับการประชุมมาทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นง่อย ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญกำหนดการเลือกนายกฯไว้เป็นการเฉพาะแล้ว น่าสงสารประเทศไทย ผิดหวังส.ส.คนที่ไปร่วมลงมติห้ามเสนอชื่อซ้ำ แม้คุณจะอยู่ฝ่ายค้าน คุณก็ควรรู้ว่าเมื่อไหร่ต้องทิ้งความเป็นฝ่ายค้าน ทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่การตีความของรัฐสภาไม่เป็นที่สุด คนที่คิดว่าสิทธิของตนถูกกระทบ ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ ว่ามติรัฐสภาซึ่งเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญได้ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าผู้ตรวจการไม่ส่งศาล ผู้นั้นยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

“ผมจะรอดูคำร้องว่าการกระทำของรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญครับ และจะดูว่าศาลรัฐธรรมนูญว่ายังไง สอนรัฐธรรมนูญมาสามสิบกว่าปีต้องทบทวนแล้วว่าจะสอนต่อไหม?!?!?!”

ผศ.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

“พรสันต์” ชี้อ้าง”กฎเกณฑ์ที่ไม่ใช่กฎหมาย”

ผศ.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “คงจะมีแต่ประเทศไทย ที่อ้าง “กฎเกณฑ์ที่ไม่ใช่กฎหมาย” อย่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภาไปใหญ่เหนือกว่า “กฎเกณฑ์ที่เป็นกฎหมายสูงสุด” อย่างรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาได้กลายเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทยไปเสียแล้ว

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ

“ธงทอง” ชี้ รธน.มีศักดิ์สูงกว่าข้อบังคับรัฐสภา

ขณะที่ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แชร์ข้อความของ นายบวรศักดิ์ พร้อมโพสต์ข้อความระบุ รัฐธรรมนูญมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาอย่างแน่นอน การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ประกอบมาตรา 272

นอกจากนั้นข้อบังคับการประชุมรัฐสภาพ.ศ. 2563 เอง ในหมวดเก้าว่าด้วยเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ได้แยกเรื่องนี้ออกไว้เป็นการเฉพาะ และกำหนดไว้เป็นการพิเศษว่า การเสนอชื่อดังกล่าวต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถ้าคำนวณจากจำนวนเต็ม 500 ก็จะพบว่าการเสนอชื่อนี้ต้องมีผู้รับรองถึง 50 คน
โปรดสังเกตว่าบทบัญญัติมาตรา 157 และมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญก็ดี บทบัญญัติของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวด 9 ก็ดี ไม่ปรากฏคำว่า “ญัตติ” อยู่ในที่ใด

ในขณะที่การเสนอญัตติทั่วไปตามข้อ 29 แห่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภาพ.ศ. 2563 กำหนดว่าต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่าสิบคน จึงเห็นการแยกแยะความแตกต่าง และความสำคัญของสองเรื่องนี้ออกจากกันโดยชัดเจน

ดังนี้จึงเห็นได้ว่า การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวดเก้า ซึ่งกำหนดวิธีการขั้นตอนไว้โดยเฉพาะ ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายใดที่จะนำบทบัญญัติ จากข้อบังคับการประชุมรัฐสภากรณีการเสนอญัตติทั่วไปมาปรับใช้แก่กรณีนี้

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

‘ปริญญา’ ระบุตีความคลาดเคลื่อน “ข้อบังคับรัฐสภาเหนือรัฐธรรมนูญ”

ขณะที่ รศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ส.ว.หลายท่านออกมาบอกว่า เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯรอบที่สองในวันที่ 19 ก.ค.2566 ไม่ได้ เพราะข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 กำหนดว่า “ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน”

ขอเรียนว่าท่าน ส.ว. เข้าใจ “คลาดเคลื่อน” ไปมากครับ เพราะข้อ 41 อยู่ในข้อบังคับหมวด 2 ส่วนที่ 2 เรื่องการเสนอญัตติ ดังนั้น “ญัตติ” ที่ตกไปแล้วที่เสนอซ้ำไม่ได้ตามข้อ 41 จึงหมายถึงญัตติตามข้อบังคับหมวด 2 ส่วนที่ 2 นี้เท่านั้น ซึ่งข้อ 29 กำหนดว่า “ญัตติทั้งหลายต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานรัฐสภา และ ต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่า 10 คน”

ส่วนการเสนอชื่อนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ ไม่ใช่การเสนอญัตติ หากเป็นเรื่อง กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 159 บัญญัติว่า ต้องมี ส.ส.ให้ความเห็นชอบอย่างน้อย 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งก็คือ 50 คน ไม่ใช่แค่ 10 คนเหมือนเสนอญัตติ

อีกทั้งข้อบังคับการประชุมรัฐสภาเรื่องการให้ความเห็นชอบนายกฯ ก็อยู่หมวด 9 ไม่ใช่หมวดเดียวกันกับการเสนอญัตติ การนำเอาข้อ 41 มาอ้างว่า โหวตเห็นชอบนายกฯคนเดิมรอบ 2 ไม่ได้ จึงผิดโดยสิ้นเชิง

“เห็นว่าเป็นเรื่องประหลาดที่ท่าน “สมาชิกวุฒิสภา” มาเสนออะไรแบบนี้ เพราะมันเท่ากับเป็นการเอาข้อบังคับการประชุมรัฐสภามาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด แล้วยังเป็นการเอามาใช้แบบผิด ๆ ถูก ๆ โดยสมาชิกวุฒิสภา ซึ่่งสังคมคาดหวังว่าน่าจะมี “วุฒิ” มากกว่านี้”

“สรุป คือ เสนอชื่อพิธารอบ 2 ได้ครับ ส่วนเสียงจะได้ถึงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านประธานรัฐสภาชี้ขาดได้เลย โดยที่ไม่ต้องมีการลงมติตีความข้อบังคับ หรือลงมติงดเว้นใช้ข้อบังคับ เพราะการเสนอชื่อนายกฯ ไม่ใช่ญัตติครับ”

นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย

สมาคมทนายความ แถลงการณ์’รัฐสภาลงมติแย้งรัฐธรรมนูญ’

แถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ตามที่ ที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 มีมติว่า ญัตติการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอญัตติซ้ำต้องห้ามตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 นั้น สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่ามติดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1. ตามพจนานุกรมและข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 44 ญัตติหมายถึงข้อเสนอใดๆ ที่มีความมุ่งหมายให้สภาลงมติหรือชี้ขาดว่า จะให้ปฏิบัติหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป การเสนอญัตติอาจเสนอด้วยปากเปล่า หรือทำเป็นหนังสือก็ได้ ดังนั้น การเสนอชื่อนายพิธาเพื่อให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงถือเป็นการเสนอญัตติตามรัฐธรรมนูญ

2. อย่างไรก็ตาม ญัตติที่เสนอต่อสภา มี 2 ประเภท คือ ญัตติทั่วไป เช่น ญัตติขอให้สภาแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาหรือศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และญัตติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยเฉพาะ เช่น ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 และ 152 เป็นต้น

3. สำหรับการเสนอญัตติทั่วไปของรัฐสภาจะต้องเป็นไปตามข้อบังคับข้อ 41 กล่าวคือ ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในที่ประชุมเดียวกันหรือที่เรียกว่าเป็นญัตติซ้ำ

ส่วนการเสนอญัตติที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญจะบัญญัติถึงวิธีการยื่นและข้อจำกัดในการยื่นไว้ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด เช่น

(1) ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 151 และ 152 รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ต้องมี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายและจะยื่นได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154

(2) ญัตติการเสนอชื่อนายพิธาอันเป็นญัตติเฉพาะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ประกอบมาตรา 159 นั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อตามมาตรา 88 ของพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 คน และการเสนอชื่อต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 50 คน ซึ่งญัตติดังกล่าวนี้ รัฐธรรมนูญมิได้มีข้อจำกัดจำนวนครั้งในการยื่นเหมือนกับกรณีญัตติตามมาตรา 151 และ 152 ดังนั้น ญัตติการเสนอชื่อนายพิธาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงเสนอได้โดยไม่มีข้อจำกัดเพราะรัฐธรรมนูญมิได้จำกัดไว้ และไม่อาจใช้ข้อบังคับข้อ 41 ซึ่งใช้กับการยื่นญัตติทั่วไปมาใช้บังคับได้

ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาที่เสนอชื่อนายพิธา รวมทั้งสมาชิกที่รับรองการเสนอชื่อจึงเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ สมาชิกดังกล่าวจึงมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและการลงมติของสมาชิกรัฐสภาจำนวน 394 คน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 หรือไม่

นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย วันที่ 20 กรกฎาคม 2566

  • นัดโหวตนายกฯรอบใหม่ 27 ก.ค. เสนอชื่อ “พิธา” อีกไม่ได้ หลังรัฐสภาลงมติ
  • ศาล รธน.สั่ง “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ตั้งแต่วันนี้