ในขณะที่เวทีการเมืองเกิด “สงครามปรองดอง” กลางสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2555 แต่เช้าวันที่ 28 มี.ค. 2555 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นักวิชาการจำนวนหนึ่งกำลังระดมความคิดเห็นสร้างพื้นที่ “ปรองดอง” ทางวิชาการ หรือเวทีเสรีภาพทางวิชาการ
โดยมีสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “เสรีภาพในสังคมไทย”
แต่ก่อนเข้าเวทีเสวนา ทั้ง 5 สถาบัน ได้แถลงการณ์ “ภารกิจการขยายพื้นที่เสรีภาพให้กับสังคมไทย” โดยนายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของภาระกิจการขยายพื้นที่เสรีภาพให้กับสังคมไทยว่า
เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2514 ทั้ง 5 สถาบันมีความเห็นพ้องว่า เสรีภาพเป็นแก่นแกนสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งขอการปกครองประชาธิปไตย โดยมองว่าตลอด 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ 40 ปีของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนักศึกษา ประชาชน สิ่งที่ประชาชนไทยได้มาและได้ใช้อย่างเต็มที่คือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ซึ่งส่งผลโดยตรงและโดยอ้อมในการผลักดันให้ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ได้ก้าวมาสู่ปัจจุบัน แม้จะมีช่วงขึ้นลง แต่โดยรวมก็ชัดเจนว่าดีขึ้นกว่ายุคเผด็จการที่ผ่านมา
ดังนั้น ทั้ง 5 สถาบันจึงเห็นว่า ปัจจุบันมาถึงยุคสมัยที่ควรจะขยายพื้นที่ทางสิทธิเสรีภาพให้กว้างขวางเพิ่มเติมขึ้นอีก โดยหลักการที่ว่า เสรีภาพก็คือ “การใช้สิทธิอำนาจของตัวเองเพื่อรับผิดชอบต่อตัวเอง ผู้อื่น และส่วนรวม” การขยายพื้นที่เสรีภาพจึงบ่งชี้ว่า ประชาชนทุกคนทุกฝ่ายเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน จึงมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องมีเสรีภาพในการแดสงออกในการเสนอประเด็นปัญหา องค์ความรู้ ทัศนะต่างๆ ที่จะทำให้เข้าใจปัญหา ผลดี ผลเสีย หนทางแก้ไขในทุกๆ ประเด็นที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
นายธีรยุทธกล่าวว่า เนื่องจากทั้ง 5 เป็นสถาบันวิชาการสำคัญของประเทศ จึงจะใช้เสรีภาพดังกล่าวในลักษณะที่เป็น “วิชาการ” เป็นประโยชน์ สร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็จะพยายามขจัดอคติทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นจากอารมณ์ทั้ง 6 หรือที่เรียกว่า อคติ 4 เช่น อคติจากความหวาดกลัวภัย จากปฏิกิริยาความไม่พอใจของฝ่ายต่างๆ เป็นต้น
สถาบันทั้ง 5 จะนำเสนอในรูปแบบวิชาการต่างๆ แก่สาธารณชนในช่วงปี 2555-2556 โดยจะครอบคลุมประเด็นที่จำเป็นต่อสังคมไทยดังนี้
1. เสรีภาพในสังคมไทย
2. เราจะแก้ปัญหาทุรวาทกรรม หรือ โทสะวาท หรือโมหะวาท (hate speech) เช่น ความเกลียดชังในสังคมไทย อย่างยั่งยืนได้อย่างไร
3. มิติของการแก้ไขความเหลื่อมล้ำในความเป็นคนสังคมไทยอย่างยั่งยืน
4. กระบวนการยุติธรรมกับประเทศไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน
5. นโยบายประชานิยม ผลดี ผลเสีย ต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมืองไทย
6. ความคิด “ชาตินิยม” ข้อดี ข้อเสีย เป็นอย่างไร
7. ความหมาย ความสำคัญ ของเสรีภาพในการประท้วง การแสวงหาจุดร่วมความเหมาะสมความพอดี ของเสรีภาพในการประท้วง
8. สถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมเสรีประชาธิปไตย และในยุคสังคมข่าวสาร และโลกาภิวัตน์
“สถาบันทั้ง 5 หวังว่าจะสามารถขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพทางวิชาการ ให้ครอบคลุมองค์กรวิชาการและนักวิชาการจากสาขาวิชาการต่างๆ รวมทั้งนักวิชาการที่มีความเห็นแตกต่างกันให้มาร่วมกันแสดงออกและทำความเข้าใจในประเด็นปัญหาสำคัญ ร่วมกันแสวงหาความรู้จากการศึกษาวิจัย ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับสังคม โดยคาดว่าจะทำแบบนี้ 2 เดือนครั้งหนึ่ง” นายธีรยุทธกล่าว
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอ ชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมว่า สาเหตุสำคัญที่ต้องจัดเวทีเสรีภาพทางวิชาการคือ ในภาวะที่สังคมมีความขัดแย้งสูงในขณะนี้ ทำให้รู้สึกว่าทางออก “ตีบตัน” ส่วนตัวเชื่อว่า ความรู้ทางวิชาการจะเป็นแสง “ส่องสว่าง” ให้หาทางออกจากถาวะตีบตันนี้ได้
นอกจากนี้ ปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยขณะนี้ทวีความซับซ้อนมากขึ้น และในขณะเดียวกันนโยบายทางการเมืองพยายามหาทางออกในทางระยะสั้น มุ่งแสวงหาฐานเสียง และไม่คำนึงถึงปัญหาที่สลับซับซ้อน ทำให้นโยบายสาธารณะไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานได้
เพราะฉะนั้น การมีเสรีภาพทางวิชาการเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องการสร้างเวทีเสวนาที่มีนักวิชาการจากหลายๆ ฝ่ายจากหลายสาขา และแม้จากสาขาเดียวกัน ต่างความเห็น ต่างขั้วกันมาพูดในเวทีพร้อมๆ กัน จะทำให้สังคมเห็นว่านักวิชาการสามารถพูดกันได้ สามารถหาทางออกร่วมกันได้ ถึงแม้ความคิดเห็นแตกต่างกัน และคงไม่จำกัดเฉพาะ 5 สถาบันนี้ น่าจะขยายไปเรื่อยๆ
“ธรรมศาสตร์ประกาศตนเองมาตลอดว่าเราต้องมีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่ขณะนี้เสรีภาพในธรรมศาสตร์ ในประเทศไทย ไม่ได้มีเสรีภาพเต็มทุกตารางนิ้ว นี่คือเหตุผลที่ต้องมาเติมเต็มพื้นที่เสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพที่ประกอบกับความรับผิดชอบ และขณะนี้ก็เริ่มมีสัญญาณว่า ในหมู่นักวิชาการเองก็ไม่ค่อยกล้าแสดงออก เพราะในการแสดงออกอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกตีตราว่าเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ หรือมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง หรือมิฉะนั้นก็มีต้นทุนในการแสดงออกที่ค่อนข้างสูงมาก สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าเสรีภาพกำลังถูกกระทบกระเทือน” ดร.นิพนธ์กล่าว
ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า มีความเห็นว่า การจะสร้างเวทีทางวิชาการ ซึ่งทุกฝ่ายสามารถมาแสดงความคิดเห็นร่วมกันได้โดยไม่มี “โทสะวาท” เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมไทยวันนี้ เพราะการแบ่งแยก ความเกลียดชัง ทำให้สังคมแตกเป็นฝ่าย แม้กระทั่งการเมืองก็แตกชัดเจน ถ้าวงวิชาการไม่มีเวทีเปิดให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นต่างกันได้ ก็จะเห็นภาพอย่างในสภาเมื่อคืนวันที่ 27 มี.ค. 2555 เป็นภาพซึ่งไม่นำประเทศไปสู่ความปรองดองเท่าไร
“ในเมืองไทยเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา เวทีที่เป็นความเห็นต่างแคบลงเรื่อยๆ แต่ละคนจะไปอยู่คนละมุมของตัว ใครอยู่มุมแดง ใครมุมเหลือง ใครมุมน้ำเงิน ใครอยู่มุมขาว ก็เข้ามุมของตัว แล้วก็มีวิวาทะผ่านสื่อบ้าง ผ่าน social network บ้าง ซึ่งไม่เกินประโยชน์อะไรกับบ้านเมือง ถ้าเราสร้างเวทีแบบนี้ได้ แล้วใช้เสรีภาพทางวิชาการที่มีความรับผิดชอบด้วยน่าจะเป็นสิ่งที่ดี น่าสนับสนุน และควรมากกว่า 5 สถาบัน” ดร.บวรศักดิ์กล่าว
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า บทบาทหน้าที่สื่อโดยสมาคมฯ เน้นส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพของสื่อ และพยายามเป็นตัวกลางในการจะสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ ที่ไม่ได้รับความรุนแรง
นายสุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า น่าประหลาดแค่ไหนที่ทุกคนเห็นด้วยกับคำว่า “ปรองดอง” แต่ปรากฏการณ์ของคำกลับเป็นตรงข้าม กลายเป็นพฤติกรรมทางสังคม ทางการเมือง ที่ไม่ชวนให้เรามีสติร่วมกันได้
ปรากฏการณ์นี้ นายสุริชัยมองว่าน่าจะเป็นเครื่องเตือนใจตัวเอง และเตือนใจทุกคนว่ามันเกิดอะไรที่ผิดปกติมากทีเดียวในประเทศ ในสังคมนี้ไม่ใช่แค่ในสังคมไทยที่เกิดขึ้นและเดือดร้อน แต่ยังมีการลงทุนในนิคมทวาย การลงทุนขนาดใหญ่ในหลายๆ ประเทศ ดังนั้น ความรับผิดชอบของสังคมไทยไม่ใช่แค่แก้ปัญหาของตัวเอง แต่ก็ต้องรับผิดชอบกับเพื่อนบ้าน กับชาวโลก ซึ่งมีคนไทยเข้าไปลงทุน เข้าไปพัฒนาในความหมายต่างๆ ซึ่งอาจเกิดผลกระทบอื่นๆ ก็ได้
ดังนั้น นักวิชาการควรจะช่วยกันรับผิดชอบ แต่สถานการณ์ขณะนี้ทำให้ไม่มีพื้นที่สาธารณะ จะมีแต่เฉพาะพื้นที่ข้างใดข้างหนึ่ง พื้นที่สาธารณะถูกทำลายหดหายไปหมด บรรยากาศนี้ก็ไม่เอื้อให้เราพูดจาเนื้อหาที่ยากๆ เหมือนกัน แต่สังคมไทยต้องการพื้นสาธารณะทางปัญญา และความจำเป็นนี้ต้องทำร่วมกัน ต้องการความเยือกเย็น ความเอาใจใส่ การศึกษาอย่างจริงจัง การวิจัย และชวนเพื่อนคนอื่นๆ ข้ามไปจัดเวทีต่างจังหวัดบ้างจะช่วยให้มีการเคลื่อนไหวพื้นที่ร่วมกัน
“ในบริบทแบบนี้เราหาสติร่วมกันยาก เป็นเรื่องที่แก้ไม่ได้ด้วยคาถา เวทมนตร์ หรือหาคำไพเราะมาคุย แต่ต้องมีการพินิจพิเคราะห์ หาแนวทางกันจริง และเคารพกันด้วย” นายสุริชัยกล่าว
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมอีกว่า ในบรรยากาศยุคหนึ่ง เราใช้คำว่า “สมานฉันท์” แต่ไม่ค่อยสนใจกันว่าจะเข้าใจกันอย่างไร สนใจแต่จะใช้คำเป็นเครื่องมือ จริงๆ แล้วหลายคนบอกว่า ใครจะแพ้จะชนะใน “สงครามปรองดอง” คือ ปรองดองกลายเป็นสงคราม และสงครามนี้ใครเป็นผู้แพ้-ผู้ชนะ ปรากฏการณ์นี้เป็นวิบากกรรมที่อยู่ในวังวน แต่เรื่องใหญ่คือจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ไม่ใช่ใครแพ้ใครชนะ
ขณะที่ในเวทีเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “เสรีภาพในสังคมไทย” นายธีรยุทธนำสู่การเสวนาโดยภายใต้กติกาขอให้เป็นประเพณีวิชาการ และแย้งกันด้วยแนวคิดกรอบคิด ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งในการเสวนามีนักวิชาการร่วมแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายมุมมอง
เริ่มจากการเกริ่นนำของ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเสนอแนวคิดว่า มหาวิทยาลัย ควรมีบทบาทหน้าที่เป็นพื้นที่ทางวิชาการ เพราะหน้าที่หลักคือ ค้นคว้า วิจัย หาข้อมูล ข้อเท็จจริง จนถึงนำเสนอขอเท็จจริง
“แนวความคิดนี้มาจากโลกข้างนอก มองว่ามีความใกล้เคียงกันเลยยืมมาใช้ อันนี้เป็นมหาวิทยาลัยในยุโรป เขานำเสนอโดยบอกว่า บทบาทของมหาวิทยาลัย ควรจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนสำนึกของสาธารณะ ในเรื่องหรือทัศนะที่มีต่อการเมืองทั้งที่ดีและเลว คือมหาวิทยาลัยควรจะต้องนำเสนอได้ และเป็นตัวแทนของเรื่องนั้นในทางสาธารณะ” ดร.ธเนศกล่าว
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยต้องมีบทบาทและมีส่วนร่วม แต่ต้องมีหลักเกณฑ์ คือ สิ่งที่ตัวนักวิชาการ มหาวิทยาลัยนำเสนอ ควรนำเสนอ “ข้อเท็จจริง” หรือ “fact” ไม่ใช่ “สัจธรรม” เพราะสัจธรรมรวมค่านิยม ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม มิติที่เป็นนามธรรมทั้งหลายมันเป็น “อัตวิสัย” ที่นำไปสู่การอคติ
เพราะฉะนั้น สิ่งที่นักวิชาการหรือมหาวิทยาลัยนำเสนอต้องเป็นข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นความดี ความเลว ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ไม่ใช่การประเมินตัวผู้กระทำ หรือตัวผู้เป็นนักการเมือง ดังนั้น นักวิชาการต้องแยก “จุดยืน” ของเรา คือเราไม่พูดเรื่องส่วนตัวของผู้ปฏิบัติ หรือตัวนักการเมืองนั้นๆ แต่ให้ข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่นักวิชาการเสนอจะต้องไม่มี “คุณค่าเชิงตัดสิน” หรือ “value judgment” ไม่ควรจะใส่ไว้ ขอให้เป็นเพียงข้อเท็จจริง เพราะถ้าเป็นข้อเท็จจริงก็หมายความว่า อาจเปลี่ยนได้ถ้าข้อมูลเปลี่ยน
“มีการนำเสนอว่า สิ่งที่มหาลัยเสนอต้องแยกจากศีลธรรมทางศาสนาและสัจธรรม เพราะว่าถ้าหากนักวิชาการทำตัวเป็นนักเทศนา ก็เหมือนกับนักบวชหรือพระที่เทศน์ในโบสถ์ ในวัด สิ่งที่เทศน์ในโบสถ์ในวัดเป็นสัจธรรม เถียงไม่ได้ ถ้าหากนักวิชาการใช้จุดยืนแบบนั้นและใช้ข้อสรุปว่ามันเป็นสัจธรรมก็จบเลย จะไม่มีการทำความเข้าใจและทำให้ถูกต้องกับสถานการณ์ ก็เป็นปัญหาที่นักวิชาการ และสังคมต้องต่อสู้ เพราะไม่ได้มาลอยๆ ต้องผลักดันให้เข้าสู่ที่สังคมต้องการ” ดร.ธเนศกล่าว
อีกประเด็นที่ ดร.ธเนศเสนอคือ การจัดการเรื่อง “ค่านิยม” ซึ่งหนีไม่พ้น ถ้ามีแล้วจะทำอย่างไร ก็มีนักวิชาการที่มีประสบการณ์เรื่องนี้เสนอว่า ทางออกที่จะยอมรับให้มีการพูดเชิงความเชื่อหรือเชิงคุณค่า คือต้องพยายามเข้าใจว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร และเราก็ต้องทบทวนด้วยว่าความเชื่อมาจากพื้นฐานอะไร เพราะมันอาจไม่ถูกตลอดไปเมื่อข้อมูลเปลี่ยน ไม่เช่นนั้นจะยืนกระต่ายขาเดียวตลอดไป
และย้ำว่า เสรีภาพทางวิชาการนั้นควรมี และมหาวิทยาลัยควรทำหน้าที่ เพราะสังคมต้องการข้อมูล ต้องการวิธีการ และต้องการนำเสนอต่างๆ ปัญหาคงไม่อยู่ที่มีข้อมูลให้นำเสนอหรือเปล่า ข้อมูลมีแน่ แต่ปัญหาอยู่ทีว่า จุดยืนของนักวิชาการ หรือจุดยืนของงานนั้นๆ ต้องทำให้เห็นว่าไม่อิงคุณค่าส่วนตัว ส่วนกลุ่ม อะไรต่างๆ แต่จะต้องเป็นภวะวิสัยที่สุด ไม่คิดว่าจะกลางได้ อย่างน้อยที่สุด ถ้าเอียงก็เอียงบนข้อเท็จจริงอันนั้น ไม่ใช่เอียงเพราะคนนี้เป็นญาติคนนั้น
ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประเทศและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความคิดว่า ความพยายามในวันนี้ที่จริงควรเกิดขึ้นมานาน เพราะเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ เป็นหน้าที่ขั้นพื้นฐานของมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้จะนำไปสู่แสงสว่าง การพูดคุยอย่างมีสติ และเหตุผลของสังคมไทย
“คิดว่าถึงเวลาต้องหยุดมาตรการ “ปิดปาก” หมายถึงว่า เราไม่สามารถจะพูดในเรื่องที่เราคิดว่าเราควรจะพูด ความสำคัญเรื่องนี้ของสังคมไทยไม่ได้อยู่ที่ว่าใครสั่งให้เราไม่พูด แต่อยู่ที่ว่าเราสั่งตัวเองไม่ให้พูด” ดร.กฤตยากล่าว
ดร.กฤตยาเสนอว่า นักวิชาการควรสามารถบอกแนวคิดตัวเองได้ เช่น เธอมีความเชื่อเสรีนิยม เชื่อว่าแนวทางเสรีนิยมบนหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมมีหลักการสำคัญอันหนึ่งคือ เราควรมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ตรวจสอบปรากฏต่างๆ รวมทั้งความเชื่อต่างๆ เพราะคิดว่าเราไม่สามารถยกเว้นเรื่องนี้ได้ เพราะฉะนั้น หน้าที่และเวทีที่จะเคลื่อนไหวเสรีทางวิชาการ จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อสาธารณะและสังคมโดยรวม และอยากให้สื่อกระแสหลักเป็นสื่อที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในทุกมุมมอง
นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความเห็นว่า ต้องแยก “เสรีภาพ” กับ “เสรีภาพทางวิชาการ” โดยเสรีภาพน่าจะเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ทั่วๆ ไป แต่เมื่อมีสังคมก็ต้องมีกรอบ และทางการเมืองมักจำกัดเสรีภาพ ดูได้จากกฎหมายรัฐธรรมนูญก็จำกัด ยกเว้นข้อเดียว ที่เขียนไว้ตั้งแต่ 2475 คือ เสรีภาพสมบูรณ์ในทางความเชื่อ
อย่างไรก็ตาม นายโคทมคิดว่า ถ้าจะพยายามเอาอะไรไปกำกับเสรีภาพไว้บ้าง ก็คือความมีเหตุผล แม้กระทั่งเรื่องที่เราจะเชื่อ ถ้าเราใช้ความมีเหตุผล ใช้ความคิดไตร่ตรอง แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้ซึ่งข้อเท็จจริงหรือเปล่า ผมเชื่อว่าเป็น “มายาคติ” ของนักวิชาการ เพราะทุกอย่างเป็นความจริงสัมพัทธ์ และข้อเท็จจริง ก็มีการพูดว่า “2 คนยลตามช่อง คนหนึ่งเห็นโคลนตม คนหนึ่งเห็นดวงดาว ก็ว่ากันไป”
ส่วนเสรีภาพทางวิชาการ นายโคทมมีความเห็นว่า น่าจะประกอบด้วยสมรรถภาพหรือความสามารถ 2 อย่าง หนึ่ง ค้นคว้าศึกษา โดยพยายามใช้หลักเหตุผล สอง เอาสิ่งที่คนคว้าศึกษามาเปิดเผย เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้องค์ความรู้ของมนุษย์ก้าวหน้าต่อไป เพราะถ้าไม่มีการศึกษาค้นคว้า และถ้าไม่นำมาเปิดเผย ความรู้ ความขัดแย้ง ก็จะอยู่ในลักษณะไม่เคลื่อนตัว ขาดความคิดนอกกรอบ ขาดความรู้ ความความคิดสร้างสรรค์ ขาดนวัตกรรม เพราฉะนั้น นักวิชาการมีหน้าที่ตรงนี้
“ผมก็อยากจะเห็นด้วยกับอาจารย์ธเนศเหมือนกันว่า นักวิชาควรจำกัดตัวเองเฉพาะข้อเท็จจริง หรือ นักวิชาการบอกว่าที่ตนเสนอคือข้อเท็จจริงแล้ว ปลอดซึ่งการตัดสินเชิงคุณค่า แต่ผมแอบเห็นตัดสินเชิงคุณค่ากันทั้งหมด ตราบที่ยังไม่บรรลุโสดาบัน เพราะฉะนั้นอย่ามองนักวิชาการประเสริฐนัก ว่าสิ่งที่เสนอมาเป็นข้อเท็จจริง ก็มองนักวิชาการเป็นปุถุชนที่ผิดพลาดได้เยอะ พอๆ กับคนอื่น” นายโคทมกล่าว
นายโคทมเสนอว่า ทางออกของสังคมใดก็ตาม ต้องเปิดพื้นที่ทางวิชาการให้กว้างที่สุด และนักวิชาการก็ต้อง “ไม่ขายตัว” คือ ไปรับใช้ผลประโยชน์ ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ การเงิน อำนาจ หรืออะไรต่างๆ นักวิชาการต้องแสดงออกว่า เราเป็นชุมชนที่สามารถที่จะมีอุดมการณ์ทางวิชาการของตัวเอง แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ถ้าไม่มีอุดมการณ์ทางวิชาการ ก็เหมือนกับสื่อมวลชน ถ้าขาดจรรยาบรรณ เราก็ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมนี้ได้
“เพราะฉะนั้น ความรับผิดของเสรีภาพทางวิชาการ ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบของนักวิชาการ และความเป็นนักวิชาการนั่นเอง” นายโคทมกล่าว
ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดว่า เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ที่จุฬาฯ ก็จัดเสวนาหัวข้อเสรีภาพวิชาการ ก็คุยกันเรื่องปัญหาถูกปิดปาก ในยุคประชาธิปไตยมีการเลือกตั้ง แต่รู้สึกเหมือนถูกปิดปาก เช่น เรื่องข้อมูล เมื่อนักวิชาการเอาข้อมูลทางการแพทย์มาเผยแพร่ก็ถูกฟ้องร้อง จะมีใครบอก เมื่อเราเอางานวิชาการมาเผยแพร่แล้วไม่ถูกขมขี่
“ความเชื่อ ความคิด เรื่องเสรีภาพ เรื่องประชาธิปไตย เรานำมาจากตะวันตก แต่เราได้บ่มเพาะเข้าไปสูในระบบอย่างจริงจัง เราแค่มีประชาธิปไตย เพียงแค่การเลือกตั้ง หรือเสียงข้างมาก แต่ในระบบวิถีชีวิตต่างๆ เราเอาแนวคิดนี้เข้าไปปฏิบัติในสังคม ในบ้าน ที่โรงเรียนอย่างไร อาจต้องตีโจทย์ให้แตก” ดร.นิยดากล่าว
ดร.นิยดาเสนอว่า เสรีภาพทางวิชาการคือ การทำวิจัย คือการเชื่อ คือการเผยแพร่ การเปิดเผย การชักจูง คงมีมายาคติเรื่องจริยธรรม ธรรมาภิบาล เรื่องความเข้มแข็งทางวิชาการที่จะนำเสนอ รวมทั้งความอ่อนน้อมที่จะน้อมรับการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ทำอย่างไรเราจะกลับไปสู่การมองสังคมในภาพใหญ่ ไม่จำกัดแค่จังหวัดตัวเอง ประเทศตัวเอง ควรมองสังคมทั่งโลกด้วย และอยากเน้นย้ำวา นักวิชาการไม่ควรยึดครองชุดความรู้นั้นๆ เอาไว้ ไม่ว่าจะในรูปของทรัพย์สินทางปัญญา หรือรูปแบบอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการจำกัดการใช้ประโยชน์ที่พึงมีต่างๆ อันนี้น่าจะมองให้กว้างขึ้น
นายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คิดว่าแถลงการณ์นี้อย่างน้อยมีความหมาย 3 ด้าน ด้านแรก แถลงการณนี้เป็นพันธสัญญาต่อพันธกิจร่วมกันของ 5 สถาบันในจังหวะที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสังคม พันธสัญญาในการขยายพื้นที่เสรีภาพจึงมีสำคัญอย่างยิ่ง
ความหมายที่สอง คือจะเป็นพลังในการช่วยหรือพลังในการที่จะค้ำประกันเวทีเสรีภาพวิชาการ เราพูดเรื่องเสรีภาพกันมานาน แต่เราไม่มีอะไรค้ำยันเลย แต่การที่มีพันธะสัญญาของ 5 สถาบันจะเป็นพลังช่วยค้ำประกันได้
และความหมายที่สาม การศึกษาตามแนวทาง 8 ข้อที่เขียนไว้ และจะสื่อสารต่อสังคม ถ้าทำพันธกิจนี้ได้จริงๆ ในช่วงปี 2555-2556 เชื่อว่าจะทำให้สังคมฉลาดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าคนในสังคมโง่ แต่ปัญหาใหญ่ของสังคมวันนี้ คนส่วนใหญ่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมน้อย เราไม่สามารถเข้าใจการเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ของคนในสังคมได้เท่าไร ถ้า 5 สถาบันทำตามพันธกิจนี้ได้ จะทำให้คนในสังคมแต่ละชั้นแต่ละกลุ่มมองเห็นซึ่งกันและกันได้มากขึ้น จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างมีสติร่วมกัน
“แต่สิ่งที่ต้องคิดกันต่อ คือ การที่เราจะสร้างพลังค้ำประกันเวทีเสรีภาพทางวิชาการ ต้องคิดต่อว่าพลังนี้จะช่วยอะไรได้บ้าง นอกจากเราเปิดพื้นที่ของเรา หรือให้ผมเป็นหลังอิง มันมีกระบวนการอื่นๆ อีกไหม ผมคิดว่าในการที่ 5 สถาบันจำเป็นต้องทำคือ ความรู้ทางวิชาการทั้งหมดต้องตรวจสอบได้ ก็คือการสร้างพื้นที่ในการตรวจสอบทุกความคิด” นายอรรถจักร์กล่าว
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธาน ทีดีอาร์ไอ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับความรับผิดชอบทางวิชาการว่า นักวิชาการต้องคุณสมบัติ 6 ข้อ
ข้อแรก พูดเฉพาะเรื่องที่เคยทำวิจัยหรือเรื่องที่เกี่ยวข้อง คือพูดเฉพาะเรื่องที่ตัวเองรู้เรื่อง เรื่องนี้คือความรับผิดชอบที่สำคัญ ผมคิดว่านักวิชาการไทยขาดความรับผิดชอบในเรื่องนี้ คือ พูดในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้เรื่อง ตรงนี้สร้างความเสียหายให้กับแวดวงวิชาการพอสมควร ประเด็นนี้โดยลำพังนักวิชาการก็จะเอาตัวเองไม่รอด เช่น นักข่าวมาถามในเรื่องที่นักวิชาการไม่รู้ทุกเรื่อง ก็ทำให้นักวิชาการเสียคนไปด้วย เรื่องนี้นักข่าว นักวิชาการ และสังคมต้องเขาใจร่วมกัน
ข้อสอง สิ่งที่กล้าพูดต้องกล้าเขียน อันนี้เป็นแนวคิดที่ได้จากอาจารย์อัมมาร (ดร.อัมมาร สยามวาลา) เคยบอกเสมอว่า เวลาพูดเก่งๆ ฟังแล้วก็เคลิ้มไป แต่ถ้าเขียนออกมาจะมีเวลาคิดเวลาไตร่ตรอง อาจพบว่าที่พูดอาจไม่เข้าท่าก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อกล้าพูดก็ต้องกล้าเขียน
นอกจากนี้ อะไรที่กล้าคิด กล้าเขียน กล้าเสนอต่อรัฐบาล ต้องกล้าเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ใช่มาเสนอกันในห้องมืด แบบลับๆ ตัวนี้เป็นการตรวจสอบ เพราะงานพวกนี้ไม่ใช่เรื่องสัจธรรม แต่เป็นข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะที่สามารถถูกหักล้างได้ จึงต้องพร้อมถูกท้าทาย และถูกตรวจสอบได้เสมอและตลอดเวลา
ข้อสาม การวิจัยนโยบาย ความรับผิดชอบคงต้องมุ่งไปที่การวิเคราะห์ วิจารณ์ตัวความคิด ตัวนโยบาย ไม่ใช่ตัวบุคคล ไม่ได้แปลว่า วิจารณ์รัฐบาล ตรงนี้ต้องขอความเข้าใจสังคม โดยสังคมต้องแยกแยะและตรวจสอบนักวิชาการที่วิจารณ์นั้นวิจารณ์นโยบาย วิจารณ์การกระทำ หรือวิจารณ์ตัวบุคคล
ข้อสี่ เพื่อความยุติธรรม ควรวิจารณ์โดยมีข้อเสนอแนะทางนโยบายที่นำไปปฏิบัติได้จริง การวิจารณ์โดยไม่มีข้อเสนอแนะคือการวิจารณ์ที่ไม่มีความรับผิดชอบ ต้องลองคิดว่าถ้าเราอยู่ในจุดที่เขาอยู่ เราต้องหาทางเลือกให้เขาด้วย และไม่ใช่ทางเลือกที่สุดโต่งจนปฏิบัติไม่ได้
ข้อห้า ต้องปฏิบัติกับคนอื่นให้ยุติธรรมเหมือนกัน ที่สำคัญ การวิพากษ์วิจารณ์จะต้องพยายามลดภาษาประชดประชัน สังเกตพบว่าจุดนี้เป็นเป็นปัญหาเรื่องหนึ่งที่ทำให้นักวิชาการคุยด้วยกันไม่ได้ คุยแล้วประชดประชันกัน ตอบโต้กันไปมา ไกลเกินไปกว่าตัวเนื้อหาสาระ กลายเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก
ข้อหก การไปเกี่ยวข้องทางการเมือง ในต่างประเทศ องค์กรที่เป็น “think tank” ที่สำคัญจะเลือกข้าง สังกัดกลุ่มนี้กลุ่มนั้นได้ ในเมืองไทยไม่มีหน่วยงานแบบนั้น มากขนาดนั้น ถ้าไปเลือกข้างทำให้มีปัญหาเยอะ เพราะสังคมยังไม่ร่ำรวยพอที่จะมีทางเลือก เป็นจุดที่เราต้องใส่ความพยายามต่อไป
“ส่วนตัวแล้ว ในทางการเมือง จะพยายามหลีกเลี่ยงการเรียกร้องทางการเมืองเฉพาะตัวบุคคล วิจารณ์นโยบายแต่ไม่ได้วิจารณ์ตัวบุคคล เพราะบรรยากาศทางการเมืองไม่เปิดเลย การจะไปล่ารายชื่อแม้ไม่เฉพาะตัวบุคคลก็ไม่อยากทำ เพราะทำไปแล้วถูกไปเหมากับทุกเรื่องไป อันนี้รู้สึกเป็นบรรยากาศที่ไม่มีความสุข และสังคมไม่มีเสรีภาพทางวิชาการอย่างแท้จริง และคิดว่าเป็นจุดดีของ 5 สถาบัน ที่จะขยายพื้นที่และทำบรรยากาศให้เป็นมิตรมากขึ้น” ดร.สมเกียรติกล่าว
นายธีรยุทธกล่าวว่า ความสำคัญของเสรีภาพต่อคนไทย ตามประวัติศาสตร์การเมือง กว่าคนไทยจะได้เสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้มาด้วยความยากลำบาก ในยุคเผด็จการ คำว่า “การเมือง” เป็นสิ่งต้องห้าม โรงเรียน มหาวิทยาลัย ห้ามสอนหรือพูดถึงการเมือง สโมสรหรือสมาคมซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเสรีภาพกลายเป็นที่กู้เงิน ซื้อของเงินผ่อน กินเหล้า สูบบุหรี่ เล่นสนุกเกอร์ ต่อมาในปี 2540 เมื่อมีการปฏิรูปการเมืองและมีเหตุการณ์ขัดแย้งและวิกฤติต่างๆ ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา รากหญ้าและชาวบ้านทั่วไปได้ออกมาใช้สิทธิทางการเมืองของตนมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี
“ในฐานะผู้ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลา ผมจะดีใจมากที่สุด ถ้าประชาชนสามารถรักษาลักษณะสิทธิอันนี้ให้ยั่งยืนต่อไป รวมทั้งประชาชนจะออกมาใช้เสรีภาพบอกว่าตัวเองต้องการการปกครองท้องถิ่นแบบใด จะพัฒนาจะใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างไร จะส่งเสริมประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ของตัวเองอย่างไร” นายธีรยุทธกล่าว
นายอภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า การที่สถาบันมีพันธสัญญานี้ เป็นเครื่องชี้สะท้อนถึงความตกต่ำของเสรีภาพทางวิชาการด้วยตัวมันเอง เพราะ 20 ปีที่ผ่านมาเราไม่เคยจัดแบบนี้เลย และเห็นด้วยที่เราควรจะเลิก “ปิดปาก” ตัวเอง การที่นักวิชาการไม่ปิดปากจะก่อต้นทุนสูงมาก อาจถูกจะแทรกแซง ถูกคุกคาม และถูกอะไรหลายๆ อย่างแน่นอน
“ประเด็นปัญหาปัจจุบันที่เร่งด่วนสำหรับผมคือ ทำอย่างไรจะหยุด “การปิดปาก” ตัวเองได้ ซึ่งพันธสัญญานี้ก็เป็นอันหนึ่งที่จะเป็นหลักค้ำยัน” ดร.อภิชาตกล่าว
สำหรับวิธีการรับผิดชอบทางวิชาการ ดร.อภิชาตคิดว่า เสรีภาพทางวิชาการโดยตัวมันเองคือกลไกตรวจสอบความรับผิดชอบ ถ้าเราไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ และความโปร่งใสในการเผยแพร่ความคิด ถ้าพื้นที่นี้หายไปเท่าไร นักวิชาการก็จะยิ่งไม่มีกลไกรับผิดชอบต่อสาธารณะมากขึ้น
เพราะฉะนั้น ยิ่งขยายพื้นที่สาธารณะ ความรับผิดชอบของนักวิชาการต่อตัวเองก็ต้องมากขึ้น เพราะพื้นที่สาธารณะโดยตัวมันเองคือกลไกที่จะบังคับให้นักวิชาการรับผิดชอบต่อตัวเอง รับผิดชอบต่อความคิดของตัวเอง และต่อข้อเสนอของตัวเอง
“ดังนั้น การปิดพื้นที่เสรีทางวิชาการ ปิดมหาวิทยาลัยไปดีกว่า เพราะมันไม่มีเหตุผลการดำรงอยู่โดยตัวมันเอง นักวิชาการไม่สามารถทำอะไรได้เลย ถ้าไม่มีพื้นที่ทางวิชาการ ไม่มีพื้นที่การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ผมคิดว่า ถ้าเราไม่สามารถหยุดการปิดปากอันนี้ได้ ปิดมหาวิทยาลัยทิ้งก็มีค่าเท่ากัน” ดร.อภิชาตกล่าว
ดร.วิโรจน์ วงศ์วิภานนท์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีมุมมองที่แตกต่างว่า เมืองไทยถ้าไม่พูดอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับประเพณี หรือที่รัฐกำหนดไว้ ถือว่าเรามีเสรีภาพพอสมควร และถือว่าใช้ได้ ถ้าเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาเรื่องประชาธิปไตย
“โดยส่วนตัวไม่ติดใจเรื่องเสรีภาพ คำว่า เสรีภาพทางวิชาการ คิดว่าก็เป็นไปได้ถ้าไม่แตะเรื่องศีลธรรม หรือสถาบันที่เขารับไม่ได้ แต่ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่กึ๋นมากกว่า”
ขณะที่นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดเสวนาของสมาคมนักข่าวฯ ในแต่ละครั้ง จะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เคยมีปัญหาการเชิญนักวิชาการที่เห็นต่างมาร่วมเวทีเสวนา แต่หลังเกิดปรากฎการณ์พันธมิตร เริ่มมีปัญหาในการเชิญนักวิชาการ จะมีการถามว่า ถ้าคนนั้นมา เขาจะไม่มา อีกคนก็จะไม่มา ก็ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นในวงการวิชาการ
การเสวนาครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดเวทีเสรีภาพทางวิชาการ ส่วนครั้งต่อไปคาดว่าจะจัดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า