ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “ธีรยุทธ บุญมี” …สุดท้ายของระบอบทักษิณ สร้างรากฐานใหม่ให้ประเทศไทย?

“ธีรยุทธ บุญมี” …สุดท้ายของระบอบทักษิณ สร้างรากฐานใหม่ให้ประเทศไทย?

15 มกราคม 2014


เมื่อวันพุธที่ 15 มกราคม 2557 นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์และนักวิชาการ คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวหัวข้อ "สุดท้ายของระบอบทักษิณ สร้างรากฐานใหม่ให้ประเทศไทย?"
เมื่อวันพุธที่ 15 มกราคม 2557 นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์และนักวิชาการ คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวหัวข้อ “สุดท้ายของระบอบทักษิณ สร้างรากฐานใหม่ให้ประเทศไทย?”

เมื่อวันพุธที่ 15 มกราคม 2557 นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์และนักวิชาการ คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าว “สุดท้ายของระบอบทักษิณ สร้างรากฐานใหม่ให้ประเทศไทย?” พร้อมประกาศสนับสนุนการปฏิวัติประชาชน ชี้ความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่ต่อจากนี้กำลังจะเกิดขึ้น วิเคราะห์ที่มาเพื่อเข้าใจปมปัญหาความขัดแย้งด้วยทฤษฎีทางวิชาการ และให้ข้อเสนอแนะกับมวลมหาประชาชน

“ผมสนับสนุนการปฏิวัติประชาชน”

นายธีรยุทธกล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นจนเลยมาถึงการมีกลุ่ม กปปส. และมวลมหาประชาชน มีที่มาจากประชาชนส่วนหนึ่งที่ทนไม่ได้กับความเป็นนักอนาธิปไตยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทั้งปฏิเสธอำนาจรัฐ และใช้รัฐเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์เพื่อตัวเอง จนเกิดโรคระบาดคอร์รัปชันไปในกลุ่มสังคมต่างๆ ทำให้สังคมไทยไม่มีความคิดเรื่องส่วนรวมและการไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีแต่การหาประโยชน์เพื่อไม่ให้เสียเปรียบคนอื่นจนเลยไปถึงการได้เปรียบคนอื่นในที่สุด พร้อมแสดงความเห็นว่าการที่มีมวลชนนกหวีดลุกขึ้นมาสู้แบบไม่ถอย ไม่ใช่เพราะอคติต่อชาวบ้านชนบท แต่เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบตัวพวกเขาโดยตรง ความกังวลเรื่องการขยายตัวอย่างไร้การควบคุมของคอร์รัปชัน และโอกาสล่มสลายของสังคมไทยโดยรวม

สำหรับพรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงนั้น มองว่าคนกลุ่มนี้มองประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมคลาสสิกหรือเชิงเดี่ยวที่เชื่อในความเท่าเทียมกันในการใช้สิทธิสมบูรณ์ผ่านการเลือกตั้งแล้ว หรือตรงกับประโยคที่ว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของสภา” ทำให้สภาจะออกกฎหมายอะไรก็ได้ เช่น ให้ช้างออกลูกเป็นลิงก็ได้ ซึ่งถ้ายอมรับหลักการนี้แล้ว “หลักศีลธรรม” จะมีความสำคัญน้อยกว่าสิทธิและหลักความเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยกระแสหลังๆ ที่เรียกว่าเสรีนิยมแบบพหุนิยม เริ่มมีการมองโลกที่เป็นจริง มีความหลากหลายแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิต ซึ่งจะลดทอนให้เหลือเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งบางครั้งสิทธิก็ขัดแย้งกันเอง ความเท่าเทียมกันกับเสรีภาพก็ขัดแย้งกัน

ส่วนความเห็นต่อมวลมหาประชาชนนั้น นายธีรยุทธเห็นว่าคนกลุ่มนี้มองปัญหาได้ลึกยิ่งกว่าพรรคเพื่อไทย และพวกเขาไม่เชื่อถือพรรคเพื่อไทยซึ่งผลักดันนิรโทษกรรมสุดซอยเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นักการเมืองโกง พวกเขาไม่เชื่อนักวิชาการเพื่อไทยที่มาย้ำเรื่องการเลือกตั้งและการปฏิรูปกฎหมายในปัจจุบัน เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา นักวิชาการเหล่านี้ไม่เคยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเพื่อไทยปฏิรูประเทศจริงจัง ไม่เคยเรียกร้องให้ปฏิรูปโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางด้านอำนาจ ศักดิ์ศรี รายได้ ให้แก่มวลชนรากหญ้าเลย และวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็คงจะไม่ลุกลาม หากพวกแกนนำเสื้อแดงออกมาบอกว่าทนไม่ได้กับการไม่เคารพสิทธิของพวกเขาในกรณีการนิรโทษกรรมสุดซอย แต่กลับยังสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่อไป

กรณีประเด็นหลักสิทธิเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียงนั้นเป็นหลักที่จะละเมิดไม่ได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่รัฐบาลที่ถูกเลือกโกงกินก็ย่อมถูกปลดหรือล้มล้างได้ การประกาศคัดค้านการเลือกตั้งก็เป็นสิทธิ การรณรงค์ Vote No หรือไม่ไปลงคะแนนเสียงก็เป็นสิทธิเช่นกัน แต่ถ้าบางส่วนอดทนไม่ไหวต่อความเลวของนักการเมืองทั้งหมด ถึงขั้นออกไปขัดขวางไม่ให้คนไปเลือกตั้งก็ย่อมทำได้ แต่พวกเขาต้องยอมรับว่าสิ่งที่ทำเป็นการละเมิดกฎหมายด้วย อย่างไรก็ตาม อาจมีคำถามย้อนกลับไปว่าท่านเองเคารพเสียงของตัวเองหรือไม่ เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมา “ทักษิณ”เป็นผู้ใช้อำนาจแทนท่านอย่างเปิดเผย พร้อมทั้งมีการคอร์รัปชันมากมาย แต่ท่านไม่เคยออกมาแสดงความเคารพสิทธิของท่านเองเลย

นายธีรยุทธมองว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้อาจจะพูดได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ประชาชนระดับชาวบ้านได้รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของบ้านเมือง พร้อมกันนั้นยังประกาศจุดยืนสนับสนุนการปฏิวัติประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศกำจัดปมปัญหาต่างๆ ทั้งหมด

ธีรยุทธ บุญมี

ความเป็นไปได้ของการคลี่คลายวิกฤติ

นายธีรยุทธ มองความเป็นไปได้ของการคลี่คลายวิกฤติในครั้งนี้ออกได้เป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ คือ

หนึ่ง ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ถ้าคนไทยส่วนใหญ่ไม่แคร์เรื่องการคอร์รัปชัน ปล่อยให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการไปจนมีการเลือกตั้งใหม่และได้กลับมามีอำนาจอธิปัตย์อีกครั้ง ซึ่งจะนำไปสู่ระบอบทักษิณโดยสมบูรณ์ และจะไม่มีการปฏิรูปที่เป็นจริงใดๆ เกิดขึ้น

สอง เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับ “ปฏิวัติ” ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ

1. มีการปฏิวัติโดยประชาชนขนานใหญ่ (Great Revolution) เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส อเมริกา รัสเซีย จีน มีการใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อเปลี่ยนอำนาจ มีการสูญเสียเลือดเนื้อ ซึ่งเมืองไทยไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเพราะมีกองทัพซึ่งเหนียวแน่นอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่กองเดียว รวมทั้งสังคมไทยไม่ชอบความรุนแรง

2. การปฏิวัติแบบใหม่ คือ สันติภิวัฒน์ หรือ ประชาภิวัฒน์ ซึ่งเกิดจากการที่คนส่วนใหญ่จากสังคมวิชาชีพต่างๆ ภาคเอกชน ภาครัฐ ทุกสาขา สร้างความเปลี่ยนแปลงโดยการเป็นฉันทามติหรือประชามติกดดัน ให้เกิดการแก้กฎหมายเปลี่ยนโครงสร้าง ทำลายห่วงโซ่ที่เป็นปมปัญหา ทั้งนี้ยอมรับว่าการปฏิวัติทุกประเทศไม่ใช่เสียงทั้งหมดของประชาชน แต่เป็นเสียงของประชาชนที่มากที่สุดที่จะเป็นได้ และทำไปเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ดังที่เกิดกับการปฏิวัติประชาธิปไตยส่วนใหญ่

3. ทหารรัฐประหาร สถาปนาตัวเองหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งปกติเป็นชนชั้นนำ ขึ้นมาเป็นอำนาจอธิปัตย์ แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะไม่แก้ปัญหาเพราะไม่เคยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆ ได้เลย ถ้าเกิดขึ้นในแบบเดิมๆ ก็อาจจะถูกคัดค้านทั้งจากฝ่ายมวลมหาประชาชนและกลุ่มเสื้อแดง

นอกจากนี้ยังวิเคราะห์ต่ออีกว่า โอกาสที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะชนะคราวนี้มีน้อยมาก เพราะระบอบทักษิณเริ่มเสื่อมลง เพราะการกลับกลอกหลายๆ ครั้งแม้แต่กับผู้สนับสนุน ส่วนเรื่องประชานิยมก็เป็นประชานิยมแบบ “ประชาซาเล้ง” ที่มีพวกแกนนำและลิ่วล้อ “ทักษิณ” เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากประชานิยม ชาวบ้านรากหญ้าได้เพียงน้อยนิดเหมือนเศษพลาสติกที่เหลือจาการถีบซาเล้ง ส่วนประเทศชาติได้เพียงแค่ซากของโครงการเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากจะแก้วิกฤติครั้งนี้ “ทักษิณ” ต้องอาศัยนักวิชาการ แกนนำเสื้อแดง ส.ส. อย่างขาดไม่ได้ โครงสร้างอำนาจของเพื่อไทยในอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไป จำเป็นต้องแบ่งปันอำนาจกับกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น

ในขณะที่มวลมหาประชาชนเองก็อาจจะไม่ได้รับชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เนื่องจากการปฏิรูปโครงสร้างที่เลวร้ายและวางรากฐานใหม่ให้ประเทศเป็นเรื่องยาก ใช้เวลา ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มธุรกิจใหญ่และชนชั้นนำเมืองไทยรู้ดี และไม่เชื่อว่ามีใครทำได้ จึงไม่เชื่อถือศรัทธาพลังประชาชน

และมวลมหาประชาชนจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและสังคมไทยเพราะคนเหล่านั้นไม่มีความกล้าพอที่จะริเริ่มเป็นผู้นำด้วยตัวเอง ทุกครั้งจะรอให้ประชาชนลุกขึ้นสู้จนเกิดความรุนแรง หรือมีทหารเข้ายึดอำนาจ หรือพระมหากษัตริย์ออกมาใช้อำนาจอธิปัตย์คลี่คลายสถานการณ์ หรือไม่ก็ได้รับแต่งตั้งขึ้นมาบริหารประเทศ ซึ่งสามแนวทางแรกอาจจะถูกมองได้ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

นายธีรยุทธ บุญมี

ข้อเสนอต่อ กปปส.

1. มวลมหาประชาชนต้องใช้ความมุ่งมั่นแบบเหนือมนุษย์ยืนหยัดการต่อสู้อย่างสันติต่อไป ขยายผู้สนับสนุนจากชาวบ้าน ชาวรากหญ้าตามต่างจังหวัดให้มากขึ้น แล้วเลิกคิดเรื่องการขอความช่วยเหลือจากชนชั้นนำไทยทั้งหลาย

2. กปปส. ต้องกำหนดบทบาทตัวเองเป็น “หมาเฝ้าบ้าน” ที่ทรงพลัง ตรวจสอบการปฏิรูปเพื่อป้องกันไม่ให้พวกระบบเก่าแฝงเข้ามาทำลายกระบวนการปฏิรูป การปฏิวัติแบบฉันทามตินี้เป็นไปได้ถ้าตัวแทนของคนไทยทั้งหมดทั้งระดับนำและชาวบ้าน ออกมาประกาศตนปฏิรูประเทศ โดยไม่คาดหวังตำแหน่งอำนาจและประโยชน์ใดๆ โดย กปปส. เป็นเพียงแค่ผู้กระตุ้น ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้นำการอภิวัฒน์ของประชาชน ไม่ต้องขอมีส่วนกำหนดโควตาคณะกรรมการ หรือสมัชชา หรือสภาปฏิรูป ขอเพียงสิทธิที่จะจัดให้มีการตรวจสอบสาธารณะเท่านั้น

3. ขยายนโยบายซึ่ง กปปส. คิดได้ดีกว่าพรรคเพื่อไทยที่อยู่ในอำนาจมา 2 ปีแล้ว คือการกระจายอำนาจที่แท้จริงไปให้คนต่างจังหวัด โดยแนวคิด “เลือกตั้งผู้ว่า” ทั่วประเทศ ขยายเน้นการปฏิรูปโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทั้งอำนาจการจัดการตนเอง งบประมาณ การใช้ทรัพยากร การมีศักดิ์ศรี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การศึกษา เทคโนโลยี ท้องถิ่น ที่ทัดเทียมกันมากขึ้น

ซึ่งอาจจะสรุปเป็นยุทธศาสตร์สำหรับการต่อสู้ว่าเป็น “ทฤษฎีมะม่วงหล่น” คือใช้ความอดทนยาวนาน รอให้ “ผลไม้หล่นมาเอง” ซึ่งดูเป็นการเรียกร้องเกินขีดความสามารถของมนุษย์ แต่ถ้าเกิดขึ้นได้ แม้แต่ทั้งโลกก็คงจะประหลาดใจและนับถือความมหัศจรรย์ของมวลมหาประชาชนไทย

อ่านฉบับเต็ม“สุดท้ายของระบอบทักษิณ สร้างรากฐานใหม่ให้ประเทศไทย?”