ThaiPublica > เกาะกระแส > คณะศิลปกรรม จุฬาฯ ใช้ ‘น้ำปลา’ แต่งลวดลาย ‘เซรามิก’ ยกระดับเครื่องปรุง สู่อัญมณีคู่ครัว

คณะศิลปกรรม จุฬาฯ ใช้ ‘น้ำปลา’ แต่งลวดลาย ‘เซรามิก’ ยกระดับเครื่องปรุง สู่อัญมณีคู่ครัว

13 เมษายน 2023


เมื่อวงการศิลปะยกระดับการสร้างสรรค์เครื่องปรุงคู่ครัวเรือนไทยอย่าง ‘น้ำปลา’ ให้กลายเป็นลวดลายบน ‘เซรามิก’ เกิดเป็นงานที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ ทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่สำคัญคือการสะท้อนว่า “น้ำปลาเปรียบเสมือนอัญมณีคู่ครัวเรือนไทย”

จากงานวิจัยงานออกแบบและเซรามิกจากน้ำปลา โดย รศ.สุขุมาล สาระเกษตริน จากสาขาวิชาเอกหัตถศิลป์ เซรามิก ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องการค้นหาการสร้างสรรค์เซรามิกรูปแบบใหม่ ให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากการสร้างลวดลายแบบเดิมๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบ ‘มอคคาแวร์’ ที่ในอดีตมักจะใช้น้ำเคี่ยวใบยาสูบหรือน้ำส้มสายชูผสมออกไซด์สีมาหยดให้เกิดลวดลายต่่างๆ ทำให้เซรามิกในท้องตลาดปัจจุบันเต็มไปด้วยลวดลายที่ไม่แตกต่างกันมากนัก อีกทั้งยังมีราคาสูงถึงหลักหมื่น

วัตถุดิบและสารต่างๆ ถูกนำมาทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เนื่องจากข้อจำกัดการสร้างลวดลายคือ วัตถุดิบ-สารที่สร้างลวดลายที่สวยงามมักจะมีราคาสูง จึงทำให้ รศ.สุขุมาล-ในฐานะผู้วิจัย ได้นำของที่อยู่ใกล้ตัวอย่าง ‘น้ำปลา’ มาทดลองใช้

กระบวนการดังกล่าวเป็นการนำน้ำปลา ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยมาค้นคว้า พัฒนาวิธีการสร้างสรรค์ลวดลายบนเซรามิก ซึ่งนับเป็นการสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นภูมิปัญญาของชาติ อีกทั้งกระบวนการทำงานเซรามิกมีค่าใช้จ่ายสูง การใช้น้ำปลาจึงเป็นวิธีการที่ประหยัดต้นทุน พลังงานและกระบวนการผลิตเซรามิก ซึ่งมีผลต่อการพัฒนางานศิลปะอย่างยั่งยืน

“ซิตรินและโกเมน” ศิลปะเซรามิกจากน้ำปลา
“ทับทิม” ศิลปะเซรามิกจากน้ำปลา
“บุษราคัม” ศิลปะเซรามิกจากน้ำปลา
“นิล” ศิลปะเซรามิกจากน้ำปลา

รศ.สุขุมาล กล่าวในนิทรรศการ Hidden Gems ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ว่า น้ำปลาเป็นเครื่องปรุงรสจากภูมิปัญญาไทย เปรียบเสมือนอัญมณีคู่ครัวเรือนไทย และเป็นของที่หาซื้อง่าย

รศ.สุขุมาล เล่าขั้นตอนการทำงานว่า ตนได้นำน้ำปลามาผสมออกไซด์และสเตนเลสสี แล้วหยดแล้วหยดบนสลิปเปียก ทำให้เกิดลวดลายเส้นที่ละเอียดคมชัด ไม่ว่าจะเป็นลายร่างแหหรือร่มไม้ แต่ทั้งนี้ ลวดลายขึ้นกับตัวแปร เช่น ชนิดของสลิป ชนิดของน้ำปลา ออกไซด์หรือสเตนสี พื้นผิวและลักษณะรูปทรง ตลอดจนทิศทางที่หยดส่วนผสม

“ไพลิน” ศิลปะเซรามิกจากน้ำปลา
“มรกต” ศิลปะเซรามิกจากน้ำปลา
“โมรา” ศิลปะเซรามิกจากน้ำปลา

คำถามคือ กลิ่นจากน้ำปลาจะกระทบผู้สร้างสรรค์งาน หรือกลิ่นยังคงค้างอยู่เป็นเวลานานหรือไม่ โดย รศ.สุขุมาล บอกว่า ปกติถ้าน้ำปลาอยู่ในอาหารจะมีกลิ่นหอม แต่ในกระบวนการทำเซรามิกที่จะต้องนำเข้าเตาความร้อนที่มีอุณหภูมิ 230 องศา กลิ่นก็จะหายไป

ผลงานแต่ละชิ้นเป็นประติมากรรมและเครื่องประดับสามารถนำไปเคลือบและเผาครั้งเดียวได้โดยลวดลายยังคมชัดอยู่ และขั้นตอนการทำงานทำให้ประหยัดต้นทุน พลังงาน และเวลาในกระบวนการผลิต สามารถนำไปต่อยอดการออกแบบซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเซรามิกและผู้สนใจทั่วไปได้