การทุจริตคอร์รัปชัน เป็นอีกหนึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างที่บั่นทอนประเทศไทยมายาวนาน ผลสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ Corruption Perceptions Index ช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ด้านคอร์รัปชันอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายของโลกมาโดยตลอด ทั้งที่มีการรณรงค์ ปลุกจิตสำนึก สร้างค่านิยมใหม่ แต่คอร์รัปชันก็ยังไม่ลดลง
“คอร์รัปชัน” บั่นทอนขีดความสามารถของไทยตกต่ำ การใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีการเพิ่มผลิตภาพซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยติดกับดักมาเป็นเวลา 20 ปี
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หนึ่งในผู้ทำงานและรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชันมายาวนานให้สัมภาษณ์ไทยพับลิก้า โดยระบุนิยามของคอร์รัปชันว่า คือการใช้อำนาจรัฐแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบให้แก่ตนเองและพรรคพวก ดังนั้น โครงสร้างที่จะทำให้คอร์รัปชันได้มากก็คือ ขนาด บทบาท และอำนาจรัฐ ยิ่งถ้ารัฐมีโครงสร้างที่ใหญ่ มีบทบาทมาก มีอำนาจมาก ก็จะทำให้โอกาสที่จะเกิดคอร์รัปชันเป็นไปได้มาก
พร้อมอธิบายว่า ถ้าพูดถึงเรื่องโครงสร้าง หลายคนอาจถกเถียงว่าขนาดของรัฐ โดยเทียบงบประมาณกับรายได้ประชาชาติของประเทศไทย มีอยู่แค่ร้อยละ 24 ไม่เกินร้อยละ 25 ถ้าเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปเหนือที่มีเกือบร้อยละ 50 ก็จะรู้สึกว่ารัฐไทยไม่ใหญ่
แต่หากไปดูในรายละเอียดของประเทศยุโรปเหนือ อย่างเช่น สวีเดน เดนมาร์ก หรือแม้แต่เนเธอร์แลนด์ จะพบว่า 80% ของงบประมาณเป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ ต่างจากของไทย พบว่า 70% ของงบประมาณเป็นงบดำเนินการ ก็คือการมีข้าราชการจำนวนมาก มีระบบราชการที่ซับซ้อน ทำให้ต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้ค่อนข้างสูง ซึ่งไม่ได้เป็นงบที่ใช้ในการลงทุน หรือใช้ในการวางโครงสร้างพื้นฐาน
กระนั้นก็ดี ถ้าไปรวมงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปีหนึ่งจะมีขนาดประมาณเกือบ 6 ล้านล้านบาท ก็จะเห็นว่าเป็น 2 เท่าของงบประมาณ เพราะฉะนั้น ถ้ารวมเข้าด้วยกันแล้ว รัฐไทยจะมีขนาดรวมกันถึงปีละ 10 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นขนาดที่ค่อนข้างใหญ่มาก
ในขณะเดียวกันก็เป็นที่รู้กันว่า รัฐวิสาหกิจมักจะได้สิทธิผูกขาด ไม่ต้องแข่งขัน และสามารถที่จะผลักภาระความไม่มีประสิทธิภาพของตัวเองไปให้กับผู้บริโภค ไปให้รัฐบาล หรือไปในงบประมาณได้ และที่ผ่านมาก็มีหลายงานศึกษาชี้ว่า มีการคอร์รัปชันในรัฐวิสาหกิจมากกว่าในงบประมาณ
แก้โครงสร้างคอร์รัปชัน ต้องลดขนาด บทบาท และอำนาจรัฐ
“กล่าวได้ว่า ‘คอร์รัปชัน’ เป็นปัญหาโครงสร้างของประเทศ ดังนั้น ถ้าอยากจะแก้ ก็ต้องแก้โครงสร้างนี้ก่อน อันแรกเลยก็คือ ลดขนาด บทบาท และอำนาจรัฐ ซึ่งทำได้หลายอย่าง วิธีหนึ่งที่ทำได้เร็วมากก็คือ โอนบทบาทนั้นให้เป็นเอกชนโดยสมบูรณ์ ที่ทุกประเทศทำกันมา ก็คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็ทำได้หลายขั้นตอน”
พร้อมยกตัวอย่างการบินไทย ที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจ และในขณะที่เป็นรัฐวิสาหกิจ และบริหารแบบรัฐวิสาหกิจ มีผลประกอบการขาดทุน แต่พอเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เอากฎเกณฑ์ของรัฐวิสาหกิจออกไป ทำให้ตัวเองไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ
“วันนี้ การบินไทยเป็นองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็น the most profitable airline in the world, in term of operating margin กรณีนี้พิสูจน์ว่า เรื่องของโครงสร้าง ความเกี่ยวข้องของรัฐ กฎระเบียบต่างๆ ที่มี มันเป็นอุปสรรคมากกว่าจะเป็นการส่งเสริมหรือควบคุม”
นอกจากโครงสร้างดังกล่าวทำให้เกิดคอร์รัปชันเยอะแล้ว ยังทำให้ผลิตภาพของประเทศมีปัญหา เป็นรากฐานสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้ประเทศติดกับดักมาตั้ง 20 ปี เพราะทุกธุรกรรมของรัฐ เป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ
“โดยอย่างที่รู้กันว่า ถ้าคุณเป็นผู้ผูกขาด คุณไม่จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพ ไม่มีแรงกดดัน ไม่มีแรงจูงใจ นี่คือสาเหตุทางเศรษฐศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่ทำให้ประเทศไทยมีการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีการเพิ่มผลิตภาพ”
ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีการวัดทางวิชาการว่าการพัฒนาผลิตภาพของไทยแย่มากถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ เลยทำให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยต่ำมาตลอด โดย 20 ปีที่ผ่านมา
เราเป็นประเทศกำลังพัฒนาแทบจะประเทศเดียวในโลก ที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของโลก ซึ่งมันมีความเกี่ยวโยงซับซ้อน และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องขนาดของรัฐและคอร์รัปชัน
นายบรรยงขยายความต่อว่า เรื่องผลิตภาพหมายถึงผลผลิตเปรียบเทียบกับทรัพยากรที่ใช้ ซึ่งอาจจะเทียบกับตัวเองผ่านกาลเวลา หรือเทียบกับประเทศอื่นๆ พบว่า ประเทศไทยแทบทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือภาคการเกษตร มีการพัฒนาผลผลิตเพิ่มน้อยมาก
ยกตัวอย่างเกษตรกร เป็นที่รู้กันว่าผลผลิตต่อเกษตรกร ผลผลิตต่อไร่ของเราน้อย การใช้เทคโนโลยีเข้าไปส่งเสริมก็ต่ำ แต่หลายประเทศที่เป็นคู่แข่งกับเรา เช่น เวียดนาม เขาพัฒนาเร็วมาก ทำให้การแข่งขันของเราด้อยลงไป การพัฒนาการของโลกเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบเสมอ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และมีความสัมพันธ์ซับซ้อนเกี่ยวโยงกับเรื่องคอร์รัปชันไม่น้อย
โดยอธิบายความเชื่อมโยงของปัญหาว่าในโลกนี้มีการพิสูจน์แล้วว่า รัฐทำ-ไม่ดี นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมประเทศที่เคยใช้ระบบวางแผนจากส่วนกลาง ระบบคอมมิวนิสต์เขาเลิกหมดเลยในทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเปรียบเทียบแล้วเห็นชัดว่า รัฐที่เก่งและดีไม่มีในโลก นี่คือพัฒนาการทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่น 20 ปีที่ผ่านมา มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 4 หมื่นแห่งใน 120 ประเทศทั่วโลก ที่มีภาคประชาสังคมบางภาคเข้าใจผิดและไม่ยอมเข้าใจ ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาตลอด แล้วเชื่อว่านั่นเป็นการขายชาติ
“ผมก็ถามคำถามง่ายๆ ว่าแล้ว 120 ประเทศขายชาติกันทั้ง 120 ประเทศเหรอ จริงๆ ไม่ใช่ครับ มีเครื่องมือพิสูจน์มากมาย ว่าทำให้เกิดประสิทธิภาพในองค์กรมากขึ้น ทำให้เกิดการลดการผูกขาด แล้วก็เกิดการแข่งขัน ในโลกของปัจจุบัน ที่เป็นเสรีนิยม การแข่งขันคือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พัฒนาการเกิดขึ้น”
ลดอำนาจ ลดดุลพินิจ เพิ่มกระบวนการตรวจสอบ
นายบรรยงเล่าว่า การคอร์รัปชันนั้นมีหลายประเภท ประเภทหนึ่งก็คือ การเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชาเพื่อจะอำนวยความสะดวกให้ เช่น การขอใบอนุญาตต่างๆ ซึ่งไปเพิ่มต้นทุนให้กับสินค้าและบริการที่ภาคเอกชนทำ หรือไม่ก็เพิ่มต้นทุนให้กับประชาชนผู้บริโภคโดยตรง ที่จะต้องจ่ายเงินพวกนี้ ทำให้ต้นทุนในการดำรงชีวิต ต้นทุนในการประกอบธุรกิจเขาสูงขึ้น
แต่ยังมีอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า “การซื้อความได้เปรียบในการแข่งขัน” อย่างเช่น การล็อกสเปก การได้สัมปทานใบอนุญาตต่างๆ ซึ่งเรื่องพวกนี้มีต้นทุนทั้งสิ้น ทำให้เกิดแรงจูงใจผิดๆ ในการลงทุน และในการใช้ทรัพยากร
โดยตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในวิจัยและพัฒนา (R&D) ต่ำ ไม่ถึง 1% เป็นเรื่องของกระบวนการคอร์รัปชัน เพราะเมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติ ถือว่าต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ในขณะที่ประเทศอย่างเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น แม้แต่จีน เขาลงทุนใน R&D 4% ขึ้นไป ถามว่าลงทุน R&D เพื่ออะไร เพื่อให้คุณได้เปรียบในการแข่งขัน เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน
“แต่เมืองไทย มีข้อสังเกตว่า ศักยภาพกับความได้เปรียบ ซื้อหาได้ผ่านกระบวนการคอร์รัปชัน เพราะฉะนั้น R&D ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเลย เพราะ R&D มีความเสี่ยงสูงกว่าการจ่ายเงินล็อกสเปกมาก”
“จริงๆ ลักษณะมันง่ายครับ คือแรงจูงใจที่จะคอร์รัปชันมีพลังมากกว่าแรงจูงใจที่จะขจัดหรือป้องกันมัน และคนที่จะทำอย่างนี้ได้ก็คือคนที่กุมอำนาจ ซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผลประโยชน์กันมากมาย เพราะฉะนั้น การปฏิรูปเรื่องนี้เลยเกิดขึ้นน้อยมาก เกิดขึ้นยากมาก” นายบรรยงกล่าว
นายบรรยงบอกว่าสมการคอร์รัปชันมีอยู่ 2 สมการเป็นที่แพร่หลายในโลก โดยสมการแรกบอกว่า ตราบใดที่ผลประโยชน์ที่ได้จากคอร์รัปชันยังมากกว่าโทษ คูณด้วยโอกาสที่จะถูกจับได้ คนก็จะยังโกง
ในอดีตเราพยายามไปเพิ่มโทษให้ไม่มีอายุความ แต่สิ่งที่ไม่ได้ทำคือโอกาสที่คนโกงจะถูกจับ เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะถูกจับจึงต่ำมาก
“ประเทศไทยมีการลงโทษเรื่องคอร์รัปชันน้อยมาก ขณะที่หลายประเทศ เช่น เกาหลี ประธานาธิบดีติดคุกไป 3 คน ฆ่าตัวตายหนีโทษอีกหนึ่งคน เช่นเดียวกับอินโดนีเซียก็เริ่มมีการลงโทษ แต่ของเราโอกาสมันต่ำมาก และมันมีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมได้”
อีกสมการหนึ่งบอกว่า การคอร์รัปชันเท่ากับ monopoly บวก discretion ลบด้วย accountability กล่าวคือ monopoly คืออำนาจผูกขาด ทุกรัฐ ทุกอำนาจ คืออำนาจผูกขาด รวมทั้งอำนาจที่รัฐดันให้เอกชน หรือทุน ไปผูกขาดด้วย ยิ่งมีมาก ยิ่งคอร์รัปชันสูง
อันที่สองคือ discretion หรือดุลพินิจ ถ้ามีอำนาจมาก แถมให้ดุลพินิจเขาไปมากอีก ก็ยิ่งเป็นการใช้อำนาจเพื่อคอร์รัปชันได้สูง แล้วก็ลบด้วย accountability หรือความรับผิดชอบ แต่ถ้าเราสร้าง accountability ได้ดี ก็จะลดโอกาสและปริมาณที่จะโกงลงได้
“เพราะฉะนั้น ในแง่ของมาตรการป้องกันก็คือ ลดอำนาจ ลดดุลพินิจ และเพิ่มกระบวนการตรวจสอบ โดยทฤษฎีมันก็ได้ผล และสามารถแตกทฤษฎีออกมาเป็นมาตรการได้ ซึ่งจริงๆ ผมเคยเสนอไป 30 กว่ามาตรการ เช่น การปรับปรุงกฎหมายข้อมูลข่าวสาร การบังคับให้รัฐวิสาหกิจเปิดเผยข้อมูล การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล เป็นต้น”
“ขณะเดียวกัน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันก็พยายามเปลี่ยนจากการเสนอแก้เชิงโครงสร้าง ไปทำมาตรการปลีกย่อยเท่าที่พอจะทำได้ ก็ต้องบอกว่าได้ผลบ้าง เช่น เรื่องข้อตกลงคุณธรรม (integrity pact) หรือโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative) หรือ CoST ซึ่งมีงานวิจัยพิสูจน์ได้ว่า โครงการที่อยู่ภายใต้โครงการ CoST อย่างน้อย 6 โครงการ ประหยัดงบไปได้ประมาณ 3 พันล้านบาท เรื่องพวกนี้ถือว่าได้ประโยชน์บ้าง แต่ยังน้อยกว่าคอร์รัปชันที่เพิ่มขึ้น”
“จริงๆ ถ้าจะทำให้ครบ ก็ต้องว่ากันไปทั้งกระบวนการ แต่มันทำทันทีไม่ได้ อันนี้เราเข้าใจ มันต้องค่อยๆ ทำไป เพราะคนที่ได้ประโยชน์เขาไม่เห็นด้วย และล้มโครงการต่างๆ ได้ง่าย”
“ยกตัวอย่างโครงการที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเป็นผู้ว่าจ้างให้ทีดีอาร์ไอเสนอกระบวนการปรับปรุงการขอใบอนุญาตก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร มีการเสนอผลการศึกษาและข้อแนะนำไปแล้ว1 ปีกว่า ขออนุญาตทวงท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ (สิทธิพันธุ์) ว่ายังไม่เกิดอะไรขึ้นเท่าที่ควร เพราะผู้เสียประโยชน์คงไม่อยากให้ทำ”
หรือการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่นำเสนอไปแล้ว จากร่างจนเป็นพระราชบัญญัติไปแล้ว เสนอสภา สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ไปแล้ว แต่ก็ตกในสภา เพราะมีคนจำนวนมากไม่ชอบการปฏิรูป
“พูดตรงไปตรงมาก็คือ หนึ่ง นักการเมืองไม่ชอบ เพราะปฏิรูปไปแล้วอำนาจเหนือรัฐวิสาหกิจของเขาก็หมดไป สอง ข้าราชการประจำก็ไม่ชอบ เพราะอำนาจราชการจะหมดไป สาม พนักงานรัฐวิสาหกิจก็ไม่ชอบ เพราะมันหมายถึงต้องแข่งขัน ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพ ทำงานหนักขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง เขาก็ไม่ชอบ”
“อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ชอบก็คือ คู่ค้ากับรัฐวิสาหกิจ เพราะในกระบวนการใหม่ มันต้องโปร่งใสทุกอย่าง ไม่สามารถที่จะจ่ายเงินซื้อความได้เปรียบได้อีกต่อไป และสุดท้ายที่ผมค่อนข้างจะเสียใจคือ เอ็นจีโอไปประท้วงด้วย หาว่านี่เป็นแผนการขายชาติ ทั้งที่จริงๆ พยายามจะรักษาชาติ เราเจตนาดีที่จะปฏิรูป” นายบรรยงกล่าว
กิโยตินกฎหมาย “แก้โกง” ผู้นำต้องให้ความสำคัญ
อีกส่วนสำคัญก็คือ จำนวนกฎหมายที่มากเกินไปก็เป็นปัญหาใหญ่ เพราะกฎหมายที่มากเกินไปก็คืออำนาจที่มาก
ยิ่งกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้ดุลพินิจยิ่งไปกันใหญ่ เพราะดุลพินิจทุกอันมีราคา แล้วไม่ใช่แค่รัฐอย่างเดียว แต่หน่วยงานหลายๆ หน่วยงาน เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ทุกใบอนุญาตมีราคา ดังนั้น อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คือลดกฎหมาย
นายบรรยงเชื่อว่า กระบวนการที่จะช่วยลดทั้งอำนาจของรัฐและอำนาจของดุลพินิจ ที่นำมาซึ่งสินค้าคอร์รัปชัน ก็คือกระบวนการที่เรียกว่า “regulatory guillotine” เพื่อลดกฎหมายที่เมืองไทยมีอยู่เป็นแสนฉบับ ลดใบอนุญาตที่เรามีอยู่ 5,000 ชนิด ให้เหลือตามมาตรฐานที่จำเป็นจริงๆ
“อันนี้เป็นกระบวนการที่หลายประเทศทั่วโลกเขาทำแล้วประสบผลสำเร็จ ที่สำเร็จมากที่สุดก็เช่น เกาหลี โครเอเชีย เอสโตเนีย ลิทัวเนีย เวียดนามก็กำลังทำ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่เมืองไทยเราเริ่มมาน่าจะสัก 7 ปีแล้ว แต่มันเดินช้ามาก ต้องไปปรับปรุงกระบวนการนี้”
ยกตัวอย่างเกาหลี ที่เขาประสบความสำเร็จมาก มีอยู่ 2 ปัจจัย ปัจจัยที่หนึ่งก็คือตัวผู้นำสูงสุด ตั้งแต่สมัยที่เริ่มทำจนถึงปัจจุบัน ประธานาธิบดีเขาจะเป็นหัวหน้าโครงการเอง ทุกวันนี้หลังจากทำมาแล้ว 20 กว่าปี ประธานาธิบดียังลงไปประชุมเองทุก 6 เดือน เพื่อจะลดกฎที่มันไม่จำเป็นลงไปอีก
อันที่สองก็คือ เขาจะไม่ให้องค์กรที่จะถูกปฏิรูป เข้ามามีอำนาจต่อรองในการปฏิรูป อันนี้ก็คือหัวใจที่ทำให้ประสบความสำเร็จ แต่กระบวนการในเมืองไทย มันไม่เป็นอย่างนั้น
“เกาหลีทำกระบวนการนี้ ตอนปฏิรูปใหญ่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 เขาเลิกกฎหมายเป็นหมื่นฉบับ และยังทำอยู่ทุกวันนี้ ทุก 6 เดือน ประธานาธิบดีจะลงมาเป็นประธานที่ประชุมของ regulatory guillotine เอง แล้วก็สรุปได้อย่างรวดเร็ว เขาให้ความสำคัญ แต่ของไทยผู้นำไม่เข้าใจ ไม่ได้ลงมา”
ข้อสังเกตอันที่สอง ที่เขาสำเร็จ คือไม่ใช้นักกฎหมายเป็นหัวหน้า เพราะนักกฎหมายจะปกป้องกฎหมายโดยไม่รู้ตัวตามสัญชาตญาณ โดยเฉพาะกฎหมายที่เขาเขียนเอง เขายิ่งไม่ให้แก้ เกือบทุกแห่งเขาใช้นักเศรษฐศาสตร์ แต่ของเราใช้นักกฎหมาย อันนี้ก็เป็นเหตุผลนึงที่ทำให้ช้า
การให้ข้อมูลความรู้กับประชาชนคือ “ความหวัง”
อย่างไรก็ดี นายบรรยงเห็นว่า การป้องกันคอร์รัปชันที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือการให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะจากภาคประชาสังคมอย่างน้อย 3 ส่วน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย คือ เอ็นจีโอ สถาบันวิจัยทางวิชาการ และสื่อมวลชน
แต่ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า เมืองไทยค่อนข้างจะอ่อนแอในด้านนี้ โดยเฉพาะเอ็นจีโอ ที่มีทรัพยากรไม่พอ ส่วนสถาบันวิจัยก็มีน้อยมาก ประมาณ 2-3 แห่งเท่านั้นเอง ต่างจากสังคมที่พัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกาที่มี 500 แห่ง จีนมี 200 แห่ง เยอรมันมี 100 กว่าแห่ง แต่ภาคประชาสังคมที่พัฒนามากก็คือสื่อ จากการโดนดิสรัปต์ของเทคโนโลยี
“พูดอย่างตรงไปตรงมา เมื่อก่อนนี้มีสื่อใหญ่ ผมใช้คำว่า oligopoly มีไม่กี่สำนัก ทั้งสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ ก็คุมทุกอย่างได้หมดแล้ว แต่ทุกวันนี้พอสื่อมันโดนดิสรัปต์ ทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นมากมาย การแข่งขันดีเสมอ เพราะฉะนั้น คุณภาพ ความหลากหลาย ก็เลยพัฒนาขึ้นมาก”
“สำหรับผม อันนี้คือความหวังที่จะทำให้กระบวนการต่างๆ มันถูกถ่ายทอดสู่ประชาชน และในที่สุด ประชาชนก็จะได้ความรู้ ถ้าเขาเข้าใจ เพราะเขาบอกว่า ประชาธิปไตยก็ดี การบริหารประเทศก็ดี ในที่สุดก็จะเป็นไปตามสิ่งที่ประชาชนต้องการ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน และข้อมูลที่เขาได้”
นายบรรยงกล่าวว่ายกตัวอย่างการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด สำหรับผมแล้วเห็นชัดว่า ประชาชนมีความรู้และเลือกคอนเทนต์มากขึ้น ทำไมการเมืองบ้านใหญ่ทั้งหลายถึงลดอิทธิพลลง ทำไมพรรคการเมืองหนึ่งถึงได้รับเลือกตั้งมากกว่าที่คาดหมาย เพราะความรู้ความเข้าใจของประชาชนผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ อันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีของการพัฒนา”
“แม้การคอร์รัปชันยังไม่ลดลง แต่การให้ข้อมูลข่าวสาร ให้ความรู้ เป็นเรื่องสำคัญมาก ผมเชื่อพลังของประชาชน ถ้าประชาชนเข้าใจ ถ้าประชาชนต้องการ มันจะค่อยๆ เกิด ถึงแม้จะช้าหน่อยก็ตาม”
ปรับปรุง-ส่งเสริมกระบวนการ “TEPP”
อีกกระบวนการหนึ่งที่นายบรรยงเชื่อว่าจะได้ผลในการป้องกันและลดปัญหาคอร์รัปชัน คือกระบวนการที่เขาเรียกว่า “TEPP” ประกอบด้วย T คือ transparency ความโปร่งใส ต้องบังคับให้ความโปร่งใสนี้ได้มาตรฐาน บังคับให้เป็น open government ในทุกๆ จุด ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามทำ แต่ก็ถูกละเลย เพราะคนจำนวนมากคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ไม่เกิดผลทันที นี่คือวัฒนธรรมคนไทย อยากจะทำอะไรให้เกิดผลทันที ซึ่งมันไม่มี
ยกตัวอย่างสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมีมติ ครม. (คณะรัฐมนตรี) ออกไปว่ารัฐวิสาหกิจทุกแห่งจะต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยเท่ากับบริษัทจดทะเบียน คือมาตรฐานที่เรียกว่า 56-1 ซึ่งคำสั่งนี้ออกไปแล้ว ถือเป็นกฎหมาย แต่วันนี้มีรัฐวิสาหกิจไม่ถึง 20% ที่ทำ นอกนั้นก็ไม่ทำ แล้วก็ไม่มีคนตามให้ทำ
หรือกรณีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารก็ต้องปรับปรุง ให้เป็นการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นเชิงรุก แล้วก็ต้องเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบที่เอาไปใช้ได้เลย ต้องเอาข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ได้เลย ไม่ต้องมานั่งคีย์ข้อมูลซ้ำ เพื่อที่จะให้กลไกเทคโนโลยีใหม่ๆ มันทำงานได้สะดวกขึ้น เป็นต้น
อันที่สองคือ E หมายถึงคำว่า expertise ข้อมูลที่เปิดมา ต้องมีผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญไปวิเคราะห์มัน ซึ่งอันนี้ก็ต้องมีองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว เหมือนข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ถ้าไม่มีนักวิเคราะห์ นักลงทุนรายย่อยก็จะวิเคราะห์วิจารณ์ได้น้อย
ถัดมาคือ P แรกคำว่า participation จะต้องส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมส่วนต่างๆ หรือภาคผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น สภาอุตสาหกรรม สภาวิศวกร สถาปนิกสยาม เป็นต้น และ P สุดท้ายก็คือ ประชาชน people public ทำยังไงให้ประชาชนได้รับข้อมูลตลอดเวลา ซึ่งก็คือหน้าที่ของสื่อนั่นเอง
“กระบวนการนี้ถ้าทำครบวงจรก็จะทำให้ หนึ่ง การคอร์รัปชันเกิดยาก สอง ถ้าเกิด ก็จะปรากฏง่าย ก็จะเป็นกระบวนการที่แก้ไข ลดปัญหาลงไปได้ แต่ไม่ปรากฏทันทีนะ มันไม่สามารถมีผู้นำคนนึงลุกมาประกาศว่าผมไม่ยอมให้ แล้วคอร์รัปชันก็จะหมด เป็นไปไม่ได้เลย”
“เราเคยมีรัฐบาลที่อ้างตัวว่าตั้งขึ้นมาเพื่อปราบโกง มีรัฐธรรมนูญปราบโกง แล้วเป็นไงครับ มันมีแต่สถานการณ์ที่แย่ลงๆ โดยเปรียบเทียบ ขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาดีกว่าเราไปหมดแล้ว จีน ดีกว่าเราแล้ว มาเลเซีย ดีกว่าไปนานแล้ว คะแนนคอร์รัปชันภาพลักษณ์มาเลเซียตอนนี้เกือบ 60 แล้ว ของเรายังย่ำเท้าอยู่ 36 คะแนน ส่วนอินโดนีเซียก็ยังดีกว่าเรา อินเดียก็ดีกว่าเรา เวียดนามก็ดีกว่าเราไปแล้ว”
นายบรรยงให้ข้อมูลเสริมว่า ปัจจุบัน “องค์ประกอบเชิงสถาบัน” ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างน้อย 5 สถาบัน พบว่าอันดับของประเทศไทยถดถอยลงไปเรื่อยๆ
“การพัฒนาเห็นเลยว่า เปรียบเทียบแล้ว เราแย่กว่าคนอื่นเขา มันก็เลยทำให้เกิดผลสะท้อนกลับมาให้ศักยภาพในการแข่งขัน เรื่องของผลิตภาพของเรามันสู้ไม่ได้”
ปลุกจิตสำนึก สร้างทัศนคติ หล่อหลอมประโยชน์ส่วนตัวเข้ากับประโยชน์ส่วนรวม
ส่วนในแง่ของประชาชน นายบรรยงมองว่า ประชาชนจะรู้สึกว่าคอร์รัปชันมันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็ต่อเมื่อมันส่งผลกระทบกับเขาโดยตรง ซึ่งหลายเรื่องเขาอาจจะไม่ได้สังเกต เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่สื่อที่จะชี้ให้ประชาชนเห็นว่า ต่อให้คุณไม่สังเกต ก็จะถูกโกงทางอ้อม
“ประชาชนต้องรู้ว่า การโกง มันไม่ใช่โกงใคร แต่โกงเขานั่นแหละ เหมือนกับที่งานวิจัยของของอาจารย์ธานี ชัยวัฒน์ กับอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ระบุชัดเจนว่า ประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน เขาไม่ใช้คุณธรรม จริยธรรม แต่ใช้ผลประโยชน์ของประชาชนที่จะเสียหายไป ไม่ใช่มาปลุกให้คุณเป็นคนดี อันนี้ไม่เวิร์ก”
“ผมไม่เคยเห็นคนโกงคนไหนที่คิดว่าตัวเองเลวเลย เพราะเขามีคำอธิบาย คำแก้ตัวสารพัด เพราะฉะนั้นกระบวนการคือ ต้องใช้กระบวนการตรงไปตรงมา บอกให้ประชาชนรู้ว่าเขาโกงคุณ”
แต่วันนี้ คนที่โกงเราไม่ค่อยถูกลงโทษ แสดงว่าพลังเรายังไม่พอ ความเข้าใจยังไม่พอ
นายบรรยงเล่าว่า สิ่งที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันทำแล้วได้ผลในช่วง 14 ปีที่ผ่านมาก็คือเรื่องการ “ปลุกจิตสำนึก” ทุกวันนี้ประชาชนเริ่มไม่ยอมรับแล้ว โดยช่วงแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน พอเราทำสำรวจออกไป ทัศนคติประชาชนไทยประมาณ 60% บอกว่า โกงก็ได้ แต่ทำงานบ้างแล้วกัน เขาไม่แคร์ที่จะโกง แต่ตอนนี้เหลือ 30% แล้ว สะท้อนว่าเราก็เริ่มเปลี่ยนทัศนคติได้หลายๆ เรื่อง
“ผมใช้คำว่าเรามีทัศนคติที่คลาดเคลื่อนอยู่หลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชัน เช่น เรามักจะคิดว่า ข้าราชการเงินเดือนน้อย ถ้าเพิ่มเงินเดือนให้ เขาจะเลิกโกง ซึ่งผมเห็นด้วยในบางส่วน แต่ข้อมูลเงินเดือนรวมของข้าราชการทั้งประเทศ พบว่าเราเป็นประเทศที่มีเงินเดือนและสวัสดิการข้าราชการ เทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศสูงเกือบจะที่สุดในเอเชีย”
“โดยก่อนหน้านี้ งานวิจัยของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ที่ทำโดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ในขณะนั้น) ระบุชัดว่า ไทยเป็นประเทศที่มีเงินเดือนบวกรัฐสวัสดิการของข้าราชการ 8% ของจีดีพี ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่มีแค่ 3% แต่ข้าราชการสิงคโปร์เงินเดือนแต่ละคนสูงกว่าข้าราชการไทยประมาณ 4 เท่าตัว เช่น นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เงินเดือนปีละ 90 ล้านบาท สูงกว่านายกรัฐมนตรีไทยเกือบ 10 เท่า ขณะที่รัฐมนตรีสิงคโปร์ เงินเดือนประมาณ 45 ล้านบาทต่อปี”
“เพราะฉะนั้นเขาสูงกว่า แต่รวมแล้วเขาใช้งบน้อยกว่าเรา เพราะเขาใช้คนมีประสิทธิภาพ สิงคโปร์มีข้าราชการ 120,000 คน ประเทศไทยมี 2,200,000 คน ข้าราชการเรามีจำนวนมหาศาล เกินงาน ล้นงาน เพราะฉะนั้น ถ้าเราลดกฎ ลดจำนวนข้าราชการ เราก็เพิ่มเงินเดือนให้ได้ในบางส่วน แต่การเพิ่มเงินเดือนอย่างเดียวก็จะไม่ลดโกง มันต้องมีเรื่องอื่นๆ ประกอบไปด้วย”
นอกจากนี้ ยังมีทัศนคติอีกเรื่องหนึ่งก็คือ คนไทยเราชอบสอน ผู้ใหญ่ก็สอน พระก็พูด ว่าเราต้องแยกแยะประโยชน์ส่วนรวมออกจากประโยชน์ส่วนตัว และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมก่อนประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งไม่ได้บอกว่าผิด แต่ผมไม่เห็นใครทำได้สักคน เพราะมันผิดธรรมชาติของมนุษย์
“ที่ถูกคือ ต้องหล่อหลอมต่างหาก ต้องหล่อหลอมประโยชน์ส่วนตัวให้เข้ากับประโยชน์ส่วนรวม แล้วมันก็ไม่ต้องเอาอะไรมาก่อน เพราะมันสิ่งเดียวกัน ขออนุญาตยกตัวอย่างตัวเอง ผมประกอบอาชีพในตลาดการเงิน ก็พยายามที่จะทำธุรกรรมที่จะให้เกิดการรวบรวม จัดสรรทรัพยากรอย่างดีที่สุด แล้วผมก็ได้กำไรจากการทำอย่างนั้นด้วย”
“เราแยกแยะไม่ได้หรอกครับ เราต้องหลอมรวม เพราะโลกมันพิสูจน์แล้วว่าความเห็นแก่ตัว ยังไงก็สูงกว่าและมีพลังมากกว่าความเห็นแก่สังคม เราต้องยอมรับความจริง ไม่ใช่ไปสร้างมโนคติที่เป็นไปไม่ได้”
ส่วนต้นเหตุที่ทำให้เกิดคอร์รัปชัน บรรยงเห็นว่า มีหลายเรื่องร่วมกันอยู่ เพราะมันมีแรงจูงใจ มันมีกำไรเห็นๆ โดยที่ไม่ถูกจับได้ รวมถึงเงื่อนไขอีกหลายเรื่อง เช่น เงื่อนไขการเมือง ก็มีส่วน เพราะคนจะได้อำนาจมันต้องใช้เงิน พอใช้เงินมันก็ต้องถอนทุน เพราะฉะนั้น เราก็ต้องพยายามเปลี่ยนเงื่อนไขตั้งแต่การเมือง อย่างที่กล่าวไปข้างต้น
“แต่ผมยังมีความหวังว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชันมันจะดีขึ้น ผมเชื่อมั่น เพราะว่าโดยหลักการ ถ้าประชาชนมีความรู้มากขึ้น ในที่สุด สิ่งที่ควรจะเกิด มันจะเกิด” นายบรรยงกล่าว