ThaiPublica > คอลัมน์ > ปราบคอร์รัปชันทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง…จริงไหม???

ปราบคอร์รัปชันทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง…จริงไหม???

18 มิถุนายน 2017


บรรยง พงษ์พานิช

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน(2 มิ.ย. 2560) นายกรัฐมนตรีได้พูดในรายการ “ศาสตร์พระราชา” ว่า ที่เศรษฐกิจซบเซา เศรษฐกิจฝืดเคืองอยู่ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะรัฐบาลนี้เอาจริงกับการปราบคอร์รัปชัน โดยท่านได้พูดตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลและ คสช. ยอมรับว่า การปราบปรามการทุจริต และการจัดระเบียบสังคม และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีเศรษฐกิจหดตัวฝืดเคือง…”

เลยเกิดคำถามว่า การปราบคอร์รัปชันนั้นส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจจริงไหม? และถ้าเป็นอย่างนั้นเราจะปราบไปทำไม? ผลร้ายที่ว่านั้นเป็นระยะสั้นระยะยาวอย่างไร? ควรจะวางมาตรการอย่างไร? และสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจเพื่อความอดทนที่จะแลกกับอนาคตที่ดีขึ้นอย่างไร?

ในทางทฤษฎี การปราบคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในประเทศในสังคมที่มีระดับการคอร์รัปชันอย่างรุนแรงและกว้างขวางอย่างเช่นประเทศไทยนั้น ย่อมส่งผลกระทบในทางลบให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างแน่นอน แต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับในระยะต่อไปนั้นย่อมมีค่ามากกว่ามากมายนัก เพราะความเจริญเติบโตที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของคอร์รัปชันนั้นย่อมมีแต่ความอ่อนแอไร้ประสิทธิภาพ ต้นทุนสูงและผลประโยชน์กระจุกตัวอย่างไม่เป็นธรรม ถึงแม้อาจจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ในระยะสั้น แต่ความอ่อนแอสะสมย่อมทำให้เกิดผลร้ายแรงยิ่งกว่าหลายเท่าทวีคูณในระยะยาว ไม่เกิดวิกฤติร้ายแรงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ก็จะทำให้ระบบอ่อนแอขาดศักยภาพ ติดกับดักในที่สุด อย่างที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้

สรุปเบื้องต้น ผมสนับสนุนเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่าของนายกฯ (นานๆ จะมีสักทีนะครับ) และอยากที่จะสนับสนุนในเชิงเหตุผล เชิงทฤษฎี อีก 4 ประการ ว่าทำไมการปราบคอร์รัปชันถึงจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว

1. Samuel Huntington (1927-2008) นักปราชญ์ด้านรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เจ้าของทฤษฎี “Clash of Civilizations” อันโด่งดัง เคยกล่าวไว้ว่า “In terms of economic growth, the only thing worse than a society with rigid, overcentralized dishonest bureaucracy is one with rigid, overcentralized honest bureaucracy.” ซึ่งผมขอถอดความให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “ในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ระบบเดียวที่แย่กว่าระบบราชการที่เข้มงวด รวมศูนย์ รวบอำนาจ มีแต่ Red Tape จนต้องยัดเงินหล่อลื่น ก็คือระบบราชการที่เข้มงวด รวมศูนย์ รวบอำนาจ และมีแต่ Red Tape แต่ดันซื่อสัตย์จนเงินซื้อไม่ได้”

ในแง่นี้ เงินที่เอกชนจ่าย ที่เรียกว่า “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” นั้น ก็จะทำหน้าที่เหมือน “น้ำมันหล่อลื่น” (Grease) เพื่อให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ถูกออกแบบระบบเงื่อนไขให้ซับซ้อน จนขาดการหล่อลื่นไม่ได้ สามารถทำงานได้ …ทีนี้ ถ้ามีเหตุการณ์หรือคำสั่งที่สามารถระงับพฤติกรรมการจ่ายและเรียกรับ “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” ในทันทีทันใด ก็ย่อมทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่ต้องพึ่งใบอนุญาตพึ่งบริการรัฐหยุดชะงักไปหมด เพราะเจ้าหน้าที่ย่อมมีเหตุผลต่างๆ นานาที่จะอ้างกฎระเบียบฉบับนั้นฉบับนี้ “ไม่” ให้เอกชนทำอะไรได้ไปเสียทุกเรื่อง โดยเฉพาะยิ่งถ้าต้องใช้อำนาจ ใช้ดุลยพินิจให้ความสะดวก ให้บริการกับเอกชน กับประชาชน ถ้าทำไปก็เท่ากับเพิ่ม “ความเสี่ยง” ให้กับตนเองเสียด้วยซ้ำ ถ้าไม่มี “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” มาจูงใจ ย่อมรักที่จะอยู่เฉยๆ เสียมากกว่า กลไกต่างๆ จึงพิกลพิการหยุดนิ่งไปเสียหมด

ในประเทศเรา ที่มีกฎข้อบังคับต่างๆ กว่า 100,000 ฉบับ มีใบอนุญาตกว่า 1,600 ชนิด ซึ่งถ้าจะว่าไปกฎระเบียบจำนวนไม่น้อยก็ถูกสร้างขึ้นมาโดยตั้งใจที่จะให้มีช่องไว้ “ตบทรัพย์” ชาวบ้านเสียด้วยซ้ำ (OECD แนะนำว่า ประเทศจะพัฒนาได้ดีไม่ควรมีใบอนุญาตเกิน 300 ชนิด) ดังนั้น ถ้าเราจะปราบคอร์รัปชันไม่ให้มีการจ่ายค่า “หล่อลื่น” เสียเลยทันที โดยที่ยังไม่มีการไปรื้อไปปรับระบบระเบียบให้ผ่อนคลายโปร่งใส ก็ย่อมเป็นเหตุให้กิจกรรมต่างๆ ติดขัดหยุดชะงักไปได้ นั่นก็คือ ถ้าจะไม่ให้มีการคอร์รัปชันประเภท “น้ำมันหล่อลื่น” ก็ต้องไปขจัดเงื่อนไข คือ ไปรื้อระเบียบกฎเกณฑ์ที่หยุมหยิมเกินจำเป็น ไปออกแบบระบบใหม่เครื่องยนต์ใหม่ที่ชัดเจนโปร่งใส ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องการ “การหล่อลื่น” อีกต่อไป คอร์รัปชันประเภทนี้ถึงจะลดจะหมดไปได้โดยไม่เป็นตัวถ่วงความเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในเรื่องนี้ รัฐบาลนี้ก็ดูจะมีความพยายามอยู่บ้าง โดยการออก พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ 2558 กับ พระราชกฤษฎีกาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายฯ 2558 แต่เอาเข้าจริง กฎหมายทั้งสองออกมาสองปีแล้ว ก็ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติสักเท่าใด ความสะดวกยังไม่เกิด การเรียกรับเงินก็ยังไม่ค่อยจะลดจะเลิก ยังต้องปรับปรุงกระบวนการให้เกิดประสิทธิผลอีกมากนัก ซึ่งเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นประโยชน์มากและรัฐบาลตั้งท่าประกาศมากว่าปีแล้วว่าจะทำ คือ การใช้กระบวนการที่เรียกว่า Regulatory Guillotine ที่เคยใช้ได้ผล มากว่าสิบประเทศ มาพิจารณาลดเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัยหมดความจำเป็นลงเสียบ้าง แต่ก็มัวแต่รำป้อไปป้อมา ติดขั้นตอนต่างๆที่เยิ่นเย้อมากว่าปี เพิ่งจะตั้งกรรมการที่ปรึกษาเพื่อปฏิรูปกฎหมายฯ (ชุดที่ ดร.บวรศักดิ์ เป็นประธาน) เสร็จเมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมานี่เอง ก็ได้แต่หวังว่ากรรมการที่กว่าจะตั้งได้ด้วยความเยิ่นเย้อชุดนี้ จะสามารถช่วยแก้ความเยิ่นเย้อของกฎหมายไทยลงไปได้บ้าง ก่อนที่นกหวีดหมดเวลาจะดังขึ้น (นี่ก็แอบต่อเวลามาหลายครั้งแล้ว ยังไม่ได้ทำอะไรจริงจังเสียที)

2. นอกจากการคอร์รัปชันประเภท “น้ำมันหล่อลื่น” ที่ทำกันอย่างกว้างขวางตามข้อ 1. ข้างต้นแล้ว การคอร์รัปชันประเภทที่เอกชนสามารถยัดเงินเพื่อ “ซื้อหาความได้เปรียบในการแข่งขัน” ได้ เช่น การล็อกเสป็กในการประมูลขายสินค้าและบริการให้แก่รัฐและรัฐวิสาหกิจ การได้สัมปทานหรือโครงการจากรัฐโดยที่ไม่ต้องแข่งขัน การได้ภาวะผูกขาด หรือได้เงื่อนไขที่สามารถทำกำไรได้แน่นอนในอัตราที่ดีเกินควร ก็ย่อมทำให้เกิดการลงทุนและกิจกรรมต่อเนื่องทางธุรกิจได้

เอกชนนั้นย่อมประกอบธุรกิจและลงทุนถ้ามีความได้เปรียบ ซึ่งความได้เปรียบนั้นอาจมาได้จากการที่ตนมีประสิทธิภาพมีศักยภาพเหนือคู่แข่ง หรือจากการที่ตนสามารถ “ซื้อหา” สภาวะที่ไม่ต้องแข่งได้ ในประเทศไทยนั้น ปีหนึ่งๆ ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจมีการซื้อสินค้าและลงทุนรวมกันมากกว่าสี่ล้านๆ บาท คิดรวมถึงกว่า 30% ของ GDP ลองคิดดูว่าถ้าในกระบวนการจัดซื้อและลงทุนของรัฐนั้นมีคอร์รัปชันแฝงอยู่มาก (หลายท่านเชื่อว่ากว่าครึ่งของกระบวนการจัดซื้อและลงทุนภาครัฐมีการคอร์รัปชันปนอยู่) ซึ่งถ้าเราหยุดไม่ให้มีการคอร์รัปชันเลย กิจกรรมของเอกชนที่เกี่ยวข้อง ที่เคยค้าขาย เคยลงทุนเนื่องมาจากการได้เปรียบโดยการ “ซื้อหา” ได้เช่นนั้น ก็ย่อมต้องสะดุดหยุดลง ฉุดให้เศรษฐกิจหยุดชะงักลงไปด้วย เพราะเอกชนไทยไม่น้อยจำต้องค้าขายกับรัฐหรือพึ่งอำนาจรัฐ

3. มองกลับไปด้านผู้มีอำนาจในภาครัฐเอง ซึ่งไม่ได้หมายความแต่ผู้มีอำนาจสูงๆ ในระดับ ครม. ที่ท่านว่าไม่มีใครโกงแล้วเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงกลไกข้าราชการ และผู้บริหารกับพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งมวล ซึ่งก็เป็นที่ทราบดีกันอยู่ว่ามีจำนวนสัดส่วนไม่น้อย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมั่งคั่งกันมาจากการคอร์รัปชัน ถ้าเกิดมีปัจจัยห้ามโกงกินที่ได้ผลมายับยั้ง ก็ย่อมแน่นอนที่ถึงจะเกรงกลัวแต่ก็มีความไม่พอใจปนอยู่ และย่อมจะต้องชั่งใจคาดคะเนว่า ปัจจัยที่ว่า (ถ้ามีจริง) นั้นจะอยู่ยั้งยั่งยืนเป็นปัจจัยถาวร หรือจะเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น และแน่นอนครับ ถ้ามีโอกาสแม้สักเล็กน้อยที่ว่า การห้ามโกงห้ามกินนั้นอาจเป็นแค่เรื่องชั่วคราว ถ้าอดทนรอให้ได้สักพักเดี๋ยวเงื่อนไขสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่สามารถแบ่งกันกินก็อาจจะกลับมาอีก ก็ย่อมเกิดแรงจูงใจที่อยากจะประวิงอยากจะชะลอโครงการลงทุนจัดซื้อต่างๆ ออกไป หวังว่าสักพักสภาพ “บุฟเฟต์ประเทศไทย” ก็จะกลับมาอีก

4. ในประเทศ ในสังคมที่มีการคอร์รัปชันกันอย่างมากๆ และอย่างกว้างขวางมาเป็นระยะเวลานาน ย่อมบ่มเพาะให้เกิดเป็นระบบ (Systemic) ของการโกงกิน ที่มีกระบวนการแทรกซึมอยู่ทุกจุด มีนวัตกรรมการประสานงานที่ถึงแม้จะไม่เป็นทางการแต่ก็เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง จนว่ากันว่า ในบางท้องที่ บางอุตสาหกรรมที่ค้าขายกับรัฐ แทบไม่เหลือผู้เล่นที่ตรงไปตรงมาอยู่เลย (เช่น ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และ IT ภาครัฐ) ซึ่งในยามที่มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจโดยเฉพาะเปลี่ยนระบบเลยอย่างที่มีการปฏิวัติ อาจจะทำให้ระบบการโกงกินระบบเครือข่ายที่วางไว้เกิดการสะดุดบ้าง ทำให้กิจกรรมบางอย่างหยุดชะงักชะลอตัวลง แต่จากประวัติในอดีต พอระบบปรับตัว “คลำทางเจอ” ก็มักสามารถใช้เวลาไม่นานในการต่อติดเข้ากับขั้วอำนาจใหม่ แทรกซึมจนเข้าสู่ขั้วอำนาจได้ในที่สุด

ผมเคยเจอวานิชธนากรรุ่นน้องที่มีฝีมือ เรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่ไม่เจอกันร่วมสิบปี พอทักทายถามว่าทำอะไรอยู่ เขาก็เล่าว่า “ผมเลิกราตลาดการเงินนานแล้ว ผันอาชีพมาเป็น ‘นักจบ’” พอซักไซร้ว่า “นักจบ” คืออะไร เขาก็อธิบายว่า “ก็คือรับประสานสิบทิศไงครับ พี่จะมีโครงการอะไร ต้องการเข้าตรงไหนในระบบราชการรัฐวิสาหกิจ ต้องการอำนาจใครจุดไหน ผมรับปรึกษาออกแบบรวมทั้งประสานจัดการให้จบได้แทบทุกเรื่องทุกหน่วยงาน ล็อบบี้ได้ทุกเรื่อง ตราบใดที่ตกลงราคากันได้” ผมถามว่า “เฮ้ย ยุคนี้เป็นยุคทหาร ยังทำได้อีกหรือ” เขาก็บอกว่า “ก็ยากอยู่ สะดุดไปพักใหญ่ แต่ตอนนี้ก็พอไหว ถึงจะไม่ได้ทุกจุดเหมือนเดิม แต่มันก็ยังกว้างขวางพอได้อยู่ มีอะไรพี่บอกได้นะ ได้ไม่ได้จะแจ้ง” (เรื่องนี้ เล่าตามที่ฟังมา จริงไม่จริงพิจารณากันเองนะครับ อย่ามาคาดคั้นเอาหลักฐานกับผม) นี่แหละครับ เรามาไกลถึงจุดนี้แล้ว ใครว่าประเทศไทยไม่มีนวัตกรรม

จากเหตุผลทั้ง 4 ประการที่ร่ายมา ทำให้ผมเห็นด้วยในแง่ที่ว่า ถ้าเราไปหยุดการคอร์รัปชันได้หมดจดย่างกะทันหันจริง ย่อมมีส่วนฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจจริง แต่การฉุดรั้งที่ว่านั้น เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะการเติบโตที่มีคอร์รัปชันเป็นตัวหล่อลื่นนั้นย่อมนำความชิบหายใหญ่หลวงมาให้ในอนาคตเป็นแน่

ประเด็นมันจึงอยู่ที่ว่า ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ท่านกำราบปราบปรามคอร์รัปชันจริงจังแค่ไหน? ระดับการโกงมันลดลงหมดไปจริงๆ หรือเปล่า? และท่านได้วางระบบ วางกลไกอะไรเอาไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่า วันที่ท่านลุกออกไปแล้ว จะไม่มีการโกงกินกันอย่างมโหฬารเช่นเดิมอีก? ซึ่งทั้งหมดนี้ผมคงไม่มีคำตอบ ต้องถามพี่น้องประชาชน พ่อค้านักธุรกิจทั้งหลาย ที่เคยต้องจ่ายต้องยัดเงิน ว่าความร้อนแรงของคอร์รัปชันมันลดมันเพิ่มอย่างไร ในจุดไหน

ความจริง ถ้าท่านตั้งใจจะปราบคอร์รัปชันจริง ตั้งใจที่จะออกมาตรการวางระบบเพื่อลดโกงกินทั้งระยะสั้น ระยะยาวจริง ผมคิดว่ารัฐบาลสามารถบอกประชาชนให้ชัดเจนได้ ถึงแม้จะขอให้ทุกคนต้องอดทนที่จะยอมแลกกับผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ผมก็คิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับได้ แต่ขอให้ทำจริงจัง มีมาตรการที่สร้างความมั่นใจได้ อย่าลูบหน้าปะจมูกก็แล้วกัน

ไว้โอกาสหน้าจะมาร่ายยาวถึงมาตรการต่างๆ 32 ประการ ที่ผมเคยเสนอไว้ต่อ “คณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ” ให้ฟังนะครับ (มีความคืบหน้าไปบ้างเจ็ดแปดมาตรการนะครับ)

ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 18 มิถุนายน 2560