ThaiPublica > คนในข่าว > “บรรยง พงษ์พานิช” มองการเมืองไทย ‘ประชาชนตื่นรู้ขึ้น’- ทุนนิยมไม่ผิด แต่ทุนสามานย์ผิด ต้องเอาออกไป

“บรรยง พงษ์พานิช” มองการเมืองไทย ‘ประชาชนตื่นรู้ขึ้น’- ทุนนิยมไม่ผิด แต่ทุนสามานย์ผิด ต้องเอาออกไป

14 สิงหาคม 2023


“บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองการเมืองไทยผ่านมุมเศรษฐกิจ หลังการเลือกตั้ง 2566 เห็นสัญญาณที่ดี ประชาชนตื่นรู้มากขึ้น เชื่อ 5 ดัชนี “ประชาธิปไตย-กระจายทั่วถึง-โปร่งใส” ทำให้ประเทศพัฒนาขึ้น และต้องเอา’ความสามานย์’ออกไปจากทุนนิยมไทย ไม่ใช่เลิกเป็นทุนนิยม

“บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ในวันที่สถานการณ์การเมืองไทยบิดเบี้ยว เจตนารมณ์ประชาชนถูกบิดเบือน ไม่เป็นไปตามผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

ปรากฏการณ์การตื่นรู้ที่เกิดขึ้น การปักหมุด จุดยืน ของประชาชน หลากความคิด หลายความต่าง สร้างแรงกระเพื่อมการตื่นรู้ “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ได้พูดคุยกับ “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ผู้ซึ่งประกาศตนชัดเจนไม่ว่าจะบทบาทผู้นำความเชื่อระบบทุนนิยม การปฏิรูปโครงสร้าง การต่อต้านคอร์รัปชัน ความคิดเห็นทางการเมือง ด้วยความเชื่อที่ว่า “อ้วนได้โดยไม่โกง” … “ความจริงพูดกี่ครั้งก็เหมือนเดิม”…

“สื่อ-เศรษฐกิจ” จุดประเด็น “การตื่นรู้การเมือง”

หลังการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา “บรรยง” มองเห็นพัฒนาการทางการเมืองที่ประชาชนตื่นรู้มากขึ้น ผ่านปัจจัยสำคัญคือข้อมูลข่าวสาร พร้อมย้ำว่า “อันนี้สำคัญมาก”

โดยอธิบายว่า หากมองถึงภาคประชาสังคมทั้งหมด มี 3 สถาบันที่สำคัญ คือ 1. เอ็นจีโอ 2. ภาค think tank หรือนักคิด สถาบันวิชาการ 3. สื่อมวลชน

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา 2 ภาคแรก คือ ภาคประชาสังคมไม่ได้มีพัฒนาการที่โดดเด่น ขณะที่ think tank ของประเทศไทยมีเพียง 2-3 แห่งเท่านั้น เรียกได้ว่าน้อยมาก ถ้าเทียบกับสหรัฐอเมริกามี 500 แห่ง, เยอรมัน 100 แห่ง และจีน 200 แห่ง ทำให้พัฒนาการของสถาบัน think tank ของไทยเป็นไปอย่างช้าๆ

‘บรรยง’ เห็นว่าสิ่งที่มีพัฒนาการมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือ “สื่อ” ก่อนหน้านี้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา สื่อถูกดิสรัปชันมากที่สุด หากย้อนไปก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทยมีสิ่งพิมพ์มีแค่ 4 สำนักใหญ่ สื่อทีวี 4 สำนักใหญ่ แต่เทคโนโลยีทำให้การเกิดขึ้นของสื่อยุคใหม่ ทุกคนเป็นสื่อได้ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นที่สะดวก ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็น นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พัฒนาการ “การเมือง” เปลี่ยนไป

“การเลือกตั้งที่ผ่านมา การใช้เทคโนโลยี การใช้สื่อของคนรุ่นใหม่ในการหาเสียง ทำให้พรรคที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนมากสามารถเข้าถึงประชาชนได้กว้าง และได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำ นั่นคือบริบทที่ 1 ส่วนบริบทที่ 2 คือ ระดับการศึกษาและการพัฒนาความรู้ของประชาชนสูงขึ้น ทำให้เดิมที่มีคติในการปกครองว่า คนรู้น้อยปกครองง่าย แต่พอคนรู้มากก็มีแสดงออกมาก ซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยแรก คือ พัฒนาการของสื่อ ทำให้เกิดการศึกษาไม่สิ้นสุด ผมเห็นว่า ‘สื่อ’ มีส่วนทำให้การเมืองของเราพัฒนาไปมาก”

‘บรรยง’ เห็นว่า “สื่อ” ทำให้พัฒนาการความรู้ของประชาชนมากขึ้นก็จริง แต่อีกปัจจัยที่สำคัญของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือ “เศรษฐกิจ” โดยเห็นว่าเรื่องเศรษฐกิจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสมอทั่วโลก

“ผมขอพูดเรื่องเศรษฐกิจ เพราะส่วนมากเรื่องเศรษฐกิจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองเสมอมา หากมองย้อนประวัติศาสตร์จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงใหญ่แทบจะทุกที่ในโลกเกิดมาจากข้าวยากหมากแพง การปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติบอลเชวิคก็เช่นกัน เกิดจากความแห้งแล้ง เศรษฐกิจย่ำแย่ ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องมากขึ้น”

เช่นเดียวกับประเทศไทย การเติบโตเศรษฐกิจของไทยมี 2 ลักษณะ 1. เติบโตต่ำเตี้ยยาวนานซึ่งการเติบโตแบบนี้เกิดขึ้นมามากกว่า 8- 10 ปี หรืออาจจะก่อนหน้านั้นด้วย ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ การเติบโตทางเศรษฐกิจ 7-8% แต่ประเทศไทยโต 2-3%

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

เศรษฐกิจต่ำเตี้ยยาวนาน “บนรวย-ล่างแย่”

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำเตี้ยทำให้ หนึ่ง โอกาสของคนหายไป สอง คือ นอกจากเติบโตต่ำเตี้ยแล้วยังเป็นลักษณะ “บนรวยล่างแย่” โดยจะเห็นได้จากในช่วงโควิดที่ผ่านมา คนรวยไม่กระทบจากโควิดเลย ขณะที่กำไรเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน

“ผมขอยกตัวอย่างในปี 2562 ที่บอกว่าหลังโควิด เศรษฐกิจเริ่มกระเตื้อง โดยรวมบวก 3% แต่เชื่อหรือไม่ว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนโต 28% ขณะที่ภาพรวมกำไรบริษัทโตเป็นสัดส่วนประมาณ 30% นั่นหมายถึงใน 30% บริษัทจดทะเบียนโต 28% ขณะที่เศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศ 100% โตแค่ 3% หมายความว่าที่เหลือติดลบ หรือไม่ก็อยู่กับที่ โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องของเงินเฟ้อเพิ่มเข้ามา”

หากย้อนไปในอดีตก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงต่อเนื่องมา 3-4 ปี จึงเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แม้มีรัฐบาลเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ทำให้เศรษฐกิจในปี 2517-2518 แย่หมด เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อีกครั้งหนึ่ง เห็นได้ว่า “เศรษฐกิจ” เกี่ยวข้องกันหมด

ขณะที่ในปัจจุบันประเทศไทยตัวเลขฟ้องชัดว่าเติบโตย่ำแย่มาตลอด ก็เลยเกิดความต้องการเปลี่ยนแปลงของประชาชน

‘บรรยง’ บอกว่า เศรษฐกิจของไทยต่ำเตี้ยยาวนานมาจากปัญหาของ “การกระจาย” ไม่ดีเพียงพอ แม้ในระดับนโยบายในการเลือกตั้ง จะเห็นว่าพรรคการเมืองเสนอนโยบายประชานิยม แม้ประชานิยมของพรรคที่ 1 พรรคที่ 2 และพรรคที่ 3 แตกต่างกัน แต่ก็เป็นประชานิยมทั้งนั้น

“เช่น… ที่ผมเคยวิจารณ์นโยบายของพรรคก้าวไกล ผมไม่เห็นด้วยทั้งหมด เพราะว่าประชานิยมของเขาใช้เงินประมาณปีละ 6 แสนล้านจากการทำรัฐสวัสดิการ ขณะที่ประชานิยมของพรรคเพื่อไทยก็ใช้ประมาณ 5 แสนล้านครั้งเดียว ซึ่งจริงๆ แล้วมันต่างกัน แต่ว่าประชาชนเขารู้สึกว่าของก้าวไกลให้หลักประกันที่ดีกว่า”

“ถามผมไม่เห็นด้วยนโยบายการขึ้นค่าแรงอย่างพรวดพราดทันที ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การเติบโตจะแย่ลงไปอีก เพราะว่าส่งออกที่เป็นหัวรถจักรของเรา ถ้าขึ้นค่าแรงจะกระทบกับส่งออก ส่วนธุรกิจในประเทศที่ไม่ได้ส่งออกเขาก็จะส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ผู้บริโภค ทำให้ทวีปัญหาเงินเฟ้อขึ้นมาอีก ในที่สุดมันก็กลับไปทำให้เป็นงูกินหางเกิดปัญหา ถ้าทำทุกโครงการ การเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะมีปัญหา ต่ำกว่า 3% ในปีหน้าก็ได้”

หนทางหลุดจากการต่ำเตี้ยยาวนาน

เมื่อถามว่าแล้วโครงสร้างเศรษฐกิจแบบไหนที่ทำให้ประเทศหลุดจากการต่ำเตี้ยยาวนาน กระจายได้ทั่วถึง ‘บรรยง’ ได้ชวนย้อนไปทบทวนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์แนวสังคมนิยมอย่าง Thomas Piketty บอกว่า ตราบใดที่ R (ผลตอบแทนของทุน) สูงกว่า G (การเติบโตของเศรษฐกิจ) หากเดินไปเรื่อยๆ จะทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีถึงที่สุด และจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคม

“ผมคิดว่าอาจจะกลับไปสู่การฟื้นฟูของลัทธิมากซ์ เพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นผู้เดือดร้อน แม้ว่าผมไม่ได้เชื่อและศรัทธาลัทธิมากซ์ แต่ก็มีมูล เพราะถ้าดูจากประเทศไทย เราจะเห็นว่าการเติบโตของเราต่ำเตี้ยมานาน… ”

ดูง่ายๆ ขณะที่เศรษฐกิจภาพรวมโต 3% แต่นิตยสารฟอบส์ประกาศว่าเศรษฐีไทยร่ำรวยขึ้น 18% ขณะที่เศรษฐกิจโต 3% มันบอกในตัวของมันเองว่าหมายถึงอะไร นี่คือจุดที่น่ากังวล

‘บรรยง’ บอกว่า “ปัญหาสะสมมานาน เวลาจะปรับ จะปรับชั่วพริบตาไม่ได้ ซึ่งมี 2 ทฤษฎี คือ 1. ปฏิวัติ 2. ปฏิรูป แปลว่าค่อยๆ ปรับ ที่ผ่านมาโลกพิสูจน์แล้วว่าการปฏิวัติไม่ได้แก้ปัญหา และทำให้ถอยหลังยาวนานมากกว่าที่จะทำให้ไปสู่จุดประสงค์ เช่น ในอดีต การปฏิวัติฝรั่งเศส รัสเซีย ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักยาวนานเสมอ หรือว่าเมื่อเร็วๆ นี้ การปฏิวัติที่มีชื่อเสียงที่เรียกว่าอาหรับสปริงก็เช่นกัน

ดังนั้น เกือบทุกประเทศที่โค่นล้มเผด็จการเก่าได้ แต่เศรษฐกิจหยุดชะงักถดถอยด้วยซ้ำ อันนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูปดีกว่า และจะไม่ทำให้เกิดภาวะชงักงันในระยะสั้น

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

แล้วจะปฏิรูปแบบไหนที่ทำให้การกระจายเศรษฐกิจทั่วถึง ‘บรรยง’ บอกว่า อาจจะต้องอธิบายยาวที่จะบอกถึงการปฏิรูปประเทศ แต่เมื่อเข้าไปดูโลกที่พูดกันถึงความเจริญ มั่งคั่ง กระจายไม่กระจุกกลุ่มเดียว และยั่งยืน จนสามารถฝ่าฟันวิกฤติต่างๆ ได้ ไม่ชะงักงันเสื่อมถอยยาวนาน

โดยมี 5 ดัชนีที่น่าสนใจ คือ 1. ดัชนีวัดรายได้ต่อหัวต่อปี (GDP per capita) 2. ดัชนีวัดความกระจายความมั่งคั่ง (Gini coefficient) 3. ดัชนีการเป็นประชาธิปไตย (democracy matrix) 4. ดัชนีการเป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่สมบูรณ์ (index of economic freedom) 5. ดัชนีวัดความโปร่งใส (corruption perceptions index)

“ผมลองเอา 5 ดัชนีมาดู เรียงอันดับประเทศที่ดีที่สุด ดัชนีแรกคือความมั่งคั่งที่วัดกัน โดยรายได้ต่อคนต่อปีต่อจีพีดี ดัชนีที่สอง ดัชนีวัดการกระจายความมั่งคั่ง ดัชนีที่สามคือ ดัชนีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งดัชนีมีอยู่ 2 อัน คือของที่เขาเรียกว่า Democracy Matrix และ democracy index economist ดัชนีที่สี่คือ ความเป็นเสรีนิยม และดัชนีที่ห้า คือเรื่องของคอร์รัปชัน corruption perceptions index ซึ่งเมื่อเอาทั้ง 5 ดัชนีและเทียบกับประเทศต้น ๆ ของโลก พบว่าทั้ง 5 ดัชนี ประเทศที่ติดอันดับ เช่น ประเทศสวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ จะซ้ำกันหมดเลย

‘บรรยง’ เห็นว่า ทั้ง 5 ดัชนีเป็นเงื่อนไขที่มีความสัมพันธ์กันสูง ระหว่างการเป็นประชาธิปไตย การเป็นตลาดเสรี การเป็นประเทศที่มีกลไกลตรวจสอบ ไม่ให้มีการโกง การมีความโปร่งใส ถ้ามี 3 เงื่อนไขนี้ก็จะทำให้เป็นประเทศที่มั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน เราต้องพยายามไปอย่างนั้น ให้ได้

“แต่ขอโทษนะ มีคนโจมตีเสมอว่าประชาธิปไตยไม่ตอบโจทย์ ไม่จริงครับ ผมยกตัวอย่างเช่นญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ประชาธิปไตยสูงมาก เกาหลีใต้หลังจากเป็นเผด็จการมาพักใหญ่ ก็เป็นประเทศที่มีอันดับประชาธิปไตยสูง ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับเท่าไหร่รู้มั้ย ใน democracy matrix อันดับที่ 135 จาก 190 ประเทศ เราชนะอยูแค่เกาหลีเหนือ คิวบา จีน พม่า เท่านั้น”

แต่การ refrom หรือปฏิรูป การเมืองต้องมีเสถียรภาพจึงจะสามารถเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจได้ ‘บรรยง’ เชื่อว่าพรรคการเมืองหรือการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีความต่อเนื่อง มีสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง มีส่วนสำคัญมาก

โดยพิสูจน์มาแล้วจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ตั้งใจจะส่งเสริมให้สถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีความตั้งใจจะเขียนไม่ให้เกิดแบบนั้น โดยตั้งใจให้การเมืองอ่อนแอจะเห็นได้จากกติกาการเลือกตั้ง

“อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นมันต้องไปเปลี่ยนกติกาใหญ่ให้ได้ ต้องเปลี่ยนใหม่ และเดี๋ยวนี้ไม่ยากเพราะว่ามีตัวอย่างให้เห็นเยอะแยะไปหมดรัฐธรรมนูญใหม่ถ้าจะร่างให้ดี ผมมั่นใจว่าทำได้ไม่ยาก โดยมีการตั้ง สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) คืออันนี้ต้องเรียนว่า แต่เดิม ทุกพรรคการเมืองในรัฐบาลที่แล้ว เห็นด้วยให้แก้ไข แต่สมาชิกวุฒิสภาเบรกไว้ ซึ่งคราวนี้ต้องทำให้ ส.ว. ยอมผ่านเรื่องนี้ให้ได้ ผมคิดว่าสำคัญกว่าเรื่องเลือกนายกรัฐมนตรีอีก”

‘บรรยง’ ชี้ให้เห็นความสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่ากฎหมายต่างๆ ที่เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้สร้างกับดักไว้ เช่น กับดักเพื่อจะสืบทอดอำนาจ เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

“ตอนนี้ผมกลัวน้อยลง เรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะรัฐบาลที่แล้วไม่ได้ทำตามแผนเลย ถ้าในอนาคตมีการยกเอาแผนยุทธศาสตร์ชาติมาเล่นรัฐบาลใหม่ ก็คงโดนเช็คบิลเหมือนกัน เพราะว่าที่ผ่านมาไม่ได้ทำสักอย่าง”

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

รวยกระจุก ส่งผลนโยบายรัฐสวัสดิการกินใจประชาชน

‘บรรยง’ เห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจายไม่ทั่วถึง ทำให้นโยบายรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องที่กินใจประชาชน แม้ว่านโยบายรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องที่ดี แต่การดำเนินการตามนโยบายมีขั้นตอน ที่ไม่สามารถก้าวกระโดดได้

หากกลับไปดูประวัติศาสตร์ของประเทศที่มีรัฐสวัสดิการสูงๆ ประเทศในแถบยุโรป เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ทุกประเทศเหล่านี้มีการเก็บภาษีเกินกว่า 50% ของรายได้ประชาชาติของประเทศ

ขณะที่ประเทศไทยเก็บภาษีอยู่ 18% ยังห่างไกลกับประเทศที่มีรัฐสวัสดิการเหล่านั้น โดยการดำเนินการของประเทศเหล่านั้นต้องใช้เวลาสะสมมานาน และไม่เพียงการเพิ่มภาษี การทำรัฐสวัสดิการต้องไปจัดการเรื่องอื่นๆ เช่น ประสิทธิภาพของรัฐบาล ซึ่งการปรับประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐที่จะสามารถทำให้เร็วและง่าย คือ การเปิดเสรี ลดกฎเกณฑ์

“ความหมาย ‘เปิดเสรี’ ของผมหมายความว่า เลิกหมดเรื่องของกฎหมายการประกอบอาชีพธุรกิจคนต่างด้าว ไม่ต้องไปกีดกัน และธุรกิจที่กีดกันในกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายธนาคารพานิชย์ กฎหมายประกันภัย กฎหมายโทรคมนาคม กฎหมายสายการเดินเรือ สายการบิน ทุกกฎหมาย”

ผมบอกได้เลยว่ามันเป็นการปกป้องเศรษฐกิจบนต้นทุนของผู้บริโภค และเป็นต้นทุนของการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหากจะทำเรื่องนี้ ต้องสื่อสารให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการปลุกลัทธิชาตินิยม ซึ่งการเปิดเสรี เป็นดัชนีที่ผมพูดถึง คือ economist freedom index

เมื่อถามว่านโยบายทลายทุนผูกขาด ถือเป็นการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งกร้าวไปหรือไม่ ‘บรรยง’ บอกว่า ทุนผูกขาดมีวิธีวัดหลายอย่าง ที่ผ่านมาเราวัดจากมาร์เกตแชร์ แต่วิธีวัดแบบนี้อาจจะอันตราย เพราะจริงๆ แล้วในประเทศพัฒนาแล้วจะวัดกันจากอำนาจที่จะครอบงำตลาด อำนาจที่จะสร้างกำไรส่วนเกิน

ส่วน ‘ทุนผูกขาด’ ก็สามารถแยกได้หลายแบบ เช่น การผูกขาดแบบที่ใชอำนาจรัฐไปเอื้อให้ผูกขาด ซึ่งทุนผูกขาดแบบนี้ควรจะต้องเลิกได้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีการผูกขาดจากนวัตกรรม ซึ่งการผูกขาดแบบนี้ทำลายไม่ได้ เพราะจะทำให้ไม่มีนวัตกรรม

“กรณี Apple ผูกขาดนวัตกรรม อันนี้จริงๆ แล้วเขาจะไม่ทำลาย แต่อาจจะมีเงื่อนไขบางอย่าง ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันให้เกิดนวัตกรรมเยอะๆ อีกอันหนึ่งคือการผูกขาดโดยธรรมชาติ เช่น สนามบิน ท่าเรือ ที่จะมีจำนวนมากไม่ได้ และจะใช้ regulator ควบคุมเพื่อไม่ให้ผูกขาดจนสามารถเอาอำนาจไปสร้างกำไรส่วนเกินควรได้”

‘บรรยง’ แนะนำรัฐบาลใหม่ หากต้องการสร้างมาตรฐานเพื่อควบคุมการผูกขาด ให้ไปสมัครเป็นสมาชิกโออีซีดี เนื่องจากเป็นสมาคมของประเทศพัฒนาแล้ว ที่ขณะนี้เปิดให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ จากเมื่อก่อนสมาชิกต้องเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศร่ำรวยเท่านั้น

“เดี๋ยวนี้เขาเปิดให้ประเทศกำลังจะพัฒนาสมัคร ผมได้ข่าวว่าเวียดนามกำลังจะสมัคร ซึ่งหลักการของโออีซีดี คือ ต้องมีกลไกลสถาบันที่ดีมีมาตรฐาน และเขาจะให้ความช่วยเหลือให้สามารถพัฒนามาตรฐานได้ อันนี้จะช่วยให้เรามีกลไกต่างๆ ที่เป็นเงื่อนไขของประเทศพัฒนาแล้วได้”

‘บรรยง’ ยกตัวอย่างประเทศที่สมัครเป็นสมาชิกโออีซีดีตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นประเทศพัฒนาแล้วจนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว คือ เกาหลีใต้ สมัครประมาณปี 1997 พอเกิดวิกฤติประมาณปี 1997-1998 โออีซีดีก็ช่วยเหลือโดยเฉพาะในเรื่องของการทำกิโยตินปฏิรูประบบกฏหมาย กฎเกณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดเสรี

“ผมคิดว่าประเทศไทย ที่ขณะนี้กำลังแย่ แย่มากในระยะสั้นคือเงินลงทุนในประเทศต่ำ ทั้งภาคเอกชน เอฟดีไอ(การลงทุนจากต่างประเทศ)ก็ไม่เข้ามาเลย ขณะที่คนไทยหนีออกไปลงทุนนอกประเทศ ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาในระยะสั้นที่จะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ถ้าเราเปิดเสรี แล้วมีกฎระเบียบที่น้อยลง มีเรกูลาทอรีกิโยติน (regulatory guillotine) เดินให้มันดี มันก็จะทำให้ค่อยๆ ฟื้น ซึ่งผมคิดว่าถ้ามีสัญญาณที่ดีมันจะทำให้เกิดการลงทุนได้”

‘บรรยง’ บอกว่า คำแนะนำเป็นเรื่องฟังดูง่ายมาก (การเป็นสมาชิกโออีซีดี) แต่ต้องระวังนักอนุรักษนิยมกับนักชาตินิยม ที่จะคัดค้านและเห็นว่าเดินตามหลังตะวันตกแล้วจะถูกหลอก ซึ่งหากมีการหลอกกันเกิดขึ้น ทั้ง 40 ประเทศกถูกหลอกไปแล้ว แต่ตอนนี้ประเทศเหล่านั้นพัฒนาแล้ว ที่น่ากังวลคือ โออีซีดีเชิญรัสเซียและจีน แต่ 2 ประเทศไม่ยอมสมัคร เพราะว่าเขาไม่ต้องการพัฒนากลไกสถาบันตามมาตรฐานนี้

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ทุนนิยมไม่ผิด แต่ทุนสามานย์ผิด

ส่วนการเมืองไทยจะสามารถสลัดคำว่านายทุนออกไปได้หรือไม่ ‘บรรยง’ บอกว่านายทุนไม่ผิด และคำว่านายทุนไม่ได้ผิดในตัวของมันเอง และนายทุนเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำในระบบของทุนนิยม ซึ่งตอนนี้พิสูจน์ทั่วโลกว่ามีประสิทธิผลมากกว่าระบบสังคมนิยม

คำว่า “นายทุนไม่ผิด ทุนนิยมไม่ผิด” แต่ทุนนิยมที่สามานย์ต่างหาก นายทุนสามานย์ต่างหาก ที่มันผิด เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราพยายามทำก็คือต้องเอาความสามานย์ออกไปจากทุนนิยมไทย ไม่ใช่เลิกเป็นทุนนิยม

“ลองดูประเทศที่เลิกเป็นทุนนิยม ผมขอยกตัวอย่างให้ฟัง อย่างเมียนมา เวียดนาม เคยรวยกว่าเราในปี 1960 เวียดนามรวยกว่าเราสองเท่า แต่ว่าเพราะเขาเลิกเป็นทุนนิยมไปเป็นสังคมนิยม เราเลยแซงไปเป็น 3 เท่า และตอนนี้มีคนบอกเวียดนามจะแซงไทย แต่รายได้เฉลี่ยต่อคนของเขาแค่ 65% ของเราเอง อีกนานกว่าเวียดนามจะแซงได้”

ทุนสามานย์คืออะไร ‘บรรยง’ อธิบายว่าทุนสามานย์คือการผูกขาด เป็นทุนเอื้อประโยชน์ เช่น ทำไมนายทุนไทยถึงไม่ทำ R&D (วิจัยและพัฒนา) เพราะ R&D คือการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรม มีความเสี่ยงสูง แต่นายทุนไทยจำนวนมากสามารถซื้อการแข่งขันได้จากอำนาจรัฐ จากการค้าขายกับรัฐ ซึ่งชัดเจนว่า เมื่อทำอย่างนั้นได้ ก็ไม่ต้องไปทำวิจัยและพัฒนา

นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาคเอกชนไทยตกต่ำ หากตรวจรายชื่อมหาเศรษฐีไทย ลองดูว่าเขารวยเพราะใช้อำนาจรัฐ ค้าขายกับรัฐ มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับมหาเศรษฐีประเทศอื่นที่เขาค้ากับโลก แต่เราค้ากับรัฐ

ความน่ากังวลของสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน

‘บรรยง’ บอกว่า เศรษฐกิจตอนนี้เราติดล็อกไปหมด จะคลายล็อกต้องทำให้เกิดการแข่งขันมาก แต่ก็ไม่ง่าย เพราะหลายเรื่องเจตนาอาจจะดี แต่บังเอิญยิ่งไปส่งเสริมการผูกขาด กีดกันคนเข้าใหม่ เช่น การห้ามโฆษณาเหล้า แบรนด์ใหม่ไม่ต้องเกิดเลย แบรนด์เก่าก็ประหยัดเงินไปด้วย รักษาตลาดได้

ขณะที่ทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่าถ้ากลไกตลาดดี กติกาดี การแข่งขันดี จะทำให้เกิดโอกาสเข้าถึงทรัพยากรเป็นเรื่องสำคัญ

‘บรรยง’ยกตัวอย่างกรณีการส่งเสริมเอสเอ็มอี ที่ควรจะเป็นกลไกลเพิ่ม productivity (ผลิตภาพ) แต่ปัญหาของประเทศไทยทำให้การแข่งขันน้อยลงไปเพราะว่าไม่มีการเพิ่ม productivity ไม่ว่าจะเป็นในภาคเกษตร ภาคอุสาหกรรม ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนทำให้เกิดนวัตกรรม แต่เราพยายามส่งเสริมมากเกินไป และส่งเสริมผิดทาง

“ผมอธิบายว่ามันก็เหมือนเป็นกระแส เป็นนโยบายพรรคการเมืองทุกพรรค เพราะว่าเอสเอ็มอีมีจำนวนมาก ได้คะแนนเสียงได้มาก แต่มีงานวิจัยว่า การส่งเสริมการควบรวมการเข้าครอบงำกิจการ จะมี productivity ที่ดี เพราะว่าคนเราจะควบรวมกันเพราะว่ามันเกิดประโยชน์ เกิด productivity มากขึ้น แต่เรื่องนี้ประเทศไทย ถ้าเราไปส่งเสริม ก็จะบอกว่าจะให้นายทุนมาฮุบอีกแล้ว ก็จะมีประเด็นเหมือนกัน”

‘บรรยง’ อธิบายอีกว่า ในฐานะที่ทำงานธนาคาร และมักจะตกเป็นจำเลยว่าไม่ให้เอสเอ็มอีกู้ ยืนยันว่าอาชีพของธนาคารคือการปล่อยกู้ และอยากปล่อยกู้ทุกคนที่มั่นใจว่าจะจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินได้ แต่พอมาศึกษาพบว่ามีความเสี่ยงสูงมากถ้าปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี

“ผมศึกษาเราพบว่าเอสเอ็มอีมี 4 ประเภท ประเภทแรก คือ เอสเอ็มอีที่มีโอกาสเติบโตเป็นคอเปอร์เรต แต่บอกได้เลยน้อยมาก ในหนึ่งล้านมีแค่หนึ่ง ประเภทที่สอง คือ เอสเอ็มอีที่มีโอกาสเติบโตไปแล้ว ไปควบรวมกับคอเปอร์เรตหรือควบรวมกันเองให้เป็นคอเปอร์เรต เอสเอ็มอีที่ 3 ที่มีเหตุผลบางอย่างที่อยู่เป็นเอสเอ็มอีได้ตลอดกาล เช่น บูติกหรือเรสเตอร์รอง และ เอสเอ็มอีที่ 4 คือเอสเอ็มอีที่ยังไงก็ไม่รอด คุณว่าพวกไหนมากที่สุดที่ไม่กล้าให้กู้ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลก็มีเพดานดอกเบี้ยในการปล่อยกู้ จึงทำให้เอสเอ็มอีต้องไปใช้เงินกู้นอกระบบ”

“บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

เมื่อถามต่อว่าแล้วต้องใช้กลยุทธ์อย่างไรเพื่อการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้กลับมา ‘บรรยง’ บอกว่า เปิดเสรี ลดกฎระเบียบ เปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น แม้จะไม่เกิดขึ้นทันที แต่แค่มีสัญญาณที่ออกไป ก็สร้างบรรยากาศที่ดีได้ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีความกังวลเรื่องความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง แม้ตลาดของไทย 70 ล้านคนไม่ใช่ตลาดเล็กก็ตาม

“เรื่องแรงงานถูกไม่ใช่สิ่งที่ควรจะส่งเสริมอีกต่อไป แต่ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยถ้าพูดเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งโลกมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก จีโอโพลิติกก็เปลี่ยนแปลง คาร์เทลน้ำมันกลับมาใหม่ได้ สงครามเย็นก็กลับมาค่อนข้างแน่ เพราะฉะนั้น มันจะเป็นการฝ่าฟันที่จะต้องใช้ความอดทน ใช้ความร่วมมือ ความเข้าใจสูงมาก”

การเปิดเสรี แบบไหนที่จะทำให้สามารถทำให้ประเทศเดินหน้าได้ ‘บรรยง’ บอกว่า ข้อเสนอของเขาอาจจะโดนกลุ่มชาตินิยมไม่เห็นด้วย เช่น การถือครองที่ดิน เพราะประเทศพัฒนาแล้วไม่ห้ามในการถือครองที่ดิน เพราะที่ดินเอาไปไหนไม่ได้ การปิดให้คนไทยเท่านั้น ทำให้มีคนไทยที่เป็นมหาเศรษฐีไม่กี่ราย มีที่ดินคนละแสนๆ ไร่

นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรเปิดตลาดการเงินให้มากขึ้นด้วย ซึ่งต้องสอดคล้องกับฝ่ายกำกับดูแล ว่ามีศักยภาพที่เพียงพอในการเข้ามาดูแลด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องการเมืองมีผลสำคัญในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดย ‘บรรยง’ เห็นว่าการเมืองควรมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจเติบโตได้ดีเมื่อการเมืองมีเสถียรภาพ

“ในช่วงเผด็จการ ขอโทษนะ ผมไม่ได้ชอบนะ แต่เศรษฐกิจในยุคเผด็จการมักจะราบเรียบ และเติบโตดี สมัยยุคจอมพลถนอม เศรษฐกิจโตเฉลี่ย 9% สมัยป๋าเปรม(พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) ประชาธิปไตยครึ่งใบ โตเฉลี่ย 9% ผมไม่ได้บอกว่าควรจะเป็นเผด็จการหรือครึ่งใบนะ ในระยะยาวต้องไปประชาธิปไตย คือกลไกต่างๆ มันเปลี่ยนไปเยอะแล้ว และในเรื่องของช่วงเวลาจากประเทศด้อยพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ช่วงนั้นควรจะใช้เทคโนแครต หรือระบบราชการ เพราะภาคเอกชนยังอ่อนแอ แต่พอเป็นประเทศพัฒนาขึ้นมาเป็นระดับกลางจะข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วต้องใช้ตลาด อันนี้คือจากประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในการพัฒนาต่างๆ”

การแก้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะก้าวข้ามการดีลได้หรือไม่ ‘บรรยง’ บอกว่า มีคำอธิบายคำหนึ่งน่าสนใจมาก คือคนไทยเคยชินกับการดีลโดยในเรื่องนี้มีบทความของโจเซฟ สติกลิตซ์ เขียนไว้เลย ว่าประเทศที่กำลังพัฒนา ถ้าไม่เป็นประชาธิปไตยมักจะใช้สิ่งที่เรียกว่า deal-based economy คือ ใช้การดีล แต่ประเทศที่ดีต้องใช้ rule-based ไม่ใช่ deal-based คือการวางกฎให้ดี ปล่อยให้ตลาดทำงาน แต่เราเป็นประเทศที่ชินกับ deal-based ต้องคนนี้ไปดีลคนนั้นไปดีล

ซึ่งสติกลิตซ์เขียนไว้เลยว่า 2 ประทศที่ใช้ deal-based และทำให้เกิดปัญหาคืออาร์เจนตินาและประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ‘บรรยง’ เห็นสัญญาณที่ดีหลังเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ประชาชนตื่นรู้ เป็นเรื่องที่ดีที่สุด นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น อย่างน้อยการเลือกตั้งที่ผ่านมา เงินซื้อไม่ได้แล้ว

พร้อมบอกว่าการออกมาส่งเสียงดัง ๆ ครั้งนี้จริง ๆ ก็ไม่ได้กล้าหาญ บุ่มบ่ามขนาดนั้น..แต่เกิดทีตายที ไม่รู้จะกลัวอะไร

รับชมได้ทาง YouTube Thaipublica Channel