
ของหลักนิติธรรม
คำกล่าวที่ว่า “ประเทศใดมีกฎหมายมาก ประเทศนั้นมักมีปัญหา” น่าจะอธิบายปรากฏการณ์ “กฎหมายเฟ้อ” ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เพราะด้วยกฎหมายที่มีอยู่กว่าแสนฉบับ ไม่เพียงเป็นภาระต้นทุนโดยตรงต่อการประกอบอาชีพของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน แต่ยังเอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ขณะที่การปฏิรูปกฎหมายโดยตัดลดทอนกฎหมายที่ไม่จำเป็น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยสอดคล้องกับบริบทของประเทศและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าสามารถช่วยปลดพันธนาการให้กับภาคธุรกิจ พร้อมเปิดศักยภาพการพัฒนาประเทศให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
เกาหลีใต้ เป็นตัวอย่างของประเทศที่มีการปฏิรูปกฎหมาย โดยตัดลดกฎหมายที่ล้าสมัยลงเกือบครึ่งหนึ่ง จากที่มีอยู่กว่า 12,000 ฉบับ เหลือประมาณ 6,000 กว่าฉบับ ซึ่งนำไปสู่การขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศได้สำเร็จ
ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เคยศึกษาว่าหากประเทศไทยยกเลิกหรือแก้ไขกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นกว่า 1,000 กระบวนงาน จะสามารถประหยัดเงินได้ปีละกว่า 1.3 แสนล้านบาท ประเทศไทยเคยใช้วิธีแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เน้นลดขั้นตอนการขออนุมัติอนุญาตต่าง ๆ ซึ่งมีผลทำให้อันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) เพิ่มขึ้นกว่า 20 อันดับ จากที่เคยตกมาอยู่อันดับที่ 49 ในปี 2559 กลับขึ้นไปอยู่อันดับที่ 26 ในปี 2561 และได้อันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศในปี 2563 อินโดนีเซียได้ใช้วิธีเดียวกันนี้ในการเพิ่มอันดับดัชนีดังกล่าวได้แบบก้าวกระโดดเช่นเดียวกัน
แม้ว่าเกณฑ์ Ease of Doing Business จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ปัจจุบันธนาคารโลกได้นำเกณฑ์ใหม่ที่ชื่อว่า Business Ready (B-READY) มาใช้วัดความยาก-ง่ายในการดำเนินธุรกิจ โดยแบ่งเกณฑ์การวัดออกเป็น 10 ด้าน ตามวงจรธุรกิจตั้งแต่เปิดจนถึงปิดกิจการ ซึ่งจะมี 2 ด้านใหม่ที่ยังไม่เคยประเมินใน Doing Business และเป็นประเด็นที่ท้าทายมากสำหรับประเทศไทย ได้แก่ ด้านแรงงาน และด้านการแข่งขันทางการตลาด
นอกจากนี้ ยังนำ Critical Themes มาพิจารณาการดำเนินธุรกิจตามเกณฑ์ทั้ง 10 ด้าน (798 ตัวชี้วัดย่อย) ว่าได้มีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ มีการคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและความเท่าเทียมทางเพศหรือไม่ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกฎหมายเพื่อเอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจและการให้บริการสาธารณะ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ได้จัดทำกรอบแนวทางการปฏิบัติให้หน่วยงานภาครัฐใช้ขับเคลื่อนตามเกณฑ์ดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป
เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (คปธ.) ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ 4 คณะ ประกอบด้วย ด้านการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ด้านการพัฒนาระบบการขออนุญาตหลัก (Super License) ด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และด้านการผลักดันพลังงานสะอาด ซึ่งปัจจุบันปลดล็อกไปได้หลายเรื่องแล้ว โดยเฉพาะด้าน Super License ได้นำร่องปลดล็อกข้อจำกัดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงแรม และปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมายในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศและการจัดงานเทศกาลดนตรีในประเทศไทย เป็นต้น
แม้คณะกรรมการชุดนี้จะต้องยุติบทบาทไปพร้อมกับการพ้นตำแหน่งของอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แต่สำนักงาน ก.พ.ร. จะสานต่อภารกิจของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 ชุดต่อไป
พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นอีกตัวอย่างของการนำการปฏิรูปกฎหมายไปใช้ปฏิบัติจริง เพราะเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจสำนักงาน EEC ในการจัดหาที่ดินและนำไปพัฒนาได้อย่างเต็มที่ และเน้นให้ภาครัฐให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อลดต้นทุนการประกอบกิจการ ในกรณีที่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม/การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จใน 120 วัน และสามารถเสนอปรับปรุงกฎหมายและระเบียบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความสะดวก และความรวดเร็ว ในการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุน แต่ให้ใช้วิธีสัมปทาน หรือ PPP Fast Track ได้เลย
นอกจากนี้ ยังให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งมีการอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการ โดยเลขาธิการ EEC และคณะกรรมการนโยบาย สามารถออกใบอนุญาตได้ถึง 14 ใบอนุญาต
วงเสวนา ยังเห็นพ้องต้องกันว่า นอกจากการตัดลดทอนกฎหมายที่ไม่จำเป็น ควบคู่ไปการพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยรองรับธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นอนาคตของประเทศแล้ว ในการปฏิรูปกฎหมายยังต้องให้ความสำคัญกับตัวกฎหมายและการนำกฎหมายไปปฏิบัติใช้ โดยกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติหรือกฎหมายแม่นั้น ควรระบุเจตนารมณ์ให้ชัดเจน ส่วนวิธีการควรกำหนดไว้ในพระราชกำหนดหรือกฎหมายในลำดับรองลงมา และควรมีคู่มือการใช้เพื่อกำกับการตีความ ลดปัญหาการตีความกฎหมายตามตัวอักษรหรือตามดุลยพินิจ
……
ข้อมูลจากเวทีเสวนาในหัวข้อ “Navigating Regulatory Reform: Ensuring the Rule of Law in a Changing Landscape” ผ่านแพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate เครือข่ายผู้นำเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 โดยผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย คุณอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณเพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักที่ปรึกษากฎหมาย ปตท. รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน กรรมการศึกษาทบทวน
และปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ EEC