ThaiPublica > คอลัมน์ > สำรวจแนวคิดโอลิมปิก Paris 2024 [หลังพิธีเปิด]

สำรวจแนวคิดโอลิมปิก Paris 2024 [หลังพิธีเปิด]

10 สิงหาคม 2024


1721955

บทความนี้ต่อเนื่องจาก สำรวจแนวคิดโอลิมปิก [ก่อนพิธีเปิด]

ปารีส 2024 น่าจะเป็นโอลิมปิกที่มีดราม่าเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่อ “ฝ่ายขวา” พยายามอย่างหนักในการปลุกปั่นตั้งแต่ก่อนพิธีเปิด ไปยันการแข่งขัน ไม่ว่าจะฉากการแสดงสุดฮือฮาหลายดอกที่ “ฝ่ายซ้าย” เองก็จัดหนักจงใจจะ “โว้ค (Woke)” เสรีภาพกันอย่างเต็มที่ เลยมีดราม่ากันตั้งแต่…ลดโลกร้อนเอย…ลดเนื้อสัตว์เอย…ค่าแรงนักแสดงในพิธีเปิด…ตั๋วขายไม่ออก…ประท้วงด้วยการอึลงแม่น้ำแซน หรือเฟคนิวส์อย่าง…เตียงต้านการมีเซ็กซ์…จำนวนถุงยาง…ไปจนถึงโครโมโซมเพศชายของนักกีฬาหญิง ฯลฯ กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ฝ่ายปลื้มก็ปลื้มปริ่มมาก พวกยี้ก็ยี้แหวะหนักมากเช่นกัน ทว่านี่ต้องนับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ เพราะมันได้สร้างกระแสให้ผู้คนยังจะจดจำปารีสปีนี้ไปอีกแสนนาน

“ฝ่ายขวา-ฝ่ายซ้าย” ถูกใช้ในทางการเมืองเป็นครั้งแรกเมื่อสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 เนื่องจากสภาประชาชนแบ่งพวกสนับสนุนระบอบปกครองโบราณ (Ancien régime)ให้ไปนั่งทางฝั่งขวา ส่วนพวกสนับสนุนการปฏิวัติไปอยู่ฝั่งซ้าย แล้ว บารอน เดอ โกวีล รองผู้ว่าการแห่งสภาก็กล่าวขึ้นว่า “เรามาเริ่มทำความรู้จักกันเถิด พวกผู้ภักดีต่อศาสนาและกษัตริย์ให้นั่งอยู่ทางขวามือของประธาน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตะโกน, สาปแช่ง และก่นด่าด้วยคำหยาบคาย อันเป็นความเพลิดเพลินอย่างมีอิสระจากการถูกควบคุมในกลุ่มฟากฝ่ายตรงข้าม”

ซึ่งพิธีเปิดโอลิมปิกคราวนี้น่าจะทำให้เราได้เห็นภาพชัดในทันทีถึงสิ่งที่ เดอ โกวีล ว่าไว้ถึง “ความเพลิดเพลินอย่างมีอิสระจากการถูกควบคุม”…ที่ไม่ได้ถูกสงวนไว้เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้นที่จะทำได้…หรือคนบางกลุ่มถูกห้ามไม่ให้ทำ…และนี่คือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต่างก็แสวงหากัน และมันถูกเรียกว่า “เสรีภาพ”

[อนึ่งการจะทำความเข้าใจรายละเอียดในหลาย ๆ ชุดการแสดงในพิธีเปิด “ปารีส 2024” อาจต้องเข้าใจเกี่ยวกับ “การปฏิวัติฝรั่งเศส” อันเป็นใจความสำคัญด้วยธีม “เสรีภาพนำทางประชาชน” หากผู้อ่านสนใจ เราได้เล่าย่อพอสังเขปเอาไว้ในช่วงท้ายบทความนี้ สามารถเลื่อนลงไปอ่าน(หรือจะเลื่อนผ่าน)เลยก็ได้]

อย่างที่เราบอกไปคราวก่อนว่าคีย์สำคัญในปีนี้คือ รูปแบบใหม่ ความตื่นตาตื่นใจ และยั่งยืน พิธีเปิดคราวนี้เลยจัดแสดงกันเป็นขบวนแห่ไปทั่วปารีสแทนที่จะอยู่แต่ในสนามกีฬาอันนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในแง่การจัดการ โดยเฉพาะเมื่อถูกขู่วางระเบิดก่อนหน้านั้น ทำให้ยิ่งต้องเข้มเรื่องความปลอดภัย ไปจนถึงความยากในการถ่ายทำระหว่างการถ่ายทอดสด ที่กล้องจะต้องพยายามจับภาพทั้งผู้แสดงหลัก หมู่มวลนักแสดงรอบ ๆ ไปจนถึงรีแอ็คจากผู้ชมที่ไม่ได้กระจุกอยู่แค่ในสนามเดียวกันอย่างคราวก่อน ๆ

สำหรับบทความในคราวนี้เราตัดสินใจจะไม่เล่าทุกการแสดง จะเลือกเพียงบางชิ้นที่เราเห็นว่ายังไม่เคยถูกเล่าในบทความจากที่อื่น ๆ ดังต่อไปนี้ คือ

สุสานใต้ดินแห่งปารีส (Catacombs of Paris)

พิธีเปิดฉากขึ้นเมื่อ ซีเนดีน ซีดาน นักเตะทีมชาติฝรั่งเศสระดับตำนาน วิ่งคบเพลิงไปตามจุดต่าง ๆ ของปารีส ก่อนจะวิ่งลงไปยังสถานีรถไฟใต้ดินที่มีทางเข้าแบบอาร์ตนูโว ซึ่งปารีสมีรถไฟเมโทรแบบนี้มาตั้งแต่ปี 1900 แล้วซีดานก็วิ่งต่อไปผ่านโปสเตอร์โอลิมปิกปีก่อน ๆ ที่เรียงรายตรงกำแพงสถานีเมโทร ก่อนจะส่งคบเพลิงให้กับเด็กวัยรุ่น 3 คน อันเสมือนการส่งต่อความหวังไปยังคนรุ่นใหม่ แต่แทนที่จะนำเสนอความโรแมนติก พวกปารีสกลับเริ่มนำเสนอ “ความไม่โลกสวย” เป็นลำดับแรก ๆ เมื่อเด็ก ๆ ลัดเลาะไปโผล่ยังสุสานใต้ดิน Catacombs of Paris อันเป็นสุสานโกศ (Ossuary) เก็บกระดูกกว่าหกล้านคน!!

สุสานแห่งนี้เป็นฉากสำคัญในหนังสยองฟาวด์ฟุตเทจ As Above, So Below (2014) สุสานนี้เดิมทีเป็นพื้นที่เหมืองหินโบราณมาตั้งแต่ยุคโรมัน แต่ถูกเปลี่ยนเป็นสุสานเมื่อปารีสได้รับผลกระทบจากศพที่ล้นเมือง ทั้งด้วยโรคระบาดหนัก ภัยธรรมชาติ สงครามกลางเมือง และการสังหารหมู่ แต่ความจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้นเมื่อกำแพงชั้นใต้ดินรอบสุสานผู้บริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Innocents’ Cemetery) อันเป็นสุสานที่ใหญ่ที่สุดในปารีสได้ทรุดทะลายลงในปี 1774 ทำให้ต้องเร่งย้ายกระดูกจำนวนมหาศาลมาไว้ในเหมืองโบราณแห่งนี้ ก่อนจะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อปี1780 หลังจากนั้นก็มีการย้ายสุสานเก่าแห่งอื่น ๆ มากองรวมกันเพิ่ม อันรวมถึงเหยื่อกิโยตินในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสด้วย อาทิ หลุยส์-ฟีลิปที่ 2 ดยุกแห่งออร์เลอองส์ (บิดาของกษัตริย์หลุยส์-ฟีลิปที่ 1), มาดาม ดู แบร์รี (นางสนมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15), ชาร์ลอตต์ กอร์เดย์, มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ ฯลฯ [อ่านเพิ่มท้ายบทความ]

The Phantom of the Opera

ก่อนที่บุรุษลึกลับจะพายเรือโผล่มาในบริเวณน้ำท่วมของสุสานใต้ดิน แล้วรับพวกเด็ก ๆ กับคบเพลิงต่อไป ซึ่งชายคนนี้มาพร้อมเพลงธีม The Phantom of the Opera อันเป็นมิวสิคัลอังกฤษ ของ แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ ที่แสดงกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1986 กระทั่งโด่งดังไปทั่วโลก มีผู้ชมมากกว่า 140 ล้านคน เคยแสดงมาแล้วกว่า 183 เมืองใน 41 ประเทศ ซึ่งอันที่จริงมันเคยถูกสร้างเป็นหนังเงียบอเมริกันมาก่อนหน้านั้นแล้วในปี 1925 แล้วการที่มันเคยถูกดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นของชาติอื่น ๆ จนโด่งดัง ทำให้หลายคนอาจลืมไปว่า The Phantom of the Opera เป็นมรดกที่ฝรั่งเศสมอบให้แด่โลกใบนี้

ต้นฉบับดั้งเดิมเป็นวรรณกรรมฝรั่งเศส Le Fantôme de l’Opéra (พิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์ L’Écho de Paris ฉบับวันที่ 23 กันยายน 1909 – 8 มกราคม 1910) เขียนโดย กัสตง เลอรูซ์ เรื่องราวในนิยายเกิดขึ้น ณ ปาเลส์ การ์นิเยร์ (โรงโอเปร่าที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1861 ตามคำสั่งของจักรพรรดิหลุยส์-นโปเลียนที่ 3 [อ่านเพิ่มท้ายบทความ]) โดยเลอรูซ์หยิบไอเดียจากข่าวลือแปลก ๆ เกี่ยวกับฉากสยองที่เรียกว่า “Wolf Glen” อันเป็นฉากเด่นในละครโอเปร่าเยอรมันเรื่อง Der Freischütz (ชายสวมหน้ากาก) เมื่อปี 1841 ที่ว่ากันว่าทำถึงด้วยบทเพลงชวนขนหัวลุกเพราะใช้อาถรรพ์จากกระดูกผีนักเรียนบัลเลต์

Mon Truc En Plume

ไฮไลท์การแสดงแรกเริ่มขึ้นเมื่อเลดี้กาก้า นักร้องชาวอเมริกันลูกเสี้ยวฝรั่งเศส-อิตาเลียน-แคนาดา ตัวมัมรันวงการออกมาร้องเพลงฮิตแห่งยุค60s “Mon Truc En Plume” อันเป็นเพลงของ ซีซี ฌ็องแมร์ ที่เปิดตัวเมื่อปี 1961 ผู้แจ้งเกิดในฐานะนักเต้นบัลเลต์ ก่อนจะเจิดจรัสเป็นนักร้องนักแสดงกลายเป็นไอคอนแห่งฝรั่งเศสในช่วงยุค 50-60s ด้วยความน่ารักเซ็กซี่ทำให้เพลงนี้โด่งดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะความหมายสองแง่สองง่ามที่ว่าด้วย “เรือนร่างที่ห่อหุ้มด้วยขนนุ่มปุกปุย” ซึ่งทุกวันนี้คาบาเรต์โชว์ทั่วโลกก็ยังคงใช้เพลงนี้กันอยู่ รวมถึงชุดดำรัดรูปกับขนนกสีชมพูแบบนี้ก็ยังเห็นตามงานแสดงทั่วไป แน่นอนว่ารวมถึงเวทีหมอลำบ้านเราก็ด้วย โดยที่พวกเขาอาจไม่เคยรู้ตัวมาก่อนด้วยซ้ำว่าได้รับการสืบทอดมรดกฝรั่งเศสนี้มาจาก ซีซี

ซีซี กับ แซงต์ โลรองต์ และชุดที่เขาออกแบบให้เธอ

โดยชุดขนปุยสีชมพูนี้มีการพัฒนาไปอีกหลากหลายเวอร์ชั่น และทุกเวอร์ชั่นออกแบบโดยดีไซเนอร์โอต์ กูตูร์ (Haute couture การตัดเย็บระดับแฟชั่นชั้นสูง) คนดังชาวปารีส อีฟ แซงต์ โลรองต์ ผู้เคยเป็นดีไซเนอร์ส่วนตัวให้ ซีซี มาก่อน อีกทั้งแซงต์ โลรองต์ ยังใช้ ซีซี เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบชุดในอีกหลายคอลเล็คชั่น

ครั้งหนึ่ง แซงต์ โลรองต์ เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อปี 1983 ว่า “ซีซี กับ โรลองต์ เปอตี (ผู้กำกับบัลเลต์ชื่อดังผู้เป็นสามีของซีซี) พวกเขาเป็นตัวแทนของความเก๋ไก๋ของชาวปารีส ด้วยการแต่งกายที่หรูหรา…และผมไม่เคยลืม Carmen บัลเลต์ที่เปอตีทำร่วมกับซีซีในปี 1949 ได้เลย เธอสวมชุดรัดรูปคอร์เซ็ท ผมซอยสั้น…แบบสั้นมาก สมัยนั้นไม่มีผู้หญิงที่ไหนกล้าตัดผมสั้นได้ขนาดนั้น พวกเขาทำให้ช่วงวัยรุ่นของผมเปี่ยมไปด้วยศิลปะอย่างแท้จริง”

Carmen (1949)

ซีซี เสียชีวิตอย่างสงบในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2020 ด้วยวัย 96 ปี อย่างไรก็ตามการเปิดตัวด้วยเลดี้กาก้า ที่มีฐานอยู่ในอเมริกาก็เป็นไอเดียที่ก้าวหน้าอย่างมาก เพราะนี่คือการแสดงให้เห็นว่าลูกหลานชาวฝรั่งเศสได้แผ่อิทธิพลกว้างไกลและยิ่งใหญ่ไพศาลขนาดไหน อันเป็นการเซอร์ไพรส์อย่างยิ่งที่ไม่คาดว่านักร้องอเมริกันจะได้รับเกียรติในลำดับแรกของการแสดง ที่แต่ก่อนประเทศอื่น ๆ มักจะหัวอนุรักษ์ด้วยการใช้กันแต่ศิลปินในชาติตนเอง

นอกจากนี้จากคราวที่แล้วเราเคยเล่าถึงทีมผู้ลี้ภัยที่ปกติจะปรากฏในพิธีเปิดเป็นลำดับสุดท้าย ทว่าปารีสคราวนี้กลับเลื่อนให้พวกเขามาอยู่เป็นขบวนแรกของทัพนักกีฬา อันเป็นการต้อนรับผู้คนทุกเชื้อชาติ ทุกสถานะอย่างแท้จริง หนำซ้ำล่าสุด ซินดี้ งัมบา ผู้ลี้ภัยชาวแคเมอรูนในอังกฤษ นักมวยรุ่นมิดเดิลเวทหญิง ยังคว้าเหรียญทองแดงได้เป็นเหรียญแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกอีกด้วย เธอต้องลี้ภัยเพราะเป็นหญิงรักหญิง เนื่องจากในแคเมอรูนถือว่าการรักเพศเดียวกันนั้นผิดกฎหมาย

Assassin’s Creed

แล้วชายลึกลับคนเดิมก็ฟรีรันนิ่งวิ่งคบเพลิงกระโดดไปตามตึกต่าง ๆ ของปารีส ทำให้เวลานั้นผู้ชมต่างแห่กันทวิตสงสัยว่าเขาจะคือตัวละครจากเกมสุดฮิต Assassin’s Creed ของค่าย Ubisolf ในฝรั่งเศส (เจ้าของเดียวกันกับเกม Driver, Far Cry, Just Dance, Prince of Persia , Rabbids , Rayman , Tom Clancy’s และWatch Dogs) อันเป็นการแสดงข้อเท็จจริงให้เราได้รู้อีกว่า ผู้ผลิตเกมรายใหญ่ของโลกไม่ใช่ญี่ปุ่นหรือเกาหลี โดยอ้างอิงจากเว็บเกมเมอร์ชื่อดัง Polygon ได้กล่าวว่า “สิ่งที่น้อยคนจะรู้ คือฝรั่งเศสเป็นผู้ผลิตวิดีโอเกมรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐ วิดีโอเกมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส และฝรั่งเศสมีประชากรนักเล่นเกมในยุโรปมากที่สุด คือมากถึง 36 ล้านคน แต่เพราะเมื่อเรานึกถึงฝรั่งเศส เราจะนึกถึงกันแต่อาหาร…แฟชั่น…งานศิลปะ…หรืออะไรที่เป็นโลว์เทคโนโลยี ผู้คนเลยไม่มีไอเดียว่าแท้จริงแล้วพวกเขามีศิลปะแบบไฮเทคโนโลยีด้วย”

Polygon ยังอธิบายเสริมอีกว่า “ฝรั่งเศสเป็นผู้นำในการสร้างเกมการเมืองที่แหวกแนว แหกขนบ เซ็กซี่ และสะท้อนความเป็นจริงในสังคมโลก ซึ่งบ่อยครั้งพวกเขาก็หยิบเอาการเมืองในฝรั่งเศสจริง ๆ มาแขวะในเกมได้อย่างมีอิสระโดยไม่ผิดกฎหมายหมิ่นด้วย”

อีกข้อสังเกตของชาวเนตที่ว่าทำไมโอลิมปิกถึงให้ตัวละครนี้มาเป็นแกนเชื่อมการแสดงทั้งหมด ก็อาจเพราะค่าย Ubisolf เคยร่วมบริจาคเงินห้าแสนยูโร (19.2 ล้านบาท) ในการบูรณะมหาวิหารนอเทรอดามหลังเหตุเพลิงไหม้เมื่อปี 2019 ด้วย แถมช่วงที่เกิดเหตุทางค่ายยังเปิดให้เล่นเกม Assassin’s Creed ฟรีเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์อีก

โดยรวม Assassin’s Creed เป็นเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างสองกลุ่ม คือ มือสังหาร (Assassin) กับอัศวินเทมพลาร์ (Knight Templar) อันมีมาตั้งแต่แรกเริ่มเผ่าพันธุ์มนุษยชาติในโลกใบหนึ่งที่ถูกทำลายไปด้วยพายุสุริยะ หลังจากสงครามระหว่างพระเจ้า-ผู้สร้างกับมนุษย์-ผู้รับใช้ กาลเวลาผ่านไปเนิ่นนานเรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นตำนานในศาสนาที่ถูกเล่าขานต่างกันออกไปในโลกของเรา
พวกเทมพลาร์ ยึดหลักครองโลกเพื่อสันติ และมุ่งมั่นหาเทคโนโลยีของผู้มาก่อนกาล เพื่อยึดครองโลก ขณะที่พวกแอสแซสซิน กลับเห็นว่าเสรีภาพคือสิ่งที่มนุษย์ถวิลหา และมนุษย์ไม่ต้องการถูกควบคุมหรือยึดครอง พวกเขาจึงจ้องจะขัดขวางพวกเทมพลาร์ทุกวิถีทาง แต่ละภาคจะตัดสลับระหว่างยุคปัจจุบันกับอดีต ผ่านทางเครื่องมือที่เรียกว่า “แอนิมัส” ที่จะพาย้อนกลับไปหาความทรงจำของบรรพบุรุษในแต่ละยุคสมัย

ตัวละครที่ปรากฎในโอลิมปิก คือ อาร์โน วิกตอ โดริยง (เกิดปี 1768 ในสมัยหลุยส์ที่ 15) เป็นมือสังหารระดับปรมาจารย์ของกลุ่มภราดรภาพฝรั่งเศส ซึ่งมีบทบาทในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส และสงครามนโปเลียน อาร์โนเกิดในตระกูลขุนนางลำดับรอง ในเมืองแวร์ซายส์ อาร์โนเป็นลูกคนเดียวของชาร์ลส์ โดริยง มือสังหารชาวฝรั่งเศส กับมารีชาวออสเตรีย (สองชาติคู่ขัดแย้งกันอย่างยาวนาน แต่ก็ต้องพยายามดองกันเพื่อสืบเชื้อสายราชวงศ์ ดังเช่นกรณีของพระนางมารี อองตัวเน็ต ผู้มีชาติกำเนิดจากเวียนนา)

อาร์โนเป็นพวกมีการศึกษาดีและรักการอ่านมาตั้งแต่อายุยังน้อย หลายปีต่อมา มารี ทะเลาะกับสามีแล้วหนีไป ปล่อยให้ชาร์ลส์ ต้องเลี้ยงดู อาร์โน ตามลำพัง จากนั้นสองพ่อลูกก็เริ่มออกเดินทางไปทั่วยุโรปและแอฟริกาเหนือ ก่อนที่ชาร์ลส์จะถูกสังหารด้วยฝีมือของ “ชายที่ไม่มีใครจับได้”

ตลอดการเดินทาง อาร์โน ได้พันธมิตรมากมาย รวมถึง มาร์กี เดอ ซาด (ผู้เป็นที่มาของศัพท์คำว่า “ซาดิสม์” เนื่องจากเขาหมกมุ่นกับการทรมานคู่ขาด้วยวิธีต่าง ๆ) และ นโปเลียน โบนาปาร์ต [อ่านเพิ่มท้ายบทความ]

Ménage à trois

เมื่อธีมหลักปีนี้คือเสรีภาพ หนึ่งในเสรีภาพที่ขาดไม่ได้แต่ไม่เคยถูกพูดถึงเลยในโอลิมปิกครั้งไหนก็ตามคือ “เสรีภาพทางเพศ” ฉากแนว “เมนาจ อา ทรัวส์” (ฝรั่งเศสแปลได้ว่า-การจัดแจงเรื่องในบ้าน) จึงปรากฏขึ้นอย่างมีนัยยะ เมื่อภาพตัดไปยังโถงวงรีที่เรียกกันว่า Paradis ovale (สวรรค์ทรงไข่ไก่) ภายในหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส (Bibliothèque nationale de France) พาไปเห็น หนึ่งหญิงสองชายปิ๊งกัน ก่อนที่ทั้งสามคนจะวิ่งพากันไปยังห้องนอนของใครคนหนึ่ง อันเป็นฉากที่ดัดแปลงมาจากซีนหนึ่งของหนัง Jules et Jim (1962) โดยผู้กำกับ French New Wave ชั้นครูชาวปารีส ฟร็องซัว ทรูว์โฟ ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายดังชื่อเดียวกันโดยนักเขียนชาวปารีเซียง อ็องรี-ปีแยร์ โรเช ในปี 1953

หนังสือเล่มดังกล่าวปรากฏในพิธีเปิดช่วงนี้ด้วย รวมถึงหนังสือเซ็กซี่เล่มดังอื่น ๆ อาทิ Romances sans paroles. (เพลงรักที่ไม่มีคำร้อง) โดย ปอล แวร์แลน, Sexe et Mensonge (เซ็กซ์กับคำลวง) โดย เลลา สลีมานี, Bel-Ami (เพื่อนที่รัก) โดย กีย์ เดอ โมปัสซังต์, Le Diable au corps (รักร้าย) โดย เรย์มงด์ ราดิเกต์, Dangerous Liaisons โดย ชอแดร์โล เดอ ลาโก ฯลฯ
“เมนาจ อา ทรัวส์” คือเพศสัมพันธ์ในแบบสามคนเท่านั้น (จำนวนไม่มากหรือน้อยไปกว่านี้) ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในแบบรักใคร่กับเพศตรงข้าม (Heterosexuality) รักใคร่ได้กับทั้งสองเพศ (Bisexual) หรือ กับผู้ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ (Asexual)

เราไม่แน่ใจว่าในที่นี้ Ménage à trois ควรแปลเป็นไทยว่า “รักสามเส้า” ได้หรือไม่ เนื่องจากรากศัพท์ไทย “ก้อนเส้า” คือก้อนหินที่เอามาตั้งเตาไว้ก่อไฟ ที่ให้ความรู้สึกถึงความร้อนแรง แผดเผา ต่างต้องเจ็บปวดหรือผิดบาปราวกับลงนรกด้วยกันหมดทั้งสามฝ่าย แต่ “เมนาจ อา ทรัวส์” เป็นคำซุกซนที่ไม่ได้ให้ความรู้สึกเจ็บปวด หรือรู้สึกผิดบาปต่อการกระทำนี้เลย และฉากนี้ในพิธีเปิดก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาทั้งสามต่างก็พึงพอใจในกันและกันอย่างสุขสม (รวมถึงการโว้คเรื่องเชื้อชาติและความหลากหลายทางเพศด้วย เมื่อให้คนหนึ่งเป็นฝรั่งผิวขาว อีกคนเป็นคนดำ และอีกคนดูเอเชียนลุค ขณะที่ทั้ง 3 คนนี้นัวเนียกันได้ทั้งหญิงและชาย)

ฉากสั้น ๆ นี้เป็นความท้าทายความเชื่อแบบผัวเดียวเมียเดียวที่ชาวโลกต่างยึดถือในโลกปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า “รูปแบบ monogamy เป็นสิ่งที่ชาวคริสต์เผยแผ่ในช่วงล่าอาณานิคม” หรืออย่างกรณีในประเทศไทยเรายังมี พระราชบัญญัติลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 2473 ที่ยังใช้กันอยู่มาจนถึงวันนี้ ไปจนถึงการอ้างถึงศีลข้อสามเรื่องการประพฤติผิดในกาม

ยูหมิงเฮ ชาวฝรั่งเศสเชื้อสายเอเชียน บ้านเราน่าจะจำเขาได้จากซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ Osmosis (2019) หนึ่งในผู้แสดงฉากดังกล่าวนี้เล่าว่า “สำหรับฉันมันคือการเฉลิมฉลองความรักเหนือสิ่งอื่นใด โตม่า โจล (ผู้กำกับฉากนี้และผู้ควบคุมพิธีเปิดทั้งหมด) มีความกล้าหาญอย่างยิ่งที่จะแสดงสิ่งที่ผู้คนทั่วไปไม่เคยตระหนักถึง วิถีแห่งความรัก การถูกรัก การมีชีวิตอยู่ และคนเหล่านี้มีอยู่จริง”

“แม้ว่าจะมีปฏิกิริยาในโซเชียลที่ขัดแย้งกันมากทั้งฝ่ายเห็นด้วย และคัดค้านต่อความสัมพันธ์เราสามคนแบบนี้ แต่ก็มีหลายคนทวิตถึงฉันว่าพวกเขาร้องไห้เมื่อเห็นฉากนี้ มันคือข้อความทางการเมืองที่แข็งแรงมาก ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงความรัก การแบ่งปันความรัก วิธีแสดงออกถึงความรัก ไม่ใช่การต่อต้านความรัก หรือต่อต้านรูปแบบหนึ่งของการมีชีวิตอยู่…ของกลุ่มคนที่มีอยู่จริง และเราไม่ได้ต่อต้านพวกฝ่ายขวาหัวอนุรักษ์…เราแค่แสดงให้เห็นถึงหลากหลายวิธีในการอยู่ร่วมกัน…และเราเรียกสิ่งนี้ว่าการเฉลิมฉลอง”

Les Misérables

ฉากละครเพลงของ Les Misérables ปรากฏขึ้นระหว่างพิธีเปิด พร้อมกับคำฝรั่งเศสที่แปลว่า “เสรีภาพ” ตรงนี้เราจะขอเล่าเรื่องที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่า วิคตอร์ อูโก เริ่มเขียนนิยายเรื่องนี้ในปี 1829 แต่เขาตีพิมพ์ครั้งแรกขณะกำลังลี้ภัยในเบลเยี่ยมเมื่อปี 1862 แปลว่าเขาใช้เวลานานถึง 33 ปีกว่าจะเขียนนิยายเล่มนี้จบลงด้วยต้นฉบับที่มีความหนาถึง 1,900 หน้า ซึ่งเวลานั้น อูโก มีชื่อเสียงมาก่อนหน้านั้นแล้วในฐานะผู้แต่ง The Hunchback of Notre-Dame (1831) ทำให้มีผู้อ่านรอคอยผลงานใหม่ของเขาและถูกคาดหวังเป็นอย่างมาก อีกทั้งฉบับแปลภาษาอังกฤษยังวางจำหน่ายทั้งในนิวยอร์กกับลอนดอนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

แต่กลายเป็นว่าคำวิจารณ์ส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสเป็นไปในทางลบ เช่น “เนื้อหาผิดศีลธรรม” “โศกสลดเกินไป…อะไรจะรันทดขนาดนั้น” “รู้สึกอึดอัดที่ผู้เขียนมีแนวคิดทางการเมืองแบบเดียวกับคณะปฏิวัติ และแสดงความเห็นอกเห็นใจคณะปฏิวัติมากจนเกินพอดี” “ไม่มีใครจะอ่านเล่มนี้ได้จบโดยไม่รังเกียจมัน” “จอมปลอมและน่าผิดหวัง” “ขาดไร้ซึ่งความเป็นจริงและไม่เห็นจะยิ่งใหญ่ตรงไหนเลย” “ตัวละครมีทัศนคติแบบเหมารวม และทุกคนหยาบคาย” “นับเป็นความพยายามที่อ่อนด้อย” และ “นี่คือการล่มสลายของเทพเจ้า”

หนึ่งในนั้นเป็นนักวิจารณ์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส ชาร์ลส์ โบเดอแล จวกแรงว่า “เป็นความสำเร็จของ อูโก ในการสร้างความสนใจแก่สาธารณชนไปยังปัญหาสังคมก็จริง แต่ข้าพเจ้ามองว่าผลงานนี้เป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อที่ไม่มีความเป็นศิลปะอันใดเลย โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้าต้องขอตำหนิว่า ช่างเป็นผลงานที่น่ารังเกียจและไม่เหมาะสม”

น้อยคนจะรู้ว่าอูโกมีฝีมือในการวาดรูปด้วย

อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้กลับได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในสหรัฐ เนื่องจากธีมของนิยายที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้บรรดาทหารสหพันธรัฐในอเมริกานิยมนิยายเรื่องนี้อย่างมาก มันยังคงถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ และยังคงวางจำหน่ายไปทั่วโลก ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มากกว่า 60 เรื่อง มีการผลิตเป็นมิวสิคัลที่แปลไปแล้ว 22 ภาษา(แน่นอนว่าไม่มีทางมีเวอร์ชั่นไทย) และนิยายเล่มนี้ยังคงมีอิทธิพลต่อการเล่าเรื่องสมัยใหม่ด้วยธีมความรัก การเสียสละ และความยุติธรรม อย่างไรก็ตามคำวิจารณ์โดยรวมที่ค่อนข้างเห็นพ้องกันคือ “พูดนอกเรื่องเสียเยอะ และมีบริบททางประวัติศาสตร์ที่ล้นหลาม” ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมากกว่าหนึ่งในสี่ของนิยายเล่มนี้ เป็นการเขียนเหมือนบันทึกความคิดเห็นเรื่องสัพเพเหระที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง

อย่างไรก็ตาม อัพตัน ซินแคลร์ นักเขียนชาวอเมริกันรางวัลพูลิตเซอร์สาขานวนิยาย และนักเคลื่อนไหวทางสังคม เคยยกย่องนิยายเล่มนี้ว่า “เป็นหนึ่งในนิยายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกใบนี้ที่มีอยู่ไม่เกินหกเล่ม”

หนึ่งในตัวเอกของเรื่องนี้คือ ฌอง วัลฌอง ถูกเขียนขึ้นมาจากเรื่องจริงของ เออแฌน ฟรองซัวส์ วิด็อก อาชญากรผู้ผันตัวมาเป็นสายสืบนอกเครื่องแบบ ก่อนจะออกมาก่อตั้งสำนักงานนักสืบเอกชนแห่งแรกในฝรั่งเศส และยังเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงในด้านสังคมสงเคราะห์ ซึ่งนอกจาก Les Misérables แล้ว อูโก ยังหยิบไปใช้เป็นตัวละครในอีก 2 เรื่อง คือ Claude Gueux (1834, เรื่องสั้น) กับ Le Dernier jour d’un condamné (1829, นิยาย)

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับนิยายนี้คือในปี 1829 เขาอยู่ในที่เกิดเหตุเมื่อมีตำรวจสองนายรุมกันจับกุมโจรที่ขโมยขนมปังเพียงก้อนเดียว แล้วขณะที่ตำรวจกำลังพาโจรคนนั้นขึ้นรถ เขาหันกลับมามองลูกเมียที่กำลังเล่นซนอยู่ในสวนโดยไม่รู้เลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับผู้เป็นสามี เหตุการณ์นี้สะเทือนอารมณ์ อูโก เป็นอย่างมาก เขานำไปจินตนาการต่อแล้วเขียนเป็นตัวละคร ฟ็องตีน กับโกแส็ต ที่ต้องพรากจากชายในคุก นิยายเรื่องนี้ถูกยกย่องเป็นอย่างมากในการนำพาให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งของเหยื่อที่ถูกกระทำโดยรัฐ ทั้งความยากจนอันเกิดจากรัฐไม่เหลียวแล และช่องโหว่ของกฎหมายที่รังแกคนจน จุดประกายในการเปลี่ยนแปลงสังคม การเมือง และแสดงภาพกระจ่างชัดเกี่ยวกับความยากจนไม่เท่าเทียม

(จากซ้าย) ขณะลี้ภัยในเกาะแจร์เซ, 1861 เบลเยี่ยม, 1881 ปารีส

อูโก เกิด ณ เมืองเบอซองซง เมื่อปี 1802 บิดาเป็นนายทหารชั้นนายพล ผู้บัญชาการกองทัพแห่งจักรพรรดินโปเลียน [อ่านเพิ่มท้ายบทความ] เขาโยกย้ายไปตามบิดายังประเทศต่าง ๆ เช่น อิตาลี สเปน จนถึง 1812 จึงเข้ามาปักหลักในปารีส ซึ่งทำให้เขาพบเจอผู้คนและปัญหาสังคมมากมาย พ่อแม่หย่าร้างกันเพราะความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงเนื่องจากบิดานิยมระบอบกษัตริย์ แต่มารดานิยมระบอบสาธารณรัฐ ขณะที่บิดาต้องการให้เขาเข้าเรียนในโรงเรียนทหารช่างปืนใหญ่ แต่ตัวเขาชอบวรรณคดีและการประพันธ์ เนื่องจากเคยได้รางวัลมาตั้งแต่อายุ 17

การรัฐประหารสมัยนโปเลียนที่ 3 เมื่อปี 1851 [อ่านเพิ่มท้ายบทความ] ทำให้ อูโก ลี้ภัยไปยังเกาะแจร์เซ และเกาะแกร์นเซ ความคับแค้นด้านการเมืองผลักดันให้เขาเขียนกวีนิพนธ์ที่ยั่วล้อสังคม และแสดงความทุกข์ระทมของผู้ทุกข์เข็ญ ด้วยน้ำเสียงเย้ยหยันความยุติธรรมอันเนื่องมาจากกฎหมายที่ขาดความเห็นอกเห็นใจประชาชน

อูโกกลับสู่ปารีสในปี 1870 เวลานั้นเขาได้รับการยกย่องให้เป็น กวีแห่งชาติ (le pöète national) แล้วเมื่อเขาถึงแก่กรรมในปี 1885 รัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดขบวนแห่ศพของเขาไปยังสุสานแห่งชาติ ปองเตอง (Panthéon) อันเป็นสถานที่เก็บศพบุคคลสำคัญที่สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศชาติ ทุกเมืองทั่วฝรั่งเศสมีการตั้งชื่อถนนเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาว่า “Victor Hugo”

เราขอจบบทความไว้เพียงเท่านี้ ทว่าสามารถอ่านเพิ่มเกี่ยวกับปฏิวัติฝรั่งเศสโดยสังเขปได้ หลังจากย่อหน้าด้านล่างนี้ ที่เราขอปิดท้ายด้วยข้อเขียนของ อูโก ในฉบับภาษาอิตาเลียน ที่ถูกบรรณธิการขอให้เขียนขึ้นเป็นพิเศษ อูโก เขียนว่า

‘ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าจะมีใครได้อ่านหน้านี้หรือไม่ แต่ข้าพเจ้าเขียนไว้สำหรับทุกคน โดยข้าพเจ้าตั้งใจจะกล่าวถึงอังกฤษ เช่นเดียวกับสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี และไอร์แลนด์ สาธรณรัฐต่าง ๆ ที่ยังคงเป็นที่อยู่ของไพร่ทาส เช่นเดียวกับจักรวรรดิที่ยังคงมีไพร่ทาส ปัญหาสังคมไปไกลเกินขอบเขต บาดแผลของมนุษยชาติ แผลขนาดใหญ่ที่เกลื่อนโลก ไม่ได้หยุดอยู่แค่เส้นสีน้ำเงินและสีแดงที่วาดบนแผนที่ ไม่ว่าผู้ชายจะไปไหนด้วยความโง่เขลาหรือสิ้นหวัง ไม่ว่าผู้หญิงจะขายตัวเองเพื่อซื้อขนมปัง ที่ใดก็ตามที่เด็ก ๆ ไม่มีหนังสือให้เรียนรู้ หรือขาดไร้เตาผิงไฟอันอบอุ่น Les Misérables จะเคาะประตูแล้วพูดกับคุณว่า “เปิดประตูสิ ข้าพเจ้าอยู่ตรงนี่เพื่อคุณ”’…อูโก เขียนไว้เมื่อ 162 ปีก่อน

ปฏิวัติฝรั่งเศสโดยสังเขป
ผู้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าหลังการปฏิวัติเมื่อปี 1789 แล้ว ฝรั่งเศสก็ยกเลิกระบอบกษัตริย์ทันที แต่ความจริงแล้วกว่าฝรั่งเศสจะมีประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐเหมือนทุกวันนี้ พวกเขาได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองกลับไปกลับมาอยู่หลายรอบ แล้วกว่าจะมั่นคงอย่างในปัจจุบันก็ปาไปสาธารณรัฐที่สามเมื่อปี 1871 นู่น แปลว่าฝรั่งเศสต้องใช้เวลาอีกนานกว่า 82 ปีนับจากการปฏิวัติครั้งแรก

ความเคียดแค้นของประชาชนฝรั่งเศสมีมาตั้งแต่สมัยกษัตริย์หลุยส์ที่ 15 (1715-1774) เนื่องจากการเก็บภาษีไม่เป็นธรรม ชนชั้นล่างรากหญ้าร้านตลาดผู้ใช้แรงงานถูกเก็บภาษียิบย่อยจนไม่พอยาไส้ แต่พวกศาสนจักรฐานันดรที่ 1 กับขุนนางฐานันดรที่ 2 แทบไม่ต้องเสียภาษีอะไรเลย รวมถึงพวกบูชวาร์ / กระฎุมพี (bourgeois) ชนชั้นกลางเศรษฐีใหม่ ก็มักหาวิธีเลี่ยงภาษีไปได้ชิล ๆ กลายเป็นว่าชนชั้นกษัตริย์มีชีวิตกินหรูอยู่สบายได้เพราะหยาดเหงื่อเลือดเนื้อจากเม็ดเงินที่ดูดแทะจากชนชั้นล่าง

การปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งแรก 1789-1799
ความคับแค้นสั่งสมมาถึงสมัยหลุยส์ที่ 16 (1774-1792) เพราะนอกจากภาษีโหดแล้ว ยังเกิดภัยธรรมชาติอยู่หลายปี กลายเป็นความอดอยากทำให้ชาวบ้านก่อจลาจลไปทั่ว ราชสำนักระส่ำระสายเมื่อภาษีที่ปอกลอกมาไม่ทะลุเป้า

กษัตริย์หลุยส์ 16 จึงเปิดประชุมสภาฐานันดรทั้ง 3 (1.กษัตริย์ ขุนนาง กองทัพ 2.สงฆ์ ศาสนจักร 3.ประชาชน) เป็นครั้งแรกในรอบ 175 ปี (แปลว่าไม่ได้เปิดประชุมมานานชาติเกือบสองศตวรรษแล้ว) แต่เป็นการเปิดเพื่อสร้างภาพ เพราะเอาเข้าจริงคือตั้งใจจะควบคุมให้กระบวนการเก็บภาษีกลับเข้าที่เข้าทาง ซึ่งแม้ประชาชนจะมีจำนวนมากถึง 98% ส่วนขุนนางกับสงฆ์รวมกันจะจิ๊บจ๊อยแค่ 2% เท่านั้น แต่สุดท้ายทั้ง 3 ฐานันดรนี้กลับมีสิทธิ์โหวตเท่ากัน แปลว่าไม่ว่าจะโหวตกันให้ตายยังไงประชาชนก็เป็นแพ้อยู่ดี เพราะทั้งสองฐานันดรแรกต่างก็เสวยสุขบนกองภาษีที่รีดเลือดขูดเนื้อมาจากฐานันดรที่ 3

ความอยุติธรรมนี้ทำให้ประชาชนจัดตั้งสภาของตนเองขึ้นมา นำโดยนักปรัชญา นักกฎหมาย ผู้มีการศึกษาทั้งหลายแหล่ เพื่อต่อรองกับกษัตริย์ ทว่าหลุยส์ 16 กลับสั่งทหารมาล้อมปารีส ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 1789 ด้วยการไปล้อมคุกบาสตีย์-ที่คุมขังนักโทษการเมืองคู่ขัดแย้งกษัตริย์ แล้วชาวบ้านก็เริ่มรุมกันตัดหัวผู้คุมคุก เสียบไม้ประจานเดินแห่โห่ฮิ้วทั่วปารีส


แม้จะอำมหิตอย่างมาก แต่กลายเป็นความสะใจท่ามกลางมวลมหาประชาชนผู้เคียดแค้นมาอย่างยาวนาน แถมพวกมีการศึกษาในสภาประชาชนยังเห็นดีเห็นงามต่อความโหดเหี้ยมนี้ด้วย โดยเฉพาะอดีตนักเขียนทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ผู้ผันตัวมาเป็นนักข่าวตัวท็อปอย่าง ฌ็อง-ปอลล์ มาราต์ ออกมาสนับสนุนอย่างออกนอกหน้าด้วยการตีพิมพ์บทความเห็นชอบต่อความรุนแรงนี้ ทำให้มาราต์ได้แสงส่องไปเต็ม ๆ แล้วเลื่อนขั้นขึ้นเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อขบวนการปฏิวัติ นำไปสู่แนวคิดสยดสยองที่เรียกว่า “Reign of Terror” เปิดฉากสังหารหมู่อย่างกว้างขวางด้วย “กิโยติน” ในช่วง 1792-1794

“สภาประชาชน” ขับเคลื่อนด้วยกลุ่ม “ฌากอแบ็ง (Club des Jacobins)” อันมีมาราต์เป็นแกนนำ มีหัวขบวนเป็นถึงนักกฎหมาย มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ เขาเชื่อว่าการปฏิวัติต้องมีทั้ง “คุณธรรมและความโหดเหี้ยม” ทำให้ รอแบ็สปีแยร์ ตั้ง “คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ (Comité de salut public)” เพื่อคุ้มครองการปฏิวัติจากศัตรูทั้งภายในและภายนอก (เพราะทั่วยุโรปล้วนมีกษัตริย์จึงกลัวประชาชนจะลุกฮือเลียนแบบ) คณะกรรมการนี้ลุแก่อำนาจในการสอบสวน กักขัง และลงโทษ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนจบลงด้วย “กิโยติน”
ในช่วง Reign of Terror (1792-1794) มีการประหารสูงถึง 16,594 คน บางคราวกิโยติน non-stop หลายวันหั่นหัวไปมากกว่า 1,600 คนในคราวเดียว ไม่เว้นทั้งสงฆ์ ทหาร ผู้หญิง เด็ก ราชวงศ์ รวมถึงกษัตริย์หลุยส์ 16 กับพระนางมารี อองตัวเนตต์ ก็ถูกกุดหัวในช่วงนี้ด้วย แล้วคนสำคัญที่ปลุกปั่นล่ารายชื่อ “พวกสมควรตาย” เหล่านี้ก็คือ มาราต์ คนดังคนเดิมนั่นเอง

แต่ในที่สุดมาราต์ก็ถูกลอบแทงตายคาอ่างน้ำเมื่อ 13 กรกฎาคม 1793 ขณะเขียนข่าวปั่นและลิสต์รายชื่อ “ผู้ควรตาย” ด้วยฝีมือของ ชาร์ลอตต์ กอร์เดย์ หญิงอายุ 24 ในขบวนการปฏิวัตินี้ด้วย แต่เพราะเธอไม่เห็นด้วยต่อการประหารผู้คนจำนวนมาก อีกเพียง 4 วันต่อมา กอร์เดย์ ก็ถูกกิโยตินด้วยคำพูดสุดท้ายว่า “ฉันฆ่าไปหนึ่งคน เพื่อช่วยคนอีกนับแสน”

การลอบฆ่าครานี้ทำให้เกิดภาพเขียนอันโด่งดัง The Death of Marat (1793) วาดโดย ฌัก-หลุยส์ ดาวีด ผู้เป็นทั้งสมาชิกฌากอแบ็งและคณะกรรมการปลอดภัยสาธารณะด้วย มันจึงเป็นมุมมองแบบเชิดชูมาราต์ ด้วยแสงสวรรค์ที่กำลังสาดมา กับการวางท่าคล้ายพระเยซูในรูปสลัก Pieta (โดย มีเกลลันเจโล) ทำให้ มาราต์ กลายเป็น “วีรบุรุษพลีชีพ” อย่างไรก็ตามอีกเพียงปีเดียวเมื่อ 27 กรกฎาคม 1794 มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ ผู้นำกลุ่มฌากอแบ็งก็ถูกกิโยตินด้วยเช่นกัน หลังจากประชาชนเริ่มตื่นรู้ต่อความตายจำนวนมาก (ที่ได้รับเสียงเชียร์จากประชาชนเอง)

ศัตรูภายในที่เอือมต่อการกิโยตินเริ่มมากขึ้น ศัตรูภายนอกก็เช่นกัน เพราะแต่ละราชวงศ์ทั่วยุโรปต่างก็ดองเป็นเครือญาติกันเกือบหมด ทำให้ประเทศโดยรอบประกาศสงครามกับฝรั่งเศส กลายเป็นกระแสตีกลับเมื่อชาวฝรั่งเศสเริ่มถูกกดดัน

จังหวะเดียวกันนั้นมีนายทหารหนุ่มอายุแค่ 28 นโปเลียน โบนาปาร์ต ผู้เก่งฉกาจฉายแสงกลางสนามรบ กล่าวคือที่ผ่านมากองทัพฝรั่งเศสรบแพ้มาตลอด แต่มีเพียงกองทัพของนโปเลียนที่ชนะตลอด นโปเลียนเลยกลายเป็นขวัญใจ ทำให้เขาเหิมขึ้นทำรัฐประหารยึดอำนาจในปี 1799 ก่อนที่ต่อมาในปี 1804 เขาจะทำพิธียกมงลงกบาลตัวเองตั้งตนเป็น “จักรพรรดินโปเลียนที่ 1” ดึงฝรั่งเศสกลับมาเป็นระบอบกษัตริย์อีกครั้ง

แม้จะมีกษัตริย์อีกรอบแต่ไม่ได้ทำให้ประเทศรอบด้านสบายใจขึ้นเลย เพราะในช่วง 1803-1815 นโปเลียนทำสงครามเพื่อขยายแผ่อำนาจออกไปยังดินแดนต่าง ๆ แต่สุดท้ายเขาก็ปิดฉากลงหลังปราชัยให้แก่อังกฤษและปรัสเซีย ณ สมรภูมิวอเตอร์ลู (ปัจจุบันอยู่ในเบลเยี่ยม) จนถูกเนรเทศไปอยู่เกาะห่างไกลแล้วสิ้นชีพลงที่นั่นในปี 1821

จากนั้นฝ่ายสาธารณรัฐฝรั่งเศสก็ไปเชิญหลุยส์ 18 มาเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แล้วครองราชย์ต่อไปอีกราว 10 ปีก็สวรรคต ทว่าหลุยส์ 18 ไม่มีทายาทจึงให้น้องชายมาสืบทอดกิจการกษัตริย์ในนาม “ชาร์ลส์ที่ 10” ขณะทรงแก่งั่ก 67 ปีเมื่อเดือนกันยายน 1824 แต่พระองค์ไม่เป็นที่นิยมเพราะทรงขวาจัดเกิ๊น แทนที่จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

ชาร์ลส์ที่ 10 ออกกฎหมายมากมายผ่านนายกฯ เพิ่มอำนาจให้ศาสนจักร เพิ่มโทษประหารพวกหมิ่น และรื้อฟื้นพิธีกรรมโบราณหลายอย่าง ความไม่ป๊อปของพระองค์ทำให้นายกฯฝั่งพระองค์แพ้เลือกตั้งทุกครั้งไป ถึงขนาดขี้โกงด้วยการยุบสภาแล้วจัดเลือกตั้งใหม่ก็ยังแพ้อยู่ดี ในที่สุดจึงทรงประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาทั้งที่เพิ่งเลือกตั้งกันมาหมาด ๆ ออกกฎหมายควบคุมสื่อ แล้วแก้กฎหมายเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนลุกฮืออีกครั้งดังที่เคยเล่าไปแล้วในคราวก่อน

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งสอง 26-29 กรกฎาคม 1830

กบฏ 5-6 มิถุนายน 1832
หลังจากราชวงศ์บูรบงสิ้นลงเมื่อกษัตริย์ชาร์ลสที่ 10 ถูกอัปเปหิ สภาได้ทำการเปลี่ยนสายเชื้อพระวงศ์ หันไปเลือกสายตระกูลออลีนส์ ทำให้ หลุยส์-ฟีลิปที่ 1 ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อ 9 สิงหาคม 1830 โดยหวังว่าพระองค์จะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นในช่วงแรก เนื่องจากทรงเอนเอียงไปทางเสรีนิยม เพราะเมื่อครั้งบิดาของพระองค์ถูกกิโยติน ตอนนั้นพระองค์ถูกเนรเทศและยากจนมากถึงขนาดพี่สาวต้องไปรับจ้างเย็บผ้า อีกทั้งพระองค์ยังเคยร่วมรบกับทหารของฝ่ายปฏิวัติมาก่อนด้วย ท่านจึงได้ชื่อว่าเป็น “กษัตริย์ของประชาชน”

ทรงเปลี่ยนตำแหน่งตนเองจาก King of France (กษัตริย์แห่งประเทศฝรั่งเศส) เป็น King of the French (กษัตริย์ของชาวฝรั่งเศส) ตัดลดราชพิธีเวิ่นเว้อคร่ำครึลง หันมาสนับสนุนพวกกระฎุมพี นักธุรกิจต่าง ๆ ทำให้พระองค์ร่ำรวยขึ้นมากแล้วยังเป็นที่นิยมมากด้วยเช่นกัน

แต่ในที่สุดพระองค์ก็เริ่มเอนเอียง ทรงหนุนหลังพวกนายทุนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับประชาชนอย่างมาก หนำซ้ำบ้านเมืองยังบอบช้ำด้วยภัยธรรมชาติ บวกกับอหิวาต์ระบาดหนักทำให้ผู้ยากไร้เสียชีวิตไปกว่าแสนคนทั่วประเทศ

At the End of the Day อีกฉากสำคัญใน Les Misérables ที่อธิบายสภาพแร้นแค้นของสังคมฝรั่งเศส ณ ขณะนั้น

โรคอหิวาต์ทำให้ ฌ็อง มักซีมีเลียง ลามาร์ก (อดีตผู้บัญชาการกองทัพผู้เป็นที่รักของประชาชนจนกลายมาเป็นสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศส และมักจะวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ เพราะเขาฝักใฝ่ระบอบสาธารณรัฐ) ถึงแก่ชีวิตลงเมื่อ 1 มิถุนายน 1832 เป็นเหตุให้เกิดการจลาจลหลังพิธีศพของลามาร์กที่จุดชนวนการกบฏขึ้นในวันที่ 5-6 มิถุนายน 1832 อันเป็นฉากสำคัญด้วยเพลง Do You Here the People Sing ใน Les Misérables [สปอย-หากใครอยากจะรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับ กา-วรอช ตัวละครเด็กชายที่เราเคยเอ่ยถึงในคราวก่อน สามารถดูคลิปต่อไปนี้ได้เลย]

ที่เหตุการณ์นี้ไม่นับเป็นการปฏิวัติ แต่เรียกว่า “กบฏ” ก็เพราะไม่สามารถเปลี่ยนระบอบได้ เนื่องจากชาวปารีสส่วนใหญ่ไม่ได้ร่วมต่อสู้ในครั้งนี้ด้วย อีกทั้งกษัตริย์เรียกรวมพลกองทัพเข้ามาในปารีสเกือบสี่หมื่นนาย ส่วนฝ่ายกบฏกว่า 80% เป็นชนชั้นแรงงาน การณ์คราวนี้มีประชาชนเสียชีวิตกว่า 800 คน

การกบฏคราวนี้ทำให้ฝ่ายรัฐถึงกับฝังกลบอดีตตัวเองด้วยการสั่งเก็บภาพ “เสรีภาพนำทางประชาชน” กล่าวคือภาพนั้นวาดเสร็จหลังจากไล่ชาล์ส 10 ได้สำเร็จเมื่อปี 1830 พอประชาชนอันเชิญ หลุยส์-ฟีลิปที่ 1 เข้ามา รัฐบาลก็ซื้อภาพนี้เอาไว้ในปี 1831 แล้วนำไปแขวนในวังเพื่อเตือนใจกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่พอเกิดเหตุการณ์มิถุนายน 1832 ปุ๊บ อีพวกรัฐบาลที่ถูกเลือกตั้งเข้ามา ก็สั่งปลดภาพนี้ลงทันที เพราะไม่ต้องการแปดเปื้อนว่าเกี่ยวข้องกับพวกกบฎล้มเจ้า ทั้ง ๆ ที่ตัวเองขึ้นมาเป็นใหญ่ได้ก็เพราะการล้มเจ้าในสมัยปฏิวัติก่อนหน้านี้ ทำให้กว่าภาพนี้จะได้กลับมาอวดต่อสาธารณชนอีกครั้งก็ล่วงเลยไปอีก 40 กว่าปี ณ พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ในปี 1874

การปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งสาม 22-24 กุมภาพันธ์ 1848
ผ่านไปกว่า 15 ปี ฝรั่งเศสก็เกิดการปฏิวัติขึ้นอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 1848 นำโดยพวกกระฎุมพี คือหลังการกบฎคราวก่อนรัฐบาลก็สั่งห้ามการชุมนุม พวกกระฎุมพีที่พอจะมีสตางค์อยู่บ้างเลยลงขันกันจัดอีเวนต์บังหน้าเพื่อถกการเมืองกันเรียกว่า “Campagne des banquets” ซึ่งฮิตมากจนถูกแบนไปอีก พวกชนชั้นกลางกระฎุมพีเลยฮือขึ้นประท้วง แล้วด้วยพวกเขามีทุนหนาจึงกำจัดได้ยาก สุดท้ายนายกฯลาออก ส่วนกษัตริย์หลุยส์-ฟีลิปที่ 1 ก็สละบัลลังก์ ย่องหนีลี้ภัยไปอังกฤษเงียบ ๆ แล้วสิ้นพระชนม์ในอีก 2 ปีถัดมา ฝรั่งเศสประกาศตัวเข้าสู่สาธารณรัฐที่ 2 อย่างเป็นทางการ

[ต้องนึกภาพให้ออกด้วยว่า ไม่ว่าจะหลุยส์ 16 ผู้มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง หรือแม้แต่พ่อของหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 ก็ล้วนถูกบั่นหัวคากิโยตินทั้งสิ้น พอเกิดการประท้วงหนักอีกรอบใครฤาจะอยู่ไหว] [แต่ต้องเข้าใจอีกด้วยว่าภายหลังฝรั่งเศสก็ได้เรียนรู้แล้วว่า การไล่กิโยตินกษัตริย์มันไม่ศิวิไลซ์ พวกเขาจึงเลิกกิโยตินราชวงศ์ไปนานแล้ว (แต่ยังคงมีกิโยตินฆาตกรโทษประหารต่อไปอีกจนถึงปี 1977 และอันที่จริงในยอรมนีสมัยนาซี ฮิตเลอร์ ก็เคยใช้กิโยตินตัดหัวนักโทษการเมือง-ผู้เห็นต่างไปกว่า 16,500 คนในช่วง 1933-1945 ซึ่งมีจำนวนพอ ๆ กับสมัย Reign of Terror ของฝรั่งเศส)] [แล้วต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงอีกประการด้วยว่าจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีเหลืออีก 12 ประเทศในยุโรปที่ยังคงมีระบอบกษัตริย์อยู่ คือ อันดอร์รา, เบลเยี่ยม, เดนมาร์ก, สเปน, ลิคเทนชไตน์, ลักเซมเบิร์ก, โมนาโก, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, สเปน, สวีเดน, อังกฤษ และวาติกัน อย่างไรก็ตามราชวงศ์เหล่านี้ก็ปรับตัวด้วยการไม่เข้าไปจุ้นเจ๋อการเมืองของประชาชนและอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างสงบเสงี่ยม]

เสียงปรบมือกระหื่มเมื่อควีนตัวจริงโผล่เซอร์ไพรส์นาย อูลฟ์ พิลโกด์ ผู้ล้อเลียนพระองค์มานานกว่า 40 ปี

[เอิ่ม…อันที่จริงก็มีบางคนละเมิดกฎหมายอยู่บ้าง อย่างกรณีเจ้าชายแอนดรูว์ผู้อื้อฉาวแห่งอังกฤษ หรือกษัตริย์สเปนบางพระองค์ แต่ข้อดีอีกอย่างคือราชวงศ์เหล่านี้ใจกว้างพอจะเปิดให้ผู้คนตรวจสอบ วิจารณ์ หรือล้อเล่นกันได้ อย่างกรณีที่กลายเป็นไวรัลเมื่อ ควีนแห่งเดนมาร์ก โผล่เซอร์ไพร์สวันเกษียณของนักแสดงตลกผู้ล้อเลียนพระองค์มาอย่างยาวนาน สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความเป็นมิตร ใกล้ชิดประชาชนโดยไม่ต้องหวาดระแวงกัน]

นโปเลียนปู่ผู้รบเก่ง-นโปเลียนหลานผู้สร้างภาพว่ารบเก่ง

จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2, 1852-1871
ทว่าเมื่อฝรั่งเศสเปลี่ยนไปสู่สาธารณรัฐอีกรอบก็ให้ปรากฏความระส่ำระสาย เนื่องจากมีกลุ่มผู้เรียกร้องหลากหลายฝ่าย แถมบางกลุ่มมีอิทธิพลหนุนหลัง แต่ข้อดีคือรอบนี้ผู้ชายทั้งหมดมีสิทธิ์เลือกตั้ง เพิ่มเสียงโหวตขึ้นมากถึงเก้าล้านเสียง

[ก่อนหน้านี้แม้พวกฝรั่งเศสจะปราดเปรื่องกันเพียงใด แต่จริง ๆ แล้วยุคไหน ๆ ไม่ว่าเผด็จการทหาร หรือกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ไปจนถึงยุคสาธารณรัฐ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในฝั่งประชาชนก็มีเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไม่ใช่ 1 เสียง 1 สิทธิ์อย่างที่เป็นกันในโลกปัจจุบัน แล้วกว่าที่ผู้หญิงจะรู้ว่าตัวกรูมีกีเลยไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็ผ่านไปอีกนานถึงปี 1909 นู่นเลย เมื่อมีกลุ่ม UFSF ออกมาต่อสู้ให้สตรีมีสิทธิ์โหวต แต่กว่าจะได้สิทธิ์นั้นก็หลังสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 นั่นแหละ มันเลยตลกร้ายเอามาก ๆ ที่ภาพ “เสรีภาพนำทางประชาชน” จะมีเทพธิดามารียาน แต่ผู้หญิงไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียงในชีวิตจริง อันทำให้โอลิมปิกคราวนี้จะมีคีย์อาร์ตที่หันมาเชิดชูผู้หญิงเป็นพิเศษ]

(ซ้าย) กลุ่ม Union française pour le suffrage des femmes-UFSF
(ขวา) ผู้หญิงมีสิทธิ์โหวตครั้งแรก

และผู้กำชัยการเลือกตั้งปี 1848 ก็คือ หลุยส์-นโปเลียน โบนาปาร์ต หลานชายของนโปเลียนคนนั้นเอง แต่ครั้นพออยู่จนครบเทอมในปี 1851 เมื่อไม่สามารถจะเป็นรัฐบาลต่อไปได้อีก นายหลุยส์-นโปเลียนคนนี้ก็รัฐประหารยึดอำนาจซะงั้น ล้มระบอบสาธารณรัฐ แล้วตั้งตนเป็นจักรพรรดิ์นโปเลียนที่ 3 เว้ยเฮ้ย!…โอ้โห อ.ห. คุ้น ๆ มั้ย?

แม้จักรวรรดิที่สองนี้จะยังมีระบบรัฐสภาและมีการเลือกตั้งอยู่ ทว่าสภาถูกจำกัดอำนาจมาก หนังสือพิมพ์ถูกเซ็นเซอร์ และพวกเห็นต่างก็ถูกจับยัดคุกอีกมาก(อีกแล้ว) แต่การจะอยู่ให้รอดเขาต้องทำให้ประชาชนรัก จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 จึงผันตัวมาเป็นเจ้าโปรเจกต์ มีการบูรณะปารีสอย่างรวดเร็ว วางผังเมืองใหม่ ถนนกว้างขึ้น มีโรงละครปาเลส์ การ์นิเยร์ สวนสาธารณะ ปรับปรุงระบบรถไฟ มี“เลอ บง มาร์เช่”ห้างสรรพสินค้าแห่งแรก มีการลงทุนธุรกิจมากมาย รวมถึงสนับสนุนศิลปะแนวใหม่ ๆ ที่ท้าทายขนบเดิม ฯลฯ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สั่นคลอนบัลลังก์หลุยส์-นโปเลียนคนนี้ก็คือศึกนอกประเทศรอบด้าน โดยเฉพาะกับปรัสเซีย ที่ในที่สุดก็เกิดสงครามระหว่างกัน แล้วเขาก็เฮ้าเลี่ยนพอจะไปโผล่ในสนามรบด้วยทั้งที่ป่วยอยู่ จนสุดท้ายถูกฝ่ายปรัสเซียจับเป็นเชลย จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 ล่มสลาย รัฐสภาจึงประกาศเริ่มสาธารณรัฐที่ 3 ขึ้นในปี 1871 มีผลให้ อดอล์ฟ เธียร์ส ผู้นำฝ่ายค้าน ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ฝรั่งเศสกลายเป็นสาธารณรัฐโดยสมบูรณ์ [ย้อนไปในบทความก่อนเมื่อปี 1830 ถ้ายังจำกันได้ถึงผู้ตีพิมพ์แถลงการณ์สู้กลับพรบ.ของกษัตริย์ชาร์ลสที่ 10 อันเป็นชนวนการปฏิวัติรอบสองก็คือนายอดอล์ฟ เธียร์ส คนเดียวกันนี้เอง]