ThaiPublica > คอลัมน์ > ว่าด้วยเรื่อง Consent

ว่าด้วยเรื่อง Consent

28 สิงหาคม 2024


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

นิวกราว เคยผลิตสติกเกอร์อยู่ช่วงหนึ่ง ในฐานะคนช่วยแจก พบว่า ถ้าลูกค้าเป็นพ่อแม่ที่หยิบให้เด็กมักเลือกลาย “Creative Squad” ในขณะที่ถ้าเป็นลูกค้าวัยประถมและคนทำงานออฟฟิศจะเลือก “กรุณาพูดจาด้วยดีดี” ส่วนนักเรียนมัธยม วัยรุ่น มักเลือก “ยกเลิกบังคับตัดผม” “วัยรุ่นก็มีหัวใจ” “วัยรุ่นมีสิทธิปฏิเสธ” “ทำไมผู้ใหญ่ขอโทษไม่เป็น”

ส่วนตัวผมเองเคยถูกคนเดินมาตะโกนใส่ในสนามบินว่า “วัยรุ่นไม่มีสิทธิปฏิเสธ” และอย่างที่ทราบกัน ผลรวมของความเข้าใจทั้งหมดที่มีต่อคน ๆ หนึ่ง มักประกอบขึ้นด้วยความเข้าใจผิดเป็นส่วนใหญ่ ในหลายกรณีนอกเหนือจากเป็นเรื่องเสียเวลาแล้ว การพยายามอธิบายให้อีกฝ่ายเข้าใจก็ไม่มีผลต่อแต่อย่างใด

ยิ่งในสังคมไทยเอง การที่วัยรุ่นมีสิทธิปฏิเสธ แปรผันตรงตัวกับการบอกว่า วัยรุ่นไม่เชื่อฟังพ่อแม่

ปัญหาในครอบครัวและความสัมพันธ์นั้นต้องมองกลม ๆ เพราะหลายต่อหลายครั้งก็ไม่มีขาวดำชัดเจน ในขณะที่หากมองด้วยกรอบสิทธิเด็ก-สิทธิวัยรุ่น ก็อาจนำไปสู่บทสรุปแบบถูก-ผิด มากกว่าการประนีประนอม ซึ่งในบางความสัมพันธ์อาจสำคัญกว่าในระยะยาว เช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ส่วนใหญ่ที่การใช้เหตุผลทุก ๆ ครั้งที่มีปัญหาเท่ากับการแก้ปัญหาอย่างไม่มีเหตุไม่มีผล

อย่างไรก็ตาม หากคุยกันด้วยกรอบ Consent แล้ว นอกจากวัยรุ่นควรมีสิทธิปฏิเสธพ่อแม่ พ่อแม่ก็ควรสามารถยอมรับการปฏิเสธนั้นได้ด้วย กุญแจสำคัญหนึ่งของหลัก Consent ไม่ใช่เพียง การปฏิเสธ แต่รวมถึงการยอมรับเมื่อถูกปฏิเสธ

ปีก่อนผมเข้าเวิร์คชอปขององค์กรอาสาสมัครแห่งนึงในพอร์ตแลนด์ มีกิจกรรมชื่อ Implied No เวลาอาสาสมัครต้องสัมผัสแตะตัวผู้รับบริการ เราถูกสอนมาว่า No means no แต่ไม่ค่อยพูดกันเรื่อง Yes ไม่ได้แปลว่า Yes เสมอไป

ในเวิร์คชอป ครูให้ Pay attention to body language, tone, facial expressions และอื่น ๆ โดยให้จับคู่เพื่อลองถามคำถามบางอย่าง เช่น

  • ช่วยเอาหมาฉันไปดูแลสักสามเดือนได้ไหม
  • ช่วยคุยเรื่องเพศศึกษากับหลานสาวฉันหน่อย
  • ช่วยไปบอกน้องสาวฉันหน่อยว่า เธอกำลังเป็นบ้า
  • คุณคิดว่า ฉันดูแก่มั้ย
  • คุณว่า ฉันควรหยุดจ่ายค่าเช่าบ้าน แล้วเอาตังค์ไปเที่ยวฮาวายมั้ย
  • เนื้อไก่ฉันหมดอายุไปหลายสัปดาห์แล้ว คุณช่วยดมแล้วบอกทีได้ไหมว่ามันเสียยัง
  • คืนนี้ เพื่อนฉันขอไปซ้อมดนตรีเดธเมทัลที่บ้านคุณได้เปล่า
  • ฉันรู้ว่า เราไม่ได้สนิทกัน แต่คุณช่วยดูแลฉันหลังผ่าตัดเสร็จสักเดือนนึงจะได้มั้ย
  • แล้วให้สังเกตการตอบของเพื่อนดูว่า Implied No หรือ โนโดยนัย หมายถึงอะไร ส่วนที่ดีมากของเวิร์คชอปนี้คือ หลังจากนั้น เขาให้เราสังเกตตัวเองว่ามี response อย่างไรหลังอีกฝ่ายตอบคำถาม และนึกถึง 2 คำถามตามมาคือ

  • มันยากขนาดไหนที่จะให้คำตอบที่จริงใจ ไม่ใช่ที่เกรงใจ
  • อะไรยากกว่ากันระหว่าง ให้คำตอบที่จริงใจ กับ รับมันให้ได้
  • ในเวิร์คชอปมีอีกกิจกรรมหนึ่งชื่อ ดีลกับคำปฏิเสธ ครูให้จับคู่ แล้วให้ฝ่ายหนึ่งถาม ส่วนอีกฝ่ายให้รอ 5 วินาที แล้วตอบว่า No, thank you จากนั้นให้ฝ่ายถามเสนอคำชม ตอนแรกก็งงว่า ชมอะไร พอลองทำดูเลยเข้าใจ

      Q: ช่วยบอกความลับสุดยอดของคุณหน่อย
      A: (5,4,3,2,1) ไม่ ขอบคุณ / ไม่เป็นไร / ไม่เอาดีกว่า
      Q: It makes me feel safer knowing you are comfortable holding your boundaries. Thank you for allowing me to be someone you can say no to. (ฉันรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นเมื่อรู้ว่าคุณสามารถรักษาขอบเขตของตัวเองได้ ขอบคุณที่ให้ฉันเป็นคนที่คุณสามารถปฏิเสธได้)

    มองกลับมาที่ประเทศไทย โรงเรียนและครอบครัวน่าจะพยายามทำให้การปฏิเสธเป็นเรื่องปกติ ทุกคนสามารถปฏิเสธโดยไม่ต้องเกรงใจได้ ในเวิร์คชอป บอกว่า Consent เป็นเรื่อง Reversible หรือ ย้อนกลับได้ หมายความว่า ทุกข้อเสนอต้องมีตัวเลือกให้ปฏิเสธได้ ถ้าขาดตัวเลือกนี้ไป เท่ากับว่า ไม่ใช่ Consent ตั้งแต่แรก

    โดยเฉพาะในโรงเรียนที่เต็มไปด้วยกิจกรรมบังคับเข้าร่วม การไม่สามารถปฏิเสธการถูกลงโทษได้ รวมไปถึงไม่มีระบบอุทธรณ์เวลาได้คำตัดสินที่ไม่แฟร์จากครู ผ่านระบบเกรด หรือ คะแนน

    ในกิจกรรม มีคนแชร์ว่า หลายคนตอบ Yes แบบอัตโนมัติ หลังได้ยินคำขอความช่วยเหลือ เป็น Yes โดยสัญชาตญาณ เป็นความเกรงใจโดยไม่รู้ตัวที่ถูกสอนในโรงเรียนและครอบครัวให้ต้องตกลงเท่านั้น ห้ามปฏิเสธ โรงเรียนดันกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้สึกไม่มีอำนาจในตัวเอง

    พอจบเวิร์คชอป ก็พลอยนึกถึงประเพณี “แจวเรือ” ในสถาบันอุดมศึกษา ผมเองอึดอัดกับกิจกรรมสันทนาการ ต่อให้ไม่ใช่การเล่นพิเรนทร์ เล่นทางเพศ มีความรุนแรงทางกาย แต่ถ้าเป็นการทำให้คน ๆ หนึ่งรู้สึกอับอาย กระอักกระอ่วน ก็ไม่ควรเล่น หรือถ้าเล่นก็ควรไปทำในชมรมที่จัดไว้เฉพาะ ที่ที่ทุกคน consent จะเล่น ไม่ใช่ในงานที่ทุกคนต้องเข้าร่วมอย่างงานปฐมนิเทศ

    ส่วนตัวตั้งแต่พ้น ม.1 มาไม่เคยไปงานปฐมนิเทศ รวมทั้งงานปัจฉิม หรือกิจกรรมละลายพฤติกรรรม ปลูกฝังความสามัคคีใด ๆ ยกเว้นไปฟัง Orientation แค่นั้น ทำให้รอดพ้นจากประเพณีลักษณะนี้ได้ตลอดมา สิ่งเหล่านี้เป็น Cult ไม่ใช่การละลายพฤติกรรมหรือฝึกการกล้าแสดงออกอย่างที่เข้าใจผิดกัน สำหรับสถานศึกษาแหล่งบ่มเพาะปัญญาของโลกแล้ว การกล้าแสดงออก คือ กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่กล้าเต้นแร้งเต้นกา