ThaiPublica > เกาะกระแส > “สมชัย จิตสุชน” TDRI ชี้การเมืองกดดันแบงก์ชาติหนักสุดในประวัติศาสตร์ หวั่นต่างชาติมองไทยติดลบ

“สมชัย จิตสุชน” TDRI ชี้การเมืองกดดันแบงก์ชาติหนักสุดในประวัติศาสตร์ หวั่นต่างชาติมองไทยติดลบ

7 พฤษภาคม 2024


ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่มาภาพ : TDRI

ดร.สมชัย จิตสุชน TDRI ชี้ความขัดแย้งรัฐบาลเพื่อไทยกับธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นความกดดันจากฝ่ายการเมืองที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ย้ำหลักการแบงก์ชาติต้องเป็นอิสระ หวั่นนักลงทุนต่างชาติมองภาพติดลบ  พร้อมระบุไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน เศรษฐกิจโตช้า นโยบายลดดอกเบี้ยไม่ช่วยแก้ปัญหา ขณะที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย

แรงกดดันจากฝ่ายการเมือง หรือ รัฐบาล ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีการบริหารนโยบายการเงินที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายการคลังดูจะหนักหน่วงถาโถมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมา บอกว่า ความเป็นอิสระธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ขณะที่ก่อนหน้านั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  และฝ่ายการเมืองหลายคนออกมากดดันธนาคารแห่งประเทศไทยให้ลดดอกเบี้ย หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล รวมไปถึงการไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายตามฝ่ายรัฐบาล

แรงกดดันที่ดูเหมือนจะแรงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและความอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยมากน้อยเพียงใด  “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ(TDRI)  และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปี 2561-2566 ได้ให้คำตอบและสะท้อนปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศตามประเด็นคำถามดังนี้

ไทยพับลิก้า:  อาจารย์มองปัญหาเศรษฐกิจไทยตอนนี้ สาเหตุมาจากไหน การลดดอกเบี้ยแก้ไขได้หรือไม่ เพราะขณะนี้ดูเหมือนว่ามองแตกต่างกัน จนเกิดปัญหาระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาล

ดร. สมชัย: จริงๆก็พูดกันมาหลายคนแล้วว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง แล้วแบงก็ชาติก็พูดเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างมาตลอด ซึ่งไม่ใช่เพิ่งพูดนะ พูดมาตั้งแต่ผมทำงานอยู่กนง. ก็พูดมาตลอดเวลา คือเรารู้กันมานานแล้วว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้าง

“รู้มาตั้งแต่ปัญหามันยังไม่แสดงตัว ผมขอใช้คำว่า ‘แสดงตัว’ และช่วงนี้มันแสดงตัวชัดเจน  อาการมันออก แต่ตัวพื้นฐาน เหมือนตัวเชื้อโรคมันมีมานานแล้ว หรือเรียกว่าความอ่อนแอ ไม่ได้รับการสนับสนุนความรัก ไม่ได้รับการออกกำลังกาย กินอาหารให้ถูกต้อง มันก็เลยอ่อนแอต่อเนื่องตลอด เราก็เรียกมันว่าปัญหาเชิงโครงสร้าง”

พออ่อนแอติดต่อกันนาน ๆ สุดท้ายอาการก็ต้องออกว่ามันมีโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง และมันมาออกอาการในรัฐบาลชุดนี้พอดี  จริงๆ เมื่อรัฐบาลที่แล้วก็เริ่มออกอาการแล้ว แต่ที่ชัดมากคือรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งก็คือ เศรษฐกิจโตช้า ส่งออกไม่ค่อยได้  กำลังซื้อคนไม่ค่อยดี

ขณะที่รัฐบาลชุดนี้ มองตัวเอง หรืออยากให้คนอื่นมองตัวเองว่า มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เป็นรัฐบาลที่ทำให้เศรษฐกิจโตได้ โดยพยายามยกเอาอดีตในช่วงที่คุณทักษิณ (ชินวัตร) เข้ามาบริหารครั้งแรก เป็นช่วงหลังต้มยำกุ้งใหม่ๆ ซึ่งเศรษฐกิจก็โตจริงๆ

“แต่ถ้าพูดกันจริงๆ ซึ่งก็มีผมคนหนึ่งที่เห็นว่า การที่เศรษฐกิจโตขึ้นในช่วงนั้น ไม่ได้เป็นฝีมือคุณทักษิณอะไรมากมายขนาดนั้น  และผมให้สักครึ่งเปอร์เซ็นต์ของ GDP Growth  สมมุติว่า ถ้าจีดีพีโต 6.5 % ซึ่งถ้าไม่มีคุณทักษิณก็คงโตประมาณนี้ แต่พอมีคุณทักษิณก็โตเป็น 7% ผมคิดว่าเป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้ประเด็นนี้ไม่สำคัญแล้ว”

แต่พรรคเพื่อไทยอาจต้องการให้มองภาพเป็นแบบนั้น  และคงเชื่อว่าแบบนั้นด้วยว่าตัวเองทำได้ คิดว่าและหวังว่าทำได้ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต เขาก็เชื่อว่ามีเครื่องไม้เครื่องมือมีอุปกรณ์ที่สามารถทำให้เศรษฐกิจโตได้จริงๆ

นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยยังไปไกลถึงขั้นที่ว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้เชื้อโรคที่สะสมมานาน(ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ)มันจะหายไปด้วย  คือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ด้วย ซึ่งเขาไม่ได้พูดแบบนี้ตรงๆ แต่ดูจากที่เขาขายดิจิทัลวอลเล็ตในยุคแรกๆ เขาบอกว่า คนไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีการลงทุน บรรยายสารพัดเหตุผล และสารพัดปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแล้วก็พูดต่อว่า เพราะฉะนั้นจึงต้องมี ดิจิทัลวอลเล็ต

“ผมเลยตีความว่า ดิจิทัลวอลเล็ต ในช่วงแรกว่า เขาเชื่อว่าแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ด้วย  แต่ผมไม่เชื่อ และหลายคนไม่เชื่อ  มันก็เลยสะสมมาว่า ดิจิทัลวอลเล็ต ก็ยังไม่เกิด ส่วนแก้ปัญหาโครงสร้างได้หรือไม่ ไม่รู้หรอก เพราะตอนนี้มันยังไม่เกิด ซึ่งถ้าเป็นเวอร์ชั่นเพื่อไทยก็จะบอกว่า เพราะว่ามันยังไม่เกิดไง ปัญหาในเชิงโครงสร้างมันเลยยังแก้ไม่ได้”

ขณะที่แบงก์ชาติค้านดิจิทัลวอลเล็ต จึงมาผสมกันว่ารัฐบาลไม่พอใจแบงก์ชาติใน 2 เรื่อง 1.เรื่องที่ค้าน ดิจิทัลวอลเล็ต เรื่องที่ 2.ผู้ว่าแบงก์ชาติไม่ยอมร่วมมือในการลดดอกเบี้ย จนนำมาสู่วิวาทะ…มาถึงตอนนี้ แบบดาหน้ากันมาเลย

การพูดในลักษณะกดดันธนาคารกลาง มีและเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ว่าครั้งนี้ในกรณีประเทศไทยผมคิดว่าน่าจะหนักที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกก็ว่าได้  คืออาจจะมีครั้งที่แรงกว่านี้จากการกดดัน 100 ครั้ง แต่ผมคิดว่าการกดดันของรัฐบาลเพื่อไทยต่อธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะแรงอยู่ใน 10 อันดับแรกที่แรงที่สุด 

“คือ แรงทั้งคำพูด แรงทั้งลีลา แรงทั้งความต่อเนื่อง แรงทั้งความถี่  แรงทั้งเรื่องของจำนวนคนที่ออกมาตอบโต้แบงก์ชาติ ตั้งแต่ คุณเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ชัดเจน ก่อนหน้านั้นก็จะมีที่ปรึกษาบ้าง และคนอื่นๆบ้างที่ออกมาเป็นระยะๆ และตบท้ายด้วย คุณอุ๊งอิ๊ง ซึ่งก็คือ”เฮฟวีเวท” เหมือนอย่างที่รอยเตอร์เขียนไว้  ถ้านับทั้ง คุณเศรษฐา และ คุณอุ๊งอิ๊งก็ถือเป็น เฮฟวีเวท”

ไทยพับลิก้า: ทั่วโลกเขากดดัน ธนาคารกลางอย่างไร

ดร. สมชัย  : ทั่วโลกเขาไม่พูดแรงๆกัน  อาจจะมี “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่พูดแรงพอกัน แต่ว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว แต่ว่าโดยทั่วไปเขาไม่พูดกันแรงๆ  หลายประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะไม่พูดด้วยซ้ำ เพราะเขาอาจจะไปคุยแบบ behind the scene 

แต่การมาพูดในที่สาธารณะเขาจะระมัดระวัง เพราะว่ามันจะเกิดภาพลักษณ์ว่าฝ่ายการเมืองจะมีอำนาจเหนือการทำงานของนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ ที่ไม่ดีมาก ออกไปเมื่อไหร่แล้วมันไม่ดี

จริงๆ หลักการความเป็นอิสระของธนาคารกลางเป็นหลักการที่ยึดถือกันมาอย่างน้อย 30 ปีแล้วทั่วโลก ซึ่งเป็นหลักการทั้งทางวิชาการและทางปฏิบัติ คนเชื่อว่าเป็นหลักการที่ถูกต้อง  และพิสูจน์มาแล้วว่าการที่ธนาคารกลางทั่วโลกคุมเงินเฟ้อได้ คนให้เครดิตกับเรื่อง การรักษาความเป็นอิสระของธนาคารกลางค่อนข้างมาก

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าถ้าคุณไม่รักษาตรงนี้และไปกดดันธนาคารกลางแล้ว ที่ร้ายที่สุดถ้าธนาคารกลางยอมให้กดดันด้วย คนก็เริ่มสงสัยได้ว่า มันเริ่มเสียอะไรไป ซึ่งถ้ามันเสียไป ในที่สุดสิ่งที่คาดการณ์เงินเฟ้อก็จะสูงขึ้น

ถ้ามีคนอ่านเกมไปถึงขนาดนั้น และคนที่อ่านเกมได้มีเยอะ โดยเฉพาะพวกตลาดการเงิน พวกโบรกเกอร์ พวกคนที่ค้าเงินตราระหว่างประเทศ  พวกนี้เขาอ่านเป็น และถ้าเขาอ่านเป็นว่าการแทรกแซง มีการกดดัน แล้วแบงก์ชาติก็ยอมให้กดดันด้วย พวกนี้ก็จะลังเลที่จะลงทุนในประเทศนั้นทันที

เพราะเขาไม่รู้ว่าวันดีคืนดีเดี๋ยวเงินเฟ้อก็จะขึ้นมาสูงขึ้นอีก แล้วพอเงินเฟ้อสูงขึ้น ก็จะตามมาด้วยเรื่องของฟองสบู่ แล้วพอฟองสบู่แตกทุกคนเจ็บตัวกันหมด ถ้าจะเจ็บตัวกันแบบรุนแรงขนาดนั้น อย่ากระนั้นเลย ฉันไม่เข้ามาลงทุนดีกว่า หรือถอนการลงทุนที่มีอยู่ก่อนที่จะเจ็บตัว

อย่างไรก็ตามในระยะสั้นอาจจะไม่กระทบ เพราะว่าเงินเฟ้อ มีฟองสบู่ ทุกคนจะกำไร แต่ว่าคนที่มีความเชี่ยวชาญ เขาอ่านเกมยาวกว่านั้นมาก เรื่องฟองสบู่แตกก็เคยเจอกันมาทั่วโลกแล้ว

ชาวบ้านที่อ่านไม่ออก อาจจะไม่รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าตลาดเงินมอง แล้วถ้ากระทบจริง มีเงินไหลออกไปจริง การลงทุนไม่เข้ามาจริง สุดท้ายชาวบ้านก็รับกรรมอยู่ดี  พูดอีกอย่างก็คือว่า รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงเพื่อหวังให้แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มันก็อาจจะได้ผลในระยะสั้น แต่ในที่สุด ถ้าเงินไหลออก การลงทุนไม่มา สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจก็ชะลอตัว  แล้วที่ได้ในช่วงแรกๆ ปีที่1 ปีที่2 ได้มาเพราะว่าแบงก์ชาติยอม สุดท้ายที่มันซบเซาลงไป มันเสียมากกว่าได้  นี่เป็นเรื่องที่ทุกคนที่อ่านเกมออก เขาก็จะกังวลกันในประเด็นนี้

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่มาภาพ : TDRI

ไทยพับลิก้า : ทำไมรอบนี้ ฝ่ายการเมืองกดดันหนักมากจริงๆ มีสาเหตุมากกว่า 2 เรื่องที่แบงก์ชาติเข้าไปคัดค้านหรือไม่

ดร. สมชัย: อันนี้ก็ต้องถามบางคนก็อ่านเกมการเมือง ที่มองว่ารัฐบาลพยายาม “เบลม” แบงก์ชาติเอาไว้ เพราะถ้าสุดท้ายเศรษฐกิจไม่โต ต้องเสียคะแนนเสียง ที่เคยบอกว่า’เพื่อไทย’ มีความเก่งด้านเศรษฐกิจ ก็ต้องมีแพะ เพื่อจะบอกว่าเป็นแบบนี้เพราะว่าแบงก์ชาติ ไม่ใช่ว่าตัวเองไม่มีฝีมือ ตัวเองมีฝีมือ แต่มีคนมาขวาง ก็มีคนอ่านเกมการเมืองแบบนี้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง

ไทยพับลิก้า: แล้วในส่วนของการบริหารของแบงก์ชาติเองมีปัญหาจริงตามที่วิจารณ์หรือไม่

ดร. สมชัย: ตั้งแต่หลังต้มยำกุ้งเป็นต้นมา  ผมว่าแบงก์ชาติปรับองค์กรเยอะมาก ผู้ว่าแบงก์ชาติ 5-6 คน หรือประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ผมว่าผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ทุกคนมีจุดยืนที่ชัดเจน มีหลักการที่ค่อนข้างหนักแน่น

ในช่วง 5 ปีที่ผมทำงานใน กนง.ก็มีการคาดการณ์จีดีพีผิดจริง  ผมยอมรับ แต่ว่าผมก็อยู่ในกระบวนการ ผมก็รู้ตลอดว่าเขาคาดการณ์กันอย่างไร ที่เล่าให้ฟังได้ก็คือ เขาไม่ได้คาดการณ์มั่วๆ

ทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจของแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นทีมที่ดีที่สุดของประเทศไทย ทีมใหญ่มาก ทีมของฝ่าย กนง.นี้เป็นกองทัพสัก 50 คนเป็นอย่างน้อย หรือ อาจจะถึง 100 คนด้วยซ้ำ และ 50 คน ถึง 100 คนที่ว่านี้ จบมหาวิทยาลัยระดับ 10 อันดับแรกของโลก และการทำงานเขาไม่ได้ขัดแย้งกัน เขาร่วมมือกันทำงานดีมากดูทุกแง่มุม เพราะฉะนั้นในแง่การทำงาน เป็นมืออาชีพที่ดีที่สุด

คราวนี้ต้องถามว่า ทำไมยังประมาณการพลาดอยู่ คงต้องย้อนไปดูว่า ในระยะหลังที่ผ่านมามันมี 2-3 เรื่องที่โลกมันเปลี่ยนแปลง เกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่ไม่คาดการณ์เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโควิด-19 เรื่องของ โดนัลด์ ทรัมป์ ตอนแรกๆคนก็ไม่ได้คาดการณ์ จีนทะเลาะกับอเมริกา หรืออยู่ๆมีสงครามยูเครน-รัสเซีย มีสงครามตะวันออกกลาง พวกนี้เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้

แต่ผมยังให้น้ำหนัก กับเรื่องที่ว่าเรามี “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” อย่างที่ผมบอกไปในตอนต้นว่า เรารู้ปัญหามานานแล้ว แต่เราอาจจะพลาด มีความจริงจังน้อยไป เพราะว่าเราประเมินเรื่องนี้ต่ำไป เรารู้ว่ามีปัญหาแน่ๆ มันมีเชื้อโรคที่ซ่อนอยู่ในนั้น  แต่ผมคิดว่าเราประเมินความรุนแรงของเชื้อโรคนี้น้อยไป เพราะฉะนั้นหลายๆครั้งเชื้อโรคมันซ่อนตัว

เช่นเรื่องหนึ่งที่เราพลาด คือ เรื่องการประเมินการฟื้นตัวจากโควิด ดีเกินไป ของจริงมันแย่กว่าที่คิดไว้ และประเทศไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิดแย่ที่สุดในภูมิภาค ขณะที่ภูมิภาคฟื้นตัวเร็วกว่าเรามาก อันนี้ยอมรับว่ามีการประเมินพลาดจริง

แต่ถ้าเราวิเคราะห์ย้อนหลังก็เพราะว่าเรามีเชื้อโรคที่แรงกว่าคนอื่นจริงๆ  เช่น เราพึ่งพิงการท่องเที่ยวมากเหลือเกิน การท่องเที่ยวก็ถูกกระทบแรงมาก แล้วก็พอโดนกระทบช่วงโควิด มันสิ้นเนื้อประดาตัวกันไปเยอะ  เราประเมินการสิ้นเนื้อประดาตัวของผู้ประกอบการจากโควิดผิดไป  ผมว่าช่วงโควิดนี้ เงินเก็บ เงินออมต่างๆ น่าจะใช้กันเกลี้ยงเลย

ตรงนี้ก็ต้องโทษว่าประเทศไทยไม่ได้เก็บข้อมูลเรื่องของทรัพย์สินบุคคล อันนี้เป็นชุดข้อมูลที่ประเทศไทยพลาด ทำให้ไม่มีข้อมูลการเก็บเงิน และ ในเรื่องของทรัพย์สิน เราไม่รู้เลยว่าช่วงโควิดนี้หลายคนใช้ทรัพย์สินไปจนหมดตัวกี่คน เราไม่รู้เลย

เพราะฉะนั้น พอทรัพย์สินมันหายไป คนจะลังเลในการจับจ่ายใช้สอย  โดยเฉพาะคนระดับล่าง ซึ่งทรัพย์สินมีอยู่น้อยอยู่แล้วพอเจอโควิดก็เกลี้ยงเลย  ขณะที่คนชั้นกลาง คนระดับบนขึ้นมาอาจจะพอยังมีอยู่บ้าง ทำให้การฟื้นตัวจากโควิดจะกระจุกตัวในกลุ่มคนชั้นกลางและคนระดับบน โดยดูจากเวลาเราไปเดินห้างจะรู้สึกว่าว่าห้างมีคนแน่นมาก แต่ว่ามันมีภาพคนระดับล่าง คนรากหญ้า หรือ เอสเอ็มอี ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

แต่ถามว่า แบงก์ชาติ เป็นสำนักเดียวที่พลาดหรือไม่ ก็ไม่ใช่ เพราะว่าทุกสำนักคาดการณ์แบบนี้ คือถ้าไปไล่ดูตัวเลข ตั้งแต่หลังโควิด การประมาณการณ์ที่ดีเกินไปเป็นทุกสำนัก ไม่ใช่เฉพาะแบงก์ชาติ

เพียงแต่เรื่องที่ทะเลาะกัน เขาก็ไฮไลท์ การคาดการณ์จีดีพีผิดของแบงก์ชาติ ทำตัวเลข กราฟขึ้นมา แต่ลืมไปทำของค่ายอื่นด้วย  กระทรวงการคลังก็พลาด สภาพัฒน์ฯก็พลาด เพราะฉะนั้นแบงก์ชาติไม่ใช่เจ้าเดียว มันเป็นปรากฎการณ์ทั่วไป

ดังนั้นถ้าตอบคำถามว่า แบงก์ชาติทำอะไรผิดมั้ย ก็มีผิดในเรื่องนี้ เพราะว่าการประมาณการณ์มันยังไม่ดีพอ ไม่แม่นพอ ซึ่งอันนี้ก็ต้องไปปรับปรุง ข้อมูลที่ขาดก็ต้องพยายามไปอุดช่องโหว่ตรงนั้นเป็นเรื่องที่แบงก์ชาติต้องปรับปรุง

แต่ว่านอกจากเรื่องการประมาณการณ์ที่ผิดพลาดแล้ว ผมยังไม่เห็นว่ามีเรื่องไหนที่ไม่เป็นมืออาชีพ ผมว่าเขาเป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะผู้ว่าฯทุกคน

ไทยพับลิก้า: เงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย  อาจารย์มองอย่างไร เพราะว่ารัฐบาลอุ้มทั้งค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน ทำให้โครงสร้างบิดเบี้ยวหรือไม่

ดร. สมชัย :   ที่รัฐบาลอุ้มนี้แหละที่ทำให้มันบิดเบี้ยว เงินเฟ้อต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะว่าการอุ้มพวกนี้ ซึ่งการใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นตะกร้าที่ค่อนข้างใหญ่ในการคำนวณเงินเฟ้อ ทั้งไฟฟ้า แก๊ส น้ำมัน เราอุ้มหนักมาก เพราะฉะนั้นการอุ้มเรื่องเหล่านี้ เป็นอันหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อมันติดลบติดต่อกัน

ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบที่ว่าทำไมแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อติดลบ  เพราะเงินเฟ้อติดลบ เป็นเงินเฟ้อติดลบที่ไม่เป็นธรรมชาติ  จริงๆ ถ้าสังเกตแบงก์ชาติจะทำข้อมูลให้ดูว่า ถ้าไม่มีมาตรการอุ้มจากภาครัฐแล้ว เงินเฟ้อจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งไปหาดูกราฟนั้นได้ที่เว็บไซต์แบงก์ชาติ  โดยจะพบว่า ข้อมูลจะบอกว่าเงินเฟ้อไม่ติดลบถ้าเอามาตรการอุดหนุนของรัฐออก เงินเฟ้อจะเป็นบวก

นอกจากนี้แล้วก็มีคนอ่านเกมส์ว่า รัฐบาลจะอุดหนุนไปตลอดหรือไม่ แต่ว่าคนเขาก็อ่านออกว่า รัฐไม่สามารถอุดหนุนไปได้ตลอด เพราะฉะนั้นวันดีคืนดีก็ต้องลดการอุดหนุนลง สุดท้ายก็ต้องยกเลิก ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มทยอยลดการอุดหนุนลงแล้วหลายรายการ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นทุกคนก็คาดการณ์ว่าสุดท้ายแล้ว เงินเฟ้อก็เป็นบวก ซึ่งก็เป็นบวกจริงเมื่อเดือนที่แล้ว จริงๆทั้งหมดเป็นโมเดลของแบงก์ชาติอยู่แล้ว เขาจะรู้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบ มาสักประมาณปลายปีที่แล้วต่อเนื่องต้นปี  อันนี้เขารู้  และรู้อยู่แล้วว่าสักประมาณมีนาคม-เมษายน มันจะกลับมาเป็นบวก และคาดการณ์ว่าจะเป็นบวกต่อเนื่องไปตลอดปีนี้

อันนี้ก็เป็นเหตุผลสนับสนุนว่ายังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย แล้วอีกเรื่องที่มีความเข้าใจผิดในเรื่องของการลดดอกเบี้ย คือ ดอกเบี้ยถ้านำมาเทียบกับเงินเฟ้อ มันต้องเทียบกับเงินเฟ้อในอนาคต ไม่ใช่เทียบกับเงินเฟ้อที่ผ่านมา อันนี้หลักวิชาการพูดเอาไว้ชัดเจน เวลาที่บอกว่าดอกเบี้ยควรจะอยู่ที่เท่าไหร มันต้องเทียบกับเงินเฟ้อในอนาคต

เพราะดอกเบี้ยเป็นเรื่องอนาคต  ยกตัวอย่างเวลา คุณกู้เงินวันนี้ คุณยังไม่จ่ายเงินคืนแต่ไปจ่าย 2 เดือนข้างหน้า เพราะฉะนั้นเวลาดูเรื่องเงินเฟ้อ ค่าเงินระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ค่าเงินเป็นเท่าไหร ถ้าเงินเฟ้อติดลบ หมายถึงค่าเงินมันมากขึ้น  เพราะเงินบาทซื้อของได้มากขึ้น ถ้าอย่างนั้น เจ้าหนี้จะได้เปรียบ เพราะว่าได้ดอกเบี้ย แถมยังได้ค่าเงินที่เพิ่มขึ้นด้วย มันไม่แฟร์กับลูกหนี้ ซึ่งภาวะของเรา ถ้าเงินเฟ้อติดลบ ดอกเบี้ยสูงไป ก็ต้องลดดอกเบี้ยลง แต่ว่าแบงก์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อไม่ได้ติดลบ เมื่อไม่ได้ติดลบ ดังนั้นที่บอกว่ามีความจำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ยลง เพียงเพราะว่าเห็นเงินเฟ้อที่ผ่านมาติดลบ มันจึงอธิบายไม่ได้  เหตุผลตรงนี้มีคนบอกว่า เป็นความผิดพลาดในเชิงวิชาการของแบงก์ชาติ แต่ผมว่าคนที่วิจารณ์ไม่เข้าใจวิชาการตรงนี้

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่มาภาพ : TDRI

ไทยพับลิก้า: ปัญหาเรื่องโครงสร้าง และจีดีพีไทยที่ไม่โตมานานแล้ว มาจากปัจจัยอะไร

ดร. สมชัย: หลายคนบอกว่าเป็นเรื่องของการลงทุน รัฐบาลลงทุนเรื่องของ infrastructure ไม่พอ  เรื่องดิจิทัลและอีกหลายๆเรื่อง และ EEC ก็ไปไม่ได้มากอย่างที่หวัง  แต่ถ้าถามผมปัญหาเชิงโครงสร้างเกิดขึ้นจากรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมาล้มเหลวในการพัฒนาคุณภาพ

อีกอย่างเรามีปัญหาเชิงโครงสร้างประชากรของคนไทยเอง คือ เรื่องของผู้สูงอายุ  การที่คนไทยแก่ตัวอย่างรวดเร็วมันทำให้เรื่องของความสามารถในการแข่งขัน ประสิทธิภาพของประเทศลดลง หรือประสิทธิภาพของคนทำงานเองลดลงเนื่องจากอายุมากขึ้น

เรามีคนที่จำนวนมากจบการศึกษาแค่ ป.6 และทำงานในโรงงานยังมีเรี่ยวแรงอยู่ พอประมาณ 40-50 ปี เรี่ยวแรงก็เริ่มไม่ค่อยมี ก็ต้องออกจากงานไปหาอย่างอื่นทำ ซึ่งไม่มี Productivity

“ผมมักจะพูดทีเล่นทีจริงว่ามีประเทศไหนที่มี ‘รปภ.” เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเท่ากับประเทศไทย เราจะเห็นรปภ.มีทั่วไป มีจำนวนมาก เพราะว่าอาชีพที่ไม่ต้องใช้ทักษะอะไรมาก สะท้อนว่า เราแก่ตัวลงโดยที่ไม่มีความรู้ทำอย่างอื่นไม่เป็น เรี่ยวแรงก็ไม่มีแล้ว ก็ต้องมาทำอาชีพ รปภ.ไม่ต้องใช้แรงมาก”

หรือกระทั่งภาคท่องเที่ยวเฟื่องฟูมาก เชื่อมโยงกับประชากร เพราะว่าภาคบริการคนอายุ 40-50 ปีก็ทำได้ เป็นแม่บ้าน ทำความสะอาดหรือเสิร์ฟอาหาร แม่ค้า แม่ครัว 

เพราะฉะนั้นปัญหาโครงสร้างประชากรคือ แก่ตัวลง และการศึกษาเรียนมาน้อยด้วย เป็นปัญหาที่ใหญ่มากของสังคมไทย ซึ่งข้อมูลนี้ทราบมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว คือคนไทย 42% อายุเกิน 40 ปีเรียนไม่เกินมัธยม 3 เกือบครึ่งหนี่งของคนไทย

พออายุมากเกิน 40 ปี คนเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจโตไม่ได้ และเราต้องไปหวังพึ่งคน 60% ที่แบกอยู่ และคน 60% ที่อายุไม่เกิน 40 ปี ก็จบไม่เกินม.3 มีจำนวนมากเช่นกัน เนื่องจากมีเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาจำนวนมาก และมีเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือไม่ได้ทำงานประมาณ  1.3 ล้านคน เพราะฉะนั้นเมื่อรวมกับคน 42%ที่กล่าวข้างต้น และคนรวมคนที่ไม่พร้อมที่จะเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ ผมว่าเกินครึ่ง ดีไม่ดี 60% ของประชากรไทย จากข้อมูลตั้งแต่ 10-20 ปีที่แล้ว สามารถพยากรณ์ได้ว่า ภาพแบบนี้จะเกิดขึ้นแน่ คือเศรษฐกิจจะโตไม่เกิน 2% เพราะเอาคน 40% มาแบก 60% ไม่ได้หรอก

ผมคิดว่า ที่เราประมาณการณ์พลาด คือเรื่องของ Speed ของความเสื่อมถอยเรื่องของ Productivity

มันเร็วกว่าที่คิด อันนี้อธิบายได้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งมันเร็วกว่าที่เราคิด ลองคิดดูว่าเรื่องของเอไอ หุ่นยนต์มาแล้ว คน 50-60% เรียนหนังสือไม่สูง ตามไม่ทันอยู่แล้ว ไม่สามารถมีส่วนร่วมในภาคการผลิตใหม่ๆได้เลย เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีทำให้เปลี่ยนแปลงเร็ว โควิดก็ทำให้เปลี่ยนแปลงเร็ว จะทำให้คนเหล่านี้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แล้วประเทศชาติก็ถูกทิ้งไว้ข้างหลังด้วย

เพราะฉะนั้นปัญหานี้ ไม่ว่ารัฐบาลไหน ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือใคร มาเป็นรัฐบาล ถ้าอยากแก้ปัญหาโครงสร้าง สิ่งที่ต้องทำ  คือ  national skill program เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน  

ไทยพับลิก้า: การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลในระยะยาวด้วย

ดร. สมชัย: ถูกต้องครับ แล้วต้องจัดสรรงบประมาณให้ดี คุณจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ไม่ต้องใช้ 5bแสนล้านบาทก็ได้ คือมีคนพูดอยู่แล้วว่าสามารถทำ ‘คนละครึ่ง’ แบบรัฐบาลประยุทธ์(จันทร์โอชา) มากระตุ้นก็ได้ เม็ดเงินที่ใช้ก็ประมาณหนึ่งแสนล้านบาท ก็พอแล้ว ส่วนอีก 4 แสนล้านบาทไปทำเรื่องระยะยาวดีกว่า เช่นเรื่องของ national skill program  อันนั้นจะได้ผลตอบแทนดีกว่าเยอะ เพราะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในแง่จีดีพี โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ไม่ว่ามองในแง่มุมไหน ในเชิงวิชาการมันกระตุ้นได้ไม่เยอะหากเทียบกับโครงการ ‘คนละครึ่ง’ กระตุ้นได้มากกว่าหลายเท่าตัว พูดง่ายๆคือใช้เงินหนึ่งแสนล้านอย่างโครงการคนละครึ่ง อาจจะกระตุ้นได้พอๆกับ  5 แสนล้านของดิจิทัลวอลเล็ตด้วยซ้ำ แต่ว่าประหยัดเงินมา 4 แสนล้านบาทเอาไปทำเรื่องที่เหมาะสม วางรากฐานในระยะยาว  เพราะว่าถ้าทำแบบนั้น ผมคงชียร์ เพราะว่าจัดสรรงบประมาณได้เหมาะสม  ผมไม่ได้บอกว่าห้ามกระตุ้น เพราะรู้อยู่แล้วว่าเศรษฐกิจโตช้าจริง มันก็ต้องกระตุ้น ซึ่งเห็นด้วย แต่ว่าสัดส่วนของเม็ดเงินที่ลงไม่ใช่แบบนี้

ไทยพับลิก้า: จะบอกรัฐบาลต่อประเด็นการกดดันให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย อย่างไร

ดร. สมชัย: อะไรที่ไม่เป็นแรงจูงใจทางการเมืองถ้าไม่คำนึงได้ก็จะดี ซึ่งมันก็คงยากเพราะว่าเป็นนักการเมือง แต่ว่าอันหนึ่งที่ทำได้คือ พยายามหาข้อมูล หาความรู้ที่ถูกต้อง พยายามมองเวอร์ชั่นของแบงก์ชาติ และพยายามทำความเข้าใจ อย่าไปฟังนักเศรษฐศาสตร์ที่ปรึกษาของรัฐบาลมาก นักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นอาจจะไม่รู้จริงเลย

ผมดูนักเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล ดูท่าทีเขาไม่มีใครเข้าใจเรื่องนี้เลย เพราะฉะนั้น ในนามรัฐบาล ผมว่าเปลี่ยนที่ปรึกษาดีมั้ยหรือเพิ่มที่ปรึกษาที่มันใช่ เอาแบบที่สามารถมองอะไรที่เป็นกลางมากขึ้น

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่มาภาพ : TDRI

ไทยพับลิก้า: หลังจากนี้ รัฐบาลกับแบงก์ชาติจะทำงานด้วยกันอย่างไร

ดร. สมชัย:  มันก็มีหลาย scenario  โดย scenario หนึ่งคือ แบงก์ชาติยอม และผู้ว่าแบงก์ชาติลาออก ซึ่งผมคิดว่าคงไม่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าผู้ว่าฯคนนี้จะไม่ลาออก และคงจะอยู่ต่อไป  ส่วน scenario ต่อมาคือว่า รัฐบาลปลด ถ้าปลดก็จะมีประเด็นตามมาว่าการปลดนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะว่ากฎหมายระบุไว้ว่าถ้าปลดต้องบรรยายได้ว่าทำผิดร้ายแรงอย่างไร ซึ่งไม่ว่ามองอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น แต่หากว่าปลดแล้ว อาจจะพยายามเอาคนของตัวเองเข้ามา ผมก็มีพูด ไปบ้างแล้ว เรื่องกระบวนการผมใช้คำว่าแทรกซึม ไม่ใช่แทรกแซง คือการแทรกซึมแบงก์ชาติ เช่น ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ เข้าสู่กระบวนการเลือกผู้ว่าคนใหม่ ซึ่งกระบวนการนั้น  รัฐบาลแทรกซึมได้ จนกระทั่งได้คนของตัวเองเป็นผู้ว่าฯ

และ scenario ถัดไปคือว่า ก็ทะเลาะกันไปแบบนี้แหละ กระทั่งผู้ว่าฯครบวาระ ในเดือนกันยายนปีหน้า  ถึงตอนนั้นยังไงก็ต้องมีผู้ว่าฯคนใหม่ ก็แทรกซึมเอาคนของตัวเองเข้ามา  แต่ว่าการแทรกซึมถ้ามันเกิดขึ้นจริงมันจะเกิดตั้งแต่ปีนี้แล้วเพราะว่าปีนี้จะมีประธานบอร์ดแบงก์ชาติหมดวาระกันยายนปีนี้  แล้วผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คนหมดวาระ ซึ่งกระบวนการคัดสรร 3 ท่านเป็นกระบวนการเดียวกับการคัดสรรผู้ว่าฯในปีหน้าอาจจะตั้งคนของตัวเองเข้ามา แล้วก็จะคัดเลือกคนที่จะมาเป็นประธานบอร์ด คนที่จะมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และปีหน้าก็จะเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ ถ้าเป็นแบบนี้ได้คนของตัวเอง ก็อาจจะเริ่มครอบงำแบงก์ชาติได้อีก คุมนโยบายการเงินได้

“มันอาจจะไม่เกิดขึ้นนะ ผมมองโลกในแง่ร้าย และมองรัฐบาลในแง่ร้าย จริงๆซึ่งผมยอมรับว่ามองรัฐบาลในแง่ร้าย  แต่ความจริงอาจจะไม่ร้ายขนาดนั้นก็ได้  เพียงแต่ว่าก็เป็น possible scenario ก็แล้วกัน แล้วในระหว่างนี้ก็ทะเลาะกันไปก่อน”

ไทยพับลิก้า:แล้วมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจจะมีการแก้ไขกฎหมายให้อิสระแบงก์ชาติน้อยลง

ดร. สมชัย: ผมก็เดาไม่ถูกหรอก แต่คนที่มองทางการเมืองมองแบบนั้นนะ  ถ้าเป็นแก้กฎหมายให้อิสระน้อยลง เสียงต่อต้านคงจะเยอะมาก อย่างผมคนหนึ่งคงต่อต้านเพราะว่าผิดหลักการ เพราะหลักที่ทั่วโลกเขายึดถือมานานกว่า 30-40 ปี และได้พิสูจน์แล้วว่าในความเป็นอิสระ

ถ้าแก้กฎหมายให้อิสระน้อยลง คำถามก็คือว่า  แก้แล้วอิสระน้อยลงเท่าไร เหลือศูนย์เลยมั้ย แล้วรัฐบาลสั่งหันซ้าย หันขวา ได้เลยมั้ย เหมือนกับเป็นอธิบดีคนหนึ่ง หรือ ปลัดคนหนึ่งหรือไม่ ถ้าถึงตอนนั้น ก็แย่แน่ๆ

แต่ว่า ถ้ายั้งๆมือนิดหนึ่ง แค่แก้กฎหมายให้อิสระน้อยลงนิดหน่อย อันนี้ต้องมานั่งดูดีกรี ว่าจะแก้กฎหมายว่าให้มีอิสระน้อยลง ให้น้อยลงอย่างไร อย่างหลายคนมอง หรือ ผมเองคิดว่าควรจะแก้กฎหมายให้อิสระมากขึ้น

อิสระไม่ใช่ถอยลงเพราะว่าตอนนี้ก็ยังแทรกซึมได้  แต่แน่นอนในทางการเมือง ซึ่งต้องดูว่า สังคมว่าอย่างไร พรรคฝ่ายค้านว่าอย่างไร   ผมคิดว่าน่าจะเป็นเกมยาว

ไทยพับลิก้า: แต่ในกฎหมายแบงก์ชาติไม่ได้เขียนคำว่า อิสระ  ยังอยู่ใต้กำกับดูแลของกระทรวงคลัง

ดร. สมชัย: ถูกครับ กฎหมายไม่มีคำว่า อิสระ เลย แต่สิ่งที่กฎหมายใส่ไว้ คือ กระบวนการต่างๆ เช่น รัฐมนตรี ไม่สามารถปลดผู้ว่าฯ โดยที่ไม่ต้องมีเหตุผลได้ สมัยก่อน อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ อาจารย์นุกูล ประจวบเหมาะ เวอร์ชั่นเก่าเป็นแบบนั้น  ซึ่งทำให้เวลามีปัญหากับทางการเมืองผู้ว่าแบงก์ชาติใช้วิธีลาออกเพื่อประท้วง หรือส่งสัญญาณให้กับสังคมเห็นว่าไม่เห็นด้วย เพราะว่าถ้าไม่ลาออกเขาก็ปลดออกอยู่ดี

แต่ว่ากฎหมายใหม่ปลดแบบนั้นไม่ได้เป็น มันมี element ของการรับรองความเป็นอิสระ โดยไม่ต้องเขียนคำว่าอิสระ ไว้ในกฎหมาย เป็นเรื่องกระบวนการ นี้เป็นตัวอย่างการตีความความเป็นอิสระ

ซึ่งในหลายประเทศก็มีลักษณะคล้ายๆกันเขียนกฎหมายก็ไม่เขียนว่าเป็นอิสระ และมีไม่กี่ประเทศที่เขียนคำว่าอิสระเอาไว้ในกฎหมาย  เพียงแต่ว่าเป็นเรื่องกระบวนการของกฎหมายมากกว่า

ไทยพับลิก้า การลดดอกเบี้ยตามที่รัฐบาลต้องการ แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน

ดร. สมชัย: ช่วยได้น้อยมาก คือ ถ้าลดดอกเบี้ยไปแล้วส่งออกจะดีขึ้นหรือไม่  ลดดอกเบี้ยแล้วแก้ปัญหานักท่องเที่ยวจีนที่มาช้ากว่าที่คิด ทำให้เข้ามาเร็วขึ้นหรือไม่  หลายเรื่องที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเรา หรือทำให้คนไทยมีทักษะในการทำงานเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องบอกว่าไม่เลย

ปัญหาตอนนี้เศรษฐกิจ ดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยโดยตรง แต่อาจจะช่วยในวงแคบ เช่น ภาระของผู้กู้จะน้อยลง มีเงินเหลือมากขึ้นมาจับจ่ายใช้สอย แต่ว่าอย่าลืมดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% มันไม่ได้สูงอยู่แล้วนะ จะลดไปได้สักเท่าไหร ดีไม่ดี ลดลง 0.25% หรือ 0.50% มีข้อดีในวงเล็ก ที่ไม่ได้ใหญ่อะไรมาก

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่วนที่ดีขึ้นเล็กๆน้อยๆ มันเกือบจะไม่ต้องไปดูเลย เล็กมาก แล้วมีผลเสียอื่นด้วย เช่น ลดดอกเบี้ยปั๊ปทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงไป และทำให้ต่างชาติเริ่มรู้สึกว่า ไม่อยากลงทุนและขนเงินออกนอกประเทศขึ้นมา ถ้าเป็นอย่างนั้นต้องหักลบให้ดีเพราะว่าสุดท้าย แล้วได้หรือเสียกันแน่

แล้วถ้าลดดอกเบี้ยแล้วมีภาพว่าแบงก์ชาติยอมตามฝ่ายการเมือง  ยิ่งเสียหายหนักเลย เพราะว่าอาจมีการขนเงินออกแบบเป็นเรื่องเป็นราว เพราะเขาจะไม่มองว่า ดอกเบี้ยลดลง0.25% หรือ0.50%  ตรงนั้นเขาไม่แคร์เท่าไรหรอก แต่ถ้าเขามองว่าแบงก์ชาติถูกครอบงำได้ตรงนั้นทำให้เงินไหลออกเป็นเรื่องเป็นราว เป็นล่ำเป็นสัน

ไทยพับลิก้า: แล้วท่านนายกฯเชิญนายแบงก์ 4 แบงก์ใหญ่เข้าไปคุยแล้วให้ลดดอกเบี้ย มองประเด็นนี้อย่างไร

ดร. สมชัย   : ผมว่าก็เป็นการขอความร่วมมือกับฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ระดับนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นถ้าผมเป็นก็ให้ความร่วมมือ นายแบงก์เองก็ต้องตอบสนอง เท่าที่ทำได้   ที่บอกว่าเท่าที่ทำได้เพราะผมทราบว่า แบงก์ลดดอกเบี้ยจริง แต่ไม่ลดให้เราทุกคน ที่ลดให้ เอสเอ็มอีต่างๆ ก็เป็นเอสเอ็มอีที่ง่อนแงนแล้ว  ถ้าเป็นเอสเอ็มอีชั้นดีก็ยังไม่ได้ลดให้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ก็เป็นการตอบสนองที่แสดงให้เห็นว่าให้ความร่วมมือกับนายกรัฐมนตรี และที่ผ่านมามีภาพว่าแบงก์พาณิชย์ที่มีกำไรมากเกินไป การทำแบบนี้ก็ทำให้กำไรลดลงมาบ้าง ผมคิดว่าแบงก์พาณิชย์มองประเด็นนี้ด้วย นอกจากไม่ได้ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่พอใจแล้ว เขาก็ยังได้ภาพลักษณ์กลับมาบ้าง ช่วยรายเล็กรายย่อย แต่ทำได้ไม่มากหรอกเพราะในที่สุดแล้วก็ลดดอกเบี้ยได้บ้างแต่ไม่ได้ในวงกว้าง

ไทยพับลิก้า การที่ระดับนำในพรรคเพื่อไทย และผู้ใหญ่ในรัฐบาลออกมาพูดกดดันแบงก์ชาติแบบนี้ ทำให้รัฐบาลติดลบหรือไม่

ดร. สมชัย   :ผมเชื่อว่าแบบนั้น ขึ้นกับว่าสายตาใครมอง  ถ้าเป็นสายตาของชาวบ้านอาจจะครึ่งๆ อาจจะไม่ถึงครึ่งกับที่เชียร์ด้วยซ้ำเพราะว่า รัฐบาลเองก็บอกว่า ถ้าดอกเบี้ยลดลงรายจ่ายก็ลดลงด้วย  เศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างมากมาย ก็จะมีคนบางคนที่เชื่อ ซึ่งก็คงเชียร์รัฐบาล

แต่ว่าอีกฝั่งที่ไม่เชื่อ ก็อาจจะคล้ายๆผม ที่แน่ๆก็คือ คนที่เป็นนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนระหว่างประเทศ เขาเข้าใจประเด็นนี้ชัดเจนมาก การที่ฝ่ายการเมืองเข้ามากดดันแรงแบบนี้  นักลงทุนทั่วโลกไม่ยินดีอยู่แล้ว  และจะมองด้วยสายตาที่มีคำถามแรงมาก ซึ่งตรงนี้ต้องจับตาดูและจับตาดูด้วยว่าแบงก์ชาติจะยอมหรือไม่

ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ใช่ว่า ห้ามแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนะ  ไม่ใช่ว่าแบงก์ชาติต้องห้ามลดดอกเบี้ย เพราะกลัวว่าจะถูกมองว่ายอมรัฐบาล  ผมว่าขึ้นอยู่กับข้อมูล และผมยังเชื่อความเป็นมืออาชีพของแบงก์ชาติ ถ้าสถานการณ์มันหนัก และบอกว่าต้องลดดอกเบี้ย ผมเชื่อว่า เขาก็จะลดดอกเบี้ย แต่ลดแล้วต้องอธิบายด้วยว่า ลดเพราะว่าข้อมูลเป็นแบบนั้นไม่ใช่ลดเพราะว่า รัฐบาลสั่งให้ลด  มันเป็นความท้ายของแบงก์ชาติที่ต้องสื่อสาร   แต่ถ้าถามผม ส่วนตัวผมว่าปีนี้คงลด และคงเห็นแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่มาภาพ : TDRI

ไทยพับลิก้า  :  มีประเด็นที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าแบงก์ชาติอยู่บนหอยคอยงาช้าง อาจารย์มองประเด็นนี้อย่างไร

ดร. สมชัย: คือ ผมคิดว่า แบงก์ชาติดูข้อมูลหลากหลายประเภทมาก ข้อมูลที่เป็นระดับหอคอย  หรือระดับมหาภาคมีการดูแน่นอน  แต่ว่าข้อมูลที่เป็นเศรษฐกิจจริงๆ การใช้ชีวิตของประชาชน ธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นอย่างไร เขาเก็บข้อมูลตลอดเวลา

สมัยผมอยู่ในกนง.เขาวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นการกระจายรายได้บ่อยมาก มีการแยกกลุ่มคนงานออกเป็นคนงานระดับล่าง  เป็นครัวเรือนยากจน เป็นแรงงานนอกระบบแรงงานอิสระ แบ่งออกเป็นกลุ่ม  และมีการไปพบนักธุรกิจรายเล็กรายย่อย มีการทำสำรวจโดยเฉพาะของแบงก์ชาติเอง

นอกจากนี้แบงก์ชาติยังมีสำนักงาน 5แห่งประจำภูมิภาค  พวกนี้ก็เก็บข้อมูลในภูมิภาคซึ่งจะรู้ว่าชีพจรทางเศรษฐกิจภูมิภาคเป็นอย่างไร ข้อมูลนี้เหล่านี้ก็จะไหลเข้ามาใน กนง.เพื่อการติดสินใจเรื่องดอกเบี้ย

ผมก็นั่งฟังข้อมูล ตลอด 5 ปีที่ทำหน้าที่ใน กนง. เพราะฉะนั้นข้อกล่าวหาที่ว่าดูแค่ข้อมูลมหาภาค ผมว่าไม่แฟร์ จริงๆเขาดูข้อมูลหลากหลายและที่เป็นคนเล็กคนน้อยเยอะพอสมควรเลย

ไทยพับลิก้า : ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขเพื่อให้ประเทศไปได้ต้องทำอย่างไรบ้าง

ดร. สมชัย:ต้องทำ 4 เรื่อง เรื่องแรกที่ผมพูดไปแล้วคือ national skill Program  และต้องมีการลงทุนอย่างจริงจัง ผมเสนอให้ทำแบ่งการทำเป็นขนมชั้น 4 ชั้น โดยชั้นที่หนึ่งเรื่องของ skill ให้ทำเป็นการสนับสนุนเป็นคูปองให้คนไปอบรม และให้คน 30 ล้านคนหรือให้คนที่จบไม่เกินมัธยมต้น โดยให้นำเอาคูปองไปอบรมมี 4 ชั้น

คือ  ชั้นแรกไปอบรม Skill พื้นฐาน  หรือภาษาวิชาการเรียกว่า foundation  skill แปลว่า ทักษะการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน  มี 3 เรื่องคือ เรื่องการอ่านออก เขียนได้ การเข้าใจ 2.ดิจิทัลต้องมีความรู้เรื่องเหล่านี้  3.ทักษะทางด้านสังคมและอารมณ์ จะอยู่ในสังคมอย่างไรจะจัดการอย่างไรกับอารมณ์ตัวเองอย่างไร  ล้มแล้วลุกได้มั้ย คุณมีความอยากรู้ อยากเห็นหรือไม่ ทำงานเป็นทีมหรือไม่

ชั้นที่สองเป็น skill เรื่องของการทำมาหากิน กลึงเหล็กเป็นหรือไม่  ใช้คอมพิวเตอร์เป็นหรือไม่ ใช้เอ็กเซลเป็นหรือไม่

ชั้นที่สาม ทำให้กับกลุ่มเปราะบาง อาจจะคนยากจน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ  ซึ่งก็คงต้องอบรมในชั้นที่หนึ่งและชั้นที่สอง แต่การอบรมในการกลุ่มที่สามเพื่อจะแยกว่า คูปองที่ให้กับคนกลุ่มนี้ ต้องมีมูลค่าสูงกว่าคนทั่วไป เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นกลุ่มเปราะบางทักษะเขาอาจจะมีไม่มากนัก 

ส่วนชั้นที่ 4 เมื่อมีการฝึกอบรมแล้วต้องมีโครงการจัดหางานฝึกอาชีพด้วย

ผมคิดว่าการอบรมทั้ง 4 ชั้นประมาณการณ์ว่าจะใช้งบประมาณ แสนล้านต่อปีครอบคลุมคน 32 ล้านคน เพราะจบมาแล้วเขาสามารถเพิ่มรายได้ให้ตัวเองซึ่งผมคิดว่าตอบโจทย์มากกว่า ดิจิทัลวอลเล็ตเยอะและใช้เงิน แค่ 1ใน 5  หรือแค่ 20 % เท่านั้น

พูดอีกอย่างคือ “ถ้าทำดิจิทัลวอลเล็ต ที่ทำแค่ประเดี๋ยวประด๋าวแล้วหมดไป แต่ถ้าทำ skill แบบนี้ ได้ 5 ปีต่อเนื่อง และโดยประมาณ ปีที่ 3 และปีที่ 4 เริ่มเห็นเนื้อเห็นหนังแล้ว และดีไม่ดี จีดีพีจะเพิ่มขึ้น  1 % แบบต่อเนื่อง  คือไม่ใช่เพิ่มปีเดียว คือเพิ่มไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้าทำอันนี้คือ การใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ”

ส่วนอีกสองอีกเรื่องที่ต้องทำคือ เรื่องของการปฏิรูปการศึกษา เป็นเรื่องของการพัฒนาคนในระบบโรงเรียนที่ต้องได้ทักษะที่ถูกที่ควรด้วย และ สามคือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในด้าน ดิจิทัล เช่น ผมพยายามโปรโมทเรื่อง ฟรีอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศมานานมากแล้ว

“คิดว่ายุคดิจิทัล ถ้าต้องการให้คนไทยตามทันทางด้านนี้ โดยเฉพาะรากหญ้าเข้าถึงฟรีอินเทอร์เน็ตยาก จึงต้องการให้ฟรีฟรีอินเทอร์เน็ตมันจะได้ 2 เด้งคือ เพิ่มจีดีพี และลดความเหลื่อมล้ำอันนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำ”

นอกจากนี้ก็ควรทำเรื่องขอลดการผูกขาด ซึ่งพูดกันจนแผ่นเสียงตกร่อง ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดในเรื่องค้าปลีก โทรคมนาคม และ ช่วงหลังมาแรงมากคือ เรื่องธุรกิจพลังงานไฟฟ้า  โดยเรื่องทั้งหมดนี้ต้องรีบทำทันที เพราะมันใช้เวลา