ThaiPublica > เกาะกระแส > TIJ ร่วมกันทบทวนอีกครั้ง… Police Reform Revisited: ปฏิรูปตำรวจ…ปฏิรูปอะไร?

TIJ ร่วมกันทบทวนอีกครั้ง… Police Reform Revisited: ปฏิรูปตำรวจ…ปฏิรูปอะไร?

28 กรกฎาคม 2024


ศ.ดร วรภัทร โตธนะเกษม กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (IRDP) พล.ต.อ.วินัย ทองสอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และนายกสมาคมตำรวจ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และนายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวและกรรมการบริหาร ไทยพีบีเอส(ภาพจากขวาไปซ้าย)

ปัจจุบัน “ตำรวจ” เป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมที่กำลังเผชิญวิกฤติเสื่อมศรัทธาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ตำรวจระดับสูงสุดที่ได้ชื่อว่าเป็นเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวหากัน ด้วยข้อหาที่อุกฉกรรจ์ แม้กระบวนการทางกฎหมายจะยังไม่จบสิ้น แต่ก็ทำให้เกิดคำถามว่า “การปฏิรูปตำรวจ” ที่มีความพยายามทำกันมาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหมในวันนี้

ล่าสุด คนในวงการตำรวจได้ร่วมกันขับเคลื่อน “การปฏิรูปตำรวจ” อีกครั้ง แม้หลายคนจะยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก หากไม่ตัดเรื่องอำนาจทางการเมืองออกไป โดยชี้ให้เห็นว่าอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิรูปตำรวจ ก็คือการมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) รวมทั้งมีอำนาจเป็นผู้คัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นจากข้าราชการตำรวจ 2,000 นายทั่วประเทศ ร้อยละ 96.1 เห็นว่าการปฏิรูปตำรวจต้องไม่มีการแทรกแซงจากการเมือง และร้อยละ 93.3 ระบุว่าหากเกิดการปฏิรูปตำรวจขึ้นจริง ต้องไม่มีตำรวจเดินตามนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพล

ข้อมูลนี้ถูกหยิบยกมาพูดคุยในวงเสวนาเรื่อง “Police Reform Revisited: ปฏิรูปตำรวจ…ปฏิรูปอะไร?” โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ผ่านแพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate เครือข่ายผู้นำเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เพื่อร่วมกันทบทวนถึงการปฏิรูปตำรวจอีกครั้ง

เส้นทางการปฏิรูปตำรวจที่ไม่เคยประสบความสำเร็จ

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ได้ฉายภาพให้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การปฏิวัติรัฐประหารในปี 2557 ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าเป็นช่วงที่ความคาดหวังเรื่องการปฏิรูปตำรวจสวนทางกับความเป็นจริง “ตอนนั้นเรามีความหวังว่าทหารซึ่งทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับตำรวจมาในทุกเรื่องน่าจะเข้าใจและประสบปัญหาเรื่องการแทรกแซงการบริหารจัดการในองค์กรในสภาพเช่นเดียวกัน แต่กลับกลายเป็นช่วงที่ตำรวจตกต่ำที่สุด มีการวิ่งเต้น การข้ามอาวุโส การบริหารงานบุคคลล้มเหลว การเมืองแทรกแทรก คนดีไม่ได้ดี มีภาพตำรวจเอาพวงมาลัยไปให้นักการเมือง”

นอกจากนี้ ยังมีการทุบแท่งเส้นทางความเจริญของพนักสอบสวนซึ่งเป็นหัวใจของงานตำรวจ และเกิดปรากฏการณ์อีกมากมาย “เช่น เป็นครั้งแรกที่อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีตำรวจได้ดี 2 คน คือ นายกเว้นและนายแก้ระเบียบ ถ้านายกเว้นไม่แก้ระเบียบก็คงไม่ได้ดิบได้ดี และผลคือในปี 2566 มี 2 คนที่สร้างประวัติศาสตร์ของคนที่รับราชการ 7 ปี 7 ตำแหน่ง คนหนึ่งเป็น ผบ.ตร. อีกคนหนึ่งเป็นรอง ผบ.ตร. ที่มีความขัดแย้งกัน เป็นข้อเท็จจริงที่รับทราบกันว่าอีรุงตุงนังที่สุด”

พล.ต.อ.เอก ได้อ้างถึงหนังสือ “ปฏิรูปตำรวจ… โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” ซึ่งเขียนโดย ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ว่าเป็นการปฏิรูปตำรวจครั้งแรกในปี 2549 ที่มีระบบระเบียบแบบแผนและได้ข้อยุติมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยได้มีการระบุ 10 ประเด็นในการปฏิรูปตำรวจที่อุดช่องโหว่และแก้ไขปัญญาขององค์กรตำรวจไว้อย่างครบมิติ ได้แก่การกระจายอำนาจการบริหารงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างกลไกตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจ การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ของตำรวจ การปรับปรุงพัฒนาระบบงานสอบสวน การปรับปรุงการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ การพัฒนากระบวนการสรรหา การผลิต และการพัฒนาบุคลากร การปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการ การส่งเสริมความก้าวหน้าของตำรวจชั้นประทวน และการจัดตั้งหน่วยงานพัฒนากระบวนการยุติธรรม ซึ่งเปรียบเสมือนบัญญัติ 10 ประการ อันเป็นวางรากฐานของการปฏิรูปตำรวจครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ในเวลาต่อมา

“การปฏิรูปครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และครั้งที่ 3 ในยุครัฐบาล คสช. ก็เป็นการปฏิรูปที่ไม่ตรงปก ยังไม่ตอบโจทย์การปฏิรูปอย่างแท้จริง ดังนั้น ถ้าจะปฏิรูปตำรวจอีกครั้ง สิ่งที่อยากบอกคือ ต้องปฏิรูปเพิ่มเติมให้ตรงปกมากยิ่งขึ้น”

พล.ต.อ.เอก ได้เน้นย้ำว่าตำรวจยังต้องการให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดขององค์กรตำรวจ เพราะหากผู้บังคับบัญชาเป็นผู้นำรัฐบาลที่เล็งเห็นความสำคัญของงานตำรวจ ก็จะนำไปสู่การสนับสนุนเรื่องงบประมาณได้อย่างเหมาะสมเพียงพอ อย่างไรก็ดี สมมติฐานดังกล่าวเป็นสิ่งที่คิดกันมาตลอด แต่ ณ เวลานี้ มีความชัดเจนว่าสิ่งที่เป็นความจริงมาตลอดนั้นไม่สามารถตอบโจทย์ได้ จึงเป็นห่วงว่านายกฯ จะต้องเผชิญกับข้อจำกัดของบริบทการเมืองที่เปลี่ยนแปลง แล้วยังต้องรับภาระในส่วนงานบริหารงานบุคคลของตำรวจซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก

ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปอะไร?

พล.ต.อ.เอก ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในเวทีการปฏิรูปตำรวจได้ข้อสรุปและยกร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับแก้ไขเพิ่มเติม… เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายในหลายเรื่อง เรื่องแรกคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ให้มีคณะกรรมการโดยตำแหน่งกับคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและความโปร่งใสมากขึ้น

เรื่องที่ 2 คือ การคืนแท่งพนักงานสอบสวนเพื่อให้มีเส้นทางการเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่เหมือนในกฎหมายเดิม หลังจากได้ “ยกเลิก” ตำแหน่ง “พนักงานสอบสวน-พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ” ไปตามคำสั่ง คสช.ที่7/2559 เรื่องการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน

เรื่องที่ 3 คือ การบริหารงานบุคคล ในการแต่งตั้ง โยกย้าย และพิจารณาการเติบโตก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ ควรเป็นการผสมระหว่างระบบอาวุโสและการคัดสรรคนที่เข้มแข็งเข้ามาเป็นผู้นำองค์กร แต่ต้องไม่ให้มีระบบอุปถัมภ์เข้ามาแทรกแซง เพราะจะกลายเป็นว่าอาจได้คนที่ไม่ได้มีทั้งอาวุโสและความรู้ความสามารถ แต่ได้มาเพราะการวิ่งเต้นหรือเส้นสาย

นอกจากนี้ ยังมี “คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.)” ซึ่งเป็นส่วนที่ดีที่สุดของพระราชบัญญัติตำรวจ พ.ศ. 2565 “ทำให้ได้ 7 อรหันต์ที่มาจากระบบคัดเลือกที่เข้มแข็ง” เป็นความหวังที่จะมาดูแลระบบการแต่งตั้งโยกย้ายและการตรวจสอบการทำงานของ ก.ตร. ทุกระดับอย่างเข้มแข็ง แต่ข้อเสียคือไม่ได้เขียนหน่วยงานรองรับไว้ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ “ตอนนี้ 7 ท่าน แบกรับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ไว้ไม่ต่ำกว่าคนละร้อยเรื่อง” และคณะกรรมการสุดท้ายที่เป็นผลพวงมาจากการปฏิรูปในครั้งแรก ก็คือ “คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.)” ซึ่งมีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ก.พ.ค.ตร.

แต่ปัจจุบันติดขัดเรื่องการบริหารจัดการ ทำให้ยังตอบโจทย์ได้ไม่ครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้ ดังนั้น จึงต้องเสนอร่างกฎหมายไปปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งตำรวจและประชาชนสามารถร่วมลงชื่อการเสนอร่าง พ.ร.บ. ตำรวจ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ได้ จึงนับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่ตำรวจจะสามารถเสนอแก้ไขการบริหารงานภายในได้ และคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในการร่วมกันผลักดันให้เกิดเป็นกฎหมายต่อไป

ปฏิรูปตำรวจ ต้องตัดอำนาจทางการเมือง?

พล.ต.อ.วินัย ทองสอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และนายกสมาคมตำรวจ ยอมรับว่าในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา มีขบวนการนำตำแหน่งของตำรวจไปซื้อขายกัน โดยตำรวจที่ใช้เงินซื้อตำแหน่งและขึ้นมาเป็นใหญ่ ก็คือนายตำรวจที่รีดไถประชาชน เมื่อเข้ามารับตำแหน่งก็จะคิดแต่เรื่องถอนทุนคืน ขณะที่คนดีที่ไม่มีเส้นสาย ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เจริญก้าวหน้า เพราะขบวนการของการคัดสรรคนดีให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าหน่วยงานสำคัญ ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นล้มเหลว

“มาถึงวันนี้ ฝีที่สะสมมาในช่วง 7-8 ปี เป็นฝีที่เริ่มแตก ทำให้เราเห็นหลายอย่างเปิดขึ้น อย่างตอนโควิดระบาดที่ระยองทำให้เราเห็นว่าตำรวจเปิดบ่อน หลังจากนั้นก็มีกรณีตำรวจรีดไถนักท่องเที่ยว กรณีทุนจีนสีเทาตู้ห่าว คดีกำนันนก ฯลฯ นี่เป็นตัวอย่างความชั่วร้ายที่เกิดขึ้น”

พล.ต.อ.วินัยยังได้อ้างถึงงานเขียนของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ว่าการปฏิรูปตำรวจนั้น ต้องปฏิรูปให้ตำรวจให้เป็นองค์กรที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นมืออาชีพและมีประสิทธิภาพ เป็นองค์กรที่เคารพกฎหมาย เคารพสิทธิมนุษยชน โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นองค์กรที่หลุดพ้นจากการเมือง

“ถามว่าเป็นอิสระจากการเมืองสำคัญอย่างไร ลองไปดูหน่วยงานยุติธรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็นอัยการ ศาล ท่านก็เรียกร้องขอความเป็นอิสระ เมื่อมีความเป็นอิสระแล้วการทำงานของเขาดีขึ้นไหม แต่ของตำรวจเราทำไมถึงไม่ยอมปล่อยเราให้เป็นอิสระเสียที”

พล.ต.อ.วินัยกล่าว และย้ำว่าหากนำงานบริหารงานบุคคลตำรวจออกจากการเมืองได้ สังคมไทยจะเห็นตำรวจดี ๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้น สิ่งที่คนในวงการตำรวจออกมาร่วมกันเรียกร้องกันในเวลานี้ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ ปฏิรูปตำรวจแล้วชาวบ้านได้ประโยชน์อะไร แน่นอนว่า หากมีเก้าอี้ที่เป็นธรรมให้กับตำรวจที่ดี ตำรวจที่ทำงานด้วยความกล้าหาญ ซื่อสัตย์ สุจริต บังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม สังคมก็จะมีความสงบสุข

เปลี่ยนโฉมตำรวจไทย… ลบวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ

ศ.ดร วรภัทร โตธนะเกษม กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (IRDP) กล่าวว่าตำรวจเป็นสังคมหนึ่งในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง จึงอยากมองไปที่วัฒนธรรมองค์กรตำรวจซึ่งจากที่ได้ฟังวิทยากรที่เป็นตำรวจทั้งสองท่านกล่าวถึง สามารถสรุปได้ว่า องค์กรตำรวจมี “วัฒนธรรมที่เป็นพิษ” ซึ่งมีที่มาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่มีผลมากที่สุดที่นำมาสู่การแตกสลายในวันนี้ ส่วนตัวมองว่าคือการเข้าสู่ตำแหน่งโดยใช้เงินซื้อแล้วมาถอนทุนคืน ดังนั้น หากต้องการยุติวงจรที่ชั่วร้าย ก็ต้องยุติตั้งแต่การเข้าสู่ตำแหน่งด้วยการซื้อตำแหน่ง

ศ.ดร วรภัทร ยังได้เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น โดยยก 4 คำที่สื่อถึงการเข้าสู่ตำแหน่งของคนในสังคมไทย ได้แก่

  • “Nepotism” คือ มีตำแหน่งอะไรก็ให้ญาติพี่น้องไว้ก่อน
  • “Cronyism” คือ ถ้ามีตำแหน่งอะไรที่เหลืออยู่ให้เพื่อนฝูงไว้ก่อน โดยส่วนตัวเชื่อว่าในหน่วยงานตำรวจคงมีเรื่องเหล่านี้มาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปีซึ่งมีส่วนสำคัญที่สร้างวัฒนธรรมที่เป็นพิษมานานแล้ว
  • “Meritocracy” ในภาษาไทยแปลว่า “คุณธรรม” แต่ที่ประเทศจีนมีมาตั้งแต่สมัยการสอบจอหงวน ซึ่งหมายถึงคนที่ได้ดิบได้ดีด้วยความรู้ความสามารถ แต่แน่นอนว่าต้องมีคุณธรรมและความดีงามควบคู่กันไปด้วย
  • “Puritionism” เป็นคำที่ตนคิดขึ้นมาเองเพื่อสื่อความหมายถึงตำแหน่งที่มาด้วยการซื้อ ซึ่งเราต้องทำให้สิ่งนี้ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ
  • “วันนี้เรากำลังพูดถึงการ Reform ซึ่งทำมาแล้ว 3 ครั้ง และยังไม่มีความคืบหน้า แต่ผมชอบท้าทายกว่านั้น อยากเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทยและผู้มีอำนาจทั้งหลายว่า วันนี้ Reform ก็ไม่พอแล้ว ต้อง Transform คือเปลี่ยนโฉมไปเลย”

    ถามว่าทำอย่างไร ลองหลับตานึกถึงประเทศจีนจากประเทศยากจน แต่วันนี้เขาเปลี่ยนไปไกลมาก ทั้งที่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน ทำไมเขาทำได้

    ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ (ยืน)

    ปฏิรูปตำรวจ… โปรดฟังอีกครั้ง

    ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ กล่าวขอบคุณวงเสวนาที่ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น และประสบการณ์กันอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งช่วยจุดประกายให้คนในหลักสูตร RoLD Xcelerate กล้าเปิดใจแลกเปลี่ยนข้อมูลไปด้วย

    “เป็นเวทีที่ปลุกให้เราได้ตื่นขึ้น และอยากให้ถามตัวเองว่า ประเทศไทยเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เรามาถึงจุดที่ไม่มีใครรู้สึกว่าต้องทำอะไรเลยจริง ๆ หรือ”

    สำหรับหนังสือเรื่อง “การปฏิรูปตำรวจ… โปรดฟังอีกครั้ง” ที่ได้ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2550 นั้น เป็นสิ่งที่ตนเองได้รวบรวมข้อมูลจากบุคลากรในวงการตำรวจ ซึ่งขณะนั้น ยังไม่มีการเรียกร้องจากวงการตำรวจเองเหมือนเช่นในวันนี้ แต่เกิดจากผู้มีอำนาจในบ้านเมืองต้องการให้เกิดการปฏิรูป และก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์พอสมควรว่า เมื่อทหารเข้ามามีอำนาจแล้วต้องการทำอะไรกับตำรวจหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าได้มีการรวบรวมองค์ความรู้ไว้มากพอสมควร และวันนี้เรามีองค์ความรู้ที่ชัดเจน แต่ประเด็นคือเราจะเคลื่อนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จมากกว่า

    “ส่วนหนึ่งที่รู้สึกประทับใจคือ ได้ฟังสำนักงานตำรวจที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกอย่างแคนนาดาแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ฟังว่า สมัยก่อนเวลาเด็กประเทศเขาร้องไห้ ผู้ใหญ่จะห้ามว่าอย่าร้อง เดี๋ยวตำรวจจับ แต่ตอนนี้ เวลาเด็กร้องไห้ จะบอกว่าโตไปจะไม่ได้เป็นตำรวจ นี่คือการพลิกโฉมองค์กรไปอย่างสิ้นเชิง”

    สำหรับหัวใจความสำเร็จของการปฏิรูปตำรวจนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ได้อ้างถึงสกู๊ปข่าวของไทยพีบีเอสที่ระบุว่าต้องอาศัยหลัก 3 P ได้แก่

  • “People” หรือประชาชน ที่สามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบหรือเสนอกฎหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
  • “Police” หรือตำรวจ ที่พร้อมสะท้อนปัญหาและแสดงความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กร
  • “Political View” หรือเจตจำนงค์ทางการเมืองที่แต่ละพรรคการเมืองจะต้องมีการเสนอนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ โดยทำให้การเมืองรู้สึกว่า สิ่งที่จะปฏิรูปนั้นมีความเป็นกลาง ไม่ได้เลือกฝ่ายใด แต่มีกระบวนการที่ทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามาสร้างฉันทามติร่วมกัน ซึ่งน่าจะเป็นโมเดลแบบไทย ๆที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต