ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊ (43) : เพลินเพลงคลาสสิกแบบเบาๆ

เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊ (43) : เพลินเพลงคลาสสิกแบบเบาๆ

29 กรกฎาคม 2024


ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์

ลุงหมีเล่าถึงเพลงฝรั่งและเพลงไทยสากลมาแล้วหลายครั้ง ในบทความนี้จะขอแนะนำเพลงสากลแนวคลาสสิกบ้าง โดยจะนำเสนอคลิปเพลงสั้นๆเพลงละ 3-4 นาที (เพลงจริงยาวได้ครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงกว่า) ยาวพอให้ฟังท่วงทำนองหลักของเพลงและแนวทางเล่นดนตรีของวงออเคสตรา หวังว่าจะกระตุ้นความสนใจให้ติดตามฟังตัวเพลงที่สมบูรณ์ด้วยตัวเอง โดยเข้าไปค้นหาใน YouTube ได้ หรือตามไปฟังการแสดงคอนเสิร์ตสดของวง Bangkok Symphony Orchestra หรือวง Thailand Philharmonic Oschestra หรือวงออเคสตราของนักศึกษาวิทยาลัยดุริยางค์ศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอเริ่มต้นการฟังเพลงคลาสสิกในรูปแบบเสียงของเครื่องดนตรีล้วนๆ (instrumental) จะมีเพียงบางเพลงที่มีเสียงคอรัสเข้ามาแทรกบ้าง โดยชุดนี้จะแนะนำเพลงคลาสสิกแบบเบาๆ เสียก่อน (light classical music หรือ mood music) เป็นแนวเพลงที่สั้น ฟังง่ายและโครงสร้างดนตรีไม่ซับซ้อน (ไม่เหมือนคอนแชร์โต ซิมโฟนี หรือโอเปรา)

การแต่ง light music เริ่มต้นปลายศตวรรษที่ 18 ต่อเนื่องมาจนได้รับความนิยมสูงสุดช่วงกลางศตวรรษ 20 มีนักแต่งเพลงหน้าใหม่สร้างผลงานดนตรีเด่นๆ เพิ่มขึ้นมาก ในชุดเพลงนี้จะขอแนะนำ 5 เพลงในสไตล์จังหวะเร็วและเร้าใจ

เพลงแรกเป็นผลงานของ Jacque Offenbach นักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศส ในปี 1858 มีผลงานออกมาชื่อ Orpheus in Underworld โดยมีท่อนที่ท่วงทำนองติดหูคนฟัง เรียกว่า can-can music โยงกับสไตล์การเต้นโชว์ของฝรั่งเศสที่เตะขาสูง

ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีนี้ (ปารีส 2024) ได้มีการจัดเวทีแสดงไว้บนริมฝั่งแม่น้ำsein มีสาวนักเต้น can-can 40 คนมาเต้นโชว์กับเพลงนี้พอดีเลย

เพลงที่สองแต่งเมื่อปี 1900 โดย Nicolai Rimsky-Kosakov นักแต่งเพลงชาวรัสเซีย เป็นท่อนแทรกขอโอเปรา ใช้ชื่อว่า Flight of Bumble Bee ให้ความรู้สึกถึงการบินของฝูงผึ้ง

เพลงที่สามเป็นฝีมือของ Pascal Navro นักแต่งเพลงชาวสเปน ออกมาในปี 1920 ชื่อว่า Spanish Gypsy Dance หรือ Espana Cani เป็นสไตล์เพลงเต้นรำของสเปน ในการแข่งขันลีลาศจะเรียกว่า latin paso doble คลิปที่นำมาเสนอเป็นการแสดงสดจากวงออเคสตราของ Andre Rieu นักไวโอลินชาวดัตช์ที่สร้างวงดนตรีเผยแพร่งานดนตรีแบบฟังสบายๆ ให้เป็นที่นิยมของผู้ฟังวงกว้างขึ้น

เพลงที่สี่เป็นผลงานของ Albert Ketelbay นักแต่งเพลงชาวอังกฤษ ออกมาในปี 1920 ใช้ชื่อว่า In a Persian Market บรรยายถึงความคึกคักวุ่นวายของตลาดอาหรับ ให้บรรยากาศ exotic คือต่างแดนที่ฝรั่งไม่คุ้นเคย เพลงนี้มีคอรัส (การร้องเพลงประสานเสียง) แทรกเข้ามาด้วย

เพลงสุดท้ายความจริงเป็นเพลงคลาสสิกขนานแท้จากฝีมือของยอดคีตกวี Wolfgang Mozart ในปี 1783 เขาได้แต่ง Piano Sonata หมายเลข 11 ซึ่งในท่อนที่สามมีช่วงดนตรีในจังหวะ rondo ซึ่งฟังสนุก ใช้แนวเสียงดนตรีของตุรกี เพลงท่อนนี้จึงมีชื่อเรียกว่า Rondo Alla Turca หรือ Turkish March ลุงหมีเลือกเพลงนี้มาอยู่ในชุด light music เพราะสร้างอารมณ์แบบเดียวกัน

หมายเหตุ ที่มา… คลิปเพลงจากyou tube