ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงาน Roland Berger “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จะเป็น “มหาอำนาจการผลิตใหม่” ของโลกหรือไม่?

รายงาน Roland Berger “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” จะเป็น “มหาอำนาจการผลิตใหม่” ของโลกหรือไม่?

3 กรกฎาคม 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : รายงานของบริษัทที่ปรึกษา Roland Berger ชื่อ The Rise of Southeast Asia

ในรายงานของบริษัทที่ปรึกษา Roland Berger ชื่อ The Rise of Southeast Asia กล่าวว่า ทุกวันนี้ นักลงทุนแทบทุกคนพูดถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ก่อนหน้านี้ ภูมิภาคนี้ถูกมองข้ามมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ตัวเลขการเติบโตที่สูง ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดของโลก

สมาคมอาเซียนเองก็กลายเป็นจุดเด่นของการโต้แย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นักสังเกตุการณ์เชื่อว่า ประเทศภูมิภาคนี้ไม่เพียงแต่ได้ประโยชน์จากการประกันความเสี่ยงของบริษัทข้ามชาติ อันเนื่องมาจากปัญหาการขยายตัวของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่จะกลายเป็นทางเลือกการเป็น “ศูนย์ประกอบการผลิตแห่งใหม่” ของโลก

แต่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจดึงการลงทุนใหม่ๆเข้ามาได้ แต่ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก คงจะมีไม่มาก เพราะประเทศสำคัญๆของเศรษฐกิจโลก เช่น สหรัฐฯ จีน และยุโรป มีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด การย้ายการผลิตไปอีกภูมิภาคหนึ่งจึงไม่ใช่สิ่งที่พึ่งประสงค์

อาเซียนกำลังพิสูจน์ความแข็งแกร่ง

รายงานของ Roland Berger กล่าวว่า ทัศนะที่แตกต่างกันดังกล่าว จำเป็นต้องตรวจสอบจากข้อเท็จจริง (reality check) จึงตั้งคำถามว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะพัฒนามาเป็น “มหาอำนาจการผลิตแห่งใหม่” ได้หรือไม่

ที่มาภาพ : รายงานของบริษัทที่ปรึกษา Roland Berger ชื่อ The Rise of Southeast Asia

การที่จะตอบคำถามนี้ได้ ต้องมองไปที่ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของภูมิภาคนี้ ที่ประกอบด้วยการเติบโตของ GDP การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ข้อมูลการส่งออก ต้นทุนแรงงานในการผลิต การนำเข้าสินค้าระดับกลาง และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ต่อจากนั้นก็มาวิเคราะห์เรื่องการย้ายห่วงโซ่อุปทานมาภูมิภาคนี้ โดยศึกษากรณีห่วงโซ่อุปทาน ด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ EV

รายงาน Roland Berger กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศอาเซียนมีสัดส่วนเพียง 3.4% ของ GDP โลก และ 7.7% ของการส่งออกของโลก แต่ปัจจุบัน เป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจมีพลังพลวัตมากที่สุด รวมทั้งอินเดีย แม้ที่ผ่านมา จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการผลิตของประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ ยังไม่กลับคืนมาในระดับก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19

แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาเซียนก็เข้มแข็ง ปี 2022 เศรษฐกิจอาเซียนขยายตัว 5.6% ในปี 2023 คาดว่าอยู่ที่ 4.5% ซึ่งสูงกว่าภูมิภาคอื่น การเคลื่อนย้ายห่วงโซ่การผลิตจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน ให้รักษาแนวโน้มการเติบโตดังกล่าว

ที่มาภาพ : รายงานของบริษัทที่ปรึกษา Roland Berger ชื่อ The Rise of Southeast Asia

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพื่อการส่งออก มานาน ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 ปัจจุบัน ภูมิภาคนี้เลื่อนฐานะการเป็นแหล่งลงทุนมากขึ้น เนื่องจากการผลิตในจีนมีต้นทุนแพงขึ้น รวมทั้งสหรัฐฯเพิ่มภาษีศุลกากรต่อสินค้าจากจีนในปี 2018 และนโยบายการค้าของสหรัฐฯที่มีลักษณะ “แยกตัวออกจากจีน”

นับจากนั้นเป็นต้นมา สัดส่วนการลงทุนจากต่างประเทศในอาเซียน 6 ประเทศคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม เมื่อเทียบกับทั่วโลก ก็เพิ่มสูงขึ้น จีนเองก็เพิ่มการลงทุนในโครง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ในอาเซียน แต่แนวโน้มการลงทุนต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นในอาเซียน คือส่วนที่เป็นอุตสาหกรรมการผลิต

การส่งออกของอาเซียนก็พุ่งสูงขึ้น สหรัฐฯนำเข้าจากจีนและ EU อยู่ในสภาพคงตัว แต่จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับพุ่งสูงขึ้นมาก การส่งออกของเวียดนามไปสหรัฐฯระหว่างปี 2018-2022 เพิ่ม 165% ของไทยเพิ่ม 91% และกัมพูชา 231% แม้ว่าการนำเข้าของสหรัฐฯจากอาเซียนจะยังมีสัดส่วนต่ำ คือ 10.6% ของการนำเข้าสหรัฐฯทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจ มีส่วนทำให้ห่วงโซ่การผลิตหันเห มายังอาเซียน การที่จีนปรับตัวสูงขึ้นในห่วงโซ่คุณค่า ทำให้ความได้เปรียบด้านต้นทุนหายไป ค่าแรงจีนไม่ได้ถูกเหมือนในอดีต ค่าแรงด้านอุตสาหกรรมการผลิตของจีนเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ย 8.27 ดอลลาร์ต่อชม. ขณะที่แรงงานอุตสาหกรรมของเวียดนาม ไทย และมาเลเซีย มีค่าแรงต่ำกว่า 3 ดอลลาร์ต่อชม.

แต่การมองที่ความแตกต่างของค่าแรงอย่างเดียว อาจได้ภาพไม่สมบูรณ์ เพราะยังมีเรื่องช่องว่างของผลิตภาพ (productivity) ประเทศอาเซียนยังไม่สามารถแข่งกับจีนในเรื่องผลผลิตต่อแรงงาน เพราะจีนได้ลงทุนไปมากในเรื่องระบบการผลิตอัตโนมัติ ทำให้บริษัทที่มองหาแหล่งการผลิตใหม่ด้านห่วงโซ่อุปทานในอาเซียน จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างจุดแข็งจุดอ่อน คือต้นทุนการผลิตที่ลดลง กับผลิตภาพต่อแรงงานที่น้อยลง

ที่มาภาพ : english.news.cn

ลักษณะห่วงโซ่อุปทานอาเซียน

รายงาน Roland Berger กล่าวถึงกลุ่มประเทศอาเซียน ที่พัฒนาอุตสาหกรรมด้วยการขับเคลื่อนจากการลงทุนต่างประเทศว่า จำแนกออกเป็น 3 แถว แถวที่ 1 คือสิงคโปร์ ที่นำโดยเทคโนโลยี แถวที่ 2 คืออาเซียน+4 ที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ และมีความสามารถทางการแข่งขันหลายด้าน เช่น มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แถวที่ 3 คือ CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ดึงดูการลงทุนต่างประเทศ จากความได้เปรียบด้านแรงงานราคาถูก

ห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนมีการบูรณาการอย่างลุ่มลึกกับประเทศเอเชียเหนือ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ใช้รูปแบบ “ฝูงห่านบิน” มาอธิบายระบบการแบ่งงานการผลิตในภูมิภาคเอเชีย โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ ดังนั้น เมื่อธุรกิจแสวงหาประโยชน์สูงสุดในเรื่องต้นทุนและเทคโนโลยี การอาศัยชิ้นส่วนข้ามพรมแดน ในวงจรการผลิตสินค้า ทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งของภูมิภาคนี้ขึ้นมา

การย้ายอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

เนื่องจากอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าเทคโนโลยีแบบการประกอบชิ้นส่วน มีคุณสมบัติมาตรฐานแบบเดียวกัน และมูลค่าสูง ทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีลักษณะทั้งแยกส่วน และบูรณาการระดับภูมิภาคและระดับโลก อาเซียนจึงเหมาะกับอุตสาหกรรมประเภทนี้ ปี 2022 การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วน 29% ของการส่งออกทั้งหมดของอาเซียน สัดส่วนในแต่ละประเทศอาเซียนต่างกันไป จาก 20-50% ของการส่งออก อุตสาหกรรมนี้มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างมูลค่า 268 พันล้านดอลลาร์ หรือ 8.5% ของเศรษฐกิจอาเซียน และจ้างงาน 2.4 ล้านแรงงาน

การลงทุนต่างประเทศในห่วงโซ่อุปทานอิเล็กทรอนิกส์ มีสัดส่วนสูงในประเทศอาเซียนอยู่ 2 แบบ คือการลงทุนไฮเทคที่ใช้ทุนเข้มข้น เกิดขึ้นในสิงคโปร์และมาเลเซีย และอีกแบบคือการประกอบการผลิตในขั้นตอนสุดท้าย เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนในอินโดนีเซีย อุตสาหกรรมนี้มุ่งสนองตลาดภายใน ลาว กัมพูชาและเมียนมา ยังอยู่ในขั้นตอนแรกๆของการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น

บริษัทผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รับมือกับการแบ่งขั้วไฮเทค โดยการลงทุนเพิ่มขึ้นและขยายการผลิตในพื้นที่สามเหลี่ยม สิงคโปร์-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย และเพื่อลดต้นทุนการผลิต บริษัทไฮเทคย้ายการผลิตมายัง CLMV เช่น Foxconn และ CoreTek ของจีน ที่เป็นซับพลายเออร์ของ Apple ย้ายโรงงานมาเวียดนาม

ที่มาภาพ : รายงานของบริษัทที่ปรึกษา Roland Berger ชื่อ The Rise of Southeast Asia

การย้ายอุตสาหกรรมรถยนต์ EV

รายงาน Roland Berge กล่าวว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ แตกต่างจากอิเล็กทรอนิกส์ คือมีลักษณะ “กระจุกตัวอยู่ใกล้กัน” (cluster) ชิ้นส่วนมีขนาดใหญ่หรือเฉพาะรุ่น จะผลิตใกล้โรงงานประกอบรถยนต์ เพื่อลดต้นทุนการสต๊อกชิ้นส่วน และใช้ระบบการส่งมอบตรงเวลาแทน ชิ้นส่วนขนาดเล็กและทั่วไปจะผลิตจากประเทศค่าแรงถูก การย้ายอุตสาหกรรมรถยนต์มาอาเซียนใน 10 ปีที่ผ่านมา มีส่วนสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 177 พันล้านดอลลาร์ หรือ 6.3% ของ GDP อาเซียน และจ้างงาน 2.4 ล้านคน

ประเทศไทยและอินโดนีเซียได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ไทยเน้นห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ในด้านปลายน้ำของอุตสาหกรรมนี้ รวมทั้งการประกอบและส่งออกรถยนต์ อินโดนีเซียเน้นที่ต้นน้ำ เช่นชิ้นส่วน มาเลเซียและฟิลิปปินส์เน้นที่ส่วนกลาง คือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วน CLMV ได้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์ Thailand+1 ที่ต้องการลดต้นทุน และความเสี่ยงสภาพอากาศ
ส่วนห่วงโซ่คุณค่ารถยนต์ EV กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ห่วงโซ่ดังกล่าวประกอบด้วย เหมืองแร่นิกเกิล การสกัดแร่นิกเกิล แบตเตอรี่ EV และชิ้นส่วนอื่นๆในการประกอบรถยนต์ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีสัดส่วนการผลิตนิกเกิล 37% และ 13.&% ของโลก จึงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก และมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลก อินโดนีเซียพยายามขยายการผลิตลงมาทางปลายน้ำ โดยอาศัยประโยชน์จากการครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ มาปรับปรุงห่วงโซ่คุณค่าของรถยนต์ EV

เนื่องจากอาเซียนมีรากฐานที่แข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ จึงจะมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานโลก ที่มีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็ง และยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน

จากระบบการแบ่งงานการผลิตในภูมิภาคที่บูรณาการเป็นหนึ่งเดียว โดยมีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนเป็นผู้นำ ทำให้เห็นลักษณะการพัฒนาคล้ายกับ “ฝูงห่านบิน” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังไม่มาแทนที่จีนในการเป็น “มหาอำนาจการผลิต” ในเร็ววัน สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนจะต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น และบูรณาการกันมากขึ้น

เอกสารประกอบ
The Rise of Southeast Asia: Can It Become the New Manufacturing Hub of Choice? August 2023, rolandberger.com