ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์ฯเผย GDP ปี’65 โตแค่ 2.6% คาดปี’66 ขยายตัว 3.2%

สภาพัฒน์ฯเผย GDP ปี’65 โตแค่ 2.6% คาดปี’66 ขยายตัว 3.2%

17 กุมภาพันธ์ 2023


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

สภาพัฒน์ฯ แถลง GDP ไตรมาส 4 ของปี 2565 โตแค่ 1.4% ต่อปี รวมทั้งปีขยายตัว 2.6% ต่อปี ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ขยายตัว 3.2% ต่อปี เหตุส่งออกปรับตัวลดลง คาดปี 2566 ขยายตัว 3.2% ต่อปี เสนอรัฐบาลเร่งแก้ปัญหา 8 เรื่อง ทั้งหนี้ครัวเรือน-เพิ่มรายได้เกษตรกร-หนุนส่งออก-ท่องเที่ยว-การลงทุนทั้งภาครัฐ-เอกชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4 รวมทั้งปี 2565 และแนวโน้มในปี 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ขยายตัว 1.4 % เทียบกับไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวลง รวมทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.6% ต่อปี ต่ำกว่าที่สภาพัฒน์ฯเคยคาดการณ์ไว้ 3.2% ต่อปี (21 พ.ย. 2565) แต่เร่งตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 1.5% ต่อปี

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% ต่อปี โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2% ต่อปี ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 3-4% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจาก 1) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว , 2) การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ , 3) การขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และ (4) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.2% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัว 2.1% และ 2.7% ตามลำดับ และมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐลดลง 1.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5 – 3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ของ GDP

สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่ขยายตัว 2.6% ต่อปีนั้น เป็นผลมาการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ด้านการใช้จ่าย โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 6.3% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 5.1% เร่งตัวดีขึ้นจากปี 2564 ที่ขยายตัว 0.6% และ 3.0% ตามลำดับ โดยการส่งออกบริการกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูง 65.7% เทียบกับปีก่อนลดลง 19.9% ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวแค่ 1.3% เทียบกับปีก่อนขยายตัว 15.3% ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลง 4.9% ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารกลับมาขยายตัวที่ 39.3% ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลง 15% ของปีก่อนหน้า สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเพิ่มขึ้น 7.1% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 2.8% ในปี 2564 และสาขาการขายส่งและการขายปลีกเพิ่มขึ้น 3.1% เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัว 1.7% ในปี 2564

ส่วนสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงขยายตัว 2.5% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.3% ในปี 2564 ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 0.4% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 4.7% ในปี 2564 และสาขาการก่อสร้างลดลง 2.7% รวมทั้งปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 17.4 ล้านล้านบาท (4.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจาก 16.2 ล้านล้านบาท (5.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2564 และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 248,635.3 บาทต่อคนต่อปี (7,089.7 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคนต่อปี) เพิ่มขึ้นจาก 231,986.1 บาทต่อคนต่อปี (7,254.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) ในปี 2564 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3.4% ของ GDP

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ที่ขยายตัว 1.4 % ต่อปี มีรายละเอียดดังนี้

ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกบริการ การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่การส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของภาครัฐปรับตัวลดลง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 5.7% โดยการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลง 0.8% เทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัว 17.7% หมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัว 1.6% ชเทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัว 3.6% หมวดบริการขยายตัว 10.5% เทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัว 16% และหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัว 3.7% เทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัว 3.2% สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.0 จากระดับ 37.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 7 ไตรมาส การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลง 8 % ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ลดลง 1.5%

ด้านการลงทุนรวม ขยายตัว 3.9% เทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัว 5.5% โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% เทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัว 11.2% แบ่งเป็นการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือขยายตัว 5.1% การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัว 1.9% การลงทุนภาครัฐ กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสที่ 1.5% เทียบกับไตรมาสก่อนลดลง 6.8% โดยเป็นผลจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 10.3% ขณะที่การลงทุนรัฐบาลลดลง 2.2% สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ 18.6% (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 21.2% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่า 17.2% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน)

ด้านการค้าระหว่างประเทศ เริ่มจากการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 65,814 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.5% เมื่อ เทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัว 6.7% โดยปริมาณส่งออกลดลง 10.3% เทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัว 2.1% สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 3.1% เทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น 4.4% ตามต้นทุนราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ชะลอตัวลง

ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 62,844 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.3% เทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัว 23.2% โดยปริมาณนำเข้าลดลง 9.2% ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้น 9.8% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (108.8 พันล้านบาท)

ด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรมและสาขาก่อสร้างกลับมาขยายตัว ส่วนสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งขายปลีกและการซ่อมฯ และสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้ายังขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง โดยสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง กลับมาขยายตัว 3.6% ส่วนราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้น 12.8% ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวม เพิ่มขึ้น 16.5% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4

สาขาการก่อสร้าง กลับมาขยายตัวที่ 2.6% ครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส เทียบกับไตรมาสก่อนลดลง 2.6% โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัว 3.3% การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 11.5% และการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัว 1.9% ตามการขยายตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และการก่อสร้างอาคารที่มิใช่ที่อยู่อาศัย ในขณะที่การก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟฟ้า

ด้านสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัว 30.6% ชะลอลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัว 53.2% โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในไตรมาสนี้มีจำนวน 5.465 ล้านคน (คิดเป็น 55.66% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19) ส่งผลให้มูลค่าบริการรับด้านการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้อยู่ที่ 0.239 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 362.1%ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ส่วนรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยมีจำนวน 0.186 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 122.3% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 0.425 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 213.9% สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 62.64% สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เพิ่มขึ้น 9.8% โดยบริการขนส่งเพิ่มขึ้น 10.5% ตามการขยายตัวของบริการขนส่งทางอากาศและบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงเป็นสำคัญ

สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 4.9% เทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัว 6% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 5.8% โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่า 60% ลดลง 13.5% เทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น 1.1% และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่า 30%) ลดลง 5.1% เทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น 4.5% ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วง 30 – 60% เพิ่มขึ้น 1% ชะลอตัวลงมากจากไตรมาสก่อน ซึ่งขยายตัว 22.9%

การผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ลดลง อาทิ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงลดลง 42.5% การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมลดลง 8.7% การผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้นลดลง 19.6% การผลิตเฟอร์นิเจอร์ลดลง 38.5% และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานลดลง 10.5% เป็นต้น

ส่วนการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น อาทิ การผลิตยานยนต์เพิ่มขึ้น 8.5% การผลิตน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น 30.6% การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ เพิ่มขึ้น 6.1% การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 3.4% และการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบเพิ่มขึ้น 36.5% เป็นต้น

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 60.20% ต่ำกว่าไตรมาสก่อนอยู่ที่ 62.61% และต่ำกว่าในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 64.51%

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.15% ต่ำกว่าไตรมาสก่อน 1.23% และต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1.66% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 5.8% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2% สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.3 หมื่นล้านบาท) ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,587,313.0 ล้านบาท คิดเป็น 60.7% ของ GDP

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2566 ที่ควรให้ความสำคัญมีรายละเอียดดังนี้

1) การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งหนี้สินในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

2) การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาด การสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิตของภาคการเกษตร การปรับโครงสร้างการผลิต และการขยายผลการทำเกษตรยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์

3) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดย (i) การอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก (ii) การส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง (iii) การติดตามประเมินสถานการณ์และเงื่อนไขการค้าโลก (iv) การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิต (v) การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และ (vi) การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

4) การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดย (i) การแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งการพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ (ii) การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและยั่งยืน (iii) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และ (iv) การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

5) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563 – 2565 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะโครงการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ii) การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต (iii) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย (iv) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ (v) การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และ (vi) การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น

6) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง เพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระยะปานกลางและเพิ่มศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

7) การติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และ

8) การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ