ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ดึงทุนสำรองประเทศใช้เยียวยาพายุไวรัส เวียดนามจีดีพีไตรมาสแรกต่ำสุดรอบ 10 ปี

ASEAN Roundup สิงคโปร์ดึงทุนสำรองประเทศใช้เยียวยาพายุไวรัส เวียดนามจีดีพีไตรมาสแรกต่ำสุดรอบ 10 ปี

29 มีนาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 22-28 มีนาคม 2563

  • สิงคโปร์ดึงทุนสำรองประเทศใช้เยียวยาพายุไวรัส
  • สิงคโปร์กระชับสัมพันธ์ออสเตรเลียผ่าน 10 ความตกลง
  • เวียดนามจีดีพีไตรมาสแรกต่ำสุดรอบ 10 ปี
  • เมียนมาเริ่มใช้ระบบออนไลน์ 1 เม.ย. ออกใบอนุญาตส่งออก-นำเข้า
  • เมียนมาชูยุทธศาสตร์ 5 ปีส่งออกยาง ประมง อาหาร
  • สิงคโปร์ดึงเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้รับมือไวรัสระบาด

    ที่มาภาพ: https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/recreation-leisure/viewpoints/merlion-park/
    รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสชุดที่สองวงเงิน 48 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์หรือ 33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการถอนเงินจากทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤติการเงินในปี 2009 เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย

    นายเฮง สวี เคียต รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังกล่าวในสภา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ว่า มาตรการเพิ่มเติมนี้จะทำให้วงเงินบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสนี้เพิ่มเป็น 55 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 11% ของรายได้ประชาชาติ(gross domestic product: GDP) และส่งผลให้งบประมาณขาดดุล 7.9% ของจีดีพี

    “สถานการณ์ที่ไม่ปกติทำให้ต้องใช้มาตรการพิเศษ เราเก็บเงินไว้ใช้ในยามจำเป็น และการระบาดของโควิด-19 เป็นพายุลูกใหญ่ที่รุนแรงและยังทวีความแรงมากขึ้น” นายเฮงกล่าว

    นายเฮงกล่าวว่า การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 คือเหตุผลที่ว่า ทำไมสิงคโปร์ได้สะสมทุนสำรองไว้ ขณะที่ชี้แจงถึงความจำเป็นในการถอนเงินจำนวน 17 พันล้านสิงคโปร์ดอลลาร์จากทุนสำรองมาใช้เป็นมาตรการในการดูแลการจ้างงานและดูแลเศรษฐกิจ

    นายเฮงกล่าวว่า เงินจำนวน 17 พันล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ จะใช้เป็นกองทุนในมาตรการจัดหางาน ช่วยผู้ประกอบการอิสระและช่วยเหลือธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

    “เงินสำรองของเราเป็นป้อมปราการของเราที่รับแรงกระแทกและวิกฤตการณ์ในลักษณะที่ไม่ธรรมดา” นายเฮงกล่าวและว่า “สำหรับประเทศที่ไม่มีน้ำมัน ไม่มีก๊าซ ไม่มีทองคำ ไม่มีเพชร หรือทรัพยากรธรรมชาติสักอย่าง จึงเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมากที่เราได้สร้างขึ้น”

    “ความรอบคอบและวินัยของเราในการออมและการเพิ่มทุนสำรองของเรา ทำให้เราพร้อมที่จะตอบสนองอย่างเด็ดขาด เมื่อประเทศของเราเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา” นายเฮงกล่าว

    การระบาดของไวรัสเพิ่มความเสี่ยงหลายด้านให้กับประเทศ ซึ่งสิงคโปร์กำลังเผชิญกับสถานการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบเหมือนกับประเทศอื่นที่ต้องปิดพรมแดนเพื่อต่อสู้กัการระบาดของไวรัส ทำให้ส่งออกได้จำกัดและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นชะงัก

    ในประเทศธุรกิจการท่องเที่ยว การขนส่งและบริการอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการที่ได้ใช้มาตรการระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

    “ดังนั้น นี่ไม่ใช่วงจรธุรกิจตามปกติที่เราจะสามารถคาดการณ์และจัดการได้ด้วยรายได้ที่จัดเก็บโดยรัฐบาล”นายเฮงกล่าวและว่า “นี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ(black swan event)ที่จะเกิดขึ้นทุกสิบปี”

    นายเฮงยังเตือนว่า ยังมีความไม่แน่นอนอีกมากว่าการระบาดของไวรัสจะพัฒนาไปอย่างไร และย้ำว่าเป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อนมากกว่าวิกฤติการเงินโลกปี 2009 เพราะเกี่ยวข้องกับมิติทางการแพทย์ สังคมและจิตวิทยา

    วิกฤติการเงินโลกเป็นครั้งเดียวที่สิงคโปร์ใช้ทุนสำรอง โดยรัฐบาลได้ดึงเงินออกมาก 4.9 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อช่วยเหลือแรงงานให้มีงานทำต่อเนื่องและสนับสนุนเงินกู้แก่ธุรกิจ

    “เศรษฐกิจโลกยังเชื่อมโยงกันลึกมากขึ้นผ่านการเชื่อมโยงระหว่างกันที่ซับซ้อนมากมาย” นายเฮงกล่าว

    อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ได้เตรียมความพร้อมอย่างดีและมีทรัพยากร สรรพกำลังที่จะรับมือกับวิกฤติด้วยความมั่นใจ

    “เราจะใช้ทรัพยากรที่มีเพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน รัฐบาลยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการมากขึ้นหากจำเป็น” นายเฮงกล่าว

    “และหากว่าจำเป็นจริงๆ ผมได้เตรียมการที่จะเสนอต่อประธานาธิบดีเพื่อดึงทุนสำรองก่อนๆออกมาใช้รับมือกับสถานการณ์” นายเฮงกล่าว

    มาตรการเยียวยามีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพียง 5 สัปดาห์ ซึ่งได้จัดสรรวงเงินไปแล้ว 6.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ไปในด้านสาธารณสุข และช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส แนวโน้มเศรษบกิจสิงคโปร์หดตัวค่อนข้างมาก โดยรัฐบาลได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้เป็นติดลบ 1-4%

    สิงคโปร์กระชับสัมพันธ์ออสเตรเลียผ่าน 10 ความตกลง

    นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์ ระหว่างการประชุมประจำปีกับออสเตรลียผ่านระบบวิดีโอคอล ที่มาภาพ: https://www.pmo.gov.sg/Newsroom

    เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 สิงคโปร์และออสเตรเลียได้ลงนามร่วมกันใน 10 ข้อตกลงทวิภาคี เพื่อกระชับความร่วมมือของทั้งสองประเทศในด้านใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงนวัตกรรมข้อมูลและเศรษฐกิจดิจิทัล

    นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ได้ประชุมร่วมกับนายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ซึ่งการพบกันของสองผู้นำจัดขึ้นเป็นปีที่ 5 แต่ปีนี้ทั้งสองประเทศเห็นพ้องที่จะประชุมผ่านระบบวิดีโอคอล

    นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง กล่าวว่า ปีนี้เป็นรอบที่สิงคโปร์จะไปเยือนออสเตรเลียแต่ก็ต้องระงับแผนไว้เพราะการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการประชุม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของเรามีแนวทางที่สร้างสรรค์ เราจึงจัดประชุมผ่านระบบวิดีโอคอล ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า ในยุคดิจิทัล การดำเนินงานของรัฐบาลก็ยังต่อเนื่องแม้จะมีการระบาด อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนความสัมพันธ์แม้ต้องรับมือกับการระบาดของไวรัส

    ด้านนายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน แสดงความเห็นด้วยและชื่นชมต่อการรับมือกับการระบาดของไวรัสของสิงคโปร์ ซึ่งออสเตรเลียได้นำมาศึกษาอย่างละเอียด เพราะกำลังวางแผนรับมือเช่นกัน นอกจากนี้ยังยินดีที่แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก การดำเนินงานด้านข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล และความร่วมมือด้านอื่นๆ รวมทั้งด้านการป้องกันประเทศก็ยังต่อเนื่อง

    สิงคโปร์และออสเตรเลียลงนามในความตกลงด้านหนึ่งที่ได้ยกระดับบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการฝึกกองกำลังร่วมกันเป็นสนธิสัญญา ส่วนความตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ความร่วมมือหลายด้านในเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การพัฒนา AI และการพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ ตลอดจนจะประสานใกล้ชิดในด้านความปลอดภัยไซเบอร์ นวัตกรรมข้อมูล และการยอมรับดิจิทัลไอดีร่วมกัน

    เวียดนามจีดีพีไตรมาสแรกต่ำสุดรอบ 10 ปี

    ตลาดเบ๋น ถั่น ในโฮจิมินห์ ซิตี้
    เศรษฐกิจของเวียดนามไตรมาสแรกปี 2563 ขยายตัวในอัตรา 3.82% ต่ำสุดในรอบปี 2544-2563 จากการเปิดเผยของนายเหงียน บิช ลั่ม ผู้อำนวยสำนักงานสถิติในการแถลงข่าววันที่ 27 มีนาคม

    แต่เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 แล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามยังคือว่าขยายตัวได้ดี

    เศรษฐกิจในภาพรวมของเวียดนามยังมีเสถียรภาพ ภาคธุรกิจแปรรูปและการผลิตยังเป็นเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจแม้เติบโตต่ำ

    ภาคธุรกิจเกษตรป่าไม้และประมงขยายตัว 0.08% และมีผลต่อจีดีพี 0.2% ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้างขยายตัว 5.15% มีผลต่อจีดีพี 58.4% ขณะที่ภาคบริการขยายตัว 3.27% มีผลต่อจีดีพี 41.4%

    ในช่วง 3 เดือนแรก รายจ่ายเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น 3.07% จากระยะเดียวกันของปีก่อน การสะสมสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 2.2% ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2556 การส่งออกขยายตัว 1.59% การนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.05% เนื่องจากสินค้าและวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากการระบาดรุนแรงของไวรัส

    นอกจากนี้ ภาคธุรกิจเกษตรป่าไม้และประมงยังได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์ในสุกร ภัยแล้ง และน้ำเค็มรุกล้ำในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ประกอบกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ นอกเหนือจากไวรัสที่ระบาดอยู่ ภาคเกษตรจึงติดลบ 1.17% ประมงเพิ่มขึ้น 2.79% แต่ก็ต่ำกว่างวดเดียวกันในปี 2561 และ 2562

    ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 5.28% ต่ำกว่า 9% ในระยะเดียวกันของปีก่อน และ 10.45% ของปี 2561

    การระบาดของไวรัสมีผลกระทบต่อวัตถุดิบของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจแปรรูปและการผลิต และยังมีผลต่อการค้า ภาคบริการ การท่องเที่ยว การนำเข้าและส่งออก

    ค้าปลีกและค้าส่งเพิ่มขึ้นเพียง 5.69% จาก 7.91% ในระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนธุรกิจโรงแรมและจัดเลี้ยง การขนส่งและคลังสินค้า และภาคบริการอื่นต่างติดลบ

    สำหรับภาคที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ ภาคการเงิน การธนาคาร ธุรกิจประกันภัย ภาคเฮลท์แคร์ การสื่อสาร

    ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือนกุมภาพันธ์ลดลงมาที่ระดับ 49 จุด เป็นสัญญาณชะลอตัวของภาคธุรกิจและความต้องการของผู้บริโภค และลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี

    เมียนมาเริ่มใช้ระบบออนไลน์ 1 เม.ย. ออกใบอนุญาตส่งออก-นำเข้า

    ที่มาภาพ: http://www.thaibizmyanmar.com/en/news/detail.php?ID=1361
    กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์เมียนมา จะเริ่มใช้ ระบบออนไลน์ในการออกใบอนุญาตส่งออกและนำเข้า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เพื่อลดการสัมพันธ์ของคนเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19

    ระบบใหม่นี้ครอบคลุมการยื่นขอใบอนุญาต การชำระค่าธรรมเนียม การรับใบอนุญาต สำหรับธุรกิจสิ่งทอประเภท cut-make-pack (CMP)

    การนำเข้ายาและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร ปุ๋ย น้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์น้ำมัน นมและผลิตภัณฑ์นม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันหล่อลื่น มอเตอร์ไซค์ รถจักรยาน ส่วนใบอนุญาตการส่งออกจะออกให้กับผลิตผลทางเกษตร ตะกั่ว น้ำตาล ก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์อื่นๆ

    รายละเอียดพิกัดศุลกากรจะอยู่บนเว็บไซต์ www.commerce.gov.mm. และสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ที่ www.myanmartradenet.com.mm สำหรับการค้าทางเรือและการค้าขายแดน

    บริษัทจะต้องยื่นสมัครลงทะเบียนเป็นสมาชิกก่อน และชำระค่าธรรมการยื่นได้ผ่านระบบอีคอมเมิร์ซของธนาคาร Myanmar Citizens Bank (MCB) ในช่วงแรก ระยะต่อไปจะเปิดให้ชำระผ่านอีคอมเมิร์ซของสมาคมระบบการชำระเงินพม่า (MPU)

    ส่วนกระบวนการผ่านด่านศุลกากรนั้น ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะส่งไปที่ระบบ Myanmar Automated Cargo Clearance System ของกรมศุลกากร (MACCS)

    ผู้ค้าจะต้องยื่นขอเป็นสมาชิกของ Myanmar Tradenet Member พร้อมติดตั้งการเพิ่มระบบความปลอดภัยให้กับบัญชีกูเกิล (Google Authenticator) ลงในโทรศัพท์มือถือสำหรับบัญชี Myanmar Tradenet และบัญชีที่มีกับ MCB

    เมียนมาชูยุทธศาสตร์ 5 ปีส่งออกยาง ประมง อาหาร

    ที่มาภาพ: http://www.thaibizmyanmar.com/th/news/detail.php?ID=3004
    เมียนมาจะผลักดันการส่งออกจากรัฐมอญให้มากขึ้น โดยนำเป้าหมายการส่งเสริมการส่งออก ยางพารา สินค้าประมง และอาหารที่ผลิตจากรัฐมอญ บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ส่งออกปี 2563-2568 เป็นผลจากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทั้งรัฐบาลและภาคเอกชน เพื่อวางแผนที่จะใช้ข้อได้เปรียบและโอกาสให้กับภาคส่งออก

    “เราจะหาแนวทางการแก้ไขอุปสรรคในการจำหน่ายสินค้าในตลาดต่างประเทศให้กับบริษัทท้องถิ่น” อู อ่อง โซ ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว

    ผลที่ได้จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการจะถูกนำเข้าไปไว้ในรายงานยุทธศาตร์ส่งออก

    ยางพาราที่ผลิตได้ในรัฐมอญมีสัดส่วนสูงที่สุดในการผลิตยางพาราทั้งประเทศ ซึ่ง 90% ได้ส่งออก นอกจากนี้รัฐมอญก็พึ่งพารายได้จากผลิตภัณฑ์ประมงและการผลิตอาหารเป็นหลัก

    “การสัมมนาเชิงปฏิบัติการจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของรัฐมอญ” อู มิน จัน ยิต ประธานสมาคมผู้ปลูกยางพาราในรัฐมอญกล่าว

    กระทรวงพาณิชย์และสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมได้ร่วมกันวางยุทธศาสตร์ส่งออกปี 2563-2568 ด้วยการช่วยเหลือทางวิชาการจากศูนย์ระหว่างประเทศได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากกรมการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร

    ยุทธศาสตร์ส่งออกฉบับแรกปี 2558-2562 เน้นไปที่การส่งออก ข้าว ธัญพืชประเภทถั่วและประเภทที่ให้น้ำมัน ผลิตภัณฑ์ประมง สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ป่าไม้ ยางพาราและการท่องเที่ยว

    ยุทธศาสตร์ส่งออกปี 2563-2568 ที่เริ่มใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์เกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมและพลังงาน ผลิตภัณฑ์ประมง บริการดิจิทัล โลจิสติกส์ การจัดการที่มีคุณภาพ บริการข้อมูลการค้า นวัตกรรม และผู้ประกอบการ