คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้มีมติรับรองผลการเลือก สว. ครบทั้ง 200 คน หลังจากมีการเลือก สว.ในระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้ที่ได้รับประกาศทั้ง 200 คน ให้มารับหนังสือรับรองการได้รับเลือกเป็น สว. เพื่อเป็นหลักฐานในการรายงานตัวกับสำนักเลขาธิการวุฒิสภา 2 วัน ในวันที่ 11-12 ก.ค. 2567

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2567 เวลา 15.30 น นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลที่ประชุม กกต.มีมติรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา(สว.) 2567 โดยระบุว่า วันนี้เป็นการแถลงข่าวครั้งแรก นับตั้งแต่เลือก สว. ระดับประเทศในวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา และ กกต.ก็ได้ใช้เวลารอประมาณ 5 วันตามกฎหมาย ทั้งนี้การประกาศรับรองผลของ กกต.นั้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขตามกฎหมายตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.ป. ระบุว่าด้วยการได้มาของ สว.ว่า การเลือกต้องเป็นไปโดยถูกต้อง เที่ยงธรรม ตามกฎหมาย สุจริต ซึ่งก็คือการกระทำที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 42 วรรค 10 กำหนดว่า เมื่อดําเนินการเลือกสว.และมีการนับคะแนนโดยเปิดเผย โดยผู้อํานวยการการเลือกระดับประเทศ และมีการแจ้งผลการนับคะแนนให้คณะกรรมการ กกต.ทราบ
เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานตามวรรค 10 แล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่าห้าวัน เมื่อพ้นกําหนดเวลา ดังกล่าวแล้ว ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือก
นายแสวงกล่าวว่า เพื่อให้เป็นตามกฎหมาย ถูกต้อง ชอบธรรม กกต.ได้พิจารณาว่าได้มีการกระทำฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.หรือไม่ ใน 3 กลุ่มคือ
กลุ่มแรกคือ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รวมหมายถึงการสมัครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
กลุ่มสอง กระบวนการเลือกคือกระบวนการเลือก คือการเลือกซึงเป็นการเลือกใน ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ
ส่วนกลุ่มสาม คือ ความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม โดยอาจจะเกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายที่สังคมใช้คำว่า จัดตั้ง บล็อกโหวต หรือฮั้ว
สำหรับการดำเนินการกับกลุ่มความผิดทั้ง 3 กลุ่มนายแสวง กล่าวว่า ในกลุ่มแรกผู้สมัครรับเลือก สว. มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามนั้น กกต. คัดคนที่ไม่มีคุณสมบัติออกไปเกือบ 2-3 พันคน
โดยนายแสวงกล่าวว่า กลุ่มแรกที่ว่าด้วยเรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม มีผู้สมัครสนใจมาสมัครช่วงเปิดสมัคร 5 วัน จำนวน 48,117 คน และผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ได้พิจารณาคุณสมบัติและไม่ผ่านไม่รับสมัครจำนวน 1,917 คน โดยะผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอได้ลบชื่อผู้สมัครที่ไม่ผ่านคุณสมบัติก่อนที่จะมีการเลือกระดับอำเภอจำนวน 526 คน
หลังจากนั้น ได้มีการพิจารณาในระดับผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติ และได้ลบผู้มีสิทธิเลือกไปอีก 87 คน และต่อมาระดับประเทศ ะผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ได้ลบชื่อผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติไปอีก 5 คน
“กรณีที่มีผู้วิจารณ์ว่า กกต.ไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเพราะ กกต.ได้ตรวจสอบคุณสมบัติและลบชื่อจั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ รวมคนที่ไม่มีคุณสมบัติออกไปเกือบ 2 พัน เกือบ 3 พันคน” นายแสวงกล่าว
นอกจากนี้ กกต.ได้มีมติให้ใบส้ม กับคุณสมบัติตามมาตรา 20 วรรคสาม วรรคสี่ หรือการระงับสิทธิสมัครชั่วคราว จำนวน 89 ใบ เฉพาะเรื่องคุณสมบัติตามมาตรา 20 วรรคสาม และวรรคสี่ โดยได้รวบรวมข้อมูลส่งให้ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และหลังผลการเลือกตั้งออก กกต.ได้พิจารณาให้ใบส้มอีก 1 คน สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องคุญสมบัติ
“ ในส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งระดับอำเภอ ที่ กกต.ลบชื่อไป 526 คน จะไม่มีคำสั่งให้ใบส้ม เพราะยังไม่เข้ามาในระบบในวันเลือกวันที่ 9 มิถุนายนซึ่งเป็นวันเลือกระดับอำเภอ ส่วนคนที่ทุกคนที่ถูกลบชื่อออก อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิแล้วไปสมัครรับเลือก หรือไม่ แต่คนที่ได้ใบส้มจะโดนคดีอาญา ”นายแสวงกล่าว
นายแสวงกล่าวอีกว่า กรณีเรื่องร้องเรียนที่กล่าวกันว่ามี 65% นั้น กกต. ได้รวบรวมและแบ่งออกเป็น กรณีที่ผู้สมัครมาร้องเรียนด้วยตัวเอง และความปรากฏต่อกกต. ทำให้มีการลบชื่อไปแล้วก่อนจะเลือก ทำให้เรื่องร้องเรียนที่ระบุครั้งแรกว่ามี 600 กว่าเรื่อง เมื่อหักกรณีลบชื่อออก ทำให้เหลือเรื่องร้องเรียนเหลือ 200 กว่าเรื่อง ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ระดับประเทศ
ในส่วนคุณสมบัติผู้สมัคร ซึ่งสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า คุณสมบัติอาจจะไม่ตรงกลุ่ม โดยบางกลุ่มไม่ใช่กลุ่มอาชีพนั้น นายแสวงกล่าวว่า สำนักงานฯ ได้ให้ซักซ้อมข้อกฎหมายแล้วตั้งแต่ว่าสังคมอาจเข้าใจไม่ตรงเรื่องกลุ่มอาชีพ ซึ่ง กกต.ยึดตาม มาตรา 117 รัฐธรรมนูญมาตรา และตามมาตรา 11 ของ พ.ร.ป.เลือก สว. ซึ่งไม่มีการระบุกลุ่มอาชีพ แต่เป็นกลุ่มของด้าน 20 ด้าน โดยใน 20 ด้านมีอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของคน 6 ประเภทอยู่ในนั้นไม่ใช่อาชีพอย่างเดียว โดยคน 6 ประเภทประกอบด้วย ความรู้ในด้านนั้น ความเชี่ยวชาญในด้านนั้น อาชีพในด้านนั้น ประสบการณ์ในด้านนั้น มีลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน และทำงานหรือเคยทำงานร่วมกัน
ดังนั้นผู้ที่อยู่ในกลุ่ม 6 ประเภทในแต่ละด้านสามารถเข้าไปอยู่ในการสมัครที่มีคุณสมบัติ 20 ด้านได้ จึงไม่ใช่อาชีพ เป็นเพียงประเภทหนึ่งในกลุ่มนั้นเท่านั้น กฎหมายเปิดกว้างให้ประชาชนชาวไทยมีโอกาสที่จะสมัครรับเลือก สว.อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้อย่างกว้างขวาง โดยมีผู้รับรอง 1 คน ซึ่ง กกต.ตรวจสอบไปแล้วว่าทั้ง 200 คนที่ผ่านการเลือก และอีก 100 คนในบัญชีสำรองไม่ได้มีปัญหาในกลุ่มนี้
ส่วนกลุ่มที่สองเรื่องกระบวนการเลือก ในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ มีผู้มาร้องเรียนที่กกต.จำนวน 3 สำนวน ซึ่งได้พิจารณาจบแล้ว ส่วนผู้ที่ไปร้องที่ศาลฎีกา 18 คดี เป็นไปตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.ป.เลือก สว. นั้นศาลฎีกาได้ยกคำร้องทุกคดีแล้วเช่นกัน
กลุ่มที่สามคือ ความไม่สุจริตและเที่ยงธรรมมีร้องเรียนมาจำนวน 47 เรื่อง โดยมีกรณีที่สังคมเรียกว่าฮั้ว บล็อกโหวต หรือ เรียกว่า จัดตั้ง ซึ่งในส่วนนี้สำนักงาน กกต.ได้รวบรวมพยานหลักฐานมาพอสมควรแล้ว แต่ต้องใช้พยานหลักฐานในทางวิทยาศาสตร์มาดำเนินการเพิ่มเติม โดยสำนักงานฯได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) 10 คน และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 10 คน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 3 คน โดยทั้งหมดเป็นระดับผู้บังคับบัญชา และได้ประสานงานกันมาตลอดสัปดาห์หนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นความร่วมมือที่สำนักงาน กกต.ขอใช้เครื่องมือ เพื่อเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาความเชื่อมโยงคนอยู่เบื้องหลัง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าเกิดการกระทำให้การเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต
นายแสวง กล่าวอีกว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาผลการเลือกวาถูกต้องหรือไม่ ซึ่งได้พิจารณาจากกระบวนการเลือกในวันเลือกคือ 9 มิถุนายน 16 มิถุนายน และ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ทุกคดีได้จบไปหมดแล้ว มีผู้สมัครไปร้องศาลฎีกา 18 คดีก็จบไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีคดีคั่งค้างที่ศาลฎีกาอีกแล้ว ถือว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยชอบ
ส่วนความไม่สุจริต และเที่ยงธรรม คือความชอบตามกฎหมาย เมื่อมีคำร้องสำนักงาน กกต.ได้รับเป็นสำนวนไว้แล้ว ขณะนี้ได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้ตามสมควร ข้อมูล ณ วันนี้ยังไม่พอเพียงที่จะบอกว่าเขากระทำความผิด
ดังนั้น สำนักงานฯต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นนี้ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เพราะการที่จะนำหลักฐานไปยื่นกับศาลฎีกาได้ กฎหมายกำหนดว่า ต้องมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต และเที่ยงธรรม โดยสำนักงาน ต้องพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อยุติ เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม ซึ่งก็คือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ฝ่ายผู้ร้อง หรือผู้ถูกร้อง เมื่อดำเนินการตามระเบียบสืบสวน หรือไต่สวน ต้องให้โอกาสเขาพิสูจน์ข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริง และมีโอกาสแก้ข้อกล่าวหา ให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย นี่คือความเที่ยงธรรมที่ทุกฝ่ายจะได้รับจาก กกต.

นายแสวง กล่าวว่า ด้วยเหตุดังกล่าว ณ วันนี้ กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่า การเลือก สว.2567 เป็นไปด้วยความถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม จึงมีมติประกาศผลการเลือก สว. ของแต่ละกลุ่ม โดยทั้ง 20 กลุ่ม ลำดับที่ 1-10 ของแต่ละกลุ่มเป็น สว. ส่วนลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่ม เป็นบัญชีสำรอง ยกเว้นกลุ่มที่ 18 ซึ่ง กกต.ได้ระงับสิทธิชั่วคราวของผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ที่อยู่ในลำดับที่ 1-10 จึงต้องเลื่อนลำดับที่ 11 ตามระเบียบของ กกต.ฉบับที่ 3 ขึ้นไปอยู่ในลำดับที่ 10 แทน
สรุปแล้วก็คือ กกต.มีมติเห็นชอบให้ประกาศผู้ได้รับคะแนนจำนวน 200 คน เพื่อให้เปิดสภาฯได้ ส่วนที่สำรองมี 99 คน เพราะกลุ่ม 18 สื่อสารมวลชนมีคนที่ได้รับใบส้ม 1 คน ทำให้เหลือสำรองอยู่ 4 คน โดยผู้ที่ได้รับประกาศทั้ง 200 คน ให้มารับหนังสือรับรองการได้รับเลือกเป็น สว. เพื่อเป็นหลักฐานในการรายงานตัวกับสำนักเลขาธิการวุฒิสภา 2 วัน ในวันที่ 11-12 ก.ค. 2567 เวลา 08.30-16.30 น.
ทั้งนี้รายงานข่าวระบุ บุคคลที่ถูก กกต.ระงับสิทธิชั่วคราวหรือแจก “ใบส้ม” คือ น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.อ่างทอง ลำดับที่ 4 กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน โดยระบุในประวัติการทำงานว่า “ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน เป็นประชาสัมพันธ์อำเภอไชโย
ผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา
[pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2024/07/ผลการเลือก-สว.pdf” title=”ผลการเลือก สว.”]
ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (บัญชีสำรอง)