ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาล รธน.ยังไม่ตัดสิน 2คดี “ยุบพรรคก้าวไกล-ถอดถอน นายกฯเศรษฐา”

ศาล รธน.ยังไม่ตัดสิน 2คดี “ยุบพรรคก้าวไกล-ถอดถอน นายกฯเศรษฐา”

18 มิถุนายน 2024


ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ตัดสิน 2 คดีใหญ่ “คดียุบก้าวไกล” เคาะไต่สวนพยานเอกสาร นัดประชุมใหม่ 3 ก.ค. ขณะที่คดีถอดถอน “เศรษฐา ทวีสิน” สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งความเห็น-หลักฐานคดีตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ ใน 15 วัน ขณะที่ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ พ.ร.ป.เลือกส.ว. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันอังคารที่ 18 มิถุนายน องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมประจำสัปดาห์เพื่อพิจารณาคำร้องที่สำคัญ 3 คดีทางการเมือง โดยสัปดาห์นี้เลื่อนการพิจารณาจากวันพุธที่ 19 มิถุนายน 2567 มาเป็นวันอังคาร

องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาคดีแรก ศาลรัฐธรรมนูญประชุมเพื่อพิจารณา คำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567

จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคล ผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง

ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ร้องยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานภายในวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2567 ผู้ร้องได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2567 และผู้ร้องได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ฉบับลงวันที่ 17 มิถุนายน 2567

ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า

1.เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณากำหนดให้บุคคลเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลรัฐธรรมนูญตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

2.มีคำสั่งให้นำพยานเอกสารในสำนวนการไต่สวนคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

3.กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2567

4.กำหนดให้คู่กรณีเข้ามาตรวจพยานหลักฐานในวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567

คดี “เศรษฐา ทวีสิน” สั่งส่งความเห็น-หลักฐานใน 15 วัน

ส่วนคดีที่สอง กรณีประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องสมาชิกวุฒิสภา 40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(4) และ (5) หรือไม่

สมาชิกวุฒิสภา 40 คน ในฐานะผู้ร้อง และ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 กรณีนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ทั้งที่รู้ หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากนายพิชิตเคยถูกศาลฎีกา มีคำสั่งอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 วรรคหนึ่ง (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้ง 2 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

ผู้ร้องจึงส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของ ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต ) แต่สำหรับผู้ถูกร้องที่1 (นายเศรษฐา) มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 1ได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลแล้ว

กรณีนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนในความผิดฐานละเมิดศาล

ผลการพิจารณา

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็น และจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567

ขณะที่นางณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) พยานปากเอก คดีตั้งพิชิต ชื่นบาน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถพูดอะไรได้มาก ซึ่งยืนยันว่าที่ดำเนินการไปทำตามขั้นตอนโดยขณะนี้ยังไม่ได้รับหมายศาลเพื่อนัดเป็นพยาน

ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ พ.ร.ป.เลือกส.ว. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนคดีที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณา คำร้อง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้ มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่

โดยศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีรวมคำร้อง เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มา ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 36 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (3) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107

[pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2024/06/ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ-ที่-23-2567.pdf” title=”ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 23-2567″]