สฤณี อาชวานันทกุล
ผู้เขียนเคยเขียนเรื่อง “มายาคติเกี่ยวกับกฎหมาย” ไปแล้วในคอลัมน์นี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (อ่านย้อนหลังได้ที่นี่) แต่เมื่อเห็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ซึ่งลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า “พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2557 มาตรา 4” ก็เป็นเหตุให้ต้องยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเคยเขียนว่า ““นิติรัฐ” กับ “กฎหมาย” นั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกัน …ยิ่งผู้ใช้อำนาจไม่เข้าใจ และคนจำนวนมากตกอยู่ใต้มายาคติ การปฏิรูปที่แท้จริงไม่ว่าเรื่องไหนไม่เพียงแต่จะเกิดยากเท่านั้น แต่สังคมยิ่งจะตกหล่มถอยหลังมากกว่าเดิม เพราะกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของอำนาจ โดยขาดกลไกตรวจสอบและไม่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน”
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนสะท้อนใจว่า แม้แต่ศาลก็อาจตกอยู่ใต้มายาคติเกี่ยวกับกฎหมายเช่นกัน
มาตรา 4 รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ฉบับของคณะรัฐประหาร ระบุว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาล รธน. ยืนยันว่ามาตรา 61(2) ใน พ.ร.บ. ประชามติ ขัดต่อหลักเสรีภาพ โดยอธิบายอย่างชัดเจนดังนี้ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)
“การที่มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดโดยใช้ถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ เช่น คำว่า “รุนแรง” “ก้าวร้าว” “ปลุกระดม” ซึ่งเป็นคำที่ไม่เคยมีนิยามอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงออกอย่างใดจะผิดกฎหมายหรือไม่ ขัดต่อหลักการของกฎหมายอาญาที่ต้องชัดเจนแน่นอน ส่วนการแสดงออกด้วยถ้อยคำที่ “หยาบคาย” นั้น ตามปกติแล้วแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่ก็ไม่ใช่การกระทำที่ต้องมีโทษทางกฎหมาย ขณะที่บทกำหนดโทษของความผิดตามมาตรา 61 วรรคสอง ก็เป็นโทษที่รุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่เป็นเพียงแค่การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีนั้น เทียบได้กับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท หรือฐานทำให้หญิงแท้งลูกและถึงแก่ความตาย การบัญญัติมาตรา 61 วรรคสองเช่นนี้ จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขต โดยไม่มีเหตุอันสมควร
“เราเห็นว่า บรรยากาศการพูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติทุกวันนี้เป็นไปอย่างเงียบเหงาผิดปกติ ทั้งที่ใกล้ถึงเวลาลงประชามติแล้ว โดยที่ประชาชนที่มีความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่างไม่กล้าแสดงออก ถกเถียง หรือทำกิจกรรม ดังที่มีตัวอย่างการจับกุมดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่แจกเอกสารแสดงเหตุผลไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ และมีผู้ถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 7 คนในปัจจุบัน บรรยากาศเช่นนี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการทำประชามติที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และมีแต่จะทำให้ผลการลงประชามติไม่เป็นที่ยอมรับทั้งโดยประชาชนชาวไทยและประชาคมโลก”
พูดง่ายๆ คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่ากับบอกเป็นนัยๆ ว่า “ประเพณีการปกครอง” ของไทยที่ผ่านมาไม่คุ้มครองสิทธิของเราที่จะ “ก้าวร้าว” หรือ “หยาบคาย” ฉะนั้นพฤติกรรมซึ่งเคยเป็นเรื่องของแรงกดดันทางสังคม ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายเหล่านี้ จึงสามารถเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (!)
โดยปกติ การตีความกฎหมายตามตัวอักษร และตามเจตนารมณ์ เป็นสิ่งที่ต้องทำประกอบกันเพื่อหยั่งทราบถึงความมุ่งหมายอันแท้จริงของกฎหมาย แต่ถ้าการตีความทั้งสองวิธีนี้ขัดแย้งกัน ต้องถือเอาการตีความตามเจตนารมณ์เป็นใหญ่ เพราะเจตนารมณ์ในการออกกฎหมายนั้นๆ ย่อมสำคัญกว่าลายลักษณ์อักษร
วิธีตีความกฎหมายตามเจตนารมณ์นั้น ถ้าเป็นกฎหมายที่กําหนดความผิดและโทษ จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด การกระทําการใดหรืองดเว้นกระทําการใดจะถือว่าเป็นความผิดและลงโทษได้ต่อเมื่อมีกฎหมายระบุไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น และจะตีความให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลมิได้
หากมีตัวบทกฎหมายที่จํากัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล จะต้องตีความอย่างเคร่งครัดเช่นกัน และจะตีความในทางขยายความให้เป็นการลงโทษ หรือเพิ่มโทษให้หนักกว่าเดิมไม่ได้
ตัวอย่างการอุดช่องว่างทางกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 วรรคที่สอง บัญญัติไว้ว่า “เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้นให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”
ผู้เขียนยกตัวอย่างหลักกฎหมายเบื้องต้นบางประการมาข้างต้น เพื่อให้ทุกท่านลองพิจารณาว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณี พ.ร.บ. ประชามติ เป็นอีกกรณีใช่หรือไม่ที่พิสูจน์ว่า “นิติรัฐ” กับ “กฎหมาย” นั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกัน
อีกทั้ง “ความยุติธรรม” กับ “ศาล” ก็อาจไม่ใช่เรื่องเดียวกันอีกเช่นกัน.